- ตลาดการเงินรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาเคลื่อนไหวทรงตัวเนื่องจากกำลังรอปัจจัยใหม่เข้ามา ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น หลังราคาพลังงานทยอยลดลง
- การประชุมครั้งสำคัญระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีน ยังไม่มีนัยสำคัญต่อตลาด แต่ภาพรวมดูผ่อนคลายขึ้น ทำให้ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นทรงตัว
- ระยะข้างหน้าต้องติดตามความเห็นของ Fed ที่มีต่อเงินเฟ้อ และยังต้องติดตามการเลือกประธาน Fed คนใหม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
- SCBS มองหุ้นไทยมีลุ้น New High เนื่องจากตลาดเริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น โดยมีแนวโน้มฟื้นตัวในระยะสั้นจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานเริ่มคลี่คลาย ซึ่งจะทำให้แนวโน้มของกำไรผู้ผลิตมีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคต
- SCB CIO ได้เพิ่มระดับความน่าสนใจใน REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดย REITs ไทยได้รับ Sentiment เชิงบวก จากการเปิดประเทศ และ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) ประเมินว่า ตลาดการเงินกำลังรอปัจจัยใหม่ หลังจากข้อมูลที่เปิดเผยในช่วงที่ผ่านมาเป็นเรื่องเดิมๆ เช่น การชะลอ QE, ความเสี่ยงเงินเฟ้อ และการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งท่าทีล่าสุดของตลาดเริ่มมองเป็นเชิงบวกมากขึ้น หลังจากเห็นสัญญาณของราคาพลังงานลดลง รวมถึงปัญหาของการขนส่งค่อยๆ บรรเทา
ส่วนการประชุมครั้งสำคัญของ ‘ประธานาธิบดีไบเดนและสีจิ้นผิง’ นั้นยังไม่มีนัยยะต่อตลาด แต่ภาพรวมดูผ่อนคลายขึ้น ดังนั้นจึงส่งผลให้ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นทรงตัว ด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่า ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าแรง และราคาทองคำผันผวน
ประเด็นที่ต้องติดตามระยะข้างหน้า
ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อ (Core PCE) ว่าจะมีทิศทางที่ยังปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วที่ 3.6% หรือไม่ รวมถึงติดตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในต้นเดือนที่ผ่านมาว่ามีมุมมองต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อประการใด เนื่องจากเป็นเดือนแรกที่มีการประกาศลดทอน QE
ผลการแต่งตั้งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เทอมใหม่ ซึ่งตลาดคาดว่าจะเป็น เจอโรม พาวเวลล์ คนเดิม แต่หากผิดคาดเป็นอีกท่านคือ เลล เบรนาร์ด (แนวคิดผ่อนคลายมากกว่า) คาดว่าจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง อาจจะต้องระมัดระวังกลุ่มธนาคารมากขึ้น
SCBS มองว่าในระยะต่อไปมีปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่
- องค์ประกอบสำคัญของเงินเฟ้อ ว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่
- ความเสี่ยงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน
- กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่
อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพคล่องที่ยังมีอยู่สูง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังมีภาพการฟื้นตัวหลังจากการเปิดประเทศ ทำให้การลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงยังมีความน่าสนใจ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทั่วโลกแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยตลาดเกิดใหม่ (EM) ปรับลดลง -0.9% ส่วนตลาดพัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มขึ้น +0.1% โดยตลาดไม่มีปัจจัยสนับสนุนใหม่
ด้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า มีแรงเทขายในกลุ่มธนาคาร (-2%) และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน (-1-2%) ที่ได้รับ Sentiment เชิงลบจากตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และกลุ่ม Consumer Staples ปรับลดลง (-0.7%) จากความกังวลต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ด้านแรงซื้ออยู่ในกลุ่มที่ได้ Sentiment บวก จากดอกเบี้ยต่ำ อย่างกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (+0.2%) และกลุ่มสาธารณูปโภค (+0.1%) และกลุ่มเทคโนโลยี (+1.4%) ที่มีเรื่องแนวโน้มกำไรเพิ่มเติม
แนวโน้มตลาดหุ้นโลกหลังจากนี้ คาดเห็นการฟื้นตัวแบบเป็นรายอุตสาหกรรมมากกว่าเป็นภูมิภาคหรือประเทศ โดยกลุ่มที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้น ได้แก่ กลุ่มที่มีความสามารถในการผลักภาระต้นทุน เช่น เทคโนโลยี การแพทย์ และกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศ เช่น ค้าปลีก นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่อยู่ใน Theme ESG, พลังงานสะอาด และ EV Car สำหรับกลุ่มที่ควรเพิ่มความระมัดระวังคือ กลุ่มน้ำมันและขนส่งทางเรือ
ตลาดหุ้นไทยมีลุ้นทำ New High
ตลาดหุ้นไทยเริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น โดยมีแนวโน้มฟื้นตัวในระยะสั้น จากปัญหาห่วงโซ่อุปทานเริ่มคลี่คลาย ซึ่งจะทำให้แนวโน้มของกำไรผู้ผลิตมีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ แม้ผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 3 จะออกมาไม่ดี แต่นักลงทุนมองข้ามไปที่การฟื้นตัวของผลประกอบการไตรมาสที่ 4 แล้ว หลังจากที่มีการเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มและการเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายน
กลยุทธ์โดยภาพรวม แนะนำซื้อเมื่อตลาดอ่อนตัว สำหรับตลาดหุ้นโลกยังคงแนะนำตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป (แต่เพิ่มความระมัดระวังในระยะสั้นจากการระบาดรอบใหม่)
ส่วนตลาดหุ้นไทยแนะนำเลือกซื้อ (Selective Buy) หุ้นที่มีลักษณะของรายได้ในประเทศสูงแต่ราคายังปรับตัวไม่ตอบสนองปัจจัยพื้นฐานมากนัก BEM, BDMS, ADVANC รวมถึงหุ้น Small Cap อย่าง HTC ที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์หากการท่องเที่ยวภาคใต้ฟื้นตัว
สัปดาห์นี้ SCBS ปรับเพิ่มมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) จากการเปิดประเทศ และยังคงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกู้ไทย ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว และตลาดหุ้นเวียดนาม รวมถึง REITs ของประเทศพัฒนาแล้ว
ประเด็นที่ต้องติดตามสัปดาห์นี้
- ติดตามการเสนอชื่อว่าที่ประธาน Fed คนใหม่ ก่อน เจอโรม พาวเวลล์ จะหมดวาระลงในช่วงต้นปี 2022
- การประกาศดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐฯ เดือนตุลาคม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญ
- การออกมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มเติมในยุโรปหลังจำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้น
HTC หุ้นแนะนำประจำสัปดาห์
SCBS เลือกแนะนำ บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) หรือ HTC เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมซึ่งได้รับลิขสิทธิ์จากโคคา-โคลา คัมปะนี (สหรัฐฯ) ให้ผลิตและจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้า โคคา-โคลา, แฟนต้า, สไปรท์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ น้ำผลไม้มินิทเมด, น้ำดื่มน้ำทิพย์ โดยมีขอบเขตผลิตเพื่อจำหน่ายเฉพาะใน 14 จังหวัดภาคใต้
- คาดผ่านพ้นจุดต่ำสุดปีนี้แล้วใน 3Q21 โดย 4Q21 คาดกำไรจะเติบโตทั้ง YoY และ QoQ จากคลายมาตรการล็อกดาวน์ช่วยหนุนให้ยอดซื้อกลับมา โดยเฉพาะในกลุ่มพื้นที่ท่องเที่ยวภาคใต้
- น่าสนใจในฐานะเป็นตัวแทนหุ้นเปิดเมือง และได้ผลบวกโดยตรงจากกลุ่มท่องเที่ยวในภาคใต้ฟื้นตัว โดยประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 49 บาท อีกทั้งยังเป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอและให้ตอบแทนจากเงินปันผลสูงราวปีละ 5.5-6.3% โดยคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไร 2H21 ที่ 1.19 บาท/หุ้น
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และการทยอยเปิดเมือง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน 3Q21 มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาดการณ์
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบการระบาดโควิดต่อเศรษฐกิจ แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหาอุปทานขาดแคลน และการทยอยปรับลดวงเงิน QE ของ Fed
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
หุ้นกลุ่ม Value/Cyclical ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการทยอยเพิ่มขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ ความคืบหน้าในแผน Build Back Better และแนวโน้มการเปิดเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ในส่วนหุ้นกลุ่ม Growth มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อ จากความสามารถในการทำกำไรที่ยังโดดเด่น และกลุ่มฯ ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุปทานขาดแคลนและแรงงานขาดแคลนที่จำกัด ประกอบกับ ข้อเสนอการจัดเก็บภาษีใหม่กับบริษัทสหรัฐฯ ภายใต้แผน Build Back Better มีแนวโน้มเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2023 ทั้งนี้ เราแนะนําสัดส่วนการถือครองหุ้น Growth และ Value/Defensive อยู่ที่ 70 ต่อ 30
กองทุนแนะนำ
- SCB Global Experts Fund
กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นยุโรปยังมีความน่าสนใจค่อนข้างสูง โดยเรามองผลประกอบการ บจ. ในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มออกมาดี การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่และแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาดได้ต่อ
ECB มีแนวโน้มยังไม่ส่งสัญญาณ QE Taper ชัดเท่า Fed และ EU Bond Yield ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยบวก ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบทั้งในเชิงลบ (ต้นทุนสูงขึ้น) และเชิงบวก (ผลักภาระให้กับผู้บริโภคได้) แต่ภาพรวมหุ้นกลุ่ม Value/Cyclicals ของยุโรปยังมีแนวโน้มได้รับผลบวกมากกว่าผลลบ
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 4
Valuation ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่นๆ (Laggard Play) และ EPS Growth ยังมีแนวโน้มถูกปรับขึ้น มองภาพเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเข้าสู่ช่วง Peak Growth และ Peak Earning ใน 4Q21 ในขณะที่ความเสี่ยงเงินเฟ้อยังต่ำ ด้านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ วงเงินเบื้องต้นอยู่ที่ราว 40 ล้านล้านเยน และแคมเปญส่งเสริมการใช้จ่ายและเงินอุดหนุนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในช่วงก่อนหน้า จะเป็นการช่วยดึงอุปสงค์ที่ตกค้างและเร่งการใช้จ่ายเพิ่มเติม
กองทุนแนะนำ
- Krungsri Japan Hedged Dividend Fund
กองทุน KF-HJAPAND ลงทุนในกองทุน JPMorgan Japan (Yen) Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น คัดเลือกธีมการลงทุนที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว และเฟ้นหาหลักทรัพย์รายตัวที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงและปัจจัย
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ว่า Valuation ของดัชนีหุ้นจีน Offshore อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับต้นปี และเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นโลกและดัชนีหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่ม Internet ทำให้ Valuation ตลาดฯ มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น หากทางการจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับ Platform บางส่วน
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการ บจ. ของตลาดหุ้นจีน Offshore ทั้งใน 4Q21 และ 2H21 ยังมีแนวโน้มขยายตัวปานกลาง ตามความกังวลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ดัชนีฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้จำกัด
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีหุ้นจีน Onshore มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ยังมีแนวโน้มออกมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาสภาพคล่องให้เหมาะสมในช่วงที่เหลือของปี และออกมาตรการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึง SMEs
ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นมีแนวโน้มเร่งใช้โควตาออกพันธบัตรท้องถิ่นพิเศษ เพื่อนำมาใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับทางการจีนมีแนวโน้มส่งเสริมตลาดทุนภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการคงมาตรการควบคุมการระบาดของทางการจีนที่ยังมีอยู่ ตามนโยบาย Zero-Tolerance อาจกดดันต่อภาพการฟื้นตัวของภาคบริโภคจีน และ Risk Sentiment ในช่วงสั้น
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 3
SCB CIO ยังคงมองตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจในระดับกลาง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่ดีขึ้นและขานรับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ โดยแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าจะเริ่มดีขึ้น แม้ Valuation หุ้นไทยยังคงตึงตัว (PE เทรดที่ราว +1SD) แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงหลังเปิดประเทศที่จะตามมา การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังมี Pent-Up Demand อีกมาก และการฟื้นตัวของภาคการส่งออกโลกที่จะช่วยหนุนภาคการส่งออกไทย จะเป็นปัจจัยหนุนต่อตลาดฯ แม้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังต้องใช้เวลาก็ตาม
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นเวียดนามยังคงมีความน่าสนใจค่อนข้างสูง แม้คาดการณ์ GDP จะได้รับผลกระทบมากในปีนี้ และการเติบโตมีแนวโน้มลดลงเหลือราว 3-4% แต่คาดว่า GDP ในปี 2022 จะสามารถเติบโตได้ราว 6% ด้านผลประกอบการ บจ. แม้ EPS ใน 3Q21 จะแผ่วลง แต่ Consensus ยังคาดว่า EPS Growth ของ VN-Index ปี 2021 จะ +34%YoY
ขณะที่สถานการณ์ลงทุนของนักลงทุนต่างชาติยังไม่สูง และ Valuation ยังไม่แพงเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยในอดีต และเมื่อเทียบกับตลาดอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ประกอบกับความเชื่อมั่นนักลงทุนรายย่อยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง จะเป็นแรงหนุนต่อตลาดฯ ในช่วงที่เหลือของปี
กองทุนแนะนำ
- Principal Vietnam Equity Fund
กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 2
ราคาทองคำมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และ Bond Yield ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น หลัง Fed ประกาศปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แม้ราคาทองคำจะปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ตาม
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหรัฐฯ จะออกมาตรการเพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน หลังราคาเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา และกลุ่มโอเปกพลัสยังคงเพิ่มปริมาณการผลิตอยู่ที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวันตามเดิม
นอกจากนี้ ติดตามการเจรจาระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตก เรื่องการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ 2015 (29 พฤศจิกายนนี้) ซึ่งมีความเสี่ยงที่อิหร่านอาจจะกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 4
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการทยอยเปิดเมืองตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ REITs ที่เกี่ยวข้องกับ Re-Opening Theme ที่มีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว เช่น กลุ่ม Residential, Retail, Office หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ประกอบกับพื้นฐานเดิมกลุ่ม Industrials, Cell Towers, Data Centers ที่ดี และผลประกอบการใน 3Q21 ส่วนใหญ่ออกมาแข็งแกร่ง ทำให้ DM REITs น่าสนใจเข้าลงทุน
กองทุนแนะนำ
- TMB Global Property Fund
กองทุน TMBGPROP ลงทุนในกองทุน Brookfield Global Listed Real Estate UCITS Fund โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างผลตอบแทนโดยรวมจากการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์และกระแสรายได้ โดยเน้นลงทุนในหน่วยทรัสต์ของทรัพย์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ทั่วโลก
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 4
SCB CIO ได้เพิ่มระดับความน่าสนใจใน REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ขึ้นหนึ่งระดับ โดย REITs ไทยได้รับ Sentiment เชิงบวก จากการเปิดประเทศ และ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ
นอกจากนี้ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จะเป็นแรงหนุนการลงทุน ด้าน REITs สิงคโปร์ ได้รับประโยชน์จากนโยบาย Vaccinated Travel Lanes (VTL) ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะที่อัตราการติดเชื้อใหม่ในสิงคโปร์มีแนวโน้มลดลง หลังประชากรราว 20% ได้รับ Booster Shot
คำแนะนำธีมการลงทุนที่น่าสนใจ
จับตาธีมหุ้นกลุ่ม Healthcare เนื่องจากยังเทรด Discount S&P 500 ค่อนข้างมาก เรามองสภาวะ Slowflation ส่งผลดีต่อกลุ่มฯ ล่าสุด ความกังวลเรื่อง Drug Price Control ลดลง ทำให้ความเสี่ยงการลงทุนลดลง ผนวกกับ Healthcare ยังเป็นกลุ่มที่ผสมสไตล์หุ้น Defensive (เช่น Hospital, Insurance) และสไตล์หุ้น Growth (Biotech, Medtech) ได้อย่างลงตัว และมี 2022 Earning Growth ดี