- ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ทั้งระยะสั้นและยาวปรับขึ้นรุนแรง หลังประธาน Fed ส่งสัญญาณว่าพร้อมขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อ
- โอกาสเกิด Inverted Yield Curve ที่เป็นสัญญาณ Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตมีมากขึ้น
- หลายประเทศในเอเชียเริ่มเปิดประเทศมากขึ้น และผ่อนคลายกระบวนการตรวจโควิด เป็นผลบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
- หุ้นไทยยังรับอิทธิพลจากตลาดหุ้นทั่วโลก จึงยังต้องจับตาเงินทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด
สัปดาห์นี้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ทั้งระยะสั้นและยาวปรับขึ้นรุนแรง หลังประธาน Fed ส่งสัญญาณว่าพร้อมขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อ ขณะที่โอกาสเกิด Inverted Yield Curve ที่เป็นสัญญาณ Recession ในอนาคตมีมากขึ้น ด้านตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงทรงตัวได้ดีจากสัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะสหรัฐฯ และเอเชีย ในขณะที่หลายๆ ประเทศประกาศเปิดประเทศมากขึ้น ถือเป็นความหวังใหม่สำหรับเศรษฐกิจ
จับตาการเกิด Recession และ Reopen
ความเสี่ยงสหรัฐฯ เกิด Recession เพิ่มขึ้น ในขณะที่หลายประเทศในเอเชียรวม ไทยเริ่มเปิดเมือง ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกิด Recession ใน 12 เดือนข้างหน้าเริ่มมีมากขึ้น หากพิจารณาจาก Yield Curve ล่าสุดมีความน่าจะเป็นประมาณ 30% ส่งผลให้Fed ต้องระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เอเชียมีแผนในการเปิดประเทศ โดยหลังจากวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่หลายประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา เวียดนาม และเกาหลีใต้ ยกเลิกการกักตัว ขณะที่ในไทยไม่ต้องตรวจ PCR ก่อนเข้าประเทศ ถือว่าเป็นความหวังสำคัญต่อเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ด้านเศรษฐกิจมหภาคต้องติดตามในสัปดาห์หน้า คือ
- เงินเฟ้อ Core PCE ที่เป็นไปได้ที่จะยังปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 5.2% และ 2. ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานที่หลายฝ่ายมองว่าเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงหลังขยายตัวดีในช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้า
ตลาดหุ้นจีนและญี่ปุ่นน่าสนใจมากขึ้น
แนวโน้มตลาดหุ้นโลก คาดว่าตลาดหุ้นจีนและญี่ปุ่นมีความน่าสนใจขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากทั้งสองรัฐบาลยังคงมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเอเชีย ในขณะที่ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีความเสี่ยงจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งนี้ ยังคงแนะนำลงทุนในธุรกิจที่มี Pricing Power สูงเป็นหลัก รวมถึงธีมด้านพลังงานสะอาด และ Cybersecurity รวมถึงธุรกิจด้าน Robotics & Automation ในญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวตามต่างประเทศ
แนวโน้มตลาดหุ้นไทย คาดว่า SET Index มีโอกาสแกว่งตัวตาม Sentiment ของตลาดหุ้นโลก ทั้งนี้ ต้องจับตาทิศทางของเงินทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด หลังจากค่าเงินในเอเชียเริ่มอ่อนค่าเร็วขึ้น รวมถึงความเสี่ยงการปรับลดประมาณการณ์กำไรของ บจ. ปี 2565 แนะนำลดพอร์ตหาก SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเหนือ 1,700 จุด โดยเน้นลงทุนในหุ้นที่สามารถทนทานกับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น และมีอำนาจในการกำหนดราคาเช่น ADVANC, BDMS, CPALL และ OSP
สำหรับเหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์ถัดไป ได้แก่
- การประชุมของ กนง. เกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565
- สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมของสหรัฐฯ และยุโรป
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และการเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AOT ได้ผลบวกมากสุดจากเดินหน้าเปิดประเทศ
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เนื่องจาก 3 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่าอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาด 90% ของจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั้งหมดในไทย ทั้งนี้ บริษัทมีท่าอากาศยานหลัก 2 แห่งใน กทม. (สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง) และท่าอากาศยานภูมิภาค 4 แห่งที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ (ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่, เชียงราย)
- การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีความชัดเจนขึ้น เนื่องจากมีการกระจายการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น และรัฐบาลมีโรดแมปเปลี่ยนผ่านการระบาดของโควิด สู่การเป็นโรคประจำถิ่นซึ่งคาดจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ซึ่งคาดจะช่วยฟื้นฟูบรรยากาศการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยให้มีทิศทางที่ดีขึ้น
- คาดได้ประโยชน์จาก Operational Leverage (ต้นทุนคงที่สูง) เมื่อนักท่องเที่ยวกลับมา โดยปี 2565 คาดมีผลขาดทุนลดลงสู่ระดับ 1.0 หมื่นล้านบาท และจะพลิกมีกำไรปกติ 1.38 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 ภายใต้สมมติฐานมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทย 8 ล้านคนในปี 2565 และ 25 ล้านคนในปี 2566 หรือคิดเป็น 20% และ 63% ของระดับก่อนเกิดโควิดตามลำดับ
ธีม Robotics & Automation มีพัฒนาการสำคัญ
ตลาดปรับเปลี่ยนสถานะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงมาระดับหนึ่ง จนทำให้ผลของ Asset Allocation อาจจะมีน้อยลง SBCS มองว่าตลาดจะกลับมาให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานและธีมการลงทุนมากขึ้น โดยการเลือกหุ้นจะมีความสำคัญค่อนข้างมาก โดยในสัปดาห์นี้ มองเห็นพัฒนาการในสองกลุ่มได้แก่ Robotics & Automation ที่ดีขึ้น ส่วนยังมีความเสี่ยงสำหรับกลุ่มอสังหาและ REIT ในฮ่องกง
โดย Robotics & Automation
- พัฒนาการจากงาน iREX2022 ที่ญี่ปุ่นเราเห็นพัฒนาการหลายอย่างในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ต้นแบบด้านการประกอบชิ้นส่วน รักษาความปลอดภัย การแพทย์ ขนส่ง และภาคบริการ
- จากธีมนี้เราชอบ Global X Robotics & AI
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และ REIT ในฮ่องกง
- บริษัทในยุโรปเกือบครึ่งหนึ่งในฮ่องกงวางแผนที่จะย้ายการดำเนินงานและพนักงานออกทั้งหมด (25% ของบริษัททั้งหมด) หรือบางส่วน (24%)
- บริษัทขนาดเล็กมี Turnover มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ และดูจากความต้องการในการจ้างงานเพื่อมาทดแทนแรงงานที่หายไปนั้นบ่งชี้ว่าบริษัทขนาดเล็กมีความเสี่ยงมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่
- ดังนั้นการฟื้นตัวของ REITs ในเอเชียและฮ่องกงนั้นอาจจะมีการฟื้นตัวได้ช้า เพราะต้องติดตามการย้ายออกจากฮ่องกงและพัฒนาการของ WFH และ Co-working Space ซึ่งเป็นภาพที่จะเร่งตัวขึ้นในปี 2566
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB, CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งยังกดดันต่อ Sentiment ตลาด นอกจากนี้ ตลาดยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการทยอยลดการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางหลักใน DM โดยเฉพาะจาก Fed และ BoE หลังอัตราเงินเฟ้อล่าสุดยังเร่งตัวขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ประเด็นในเรื่องผลกระทบโอมิครอนที่ไม่ได้รุนแรงมากนัก และผลประกอบการ บจ.ในกลุ่ม DM ที่ขยายตัว จะยังสามารถช่วยประคองการฟื้นตัวของตลาดหุ้น DM ได้
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และจากการที่ Fed มีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 1H65 รวมทั้งนักลงทุนมีแนวโน้มระมัดระวังการซื้อขาย เพื่อจับตารายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับแผนลดขนาดของงบดุล ที่จะถูกเปิดเผยในรายงานการประชุม Fed รอบล่าสุด
อย่างไรก็ดี ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโควิดที่ลดลงไปค่อนข้างมาก และผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ประจำ 1Q65 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด จะยังช่วยประคองตลาดได้ ทั้งนี้ SCBS คงคำแนะนำสัดส่วนการลงทุนหุ้นกลุ่ม Growth ต่อกลุ่ม Value อยู่ที่ 50:50
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของยุโรป โดยยุโรปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของประชาชนและต้นทุนการผลิต ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายลงทุนของบริษัทต่อไป
อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นยุโรปที่ลดลงมามาก และผลกระทบทางตรงของรายได้ บจ.ยุโรปในดัชนี Eurostoxx 600 ที่มาจากรัสเซียอยู่ต่ำ จะช่วยจำกัด Downside ตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมีการยกเลิกภาวะกึ่งฉุกเฉินทั่วประเทศ และกำลังจะพิจารณากลับมาใช้โครงการ Go To Travel นอกจากนี้ เริ่มมีสัญญาณถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตยูเครน ด้าน BOJ ยังมีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
Valuation ของดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการออกกฎระเบียบที่รุนแรงกับกลุ่ม Internet Platform เริ่มมีโอกาสเกิดขึ้นลดลง รวมทั้งความเสี่ยงเรื่อง ADR Delisting เริ่มลดลง
อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะประเด็นจีนกับรัสเซีย และจีนกับไต้หวัน ประกอบกับผลประกอบการ บจ.จีน ที่ยังมีแนวโน้มชะลอลงถึงขยายตัวได้เพียงปานกลาง ในช่วง 1H65 จะยังกดดันการฟื้นตัวของตลาดโดยรวม
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น การเร่งเพิ่มการลงทุนบนโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับลดภาษีและค่าธรรมเนียมให้กลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ในฮ่องกงและจีนที่ยังมีอยู่ จะทำให้ทางการจีนจำเป็นต้องคงมาตรการ Zero-COVID Policy ไว้ต่อ ซึ่งจะส่งผลกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ข้อพิพาทสหรัฐฯ-จีน ที่ยังมีอยู่ อาจกดดัน Sentiment การลงทุนในช่วงสั้น
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นไทย โดยตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการเปิดเศรษฐกิจ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้การปรับประมาณการกำไรของตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบทางตรงจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนค่อนข้างจำกัด
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงหนุนจากเม็ดเงินต่างชาติที่มีแนวโน้มไหลเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น และค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ เราแนะนำการลงทุนในหุ้น Domestic Play เป็นหลัก
กองทุนแนะนำ
- SCB Selected Equity Fund
กองทุน SCBSEA เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นลงทุนในหุ้นไม่เกิน 30 หลักทรัพย์ ซึ่งมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนการลงทุนโดยผู้จัดการในแต่ละสภาวะตลาด
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม โดยตลาดฯ ได้รับแรงหนุนจากการที่เวียดนามมีแนวโน้มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลเวียดนามมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งการเร่งลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน และการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานที่เร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ Consensus ยังคงมีแนวโน้มทยอยปรับประมาณการ EPS ของ VN-Index ดีขึ้น ขณะที่ผลกระทบทางตรงจากวิกฤตในยูเครนต่อเวียดนามมีจำกัด
กองทุนแนะนำ
- Principal Vietnam Equity Fund
กองทุน PRINCIPAL VNEQ-A ลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ทองคำได้รับแรงหนุนท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ สนับสนุนความต้องการทองคำในฐานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ ทองคำยังได้ปัจจัยบวกจากแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงกว่าที่ตลาดคาด เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อน้ำมัน โดยน้ำมันยังคงได้แรงหนุนการความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันที่ตึงตัว หลัง EU กำลังพิจารณาออกมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซีย แม้ว่ายังมีบางประเทศในยุโรปไม่เห็นด้วย เนื่องจาก EU ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นหลักก็ตาม นอกจากนี้ การที่บริษัท Caspian Pipeline Consortium ได้รับผลกระทบจากจากพายุ ทำให้ไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ เป็นปัจจัยกดดันอุปทานน้ำมันเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนมีความคืบหน้ามากขึ้นจะเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดถูกจำกัด
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ REITs ไทย ยังคง Laggard และได้รับประโยชน์จากการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูง และ Dividend Yield Gap ของ REITs ไทยอยู่ในระดับที่ไม่ค่อยน่าสนใจเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ขณะที่สิงคโปร์มีการผ่อนคลายมาตรการคุมการระบาดของโควิด โดยจะอนุญาตให้นักเดินทางจากทุกชาติที่ฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้วเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป