- สัญญาณจาก Jackson Hole ทำตลาดทั่วโลกเกิดภาวะ Risk Off อย่างรุนแรง แม้ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนจะเริ่มชะลอตัว ส่งผลให้ Bond Yield ทั้งระยะสั้นและระยะยาวดีดตัวขึ้น
- เงินเฟ้อยูโรโซนยังทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้ภาวะ Stagflation ในยุโรปมีมากขึ้น คาด EU อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในสิ้นปีนี้
- สัปดาห์นี้ต้องติดตามดัชนี ISM ของสหรัฐฯ และ Beige Book ว่าจะชะลอลงเช่นเดียวกับของ PMI หรือไม่ รวมถึงติดตามการประชุมนโยบายการเงินของ ECB ว่าจะมีการขึ้น 0.75% หรือไม่
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดปรับตัวลดลงหลังสุนทรพจน์ Jackson Hole ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อต่อเนื่อง แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) จะเริ่มชะลอลงแล้วก็ตาม
ด้านเงินเฟ้อยูโรโซนยังคงสูงเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้ความเสี่ยงภาวะ Stagflation ในยุโรปที่มากขึ้น ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคส่งออก ทำให้เริ่มมีแนวคิดว่าจะผ่อนคลายนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) มองว่า ตลาดส่งสัญญาณ Risk Off รุนแรงขึ้นหลังสุนทรพจน์ของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ณ เมืองแจ็กสันโฮล ที่ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อกดเงินเฟ้อ แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจ ‘เจ็บปวด’ (Pain) แต่ก็ต้องทำ ซึ่งการส่งสัญญาณดังกล่าว ประกอบกับการเร่งทำ QT ที่รุนแรงขึ้น 2 เท่า ไปสู่เดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้นรุนแรงทั้งระยะสั้นและระยะยาว และทำให้โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ขึ้นสูงถึง 72%
SCBS มองว่า Fed ส่งสัญญาณดังกล่าวเพื่อจะลดความคาดหวังของตลาดว่าจะลดดอกเบี้ยลงในปีหน้า โดยกล่าวว่าจะไม่ยอมลดดอกเบี้ยจนกว่าจะเห็นความคาดหวังเงินเฟ้อลดลง แม้ว่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าระยะต่อไปเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงแรงขึ้น พร้อมๆ กับความคาดหวังเงินเฟ้อที่ลดลง (เห็นได้จากตัวเลขตลาดแรงงาน, ภาคการผลิต, ภาคบริการ และการบริโภคที่ทรงตัว-เริ่มชะลอลงบ้างแล้ว) ซึ่งเรามองว่าจะเห็นสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวชัดเจนอีกประมาณ 3 ไตรมาสจากปัจจุบัน ทำให้ Fed จะต้องเริ่มลดดอกเบี้ย-ยุติ QT
ภาวะ Inverted Yield Curve รุนแรงขึ้น หลัง Fed เข้มนโยบายการเงิน
ทั้งนี้ ด้วยการส่งสัญญาณ More Hawkish เช่นนี้จะทำให้ภาวะอัตราผลการกลับหัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Inverted Yield Curve หรือ IYC) รุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจที่จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไปในฟากยุโรป
SCBS มองว่าความเสี่ยง Stagflation รุนแรงขึ้น ทั้งจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูง (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดท่อก๊าซของรัสเซียไปยังยุโรป) และจากนโยบายการเงินที่ต้องตึงตัวขึ้นอีกมาก โดยเรามองว่ายุโรปอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยปลายปีนี้ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า
อย่างไรก็ตาม เงินยูโรที่อ่อนจะสามารถช่วยภาคการส่งออกได้บ้าง ในฝั่งของไทยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวขึ้นมีส่วนทำให้ทางการเริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการคลังเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ อาจไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรุนแรง เช่น การลดภาษีได้มากนักท่ามกลางการสนับสนุนราคาน้ำมันของทางการ (ผ่านการลดภาษีสรรพสามิตและการสนับสนุนกองทุนน้ำมัน) ขณะที่นโยบายการเงินมีความเป็นไปได้ที่จะยังสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านการไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน
สัปดาห์นี้ต้องติดตามดัชนี ISM ของสหรัฐฯ และ Beige Book ว่าจะชะลอเช่นเดียวกับของ PMI หรือไม่ รวมถึงติดตามการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะมีการขึ้น 0.75% หรือไม่
ความเสี่ยงเงินเฟ้อในระดับสูงเริ่มลดลง
SCBS มองว่าความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงเริ่มลดลง หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีสัญญาณชะลอตัว ล่าสุดตลาดบ้านในสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลงบ้าง แต่ตลาดแรงงานยังคงร้อนแรง
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นตลาดการเงินยังคงกังวลว่า Fed จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องเพื่อคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้ตลาดการเงินในเดือนกันยายนยังมีแนวโน้มผันผวนจนกว่าจะทราบผลการประชุม FOMC ด้านความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปยังคงต้องระมัดระวังต่อไป เนื่องจากปัญหาขาดแคลนก๊าซยังไม่คลี่คลาย ส่วนประเทศจีนยังคงจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นระยะเพื่อจัดการโควิด ส่งผลให้เศรษฐกิจใน 3Q22 มีแนวโน้มชะลอตัว ดังนั้นเราแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังสำหรับการลงทุนในระยะสั้น โดยแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีเป็นหลัก
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 3% แบ่งเป็น ตลาดเกิดใหม่ (EM) ลดลง 3% และตลาดพัฒนาแล้ว (DM) ลดลง 3% โดยตลาดได้รับแรงกดดันท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ และยุโรป ที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวลง
ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าและจีนมีการล็อกดาวน์ในหลายเมืองหลังจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นเกิน 10,000 ราย รวมถึงการตรวจสอบบริษัทจีนที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ และการควบคุมการส่งออก Chip AI ไปยังจีน
ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การประกาศตัวของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
- การขึ้นดอกเบี้ยของ ECB ที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75%
- การประชุมกลุ่ม OPEC ที่ส่งสัญญาณการลดการผลิต
- Apple เปิดตัว iPhone 14
- ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7.9%YoY
- ธนาคารกลางออสเตรเลียจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ส่วนแคนาดาจะขึ้น 0.75%
- ถ้อยแถลงของประธาน Fed
- ผลประกอบการ Kroger, NIO, Sun Hung Kai Properties
การเคลื่อนไหวของเงินทุนเคลื่อนย้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา
- กระแสเงินไหลเข้าพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งสะท้อนภาพ Risk Off ของตลาด
- กระแสเงินไหลออกจากหุ้นขนาดเล็กและ High Yield ซึ่งสะท้อนการลดความเสี่ยงของนักลงทุน
- เห็นภาพการเปลี่ยนกลุ่มเล่นจาก Growth เป็น Value ทั้งนี้สืบเนื่องจากความผันผวนและ Yield ที่เพิ่มสูงขึ้น
- หุ้นกลุ่มการเงินและพลังงานมีแรงขายจากภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง
- มีแรงขายในตลาดยุโรปอย่างต่อเนื่องจากความเสี่ยงด้านพลังงาน รวมถึงตลาดหุ้นจีนจากความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
- เงินยังไหลออกจากโลหะมีค่าเงินดอลลาร์ที่ยังแข็งค่ากดดันต่อเนื่อง
ในช่วงเวลานี้ท่าทีของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ดูเหมือนจะไม่ค่อยดี หลังสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้น, แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในเกาหลีใต้และไต้หวัน รวมไปถึงการล็อกดาวน์ในจีนที่ยังคงดำเนินต่อไป และดูเหมือนว่าล่าสุดจะมีประเด็นการควบคุมการส่งออกชิป AI ในสหรัฐฯ มาเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเรามองว่างบใน 2Q22 ที่ออกมาดีไม่ได้สะท้อนว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะดีตาม หลังยังคงมีแรงกดดันจากหลายปัจจัย
ประเด็นกดดันกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์
การสะสมของสินค้าคงคลัง ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของรายได้ที่เร็วขึ้น ในขณะเดียวกันจำนวนบริษัทที่เห็นการเติบโตของสินค้าคงคลังเกินการขยายตัวของรายได้ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน
การล็อกดาวน์ในจีนที่ยังคงดำเนินต่อ โดยล่าสุดทางการจีนได้ออกมาตรการคุมเข้มในเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นเมืองที่มีโรงงานการผลิตของหลายบริษัท อาจส่งผลให้เกิด Ship Shortage ได้
เศรษฐกิจชะลอตัว โดยการส่งออกช่วงต้นของเกาหลีใต้แทบจะไม่เพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมด้วยการขายชิปและลดลงราว 7.5% ขณะที่ PMI ในไต้หวันแตะจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2020 ประกอบกับหลายบริษัทส่งสัญญาณชะลอการผลิต PC และ Smartphone สะท้อน Demand ที่ลดลง
ด้านกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ถูกรัฐควบคุมการส่งออกชิ้นส่วนชิป AI ไปยังจีน โดยมี NVDA และ AMD เป็นสำคัญ ซึ่งคาดว่าจะกระทบกับรายได้ของบริษัท
เรามองว่าจากผลประกอบการในช่วง 2Q22 ที่ออกมาดี อาจไม่ได้สะท้อนแนวโน้มว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะออกมาดีตาม หลังประเด็นข้างต้นในหลายประเด็นยังคงกดดันกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตของกลุ่ม ทั้งนี้ เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงไปจนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน
กลยุทธ์ลงทุนหุ้นไทย
มุมมองการลงทุนยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง หลังมองช่วงสั้นตลาดมีความผันผวนสูง จึงต้องเลือกลงทุนมากขึ้น โดยแนะนำเน้นหุ้นปลอดภัยที่มีคุณภาพดี และ/หรือ มีปัจจัยบวกเฉพาะ
- หุ้น Defensive ที่ผลประกอบการอิงเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ เลือก BJC, HMPRO, ZEN, HTC และ ADVANC
- หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บาทอ่อน รวมทั้งได้ประโยชน์จากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีกำลังซื้อและเศรษฐกิจเติบโตดี เลือก CPF, GFPT และ BDMS
ช่วงสั้นยังแนะนำให้เลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้
- หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหา Supply Chain หลังจีนกลับมาล็อกดาวน์ปิดเมืองเฉิงตูอีกครั้ง ซึ่งเป็นฐานการผลิตกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ โดยมีโอกาสส่งผลกระทบเชิงลบต่อคำสั่งซื้อและการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตในไทย
- หุ้นกลุ่มเดินเรือเทกอง เช่น PSL และ TTA ซึ่งคาดว่าได้ Sentiment ลบจากการปรับตัวลงต่อเนื่องของดัชนี BDI
- หุ้นท่องเที่ยว หลังมองราคาหุ้นปรับขึ้นมาแรงแล้ว ขณะที่ล่าสุดอาจได้รับ Sentiment ลบจากจีนกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: GFPT - ตีปีก...รับราคาไก่และดีมานด์ที่สูง
สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำบริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT เนื่องจาก เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ประกอบธุรกิจไก่ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงไก่ ชำแหละและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ และผลิตอาหารแปรรูป โดยจัดเป็นผู้ส่งออกไก่ไทยอันดับ 3 ซึ่งอิงส่วนแบ่งตลาด 12% และผู้ผลิตไก่ไทยอันดับ 8 ซึ่งอิงส่วนแบ่งตลาด 6%
- 3Q22 คาดว่าผลประกอบการฟื้นตัวมีกำไรจากที่เคยประสบภาวะขาดทุนใน 3Q21 แรงหนุนจากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น เพราะยอดขายส่งออกที่ให้อัตรากำไรขั้นต้นสูงจะเพิ่มขึ้น หลังเพิ่มอัตราใช้กำลังการผลิตของเครื่องจักรใหม่ และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับต้นทุนที่กว้างขึ้น
- ปี 2022 คาดว่ากำไรฟื้นตัวเด่น 1,083%YoY สู่ระดับ 1.08 พันล้านบาท จากฐานกำไรปีก่อนต่ำและราคาไก่ในประเทศที่ดีขึ้น อีกทั้งมีการเพิ่มอัตราใช้กำลังผลิตของเครื่องจักรใหม่ และสัดส่วนยอดขายที่ดีขึ้นจากการส่งออกไก่ปรุงสุกที่ให้มาร์จิ้นสูงเพิ่มขึ้น หนุนให้ยอดขายและมาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้น
- ราคาหุ้น GFPT มีโอกาสปรับขึ้นต่อได้ ปัจจัยกระตุ้นมาจากราคาไก่ที่ทรงตัวสูง ดีมานด์ในไทยและตลาดส่งออกแข็งแกร่ง โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยุโรป อีกทั้งช่วงสั้นคาดว่าจะได้อานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า และในอนาคตยังมี Upside Risk จากแผนขยายตลาดใหม่ อาทิ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DM) มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัว อย่างไรก็ดี การเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. DM ที่ยังขยายตัวได้ดี จะสามารถช่วยประคองให้ตลาด DM มีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัวขึ้นบางส่วน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่ายังมีแนวโน้มเผชิญความผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของ Fed แต่เรามองว่าตลาดยังได้แรงหนุนจาก Valuation ของตลาดที่กลับมาอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล จากการประกาศซื้อหุ้นคืนและจ่ายเงินปันผลของ บจ.สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจากการที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีสัดส่วนกลุ่ม Growth ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับตลาด DM อื่นๆ จึงทำให้ได้อานิสงส์จากแรงซื้อนักลงทุน หากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมีเพิ่มสูงขึ้น
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
ตลาดหุ้นยุโรปแม้ว่าจะเริ่มปรับตัวลงมาและมี Valuation ที่ถูก แต่เรามองว่ายังมีหลายปัจจัยเสี่ยงกดดันภาพการลงทุน โดยเฉพาะวิกฤตพลังงานในยุโรปจะเป็นปัจจัยกดดันหลัก ซึ่งยังไม่ได้ถูกสะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจ และจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของ บจ. โดยเราจะเห็นผลกระทบของวิกฤตพลังงานเป็นรูปธรรมมากขึ้นในช่วง 4Q2022 ขณะที่นโยบายทางการเงินของ ECB จะถูกกดดันจากภาพเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง เป็นข้อจำกัดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นหลังจากที่ Outperform ตลาดอื่นไปมากและยังขาดปัจจัยสนับหนุนใหม่ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะสั้นมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจะกลับมาเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออก แต่อย่างไรก็ดี Valuation ยังอยู่ในระดับที่ต่ำนั้นยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนอยู่หากมีการปรับตัวลงมา ประกอบกับการเปิดประเทศในช่วงเดือนกันยายน เป็นปัจจัยช่วยหนุน Sentiment ในกลุ่ม Re-Opening
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
เนื่องจาก Valuation ดัชนีฯ กลับมาไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก แนวโน้มการทยอยผ่อนคลายด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะ Online Gaming และความเสี่ยง Delisting ของบริษัทจีน ADRs ที่เริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเรื่องการกีดกันการค้าหรือการคว่ำบาตรทางอ้อมจากสหรัฐฯ ในประเด็นเกี่ยวเนื่องกับรัสเซียและไต้หวัน ประกอบกับความกังวลบนภาคอสังหาที่ยังคงมีอยู่ และกำไร บจ. ที่ยังมีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลงต่อ จะยังกดดัน Upside ของดัชนีฯ
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นจีน A-Share ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุน จากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มจะต้องเร่งนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรพิเศษจากโควตาที่ยังไม่ได้ใช้ก่อนหน้า ไปใช้ให้หมดภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ แม้ว่าแนวโน้มการคงนโยบาย Zero COVID โดยรวมของทางการที่อาจยาวนานขึ้น หลังจีนเผชิญการระบาดอีกรอบในเมืองหลัก อาทิ เซินจิ้น และปัญหาในภาคอสังหาจีนที่ยังน่ากังวล อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนปีนี้ให้ห่างไกลจากเป้าหมาย GDP Growth ที่ 5.5% ก็ตาม
กองทุนแนะนำ
SCB China A Shares Active Equity
- กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ Schroder International Selection Fund China A กองทุนหลักมีนโยบายลงทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของทรัพย์สินกองทุน ในตราสารทุนและตราสารที่เกี่ยวข้องกับตราสารทุนของบริษัทสัญชาติจีน ที่จดทะเบียนและซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ประเทศจีน
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจาก
- การเปิดเมือง ซึ่งหนุนการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
- Foreign Fund Flow ที่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังจากตลาดคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะดีขึ้นตามรายได้ท่องเที่ยว
โดยเราประเมินว่า หุ้นกลุ่ม Consumer Discretionary เช่น ธุรกิจ Retail, Modern-Trade และ Hotel จะเป็นกลุ่มหลักที่เติบโตสอดรับกับภาคท่องเที่ยว ขณะที่กลุ่มธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ มีโอกาสรับประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ ทิศทาง Fund Flow ต่างชาติ หลังเงินบาทอ่อนค่า, แนวโน้มการส่งออกที่อาจชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก, ปัญหา Supply Constraint ในจีนจากภัยธรรมชาติ และความขัดแย้งระหว่างจีน-สหรัฐฯ และไต้หวัน
กองทุนแนะนำ
SCB Dividend Stock Open End Fund
- กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
แม้ว่าปัจจัยเฉพาะตัวในประเทศที่ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มตลาดหุ้นกู้หรือตลาดอสังหาของทางการ อาจจำกัดการปรับเพิ่มขึ้นของตลาดฯ อย่างไรก็ดี เรามองว่าตลาดฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ยังมีโมเมนตัมการฟื้นตัวได้ดี (ตามการทยอยออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมและฐานที่ต่ำในช่วง 2H2021) จากผลประกอบการ บจ.เวียดนาม ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อจาก Sentiment ของนักลงทุนรายย่อยภายในประเทศที่ดีขึ้น และจาก Valuation ของตลาดฯ ที่อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดของเวียดนามที่เริ่มลดลง
กองทุนแนะนำ
SCB Vietnam Equity Fund
- กองทุน SCB Vietnam ลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศเวียดนาม และ/หรือ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องหรือได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นอินโดนีเซียมีปัจจัยสนับสนุน คือ
- เศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องอยู่ที่เฉลี่ย 5.0-5.5% ใน 2H2022-2023
- Earning มีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง
- Valuation อยู่ในระดับที่น่าลงทุน โดยเฉพาะกลุ่ม Large และ Mid Cap
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาคือ แผนการยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงในประเทศที่อาจส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อเร่งตัว กดดันให้ดอกเบี้ยนโยบายต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นในสิ้นปีนี้มากกว่าคาด
ทั้งนี้ หากพิจารณาราย Sector เราเน้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่ยังสูงและดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น ธนาคาร อาหาร และ Media เป็นต้น และกลุ่มที่ได้ประโยชน์ระยะกลางจากการเติบโตของชนชั้นกลางและธุรกิจ EV เช่น Consumer Discretionary, อสังหา และนิกเกิล เป็นต้น
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ในระยะสั้นถึงระยะกลางราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จนกว่า Fed จะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ราคามีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่มีความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย และความต้องการถือครองจากธนาคารกลาง เพื่อเป็นทุนสำรองที่เพิ่มขึ้น
น้ำมัน / อาหาร
ความน่าสนใจระดับ 4
ราคาน้ำมันมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้นตามความกังวลเรื่อง Recession และข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวและอุปสงค์เพื่อใช้แทนก๊าซธรรมชาติในยุโรป ขณะที่อุปทานมีแนวโน้มที่จะลดลงจากผลของการคว่ำบาตรรัสเซียจาก EU จากกลุ่ม OPEC ที่ยังมีแนวโน้มจะยังตรึงหรือปรับลดกำลังการผลิต และจากการหยุดปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?