THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ตลาดเงินร่วงหนักตอบรับข่าวขึ้นดอกเบี้ย แต่ยังไม่สะท้อนการทำ QT จับตาผลประชุม ‘Fed’ สัปดาห์นี้

... • 24 ม.ค. 2022

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นล้วนปรับตัวลดลงแรง สะท้อนภาพว่าตลาดเริ่มตอบรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่สะท้อนการทำ QT 
  • ในสัปดาห์นี้ ต้องจับตาการประชุม FOMC ของสหรัฐฯ เพื่อดูว่า Fed จะยืนยันการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมตามที่ตลาดคาดหรือไม่ 
  • SCBS ประเมินว่า ความเสี่ยงของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มลดลงแล้ว เช่นเดียวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่จะเริ่มชะลอตัวลงหลังเดือนเมษายน 2022 จึงประเมินว่า Fed ไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดตามที่ตลาดกำลังกังวล  
  • AMATA หุ้นเด่นประจำสัปดาห์ หลังพ้นจุดต่ำสุดในรอบ 12 ปี ประเมินปีนี้กำไรพลิกเติบโต 38% 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นล้วนปรับตัวลดลงแรง โดยเฉพาะตลาดการเงินสหรัฐฯ โดยผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ปรับตัวขึ้นถึงระดับ 1.0% ในขณะที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ลดลงในอัตรา 5-10% ทั้งนี้ ภาพดังกล่าวเป็นการสะท้อนว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 ได้ 3-4 ครั้งแล้ว แต่หากประเมินจากผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ 1.9% ถือว่ายังไม่สะท้อนการที่ Fed เตรียมลดขนาดงบดุลผ่านการทำ Quantitative Tightening (QT)  

 

สำหรับประเด็นสำคัญในสัปดาห์นี้ ต้องจับตาการประชุม FOMC ของสหรัฐฯ โดยต้องติดตามว่า 

 

  • Fed จะยืนยันการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมตามที่ตลาดคาดหรือไม่ รวมถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นเช่นไร โดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) คาดว่าหาก Fed ส่งสัญญาณว่าปรับขึ้นเกิน 4 ครั้งจะเป็นผลด้านลบ (แต่เชื่อว่ากรณีนี้มีโอกาสน้อย)
  • Fed จะมีแผนชัดเจนในการทำ QT หรือไม่ โดย SCBS มองว่าการทำ QT จะมีอิทธิพลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสหรัฐฯ หากมีเซอร์ไพรส์ว่าจะทำ QT เร็วและแรงกว่าที่ตลาดคาด (ล่าสุดคาดว่าจะเริ่มในช่วงครึ่งปีหลัง) อาจทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีพุ่งขึ้นเกินระดับ 2% และทำให้ตลาดปั่นป่วนได้

 

SCBS ประเมินว่า ความเสี่ยงของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มลดลงแล้ว หลังจากเฝ้าระวังมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2021 คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้ความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจและตลาดการเงิน คือเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน ซึ่งเชื่อว่าได้สะท้อนไปในตลาดการเงินบ้างแล้ว แต่ยังคงมีอิทธิอยู่จนกว่าเงินเฟ้อจะส่งสัญญาณชะลอตัว โดยมุมมองของเรายังคงเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังจะเริ่มชะลอตัวลงหลังจากเดือนเมษายน 2022 ซึ่งทำให้ประเมินว่า Fed ไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดตามที่ตลาดกำลังกังวล  

 

ตลาดหุ้นหายจากไข้หวัดแต่แพ้ดอกเบี้ยแทน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 2.2% โดยตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง -1.4% และตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง -2.3% หลังจากตลาดกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่จะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้มีแรงเทขายในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่กดดันการประเมินมูลค่าหุ้นที่อยู่ในระดับสูง 

 

นอกจากนั้นผลประกอบการของกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่คาดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางจีนจะมีการทำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้น รวมถึงการคลายมาตรการที่ควบคุมโควิด

 

ตลาดหุ้นโลกสัปดาห์นี้ต้องติดตามสัญญาณ QT จากการประชุม FOMC แนวโน้มตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้น DM มีโอกาสฟื้นตัว หลังจากลดลงแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา หาก Fed ไม่ส่งสัญญาณรีบทำ QT ในขณะที่การประกาศผลการดำเนินงาน 4Q21 ของบริษัทจดทะเบียนจะมีน้ำหนักมากขึ้น (สัปดาห์นี้ติดตาม Apple, AT&T, Boeing, Chevron, Deutsche Bank, GE, Intel, IBM, JNJ, LVMH, McDonald, MSFT, Samsung, Tesla) ด้านตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงเริ่มมีโมเมนตัมดีขึ้น หลังจากรัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง 

 

หุ้นไทยสัปดาห์นี้จับตาแนวรับสำคัญ 1,635/1,620

แนวโน้มตลาดหุ้นไทย ภาพรวมยังคงเคลื่อนไหวตามตลาดหุ้นโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ สัปดาห์นี้ SET Index มีแนวรับสำคัญบริเวณ 1,635/1,620 จุด โดยเราคาดว่าจะเห็นการรีบาวด์บริเวณดังกล่าว แต่หากไม่เป็นไปตามคาดจะเป็นสัญญาณเชิงลบอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าหุ้นท่องเที่ยว ขนส่ง และหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการคลายล็อกดาวน์จะ Outperform ตลาดได้ 

 

กลยุทธ์การลงทุนประจำสัปดาห์ แนะนำเก็งกำไรหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการ Reopen และหุ้นที่คาดว่าผลประกอบการไตรมาสที่ 4 จะออกมาโดดเด่น IVL, PTTEP, BLA

 

ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

รายงานการประชุม Fed วันที่ 26-27 มกราคม โดยตลาดคาด Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป็นเดือนที่ Fed ยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

 

รายงาน GDP 4Q21 ของสหรัฐฯ และผลประกอบการหุ้นขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง IBM, Tesla, Intel, Boeing, Apple, Visa Mastercard, Chevron

 

AMATA หุ้นเด่นประจำสัปดาห์ พ้นจุดต่ำสุดในรอบ 12 ปี

สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้

 

  • เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในไทย ซึ่งมีลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 1,000 ราย โดยมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมในไทย 2 แห่ง คือ นิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี, ระยอง และในเวียดนาม 1 แห่ง คือ นิคมฯ อมตะซิตี้ เบียนหัว
  • ผ่านพ้นจุดต่ำสุดในรอบ 12 ปีแล้ว โดยปี 2022 คาดกำไรพลิกเติบโต 38%YoY บนรายได้รวมที่เติบโต 34%YoY และการกลับมาฟื้นตัวของ Gross Margin ภายใต้สมมติฐานการกลับมาขายและโอนนิคมอมตะชลบุรีที่เพิ่มขึ้นจากปี 2021 รวมถึงนิคมอมตะ เวียดนามทั้ง 3 แห่ง คาดฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด 
  • ประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่ 24.60 บาท (อิง PER 20x) และคาดจ่ายเงินปันผลจากกำไรช่วง 2H21 อีกหุ้นละ 0.26 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราว 1.2%

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

หุ้นพัฒนาแล้วยังได้รับแรงหนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีอยู่ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน 4Q21 ยังมีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด  

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นฯ มีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้นจากความกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังมีอยู่ และการเพิ่มสูงขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ ตามแนวโน้มการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed 

 

กองทุนแนะนำ

  •  SCB Global Experts Fund หรือ SCBGEX(A)

กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มสูงขึ้น ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จากการที่ Fed อาจเปิดเผยแผนในการลดขนาดของ Balance Sheet ในการประชุมวันที่ 25-26 มกราคมนี้ และมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนมีนาคม

 

อย่างไรก็ดี ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนที่ลดลงไปมาก และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ใน 4Q21 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาดจะยังสามารถช่วยประคองตลาดฯ ได้ แนะนำสัดส่วนการลงทุนหุ้นกลุ่ม Growth ต่อหุ้นกลุ่ม Value อยู่ที่ 60:40

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นยุโรป มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากแนวโน้มการเปลี่ยนนโยบายจากทางธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโอมิครอนบรรเทาลงไปมาก ขณะที่ปัญหาฝั่งอุปทานเริ่มบรรเทาลง ภาคธุรกิจเพิ่มสร้างสินค้าคงคลังได้ต่อเนื่อง ทำให้ภาวะเงินเฟ้อและงบดุลของภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้น 

 

นอกจากนี้ ECB ยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินและคาดว่าจะเข้มงวดได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศอื่น แนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Growth จากคาดผลประกอบการที่แข็งแกร่ง

 

กองทุนแนะนำ

  • Europe High Dividend Fund หรือ EHD

กองทุน EHD ลงทุนในกองทุน NN (L) European High Dividend บริหารโดยบริษัท Investment Management สำนักงานอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นยุโรปที่เน้นการจ่ายเงินปันผลสูง เน้นลงทุนในกลุ่ม Financial และ Consumer Staples ในชื่อที่ทุกคนรู้จัก เช่น Nestlé หรือ AstraZeneca   

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นญี่ปุ่นยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่น แต่ตลาดได้รับรู้ข่าวมาตรการกระตุ้นไปมากแล้ว ขณะที่ในช่วงสั้นตลาดเริ่มขาดปัจจัยสนับสนุนและดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 ยังมีแนวโน้มผันผวน ในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอน และรัฐบาลญี่ปุ่นขยายเวลาห้ามต่างชาติเข้าประเทศจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์

 

อย่างไรก็ดี BOJ ยังมีท่าที Dovish แต่เริ่มชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ในส่วนของ Commercial Paper และ Corporate Bond แม้ยังคงวงเงินการเข้าซื้อ ETF และ J-REITs 

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นจีน H-Share มี Valuation อยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่ม Internet ประกอบกับทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการคุมเข้มด้านกฎระเบียบที่ชัดเจนต่อนักลงทุนมากขึ้นและมีความรุนแรงลดลง 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเฉพาะด้านตลาดการเงินที่ยังมีอยู่ ประกอบกับ EPS บจ. ในดัชนีจีน Offshore ใน 4Q21 ที่มีแนวโน้มขยายตัวปานกลาง จะยังคงกดดันการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นจีน Offshore ในภาพรวม

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

หุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนอาจออกมาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจ การเร่งการใช้จ่ายทางการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การผ่อนคลายข้อจำกัดบนภาคอสังหาฯ ลงบางส่วน และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 

 

โดยล่าสุด PBOC ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLF ระยะ 1 ปี อัตราดอกเบี้ย Reverse Repo ระยะ 7 วัน และอัตราดอกเบี้ย LPR ทั้งระยะ 1 ปี และ 5 ปีลง อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่า แนวโน้มการออกมาตรการควบคุมการระบาดภายใต้ Zero COVID Policy ที่ยาวนานขึ้นของทางการจีนจะยังกดดันการฟื้นตัวของการบริโภคและเศรษฐกิจจีนโดยรวม

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าแผนการเปิดประเทศและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาด ขณะที่ตลาดอาจผันผวนจากการเปลี่ยนผ่านนโยบายของ Fed ประกอบกับ Valuation หุ้นไทยยังคงตึงตัว ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและ Upside ของตลาดยังถูกกดดัน อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง และนโยบายการคลังจะสนับสนุนหุ้นในกลุ่มการบริโภคภายในประเทศ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 4

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีแนวโน้มทยอยเปิดเศรษฐกิจต่อเนื่อง ผ่านการเปิดเส้นทางบินจากต่างประเทศมากขึ้นตั้งแต่เริ่มปี และมีแผนเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งหลังของปี 

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการผ่านแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับปี 2022-2023 ซึ่งมีวงเงินอยู่ที่ราว 350 ล้านล้านดอง (15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ ตลาดคาดว่า EPS Growth ของ VN-Index ในปี 2021 และ 2022 จะขยายตัว 34% และ 27% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสั้น ตลาดฯ อาจเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบางส่วนของนักลงทุนรายย่อย ก่อนเข้าสู่วันหยุดเทศกาลตรุษจีนที่เริ่มในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 

 

กองทุนแนะนำ 

  • Principal Vietnam Equity Fund

กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 2

 

 

แม้ทองคำจะได้แรงหนุนจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และ Bond Yield ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ในระยะข้างหน้า 

 

น้ำมัน

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

ราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้น หลังความกังวลเกี่ยวกับโอมิครอนบรรเทาลง ขณะที่อุปทานน้ำมันตึงตัวต่อเนื่อง หลังบางประเทศในกลุ่ม OPEC+ ที่ยังคงผลิตน้ำมันได้ต่ำกว่าโควตาที่กำหนด อย่างไรก็ตาม เรามองว่าราคาน้ำมันมี Upside ค่อนข้างจำกัด และมีปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการกลับมาผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่จะปรับเพิ่มขึ้น

 

REITs ประเทศพัฒนา

ความน่าสนใจระดับ 3 

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้วเริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลให้หลายประเทศต้องออกมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

 

แม้ REITs ไทย ยังคง Laggard และได้ปรับประโยชน์จากการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Test & Go อีกครั้ง ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2022 แต่ REITs ไทย ยังคงมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโอมิครอน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่สิงคโปร์มีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการลงอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวขึ้น โดยคาด REIT กลุ่ม Office จะฟื้นตัวได้โดยได้รับผลประโยชน์จากการทยอยเปิดเมือง

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 24 ม.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories