- ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอตัวเป็นสัญญาณว่า Fed อาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 5 ครั้ง ตามที่สำนักวิจัยคาด
- ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ไม่น่าจะรุนแรงมาก ทำให้คาดการณ์ที่มองว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มีความเป็นไปได้ลดลง
- นโยายเงินการเงินตึงตัวของ Fed และธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจสำคัญยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินทั่วโลก โดยต้องจับตาทิศทางเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง
- หุ้นไทยถูกเพิ่มมุมมองเชิงบวกมากขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งอาจจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วขึ้น
ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกเริ่มชะลอลงจาก PMI, ISM, ADP ผลจากโควิดสายพันธ์ุโอมิครอนทำให้ตลาดเริ่มสงสัยในมุมมองของสำนักวิจัยต่างๆ ที่มองว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยถึง 5 ครั้ง หรือมากกว่า ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น รวมถึงสัญญาณจากประธาน Fed สาขาบางท่านที่มองว่าตลาดอาจ Hawkish เกินไป และนโยบายการเงินยังมีความยืดหยุ่นและ Data Dependent
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาความเสี่ยงเงินเฟ้อในปัจจุบันจะเห็นว่าแรงกดดันด้าน Supply Chain เริ่มลดลงต่อเนื่อง หลังจากเริ่มมีการกลับมาผลิตมากขึ้น เช่น เงินเฟ้อจากสินค้าภาคอุตสาหกรรมของยุโรปในเดือนมกราคม ลดลงแรงจาก 2.9% เป็น 2.3% แต่เป็นเพราะราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันที่ปรับขึ้นจาก War Premium ที่เป็นตัวผลักทำให้เงินเฟ้อของยูโรโซนปรับขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.1% ซึ่งในระยะต่อไปภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและสถานการณ์ที่คลี่คลาย น่าจะทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไปลดลงและทำให้ความจำเป็นที่นโยบายการเงินจะตึงตัวลดลงด้วย
ในส่วนสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซีย SCBS มองว่าแม้ความตึงเครียดยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากรัสเซียยังคงส่งทหารมาตรึงกำลังในแนวชายแดนรัสเซีย-ยูเครน แต่โอกาสในการที่รัสเซียจะส่งกองกำลังเข้าบุกยูเครนอาจมีไม่มากนัก เนื่องจากหากบุกเข้ายึดแล้วจะถูกคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจ รวมถึงได้รับการตอบโต้จากยูเครนและพันธมิตร ทำให้มองว่ามีโอกาสประมาณ 20-30% ที่รัสเซียจะบุกเข้าโจมตียูเครน โดยอาจเป็นการบุกแบบ Thunder Run คือเข้าเร็วและออกเร็ว และทำให้ขวัญและกำลังใจของประชาชนยูเครนตกต่ำลง เพื่อจะทำให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาลและเลือกผู้นำที่เป็นมิตรกับรัสเซียมากกว่า
SCBS มองว่ามีโอกาสน้อยที่ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ด้านรัสเซียและยูเครนอย่างใกล้ชิด
ในสัปดาห์หน้า ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) อย่างใกล้ชิด โดยตลาดมองว่าจะปรับขึ้นเป็น 7.2% จาก 7.0% ในเดือนธันวาคม รวมถึงต้องจับตาตัวเลขความคาดหวังเงินเฟ้อของ U of Michigan ว่าจะลดลงจากระดับปัจจุบันที่ 4.9% หรือไม่ รวมถึงต้องจับตาสถานการณ์รัสเซียและยูเครนอย่างใกล้ชิด
นโยบายการเงินตึงตัว ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
SCBS มองว่าปัจจัยเรื่องนโยบายการเงินที่ตึงตัวจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและต่อตลาดการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะต้องจับตาตัวแปรสำคัญอย่างเงินเฟ้อใกล้ชิด โดยหากเงินเฟ้อไม่ลงอย่างรวดเร็ว Fed ยังน่าจะ Hawkish Biase ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนได้ ทั้งนี้ สัญญาณเบื้องต้นเริ่มเห็นว่าแรงกดดันด้านอุปทานลดลงบ้างแล้ว ขณะที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้นอาจทำให้เงินเฟ้อชะลอลง แต่ความคาดหวังเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อในระยะต่อไป
แนวโน้มตลาดหุ้นโลก: ผลประกอบการไตรมาส 4/64 ช่วยฟื้นตลาด
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.6% (EM +1.6%, DM +1.6%) หลังราคาปรับตัวลดลงแรงในสัปดาห์ก่อนหน้าจากความกังวลนโยบายการเงินที่ตึงตัว อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ปี 2564 นั้นออกมาดีกว่าที่คาด ทำให้ราคามีการฟื้นตัวขึ้น
หุ้นกลุ่ม Value (+1.8%) ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกลุ่ม Growth (+1.3%) หุ้นขนาดเล็ก (+2.2%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (+1.3%) ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้ผลตอบแทนเป็นบวก โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี สื่อสาร และสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% หุ้นกลุ่มเชิงรับให้ผลตอบแทน 2-3% ซึ่งต่ำกว่าหุ้นธีม Reflation ที่ให้ผลตอบแทน 3% จากราคาน้ำมันและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มสูงขึ้น
แนวโน้มตลาดหุ้นไทย: เพิ่มมุมมองเชิงบวกรับเศรษฐกิจฟื้นตัว
ในส่วนของไทย เราปรับมุมมองจาก Neutral เป็น Slightly Positive จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง ขณะที่นโยบายการเงินยังคงผ่อนคลาย ส่วนนโยบายการคลังมีการเพิ่มมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจ ขณะที่ประเด็นด้านสถานการณ์โควิดสายพันธ์ุโอมิครอนที่ดีขึ้นทำให้รัฐบาลประกาศเปิดประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อการท่องเที่ยว รวมถึงกิจกรรมในประเทศได้ในระยะต่อไป
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์ถัดไป
- การพูดคุยระหว่าง ปธน.สหรัฐฯ กับนายกรัฐมนตรีเยอรมนีต่อประเด็นยูเครน
- ตัวเลขภาคบริการของจีนที่คาดว่าจะชะลอตัวลง
- ท่าทีของธนาคารกลางอินเดีย อินโดนีเซีย และไทย ที่คาดว่าจะคงดอกเบี้ย ส่วนรัสเซียคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 100bps
- คาดการณ์เศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่อาจจะส่งผลถึงแนวโน้มนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น
- แนวโน้มผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ของบริษัท AstraZeneca, BP, Coca-Cola, Honda, L’Oreal, PepsiCo, Pfizer, Siemens, Softbank, Total, Toyota, Twitter, Uber, Unilever, Walt Disney
“นโยบายการเงินที่ตึงตัวนั้นได้สะท้อนอยู่ที่ราคาไปแล้วระดับหนึ่ง ในช่วงนี้จนถึงเดือนมีนาคมนั้นมองว่าตลาดจะให้ความสำคัญกับผลประกอบการและแนวโน้มกำไรในปี 2565 นอกจากนั้นโควิดสายพันธ์ุโอมิครอนส่งผลกับความผันผวนของตลาดค่อนข้างน้อยตามความรุนแรงของโรคที่ลดลง โดย SCBS มองว่าตลาดจะกลับมาเน้นหุ้นที่มีการเติบโตและความชัดเจนของกำไรสูงแต่ราคายังไม่สะท้อน มากกว่าเล่นตามภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนและอยู่บนความคาดหวังค่อนข้างมาก”
กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้า
การลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ปัจจัยภายในประเทศมีผลค่อนข้างจำกัดและเน้นไปที่กำไรไตรมาส 4/64
- หุ้นกลยุทธ์ไตรมาสที่ 1 อย่าง ADVANC, AH, BLA, KBANK, NYT
- หุ้นที่คาดว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 4 จะออกมาโดดเด่น IVL, BDMS, BLA, SPALI
- หุ้นที่ราคายังต่ำกว่า Pre-COVID สวนทางกำไรที่สูงกว่า Pre-COVID อย่าง PTT, ZEN, OSP, TTW, MTC, GPSC, BCP
- หุ้น Domestic Reopening จากนโยบายที่ไม่เข้มงวดและคนเริ่มปรับตัวได้ เลือก CPALL, CRC, CPN, BEM
- หุ้นที่มีความผันผวนต่ำและให้เงินปันผลสูง เช่น TTW, TVO
- หุ้นที่ยังคงมุมมองขายทำกำไรกลุ่มเดินเรือเมื่อราคาเด้งแรง
BEM หุ้นเด่นประจำสัปดาห์-ช่วงฟื้นตัวของกำไรและราคาหุ้น
สัปดาห์นี้ SCBS เลือก บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด หรือ BEM เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำการให้บริการทางด่วนและระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ซึ่งมีกระแสเงินสดเข้าอย่างต่อเนื่องและฐานะการเงินแข็งแกร่ง
- ไตรมาส 4/64 คาดกำไรดีขึ้น QoQ หลังปริมาณจราจรบนทางด่วนและจำนวนผู้โดยสาร MRT เพิ่มขึ้น 45%QoQ และ 120%QoQ ตามลำดับ จากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ 1 กันยายน 2563 ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจมีมากขึ้น (คนกลับไปทำงานที่ออฟฟิศและโรงเรียนเริ่มเปิดให้กลับไปเรียน)
- ราคาหุ้น BEM มีโอกาสฟื้นตัว หลังปรับลง 0.6%YTD สวนทาง SET Index ที่ปรับขึ้น 0.6%YTD ซึ่งคาดว่าสะท้อนความกังวลสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีไปแล้ว อีกทั้งปัจจุบันทุกฝ่ายต่างปรับพฤติกรรมที่เป็นวิถีชีวิตใหม่เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด เพื่อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
- Valuation น่าสนใจและยังไม่แพง หลังปัจจุบันราคาหุ้น BEM ยังซื้อขายต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ 23% และปี 2565 คาดกำไรจะกลับมาเติบโตเด่น 227%YoY สูงสุดในกลุ่มขนส่งทางบก
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 10 บาท ซึ่งยังไม่รวมการมีโอกาสชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่จะเป็น Upside อีก 1.50 บาท
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดฯ ได้รับแรงหนุนจากการที่ผลกระทบของโอมิครอนไม่ได้รุนแรงเท่าที่คาด ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งเริ่มปรับลดลงจากจุดสูงสุด และจากผลประกอบการ บจ. ในไตรมาส 4/64 ยังคงมีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นฯ มีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังมีอยู่ และการเพิ่มสูงขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ ตามแนวโน้มการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed
กองทุนแนะนำ
-
SCB Global Experts Fund หรือ SCBGEX(A)
กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดฯ ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน ตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้น จากการที่นักลงทุนยังรอประเมินรายงานการประชุม Fed รอบล่าสุด ซึ่งจะถูกเปิดเผยช่วงกลางเดือนนี้ อย่างไรก็ดี ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนที่ลดลงไปค่อนข้างมาก และผลประกอบการ บจ. สหรัฐฯ ในไตรมาส 4/64 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่คาด ประกอบกับแนวโน้มการซื้อคืนหุ้นมากขึ้นของ บจ. สหรัฐฯ จะสามารถช่วยประคองตลาดฯ ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำสัดส่วนการลงทุนหุ้นกลุ่ม Growth ต่อหุ้นกลุ่ม Value อยู่ที่ 60:40
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นยุโรป ตลาดฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากการเปลี่ยนผ่านนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ดี มองว่าปัญหาด้านการเมืองอาจไม่บานปลาย ทำให้ความผันผวนจะสูงเพียงในระยะสั้น นอกจากนี้คาดว่า ECB จะเข้มงวดได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศอื่น การบรรเทาลงจากปัจจัยด้านอุปทานจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวภาคการผลิตได้ต่อเนื่อง โดย SCBS แนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Growth จาก EPS ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี
กองทุนแนะนำ
-
Europe High Dividend Fund หรือ EHD
กองทุน EHD ลงทุนในกองทุน NN (L) European High Dividend บริหารโดยบริษัท Investment Management สำนักงานอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นยุโรปที่เน้นการจ่ายเงินปันผลสูง เน้นลงทุนในกลุ่ม Financial และ Consumer Staples ในชื่อที่ทุกคนรู้จัก เช่น Nestlé หรือ AstraZeneca
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ Valuation ของหุ้นญี่ปุ่นยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่น แต่มองว่าตลาดฯ ได้รับรู้ข่าวมาตรการกระตุ้นไปมากแล้ว ขณะที่ในช่วงสั้นนั้น ตลาดฯ เริ่มขาดปัจจัยสนับสนุนและดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 ยังมีแนวโน้มผันผวน ในช่วงที่ตลาดฯ การเงินยังเผชิญความไม่แน่นอน และรัฐบาลญี่ปุ่นขยายเวลาห้ามต่างชาติเข้าประเทศจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ดี BOJ ยังมีท่าที Dovish แต่เริ่มชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ในส่วนของ Commercial Paper และ Corporate Bond แม้ยังคงวงเงินการเข้าซื้อ ETF และ J-REITs
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share โดย Valuation ของดัชนีฯ เริ่มอยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Internet และทำให้ดัชนีฯ ได้รับผลกระทบจำกัดจาก US Bond Yield ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการคุมเข้มกฎระเบียบที่รุนแรงลดลงจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเฉพาะประเด็น ADR Delisting ที่ยังมีอยู่ และจากผลประกอบการ บจ. จีน ที่มีแนวโน้มขยายตัวปานกลาง จะกดดันการฟื้นตัวของดัชนีฯ โดยรวม
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจ การเร่งการใช้จ่ายทางการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การผ่อนคลายข้อจำกัดบนภาคอสังหา และการปรับลด RRR รวมทั้งอัตราดอกเบี้ย LPR ลง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ทางการจีนจะคงมาตรการควบคุมการระบาดภายใต้ Zero-Covid Policy ต่อ แม้สิ้นสุดการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนนี้ จะกดดันการฟื้นตัวของการบริโภคและเศรษฐกิจจีนโดยรวม
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS เปลี่ยนมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยจาก Neutral เป็น Slightly Positive โดยมองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการเปิดเศรษฐกิจหลังปัญหาการแพร่ระบาดที่บรรเทาลง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รวดเร็วกว่าคาด ด้านนโยบายการเงินและการคลังยังคงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Domestic Play ที่มีรายได้จากในประเทศเป็นหลัก เช่น ธนาคาร ค้าปลีก ขนส่ง อสังหา
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม โดยได้แรงหนุนจากแนวโน้มทยอยเปิดเศรษฐกิจของทางเวียดนาม และจากแนวโน้มการออกมาตรกระตุ้นเศรฐกิจตามแพ็กเกจกระตุ้นสำหรับปี 2565-2566 วงเงิน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยข้างต้นจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าของรัฐบาลที่ 6-6.5%
นอกจากนี้ EPS Growth ของ VN-Index มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่น โดย Consensus คาด VN-Index EPS ปี 2022 จะขยายตัว 27% ตามลำดับ ประกอบกับจากสถิติในอดีตบ่งชี้ว่าตลาดฯ มักมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ในช่วง 1 เดือนหลังผ่านช่วงหยุดเทศกาลตรุษจีน (5 ปี จาก 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2558)
กองทุนแนะนำ
-
Principal Vietnam Equity Fund
กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนามซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยทองคำได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียในประเด็นยูเครน รวมทั้งความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ระดับสูง เป็นปัจจัยบวกต่อทองคำ อย่างไรก็ตาม ทองคำมีแนวโน้มถูกกดดันหาก Fed มีท่าทีในการคุมเข้มนโยบายทางการเงินที่มากกว่าตลาดคาดการณ์ไว้
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนหลังกลุ่มโอเปกพลัสมีมติเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรลต่อวันสำหรับเดือนมีนาคม แม้ถูกกดดันจากสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรที่ต้องการให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตน้ำมันมากกว่านี้
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงบวก หากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย มีความยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาน้ำมันมี Upside ค่อนข้างจำกัด และความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำในการหยุดส่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียไปยังยุโรป นอกจากนี้แนวโน้มการกลับมาผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาน้ำมันอยู่
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดของโอมิครอนในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดันและ Upside ของตลาดยังถูกจำกัด
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ REITs ไทย ยังคง Laggard และได้รับประโยชน์จากการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบ Test & Go แต่ผลกระทบที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของ REITs ไทยอยู่
ขณะที่สิงคโปร์มีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของสิงคโปร์ที่ตึงตัวขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันต่อ REITs สิงคโปร์