THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT: ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยเริ่มมากขึ้น จับตาสงครามยูเครน นโยบาย Zero-COVID จีนชี้ชะตา
EXCLUSIVE CONTENT

ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยเริ่มมากขึ้น จับตาสงครามยูเครน นโยบาย Zero-COVID จีนชี้ชะตา

... • 9 พ.ค. 2022

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ตลาดหุ้นสัปดาห์ที่ผ่านมาผันผวนรุนแรงจากหลายปัจจัยลบทั้งตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จีน และยุโรป บ่งชี้สัญญาณชะลอตัว 
  • ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น หากทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และนโยบาย Zero-COVID ในจีนยังคงไม่คลี่คลายภายในครึ่งแรกปี 2022
  • ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ คือท่าทีของรัสเซียต่อยูเครน โดยคาดว่าประธานาธิบดีปูตินจะพูดในสัปดาห์นี้ และเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
  • แนวโน้มหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอก แนะคงน้ำหนักพอร์ตที่ 50% ในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก

ภาพการลงทุนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นผันผวนแรง แต่ตลาดตราสารหนี้เริ่มทรงตัว เนื่องจากการส่งสัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าจะดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวอย่างเป็นลำดับ โดยจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในครั้งนี้ และส่งสัญญาณพร้อมจะขึ้นในอีก 2 ครั้งข้างหน้า แต่ปิดประตูการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% รวมถึงเริ่มลดทอนขนาดงบดุลครึ่งหนึ่งของเป้าหมายการลดใน 3 เดือนแรก ตลาดจึงมองว่าเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน 

 

ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาการลงทุนเผชิญปัจจัยลบจาก 

 

  1. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ISM ในสหรัฐฯ และ PMI ทั่วโลกโดยเฉพาะจีนและยุโรปที่ลดลง บ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง รวมถึงตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) ของสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลกที่ลดลงเช่นกัน 

 

  1. ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ โดยจะพยายามลดการใช้น้ำมันดิบจากรัสเซียให้ได้ภายใน 6 เดือน และพยายามยุติการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียให้ได้ภายในปี 2023 รวมถึงคว่ำบาตรธนาคาร Sberbank และอีก 2 ธนาคารใหญ่จากระบบ SWIFT 

 

  1. นักเศรษฐศาสตร์เริ่มกังวลโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ในจีนมากขึ้นหลังจากตัวเลข PMI ทั้งของทางการและเอกชนตกต่ำรุนแรง โดยตัวเลขภาคบริการของทางการที่ลดลงเหลือ 41.9 จุด จากที่ตลาดคาดที่ 46 จุด ขณะที่ตัวเลขชี้วัดอื่นๆ เช่น ยอดขายปูนซีเมนต์ ยอดขายรถตักดิน รวมถึงยอดขายโทรศัพท์มือถือลดลง 20-60% โดยเฉลี่ย ผลจากมาตรการ Zero-COVID ที่ยังคงล็อกดาวน์เมืองสำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้ เพื่อคุมการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) ของจีนออกมาส่งสัญญาณว่าจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและหนุนตลาดที่อยู่อาศัยต่อไป

 

ภาพรวมตลาดหุ้นฟื้นตัวดีหลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยไม่รุนแรง โดย

1. Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ตามคาด
2. ปิดประตูการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% 

  1. ประกาศแผนการลดขนาด Balance Sheet ลง โดยเริ่มลดการถือครอง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน ตั้งแต่ 1 มิถุนายน เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นลด 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน 

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) วิเคราะห์ว่า 

 

  1. สาเหตุที่พาวเวลล์ปิดประตูขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในระยะสั้น เป็นเพราะเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณพีคแล้ว แม้ยังคงในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น เห็นได้จาก ISM, PMI ทั้งในสหรัฐฯ และโลก รวมถึงความเชื่อมั่นทั่วโลก 

 

  1. มองว่าการประกาศแผน QT ชัดเจน รวมถึงการปิดประตูขึ้น 0.75% ในครั้งเดียวเป็นการส่งสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัวที่น้อยกว่าตลาดคาดไว้เล็กน้อย จึงเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดระยะสั้น 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้น ทั้งจากปัญหาซัพพลายเชนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่อเค้ายืดเยื้อ และจากการล็อกดาวน์เพื่อคุมการระบาดของจีน 

 

ประกอบกับต้นทุนทางการเงินสหรัฐฯ ที่จะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบัน จะมีผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อสูง (หรือสถานการณ์ Stagflation) อย่างต่อเนื่อง และหากความคาดหวังเงินเฟ้อสหรัฐฯ (ที่ปัจจุบันสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 5.4%) ยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เราเชื่อว่า Fed ก็จะยังคงส่งสัญญาณนโยบายการเงินตึงตัว ซึ่งจะส่งผลลบต่อการลงทุนในระยะต่อไป

 

SCBS มองว่า ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มทรงตัว แต่ความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอย (Recession) มีมากขึ้น หากทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และนโยบาย Zero-COVID ในจีน ยังคงไม่คลี่คลายภายในครึ่งแรกปี 2022 (1H22) ประกอบกับนโยบายการเงินตึงตัวในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีต่อเนื่องในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะส่งผลให้ภาพการลงทุนมีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยง มีโอกาสปรับตัวลดลง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรใช้จังหวะนี้ในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพดีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือตราสารหนี้ 

 

มุมมองต่อการลงทุน

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกค่อนข้างผันผวน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง -1.1% และตลาดพัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มขึ้น +2.5% โดยได้รับแรงหนุนจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ไม่ดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวเท่าที่ตลาดคาด รวมถึงสถานการณ์โควิดในจีนดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดีตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งการผลิต บริการ และตลาดแรงงาน มีสัญญาณการชะลอตัวลง

 

หุ้นกลุ่ม Growth (+2.1%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Value (+2%) หุ้นขนาดใหญ่ (+2.1%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (+1.6%) กลุ่มพลังงานปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่ได้รับแรงหนุนจากการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียของสหภาพยุโรป กลุ่มเทคโนโลยีได้รับแรงหนุนจากยีลก์ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่วนกลุ่มเชิงรับปรับตัวในกรอบแคบ

 

ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ 

 

  1. ท่าทีของรัสเซียต่อยูเครน โดยคาดว่าประธานาธิบดีปูตินจะพูดในสัปดาห์นี้ 
  2. เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
  3. ความคืบหน้าการเข้าร่วม NATO ของฟินแลนด์และสวีเดน 
  4. การเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ 
  5. ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของบริษัท Allianz, Bayer, BioNTech, Coinbase, Hon Hai, Honda, Infineon, Mitsubishi, Occidental, Porsche, Rivian, Siemens, SoftBank, Sony, Toyota, Walt Disney

 

“ตลาดจับตาความเสี่ยง 3 เรื่อง 1. เงินเฟ้อและต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีประเด็นความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนเป็นปัจจัยกดดันหลัก 2. การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก เป็นเรื่องมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดของจีน 3. ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจจะส่งสัญญาณแนวโน้มดอกเบี้ยผิด ซึ่งจะสร้างความผันผวนให้กับตลาด เมื่อไม่มีความชัดเจนก็ยังบ่งชี้ว่าตลาดยังอยู่ในทิศทางที่ย่อตัวลงจนกว่าจะมีความชัดเจนของสามประเด็นดังกล่าวที่ชัดเจนมากขึ้น”

 

กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้

 

การลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ปัจจัยภายในประเทศมีผลค่อนข้างจำกัดและหาจังหวะในการลงทุนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น

 

  1. คงน้ำหนักพอร์ตที่ 50% ในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก เช่น KBANK, AMATA, LH, GULF, ADVANC

 

  1. หุ้นที่กำไรผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และราคาหุ้นลงแรงสะท้อนบอนด์ยีลด์ที่ขึ้นไปแรงใกล้จุดสูงสุดไปแล้ว เลือก MTC, SAWAD, GULF 

 

  1. เก็งกำไรหุ้นส่งออกที่ได้อานิสงส์บาทอ่อน และสหรัฐฯ มีแผนลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เลือก DELTA, PSL, RCL

 

  1. หุ้นที่คาดผลประกอบการ 1Q65 เติบโตดี YoY และยังฟื้นตัวต่อเนื่องใน 2Q65 เลือก ZEN, GFPT, TOP, BCP

 

  1. ระมัดระวังหุ้นกลุ่มขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ โรงไฟฟ้า อสังหา บรรจุภัณฑ์ ที่มีโอกาสถูก Downgrade Earning จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นหลังประกาศงบ 1Q65 อีกทั้งล่าสุดตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ราคาดีเซลจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันได 

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BCP - กำไรธุรกิจหลักโรงกลั่นดีขึ้น

 

สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

  1. ผู้นำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในไทย (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2) ที่มีการกระจายความเสี่ยงธุรกิจสู่พลังงานสะอาดซึ่งมีศักยภาพเติบโตดี เช่น โรงไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ, ร้านค้าปลีก, ร้านกาแฟ

 

  1. ฐานะการเงินแข็งแกร่ง โดยมีกระแสเงินสดสม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานไฟฟ้า และจัดอยู่ในกลุ่มหุ้นปันผลดี โดยมีประวัติการจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่องกว่า 17 ปี โดยคาดให้ Dividend Yield ปีนี้สูงราว 8%

 

  1. ไตรมาสแรก 2022(1Q22) คาดกำไรเพิ่มขึ้นโดดเด่นทั้ง YoY และ QoQ แรงหนุนจากกำไรสต๊อกน้ำมันจำนวนมากและ Crude Run ที่สูงขึ้น อีกทั้งคาดผลการดำเนินงานบริษัทร่วมที่ประกอบธุรกิจ E&P จะยังอยู่ในระดับที่ดี เพราะราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้น และไม่มีขาดทุนจากด้อยค่าของสินทรัพย์

 

  1. ช่วงสั้นมองราคาหุ้นมีโมเมนตัมปรับขึ้นต่อได้ตามทิศทางของ GRM ที่จะสูงขึ้น หลังจาก EU มีแผนเดินหน้าคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียอย่างเข้มข้นและอุปสงค์น้ำมันยังฟื้นตัวต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้ประโยชน์ราคาน้ำมันและก๊าซที่สูงขึ้นจากการถือหุ้นใน OKEA ซึ่งกลับมีมีกำไรตั้งแต่ปี 2021    

 

  1. ประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 40 บาท ด้วยวิธี SOTP ซึ่งประกอบด้วย มูลค่าธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันที่ 18 บาทต่อหุ้น (อิง PBV 0.6 เท่า) และมูลค่าธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่ 22 บาทต่อหุ้น (อิง DCF)

 

ถึงเวลาของการลงทุนในตราสารหนี้แล้วหรือยัง?

 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายตามคาด 0.50% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ด้วยสถานการณ์รัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อทำให้ความคาดหวังเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูง แต่อย่างไรก็ดีเรามองว่าดอกเบี้ยและ QT ได้สะท้อนอยู่ในราคาแล้วระดับหนึ่ง การขึ้นดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดคาดและการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอาจจะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีต่อตลาด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเป็นการ Re-Price 

 

สำหรับความคาดหวัง การปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเมื่อมีการผ่านจุดสูงสุดและ PMI เริ่มชะลอตัวลงจะทำให้ตลาดหุ้นมีการย่อตัว จากสถิติในอดีต 6 ใน 8 ครั้ง เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรผ่านจุดสูงสุดตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลง ส่วนความสัมพันธ์ของตลาดหุ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นอยู่ในระดับสูง ในปี 2022 กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวแล้วแต่ตลาดหุ้นยังไม่ปรับตัวลดลงตามภาพที่ชะลอตัวลง

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

บรีฟอาร์ต: ระดับความน่าสนใจของตลาดต่างๆ รบกวนทำกราฟิกแถบพลังตาม Format ลิงก์นี้จ้ะ https://thestandard.co/120-days-opening-the-country-support-thai-reit-exclusive-summary/ 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะยังกดดันเซนติเมนต์ตลาดฯ นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักใน DM โดยเฉพาะ Fed 

 

อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นบนประเทศกลุ่ม DM รวมทั้งผลประกอบการของ บจ. ในกลุ่ม DM ใน 1Q22 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดหุ้น DM ยังทรงตัวถึงฟื้นตัวได้บางส่วน

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และ Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมเดือนมิถุนายน และกรกฎาคม รวมทั้งจะเริ่มลดขนาดงบดุลเดือนมิถุนายน 

 

นอกจากนี้ นักลงทุนกังวลว่ามีแนวโน้มที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 0.75% ในเดือนมิถุนายนเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ใน 1Q22 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด จะช่วยประคองตลาดฯ ไว้ได้

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของยุโรป โดยยุโรปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของประชาชนและต้นทุนการผลิต 

 

ขณะที่ภาคการผลิตถูกกดดันจากพลังงานที่อาจถูกดิสรัปต์จากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาด้านอุปทานมีแนวโน้มแย่ลงจากการล็อกดาวน์ในจีน อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นยุโรปที่ลดลงมามาก จะช่วยจำกัดดาวน์ไซด์ตลาด

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีแผนที่จะเปิดประเทศในเดือนมิถุนายน 

 

ขณะที่ ดัชนี Core CPI เดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 1.9%YoY สูงสุดในรอบ 7 ปี แต่ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% โดย BOJ ยังมีแนวโน้มคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ตาม

 

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นจีน H-share ดัชนียังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่มแพลตฟอร์มที่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเรื่อง Delisting ของบรรดาหุ้นจีน ADRs ภายในปี 2024 ที่ยังมีอยู่ โดยล่าสุด SEC สหรัฐฯ เพิ่มบริษัทจีน ADRs อีกมากกว่า 80 แห่ง ในรายชื่อบริษัทจีนที่อาจถูกถอดถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

 

นอกจากนี้ ผลประกอบการของ บจ.จีน โดยเฉพาะกลุ่มแพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มชะลอลงถึงขยายตัวปานกลางในช่วง 1H22 ตามผลกระทบทางลบ จากการออกมาตรการควบคุมการระบาดรอบใหม่ในจีนจะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีโดยรวม

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นจีน A-share โดยดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงขาลงเศรษฐกิจ 

 

อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ในจีนที่ยังน่ากังวล และการคงมาตรการควบคุมการระบาดในเมืองหลักๆ ที่ยาวนานขึ้น จะยังกดดันการฟื้นตัวของภาคการบริโภค ภาคบริการ และทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานยังยืดเยื้อ นอกจากนี้เซนติเมนต์การลงทุนของนักลงทุนจีนในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มซบเซาต่อ

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากผลของสงครามยูเครนจะกระทบต้นทุนการผลิต ภาคการบริโภคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะปรับประมาณการกำไรของ บจ. ของไทยลง 

 

ขณะที่ Valuation หุ้นไทยเริ่มตึงตัว นอกจากนี้ การที่บอนด์ยีลด์ 10 ปีของไทยเริ่มอยู่ต่ำกว่าของสหรัฐฯ และการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออก

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 5

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงที่ผ่านมาเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศ เช่น การปรับนโยบายเข้มงวดขึ้นในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของภาคอสังหา และการออกมาคุมเข้ม Margin Loan ของ บล. ที่ให้กับนักลงทุนรายย่อย แต่เราประเมินว่า ความกังวลดังกล่าวจะสร้างความผันผวนเพียงช่วงสั้น และถือเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนาม เนื่องจาก ตลาดฯ ยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจ และผลประกอบการ บจ. ของเวียดนาม ที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับระดับ Valuation ของตลาดฯ ล่าสุด ที่อยู่ในระดับน่าสนใจอย่างมาก และยังถูกที่สุดในกลุ่มอาเซียน

 

กองทุนแนะนำ

 

  ​​

 

  • Principal Vietnam Equity Fund

กองทุน PRINCIPAL VNEQ-A ลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงกว่าที่ตลาดคาดในการประชุมเดือนมิถุนายนเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

อุปทานน้ำมันโลกมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น หลังปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันจากรัสเซีย มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับจำกัด และกลุ่ม OPEC+ ยังคงแผนเดิมในการปรับเพิ่มกำลังการผลิตอยู่ที่ 432,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมิถุนายน 2022 อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิดในจีนที่ยังคงรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกดดันความต้องการใช้น้ำมัน

 

REITs ประเทศพัฒนา

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจาก ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลงและเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และอัปไซด์ของตลาดถูกจำกัด

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 

ความน่าสนใจระดับ 5

 

 

REITs ไทยและสิงคโปร์ยังคง Laggard เมื่อเทียบกับ DM REITs สิงคโปร์มีการยกเลิกมาตรการคุมโควิดเกือบทั้งหมด ส่งผลให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวมีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่แม้ประเทศไทยยังมีการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และรัฐบาลเริ่มมีการวางแผนปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะอันใกล้ รวมทั้งมีแนวโน้มปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้มากขึ้น

 

กองทุนแนะนำ

 

 

  • SCB Property and Infrastructure Flexible Fund

กองทุน SCBPINA ลงทุนในหน่วยลงทุน REITs และ Infrastructure Fund ของไทยและสิงคโปร์ โดยลงทุนในต่างประเทศโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่เกินร้อยละ 79

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 9 พ.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories