THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
Credit Suisse
EXCLUSIVE CONTENT

ฉายมุมมอง ‘Credit Suisse’ ต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ปี 2023 ‘หุ้นโลกยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี เศรษฐกิจไทยอาจเป็นดาวเด่น’

... • 24 พ.ย. 2022

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ฟื้นฐานของเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนไป จากยุคดอกเบี้ยต่ำสู่ยุคดอกเบี้ยสูงต่อเนื่อง
  • ปีนี้ผลตอบแทนของหุ้นและตราสารหนี้ ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 150 ปี ด้วยผลตอบแทน -18.7%  
  • เงินเฟ้อมีโอกาสจะพีคไปแล้วและเริ่มชะลอตัวในครึ่งปีแรกของปี 2023 แต่ดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่ลดลง
  • Credit Suisse คาดว่า GDP โลกปีหน้าจะเติบโต 1.6% ต่ำกว่าปีหน้าที่คาดไว้ 2.7% โดยเศรษฐกิจเบอร์ 1 อย่างสหรัฐฯ จะเติบโตแค่ 0.8% ในปีหน้า
  • การลงทุนในหุ้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะครึ่งปีแรกของปีหน้า เพราะเรายังอยู่ในช่วงต้นของการเข้าสู่ Recession เท่านั้น 
  • ตราสารหนี้คือทางรอด! หลังจากที่แต่ละประเทศน่าจะเริ่มหยุดการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และผลตอบแทนของตราสารหนี้ต่างๆ อยู่ในระดับสูง
  • ค่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มจะแข็งแกร่งต่อไป ด้วยความห่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • เศรษฐกิจไทยอาจจะเป็นดาวเด่นของอาเซียน จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว 

 

Credit Suisse ธนาคารพาณิชและผู้ให้บริการด้านวาณิชธนกิจและบริหารการลงทุนยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดงานแถลงข่าวพร้อมเปิดเผยมุมมองเกี่ยวกับภาพเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกในปี 2023 

 

หนึ่งในผู้บริหารที่มาร่วมให้มุมมองในครั้งนี้คือ จอห์น วูด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก Credit Suisse โดยกล่าวว่า บริบททางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนในปีหน้าจะเป็นเหมือนการรีเซ็ตพื้นฐานที่สำคัญหลายด้าน

 

พื้นฐานเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

‘ยุคเงินเฟ้อต่ำ’ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากโลกาภิวัตน์ในอดีตดูเหมือนจะสิ้นสุดลงในปีนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัจจัยแวดล้อมหลายด้าน ทั้งจากห่วงโซ่อุปทานที่ถูกดิสรัปต์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตพลังงานและอาหาร ล้วนแล้วแต่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าคือ เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่นโยบายการเงินจะยังคงเป็นแบบตึงตัวต่อไปตลอดครึ่งปีแรกของปี 2023 ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเติบโตได้เพียง 1.6% พ่วงมาด้วยปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ฝังรากลึก ต้นทุนพลังงานสูง ความไม่มั่นคงทางอาหาร และสงครามไซเบอร์ 

 

“แม้ว่าเงินเฟ้อจะพีคไปแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยที่สูงจะยังคงอยู่ต่อไป ส่งผลให้ตลาดเงินจะยังผันผวนจากการค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับยุคดอกเบี้ยสูง ขณะที่ตราสารหนี้จะกลายมาเป็นตัวเลือกที่ดีของปีหน้า” 

 

อัตราดอกเบี้ยของประเทศอย่างสหรัฐฯ มีโอกาสจะขยับไปถึง 5% ในปีหน้า แม้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อาจจะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรก แต่จะยังอยู่ในระดับสูงกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2% ขณะที่ยุโรปอาจจะเห็นอัตราดอกเบี้ยในระดับ 3% สำหรับปี 2023 

 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอลง จากปีนี้ที่คาดว่า GDP จะเติบโต 2.7% ลดลงเหลือ 1.6% ในปีหน้า ส่วน GDP ของสหรัฐฯ คาดว่าจะเติบโต 1.6% ในปีนี้ และ 0.8% ในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก คาดว่า GDP จะเติบโตได้ 4.5% ในปีหน้า จาก 3.3% ในปีนี้ 

 

“ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ มีแนวโน้มจะใช้นโยบายแบบขาดดุล และอาจจะเห็นการขึ้นภาษีตามมา”  

 

ส่วนความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐฯ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มจะใช้นโยบายการเงินตึงตัวแบบแข็งกร้าวต่อไป ขณะที่ฝั่งยุโรปดูเหมือนว่าจะเข้าสู่ Recession ในไตรมาส 4 ปีนี้ถึงไตรมาส 2 ปีหน้า โดยแต่ละประเทศจะเผชิญกับเงินเฟ้อสูงและค่าเงินอ่อน ด้านจีนมีโอกาสจะฟื้นตัวได้กลางๆ จากแนวโน้มที่จะกลับมาเปิดประเทศช่วงปลายไตรมาส 1 ปีหน้า 

 

หุ้นอาจไม่ดี ตราสารหนี้เป็นโอกาส

นับแต่ต้นปี 2022 จนถึงปัจจุบัน สินทรัพย์ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกมีเพียงสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างเช่น น้ำมัน และค่าเงินดอลลาร์ เท่านั้น โดยปัจจัยที่ท้าทายการลงทุนอย่างมากคือ นโยบายการเงินที่เปลี่ยนจากผ่อนคลายมาเป็นตึงตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

 

สินทรัพย์การลงทุนหลัก อย่างหุ้นและตราสารหนี้ของสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนติดลบ 20.3% และ 16.3% ตามลำดับ ทำให้สูตรการจัดพอร์ตคลาสสิกอย่าง หุ้น 60% หุ้นกู้ 40% ให้ผลตอบแทนติดลบ 18.7% ย่ำแย่ที่สุดที่สุดในรอบ 150 ปี นับแต่ปี 1872

 

หากมองไปยังปีหน้า นักลงทุนจะยังมีความความหวังหรือโอกาสอะไรเหลืออยู่บ้าง 

 

Credit Suisse เชื่อว่า สินทรัพย์อย่างตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ เป็นสินทรัพย์ที่น่าดึงดูดที่สุด อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมาเป็นเกือบ 4% จากที่เคยต่ำกว่า 1% และเราก็เริ่มเห็นนักลงทุนรายใหญ่เริ่มใส่เงินลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น 

 

ด้วยนโยบายการเงินแบบเข้มงวดที่ชะลอลง และอาจจะจบลงในปี 2023 เราเชื่อว่าหุ้นกู้จะเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่ค่าเงินยังแข็งแกร่งมีแนวโน้มจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่นโยบายการเงินเริ่มนิ่ง จะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับกระจายการลงทุน

 

ส่วนตลาดหุ้นจะยังผันผวนหนัก และไม่คิดว่านักลงทุนควรจะใส่เงินลงทุนเพิ่มเข้าไป อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นต่อเนื่องยาวนาน ทำให้นักลงทุนปรับมุมมองต่อมูลค่าของหุ้น ซึ่งน่าจะยังเป็นเช่นนี้และกระทบต่อผลตอบแทนของหุ้นตลอดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 

 

“เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของ Recession เท่านั้น และตลาดหุ้นมักจะยังไม่ต่ำสุดในช่วงเริ่มต้น ก่อนจะไปทำจุดต่ำสุดในช่วงกลาง Recession เพราะฉะนั้นเราควรตั้งรับและปกป้องพอร์ตลงทุนให้ดี” 

 

นักลงทุนควรจะโฟกัสในหุ้นที่ผลประกอบการมั่งคง เงินกู้ต่ำ และมีความสามารถในการกำหนดราคาสินค้า เช่น กลุ่มสินค้าจำเป็น กลุ่มผู้ผลิตสมาร์ทโฟน กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด รวมทั้งยานยนต์ไฟฟ้า 

 

ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 เราคาดว่าจะถึดจุดพีคของการที่ธนาคารกลางต่างๆ ใช้นโยบายการเงินหดตัว ซึ่งจะทำให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง 

 

ด้านการลงทุนทางเลือกที่น่าสนใจ Credit Suisse มองว่า หุ้นกู้นอกตลาด (Private debt) ผ่านกองทุนเฮดจ์ฟันด์เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งมักจะให้ผลตอบแทนดีในภาวะที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอ โดยวัดจากดัชนี PMI ที่ต่ำว่าค่าเฉลี่ย นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มจะแข็งต่อไป เนื่องจากช่วงห่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ โดยนักลงทุนอาจจะเลือกเปิดสถานะ Long ค่าเงินดอลลาร์เทียบกับเงินหยวน (USD/CNY) 

 

เศรษฐกิจไทยอาจเป็นดาวเด่นของเอเชีย

เศรษฐกิจของไทยค่อยๆ ฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจาก GDP ที่คาดว่าจะเติบโต 3.4% ในปีนี้ จากการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามาต่อเนื่อง 

 

อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าส่งออกจากทั่วโลกที่ลดลงเป็นความเสี่ยงต่อคาดการณ์การเติบโต แต่ในปี 2023 Credit Suisse มองว่าไทยจะเป็นประเทศเดียวใน 6 ประเทศอาเซียนที่จะมีอัตราการเติบโตต่อปีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงจะพลิกผันได้มากที่สุดเช่นกัน จากความเสี่ยงในเรื่องจังหวะเวลาและความเร็วในการเปิดประเทศของจีน

 

สำหรับเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มจะลดลงจาก 6.4% ในปีนี้ มาเหลือ 3.2% ในปีหน้า ซึ่งจะยังสูงกว่าระดับกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 1-3% ซึ่งตั้งไว้จนถึงไตรมาส 2 ปี 2023 ทำให้ ธปท. มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ต่อเนื่องไปอีก 3 ครั้ง ตลอดช่วงไตรมาส 1 ของปี 2023 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับเป็น 1.75% 

 

อีกปัจจัยที่ต้องติดตามคือการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนมีนาคม 2023 จึงอาจเห็นความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วง 2-3 ไตรมาสข้างหน้า โดยเฉพาะความเสี่ยงจากความล่าช้าในการก่อตั้งรัฐบาล

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

อีเมลนี้ถูกใช้สมัครสมาชิกเข้ามาในระบบแล้ว

กรุณาตรวจสอบกล่องจดหมายในอีเมลที่ใช้สร้างบัญชีกับ
The STANDARD จากนั้นทำการยืนยันอีเมลของคุณ

หากค้นหาไม่พบอีเมลที่กล่องจดหมายเข้า (inbox)
กรุณาตรวจสอบที่กล่องจดหมายขยะ (junk mail)

... • 24 พ.ย. 2022

READ MORE



Latest Stories