THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
การประกันเงินฝาก
EXCLUSIVE CONTENT

การติดเชื้อทางการเงินคืออะไร? พร้อมหาคำตอบ…ขยายการประกันเงินฝาก ป้องกันวิกฤตแบงก์ลามได้หรือไม่?

... • 23 มี.ค. 2023

HIGHLIGHTS

4 min read
  • ธนาคารทั่วสหรัฐฯ กำลังกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ (Contagion) จากความล้มเหลวของธนาคารหลายแห่งก่อนหน้านี้ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขยายการประกันเงินฝาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ฝากเงิน ท่ามกลางกระแสคัดค้าน
  • ด้านนักเศรษฐศาสตร์มองว่า การขยายการประกันเงินฝากเป็นเรื่อง ‘ควรทำในตอนนี้’ เพื่อป้องกันปัญหาลุกลาม แต่ไม่ใช่แผนในระยะยาว โดยชี้ว่า ต้นทุนในการทำตอนนี้ย่อม ‘ถูกกว่า’ การทำเมื่อวิกฤตลามแล้ว
  • นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังเชื่อว่า การติดเชื้อทางการเงินรอบนี้จะส่งผลกระทบถึง ‘ไทย’ อย่างจำกัดเท่านั้น

เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ แถลงต่อวุฒิสภาว่า ธนาคารทั่วสหรัฐฯ กำลังกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อ (Contagion) จากความล้มเหลวของธนาคารหลายแห่งก่อนหน้านี้ และกำลังสร้างสภาพคล่องเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

 

หลังจากกลุ่มพันธมิตรธนาคารขนาดกลางแห่งอเมริกา (Mid-Size Bank Coalition of America: MBCA) ได้เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ขยายวงเงินประกันเงินฝาก โดยแสดงความกังวลว่า หากธนาคารภูมิภาครายอื่นล้มลงอีก ผู้ฝากเงินจำนวนมากขึ้นจะแห่ย้ายเงินไปยังธนาคารใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงพื้นฐานของธนาคารเล็ก

 

โดยเยลเลนยังเชื่อว่า การพิจารณาประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ ‘คุ้มค่า’ ท่ามกลางการคัดค้านของหลายฝ่ายที่ว่า จะนำไปสู่ภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) และอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์หย่อนยานในการกำกับดูแลตัวเองในระยะยาว

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

การติดเชื้อทางการเงินคืออะไร?

การติดเชื้อทางการเงินหรือการลุกลามของวิกฤตการณ์ทางการเงิน (Financial Contagion) มักเกิดขึ้นเมื่อเกิดปัญหาในเศรษฐกิจหรือตลาดแห่งใดแห่งหนึ่ง และตามมาด้วยเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในเศรษฐกิจหรือตลาดอื่น ซึ่งบางครั้งก็ดูไม่เกี่ยวข้องกันทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ หรือระดับโลก

 

จาก SVB สู่ Credit Suisse = Financial Contagion รอบใหม่? 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research มองว่า ปัญหาของภาคธนาคารครั้งนี้จาก SVB ไปสู่ Credit Suisse เป็นการติดเชื้อทางการเงิน เนื่องจากภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงจากกรณีของ SVB เป็นปัจจัยที่บีบบังคับให้ Credit Suisse เผชิญกับปัญหาครั้งนี้

“จาก SVB ไป Credit Suisse แทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน แต่เมื่อมี ‘ความไม่มั่นใจ’ เกิดขึ้น Credit Suisse ซึ่งมีปัญหาด้านโครงสร้างและความสามารถในการทำกำไร ซึ่งจะต้องปรับตัวอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อภาวะตลาด (Market Condition) เปลี่ยน ทำให้การปรับตัวของ Credit Suisse ต้องเกิดเร็วขึ้น เนื่องจากตลาดไม่ให้เวลา ถ้าถามว่าสถานการณ์นี้เป็น Contagion ไหม ผมมองว่าก็เป็นรูปแบบหนึ่ง” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

 

เชื้อ (ทางการเงิน) รอบนี้จะลามถึงไทยหรือไม่?

ดร.พิพัฒน์ มองว่า ปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่าง ‘จำกัด’ เพราะปัจจัยหรือไส้ในปัญหาของไทยไม่เหมือนประเทศอื่น เช่น ดอกเบี้ยไม่ได้ขึ้นเยอะ ทุนมีเพียงพอ และสภาพคล่องค่อนข้างเยอะ

 

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ‘ความเชื่อมั่น’ โดยหากความเชื่อมั่นถูกสั่นคลอน อะไรก็เกิดขึ้นได้

 

ด้าน ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ก็มองว่า ปัญหารอบนี้จะไม่ลุกลามเป็นวิกฤตการเงินทั่วโลก (Global Financial Crisis) โดยระบุว่า “สุดท้ายเชื้อนี้เมื่อเจอคนอ่อนแออย่าง Credit Suisse ก็จะติดได้และล่มไป แต่ถ้าเชื้อนี้แพร่ระบาดไปที่อื่น อย่างเช่น ประเทศไทย ก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะไทยไม่ได้มีความอ่อนแอในมิตินั้น”

 

ต้นกำเนิดของ ‘เชื้อ’ รอบนี้มาจากอะไร?

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า จากกรณีการล่มของหลายแบงก์ในสหรัฐฯ มาจากปัจจัยเฉพาะตัว แต่เชื้อจริงๆ ที่ทำให้แบงก์เหล่านั้นล่มคือความไม่เชื่อมั่น

 

“ทุกครั้งที่เกิด Financial Contagion มาจากเชื้อเดียวกันคือความไม่เชื่อมั่น ตัวอย่างเช่น มองกลับไปเมื่อปี 2018 แม้จะมีซับไพรม์ แต่สิ่งที่ทำให้วิกฤตลุกลามและทำให้ Lehman Brother ล่มคือความไม่เชื่อมั่น ถ้าถามว่าเชื้อนี้แรงขนาดนั้น ถ้าเทียบกับปี 2008 หรือไม่ คำตอบคือไม่แรงเท่า เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้เชื้อนี้แรงเมื่อปี 2008 เป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานและภาวะฟองสบู่” ดร.พชรพจน์ กล่าว 

 

อะไรคือยาป้องกันเชื้อระบาด?

ดร.อมรเทพ มองว่า การป้องกันไม่ให้ปัญหาในภาคการธนาคารครั้งนี้ลุกลามคือการอัดฉีดสภาพคล่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนตื่นตระหนกไปถอนเงิน หรือ Bank Run เพื่อให้ธนาคารที่พื้นฐานดีอยู่ต่อไปได้และไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องลุกลามไปเป็นปัญหาขาดทุนและล้มละลายในที่สุด

 

สอดคล้องกับมุมมองของ ดร.พชรพจน์ ที่มองว่าวิธีแก้ปัญหาของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นการจ่ายปฏิชีวนะที่ครอบคลุมปัญหาสภาพคล่องแล้ว เช่น การอัดฉีด และการถอนมาตรการที่เข้มงวดชั่วคราว ในกรณีที่เชื้อนี้มาจากแค่ความเชื่อมั่น ไม่ได้มาจากปัญหาอื่นๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม

 

‘ขยายการประกันเงินฝาก’ เป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่?

ดร.อมรเทพ มองว่า การขยายการรับประกันเงินฝาก ‘จำเป็นต้องทำ’ ในขณะนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต แต่เมื่อผู้คนเริ่มหายตกใจแล้วก็ควรถอนออก เพื่อป้องกันภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard)

 

“ผมมองว่าเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อป้องกันความตื่นตระหนก แต่ไม่สามารถวางแผนในระยะยาวได้ นักเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่า Moral Hazard การที่รัฐบาลไปรับประกันทุกอย่าง ทำให้ผู้คนอาจจะอยากไปลงทุนอะไรที่มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ เพราะได้ผลตอบแทนสูง” ดร.อมรเทพ กล่าว

 

ผลกระทบของการขยายการประกันเงินฝาก

ดร.พชรพจน์ มองว่า การที่สหรัฐฯ กำลังศึกษาเรื่องการคุ้มครองเงินฝากโดยไม่มีลิมิต ถ้าเป็นแค่ชั่วคราวก็พอเข้าใจได้ เนื่องจากมองว่าค่อนข้างอันตราย โดยหากทุกคนในสังคมคาดหวังว่าเมื่อเกิดวิกฤตธนาคารจะค้ำประกันทุกครั้ง สุดท้ายผลลัพธ์จะเท่ากับการค้ำประกันร้อยเปอร์เซ็นต์ตลอดไป และหากเป็นดังนั้นก็จะทำให้ต้นทุนของ Insurance Premium สูงมาก

 

นอกจากนี้ ดร.พชรพจน์ ยังมองว่า หากเกิดสิ่งนี้จริงก็มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะขอให้ธนาคารพาณิชย์มี Buffer สูงขึ้น เช่น การตั้งสำรองให้สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการเงินทั่วโลกสูงขึ้นได้

 

“ผลลัพธ์ของเหตุการณ์ครั้งนี้อาจนำไปสู่ต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น เนื่องมาจากค่าประกันความเสี่ยงที่สูงขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่น่าคิดคือ ถ้าสหรัฐฯ ประกาศแบบนี้ ประเทศอื่นจะอยู่ได้หรือไม่ ประเทศอื่นต้องทำตามหรือไม่ ถ้าต้องทำ ต้นทุนทั้งระบบก็คงสูงขึ้น”

 

ขณะที่ ดร.พิพัฒน์ มองว่า ต้นทุนที่ตามมาจาการขยายการประกันเงินฝากของสหรัฐฯ มีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ 

 

  1. ทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น หากเกิดความเสียหายจริง เพราะรัฐต้องรับผิดชอบ
  2. เกิด Moral Hazard คือเมื่อทั้งผู้ฝากเงิน ธนาคาร และนักลงทุน รู้สึกปลอดภัย อาจยอมเสี่ยงโดยไม่จำเป็น

 

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ มองว่า ความสำคัญอันดับแรกของทางการคือการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ต้องหยุดการลามให้ได้ พร้อมทั้งมองว่า ต้นทุนในการดำเนินการดังกล่าว ณ ตอนนี้จะ ‘ถูก’ กว่าการดำเนินการทีหลังหากวิกฤตลุกลาม

 

อ้างอิง: 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 23 มี.ค. 2023

READ MORE



Latest Stories