- ดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นแรง ส่อกดดันเงินเยนและเงินบาทอ่อนค่าลง
- การปรับลดคาดการณ์ GDP เศรษฐกิจโลกของทั้ง IMF และ World Bank สะท้อนเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น เพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีแหล่งพลังงานและอาหารเอง
- เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงรุนแรง ขณะที่ทางการอาจไม่กล้าใช้ยากระตุ้นมากนัก เหตุดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี เริ่มต่ำกว่าของสหรัฐฯ
- หุ้นไทยสัปดาห์นี้แนวโน้มผันผวนจากปัจจัยภายนอก แนะคงน้ำหนักพอร์ต 50% ในกลุ่มที่เติบโตดี ไม่โดนผลกระทบจากปัจจัยภายนอก
สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้นได้จากผลประกอบการบริษัทที่ออกมาดี อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวและเงินเฟ้อสูงจะยังเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงสูงสุดในรอบ 40 ปี
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจจีน 1Q ออกมาดี แต่ในระยะต่อไปมีแนวโน้มชะลอตัวลงรุนแรงขึ้นจากการล็อกดาวน์ รวมถึงการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกลงทั้งปีนี้และปีหน้า บ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่มีมากขึ้น
ขณะที่แนวโน้มการปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทำให้ความเสี่ยงเรื่องกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีมากขึ้น โดยเฉพาะเงินเยนที่อ่อนค่าลงมาก ส่วนเงินบาทก็มีทิศทางอ่อนลงเช่นกัน หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงส่งสัญญาณไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายท่ามกลางส่วนต่างดอกเบี้ยพันธบัตรที่มากขึ้น
บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังสูงสุดในรอบ 40 ปีต่อเนื่องที่ 8.6% ในขณะที่ตลาดรวมถึง SCBS เชื่อว่าเงินเฟ้ออาจมีแนวโน้มปรับลดลงได้บ้าง (จากปัจจัยฐาน) แต่เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก
- เงินเฟ้อจากฝั่งบ้านยังคงอยู่จากค่าเช่า
- ความเสี่ยงซัพพลายเชนดิสรัปชันยังมีอยู่หลังจีนล็อกดาวน์ ส่งผลให้สินค้าขั้นกลางอาจมีปัญหาในระยะต่อไป
- Service ยังมีความต้องการสูง ซึ่งจะยังกดดันราคาในฝั่งของเศรษฐกิจจีน แม้ตัวเลข GDP 1Q ออกมาดี แต่เศรษฐกิจจีนจะมีแนวโน้มชะลอลงรุนแรงขึ้น จากการที่ทางการไม่กล้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจแรง (โดยเฉพาะนโยบายการเงิน) เนื่องจากดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของจีนต่ำกว่าสหรัฐฯ แล้ว ขณะที่จีนเองยังคงต้องใช้นโยบาย Zero-COVID ต่อเนื่อง ก่อนการต่ออายุประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ครั้งที่ 3 และปัญหาโครงสร้างเดิม เช่น อสังหา และซัพพลายเชนดิสรัปชัน ยังคงอยู่ แม้จะค่อยๆ ดีขึ้นในระยะต่อไป
ด้านการปรับประมาณการลดลงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ ธนาคารโลก (World Bank) ทั้งปีนี้และปีหน้า บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงสงครามยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ ซึ่ง SCBS มองว่าในระยะต่อไปความเสี่ยงเศรษฐกิจ EM จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีแหล่งพลังงานและอาหารเอง เช่น แอฟริกา ตะวันออกกลางบางประเทศ ยุโรปตะวันออก รวมถึงในเอเชียเอง เช่น ไทย ที่ยังต้องนำเข้าน้ำมันและแร่ธาตุในระดับสูงเพื่อผลิตปุ๋ย ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงขึ้น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น กระทบต่อค่าเงินและการขยายตัวเศรษฐกิจ
นอกจากนั้นประเด็นการแตกต่างของดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และประเทศตลาดเกิดใหม่ ก็จะกดดันค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยเช่นกัน
ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1%QoQ ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ 7% หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหมดลง
- เงินเฟ้อสหรัฐฯ (Core PCE) ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตาม CPI หรือไม่
- ตัวเลข Caixin PMI จีน ว่าจะชะลอต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 48.1 หรือไม่
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 0.3% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง 2.3% ส่วนตลาดพัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มขึ้น 0.1% โดยได้รับแรงกดดันจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาด รวมถึงความกังวลของ World Bank และ IMF ที่ปรับประมาณการการเติบโตของ GDP โลกลงราว 1% ทั้งจากประเด็นรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดของจีน ซึ่งสวนทางกับผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด
โดยหุ้นกลุ่ม Value (+0.5%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Growth (-1.1%) หุ้นขนาดเล็ก (+0.1%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (-0.3%) กลุ่มการเงินให้ผลตอบแทนดีจากผลประกอบการ 1Q22 ที่ดีและการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร เพิ่มขึ้น 2-3% ส่วนกลุ่ม Communication Services ปรับลดลง 4% เป็นผลมาจากที่ Netflix เผชิญกับภาพการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนผู้ใช้บริการลดลง
ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสเงินยังมีลักษณะของการปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ต่อเนื่อง หลังจากที่ World Bank และ IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกลง รวมถึงท่าทีของธนาคารสหรัฐฯ ที่อาจจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์
- กระแสเงินไหลออกจากตราสารทุนและไหลเข้าตราสารหนี้
- สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาล โลหะมีค่า และตลาดเงิน มีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง
- นักลงทุนมองว่าเงินเฟ้ออาจจะเริ่มชะลอตัวลง และธนาคารกลางอาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเยอะอย่างที่คาด
- กลุ่ม Growth กลุ่มการเงิน หุ้นขนาดเล็ก และ High Yield ดับแรงกดดันจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ถูกปรับประมาณการลง
- มีแรงขายในหุ้นยุโรปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ
- หุ้นพลังงานมีแรงซื้อ แต่สินค้าโภคภัณฑ์มีแรงขาย บ่งชี้ว่านักลงทุนกำลังเก็งกำไรบนกำไร 1Q22 ที่คาดว่าจะออกมาดี
สำหรับในสัปดาห์หน้าต้องติดตาม
- ผลการประชุมนโยบายการเงินของ BOJ ที่คาดว่าจะตึงตัวน้อยกว่า Fed และ ECB ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง
- ตัวเลขเงินเฟ้อยุโรปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
- ท่าทีของธนาคารกลางใน EM ที่ยังมีแนวโน้มคงดอกเบี้ย
- ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของบริษัท Alphabet, Boeing, Chevron, Coca-Cola, Credit Suisse, Ford, GM, HSBC, Mastercard, McDonald’s, Meta, Microsoft, Ping An Insurance, Spotify, Twitter, UBS, UPS, Visa
“ตลาดหุ้นยังอยู่ในสภาวะที่ผันผวนจากปัจจัยภายด้าน Sentiment มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน ทั้งนี้แม้ว่าตลาดจะมีความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ผลประกอบการใน 1Q22 ที่เริ่มประกาศออกมาแล้วนั้น บ่งชี้ว่ามีหลายบริษัทที่มีการเติบโตดีและได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกจำกัด หุ้นกลุ่มห่วงโซ่อุปทาน รถยนต์ไฟฟ้า และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศอย่างกลุ่มท่องเที่ยว ยังเป็นธีมหลักในการลงทุนที่มีความชัดเจนมากกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น”
กลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้
การลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ปัจจัยภายในประเทศมีผลค่อนข้างจำกัด และหาจังหวะในการลงทุนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น คำแนะนำในช่วงนี้ คือ คงน้ำหนักพอร์ตที่ 50% ในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก เช่น KBANK, AMATA, LH, GULF ADVANC
หุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากรัฐบาลที่จะไม่มีมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดอย่าง AOT, AWC, CENTEL, ERW, CPALL, BJC
หุ้นกลุ่มเครื่องดื่มที่สะท้อนการปรับลดประมาณการไปแล้วและแนวโน้มกำไร 2Q22 ดีขึ้นอย่าง CBG และ OSP
หุ้นที่คาดว่าแนวโน้มกำไรใน 1Q22 ออกมาดี ได้แก่ BH, HMPRO, PTT
แนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นที่เสียประโยชน์จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างกลุ่มขนส่ง วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ ที่อาจจะเผชิญการปรับลดประมาณการลง
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: GFPT - พร้อมตีปีก...กำไรเด่นสุดในกลุ่มอาหาร
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ประกอบธุรกิจไก่ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงไก่ ชำแหละและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ และผลิตอาหารแปรรูป โดยจัดเป็นผู้ส่งออกไก่ไทยอันดับ 3 ซึ่งอิงส่วนแบ่งตลาด 12% และผู้ผลิตไก่ไทยอันดับ 8 ซึ่งอิงส่วนแบ่งตลาด 6%
- 1Q22 มีแนวโน้มเติบโตดีสุดในกลุ่มอาหาร โดยคาดกำไรปกติอยู่ที่ 250 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านบาท ใน 1Q21 และ 14 ล้านบาท ใน 4Q21 แรงหนุนจากยอดขายที่ดีขึ้น อัตรากำไรขั้นต้นที่กว้างขึ้น และส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจาก GFN (คาดประกาศงบ 12 พฤษภาคม)
- ปี 2022 คาดกำไรฟื้นตัวเด่น 625%YoY สู่ระดับ 1.04 พันล้านบาท จากฐานกำไรปีก่อนต่ำและราคาไก่ในประเทศที่ดีขึ้น อีกทั้งมีการเพิ่มอัตราใช้กำลังผลิตของเครื่องจักรใหม่ และสัดส่วนยอดขายที่ดีขึ้นจากการส่งออกไก่ปรุงสุกที่ให้มาร์จิ้นสูงเพิ่มขึ้น หนุนให้ยอดขายและมาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้น
- ช่วงสั้นมองราคาหุ้น GFPT ปรับขึ้นต่อได้ หลังตั้งแต่ต้นปีปรับขึ้นเพียง 3.9%YTD ซึ่งคาดยังไม่สะท้อนผลประกอบการที่ฟื้นตัวชัดเจนในปี 2022 และยังมี Upside Risk น่าสนใจจากแผนขยายตลาดต่างประเทศใหม่ๆ
- ประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่ 17.50 บาท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 อีกหุ้นละ 0.20 บาท คิดเป็น Div. Yi
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะยังกดดัน Sentiment ตลาด นอกจากนี้ตลาดยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการเร่งลดการผ่อนคลายทางการเงินลงของธนาคารกลางหลักใน DM อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นบนประเทศกลุ่ม DM รวมทั้งผลประกอบการของ บจ.ในกลุ่ม DM ใน 1Q22 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดหุ้น DM ยังทรงตัวถึงฟื้นตัวได้บางส่วน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากความกังวลวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และจากการที่ Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 50 bps พร้อมเริ่มทำ QT ในเดือนพฤษภาคม และขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในเดือนมิถุนายน รวมทั้งความกังวลต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ความกังวลผลกระทบจากการระบาดในสหรัฐฯ ที่ลดลงไปมาก และผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ ใน 1Q22 ที่ยังมีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด (โดยล่าสุดมี EPS Surprise อยู่ที่ +7.6%) จะช่วยประคองตลาดไว้ได้ ทั้งนี้เราแนะนำสัดส่วนการลงทุนกลุ่ม Growth ต่อ Value อยู่ที่ 60:40
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของยุโรป โดยยุโรปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของประชาชนและต้นทุนการผลิต ปัญหาด้านอุปทานคอขวดมีแนวโน้มแย่ลงจากปัญหาความขัดแย้งในยูเครน และผลประกอบการ บจ. ในยุโรปมีแนวโน้มถูกกดดันจากผลการล็อกดาวน์ในจีน อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นยุโรปที่ลดลงมามาก จะช่วยจำกัด Downside ตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมีการยกเลิกภาวะกึ่งฉุกเฉินทั่วประเทศ และกำลังจะพิจารณากลับมาใช้โครงการ Go To Travel
นอกจากนี้เริ่มมีสัญญาณถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านค่าเงินเยนมีการอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยหนุนหุ้นกลุ่มส่งออก แต่อาจกดดันเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนที่สูง
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นจีน H-Share ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการที่ทางการจีนเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบกับบางกลุ่มแพลตฟอร์ม เช่น การกลับมาออกใบอนุญาตเผยแพร่เกมใหม่กับกลุ่ม Online Gaming อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มีอยู่ ทั้งประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับรัสเซีย และกับไต้หวัน รวมทั้งประเด็นความเสี่ยงเรื่อง Delisting ของหุ้นจีน ADRs ภายในปี 2024 ที่ยังมีอยู่
นอกจากนี้ผลประกอบการของ บจ.จีน โดยเฉพาะกลุ่มแพลตฟอร์มที่ยังมีแนวโน้มชะลอลงถึงขยายตัวปานกลางตลอดช่วง 1H22 ตามผลกระทบทางลบจากการออกมาตรการคุมการระบาดในจีน จะยังกดดันการฟื้นตัวของตลาดโดยรวม
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นจีน A-Share มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนทยอยออกมาตรการต่างๆ (ที่ไม่ใช่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย) เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงขาลงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในการประชุม Politburo ในช่วงปลายเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ในจีนที่ยังน่ากังวล และการคงมาตรการควบคุมการระบาดในเมืองหลักๆ ที่ยาวนานขึ้น จะยังกดดันการฟื้นตัวของภาคการบริโภคและบริการ นอกจากนี้ Sentiment ของนักลงทุนรายย่อยจีนในช่วงนี้ยังค่อนข้างซบเซา
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเราคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.5% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากผลของสงครามยูเครน จะกระทบต้นทุนการผลิตและการปรับประมาณการกำไรของ บจ.ไทยลง ขณะที่ Valuation หุ้นไทยเริ่มตึงตัว นอกจากนี้การผ่านพ้น Dividend Season ทำให้ดัชนีหุ้นไทยอาจซึมลง
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 5
แม้ว่าตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนตลาดหุ้นเวียดนามจะเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศ เช่น ความกังวลประเด็นการปรับนโยบายเข้มงวดขึ้นในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของภาคอสังหา และการปรับลดวงเงิน Margin Loan ของ บล. ที่ให้กับนักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะกับการลงทุนหุ้นอสังหา แต่เราเชื่อว่าความกังวลเหล่านี้จะสร้างความผันผวนเพียงช่วงสั้น และถือเป็นโอกาสทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนามเพิ่ม เนื่องจากตลาดโดยรวมยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจและผลประกอบการ บจ. ที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับระดับ Valuation ของตลาดล่าสุดที่ลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากและยังถูกที่สุดในอาเซียน
กองทุนแนะนำ
-
Principal Vietnam Equity Fund
กองทุน PRINCIPAL VNEQ-A ลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN30 Total Return
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐและบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากความขัดแย้งทางการเมืองในลิเบีย ซึ่งสร้างความกังวลต่ออุปทานที่ตึงตัวอยู่แล้วจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีแนวโน้มยุติลงได้ รวมทั้งปริมาณการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียที่ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร นอกจากนี้ปริมาณการผลิตน้ำมันจากกลุ่ม OPEC+ และสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันถูกกดดัน หลัง IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลก และการระบาดของโควิดในจีนที่ยังคงเพิ่มขึ้น
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดถูกจำกัด
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 5
REITs ไทยและสิงคโปร์ยังคง Laggard เมื่อเทียบกับ DM REITs และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามการผ่อนคลายมาตรการคุมการระบาดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ที่มีการเปิดประเทศมากขึ้นหลังการระบาดผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยสิงคโปร์อนุญาตให้นักเดินทางต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว และเริ่มให้พนักงานสามารถกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้มากขึ้น ขณะที่แม้ประเทศไทยยังมีการแพร่ระบาดของโควิด แต่รัฐบาลเริ่มมีการวางแผนปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะข้างหน้า และมีแนวโน้มปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
กองทุนแนะนำ
-
SCB Property and Infrastructure Flexible Fund
กองทุน SCBPINA ลงทุนในหน่วยลงทุน REITs และ Infrastructure Fund ของไทยและสิงคโปร์ โดยลงทุนในต่างประเทศโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่เกินร้อยละ 79