THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
ตลาดเกิดใหม่
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

จับตาความเสี่ยงตลาดเกิดใหม่ส่อระทึก พิษเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

... • 25 เม.ย. 2022

HIGHLIGHTS

  • ดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นแรง ส่อกดดันเงินเยนและเงินบาทอ่อนค่าลง
  • การปรับลดคาดการณ์ GDP เศรษฐกิจโลกของทั้ง IMF และ World Bank สะท้อนเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น เพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีแหล่งพลังงานและอาหารเอง
  • เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงรุนแรง ขณะที่ทางการอาจไม่กล้าใช้ยากระตุ้นมากนัก เหตุดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี เริ่มต่ำกว่าของสหรัฐฯ
  • หุ้นไทยสัปดาห์นี้แนวโน้มผันผวนจากปัจจัยภายนอก แนะคงน้ำหนักพอร์ต 50% ในกลุ่มที่เติบโตดี ไม่โดนผลกระทบจากปัจจัยภายนอก

สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้จากผลประกอบการบริษัทที่ออกมาดี อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อสูงจะยังเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงสูงสุดในรอบ 40 ปี 

 

ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจจีน 1Q ออกมาดี แต่ในระยะต่อไปมีแนวโน้มชะลอตัวลงรุนแรงขึ้นจากการล็อกดาวน์ รวมถึงการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงทั้งปีนี้และปีหน้า บ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่มีมากขึ้น 

 

ขณะที่แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทำให้ความเสี่ยงเรื่องกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีมากขึ้น โดยเฉพาะเงินเยนที่อ่อนค่าลงมาก ส่วนเงินบาทก็มีทิศทางอ่อนลงเช่นกัน หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงส่งสัญญาณไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายท่ามกลางส่วนต่างดอกเบี้ยพันธบัตรที่มากขึ้น

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังสูงสุดในรอบ 40 ปีต่อเนื่องที่ 8.6% ในขณะที่ตลาดรวมถึง SCBS เชื่อว่าเงินเฟ้ออาจมีแนวโน้มปรับลดลงได้บ้าง (จากปัจจัยฐาน) แต่เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก 

 

  1. เงินเฟ้อจากฝั่งบ้านยังคงอยู่จากค่าเช่า 

 

  1. ความเสี่ยงซัพพลายเชนดิสรัปชันยังมีอยู่หลังจีนล็อกดาวน์ ส่งผลให้สินค้าขั้นกลางอาจมีปัญหาในระยะต่อไป 

 

  1. Service ยังมีความต้องการสูง ซึ่งจะยังกดดันราคาในฝั่งของเศรษฐกิจจีน แม้ตัวเลข GDP 1Q ออกมาดี แต่เศรษฐกิจจีนจะมีแนวโน้มชะลอลงรุนแรงขึ้น จากการที่ทางการไม่กล้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจแรง (โดยเฉพาะนโยบายการเงิน) เนื่องจากดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของจีนต่ำกว่าสหรัฐฯ แล้ว ขณะที่จีนเองยังคงต้องใช้นโยบาย Zero-COVID ต่อเนื่อง ก่อนการต่ออายุประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ครั้งที่ 3 และปัญหาโครงสร้างเดิม เช่น อสังหา และซัพพลายเชนดิสรัปชัน ยังคงอยู่ แม้จะค่อยๆ ดีขึ้นในระยะต่อไป 

 

ด้านการปรับประมาณการลดลงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ ธนาคารโลก (World Bank) ทั้งปีนี้และปีหน้า บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงสงครามยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ ซึ่ง SCBS มองว่าในระยะต่อไปความเสี่ยงเศรษฐกิจ EM จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีแหล่งพลังงานและอาหารเอง เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลางบางประเทศ ยุโรปตะวันออก รวมถึงในเอเชียเอง เช่น ไทย ที่ยังต้องนำเข้าน้ำมันและแร่ธาตุในระดับสูงเพื่อผลิตปุ๋ย ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น กระทบต่อค่าเงินและการขยายตัวเศรษฐกิจ 

 

นอกจากนั้นประเด็นการแตกต่างของดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และประเทศตลาดเกิดใหม่ ก็จะกดดันค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยเช่นกัน 

 

ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  1. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1%QoQ ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 7% หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดลง 

 

  1. เงินเฟ้อสหรัฐฯ (Core PCE) ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตาม CPI หรือไม่ 

 

  1. ตัวเลข Caixin PMI จีน ว่าจะชะลอต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 48.1 หรือไม่ 

 

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 0.3% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง 2.3% ส่วนตลาดพัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มขึ้น 0.1% โดยได้รับแรงกดดันจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด รวมถึงความกังวลของ World Bank และ IMF ที่ปรับประมาณการการเติบโตของ GDP โลกลงราว 1% ทั้งจากประเด็นรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดของจีน ซึ่งสวนทางกับผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด 

 

โดยหุ้นกลุ่ม Value (+0.5%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Growth (-1.1%) หุ้นขนาดเล็ก (+0.1%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (-0.3%) กลุ่มการเงินให้ผลตอบแทนดีจากผลประกอบการ 1Q22 ที่ดีและการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร เพิ่มขึ้น 2-3% ส่วนกลุ่ม Communication Services ปรับลดลง 4% เป็นผลมาจากที่ Netflix เผชิญกับภาพการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการลดลง

 

ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสเงินยังมีลักษณะของการปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ต่อเนื่อง หลังจากที่ World Bank และ IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกลง รวมถึงท่าทีของธนาคารสหรัฐฯ ที่อาจจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ 

 

  1. กระแสเงินไหลออกจากตราสารทุนและไหลเข้าตราสารหนี้ 

 

  1. สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาล โลหะมีค่า และตลาดเงิน มีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง 

 

  1. นักลงทุนมองว่าเงินเฟ้ออาจจะเริ่มชะลอตัวลง และธนาคารกลางอาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเยอะอย่างที่คาด 

 

  1. กลุ่ม Growth กลุ่มการเงิน หุ้นขนาดเล็ก และ High Yield ดับแรงกดดันจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ถูกปรับประมาณการลง 

 

  1. มีแรงขายในหุ้นยุโรปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ 

 

  1. หุ้นพลังงานมีแรงซื้อ แต่สินค้าโภคภัณฑ์มีแรงขาย บ่งชี้ว่านักลงทุนกำลังเก็งกำไรบนกำไร 1Q22 ที่คาดว่าจะออกมาดี

 

สำหรับในสัปดาห์หน้าต้องติดตาม  

 

  1. ผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ ที่คาดว่าจะตึงตัวน้อยกว่า Fed และ ECB ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง 

 

  1. ตัวเลขเงินเฟ้อยุโรปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

 

  1. ท่าทีของธนาคารกลางใน EM ที่ยังมีแนวโน้มคงดอกเบี้ย 

 

  1. ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของบริษัท Alphabet, Boeing, Chevron, Coca-Cola, Credit Suisse, Ford, GM, HSBC, Mastercard, McDonald’s, Meta, Microsoft, Ping An Insurance, Spotify, Twitter, UBS, UPS, Visa

 

“ตลาดหุ้นยังอยู่ในสภาวะที่ผันผวนจากปัจจัยภายด้าน Sentiment มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน ทั้งนี้แม้ว่าตลาดจะมีความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ผลประกอบการใน 1Q22 ที่เริ่มประกาศออกมาแล้วนั้น บ่งชี้ว่ามีหลายบริษัทที่มีการเติบโตดีและได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกจำกัด หุ้นกลุ่มห่วงโซ่อุปทาน รถยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศอย่างกลุ่มท่องเที่ยว ยังเป็นธีมหลักในการลงทุนที่มีความชัดเจนมากกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น”

 

กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้

 

การลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ปัจจัยภายในประเทศมีผลค่อนข้างจำกัด และหาจังหวะในการลงทุนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น คำแนะนำในช่วงนี้ คือ คงน้ำหนักพอร์ตที่ 50% ในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก เช่น KBANK, AMATA, LH, GULF ADVANC

 

หุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากรัฐบาลที่จะไม่มีมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดอย่าง AOT, AWC, CENTEL, ERW, CPALL, BJC

 

หุ้นกลุ่มเครื่องดื่มที่สะท้อนการปรับลดประมาณการไปแล้วและแนวโน้มกำไร 2Q22 ดีขึ้นอย่าง CBG และ OSP

 

หุ้นที่คาดว่าแนวโน้มกำไรใน 1Q22 ออกมาดี ได้แก่ BH, HMPRO, PTT

 

แนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นที่เสียประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างกลุ่มขนส่ง วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ ที่อาจจะเผชิญการปรับลดประมาณการลง

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: GFPT - พร้อมตีปีก...กำไรเด่นสุดในกลุ่มอาหาร

 

สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

  • เป็นผู้ประกอบธุรกิจไก่ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงไก่ ชำแหละและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ และผลิตอาหารแปรรูป โดยจัดเป็นผู้ส่งออกไก่ไทยอันดับ 3 ซึ่งอิงส่วนแบ่งตลาด 12% และผู้ผลิตไก่ไทยอันดับ 8 ซึ่งอิงส่วนแบ่งตลาด 6%
  • 1Q22 มีแนวโน้มเติบโตดีสุดในกลุ่มอาหาร โดยคาดกำไรปกติอยู่ที่ 250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านบาท ใน 1Q21 และ 14 ล้านบาท ใน 4Q21 แรงหนุนจากยอดขายที่ดีขึ้น อัตรากำไรขั้นต้นที่กว้างขึ้น และส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก GFN (คาดประกาศงบ 12 พฤษภาคม) 
  • ปี 2022 คาดกำไรฟื้นตัวเด่น 625%YoY สู่ระดับ 1.04 พันล้านบาท จากฐานกำไรปีก่อนต่ำและราคาไก่ในประเทศที่ดีขึ้น อีกทั้งมีการเพิ่มอัตราใช้กำลังผลิตของเครื่องจักรใหม่ และสัดส่วนยอดขายที่ดีขึ้นจากการส่งออกไก่ปรุงสุกที่ให้มาร์จิ้นสูงเพิ่มขึ้น หนุนให้ยอดขายและมาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้น
  • ช่วงสั้นมองราคาหุ้น GFPT ปรับขึ้นต่อได้ หลังตั้งแต่ต้นปีปรับขึ้นเพียง 3.9%YTD ซึ่งคาดยังไม่สะท้อนผลประกอบการที่ฟื้นตัวชัดเจนในปี 2022 และยังมี Upside Risk น่าสนใจจากแผนขยายตลาดต่างประเทศใหม่ๆ  
  • ประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่ 17.50 บาท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 อีกหุ้นละ 0.20 บาท คิดเป็น Div. Yi

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะยังกดดัน Sentiment ตลาด นอกจากนี้ตลาดยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการเร่งลดการผ่อนคลายทางการเงินลงของธนาคารกลางหลักใน DM อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นบนประเทศกลุ่ม DM รวมทั้งผลประกอบการของ บจ.ในกลุ่ม DM ใน 1Q22 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดหุ้น DM ยังทรงตัวถึงฟื้นตัวได้บางส่วน

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากความกังวลวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และจากการที่ Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 50 bps พร้อมเริ่มทำ QT ในเดือนพฤษภาคม และขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในเดือนมิถุนายน รวมทั้งความกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ดี ความกังวลผลกระทบจากการระบาดในสหรัฐฯ ที่ลดลงไปมาก และผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ใน 1Q22 ที่ยังมีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด (โดยล่าสุดมี EPS Surprise อยู่ที่ +7.6%) จะช่วยประคองตลาดไว้ได้ ทั้งนี้เราแนะนำสัดส่วนการลงทุนกลุ่ม Growth ต่อ Value อยู่ที่ 60:40

 

ตลาดหุ้นยุโรป

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของยุโรป โดยยุโรปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของประชาชนและต้นทุนการผลิต ปัญหาด้านอุปทานคอขวดมีแนวโน้มแย่ลงจากปัญหาความขัดแย้งในยูเครน และผลประกอบการ บจ. ในยุโรปมีแนวโน้มถูกกดดันจากผลการล็อกดาวน์ในจีน อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นยุโรปที่ลดลงมามาก จะช่วยจำกัด Downside ตลาด

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมีการยกเลิกภาวะกึ่งฉุกเฉินทั่วประเทศ และกำลังจะพิจารณากลับมาใช้โครงการ Go To Travel 

 

นอกจากนี้เริ่มมีสัญญาณถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านค่าเงินเยนมีการอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยหนุนหุ้นกลุ่มส่งออก แต่อาจกดดันเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนที่สูง

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

หุ้นจีน H-Share ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการที่ทางการจีนเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบกับบางกลุ่มแพลตฟอร์ม เช่น การกลับมาออกใบอนุญาตเผยแพร่เกมใหม่กับกลุ่ม Online Gaming อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มีอยู่ ทั้งประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับรัสเซีย และกับไต้หวัน รวมทั้งประเด็นความเสี่ยงเรื่อง Delisting ของหุ้นจีน ADRs ภายในปี 2024 ที่ยังมีอยู่ 

 

นอกจากนี้ผลประกอบการของ บจ.จีน โดยเฉพาะกลุ่มแพลตฟอร์มที่ยังมีแนวโน้มชะลอลงถึงขยายตัวปานกลางตลอดช่วง 1H22 ตามผลกระทบทางลบจากการออกมาตรการคุมการระบาดในจีน จะยังกดดันการฟื้นตัวของตลาดโดยรวม

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

หุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนทยอยออกมาตรการต่างๆ (ที่ไม่ใช่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย) เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงขาลงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในการประชุม Politburo ในช่วงปลายเดือนนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ในจีนที่ยังน่ากังวล และการคงมาตรการควบคุมการระบาดในเมืองหลักๆ ที่ยาวนานขึ้น จะยังกดดันการฟื้นตัวของภาคการบริโภคและบริการ นอกจากนี้ Sentiment ของนักลงทุนรายย่อยจีนในช่วงนี้ยังค่อนข้างซบเซา

 

ตลาดหุ้นไทย

 

 

ความน่าสนใจระดับ 4

 

ตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเราคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.5% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากผลของสงครามยูเครน จะกระทบต้นทุนการผลิตและการปรับประมาณการกำไรของ บจ.ไทยลง ขณะที่ Valuation หุ้นไทยเริ่มตึงตัว นอกจากนี้การผ่านพ้น Dividend Season ทำให้ดัชนีหุ้นไทยอาจซึมลง

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

 

 

ความน่าสนใจระดับ 5

 

แม้ว่าตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนตลาดหุ้นเวียดนามจะเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศ เช่น ความกังวลประเด็นการปรับนโยบายเข้มงวดขึ้นในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของภาคอสังหา และการปรับลดวงเงิน Margin Loan ของ บล. ที่ให้กับนักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะกับการลงทุนหุ้นอสังหา แต่เราเชื่อว่าความกังวลเหล่านี้จะสร้างความผันผวนเพียงช่วงสั้น และถือเป็นโอกาสทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนามเพิ่ม เนื่องจากตลาดโดยรวมยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจและผลประกอบการ บจ. ที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับระดับ Valuation ของตลาดล่าสุดที่ลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากและยังถูกที่สุดในอาเซียน

 

กองทุนแนะนำ

 

  • Principal Vietnam Equity Fund

กองทุน PRINCIPAL VNEQ-A ลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return

 

ทองคำ

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed

 

น้ำมัน

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากความขัดแย้งทางการเมืองในลิเบีย ซึ่งสร้างความกังวลต่ออุปทานที่ตึงตัวอยู่แล้วจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีแนวโน้มยุติลงได้ รวมทั้งปริมาณการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียที่ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร นอกจากนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันจากกลุ่ม OPEC+ และสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันถูกกดดัน หลัง IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลก และการระบาดของโควิดในจีนที่ยังคงเพิ่มขึ้น

 

REITs ประเทศพัฒนา

 

 

ความน่าสนใจระดับ 3

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดถูกจำกัด

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 

 

 

ความน่าสนใจระดับ 5

 

REITs ไทยและสิงคโปร์ยังคง Laggard เมื่อเทียบกับ DM REITs และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามการผ่อนคลายมาตรการคุมการระบาดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ที่มีการเปิดประเทศมากขึ้นหลังการระบาดผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยสิงคโปร์อนุญาตให้นักเดินทางต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว และเริ่มให้พนักงานสามารถกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้มากขึ้น ขณะที่แม้ประเทศไทยยังมีการแพร่ระบาดของโควิด แต่รัฐบาลเริ่มมีการวางแผนปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะข้างหน้า และมีแนวโน้มปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

กองทุนแนะนำ

 

  • SCB Property and Infrastructure Flexible Fund

กองทุน SCBPINA ลงทุนในหน่วยลงทุน REITs และ Infrastructure Fund ของไทยและสิงคโปร์ โดยลงทุนในต่างประเทศโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่เกินร้อยละ 79

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 25 เม.ย. 2022

READ MORE



Latest Stories