- ดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 3% กดดันสกุลเงินสำคัญอื่นๆ ทั้งหยวนและยูโร
- Fed จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ 0.50% ซึ่งจะเป็นแรงกดดันส่งต่อไปยัง ECB ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1-2 ครั้งในปีนี้
- ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ และมีโอกาสที่ GDP จะถูก Downgrade ได้อีก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ซึ่งยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิดอีกระลอก
- ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนการซึมซับปัจจัยเสี่ยงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ตลาดจะยังถูกกดดันด้วยแนวโน้มผลประกอบการ บจ. ที่กำลังทยอยประกาศออกมาและมีแนวโน้มลดลง
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงแรง โดยตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 0.9% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง 2% และตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง 0.7% เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวแข็งค่ามากอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับเงินหยวนและสกุลสำคัญอื่นๆ เช่น เยน ยูโร รวมถึงบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการที่รัสเซียประกาศหยุดส่งก๊าซธรรมชาติให้โปแลนด์และเบลารุส หลังจากทั้งสองประเทศไม่จ่ายค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิล ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปเพิ่มขึ้น 20% และการระบาดของโอมิครอนในจีน โดยเฉพาะในเมืองเซี่ยงไฮ้ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้ตลาดกังวลต่อการเติบโตของจีน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมามีสัญญาณการชะลอตัวลง
ทั้งนี้ หุ้นกลุ่ม Growth (-0.7%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Value (-1%) หุ้นขนาดใหญ่ (-0.7%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (-2%) กลุ่มการเงินและธนาคารปรับตัวลดลง 3-4% จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่วนหุ้นกลุ่มเชิงรับปรับตัวลดลงเช่นกัน 1% แต่น้อยกว่าตลาด และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่น 2.2% จากผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ออกมาดีกว่าที่คาด
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่าสาเหตุที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ มีทั้งปัจจัยร่วม ได้แก่ แนวนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ตึงตัวขึ้น ทำให้สภาพคล่องโดยรวมของสหรัฐฯ ตึงตัวขึ้นในระดับใกล้เคียงกับก่อนวิกฤตโควิด อันเป็นผลทั้งจากผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและยาวที่เพิ่มขึ้น และเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินของเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น จีน หรือแม้กระทั่งไทยผ่อนคลายกว่า
โดยในระยะต่อไป ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ 1-2 ครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางอื่นอาจไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ภาพดังกล่าวจะทำให้เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลาต่อไป
“การที่ดอลลาร์แข็งค่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยลดทอนเงินเฟ้อจากการนำเข้า (Imported Inflation) ได้ แต่จะทำให้เศรษฐกิจอื่นๆ ที่ค่าเงินอ่อนเผชิญกับ Imported Inflation ที่สูงขึ้น และกระทบให้เศรษฐกิจอื่นๆ เกิดภาวะ Stagflation ขึ้นได้มาก”
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบแล้ว จีนอาจได้รับผลกระทบด้านนี้น้อยกว่าเนื่องจากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่า แต่จีนก็จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโอมิครอนที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง และทำให้ทางการต้องล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศและภาคการผลิต (หรือปัญหา Supply Chain) ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในระยะต่อไป
เศรษฐกิจโลกเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าคาด
SCBS มองว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2022 มีความเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยยังมีโอกาสที่ GDP จะถูก Downgrade ได้อีก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่มีสัญญาณว่าจะจบเมื่อไร และสถานการณ์โควิดในจีนที่ยังคงจัดการไม่ได้ เนื่องจากอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือ อัตราการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ยังคงต่ำ รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เนื่องจากจะทำให้ความเสี่ยงเงินเฟ้อไม่ลดลงและจีนไม่สามารถเปิดประเทศได้ ล่าสุด การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังกระทบค่าเงินประเทศอื่นๆ ให้อ่อนค่า ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันเรื่องการนำเข้าเงินเฟ้อ ส่งผลให้นโยบายการเงินของ Fed กำลังถูกจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะทำได้ตามแผนหรือไม่
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.50% และแผนการลดงบดุลและแนวโน้มตัวเลขในตลาดแรงงานที่ยังดี
- การผลิตและบริการของจีนที่คาดว่าจะหดตัวลงต่อเนื่องจากการล็อกดาวน์
- การประชุมกลุ่ม OPEC ที่คาดว่าจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
- ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของบริษัท Airbnb, Airbus, AMD, BMW, BP, Cigna, CVS Health, Deutsche Post, Ebay, Enel, Expedia, Hilton, Lyft, Marathon Petroleum, Moderna, Pfizer, Shopify, Starbucks, Uber, Vestas, Volkswagen, Yum Brand
“ตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก แต่ยังไม่พบกระแสเงินต่างชาติไหลออก ทั้งนี้ มีความหวังเรื่องการเปิดประเทศเป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มราคาน้ำมันดีเซลและราคาน้ำมันปาล์มจะเป็นส่วนที่กดดันค่าขนส่งและทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น และอาจจะส่งผลต่อการปรับประมาณการลงในระยะถัดไป การลงทุนในช่วงนี้จะเน้นไปที่กลุ่มเชิงรับ รวมถึงหุ้นที่มีการฟื้นตัวจากโควิดชัดเจนและสามารถต่อสู้กับต้นทุนได้ จะทำให้ลดความผันผวนจากภาพตลาดได้ดี”
แนะคงน้ำหนักลงทุนหุ้นไทย 50% เน้นหุ้นที่รับความเสี่ยงจำกัด
การลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ปัจจัยภายในประเทศมีผลค่อนข้างจำกัดและหาจังหวะในการลงทุนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น
- คงน้ำหนักพอร์ตที่ 50% ในหุ้นที่มีการเติบโตดีและมีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอก เช่น KBANKJ, AMATA, LH, GULF, ADVANC
- หุ้นเชิงรับ/หลุมหลบที่คาดให้ผลตอบแทนดีในช่วง Sell in May เลือก กลุ่มเครื่องดื่ม (CBG, OSP) กลุ่มท่องเที่ยว (AOT, AWC) กลุ่มการแพทย์ (BDMS) และกลุ่มค้าปลีก (BJC, CRC)
- หุ้นที่คาดผลประกอบการ 1Q65 เติบโตดี YoY เลือก ZEN, AP, GFPT, TOP, BCP
- ระมัดระวังหุ้นกลุ่มขนส่ง วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ โรงไฟฟ้า อสังหา บรรจุภัณฑ์ ที่มีโอกาสถูก Downgrade Earning จากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นหลังประกาศงบ 1Q65 อีกทั้งล่าสุดตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ราคาดีเซลจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันได
- ระมัดระวังหุ้นที่มักจะเห็นแรงขายเกิดขึ้นในช่วง Sell in May อย่างกลุ่ม Energy, Bank, Con Mat, Electronics และหุ้นขนาดเล็ก
Sell in May ปีนี้เกิดขึ้นแน่ แต่กดดันตลาดไม่มาก
ในเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาที่เป็น Low Season ของตลาดหุ้น ที่มักจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ โดยหุ้นโลกมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่น้อยกว่า 1% และมีโอกาสในการที่ได้รับผลตอบแทนเป็นบวก 50%
ในปีนี้อาจจะมีความเสี่ยงในการเกิด Sell in May หรือผลตอบแทนติดลบเช่นกัน แต่อาจไม่สูงมากนักเพราะหลายชั้นสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนติดลบในช่วงเดือนพฤษภาคม 2021 - เมษายน 2022 โดย SCBS มองว่าโอกาสในการเกิด Sell in May ในปีนี้โดยใช้การเคลื่อนไหวราคาในอดีต สำหรับหุ้นโลกอยู่ที่ 40% และอาจจะไม่เกิดการ Sell in May ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
หากใช้กลยุทธ์นี้กับตลาดหุ้นและกลุ่มอุตสาหกรรม จะพบว่าตลาดหุ้นเอเชียและตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนติดลบมากกว่า 50% และกลุ่มที่อาจจะให้ผลตอบแทนติดลบ ได้แก่ ICT และกลุ่มการเงิน ส่วนหลุมหลบภัยสำหรับ Sell in May ได้แก่ กลุ่ม Con.Disc, Healthcare, Staples, Energy
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CRC-กำไรคืนชีพ พร้อมโตดีสุดในกลุ่ม
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็น Holding Company ซึ่งถือหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย โดยจัดเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่สุดในไทยและอันดับสามในเวียดนาม รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่สุดในอิตาลี
- มีศักยภาพเติบโตในระยะยาวจากแผนขยายแพลตฟอร์ม Omni Channel และเครือข่ายสาขา รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน การผนึกกำลังจากธุรกิจในเครือเพิ่มเติม และการมองหาโอกาสทำดีล M&A
- 1Q22 คาดกำไรเพิ่มขึ้น YoY จากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้น โดยในส่วนของยอดขายสาขาเดิมคาดเติบโตดีในทุกกลุ่มธุรกิจ (แฟชั่น อาหาร และฮาร์ดไลน์) และในทุกประเทศ (อิตาลี เวียดนาม และไทย) จากมีฐานต่ำปีก่อน มีมาตรการช้อปดีมีคืน และการปรับขึ้นราคาสินค้าตามเงินเฟ้อ
- ผลประกอบการผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว และปี 2022 คาดมีกำไรปกติพุ่งแตะระดับ 5,035 ล้านบาท เติบโต 224%YoY ดีสุดในกลุ่มพาณิชย์ เนื่องจากยอดขายและรายได้ค่าเช่าฟื้นตัวดีขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
- ราคาหุ้นมีโมเมนตัมปรับขึ้นต่อได้ ตามแนวโน้มกำไรที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของกำลังซื้อและการยกเลิกข้อจำกัดเดินทางเข้าประเทศที่หนุนให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับคืนมา ทั้งนี้ SCBS ประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 45 บาท
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดฯ ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งจะยังกดดัน Sentiment ตลาดฯ นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังคงเผชิญปัจจัยกดดันจากแนวโน้มการเร่งลดการผ่อนคลายทางการเงินลงของธนาคารกลางหลักใน DM โดยเฉพาะ Fed อย่างไรก็ดี การทยอยเปิดเศรษฐกิจมากขึ้นบนประเทศกลุ่ม DM รวมทั้งผลประกอบการของ บจ. ในกลุ่ม DM ใน 1Q2022 ที่ยังมีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดหุ้น DM ยังทรงตัวถึงฟื้นตัวได้บางส่วน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และจากการที่ Fed มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย 50 bps พร้อมประกาศแผน QT ในการประชุมเดือนพฤษภาคม และขึ้นดอกเบี้ยอีก 50 bps ในเดือนมิถุนายน รวมทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลประกอบการ บจ. สหรัฐฯ ใน 1Q2022 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด (โดยล่าสุดมี EPS Surprise อยู่ที่ +4%) จะช่วยประคองตลาดฯ ไว้ได้ ทั้งนี้ SCBS แนะนำสัดส่วนการลงทุนกลุ่ม Growth ต่อ Value อยู่ที่ 60:40
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของยุโรป โดยยุโรปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้นระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันอำนาจซื้อของประชาชนและต้นทุนการผลิต ขณะที่ภาคการผลิตถูกกดดันจากพลังงานที่อาจถูก Disrupt จากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาด้านอุปทานมีแนวโน้มแย่ลงจากการล็อกดาวน์ในจีน อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นยุโรปที่ลดลงมามากจะช่วยจำกัด Downside ตลาด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากวิกฤตยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed รวมทั้งถูกกดดันจากการล็อกดาวน์ในจีนที่ส่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นเริ่มมีการออกมาตรการเยียวยา เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านค่าเงินเยนมีการอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยหนุนหุ้นกลุ่มส่งออกแต่อาจกดดันเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นมีการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนที่สูง ขณะที่ BOJ มีแนวโน้มคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบผ่อนคลายต่อไป
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share เนื่องจาก Valuation ของดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และการคุมเข้มด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่อาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มีอยู่ ทั้งประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับรัสเซียและกับไต้หวัน รวมทั้งความเสี่ยงเรื่อง Delisting ของบรรดาหุ้นจีน ADRs ภายในปี 2024 ที่ยังมีอยู่ นอกจากนี้ผลประกอบการของ บจ. จีน โดยเฉพาะกลุ่ม Platform ที่มีแนวโน้มชะลอลงถึงขยายตัวปานกลาง ตลอดช่วง 1H2022 ตามผลกระทบทางลบจากการออกมาตรการควบคุมการระบาดรอบใหม่ในจีน จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีฯ โดยรวม
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการต่างๆ (ที่ไม่ใช่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน) เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงขาลงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่ในจีนที่ยังน่ากังวลและการคงมาตรการควบคุมการระบาดในเมืองหลักๆ ที่ยาวนานขึ้น จะยังกดดันการฟื้นตัวของภาคการบริโภค ภาคบริการ และทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานยังยืดเยื้อ นอกจากนี้ Sentiment การลงทุน ของนักลงทุนจีนในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มซบเซาต่อ
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นไทย โดยตลาดหุ้นไทยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นจากผลของสงครามยูเครน จะกระทบต้นทุนการผลิต ภาคการบริโภคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะปรับประมาณการกำไรของ บจ. ของไทยลง ขณะที่ Valuation หุ้นไทยเริ่มตึงตัว นอกจากนี้การที่ Bond Yield 10 ปี ของไทยเริ่มอยู่ต่ำกว่าของสหรัฐฯ และการที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น อาจส่งผลให้เงินทุนไหลออก
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 5
SCBS มีมุมมอง Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม โดยแม้ว่าตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ตลาดฯ เผชิญแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศ เช่น การปรับนโยบายเข้มงวดขึ้นในการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของภาคอสังหา และการคุมเข้ม Margin Loan ของ บล. ที่ให้กับรายย่อย แต่เชื่อว่าความกังวลเหล่านี้จะสร้างความผันผวนเพียงช่วงสั้น และถือเป็นโอกาสทยอยเข้าสะสมตลาดหุ้นเวียดนามเพิ่ม เนื่องจากตลาดฯ โดยรวม ยังได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจ และผลประกอบการ บจ. ของเวียดนามที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับระดับ Valuation ของตลาดฯ ล่าสุด ที่อยู่ในระดับน่าสนใจอย่างมาก และยังถูกที่สุดในกลุ่มอาเซียน
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยทองคำมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ และ Bond Yield ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อน้ำมัน โดยราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากภาวะอุปทานน้ำมันที่ตึงตัวเนื่องจากการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียลดลง หลังชาติต่างๆ ออกมาตรการคว่ำบาตร การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับลดลง หลังเกิดเหตุประท้วงทางการเมือง รวมทั้งการผลิตน้ำมันจากกลุ่ม OPEC+ และสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีแนวโน้มได้รับปัจจัยกดดันจากปัจจัยด้านอุปสงค์ ตามการระบาดของโควิดในจีนที่ยังน่ากังวล และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง นอกจากนี้เงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าตามการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะยังคงส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมันอีกด้วย
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมอง Neutral ต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้ว โดย REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตจากการทยอยเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดถูกจำกัด
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 5
เรามีมุมมอง Positive ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดย REITs ไทยและสิงคโปร์ยังคง Laggard เมื่อเทียบกับ DM REITs และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามการผ่อนคลายมาตรการคุมการระบาดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ที่มีการเปิดประเทศมากขึ้นหลังการระบาดผ่านจุดสูงสุดไป โดยสิงคโปร์ได้ยกเลิกการจำกัดจำนวนคนในที่ทำงานและการรวมกลุ่มกัน รวมทั้งยกเลิกการตรวจหาเชื้อโควิดสำหรับคนที่เดินทางเข้าประเทศ ขณะที่แม้ประเทศไทยยังมีการแพร่ระบาดของโควิดอยู่ แต่รัฐบาลเริ่มมีการวางแผนปรับให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะข้างหน้า และมีแนวโน้มปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ