THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
เงินดิจิทัล
EXCLUSIVE CONTENT

เจาะลึกนโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ แบบ 360 องศา ระเบิดเวลา vs. ยากระตุ้นเศรษฐกิจ

... • 5 ก.ย. 2023

นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเปิดตัวนโยบาย ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ ระหว่างแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ก็ได้รับความสนใจและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งบวกและทางลบอย่างล้นหลาม

 

เนื่องจากขนาดของโครงการที่ใหญ่คิดเป็นกว่า 3% ของ GDP ประเทศไทย และคิดเป็นกว่า 16% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี นอกจากนี้ การหยิบยกประเด็นเรื่องเงินดิจิทัลและบล็อกเชนขึ้นมาก็ดูเป็นวิสัยทัศน์ที่ทันสมัยอย่างมาก

 

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากกลับออกมาเตือนถึงความท้าทายต่างๆ ตั้งแต่ความเสี่ยงต่อฐานะการคลังจนอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ ไปจนถึงเสถียรภาพทางราคาของประเทศ

 

ดังนั้น THE STANDARD WEALTH จึงได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ให้ประชาชนมีข้อมูลประกอบเพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ว่า นโยบายนี้มีข้อดีและความเสี่ยงอย่างไร รวมถึงข้อแนะนำต่อรัฐบาล หากต้องการผลักดันแนวคิดนี้ต่อไป

 

เปิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพื่อไทย ‘คาด’ ว่าจะเกิดขึ้น

 

  • กระตุ้นการบริโภค พร้อมส่งเสริมการลงทุนระดับครัวเรือน โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่มักอยู่กันเป็นครัวเรือน เช่น ถ้าครอบครัวมี 10 คน สมาชิกก็สามารถเอาเงินมารวมกัน เพื่อนำบางส่วนไปใช้ลงทุนซื้อปัจจัยในการผลิตต่างๆ มาเพื่อต่อยอดทำธุรกิจ ซึ่งก็จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของรายได้ในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นด้วยในหลากหลายพื้นที่

 

  • สร้างระบบการเงินรองรับกับเศรษฐกิจแห่งอนาคต เนื่องจากพรรคเพื่อไทยอ้างว่า ระบบที่ใช้ในปัจจุบันทำได้ไม่เพียงพอ และเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว เพื่อนำประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของฟินเทค

 

  • เพิ่มความสามารถในการเขียนกฎกำหนดเงื่อนไขการใช้งาน เพื่อสร้างมาตรการการคลังที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ถ้าต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง รัฐสามารถเปลี่ยนเงินกระตุ้นจากเดิม 10,000 บาท ให้เป็น 12,000 บาท เพื่อจูงใจให้คนไปท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ

 

  • กระจายรายได้ให้ทั่วถึงในทุกชุมชน แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ จากเงื่อนไขระยะทางการใช้ภายในรัศมี 4 กิโลเมตร และต้องใช้ภายใน 6 เดือน เป็นความตั้งใจของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงในทุกชุมชน ในทุกพื้นที่ และในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งผลลัพธ์จะต่างออกไปหากไม่กำหนดรัศมีและระยะเวลา เพราะเงินก็มีแนวโน้มจะมากระจุกตัวในเมืองใหญ่ และไม่เกิดการหมุนของกระแสเงินมาขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งขัดกับเจตจำนงของพรรคที่ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 

  • สร้างให้ไทยเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง พรรคเพื่อไทยยังระบุว่า นโยบายเงินดิจิทัลนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสร้างให้ไทยเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากในสายตานักลงทุนต่างชาติมองว่าประเทศไทยจะมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจะเป็นไปได้มากกว่าการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพียงอย่างเดียว “Digital Wallet เปรียบเสมือนเครื่องมือทำให้นโยบายอื่นๆ ที่ตามมาของเราเป็นไปได้ลื่นไหลมากขึ้น” เผ่าภูมิกล่าว

 

งบประมาณ ‘เงินดิจิทัล 10,000 บาท’ มาจากไหน

สำหรับโครงการ ‘Digital Wallet คนละ 10,000 บาท’ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการและโฆษกคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ประเมินว่า น่าจะใช้งบประมาณทั้งหมด 5.6 แสนล้านบาท โดยงบจะมาจากแหล่งเงิน 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

 

  1. รายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้เป็นจำนวน 2.7 แสนล้านบาท 
  2. รายได้ภาษีจากตัวโครงการ Digital Wallet เอง จากเกิดการหมุนเวียนของเงินตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศอย่างทั่วถึงตามเงื่อนไขที่กำหนดบริเวณใช้จ่ายเงินของเงินดิจิทัลประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
  3. การจัดสรรแบ่งงบประมาณจากส่วนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งพรรคเพื่อไทยประเมินไว้ว่าน่าจะเกลี่ยมาใช้ได้เพิ่มอีกประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม จากการชี้แจงของพรรคเพื่อไทยสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า ประมาณทั้งหมดล้วนมาจาก ‘อนาคต’ ทั้งหมด สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายว่า รัฐบาลจะเสกเงินมาจากไหนเพื่อดำเนินการในช่วงแรก แล้วเงินที่เสกขึ้นนี้จะสร้างความเสี่ยงใดต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่

อีกข้อสังเกตคือ ต้นทุนของโครงการนี้ ซึ่งอาจมีมูลค่าถึง 5.6 แสนล้านบาท นับเป็นจำนวนที่มหาศาลอย่างมาก โดยคิดเป็นกว่า 3% ของ GDP และคิดเป็นกว่า 16% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมด

 

วิเคราะห์ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเคยประเมินว่า นโยบายนี้จะสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจสูงสุดถึง 6 เท่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยก็เคยคาดว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ช่วยกระตุ้น GDP ได้ 2.5-3%

 

โดยอธิบายว่า “การอัดฉีดเม็ดเงินไปยังกลุ่มผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป น่าจะอยู่ที่ราว 50 ล้านคน หากใช้เงิน 1 หมื่นบาทต่อคน จะต้องใช้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งในหลักการการอัดฉีดเม็ดเงินดังกล่าวเข้าถึงมือประชาชนโดยตรงจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยหอการค้าฯ ประเมินว่า ทุกๆ 1-1.5 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้น GDP ได้ 1% ดังนั้นโครงการดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 2.5-3% เกิดเม็ดเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 3-4 รอบ”

 

สอดคล้องกับ ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า นโยบายเม็ดเงินที่จะใช้ประมาณ 5 แสนล้านบาท สามารถทำได้แน่นอน และยังสามารถหมุนเวียนเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คิดเป็น 1-1.5 ล้านล้านบาท โดยรัฐอาจจะออกแบบการใช้โดยแบ่งเป็นล็อต ล็อตละ 3,000 บาท โครงการนี้สามารถดัน GDP ไตรมาส 4 ฟื้นตัวยาวกระตุ้น GDP ปี 2567 โต 5-7% ได้ 

 

ธนวรรธน์ยังเชื่อว่านโยบายนี้สามารถทำได้ และมีเงินเพียงพอ เพราะใช้โครงสร้างงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท และใช้การขาดดุลงบประมาณมาช่วยเสริม แต่อาจจะต้องชะลอบางโครงการออกไปได้

 

“นโยบายเงินดิจิทัลจะต้องใช้เงิน 5 แสนล้าน แต่เลี่ยงไม่ได้เป็นนโยบายที่ออกจากนายกรัฐมนตรีเอง เนื่องจากขณะนี้สังคมกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องของการพูดว่าใครพูดอะไรแล้วต้องทำ” ธนวรรธน์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะใช้วงเงินงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น น่าจะกระตุ้น GDP ได้อย่างมากอยู่ที่ 0.7% เท่านั้น กระนั้นงบประมาณดังกล่าวกลับสร้างต้นทุนทางการคลังราว 2.9% ต่อ GDP เลยทีเดียว

 

สอดคล้องกับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งโพสต์ข้อความผ่าน Facebook โดยระบุว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดผลต่อเศรษฐกิจมหาศาลขนาด 5-6 เท่า จนสร้างรายได้ภาษีใหม่มาจนพอจ่ายต้นทุนโครงการ แทบเป็นไปไม่ได้เลย

 

ทำไมเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจสร้างตัวคูณไม่ถึง 1 เท่า?

พิพัฒน์อ้างถึงเหตุผลหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) ผู้รับเงินอาจไม่ได้ใช้เงินเพิ่มจากระดับปกติเท่าไร (2) เงินอาจรั่วไหลไปให้กับสินค้าต่างประเทศ (3) อาจมีการยืมอุปสงค์อนาคตมาใช้หรือการซื้อของตุน

 

  1. แม้ผู้รับจะใช้เงินที่ได้รับไปทั้งหมด แต่อาจจะไม่ได้หมายความว่าเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่เท่ากับเงินที่ผู้รับใช้ไป ที่จะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีโครงการนี้ เช่น ถ้าปกติคนคนหนึ่งกินข้าวเดือนละ 10,000 บาท พอได้รับเงินมา 10,000 บาท คนนั้นใช้เงินที่ได้รับมาจนหมด และใช้เงินเดือนนั้นเพิ่มเป็น 15,000 บาท แต่ไม่ได้แปลว่าเกิด GDP ใหม่ 10,000 บาท แต่เกิด GDP ใหม่แค่ 5,000 บาทเท่านั้น อีก 5,000 บาทนำไปออมหรือไปใช้หนี้

 

  1. การใช้จ่ายไม่ได้เกิดเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น แต่อาจจะรั่วไหลไปเป็นการนำเข้าก็ได้ เช่น ถ้าคนรับเงิน 10,000 บาทไปซื้อมือถือใหม่ GDP ในประเทศเกิดขึ้นน้อยมาก แม้ว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม

 

  1. อาจจะมีการยืมดีมานด์ในอนาคตมาใช้ เช่น ใช้เงินที่ได้รับตุนของที่ต้องใช้อยู่แล้ว สบู่ กระดาษทิชชู น้ำมันพืช ยาสีฟัน ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะพุ่งสูงขึ้นระหว่างมีโครงการ แต่ก็อาจจะ ‘จ่ายคืน’ หลังโครงการจบ” 

 

เปิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและระบบการเงินที่อาจเกิดขึ้น

 

  • ‘10,000 บาทดิจิทัล’ เป็นความเสี่ยงทางการคลังของไทย

 

ด้วยมูลค่าของโครงการที่สูงขนาดนี้ ยังทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่า รัฐบาลจะสามารถกู้เงินได้หรือไม่ตามกรอบกฎหมายพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548

 

โดยตามมาตรา 21 ระบุว่า การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณใด ให้กระทรวงการคลังกู้เป็นเงินบาทไม่เกินวงเงิน (1) ร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีท่ีใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และ (2) ร้อยละ 80 ของงบประมาณรายจ่ายท่ีต้ังไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น

 

แม้ต้นทุนของโครงการนี้คิดเป็นราว 16% ของงบประมาณรายจ่าย ไม่ถึง 20% อย่างไรก็ตาม การใช้เงินกู้เกือบทั้งหมดเพื่อดำเนินโครงการนี้ หมายความว่ารัฐบาลอาจมีเงินไม่พอใช้สำหรับโครงการอื่นๆ รวมถึงโครงการที่สำคัญต่อเศรษฐกิจระยะยาว และอาจจำเป็นต้องตัดงบประมาณของโครงการสวัสดิการอื่นๆ ก่อนหน้านี้ด้วย

 

จากกฎระเบียบทั้งหมดนี้ ทำให้พิพัฒน์แสดงความคิดเห็นผ่านโพสต์บน Facebook ว่า เป็นเรื่องยากมากที่เราจะตัดงบประมาณ หรือขึ้นภาษีมาจ่ายโครงการนี้ได้ทั้งหมด อย่างไรก็ต้องมีการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม ขณะที่งบประมาณปีหน้าที่รัฐบาลที่แล้วอนุมัติก็ขาดดุล 3% ของ GDP แล้ว แปลว่ามีช่องว่างให้ขาดดุลเพิ่มได้แค่อีกนิดเดียว และถ้าจะตัดงบก็ติดว่าเรามีงบประจำสูงถึงเกือบ 80% ของวงเงินงบประมาณ จะตัดอะไรได้คงไม่มากนัก

 

ทั้งนี้ ตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการคลังเป็นการ ‘มุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุล’ เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยปรับลดขนาดการขาดดุลให้เหลือ ไม่เกิน 3.0% ต่อ GDP ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลางด้วย

 

สอดคล้องกับความเห็นของ อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งมองว่า จากขนาดของโครงการซึ่งอยู่ที่ 3-4% ต่อ GDP การกู้ตามงบประมาณปกติเป็นเรื่องยาก และไม่น่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะยิ่งจะรีบทำภายในครึ่งปี 2567 ด้วย 

 

จากปมปัญหาที่กล่าวมาทำให้มีการคาดเดาว่า เพื่อระดมเงินทุนมาใช้จ่ายในโครงการนี้ รัฐบาลอาจกู้เงินโดยการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือการใช้มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ให้สถาบันการเงินของรัฐออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการไปก่อนแล้วรัฐบาลจะทยอยตั้งงบประมาณชดเชยให้ภายหลัง

 

กระนั้น อธิภัทรก็มองว่า รัฐบาลไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะกู้เงินโดย พ.ร.ก. เนื่องจากการกู้โดยออก พ.ร.ก. นั้นต้องเป็นการกู้ด้วยเหตุฉุกเฉินเท่านั้น นอกจากนี้ แม้รัฐบาลอาจใช้วิธีต่างๆ เพื่อให้กู้ยืมเงินได้มากขึ้น แต่ควรคำนึงถึงแผนการคลังระยะปานกลางที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นแผนที่หน่วยงานจัดอันดับต่างๆ ใช้ประเมินความเสี่ยง และอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ

 

“ถ้าไปดูใน Credit Report หน่วยงานจัดอันดับต่างๆ ให้แนวโน้มไทยอยู่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable) แต่หากหน่วยงานเหล่านี้มองว่า ในอนาคตเรารัฐบาลไทยก่อหนี้เยอะ แต่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ดีพอ ก็อาจเป็นเหตุให้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของไทยได้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเฝ้าระวัง” อธิภัทรกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามอีกว่า การออกโครงการแจกเงินขนาดใหญ่ ในช่วงเวลาที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังสูงกว่าระดับก่อนโควิดอย่างมากเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

 

ข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง แสดงให้เห็นว่า ในเดือนกรกฎาคม (ล่าสุด) ปี 2566 หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 61.69% ต่อ GDP จากระดับ 41.18% ต่อ GDP ในเดือนธันวาคมปี 2562

 

  • เสี่ยงเกิด Shadow Exchange Rate

 

จากกระแสข่าวที่ว่า เงินดิจิทัลโครงการดังกล่าวจะออกมาในรูปแบบของ Utility Token ประเภทที่ 1 (UT1) หมายความว่า โทเคนดังกล่าวจะต้องไม่ถูกใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Means of Payment) โดยการใช้งานจำเป็นจะต้องระบุขอบเขตของประเภทสินค้าและบริการให้ชัดเจน ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้และต้องไม่ใช้ซ้ำ หรือเปรียบเสมือนคูปอง/พอยต์ที่ถูกกำหนดเงื่อนไขการใช้งานไว้แล้ว

 

สถาพน พัฒนะคูหา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ก่อตั้ง SmartContract Blockchain Studio มองว่า หากออกมาเป็น Utility Token จริง ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้งานเยอะ อาจทำให้ความสะดวกและความคล่องตัวลดลงตามไปด้วย

 

โดยสิ่งนี้อาจนำไปสู่อัตราแลกเปลี่ยนเงา (Shadow Exchange Rate) หรือคนบางกลุ่มอาจยอมแลกโทเคนในราคาที่ต่ำกว่า เช่น โทเคน 100 บาท แลกเงินสด 90 บาท โดยถ้าเกิดกรณีนี้เยอะก็มีสิทธิ์ทำให้ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจเกิดต่ำกว่าเป้าที่เคยคาดหวังไว้ได้

 

อย่างไรก็ตาม สถาพนมองว่า การใช้ UT1 อาจช่วยทำให้ความชัดเจนทางกฎหมายของโครงการมีมากขึ้นตามเกณฑ์ของ กลต. ที่เคยระบุอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการหาจุดสมดุลระหว่างข้อกฎหมายและความสะดวกในการใช้งาน

 

  • ห่วงปัญหาอาจลามไปจนกระทบราคาของเงินบาท

 

พิพัฒน์อธิบายว่า ประเด็นที่นโยบาย Digital Wallet ต้องคิดหนักคือ การจะเอา ‘เงิน’ อีกประเภทหนึ่งโยนเข้ามาในระบบ ที่มีเงื่อนไขการใช้ไม่เหมือนเงินบาทอื่นๆ แต่คาดหวังให้ราคาเท่ากับ 1 บาทตลอดเวลา โดยไม่มีกลไกในการแลกเปลี่ยน หรือมีภาระของรัฐค้ำประกัน 100% ตลอดเวลาได้อย่างไร

 

เพราะเงื่อนไขการใช้เงินที่ต่างกัน คนจะตีมูลค่าของเงินไม่เท่ากัน และเมื่อนำมาใช้ก็จะเกิด ‘ราคา’ ของเงินที่รัฐอาจจะบังคับไม่ได้ และอาจจะ ‘Break the Buck’ ได้ และเมื่อเกิดขึ้น คนก็จะแห่ทิ้งเงินใหม่กันอย่างรวดเร็ว สร้างปัญหากับความน่าเชื่อถือของรัฐได้

 

การอธิบายว่า เราสามารถออกสิ่งที่เหมือน ‘เงิน’ โดยไม่ต้องสร้างหนี้ ไม่ต้องขาดดุล ไม่เป็นภาระของรัฐ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่ากลัว ทั้งจากมุมมองวินัยทางการคลัง และความน่าเชื่อถือของนโยบายทางการเงิน และอาจจะน่ากลัวกว่าการยอมรับว่านี่คือการแจกเงิน โดยการขาดดุลและสร้างหนี้เสียอีก และระวังว่าปัญหาจะลามไปจนกระทบราคาของเงินบาทเลย เพราะเราไม่อยู่ในสถานะที่สร้าง ‘เงิน’ จากอากาศได้ (แม้ว่าอาจจะมีบางประเทศทำได้ก็ตาม)

 

  • หวั่นเกิดเงินเฟ้อรุนแรง: Hyperinflation

 

ท่ามกลางสภาวะการเงินโลกที่ไม่นิ่งและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ภัยแล้ง เอลนีโญ สงคราม และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า นโยบายแจกเงินนี้อาจทำให้เสถียรภาพทางราคาของไทยถูกสั่นคลอนอีกครั้ง

 

ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจระบบงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้ถูกแก้ด้วยการแจกเงิน ในทางกลับกัน นโยบายดังกล่าวจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อให้แย่ลง เพราะการแจกเงินจะทำให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้นต่อสินค้าและบริการที่มีปริมาณจำกัด 

 

เงินดิจิทัล 10,000 บาท

 

ข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญถึงรัฐบาล

 

  • พุ่งเป้าไปที่ผู้มีรายได้น้อย เพื่อเพิ่มตัวคูณ-กระจายรายได้

 

เริ่มจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยกล่าวว่า รัฐบาลควรพิจารณาการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท แบบพุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่เดือดร้อน หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือก่อน เพราะจะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณที่สูงจนเกินไป และนำงบประมาณบางส่วนไปใช้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การจ้างงาน หรือการลงทุนในสาธารณประโยชน์ จะเกิดความคุ้มค่ากว่าหรือไม่ ภายใต้การคำนึงถึงความคุ้มค่าและไม่สร้างภาระทางการคลังของประเทศ

 

สอดคล้องกับอธิภัทรที่ระบุว่า ตัวคูณทางการคลังจะเยอะได้ หากรัฐบาลมอบเงินให้คนตรงกลุ่มหรือให้กลุ่มคนที่ใช้เลย โดยมีผลการศึกษาที่พบว่า การแจกเงินให้กับคนมีรายได้น้อยและมีสภาพคล่องต่ำตัวคูณจะเยอะ เนื่องจากการแจกเงินให้กับผู้มีสภาพคล่องสูงหรือรายได้เยอะ คนกลุ่มนี้เอาเงินไปทำอย่างอื่น เช่น ออมหรือเอาเงินไปลงทุน

 

“สมมติว่ารัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาทให้กับทุกคน รวมถึงคนรวยด้วย และเวลานี้ไม่ใช่ช่วงวิกฤตเหมือนตอนโควิด คำถามคือ ตัวคูณทางการคลังจะเยอะเหมือนครั้งก่อนหรือไม่” อธิภัทรกล่าว

 

  • ลดจำนวนผู้ได้รับสิทธิ-กำหนดรายได้ขั้นสูง

 

ขณะที่ วิมุต วานิชเจริญธรรม อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค การเงิน และการเงินระหว่างประเทศ ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ www.the101.world โดยระบุว่า เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ และลดภาระทางงบประมาณในเวลาเดียวกัน ควรลดจำนวนผู้ได้รับสิทธิจากโครงการนี้ อาทิ ควรกำหนดรายได้ขั้นสูงของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเข้ากระเป๋าดิจิทัล

 

เนื่องจากเงินงบประมาณมีจำกัด การนำเงินจำนวนมากไปทุ่มให้กับโครงการใดโครงการหนึ่งย่อมตัดโอกาสการนำเงินก้อนนั้นไปใช้ประโยชน์ในโครงการอื่นๆ ที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจได้เช่นกัน ดังนั้นหากมีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องการกระจายรายได้แล้วก็สมควรที่จะงดกระจายเงินงบประมาณให้กับผู้มีอันจะกิน

 

  • พิจารณาโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลแทน ไม่ต้องใช้บล็อกเชน

 

นอกจากนี้ วิมุตยังมองอีกว่า ในเมื่อเงินดิจิทัลสร้างอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนสินค้า เหตุใดไม่พิจารณาใช้การโอนเงินบาทเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัล ดังที่รัฐบาลก่อนหน้าเคยทำไว้กับโครงการคนละครึ่ง สำหรับประเด็นนี้ ในวงการไอทีได้แสดงความคิดเห็นกันไว้ว่า โครงข่ายดังกล่าวสามารถกำหนดเงื่อนไขของการใช้เงินกำกับไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นรัศมีของการใช้เงิน ระยะเวลา หรือประเภทสินค้าต้องห้าม ล้วนสามารถทำได้ทั้งนั้น ดังนั้นแทนที่จะใช้เงินดิจิทัล หันมาใช้เงินบาทที่โอนเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลหรือเข้าแอป ‘เป๋าตัง’ เลยไม่ดีกว่าหรือ?

 

โดยวิธีนี้ยังช่วยลดต้นทุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพิ่มเติมได้อีกด้วย

 

  • กำหนดเงื่อนไขให้ซื้อแต่สินค้าไทย 

 

ขณะที่ ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังแนะนำว่า รัฐบาลควรกำหนดเงื่อนไข ให้ผู้ใช้ซื้อแต่สินค้าไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจในประเทศ

 

“โครงการนี้มองภาพรวมก็เพื่อกระจายให้เกิดการ กระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นระยะเวลา และกำหนดเงื่อนไขให้ใช้ในการซื้อสินค้าไทย เพื่อให้เม็ดเงินกระจายในประเทศไทยจะทำให้เงินหมุนหลายรอบ หากไม่กำหนดก็เสี่ยงจะรั่วไหลออกไปกับสินค้าต่างประเทศได้” ธนวรรธน์กล่าว

 

  • กันงบประมาณไว้ใช้ฉุกเฉิน รองรับความไม่แน่นอน

 

นอกจากนี้ อธิภัทรยังแนะนำว่า รัฐบาลควรมีเงินสำรองให้เพียงพอหากเกิดวิกฤต ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่างๆ ทั้งปัจจัยในประเทศและนอกประเทศ

 

“คำถามคือ ถ้าในอนาคตอีก 2 ปีต่อมา เกิดมีวิกฤตเข้ามา เรายังมีพื้นที่ (Room) เหลือพอหรือไม่ แล้วไม่กระทบต่อความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของรัฐบาลไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ”

 

  • ร่วมมือกับเอกชน

 

สำหรับอีกข้อเสนอทางเลือกเพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อ ทั้งสถาพน พัฒนะคูหา ซีอีโอของ SmartContract Blockchain Studio และ สันติธาร เสถียรไทย อดีต Group Chief Economist และกรรมการผู้จัดการ บริษัท Sea Group ให้ความเห็นในรายการ WEALTH IN DEPTH ว่า การแจกจ่ายเงินดิจิทัลนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของรัฐเพียงผู้เดียว แต่ให้สถาบันการเงินหรือบริษัทเอกชน ที่มีระบบวอลเล็ตและฐานลูกค้าเดิมของตนอยู่แล้วเข้ามาเชื่อมต่อรองรับเงินดิจิทัลนี้ เพื่อเป็นการช่วยกระจายเงินให้ถึงมือประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ง่ายและเร็วขึ้น

 

โดยข้อดีของโมเดลนี้คือ คนมี e-Wallet / Mobile Banking อยู่แล้ว หรือเคยลงทะเบียนยืนยันตัวตนไว้แล้ว จึงไม่ต้องมาลงแอปพลิเคชันใหม่ แถมการใช้งานแอปเหล่านี้จะแข่งขันในตลาดเพื่อสร้าง Use Case ใหม่ๆ ให้กับเงินดิจิทัลนี้ได้ด้วย

 

เงินดิจิทัล

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 5 ก.ย. 2023

READ MORE



Latest Stories