- ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวแบบแยกแตก โดยตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง แต่ตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่ฝั่งเอเชียฟื้นตัวได้ต่อ
- ปัจจัยขับเคลื่อนตลาดทุนยังคงมาจากพื้นฐานเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและเอเชียกลับฟื้นตัวต่อเนื่อง
- แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยชี้นำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และล่าสุด InnovestX ได้ปรับมุมมองการลงทุนในหุ้นจีน A-Share
- อย่างไรก็ตาม สำหรับหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ยังต้องระมัดระวัง เพราะหุ้นหลายตัวเข้าสู่ภาวะ Overbought และ Valuation มาตั้งแต่เดือนธันวาคม
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง แต่ตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่ฝั่งเอเชียฟื้นตัวได้ต่อ เนื่องจาก
- ตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนธันวาคม หดตัว -1.1% ต่อเดือน ต่อเนื่องจาก -1.0% ในเดือนก่อน โดยการจับจ่ายสินค้าขนาดใหญ่ สินค้าฟุ่มเฟือย และการบริการเริ่มหดตัวชัดเจนขึ้น
- ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ หดตัว 1.3% ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัว 1.1% จากต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นและความต้องการที่ชะลอลง โดยเฉพาะในตลาดโลก
- ตัวเลขเงินเฟ้อผู้ผลิต (PPI) สหรัฐฯ เดือนธันวาคม อยู่ที่ 6.2% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 6.8% และต่ำกว่าเงินเฟ้อผู้บริโภคที่ 6.5%
- รายงานเศรษฐกิจของ Fed สาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book ที่กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วประเทศเริ่มชะลอตัวลง ขณะที่ภาคธุรกิจกังวลภาวะเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ ด้านแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงต่อไป
- ประธาน Fed สาขาคลีฟแลนด์และเซนต์หลุยส์ ส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยควรจะขึ้นต่อเนื่องและอาจสูงกว่า 5.25% ที่ Dot Plot เคยให้ไว้ เนื่องจากความเสี่ยงเงินเฟ้อยังคงอยู่
- ตัวเลขการขยายตัว GDP จีนในปี 2022 ออกมาที่ 3% ต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงโควิด แต่ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธันวาคมออกมาดีเกินคาด โดยเฉพาะยอดค้าปลีกที่หดตัวน้อยกว่าคาดและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเกินคาด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอาจเริ่มได้ปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงดอกเบี้ยที่ -0.1% และยังคงมาตรการควบคุมผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) อายุ 10 ปีที่ +/-0.5% เช่นเดิม ท่ามกลางตลาดบางส่วนที่คาดว่า BOJ จะขยายช่วง YCC ไปสู่ +/-0.75%
- หลิวเหอ รองนายกรัฐมนตรีของจีน ประกาศใน World Economic Forum ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2023 จะขยายตัว 6% และพร้อมใช้นโยบายเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการขยายตัว
- IMF ส่งสัญญาณเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกขึ้นในครึ่งหลังของปี 2023 และปี 2024 จากสภาพเศรษฐกิจยุโรปที่ดีกว่าคาดและการเปิดประเทศของจีน
- รมว.คลังสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าเงินคงคลังจะหมดภายในต้นเดือนมิถุนายน และเรียกร้องให้สภาคองเกรสเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ ขณะที่ประธานสภาคองเกรสระบุว่า การเพิ่มเพดานหนี้ควรพิจารณาควบคู่ไปกับการปรับลดการใช้จ่ายภาครัฐ
InnovestX มองว่ามีประเด็นน่าสนใจ 3 ประเด็น ประเด็นแรก จะเห็นได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีทิศทางชะลอตัวรุนแรงขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อชะลอลงชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับรายงาน Beige Book ของ Fed สาขาต่างๆ ผู้ประกอบการยังบ่งชี้ชัดเจนว่าแรงกดดันด้านราคาชะลอลงแล้ว ขณะที่ยอดขายน่าจะเติบโตต่ำมากในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การที่ Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจริงขัดแย้งเช่นนี้ จะทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น
ในประเด็นที่สอง สาเหตุที่เศรษฐกิจยุโรปมีสัญญาณดีขึ้น ทั้งจากตัวเลข GDP เยอรมนี รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ไม่หดตัวตามคาด และจากเงินเฟ้อที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุณหภูมิในฤดูหนาวที่อุ่นกว่าปกติ ทำให้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานลดลง ขณะที่การเปิดประเทศของจีนก็มีส่วนทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปที่เป็นคู่ค้าหลักดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมองค่อนข้างระมัดระวังในยุโรป เนื่องจากการเปิดประเทศของจีนอาจทำให้ราคาโภคภัณฑ์สูงขึ้น กดดันทำให้เงินเฟ้อยุโรปลงยากขึ้น และอาจทำให้ ECB ต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงในระยะต่อไป
ในประเด็นสุดท้าย เรามองว่าภาพการเติบโตที่แตกต่างมากขึ้นระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่มีมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีนและการฟื้นตัวขึ้นบ้างของราคาโภคภัณฑ์ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของประเทศตลาดเกิดใหม่ นอกจากนั้นพื้นฐานเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ที่ดีทำให้น่าจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องท่ามกลางความผันผวนในปีนี้ จึงทำให้การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ยังคงดีต่อเนื่อง
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
ภายใต้ภาวะตลาดที่ปรับขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2022 จนทำให้หุ้นหลายตัวเข้าสู่ภาวะ Overbought และ Valuation ตึงตัว อีกทั้งตลาดยังขาดปัจจัยหนุนใหม่และอยู่ระหว่างรอดูผลประกอบการ 4Q65 จึงทำให้ช่วงสั้นมอง SET ยังมี Upside จำกัดและให้ระวังการปรับฐาน
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนแนะนำ ‘Selective Buy’ ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว โดยเน้นรอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว ไม่ไล่ราคา ดังนี้
- หุ้นที่คาดได้รับอานิสงส์เม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากการเข้าใกล้สู่ช่วงการเลือกตั้งของไทย เลือก BEC, CENTEL, CPN, MAJOR, MINT และ TU
- หุ้นที่คาดผลประกอบการ 4Q65 เติบโตดี และยังมี Valuation น่าสนใจ เลือก BJC, CPALL, BCP, BDMS, BEM และ GFPT
- ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้
- หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากบาทแข็งค่าและผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีของโลกมีแนวโน้มอ่อนแอต่อใน 4Q65
- หุ้นขุดเหมือง ซึ่งแม้ช่วงสั้นจะได้รับ Sentiment บวกจากการปรับขึ้นของ Bitcoin แต่ยังต่ำกว่าจุดคุ้มทุน เนื่องจากมีต้นทุนไฟฟ้าที่สูง จึงทำให้ผลประกอบการยังมีความเสี่ยงขาดทุน
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีน และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในจีน
- การประชุมนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งตลาดคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bps มาอยู่ที่ระดับ 1.50%
- รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังโดย สศค. และรายงานยอดการผลิตและส่งออกรถยนต์โดย ส.อ.ท.
- US 4Q22 GDP ว่าจะชะลอลงจากไตรมาส 3 เพียงใด (ตลาดคาด 2.8% จาก 3.2%)
- Core PCE ว่าจะชะลอต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 4.7% หรือไม่
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AOT - ปี FY2023 คาดพลิกกลับมามีกำไร
สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาด ~90% ของจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั้งหมดในประเทศไทย AOT ประกอบกิจการท่าอากาศยานหลัก 2 แห่งในกรุงเทพฯ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง) และท่าอากาศยานภูมิภาค 4 แห่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญ (ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และเชียงราย)
- มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศสูงสุดในกลุ่ม จึงคาดว่าการฟื้นตัวที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะช่วยหนุนฐานะการเงินดีขึ้นและลดความเสี่ยงการฟื้นตัวของกำไร
- 1QFY23 (ตุลาคม-ธันวาคม 2022) คาดพลิกมีกำไรปกติ ~300 ล้านบาท หลังจากขาดทุน 10 ไตรมาส และเติบโต YoY และ QoQ ต่อเนื่องใน 2Q-3QFY23 แรงหนุนจากจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น การสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 31 มีนาคม 2023 รวมทั้งการกลับมาเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร
- ปี FY2023 คาดพลิกมีกำไรปกติ 1.5 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดสู่ 2.7 หมื่นล้านบาท ในปี FY2024 อิงกับสมมติฐานจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ 54 ล้านคน ในปี FY2023 และ 76 ล้านคน ในปี FY2024 (จาก 13.9 ล้านคน ในปี FY2022)
- Valuation น่าสนใจ หลังราคาหุ้น AOT สูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ 1% ปรับตัวขึ้นช้ากว่าหุ้นอื่นๆ ในกลุ่มท่องเที่ยว และเราประเมินราคาเป้าหมายที่ 82 บาท
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
บรีฟอาร์ต: ระดับความน่าสนใจของตลาดต่างๆ รบกวนทำกราฟิกแถบพลังตาม Format ลิงก์นี้จ้ะ https://thestandard.co/120-days-opening-the-country-support-thai-reit-exclusive-summary/
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 4
เน้นถือครองเงินสด / สินทรัพย์สภาพคล่อง เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงยังเผชิญปัจจัยกดดันจาก
- ธนาคารกลางหลักต่างๆ ยังมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวต่อ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังสูง โดยเฉพาะฝั่งบริการ
- ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอยในปีนี้ที่ยังมีอยู่
- ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
10y UST Yield มีแนวโน้มที่จะเริ่มลดลงชัดเจนขึ้น หลังที่จาก Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย (เราคาดขึ้นครั้งสุดท้าย 3 พฤษภาคมนี้) และจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ในส่วนของ TH Yield ลดลงต่อเนื่อง ตาม Fund Flow ที่เข้ามาเพื่อรับประโยชน์เงินบาทแข็งค่า ท่ามกลางอุปทานใหม่ที่ไม่ได้เร่งตัวเร็ว หลังจากเติบโตสูงในปีก่อน
กองทุนแนะนำ
Krungsri Yenjai Fund
- กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
เราคาดว่า Credit Spread ของ US IG มีแนวโน้มทรงตัว ตามความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง สำหรับ IG ไทย Yield ปรับตัวลดลงตาม Gov’t Bond Yield ที่ลดลง ขณะที่ Corporate Spread ทรงตัวต่ำ แม้ตลาดจะเผชิญความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของ HY/Unrated เช่น ALL
ในช่วงที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยมีมากขึ้น ท่ามกลางดอกเบี้ยที่ยังสูง ควรหลีกเลี่ยงหุ้นกู้ HY โดยตลาด HY ใน EM หลายประเทศ กำลังเผชิญความเสี่ยงสภาพคล่อง และ Rollover Risk โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาที่อาจเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากผลประกอบการ บจ. สหรัฐฯ ใน 4Q2022 ที่ชะลอลง และคาดการณ์ผลประกอบการทั้งปี 2023 ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลดลง ท่ามกลางดอกเบี้ยและค่าจ้างที่ยังสูง รวมทั้งความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่ ซึ่งจะกดดันอุปสงค์ภายในและภายนอกสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวไม่มากนัก แต่เงินเฟ้อภาคบริการที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มกดดันให้ ECB จะใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อไป และมีโอกาสนำไปสู่ปัญหา Fragmentation ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นที่ได้มีการตอบสนองต่อประเด็นบวกไปมากแล้ว
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
การเริ่มเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินของ BOJ ประกอบกับทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว มีแนวโน้มส่งผลให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วง 1H2023 มีความผันผวนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และการฟื้นตัวหลังเปิดเมือง จะยังช่วยจำกัด Downside ได้อยู่
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 5
ดัชนียังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค และการสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหา ขณะที่ Valuation ดัชนีอยู่ใกล้ค่าเฉลี่ยระยะยาว แม้ว่าการเปิดเมืองที่เร็วกว่าคาดอาจนำไปสู่การระบาดที่เร่งตัว และกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจในช่วงสั้นก็ตาม
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน ความเสี่ยงการเพิกถอน บจ. จีนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ลดลง ท่าทีการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่ลดลง และ Valuation ของดัชนีที่ยังไม่แพง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงเผชิญความเสี่ยงจากประเด็นข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังคงมีอยู่
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นไทยได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตามการท่องเที่ยวมาต่อเนื่อง และผลบวกจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่มาจากการเปิดประเทศของจีน รวมถึงผลบวกจากมาตรการช้อปดีมีคืน และการใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้ง โดยหุ้นกลุ่ม Domestic Related จะเป็นตัวหลักที่ได้ประโยชน์ ขณะที่ต้องระวังหุ้นกลุ่มส่งออก
กองทุนแนะนำ
SCB Dividend Stock Open End Fund
- กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ในระยะกลาง-ยาว ตลาดจะได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวโดดเด่น และ Valuation ที่ไม่แพง แต่ด้วยความกังวลสภาพคล่องตึงตัวในภาคอสังหา แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางเวียดนาม และความไม่แน่นอนจากการปราบปรามการทุจริตที่ยังมีอยู่ จึงทำให้ Upside ตลาดยังถูกจำกัด
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีผันผวนในระยะสั้นจนกว่าจะเห็นสัญญาณ Fed Pivot แต่ระยะกลางยังคงได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะ FDI การใช้จ่ายก่อนเลือกตั้งปี 2024 ขณะที่เงินเฟ้อทยอยลดแรงกดดันลง ท่ามกลางดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มทรงตัว ทั้งนี้ มุ่งเน้นกลุ่ม High Quality & Liquidity เช่น Consumer Staple
กองทุนแนะนำ
SCB Indonesia Equity Fund
- กองทุน SCBINDO เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก), สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังการเจริญเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาทองคำได้รับแรงหนุนจาก
- ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
- ธนาคารกลางต้องการถือทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้น
- แนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม Real Yield ยังคงเป็นปัจจัยกดดันในช่วงที่ Fed ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 4
ราคาน้ำมันมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ยังมีแนวโน้มตึงตัว หลังรัสเซียเริ่มปรับลดการผลิต และสหรัฐฯ เตรียมซื้อน้ำมันเข้าสู่คลังสำรองทางยุทธ์ศาสตร์ แม้ในระยะสั้น อุปสงค์อาจถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนที่กลับมาเร่งตัว
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ปรับตัวดีขึ้น ผลจาก LT Bond Yield ที่ลดแรงกดดันลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวังตลาดญี่ปุ่นที่ถูกกดดันจากนโยบายการเงินของญี่ปุ่นที่กระทบ Yield ให้สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงยุโรปที่ยังเผชิญดอกเบี้ยสูง ท่ามกลางอัตรา Leverage สูงกว่าภูมิภาคอื่น ความกังวลเศรษฐกิจที่อาจอ่อนตัวมากกว่าภูมิภาคอื่น
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
EM REITs ได้รับประโยชน์จาก Yield ที่อ่อนตัวลง รวมถึงการเปิดประเทศของจีน ซึ่ง Retail และโรงแรมเป็นกลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะฮ่องกงที่พึ่งพาตลาดจีนสูง ขณะที่สิงคโปร์และไทยก็ได้ประโยชน์ตามมาเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม Office ยังได้รับผลกระทบจาก Hybrid & WFH และ Oversupply ในบางพื้นที่
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 2
Slightly Negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate สำหรับกองที่ลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ แนะนำให้ป้องกันความเสี่ยง FX เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2023
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขคำตอบ…ทำไม หุ้นเวียดนาม ดิ่งเกือบจะหนักสุดของโลก ล้างภาพดาวรุ่งแห่งเอเชีย
- จับตา! หุ้นฮ่องกง ดีดกลับจริงหรือแค่ชั่วคราว หลังผู้นำจีนส่งสัญญาณหนุนตลาดหุ้นอีกครั้ง
- ส่อง 9 ตลาดหุ้นเอเชีย ‘อินโดนีเซีย’ แชมป์เงินไหลเข้ามากสุด และเป็นตลาดหนึ่งเดียวที่ยืนบวก