THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
หุ้นไทย
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

ตลาดกำลังปรับสู่สมดุลใหม่ หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ส่งสัญญาณพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว ลดแรงกดดัน Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ย

... • 19 ก.ย. 2022

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ประจำเดือนสิงหาคมที่ระดับ 8.3% ซึ่งสูงกว่าตลาดคาดไว้ที่ 8.1% ทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวนและปรับตัวลดลง
  • ตลาดเริ่มมองความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1% ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายนนี้
  • อย่างไรก็ตาม InnovestX เชื่อว่าเงินเฟ้อได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว โดยเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลงรวมถึงนโยบายการเงินที่ตึงตัว จะทำให้เงินเฟ้อและความคาดหวังเงินเฟ้อชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • จึงคาดว่าตลาดจะปรับตัวดีขึ้นหลังการประชุม FOMC ในวันที่ 21 กันยายนนี้ โดยเฉพาะหากการคาดการณ์เศรษฐกิจและ Dot Plot ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ช้าลง

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่สูงเกินคาด โดยอยู่ที่ 8.3%YoY (+0.1%MoM) สูงกว่าตลาดคาดที่ 8.1% ทำให้ตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 1% ในการประชุม 20-21 กันยายนนี้

 

นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอลงมากขึ้น เช่น

  1. Fed สาขานิวยอร์ก เปิดเผยผลสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อในช่วง 1 ปีข้างหน้า อยู่ที่ 5.7% ลดลงจากระดับ 6.2%
  2. GDP รายเดือนของอังกฤษในเดือนกรกฎาคม เติบโต 0.2%MoM ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.4%MoM
  3. คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เตรียมมาตรการหักกำไรส่วนเกินของบริษัทพลังงาน 1.4 แสนล้านยูโร เพื่อใช้อุดหนุนพลังงานและออกมาตรการลดการใช้ไฟฟ้าทั่ว EU
  4. เงินเฟ้ออังกฤษลดลงเหลือ 9.9% จากราคาพลังงานที่ลดลง 
  5. Bloomberg ได้รายงานถึงประเด็นความเสี่ยงจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงของประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย ผลจากการเข้าแทรกแซงค่าเงิน โดยทุนสำรองลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008
  6. ดัชนีเงินเฟ้อผู้ผลิต (PPI) สหรัฐฯ ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ที่ -0.1%MoM
  7. รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมแบนการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังจีนเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกในปลายสัปดาห์เล็กน้อย อันได้แก่

  1. ตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมที่ยังฟื้นตัว 0.3% หลังจากหดตัว -0.4% ในเดือนก่อน
  2. ตัวเลขของสวัสดิการว่างงานลดต่ำลงต่อเนื่อง
  3. ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ไม่รวมภาคเหมืองแร่และสาธารณูปโภคที่ยังขยายตัวได้ 0.1% บ่งชี้เศรษฐกิจที่ชะลอลงแต่ยังขยายตัวได้ และ
  4. จีนประกาศคลายล็อกดาวน์เมืองเฉิงตู

 

ตลาดหุ้นไทยร่วงเล็กน้อยหลังท่องเที่ยวหนุน

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากความกังวลเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะทำให้ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยคาด ประเด็นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและกระทบการส่งออก รวมถึงประเด็นทางการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตาม หุ้นไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โดย ททท. กล่าวว่า นักท่องเที่ยวเข้าไทยสะสมตั้งแต่ต้นปีเกิน 5 ล้านคนแล้ว

 

ส่วนตลาดพันธบัตรนั้น ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นรุนแรงมาอยู่ที่ระดับ 3.44% จากเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดทำให้ความกังวลนโยบายตึงตัวมีมากขึ้น ขณะที่ระยะสั้น 2 ปี ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.84% ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ย 2-10 ปี เพิ่มขึ้นมาที่ 0.40% ผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 0.10% มาอยู่ที่ 2.87% ขณะที่ระยะสั้น อายุ 2 ปี ปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.66% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิที่ 8,139 ล้านบาท

 

ด้านราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 91.0 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความกังวลเศรษฐกิจถดถอยที่มากขึ้น ด้านราคาทองคำ (Spot) ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1,693.3 ดอลลาร์

 

ส่วนตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) แข็งค่าขึ้นที่ 109.7 จุด ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงแรงต่อเนื่องที่ 143.3 เยน ด้านค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงที่ 1.00 ดอลลาร์ต่อยูโร ด้านค่าเงินเอเชีย ค่าเงินบาทอ่อนลงที่ 36.88 บาท ขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าลงที่ระดับ 6.69 หยวน

 

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนแรงจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่สูงเกินคาด โดยอยู่ที่ 8.3%YoY (+0.1%MoM) สูงกว่าตลาดคาดที่ 8.1% แต่ต่ำกว่าเดือนที่แล้วที่ 8.5% ซึ่งเงินเฟ้อจากฝั่งพลังงานลดลง โดยราคาน้ำมันสำเร็จรูปลดลง 10.6% เทียบกับเดือนก่อน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น เช่น รถมือสองและตั๋วเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารและค่าใช้จ่ายบ้านที่เพิ่มขึ้น 0.8% และ 0.7% ต่อเดือน มีส่วนทำให้เงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ระดับสูง ทั้งนี้ ราคาบ้าน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และค่าเล่าเรียนที่ยังปรับขึ้น ทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 6.3% ต่อปี และ 0.6% ต่อเดือน

 

คาดเงินเฟ้อพ้นจุดสูงสุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม InnovestX เชื่อว่าทิศทางเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว โดยเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลงรวมถึงนโยบายการเงินที่ตึงตัว จะทำให้เงินเฟ้อและความคาดหวังเงินเฟ้อชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ล่าสุดความคาดหวังเงินเฟ้อที่วัดโดย New York Fed ในเดือนสิงหาคม ปรับลงจาก 6.2% เป็น 5.7% ขณะที่ความคาดหวังเงินเฟ้อที่วัดโดย U of Michigan ก็ลดลงจาก 5.4% เป็น 4.8% ในเดือนเดียวกัน

 

อัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินคาดนี้ทำให้ตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ย 1% ในการประชุม 20-21 กันยายนนี้

 

อย่างไรก็ตาม InnovestX เชื่อว่าตลาดคาดการณ์รุนแรงเกินไป เนื่องจาก 

  1. ตัวเลขเงินเฟ้อนี้ยังอยู่ในวิสัยที่ FOMC รับได้ (คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งใน FOMC กล่าวว่า เขาพอใจหากเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2% ต่อเดือน ติดต่อกัน 5 หรือ 6 เดือน)
  2. อัตราเงินเฟ้อที่ 8.3% ในเดือนสิงหาคมยังเป็นไปในทิศทางลงเมื่อเทียบกับ Peak ที่ 9.1%
  3. ณ การประชุมเดือนกรกฎาคมที่เงินเฟ้อเดือนมิถุนายนประกาศที่ 9.1% ทำให้ตลาดคาดว่าจะขึ้น 1% แต่หลังจากนั้นสมาชิก FOMC ได้ออกมาลดความคาดการณ์ตลาด ซึ่งครั้งนี้อัตราการขึ้นน้อยกว่า และเริ่มเห็นสัญญาณ Inflation Expectation ลดลงต่อเนื่องแล้ว

 

ขณะที่สัปดาห์นี้ต้องจับตาผลการประชุม FOMC ในวันที่ 20-21 กันยายน รวมถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจ และ Dot Plot เพื่อรับทราบถึงมุมมองของ FOMC ต่อแนวนโยบายการเงินในอนาคตเป็นสำคัญ นอกจากนั้นต้องจับตาตัวเลข Flash PMI ของสหรัฐฯ ทั้งดัชนีรวม ดัชนีภาคการผลิตและภาคบริการว่าจะปรับลดลงจากเดือนสิงหาคม ที่อยู่ระดับที่ 44.6, 51.5 และ 43.7 หรือไม่

 

ตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่

InnovestX เชื่อว่าตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ หลังเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคมปรับสูงขึ้นเกินกว่าคาด อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าตลาดจะปรับตัวดีขึ้นหลังการประชุม FOMC ในวันที่ 21 กันยายน โดยเฉพาะหากการคาดการณ์เศรษฐกิจ และ Dot Plot ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ช้าลง นอกจากนั้นตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการที่ยังขยายตัวได้ ก็เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดเช่นกัน ด้านผลตอบแทนพันธบัตรจะยังคงปรับเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าสู่สมดุลใหม่ โดยความชัดเจนจะมีมากขึ้นหลังการประชุม FOMC ซึ่งผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้นอาจกดดันภาพเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะถัดไป

 

โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 3% (EM -1.2%, DM -3.4%) โดยได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่สูงกว่าที่คาด ทำให้ตลาดปรับความคาดหวังว่าธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับความเสี่ยงด้านวิกฤตพลังงานในยุโรปเด่นชัดมากขึ้น ส่วนฝั่ง EM มีแรงหนุนจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในจีน

 

หุ้นกลุ่ม Value (-2.4%) ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้นกลุ่ม Growth (-3.9%) หุ้นขนาดเล็ก (-2.5%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (-3.2%) หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง 5-6% หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้นเร็ว กลุ่มเชิงรับปรับตัวลดลงเช่นกันที่ 2-3% แต่กลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มเดียวที่ปรับตัวลดลง 0.4%

 

ในสัปดาห์หน้าติดตาม

  1. ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 75bps และธนาคารกลางอังกฤษที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50%
  2. OECD จะออกรายงานผลกระทบของวิกฤตทั่วโลก
  3. ตัวเลขเงินเฟ้อญี่ปุ่นที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 2.9%YoY
  4. ตัวเลข PMI ของยุโรปที่คาดว่าจะหดตัวมากขึ้นกว่าเดือนก่อน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สวิตเซอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ และไต้หวัน และ
  5. ผลประกอบการของ Accenture, Costco Wholesale, FedEx, General Mills

 

​​กลยุทธ์ลงทุนหุ้นไทย

​​มองตลาดหุ้นยังมี Upside จำกัด เนื่องจากอยู่ระหว่างจับตาการส่งสัญญาณทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ Fed ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนช่วงสั้นจึงแนะนำ Selective ในหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว และ/หรือหากรับความเสี่ยงได้อาจเก็งกำไรจากผลการประชุมของ Fed ที่คาดจะเกิดขึ้นในวันที่ 21-22 กันยายนนี้ ดังนี้

 

1. หุ้นที่คาดได้ Sentiment บวกจากสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งเป็นความเสี่ยงตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน-ตุลาคม เลือก HMPRO, GLOBAL, CPALL, BJC และ TASCO

 

2. สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้และต้องการเก็งกำไรนโยบายการเงินของ Fed ในวันที่ 21 กันยายนนี้ แบ่งเป็น

  • กรณีคาด Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง 100bps และ Dot Dlot ปี 2023 คงที่หรือปรับเพิ่มขึ้น แนะนำหุ้น Defensive เลือก ADVANC, BDMS และ BLA
  • กรณีคาด Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยตามตลาดคาด 75bps และ/หรือ Dot Plot ปี 2023 ปรับตัวลดลง แนะนำหุ้น Cyclical เลือก KTB, PTT และ KCE

 

ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้

  1. หุ้นเดินเรือ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามา และอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง
  2. หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่เทศกาลกินเจ เช่น CPF และ GFPT ซึ่งปกติราคาหุ้นมักปรับตัวลงในช่วงดังกล่าว

 

ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

  1. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงวันที่ 20-21 กันยายน ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกอย่างน้อย 75bps
  2. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 22 กันยายน
  3. สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: LH - แนวโน้มกำไรดี จากผ่อนปรน LTV

สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ LH เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

 

1. เป็นผู้นำธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับแนวหน้าของไทย ซึ่งโครงสร้างธุรกิจมีการกระจายตัวของรายได้ที่ดี ทั้งอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย, อสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า (โรงแรมและศูนย์การค้า) และยังมีการลงทุนในธุรกิจอื่นผ่านบริษัทร่วมอื่นๆ อย่าง HMPRO, LHFG, QH และ LHPF

 

2. 3Q22 คาดกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น YoY จากฐานต่ำ อีกทั้งมีการฟื้นตัวของธุรกิจให้เช่าและการรับรู้รายได้จาก Backlog โดยปัจจุบันมี Backlog ในมือมูลค่า 4.5 พันล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ใน 2H22 ขณะที่กำไรพิเศษจากการขายอพาร์ตเมนต์ ‘Parc’ ในสหรัฐฯ คาดจะขายและรับรู้ภายในปีนี้

 

3. ปี 2022 คาดได้ประโยชน์มากสุดจากการผ่อนคลายเพดาน LTV ของ ธปท. เพราะมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่แนวราบทั้งหมดในทุกกลุ่ม โดยลูกค้า 60% ของบริษัทอยู่ในกลุ่มที่ซื้อบ้านราคา 3-15 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มได้อานิสงส์บวกมากสุดจากการผ่อนปรน LTV หนุนให้ปี 2022 คาดมีกำไรสุทธิ 8 พันล้านบาท เติบโต 15.7%YoY (ยังไม่รวมกำไรพิเศษขายสินทรัพย์ในสหรัฐฯ)

 

4. มีจุดเด่นด้านศักยภาพในการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยช่วงที่ผ่านมามีการจ่ายปันผลติดต่อกันมากว่า 20 ปีนับตั้งแต่ปี 2002 ด้วย Div. Yield เฉลี่ยราวปีละ 6% 

  • เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่ 11.10 บาท (อิง PER 15.7x) และคาดจ่ายเงินปันผลจากกำไรช่วง 2H22 อีกหุ้นละ 0.32 บาท คิดเป็น Div. Yield ราว 3.6%

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

 

สภาพคล่อง/เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 3

InnovestX มีมุมมอง Neutral ต่อการถือครองเงินสดและ/หรือสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยสถานการณ์โควิดใน DM หลายประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง และผลประกอบการ บจ. ใน DM ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด แต่สินทรัพย์เสี่ยงยังคงเผชิญปัจจัยกดดัน จากการที่ธนาคารกลางประเทศหลัก Fed, BoE และ ECB มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่สูง และจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อพันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ โดยมอง UST Yield ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ ตามการปรับคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับทิศทางและขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปีหน้า ทั้งนี้ เราคาดว่าที่ประชุม Fed จะมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 20-21 กันยายน อย่างไรก็ดี ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีอยู่ (ความน่าจะเป็นที่จะเกิด Recession ในสหรัฐฯ อีก 12 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ที่ 50%) จะทำให้การเพิ่มขึ้นของ 10Y UST Yield เป็นไปอย่างจำกัด

 

กองทุนแนะนำ

 

innovestX

 

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้น พลัส ​​(ชนิดหน่วยลงทุน B) (SCBSFFPLUS-B)

  • กองทุนลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงิน และตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยจะลงทุนในต่างประเทศไม่เกิน 50% และป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่า 90% โดยกองทุนเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความผันผวนต่ำ เหมาะกับการพักเงินลงทุนในระยะสั้น

 

กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Cross Asset Investment Opportunity (ชนิดสะสมมูลค่า) (SCBCIO(A))

  • กองทุนผสมแบบ Fund of Funds ที่ลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ทั้งไทยและต่างประเทศ สามารถปรับสัดส่วนการลงทุนได้ยืดหยุ่น โดยเพิ่มลดสัดส่วนได้ตั้งแต่ 0-100% ตามสภาวะตลาด โดยกองทุนนี้เป็น ONE-Stop Fund คัดสรรกองทุนรวมทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมตามสภาวะตลาด

 

 

หุ้นกู้ต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 3

InnovestX คาดว่า Credit Spread ของ US Investment Grade (IG) มีแนวโน้มทรงตัว หลังจากกว้างขึ้นไปมากเมื่อเทียบกับตอนต้นปี อย่างไรก็ตาม HY Spread มีแนวโน้มกว้างขึ้นต่อ ตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจที่มากขึ้น ประกอบกับ UST Yield ที่ยังเพิ่มขึ้นได้ต่อ จะเป็นตัวกดดันอัตราผลตอบแทนรวมของ US Credit ในขณะที่เรายังแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนตราสารหนี้เอเชีย High Yield ที่มีหุ้นกู้จีน ตามความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ผู้พัฒนาอสังหาที่ยังคงน่ากังวล รวมทั้งให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับรัสเซีย

 

 

หุ้นกู้ไทย

ความน่าสนใจระดับ 3

เรามีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นกู้ไทย โดย Gov’t Bond Yield ของไทยที่ค่อนข้างทรงตัว โดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 2 ปี ขณะที่อายุ 5-10 ปี ปรับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตลาดสหรัฐฯ และโอกาสที่จะเร่งตัวแรงยังต่ำ เนื่องจาก 1. เงินเฟ้อที่คาดว่าเข้าสู่ระดับสูงสุดในเดือนสิงหาคม 2. การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และ 3. อุปสงค์ในตลาดพันธบัตรไทยที่ยังมีจากต่างชาติ AMC และบริษัทประกัน ขณะที่ Corporate Spread ค่อนข้างทรงตัวในทุกอายุและทุก Grade โดยเฉพาะในกลุ่ม AAA และ AA ที่ทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียงกับก่อนโควิด ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นกู้ความเสี่ยงต่ำในกลุ่ม Investment Grade แต่หลีกเลี่ยงหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง

 

 

ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

InnovestX มีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว โดยตลาดฯ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัว และความกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ดี การเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. DM ที่ยังขยายตัวได้ดี จะสามารถช่วยประคองให้ตลาด DM มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวขึ้นบางส่วน

 

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 4

InnovestX มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดฯ ยังคงมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed แต่เรามองว่าตลาดฯ ได้แรงหนุนจาก Valuation ตลาดฯ ที่ลดลง จากการซื้อหุ้นคืน และการจ่ายเงินปันผลของ บจ. สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากผลประกอบการใน 3Q2022 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าที่คาด จากการที่ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ มีสัดส่วนกลุ่ม Growth ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาด DM อื่นๆ จึงทำให้ได้อานิสงส์จากแรงซื้อนักลงทุน หากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ Sentiment ของนักลงทุนที่ตื่นตระหนกมากเกินไปอาจเป็นผลทำให้มีซื้อกลับได้ในช่วงสั้น

 

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

แม้ว่าตลาดยุโรปจะเริ่มปรับตัวลงมาและมี Valuation ที่ถูก แต่ InnovestX มองว่าปัจจัยที่กดดันยังไม่ถูกสะท้อนผ่านราคาที่ปรับตัวลงมาทั้งหมด โดยปัจจัยที่ยังกดดัน ได้แก่ วิกฤตพลังงานในยุโรปที่ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อทั้งภาคการผลิตและการบริโภค ในขณะที่เราเริ่มเห็นการส่งผลเงินเฟ้อไปยังผู้บริโภคมากขึ้น สะท้อนจาก CPI ที่เร่งตัวขึ้นในเดือนสิงหาคม ส่งผลให้นโยบายทางการเงินของ ECB มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นกว่าที่คาดไว้ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจยุโรปที่เริ่มอ่อนแอ

 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

InnovestX ยังคงมีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น จากการที่ยังขาดปัจจัยสนับหนุนใหม่ เรามองว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออก ในขณะที่ค่าเงินเยนที่อ่อนค่านั้นเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศจากราคาสินค้านำเข้าที่มีราคาแพงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นตาม ในขณะที่การแก้ไขปัญหาค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงนั้นถูกจำกัดด้วยนโยบายที่ยังคงผ่อนคลายของทาง BOJ

 

อย่างไรก็ดี Valuation ที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำนั้น ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนอยู่หากมีการปรับตัวลงมา ประกอบกับการเปิดประเทศในช่วงเดือนกันยายน เป็นปัจจัยช่วยหนุน Sentiment ในกลุ่ม Re-Opening

 

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

InnovestX มีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share จาก Valuation ดัชนีฯ ที่ไม่แพงเมื่อเทียบตลาดหุ้นโลก การคุมด้านกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่น่าจะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว โดยล่าสุดทางการจีนได้อนุมัติเกมใหม่อีก 73 เกม และความเสี่ยง Delisting ของหุ้นจีน ADRs ที่ทยอยลดลง อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องการกีดกันการค้า การแข่งขันด้านเทคโนโลยี และการคว่ำบาตรทางอ้อมจากสหรัฐฯ ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับรัสเซียและไต้หวัน ความกังวลบนภาคอสังหาที่ยังมีอยู่ และการแพร่ระบาดรอบใหม่ จะยังกดดัน Upside ของดัชนีฯ

 

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 4

มุมมองต่อตลาดหุ้นจีน A-Share เป็น Slightly Positive โดยดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มจะต้องเร่งออกพันธบัตรพิเศษจากโควตาที่ยังไม่ได้ใช้ก่อนหน้า แล้วใช้จ่ายให้หมดภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งการผ่อนคลายทางการเงินของ PBOC ที่ยังดำเนินต่อ แม้ว่าแนวโน้มการคงนโยบาย Zero-COVID โดยรวมของทางการจีนที่อาจยาวนานขึ้น หลังจีนเผชิญการระบาดอีกรอบในเมืองหลักที่สำคัญ ตลอดจนปัญหาภาคอสังหาจีนที่ยังน่ากังวล อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนปีนี้ให้ห่างไกลจากเป้า GDP Growth ที่ 5.5% ก็ตาม

 

กองทุนแนะนำ

 

innovestX

 

SCB China A Shares Active Equity

  • กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ Schroder International Selection Fund China A กองทุนหลักมีนโยบายลงทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของทรัพย์สินกองทุน ในตราสารทุนและตราสารที่เกี่ยวข้องกับตราสารทุนของบริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนและซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ประเทศจีน

 

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

InnovestX มีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นไทย ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลักจาก

  1. การเปิดเมือง ซึ่งหนุนการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และ
  2. Foreign Fund Flow ที่กลับเข้ามาลงทุนในตลาด EM-ASEAN

 

โดยไทยเองมีแนวโน้มที่ดุลบัญชีเดินสะพัดจะฟื้นตัวตามรายได้ท่องเที่ยว ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่กำลังลดลง (โดยโอกาสที่เงินเฟ้อจะ Peak ในเดือนสิงหาคมมีสูงขึ้น หลังภาครัฐอนุมัติมาตรการลดค่าไฟฟ้าและต่ออายุลดภาษีสรรพาสามิตดีเซล) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหนุนให้ต่างชาติอยากเข้ามาในตลาดไทย สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตา ได้แก่ แนวโน้มการส่งออกที่อาจชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และความคืบหน้าประเด็นทางการเมืองภายในประเทศ

 

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 4

มุมมองต่อตลาดหุ้นเวียดนามเป็น Slightly Positive โดยตลาดฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ยังมีโมเมนตัมการฟื้นตัวได้ดี (โดยล่าสุด ธนาคารกลางเวียดนามได้เพิ่มโควตาเครดิตให้กับบางธนาคาร) จากผลประกอบการ บจ. เวียดนาม ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อจาก Sentiment ของนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศที่ดีขึ้น จาก Valuation ตลาดฯ ที่ไม่แพง จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเวียดนามที่เริ่มลดลง รวมทั้งจากรายละเอียดของกฎระเบียบบนตลาดหุ้นกู้ในร่างล่าสุดที่ไม่ได้เข้มงวดเท่ากับที่ตลาดคาดไว้

 

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 4

มุมมองต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็น Slightly Positive โดยมีปัจจัยบวกจาก

  1. เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการบริโภคและ FDI ในประเทศ
  2. Earning ครึ่งแรกของปีที่เติบโตดี หนุนโอกาสที่ 2022-2023 EPS จะถูกปรับประมาณการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร กลุ่ม Resource & Utility และ Consumer Discretionary
  3. Valuation อยู่ในระดับที่น่าลงทุน และ
  4. Foreign Fund Flow ที่เข้ามาในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับขึ้น 30% หลังการลดอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงของทางการ ซึ่งอาจกระทบต่อเงินเฟ้อให้เร่งตัว กดดันเส้นทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (มีโอกาสสูงที่ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปี 2022 จะถูกปรับขึ้นเป็น 4.50% จากเดิมที่เราคาดว่าจะอยู่ที่ 4.25%) รวมถึงกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือน

 

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

InnovestX มีมุมมอง Neutral ต่อทองคำ โดยในระยะสั้นถึงกลาง ราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก

  1. การเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย
  2. ความต้องการถือครองจากธนาคารกลางเพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น
  3. ความต้องการถือครองในฐานะเครื่องประดับที่ฟื้นตัวตาม Wealth Effect ในเอเชีย

 

 

น้ำมัน 

ความน่าสนใจระดับ 4

InnovestX มีมุมมอง Slightly Positive ต่อน้ำมัน ราคาน้ำมันมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว และอุปสงค์เพื่อใช้แทนก๊าซธรรมชาติในยุโรป ขณะที่อุปทานมีแนวโน้มที่จะลดลง จากผลของการคว่ำบาตรรัสเซียจาก EU ในขณะที่กลุ่ม OPEC เริ่มเข้ามาคุมราคาน้ำมันมากขึ้นผ่านการลดกำลังการผลิตลง รวมถึงการหยุดปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในขณะที่การเจรจารข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านยังคงหาข้อสรุปไม่ได้

 

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

มุมมองต่อ REITs ประเทศพัฒนาแล้วเป็น Neutral โดย Global REITs Index ปรับตัวลดลงตามการเร่งตัวขึ้นของ Gov’t Bond Yield ระยะยาวของสหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรป โดย Total Return of REITs ในช่วง 1 เดือนของสหรัฐฯ และ DM ในยุโรป ปรับตัวลดลงอยู่ในช่วง 5-13% แม้ว่าตลาดจะได้ปัจจัยหนุนจากการเปิดเมืองและอุปสงค์ที่อยู่อาศัยให้เช่าของสหรัฐฯ ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ตลาดญี่ปุ่นกลับยังขยายตัวได้ในหลาย Sectors รวมถึงกลุ่มโรงแรมที่กำลังฟื้นตัวตามการผ่อนคลายเกณฑ์การรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

InnovestX มีมุมมอง Neutral ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยสิงคโปร์เป็นหนึ่งในตลาดที่ได้ผลกระทบจาก Gov’t Bond Yield ระยะยาวที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกันกับ DM โดย Total Return of REITs ในช่วง 1 เดือน ปรับลดลง 3% ขณะที่ตลาดไทยยังขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งมาจาก Gov’t Bond Yield ระยะยาวของไทยที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ท่ามกลางแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว โดยกลุ่มโรงแรม ค้าปลีก นิคมอุตสาหกรรมและคลังสินค้าเป็น 3 Sectors ที่ขยายตัวหนุน SETPREITs อย่างไรก็ตาม ยังต้องระมัดระวัง REITs ในกลุ่มที่มีหนี้สูงและหนี้ส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว อาจถูกกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 19 ก.ย. 2022

READ MORE



Latest Stories