- ตลาดผันผวนหนัก หลังจากที่ประชุม FOMC ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% แต่ปรับประมาณการการขึ้นดอกเบี้ย (Dot Plot) ขึ้นรุนแรง
- รวมถึงกรณีที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ประกาศยกระดับความรุนแรงสงคราม โดยเตรียมพร้อมให้มีการบุกยูเครนเพิ่ม และไม่ปฏิเสธการใช้อาวุธนิวเคลียร์
- ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งขึ้นโดยเฉพาะระยะสั้น ขณะที่ระยะยาวทรงตัว และทำให้ Inverted Yield Curve รุนแรงขึ้น แต่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้เล็กน้อย
- จากนี้ไปตลาดจะเริ่มเชื่อว่าการขึ้นของดอกเบี้ยแบบรุนแรงจะสิ้นสุดลงแล้ว (Peak of Hawkishness) รวมถึงเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวมากขึ้นพร้อมๆ กับเศรษฐกิจ
- ส่งผลให้การลงทุนจะกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น นักลงทุนจะลดความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยลง และหันมามุ่งเน้นในสินทรัพย์ที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ย และการชะลอลงของเศรษฐกิจได้
สัปดาห์นี้ตลาดปรับตัวลดลง หลังเผชิญ 2 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ
1. ผลการประชุม FOMC ของสหรัฐฯ ที่แม้จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด แต่ก็ปรับประมาณการการขึ้นดอกเบี้ย (Dot Plot) ขึ้นรุนแรง จาก 3.4% และ 3.8% ณ สิ้นปี 2022-2023 ขึ้นเป็น 4.4% และ 4.6% (บ่งชี้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้จะเป็น 0.75% และ 0.50% ตามลำดับ) และปรับประมาณการเศรษฐกิจลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 1.7% ในปี 2022-2023 เป็น 0.2% และ 1.2%
ขณะที่ในช่วงแถลงข่าว ประธาน Fed กล่าวว่า “โอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปน่าจะหมดลงแล้ว” (Chance of a soft landing are likely to diminish) ซึ่งหลังการประกาศดังกล่าว ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้นรุนแรง
2. ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ประกาศยกระดับความรุนแรงสงคราม โดยให้ 4 จังหวัดทางตะวันออกของยูเครน ประกาศทำประชามติขอแยกตัวเป็นอิสระภายในสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งหากเห็นชอบจะเป็นการให้อำนาจกองทัพรัสเซียในการบุกยึดอย่างเต็มกำลัง และอาจใช้อาวุธหนัก เช่น อาวุธเคมีและอาวุธนิวเคลียร์ได้ และอาจรวมถึงการประกาศเกณฑ์ทหาร เพื่อนำกำลังรบไปบุกยูเครนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การลงทุนได้รับปัจจัยบวกจาก 1. ตัวเลขกิจกรรมเศรษฐกิจของจีนล่าสุดออกมาดีกว่าที่คาด และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากขึ้น และ 2. ธนาคารกลางจีนลดดอกเบี้ย RP 14 วัน พร้อมอัดฉีดเงินอีก 1.2 หมื่นล้านหยวนเข้าสู่ระบบ
หุ้นไทย ‘ผันผวน’ มากขึ้น
ตลาดหุ้นไทยผันผวนมากขึ้น แต่ยังคง Outperform ตลาดหุ้นโลก นักลงทุนต่างชาติยังคงชะลอการลงทุน โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ การยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ รวมถึงการขยายวีซ่า ซึ่งส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ส่วนหุ้นที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี จากความกังวลเรื่องผลประกอบการ
ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 3.51% ขณะที่ระยะสั้น 2 ปี ปรับขึ้นรุนแรงมาอยู่ที่ 4.08% จาก Dot Plot ที่ Hawkish ขึ้น ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี เพิ่มขึ้นมาที่ 0.57%
ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 10 bps มาอยู่ที่ 2.97% ขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี ปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.68% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 4,443 ล้านบาท
คาด Fed ขึ้นดอกเบี้ยแบบ Front Load
InnovestX มีมุมมองต่อทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐ 3 ประเด็น
1. การขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณเช่นนี้ เป็นการขึ้นแบบ Front Load กล่าวคือ เร่งขึ้นรุนแรงที่ 0.75% และ 50% ในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายของปี และทรงตัวหรือปรับขึ้นอีก 25% ในการประชุมต้นปีหน้า และลดดอกเบี้ยในปี 2024
2. การปรับประมาณการเศรษฐกิจลงรุนแรง บ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่จะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยในปีนี้ถึงปีหน้า (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 0.2% ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังต้องหดตัว 2.8% จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 3.2%)
3. ผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี ที่ขึ้นมาแรงที่ 4.1% ขณะที่ 10 ปี ยังอยู่ที่ 3.5% บ่งชี้ว่าตลาดเชื่อว่าการส่งสัญญาณการขึ้นครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณแบบรุนแรงครั้งสุดท้าย (Peak of Hawkishness) รวมถึงเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวมากขึ้นพร้อมๆ กับเศรษฐกิจ
ในประเด็นที่รัสเซียยกระดับความรุนแรงของสงครามขึ้น มองว่าการส่งสัญญาณรุกหนักมากขึ้นของทางรัสเซีย เพื่อต้องการปิดเกมสงครามครั้งนี้ โดยให้ทางยูเครน ยอมยกรัฐทางตะวันออกให้แลกกับการยุติสงคราม ดังนั้นในระยะต่อไปต้องติดตามสัญญาณจากชาติตะวันตกว่าจะยอมเจรจากับทางรัสเซียหรือไม่ ซึ่งหากชาติตะวันตกไม่ยอม อาจเห็นการรุกหนักขึ้นของทางรัสเซียในระยะต่อไป ซึ่งอาจกระทบราคาพลังงานและเงินเฟ้อ รวมถึงเศรษฐกิจโลกได้
สัปดาห์นี้ต้องจับตาดัชนีราคาบ้าน Case-Shiller Index ว่าจะลดลงต่อเนื่องหรือไม่ รวมถึงการประกาศ GDP ไตรมาส 2 ครั้งสุดท้ายของสหรัฐฯ ที่คาดว่ายังอยู่ที่ -0.6% เท่าเดิม รวมถึงเงินเฟ้อ Core PCE ที่จะลดลงต่อจากเดือนก่อนที่ 5.2% หรือไม่
ตลาดเริ่มเชื่อว่าเทรนด์ดอกเบี้ยขาขึ้นแบบรุนแรง ‘สิ้นสุดแล้ว’
InnovestX เชื่อว่าตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ หลังการประชุม FOMC โดยตลาดจะเริ่มเชื่อว่าการขึ้นของดอกเบี้ยแบบรุนแรงจะสิ้นสุดลงแล้ว (Peak of Hawkishness) รวมถึงเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอตัวมากขึ้นพร้อมๆ กับเศรษฐกิจ ดังนั้น การลงทุนจะกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยนักลงทุนจะลดความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยลง และหันมามุ่งเน้นในสินทรัพย์ ตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ย และการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงใหม่สำคัญ อันได้แก่สถานการณ์สงครามในยูเครนที่อาจตึงเครียดขึ้น
ตลาดโลกปรับตัวลดลง 2-3%
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 3% (EM -2.3%, DM -3.1%) โดยได้รับแรงกดดันจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย ส่วนประเทศ EM ปรับตัวลดลงน้อยกว่าจากจำนวนผู้ป่วยในจีนลดลง ราคาน้ำมันลดลง และราคาหุ้นก็ปรับตัวลดลงมาแรงก่อนหน้านี้
หุ้นกลุ่ม Value (-2.7%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Growth (-3.3%) หุ้นขนาดเล็ก (-3.6%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (-2.9%) ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่ม Consumer Discretionary (รถยนต์ สายการบิน เสื้อผ้า) ปรับตัวลดลง 4-5% จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอย ส่วนกลุ่มเชิงรับอย่าง Consumer Staples และ Utilities ปรับตัวลดลง 1-2% น้อยกว่าตลาด
ในสัปดาห์นี้ติดตาม
1. ประธาน Fed หลายสาขาออกมาให้ความเห็นต่อท่าทีของดอกเบี้ยสหรัฐฯ
2. ตัวเลขยอดขายบ้านของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่อง -2.2%MoM ในขณะที่ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัว
3. การประชุม กนง. ของไทยที่คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ส่วนธนาคารกลางเม็กซิโกจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75%
4. งาน AI ของ Tesla ที่คาดว่าจะมีอัปเดตเรื่อง Humanoid Robot
5. ผลประกอบการของ Micron Technology, Nike ที่จะได้เห็นผลกระทบจากสินค้าคงค้าง และการเปิดประเทศ
กลยุทธ์ลงทุนหุ้นไทย
มองบรรยากาศการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง จะถูกกดดันจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีมากขึ้น หลัง Fed ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าที่คาดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนช่วงสั้นจึงแนะนำ Selective ในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้
1. หุ้น Defensive ที่อิงเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก เลือก ADVANC, BDMS, BLA และ HMPRO
2. หุ้น Domestic Growth ใน 4Q65 ซึ่งกำไรมีโมเมนตัมเติบโตได้ดี เลือก AMATA, AP, CRC และ KTB
ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้
1. หุ้นเดินเรือ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามา และอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง
2. หุ้นที่มีฐานลูกค้า/ตลาดส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งคาดได้รับกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มยานยนต์ กลุ่มยาง
3. หุ้นกลุ่มเนื้อสัตว์ อาทิ CPF และ GFPT ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากความกังวลต้นทุนอาหารสัตวยังทรงตัวสูง จากสถานการณ์รัสเซียและยูเครนที่กลับมายกระดับ และเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ
ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. การประชุมนโยบายการเงินของ กนง. ในวันพุธที่ 28 กันยายน ซึ่งตลาดคาดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.00%
2. การเดินหน้าบุกยูเครนของรัสเซีย หลังปูตินประกาศระดมกำลังพล ซึ่งอาจนำมาสู่การยกระดับมาตรการคว่ำบาตรของนานาประเทศ และการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน
3. บรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BLA - ได้ประโยชน์ Bond Yield เพิ่มขึ้น
สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต หรือ BLA เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาด 6% ในแง่ของเบี้ยประกันรับทั้งหมด และ 4% ในแง่ของเบี้ยประกันรับรายใหม่
- มองผลตอบแทนจากการลงทุน และตลาดผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ จะได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ที่เพิ่มขึ้น โดยปี 2022 คาดอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและเงินปันผลจะทรงตัว จากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นปีละ 5%ในปี 2023-2024
- แม้ 3Q22 คาดกำไรลดลงทั้ง YoY และ QoQ จากกำไรเงินลงทุนที่ลดลง แต่ 4Q22 คาดกำไรจะเพิ่มขึ้น YoY และ QoQ จาก Combined Ratio ที่ลดลง และหนุนให้ปี 2022 กำไรจะยังเติบโต 20%YoY และเติบโตแกร่งขึ้น 55%YoY ในปี 2023 จาก Combined Ratio ที่ลดลงอย่างมาก
- ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับลง 19% ซึ่งมองสะท้อนความกังวลมีโอกาสถูกนำออกจากการคำนวณดัชนี SET50 รอบหน้าไปค่อนข้างมากแล้ว ขณะที่ผลดำเนินงานยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยปี 2022-2023 คาดกำไรจะเติบโตดี จากอัตรากำไรจากการรับประกันที่ดีขึ้น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ที่ฟื้นตัวดีขึ้น และอัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้น
- เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่ 49.00 บาท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 หุ้นละ 0.57 บาท คิดเป็น Div. Yield ราวปีละ 1.6%
ธนาคารกลางทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
ธนาคารกลางฝั่งยุโรปปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยสหราชอาณาจักรปรับขึ้น 0.50% พร้อมคาด GDP 3Q22 จะหดตัวลง ด้านสวิตเซอร์แลนด์ปรับลง 0.75% ขณะที่ฝั่งเอเชียปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน โดยธนาคารกลางฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียปรับขึ้น 0.50% ในขณะที่เวียดนามขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลัก 1.00% ซึ่งเป็นการปรับครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2020
ทั้งนี้ มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนในการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.25% ทำให้หลายประเทศเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเพื่อที่จะป้องกันค่าเงิน รวมถึงมีการแทรกแซงค่าเงิน
ดังนั้น InnovestX มองว่าตลาดจะมีความผันผวนมากขึ้น เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วง 4Q22-1Q23 ซึ่งมองว่าตลาดจะยังอยู่ในทิศทางที่ตอบสนองกับความเสี่ยง ส่วน Upside มีจำกัด หากเรายังคงลงทุนแบบระมัดระวัง และเลือกหุ้นที่เน้นการตั้งรับและมีภาพการเติบโตได้ดี โดยมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญ
การจัดสรรพอร์ตการลงทุนจะมีความอ่อนไหวต่อการประเมินมูลค่า และระมัดระวังเกี่ยวกับบริษัทที่ไม่มีกำไร งบดุลอ่อนแอและหุ้น Valuation สูงปรับตัวลดลงแรงกว่า เราจึงมองว่าการจัดสรรจะหันไปหาหุ้นที่มีคุณภาพกำไร และไม่แปรผันกับภาพเศรษฐกิจมาก เนื่องจากความเสี่ยงจากภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น โดยหุ้นไทยเราเลือก AMATA, AP, CRC, KTB และ MTC สำหรับหุ้นต่างประเทศที่มีคุณภาพดีเราชอบ T-Mobile, Monster Beverage, UnitedHealth, American Tower, Philip Morris และ Kraft Heinz
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง/เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อการถือครองเงินสด และ/หรือ สินทรัพย์สภาพคล่อง โดยสถานการณ์โควิดใน DM หลายประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง และผลประกอบการ บจ. ใน DM ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด แต่สินทรัพย์เสี่ยงยังคงเผชิญปัจจัยกดดัน จากการที่ธนาคารกลางประเทศหลัก Fed, BOE และ ECB มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ตามเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูง และจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อพันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ โดยเรามอง UST Yield ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ ตามการปรับคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับทิศทาง และขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed หลังผลการประชุม Fed ล่าสุด คณะกรรมการ FOMC ได้ปรับประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของปี 2022-2024 เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีอยู่ (ความน่าจะเป็นที่จะเกิด Recession ในสหรัฐฯ อีก 12 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ที่ 50%) จะทำให้การเพิ่มสูงขึ้นของ 10y UST Yield เป็นไปอย่างจำกัด
กองทุนแนะนำ
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส (ชนิดหน่วยลงทุน B) (SCBSFFPLUS-B)
- กองทุนลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยจะลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 50% และป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% โดยกองทุนเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความผันผวนต่ำ เหมาะกับการพักเงินลงทุนในระยะสั้น
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Cross Asset Investment Opportunity (ชนิดสะสมมูลค่า) (SCBCIO(A))
- กองทุนผสมแบบ Fund of Funds ที่ลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั้งไทยและต่างประเทศ สามารถปรับสัดส่วนการลงทุนได้ยืดหยุ่น โดยเพิ่มลดสัดส่วนได้ตั้งแต่ 0-100% ตามสภาวะตลาด โดยกองทุนนี้เป็น ONE-Stop Fund คัดสรรกองทุนรวมทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมตามสภาวะตลาด
หุ้นกู้ต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นกู้ต่างประเทศ โดยเราคาดว่า Credit Spread ของ US Investment Grade (IG) มีแนวโน้มทรงตัว หลังจากกว้างขึ้นไปมากเมื่อเทียบกับตอนต้นปี อย่างไรก็ตาม HY Spread มีแนวโน้มกว้างขึ้นต่อ ตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจที่มากขึ้น ประกอบกับ UST Yield ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อ จะเป็นตัวกดดันอัตราผลตอบแทนรวมของ US Credit ในขณะที่เรายังแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนตราสารหนี้เอเชีย High Yield ที่มีหุ้นกู้จีน ตามความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ผู้พัฒนาอสังหาที่ยังน่ากังวล รวมทั้งให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับรัสเซีย
หุ้นกู้ไทย
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Positive ต่อหุ้นกู้ไทยในกลุ่ม Investment Grade โดยเฉพาะ AAA และ AA โดย Gov’t Bond Yield ของไทยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐฯ และโอกาสที่จะเร่งตัวแรงยังต่ำ โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 2 ปี ส่วนหนึ่งมาจากแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายที่ขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางอุปสงค์ในตลาดพันธบัตรไทยที่ยังมีต่อเนื่องจาก AMC และบริษัทประกัน ขณะที่ Corporate Spread ค่อนข้างทรงตัวในทุกอายุและทุก Grade โดยเฉพาะในกลุ่ม AAA และ AA ที่ทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงกับก่อนโควิด ทั้งนี้ เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ยังมีอยู่
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัว และความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ดี การเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. DM ที่ยังขยายตัวได้ดี จะสามารถช่วยประคองให้ตลาด DM มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวขึ้นบางส่วน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดยังคงมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed แต่เรามองว่าตลาดได้แรงหนุนจาก Valuation ตลาดที่ลดลงจากการซื้อหุ้นคืน และการจ่ายเงินปันผลของ บจ.สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากผลประกอบการใน 3Q22 ที่ยังมีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่คาด จากการที่ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ มีสัดส่วนกลุ่ม Quality Growth ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาด DM อื่น จึงทำให้ได้อานิสงส์จากแรงซื้อนักลงทุน หากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
เรามีมุมมอง Slightly Negative ต่อตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่าตลาดยุโรปจะเริ่มปรับตัวลงมา และมี Valuation ที่ถูก แต่เรามองว่าปัจจัยที่กดดันยังไม่ถูกสะท้อนผ่านราคาที่ปรับตัวลงมาทั้งหมด โดยปัจจัยที่ยังกดดัน ได้แก่ วิกฤตพลังงานในยุโรปที่ยังเป็นความเสี่ยงต่อทั้งภาคการผลิตและการบริโภค ในขณะที่การส่งผลเงินเฟ้อไปยังผู้บริโภคมากขึ้นสะท้อนจาก CPI ที่เร่งตัวขึ้นในเดือนสิงหาคม ส่งผลให้นโยบายทางการเงินของ ECB มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งรัสเซียมีแนวโน้มที่จะยกระดับความรุนแรงขึ้น กดดันการลงทุนในยุโรป
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
เรายังคงมีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเรามองว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออก ในขณะที่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่านั้นเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศจากราคาสินค้านำเข้าที่มีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นตาม ในขณะที่ BOJ ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการผ่อนคลายนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี Valuation ที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำนั้น ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนอยู่หากมีการปรับตัวลงมา ประกอบกับการเปิดประเทศในช่วงเดือนกันยายน เป็นปัจจัยช่วยหนุน Sentiment ในกลุ่ม Re-opening
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share จาก Valuation ดัชนีที่ไม่แพงเมื่อเทียบตลาดหุ้นโลก การคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่น่าจะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว และความเสี่ยง Delisting ของบริษัทจีน ADRs ที่เริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องการกีดกันการค้า การแข่งขันด้านเทคโนโลยี และการคว่ำบาตรทางอ้อมจากสหรัฐฯ ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับรัสเซียและไต้หวัน ความกังวลบนภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่ยังมีอยู่ และการแพร่ระบาดรอบใหม่ จะยังกดดัน Upside ของดัชนี
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
เราปรับมุมมองตลาดหุ้นจีน A-Share จาก Slightly Positive เป็น Neutral โดยแม้ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มจะต้องเร่งออกพันธบัตรพิเศษจากโควตาที่ยังไม่ได้ใช้ก่อนหน้า แล้วใช้จ่ายให้หมดภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งการผ่อนคลายทางการเงินของ PBOC ที่ยังคงดำเนินต่อ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกจากนโยบาย Zero-COVID ที่ล่าช้ามากขึ้น โดยคาดว่าจะยกเลิกได้ในช่วง 2Q23 ตลอดจนปัญหาภาคอสังหาจีนที่ยังน่ากังวล อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องจนถึง 1Q23
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นไทย ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักจากเศรษฐกิจฟื้นตัวตามเครื่องยนต์หลักด้านการท่องเที่ยวท่ามกลาง Foreign Fund Flow ที่กลับเข้ามาลงทุนในไทย แม้ว่า THB จะมีทิศทางอ่อนค่าเทียบ USD แต่เสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่ยังดี (ในแง่ของทุนสำรองที่เพียงพอต่อการนำเข้าสินค้าและบริการถึง 7 เดือน ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 3 เท่า รวมถึงหนี้ต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 38% ของ GDP) ท่ามกลางดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มดีขึ้น และแรงกดดันเงินเฟ้อที่เริ่มชะลอลง ขณะที่ในระยะกลาง ตลาดมีโอกาสได้ผลบวกจาก FDI ที่จะเข้ามาจากการ Relocation จากจีน สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ แนวโน้มการส่งออกที่อาจชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และความคืบหน้าประเด็นทางการเมืองภายในประเทศ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม โดยตลาดมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจเวียดนามที่ยังมีโมเมนตัมการฟื้นตัวดี และแรงกดดันเงินเฟ้อเวียดนามเริ่มลดลง จากผลประกอบการ บจ.เวียดนามในช่วง 2H22 ที่มีแนวโน้มขยายตัวจาก Sentiment นักลงทุนรายย่อยในประเทศที่ดีขึ้น จาก Valuation ตลาดที่ไม่แพง รวมทั้งการออกกฎระเบียบบนตลาดหุ้นกู้ล่าสุดที่ช่วยคลายความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบลง
กองทุนแนะนำ
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นเวียดนาม SCBVIET(A)
- กองทุนมีนโยบายลงทุนในหุ้นเวียดนามแบบ Active ผ่านการกระจายการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งใน Active Fund เช่น Vietnam Equity Fund และ ETF เช่น Diamond ETF, VN30 ETF รวมถึงหุ้นเวียดนามรายตัวที่ SCBAM มีมุมมองที่ดี โดยเวียดนามมีการเติบโตสูง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการทยอยเปิดประเทศ เสถียรภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กองทุนลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง เช่น กลุ่มธนาคาร อสังหา และภาคการผลิต ที่ยังเติบโตดีต่อเนื่อง
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย โดยมีปัจจัยบวกจาก 1. เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง 2. Earning ที่มีแนวโน้มถูกปรับขึ้น 3. Valuation อยู่ในระดับที่น่าลงทุน และ 4. Foreign Fund Flow ที่ยังเข้าตลาดหุ้นอินโดนีเซีย แม้ว่าล่าสุดธนาคารกลางได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 50bps มากกว่าที่ตลาดคาดที่ 25bps แต่ตลาดตอบสนองด้านบวก ส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายแบบ Front-loaded และ Pre-emptive ของธนาคารกลางเพื่อคุมเงินเฟ้อ รวมถึงปกป้องค่าเงินที่อาจมีผลต่อราคาสินค้านำเข้า ซึ่งความเสี่ยงเงินเฟ้อเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่กดดันเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ทั้งนี้ เรายังเชื่อว่าเศรษฐกิจและ Earning ของตลาดอินโดนีเซียยังสามารถเติบโตรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากการคงคาดการณ์ GDP ของธนาคารกลาง แม้ว่าจะมีการเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยในระยะสั้นถึงกลางราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1. การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และ 2. ความต้องการถือครองจากธนาคารกลางเพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 4
เรามีมุมมอง Slightly Positive ต่อน้ำมัน ในระยะสั้นราคาน้ำมันถูกกดดันจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว และการเปิดเมืองในจีนที่ล่าช้า อย่างไรก็ดี ราคามีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว และอุปสงค์เพื่อใช้แทนก๊าซธรรมชาติในยุโรป ขณะที่อุปทานมีแนวโน้มลดลง จากผลของการคว่ำบาตรรัสเซียจาก EU ขณะที่กลุ่ม OPEC ปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อคุมราคา และสหรัฐฯ หยุดปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านก็ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว โดย Global REITs Index ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ผลจากการเร่งตัวขึ้นของ Gov’t Bond Yield ระยะยาว โดย Total Return of REITs ในช่วง 1 เดือนของสหรัฐฯ และ DM ในยุโรปยังคงหดตัว นอกจากนี้ ในตลาดยุโรปโดยเฉพาะ UK ยังเผชิญปัจจัยลบจากเงินเฟ้อที่สูงกดดันต้นทุนการบริหารจัดการอสังหา ท่ามกลางการขยายตัวของค่าเช่าที่อ่อนแอลงตามความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยสิงคโปร์เป็นหนึ่งในตลาดที่ได้ผลกระทบจาก Gov’t Bond Yield ระยะยาวที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกันกับ DM โดย Total Return of REITs ในช่วง 1 เดือนยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดไทยยังขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยลบจาก Gov’t Bond Yield ระยะยาวของไทยที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ท่ามกลางแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและ FDI โดยกลุ่มโรงแรม ค้าปลีก นิคมอุตสาหกรรม และคลังสินค้าเป็น 3 Sectors ที่ขยายตัวหนุน SETPREITs อย่างไรก็ตาม ยังต้องระมัดระวัง REITs ในกลุ่มที่มีหนี้สูง และหนี้ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวอาจถูกกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?