- ความหวังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัว บ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์น่าจะลดลงได้บ้างในระยะต่อไป
- ขณะที่ในฝั่งของยุโรปและอังกฤษ เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง แต่ทั้งสองที่ Behind the Curve เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ
- ดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าลดลง เนื่องจาก Fed เริ่มคงระดับการตึงตัวดอกเบี้ย ขณะที่ยุโรปและอังกฤษเร่งตัวขึ้น
- ประเทศตลาดเกิดใหม่มีความเสี่ยงเศรษฐกิจมากขึ้น หลังจากมีหลายประเทศที่ประกาศพักชำระหนี้ และเจรจาขอเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ
- ประเทศไทย สถานะทางการเงินและการคลังที่ยังแข็งแกร่งจะยังช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาทได้ แต่อาจมีความผันผวนเพิ่มขึ้น หากความผันผวนทางการเงินของประเทศเพื่อนบ้านลุกลาม
กรณีเศรษฐกิจ ประเทศเกิดใหม่ ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.6% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) +3% และตลาดพัฒนาแล้ว (DM) +3.7% โดยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของหลายกลุ่มอุตสาหกรรมออกมาดีกว่าที่คาด และแนวโน้มไตรมาสที่ 3 ไม่ได้มีแรงกดดันมากนัก ประกอบกับปัจจัยภายนอกเริ่มนิ่งมากขึ้นและสะท้อนราคาไปพอสมควรแล้ว แม้ว่าจะมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยและโควิดในจีน
หุ้นกลุ่ม Growth (+5%) ให้ผลตอบแทนมากกว่ากว่าหุ้นกลุ่ม Value (+2.3%), หุ้นขนาดเล็ก (+4.9%) ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (+3.5%), หุ้นกลุ่มเชิงวัฏจักรให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกลุ่มเชิงรับที่ปรับตัวในกรอบแคบ, หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีฟื้นตัว 5.6% ตามผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาด และกลุ่มพลังงานปรับขึ้น 4% ตามราคาน้ำมันที่ฟื้นตัว
ปัจจัยที่ทำให้การลงทุนในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นได้ มาจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัวแต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เช่นเดียวกับความคาดหวังเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่เริ่มชะลอตัว บ่งชี้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์น่าจะลดลงได้บ้างในระยะต่อไป Fed จึงน่าจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานยังคงผันผวนจะยังเป็นตัวกดดันราคาพลังงานในช่วงต่อไป
ขณะที่ในฝั่งของยุโรปและอังกฤษ เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง แต่ทั้งสองที่ Behind the Curve เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ทำให้ต้องส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรง การที่ Fed เริ่มคงระดับการตึงตัวดอกเบี้ย ขณะที่ยุโรปและอังกฤษเร่งตัวขึ้น จะทำให้ลดการแข็งค่าของดอลลาร์ขึ้นได้บ้าง
ในฝั่งของจีนแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ต้องจับตากระแสการประท้วงและไม่จ่ายเงินค่าผ่อนที่พักอาศัยที่ลุกลามมากขึ้น แต่การที่ทางการเริ่มสั่งให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้พัฒนาโครงการ ประกอบกับมาตรการการคลังที่สนับสนุนเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะยังคงขยายตัวได้
สุดท้าย SCBS มองว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มมีมากขึ้น โดยปัจจุบันเริ่มมีหลายประเทศที่ประกาศพักชำระหนี้ และ/หรือต้องเจรจาขอเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทย สถานะทางการเงินและการคลังของไทยที่ยังแข็งแกร่งจะยังช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยได้และไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป แต่ต้องจับตาความผันผวนทางการเงินของประเทศเพื่อนบ้านที่อาจลุกลามทำให้ค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้น (หรือที่เรียกว่า Contagion Effect) ได้
ตลาดเงินไตรมาส 3 ยังเผชิญแรงกดดันจาก Fed
SCBS ประเมินว่า ตลาดการเงินในไตรมาสที่ 3/22 จะเผชิญแรงกดดันเพิ่มขึ้น หลังจาก Fed ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินตึงตัวเต็มที่เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้ได้ ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอย (Recession) ในอนาคตมีเพิ่มขึ้นจากเดิม สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ตลาดพันธบัตรระยะยาวดูน่าสนใจขึ้นในประเด็นของการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่พันธบัตรระยะสั้นจะผันผวนตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ด้านสินทรัพย์เสี่ยง ได้แก่ ตลาดหุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ ยังคงมีความผันผวนสูงต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังแนะนำให้ติดตามความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น หลังจากค่าเงินหลายประเทศอ่อนค่ามากเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นการลงทุนในสภาวะตลาดแบบนี้นักลงทุนยังคงต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพดีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือตราสารหนี้
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- การประชุมนโยบายการเงินของ Fed ในวันที่ 28 กรกฎาคม เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น
- การระบาดของไวรัสโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.4 ในหลายประเทศ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก
- การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา และคะแนนความนิยมของรัฐบาลหลังจบการอภิปราย ก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า
“ตลาดกำลังเปลี่ยนผ่านจากภาพเศรษฐกิจมหภาคที่ผันผวนและได้สะท้อนอยู่ในราคาไปในระดับหนึ่งแล้ว ไปสู่เศรษฐกิจจุลภาคที่สะท้อนผ่านผลประกอบการ ซึ่งหลายบริษัททำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ ส่วนที่ดีเป็นอุปสงค์ที่ยังดี รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้น แต่เผชิญกับต้นทุนที่มีแนวโน้มปรับขึ้น รวมถึงความเปราะบางของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อลดลง และการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น SCBS มองว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 จะช่วยให้สามารถเห็นแนวโน้มใน 2H22 ทั้งนี้ ยังมองว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 จะเป็นจุดต่ำที่สุดของปี ในขณะที่หุ้นอาจจะ Bottom ก่อนประกาศผลประกอบการ ความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ การเปลี่ยนท่าทีของ Fed หลังตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง และท่าทีของรัฐบาลจีนต่อการควบคุมโควิด หลังตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”
กลยุทธ์ลงทุนตลาดหุ้นไทย
มุมมองการลงทุนยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง หลังมองช่วงสั้นตลาดมีความผันผวนสูง จึงต้องเลือกลงทุนมากขึ้น SCBS มองว่าตลาดเข้าช่วงการประกาศผลประกอบการ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนในการปรับประมาณการและเก็งกำไรทิศทางของผลประกอบการเป็นสำคัญ
- หุ้นที่พรีวิวมีโอกาสออกมาดีและมีแนวโน้มปรับเพิ่มประมาณการกำไรหลังประกาศงบ 2Q22 เลือก BCP, AWC และ ERW
- หุ้นที่คาด 2Q22 ผลการดำเนินงานออกมาดีกว่าตลาด เลือก HMPRO และ SCGP
- หุ้นที่คาดผลดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน 1Q22 และกำไรมีโมเมนตัมดีขึ้นตั้งแต่ 2Q22 รวมทั้ง Valuation ไม่แพง เลือก IVL, KCE, DELTA และ MTC
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: IVL - กำไรเด่นสุดในกลุ่มปิโตรเคมี
สัปดาห์นี้ SCBS เลือกแนะนำ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- ผู้ผลิตชั้นนำในธุรกิจห่วงโซ่โพลีเอสเตอร์ของโลกที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน จากการมีระบบการผลิตที่ครบวงจร เริ่มตั้งแต่ธุรกิจผลิตวัตถุดิบ (PTA และ MEG) จนถึงธุรกิจผลิตภัณฑ์อนุพันธ์ (PET เส้นใยและเส้นด้าย)
- 2Q22 คาดกำไรสุทธิ 1.43 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 72%YoY และ 2%QoQ ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจ Combined PET และกลุ่มธุรกิจ IOD บวกกับรับรู้กำไรจากสินค้าคงเหลือราว 3.6 พันล้านบาท (ประกาศ 10 สิงหาคม)
- 2H22 คาดผลดำเนินงานยังอยู่ในทิศทางที่ดี โดยกำไรจาก Oxiteno จะช่วยหนุนให้กำไรของกลุ่มธุรกิจ IOD ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากความต้องการ MTBE จำนวนมากในเทศกาลขับรถท่องเที่ยวของสหรัฐฯ แล้ว ขณะที่ทั้งปี 2022 คาดกำไรเติบโต 49%YoY เด่นสุดในกลุ่มปิโตรเคมี
- ช่วง 1.5 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น IVL ปรับลง 12.2% แย่กว่า SET ที่ปรับลง -4.0% ซึ่งคาดสะท้อนส่วนต่างราคา PET ที่ลดลง รวมทั้งกังวลธุรกิจในยุโรปได้รับผลลบจากวิกฤตยูเครนมากเกินไปแล้ว ขณะที่ธุรกิจในยุโรปยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยนี้ และผลดำเนินงานยังคงแข็งแกร่ง
- ผลดำเนินงานที่แข็งแกร่งคาดจะช่วยกระตุ้นราคาหุ้นในช่วงสั้น ทั้งนี้ ประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 55 บาท (อิง PBV 1.7x) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 หุ้นละ 2.40 บาท คิดเป็น Div.Yield 5.3%
จับตา ‘กลุ่มเทคฯ’ ลดคาดการณ์กำไรปีนี้
บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งเผยผลประกอบการไตรมาส 2 แกร่งและดีกว่าตลาดคาด อย่างไรก็ดี หลายบริษัทกลับปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3 หรือ ตลอดปี 2022 ลง มากไปกว่านั้นยังมีแผนชะลอการจ้างงานในระยะถัดไป ประกอบกับปัจจัยหลายอย่าง ทำให้ SCBS มองเห็นการชะลอตัวของบริษัทในช่วงไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่จะฟื้นตัวในตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป แนะดู Market Timing เป็นสำคัญ
ขณะเดียวกันยังมีสัญญาณการชะลอตัวของกลุ่มบริษัท ประกอบด้วย
- การชะลอการจ้างงานของบริษัทเทคฯ ใหญ่ FAAMG และบริษัทในสหรัฐฯ อีกหลายแห่ง ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน
- การปรับลด Guidance ผลประกอบการในปี 2022 ลงของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ เช่น ASML ที่ปรับลดคาดการณ์ FY22 ลง อย่างไรก็ดีเพิ่มคาดการณ์ FY23 ขึ้น
- บริษัทเทคฯ Apple มีแผนปล่อยสินค้าใหม่ในช่วงไตรมาสที่ 4
- กระแสเงินในช่วงนี้ที่มีการไหลออกจากหุ้น Value เข้าไปยังหุ้นกลุ่ม Growth เพิ่ม
ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการชะลอตัวของบริษัทเทคฯ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ SCBS มองภาพตลาดมีความผันผวน และ Downside ไม่สูงมากนัก ขณะที่มีความเป็นไปได้ที่จะฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ไปจนถึงต้นปี 2023 เป็นต้นไป ด้านการฟื้นตัวของ Ship Shortage ก็จะเห็นผลได้ในช่วง Q4 เช่นกัน สะท้อนผ่านการปรับเพิ่ม Guidance FY23 ขึ้นของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์
จึงเชื่อว่าการลงทุนในระยะนี้ขึ้นอยู่กับ Market Timing เป็นสำคัญ โดยฝ่ายวิจัยชอบ ASML, TSMC และ NVIDIA อย่างไรก็ดี หลีกเลี่ยงกลุ่ม Social Media Platform ไปก่อน หลังมีรายได้จากโฆษณาลดลง จำนวนผู้ใช้งานชะลอตัว รวมไปถึงสภาวะทางการแข่งขันสูง อย่าง Snap, Netflix, Meta Platforms และ Disney
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางหลักที่ต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี การเปิดเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม DM และผลประกอบการ บจ. DM ใน 2Q22 ที่ยังมีแนวโน้มดีกว่าที่ตลาดคาด จะสามารถช่วยประคองให้ตลาดมีแนวโน้มทรงตัวถึงฟื้นตัว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed รวมทั้งเผชิญแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับโอกาสการเกิด Recession ในสหรัฐฯ ที่มากขึ้น และความเสี่ยงที่ในช่วงการรายงานงบฯ ใน 2Q22 บจ. สหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะให้มุมมอง Guidance ในอนาคตที่แย่ลง และเป็นผลทำให้ผลประกอบการ บจ. สหรัฐฯ ทั้งในปีนี้และปีหน้าจะถูกปรับประมาณการลง อย่างไรก็ดี การที่ บจ. สหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีงบดุลแข็งแกร่งและมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีกว่า บจ. หลายประเทศ และการที่ Valuation ของตลาดปรับลดลงค่อนข้างมากจากช่วงต้นปี จะถือเป็นสิ่งที่ช่วยจำกัดความเสี่ยงขาลงของตลาดในระยะถัดไป
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
SCBS มีมุมมอง Slightly Negative ต่อตลาดหุ้นยุโรป แม้ว่า Valuation จะถูก แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของ ECB เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ในขณะที่ต้องรับมือกับประเด็น Fragmentation ไปพร้อมกัน อีกทั้งเศรษฐกิจยุโรปยังเผชิญความเสี่ยงชะลอตัวหรือถดถอยในบางประเทศ จากความเสี่ยงที่จะขาดแคลนพลังงานในช่วง 2H2022 และมีโอกาสทำให้เกิด Spillover Effect ในภูมิภาค ในขณะที่เสถียรภาพทางการเมืองในหลายประเทศเริ่มถูกกดดันจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีจากสถานการณ์ซัพพลายเชนที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงภาคการบริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวได้หลังการเปิดประเทศในช่วง 2H2022 นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการที่ BOJ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย และรัฐบาลมีแนวโน้มออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากที่พรรคร่วมรัฐบาลได้คะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งสภาบน
อย่างไรก็ตาม ความกังวลจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เงินเยนที่อ่อนค่า Real Wage ที่ปรับลดลงจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และความกังวลที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Neutral ต่อหุ้นจีน H-Share เนื่องจาก Valuation ดัชนียังอยู่ในระดับที่ไม่แพง และจากการออกมาส่งสัญญาณผ่อนคลายด้านนโยบายที่ต่อเนื่องของทางการ อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีอยู่ ทั้งเรื่องการกีดกันการค้า ความเสี่ยง Delisting และหุ้นจีน ADRs การคว่ำบาตรทางอ้อมจากสหรัฐฯ
ในประเด็นที่เกี่ยวกับรัสเซีย ความกังวลบนภาคอสังหาริมทรัพย์และธนาคารของจีน สืบเนื่องจากประเด็นที่บรรดาผู้ซื้อบ้านหยุดจ่ายเงินจำนองที่ยังมีอยู่ ประกอบกับการที่ EPS บจ. โดยเฉพาะในกลุ่ม Platform ที่มีแนวโน้มชะลอลงทำจุดต่ำสุดช่วง 2Q22 จะยังกดดัน Upside ของดัชนี
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีแนวโน้มจะต้องเร่งนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรพิเศษไปใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้หมดภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ รวมทั้งมีความเป็นไปได้สูงที่ทางการจะนำโควตาในการออกพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลท้องถิ่นส่วนหนึ่งของปีหน้ามาออกในปีนี้ ตลอดจนการประชุม Politburo ในเดือนนี้ ที่คาดว่าทางการจะส่งสัญญาณผ่อนคลายด้านนโยบายต่อ แม้การที่จีนยังคงนโยบาย Zero-COVID อาจกดดัน Sentiment อยู่ก็ตาม
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อหุ้นไทย โดยตลาดยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ปัญหาชิปขาดแคลนที่ผ่อนคลายลง รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่าหนุนกลุ่มส่งออก ขณะที่การเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2022 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ดี
อย่างไรก็ตาม คาดว่า กนง. จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนสิงหาคม และปรับขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลลบต่อครัวเรือน กลุ่มเปราะบาง และบริษัทที่มีหนี้สูง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จากมาตรการด้านค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเผชิญสภาพคล่องที่ตึงตัวจากนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เช่น เมียนมา ลาว และกัมพูชา ดังนั้นต้องระมัดระวังการลงทุนในหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับตลาดดังกล่าว
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะตัวภายในประเทศในช่วงนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการคุมเข้มในตลาดการเงินและตลาดอสังหาของทางการ รวมทั้งความกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อเวียดนาม แต่ SCBS มองความกังวลดังกล่าวอาจจำกัด Upside ของตลาดหุ้นเวียดนามเพียงช่วงสั้นเท่านั้น ขณะที่ Downside ตลาดเริ่มมีจำกัดตาม Valuation ตลาดที่ปรับลดลงมามาก
ดังนั้นจึงมองเป็นจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นเวียดนาม โดยตลาดได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ดีตามแนวโน้มการออกทั้งมาตรการกระตุ้นและมาตรการเยียวยาจากรัฐ และตามผลประกอบการ บจ.ใน 2H2022 ที่ยังขยายตัวโดดเด่น
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นอินโดนีเซีย โดยตลาดได้รับแรงสนับสนุนจาก 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน 2. แรงกดดันจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นยังไม่รุนแรงเหมือนหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงท้ายของ 3Q22 3. แนวโน้มการเติบโตของ Earning ที่ยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารที่ได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของตลาดสินเชื่อที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่องท่ามกลาง Credit Cost ที่ต่ำ และ 4. Valuation อยู่ในระดับที่น่าลงทุน เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต และเทียบกับบางตลาดในภูมิภาค
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ในระยะสั้นนั้นราคาทองคำจะยังคงถูกกดดันจากทิศทางบอนด์ยีลด์ และค่าเงินสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งค่าขึ้นตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อย่างไรก็ดี ราคาทองคำที่ปรับลดลงมามากมีแนวโน้มที่จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย ความต้องจากธนาคารกลางเพื่อเป็นทุนสำรองในช่วงที่มีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และการฟื้นตัวของอุปสงค์ทองในฐานะเครื่องประดับจากจีน
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 4
SCBS มีมุมมอง Slightly Positive ต่อราคาน้ำมัน ภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัวนั้นจะคงอยู่จนถึงสิ้นปี 2022 ตามอุปทานน้ำมันที่ลดลงจากการคว่ำบาตรรัสเซีย รวมไปถึงกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC ที่ยังคงผลิตได้ต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ จากกำลังการผลิตสำรองที่มีอยู่จำกัด ในขณะที่อุปสงค์ของการเปิดเมืองยังคงฟื้นตัวได้ดี ประกอบกับคลังสินค้าน้ำมันและปิโตรเลียมยังอยู่ในระดับกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ที่ยังคงแข็งค่า และความกังวลต่อเศรษฐกิจถดถอย จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการลงทุนในน้ำมัน
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดยังคงจะได้รับปัจจัยบวกจากการทยอยเปิดเมืองของหลายประเทศ สนับสนุนความต้องการพื้นที่เช่าคลังสินค้าและพื้นที่ร้านค้าในช้อปปิ้งมอลล์ นอกจากนี้ ความต้องการในกลุ่มอพาร์ตเมนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลจากดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ลดทอนกำลังซื้อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตาจากความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งอาจบั่นทอนผลบวกต่อ REITs จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
SCBS มีมุมมอง Natural ต่อ REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ตามปัจจัยบวกจากการเปิดเมืองและการท่องเที่ยว รวมถึงการเติบโตของตลาด E-Commerce ซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่ม Hotel กลุ่ม Retail (โดยเฉพาะ Hypermarket) และกลุ่ม Warehouse โดยสองกลุ่มหลังคาดว่าเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นใน 2H2022
ขณะที่แรงกดดันจากบอนด์ยีลด์ระยะยาวส่งผลกระทบลดลงต่อตลาด REITs ในเอเชีย เนื่องจากบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงตามความกังวลเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ขณะที่ในเอเชียโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอยยังต่ำ ดังนั้น SCBS จึงเชื่อว่าตลาด REITs ในเอเชียยังมีโอกาสเติบโตได้ดีกว่าฝั่งตะวันตก