- ปัญหาหนี้ของ Evergrande สร้างความกังวลในตลาดการลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นกู้เอกชนในเอเชียที่เผชิญแรงขายออกมาอย่างหนัก
- สัปดาห์นี้ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ Evergrande แม้ผู้บริหารออกมาให้ความมั่นใจว่าจะดูแลผู้ถือหุ้นกู้รายย่อย
- ผลประชุม Fed ล่าสุด บ่งชี้ท่าที Hawkish มากขึ้น โดย Fed อาจขึ้นดอกเบี้ยได้จนถึงระดับ 1.75%
- สัปดาห์นี้แนะจับตาการประชุม กนง. พร้อมกับการประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย
- SCB ปรับลดระดับความน่าสนใจของ ‘ทองคำ’ ลงอีก 1 ขั้น เนื่องจากราคาทองคำมีแนวโน้มถูกกดันจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
ความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของ China Evergrande Group ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะตลาดหุ้นกู้เอกชนในเอเชีย เนื่องจากตลาดขาดความเชื่อมั่นทำให้เกิดแรงขายหุ้นกู้เอกชนออกมาค่อนข้างมาก ส่งผลให้ทางการจีนเข้ามาอัดฉีดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด ด้านผลการประชุม Fed ถือว่าเป็นไปตามคาด เนื่องจากมีความชัดเจนว่าจะประกาศยุติ QE ในเดือนพฤศจิกายน
แนวโน้มตลาดการเงินในสัปดาห์นี้ยังคงต้องติดตาม Evergrande แม้ว่าทางบริษัทให้ความมั่นใจว่าจะดูแลผู้ถือหุ้นกู้รายย่อยและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากทางการจีนไม่ต้องการให้เกิดการประท้วงของนักลงทุนซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล รวมถึงการที่บริษัทมีการเจรจากับเจ้าหนี้ไปบางส่วน ทั้งนี้เนื่องจาก Evergrande ยังคงมีดอกเบี้ยที่ครบกำหนดชำระอีก 47.5 ล้านดอลลาร์ ในสัปดาห์ถัดไป รวมถึงยังไม่เห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ
บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS) ประเมินว่า ตลาดการเงินยังคงมีแนวโน้มผันผวนต่อไป ทั้งนี้กรณีของ Evergrande ถือเป็นภาพสะท้อนปัญหาหนี้ภาคเอกชนของจีนว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากผลกระทบจากนโยบายคุมเข้มของจีนที่ยังคงไม่เสร็จสิ้น
ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเดิมๆ คาดว่าจะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปี 2021 ได้แก่ เรื่องการชะลอมาตรการ QE รวมถึงเรื่อง Stagflation เนื่องจากคาดว่าเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง หากพิจารณาจากระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงปรับขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นนักลงทุนจึงควรลงทุนด้วยความระมัดระวัง เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีเป็นหลัก
ในช่วง 20-22 กันยายน ตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 0.8% แบ่งเป็น ตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง 1.3% ตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง 0.7% โดยตลาด EM ได้รับแรงกดดันจากความกังวลของการผิดนัดชำระหนี้ของ Evergrande แต่ตลาดมาได้แรงหนุนจากการช่วยเหลือของรัฐบาลจีนต่อประเด็นของ Evergrande นอกจากนั้นผลการประชุม FOMC เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์
หุ้นกลุ่มพลังงานเป็นหุ้นกลุ่มเดียวที่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 1.1% ในขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 0.5% และหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลดลง 1.3% โดยรับแรงกดดันจากความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทจีนและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง
ปัญหาหนี้ Evergrande ยังกดดันตลาดการลงทุนสัปดาห์นี้
แนวโน้มตลาดหุ้นยังคงมีความเสี่ยงจากกรณี Evergrande จนกว่าจะมีแนวทางแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในสัปดาห์ถัดไปส่วนใหญ่เป็นเรื่องการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะยังเป็นภาพชะลอตัว รวมถึงการรายงานตัวเลขด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่คาดว่ายังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ผลการประชุม กนง. คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ส่งผลให้ตลาดยังคงขาดปัจจัยบวกมาช่วยลดแรงกดดันของกรณี Evergrande
SCBS แนะนำ รอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวในตลาดเอเชีย เนื่องจากตลาดยังมีความเสี่ยงจากเรื่อง Evergrande อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตลาดยังคงเชื่อมั่นว่าผลกระทบจะไม่ขยายวงกว้างมาก ในขณะที่โอกาสของการเปิดประเทศเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น ดังนั้นจึงประเมินว่าเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนระยะยาวในตลาด EM สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ ในขณะที่ตลาด DM ยังคงมีปัจจัยกดดันจากการชะลอมาตรการ QE ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2021 ทำให้ขาดปัจจัยหนุน
ตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มแกว่งตัว โดยระยะสั้นหุ้นกลุ่มธนาคารโดดเด่นขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยหนุนใหม่ ยังคงแนะนำเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มกำไรแข็งแกร่งในครึ่งหลังปี 2021 เป็นหลัก สำหรับการลงทุนในธีมการเปิดประเทศ แนะนำหุ้นกลุ่มค้าปลีกและขนส่งในประเทศมากกว่ากลุ่มท่องเที่ยว สัปดาห์นี้แนะนำ บมจ.โอสถสภา (OSP)
OSP หุ้นเด่นประจำสัปดาห์
สัปดาห์นี้ SCBS เลือก OSP เนื่องจากเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทยที่มีศักยภาพเติบโตและกระแสเงินสดดี โดยมีแบรนด์สินค้าหลักที่รู้จักกันดี อาทิเช่น M-150, ลิโพ, ซี-วิต, เบบี้มายด์, ทเวลฟ์พลัส, ลูกอมโบตันและโอเล่ ฯลฯ
ผลดำเนินงานช่วงไตรมาส 3/2021 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดกำไรของปีนี้ โดยลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อคุมการระบาดของโควิด อย่างไรก็ดีการเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ 1 กันยายน คาดจะทำให้การใช้จ่ายและกิจกรรมฟื้นตัว ช่วยหนุนให้กำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งได้ในไตรมาส 4/2021 นอกจากนี้ OSP ยังเป็นหุ้นเปิดเมืองที่มีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง อีกทั้งเราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 40 บาท พร้อมคาดให้ Dividend Yield ราวปีละ 3.5% จึงมองเป็นโอกาสเข้าซื้อลงทุน
3 ประเด็นข่าวร้อนทั่วโลกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีท่าที Hawkish มากขึ้น
ถ้าดู Dot Plot ของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะบ่งชี้ได้ว่าท่าทีนั้นเป็น Hawkish หรือความกังวลที่มีต่อเสถียรภาพระบบการเงิน โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจนถึง 1.75% ซึ่งก็ตรงตามที่ตลาดคาดการณ์ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าและ Future Curve ที่ Flat ก็ยืนยันในการเป็น Hawkish ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในมุมมองของเรามองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงในปี 2021 ดังนั้นเราก็ไม่ควรกลัวกับแนวโน้มของดอกเบี้ยมากเกินไป โดยยังคงมีระยะเวลาในการติดตามเงินเฟ้ออีกพอสมควร
- พลังงานไฮโดรเจนกำลังจะเป็นพลังงานสะอาดใหม่
Airbus มั่นใจมากขึ้นว่าสามารถสร้างเครื่องบินพลังงานไฮโดรเจนที่พร้อมจะเข้าประจำการได้ภายในเป้าหมายปี 2035 โดยสายการบินบางแห่ง รวมทั้ง Cathay Pacific ได้ให้คำมั่นว่าจะใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) เป็นสัดส่วน 10% ของปริมาณการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมดภายในปี 2573 เรามองว่าการสนับสนุนจากรัฐจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานไฮโดรเจนเหมือนการสนับสนุนพลังงานสะอาดอื่นในอดีต เรามองว่าพลังงานไฮโดรเจนมีต้นทุนที่ต่ำกว่าต้นทุนน้ำมันทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่โครงการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่บริษัทคาดการณ์
- สหรัฐฯ และยุโรปกลับมากดดันจีนอีกครั้ง
สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเพื่อควบคุมจีน แสวงหาการบังคับใช้กฎเกณฑ์คัดกรองการลงทุนที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และพยายามป้องกันไม่ให้ใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดเพื่อคุกคามความมั่นคงและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น โดยประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ เป็นปัจจัยกดดันตลาด หากไม่มีแรงกดดันต่อการค้าหรือนโยบายภาษีคาดว่าผลกระทบกับตลาดหุ้นมีค่อนข้างจำกัด แต่อาจจะยังต้องหลีกเลี่ยงหุ้นจีนที่ไปจดทะเบียนในสหรัฐฯ เป็นสำคัญ เพราะมีแรงกดดันทั้งจากฝั่งจีนและสหรัฐฯ
ประเด็นที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้
- ดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐานของสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดด้านเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญและมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทย
- การเลือกตั้งประธานพรรค LDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของญี่ปุ่นในวันที่ 29 กันยายน
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วยังได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และการทยอยเปิดเมือง ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาต่อเศรษฐกิจ การเกิด Sector Rotation และแนวโน้มการส่งสัญญาณปรับลดวงเงิน QE ของ Fed
กองทุนแนะนำ
- SCB Global Experts Fund หรือ SCBGEX(A)
กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดย บล.ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ: 4
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้รับแรงหนุนจาก Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้น หลัง Dot Plot ล่าสุดชี้ว่า กรรมการ Fed หลายท่านเริ่มคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นได้ในปีหน้า รวมทั้งความคาดหวังต่อการลงมติในร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐาน (Bipartisan Infra Bill) วงเงินรวม 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในวันที่ 27 กันยายนนี้
ประกอบกับความคืบหน้าในการลงมติของสภาผู้แทนสหรัฐฯ บนแผนการยกเลิกเพดานหนี้ ช่วยลดความเสี่ยงเรื่อง Government Shutdown ลงบางส่วน ซึ่งสภาคองเกรสมีเวลาหารือจนถึงปลายเดือนตุลาคม เรายังแนะนำสัดส่วนถือครองหุ้นสไตล์ Growth และหุ้นสไตล์ Value/Defensive ที่ 70:30
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ: 4
ผลประกอบการ บจ. ในตลาดหุ้นยุโรปช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มออกมาดี นำโดยหุ้นกลุ่ม Growth การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่และแผนการเปิดประเทศจะช่วยหนุน Sentiment ตลาดได้ต่อ
นอกจากนี้การที่ ECB มีแนวโน้มยังไม่ส่งสัญญาณ QE Tapering ชัดเท่า Fed และ EU Bond Yield ในระดับต่ำยังเป็นปัจจัยบวก ขณะเดียวกันคาดผลการเลือกตั้งเยอรมนีในวันที่ 26 กันยายน ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเยอรมัน เนื่องจากพรรค SPD และ Greens มีแนวโน้มได้จัดตั้งรัฐบาลผสมและใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังเพิ่มเติม
กองทุนแนะนำ
- MFC Continental European Equity Fund หรือ MEURO
กองทุน MEURO ลงทุนในกองทุน BGF Continental European Flexible Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นยุโรปภาคพื้น (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) โดดเด่นในการสร้างผลตอบแทนย้อนหลัง รวมทั้งลงทุนแบบยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนสไตล์การลงทุนและขนาดของหุ้นได้ตามสภาวะตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ: 4
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมี Valuation ถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่นๆ และ EPS Growth ยังมีแนวโน้มถูกปรับขึ้น ผลประกอบการ บจ. ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มโดดเด่นมากกว่าหรือเท่ากับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป
ระยะต่อไป การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคมจะสนับสนุน Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติจากธีม Election Rally และผลการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น คาดพรรค LDP (พรรคหลักในสภาปัจจุบัน) ยังมีแนวโน้มครองเสียงข้างมาก
กองทุนแนะนำ
- Krungsri Japan Hedged Dividend Fund หรือ KF-HJAPAND
กองทุน KF-HJAPAND ลงทุนในกองทุน JPMorgan Japan (Yen) Fund ซึ่งลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น คัดเลือกธีมการลงทุนที่มีศักยภาพเติบโตในระยะยาว และเฟ้นหาหลักทรัพย์รายตัวที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง
ตลาดหุ้นจีน H-share
ความน่าสนใจระดับ: 2
ตลาดหุ้นจีน H-Share ยังมีความไม่แน่นอนในการออกกฎระเบียบที่เข้มงวด ซึ่งจะยังคงกดดันราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มรายใหญ่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะในด้านตลาดการเงิน จากล่าสุดที่ ก.ล.ต. สหรัฐฯ ได้เตือนนักลงทุนสหรัฐฯ ถึงความเสี่ยงจากการลงทุนหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ ผ่านโครงสร้าง VIE ประกอบกับ Sentiment เชิงลบจากวิกฤตสภาพคล่องและความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท Evergrande Group ที่มีอยู่ จะเป็นปัจจัยกดดันดัชนีหุ้นจีน Offshore ให้ยัง Underperform ต่อ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ: 3
หุ้นจีน A-Share โดยดัชนีหุ้นจีน Onshore มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการ
ที่ทางการจีนอาจผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและการคลังมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจากแรงซื้อหุ้นที่อยู่ในดัชนี ChiNext และในดัชนี STAR50 รวมทั้งหุ้นกลุ่มภาคการผลิตขั้นสูง ตามที่กลุ่มมีแนวโน้มได้รับมาตรการสนับสนุนจากทางการ และผลประกอบการยังเติบโตได้อีกมาก
อย่างไรก็ตาม Sentiment เชิงลบจากแนวโน้มการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดของทางการ และแนวโน้มกิจกรรมเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงต่อ โดยเฉพาะตัวเลขในภาคอสังหาริมทรัพย์ จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีหุ้นจีน Onshore ในช่วงสั้น
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ: 2
ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงกดดันจากการระบาดของโควิดที่ยังกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าแต่ยังคงห่างไกลจากการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แม้เริ่มมีมาตรการคลายล็อกดาวน์แล้วก็ตาม เรามองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก เห็นได้จากการปรับคาดการณ์ GDP ของไทยปีนี้ลดลงต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสสูงที่ผลประกอบการของ บจ. ในช่วงครึ่งหลังปี 2021 อาจถูกปรับประมาณการลงและมีแนวโน้มออกมาแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ: 4
แม้ตลาดหุ้นเวียดนามอาจยังผันผวนสูงจากความกังวลการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์รอบล่าสุด และคาดการณ์ GDP จะได้รับผลกระทบมากในปีนี้ โดยการเติบโตมีแนวโน้มลดลงเหลือราว 4% แต่เราคาดว่า GDP จะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4/2021 และเติบโตได้ราว 6% ในปี 2022 ด้านผลประกอบการ บจ. แม้จะเริ่มเห็นการชะลอลงในไตรมาส 3/2021 แต่สถานะการลงทุนของต่างชาติยังไม่สูง และ Valuation ยังไม่แพงเท่าตลาดอื่นในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย
กองทุนแนะนำ
- Principal Vietnam Equity Fund
กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนามซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ: 2
SCB CIO ได้ปรับมุมมองที่มีต่อทองคำใหม่ โดยลดลง 1 ระดับ เนื่องจากราคาทองคำมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และ Bond Yield ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป หลัง Fed ส่งสัญญาณจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ในไม่ช้า และมีโอกาสที่ Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกภายในปีหน้า