- รัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปี 2025 ช่วยหนุนตลาดหุ้นจีน
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2025 ของรัฐบาลจีนนั้น มองว่าเพื่อตอบโจทย์เร่งด่วน 2 ประการ
- เรื่องแรกคือเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนจากเงินเฟ้อผู้บริโภคต่ำและเงินเฟ้อผู้ผลิตที่ติดลบต่อเนื่อง 26 เดือน ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง บ่งชี้มาตรการกระตุ้นเดิมมีผลจำกัด
- เรื่องที่ 2 คือเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจากนโยบายของทรัมป์ที่อาจกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง
- สำหรับตลาดหุ้นไทยจะขึ้นอยู่กับการประชุม กนง. วันที่ 18 ธันวาคม ซึ่งหาก กนง. ปรับลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้ราว 15-20 จุด
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกอ่อนตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงขายทำกำไรหลังปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสะท้อนความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในเดือนธันวาคมไปแล้วในระดับหนึ่ง
ด้านตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นตามคาด อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตเพิ่มขึ้นและสูงกว่าคาด หนุนผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า 4.3% ผลประกอบการหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ รวมไปถึงการส่งสัญญาณตอบโต้มาตรการการขึ้นภาษีของแคนาดาและจีนต่อสหรัฐฯ กดดันหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลง 0.9% กลุ่มธนาคารปรับตัวลดลง 1.3% จากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม แรงส่งจากหุ้นขนาดใหญ่ (Mag 7) หลายตัวที่มีประเด็นบวกเฉพาะตัวหนุนตลาดหุ้น NASDAQ ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ระหว่างสัปดาห์
ฝั่งยุโรป ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดดอกเบี้ยครั้งที่ 4 ของปีลงสู่ 3% จากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ดัชนี STOXX 600 ไม่ตอบสนองเชิงบวกต่อการลดดอกเบี้ยดังกล่าวในสัปดาห์นี้
ด้านตลาด EM เงินเฟ้อผู้บริโภคของจีนเดือนพฤศจิกายนชะลอลงจากเดือนก่อนและต่ำกว่าคาด ด้านยอดขายบ้านใหม่ก็ยังมีทิศทางลดลง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในปี 2025 ช่วยหนุนตลาดหุ้นจีน ขณะที่ตลาดหุ้นเกาหลีฟื้นตัวหลังลดลงแรงในช่วงก่อนจากปัจจัยการเมืองในประเทศ
ด้านตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ ยังอ่อนตัวลงในสัปดาห์นี้ เม็ดเงินจากสถาบันในประเทศยังคงไหลเข้าจากกองทุนประหยัดภาษีปลายปี ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ แม้ OPEC จะปรับลดคาดการณ์อุปสงค์ลง
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ทำเพื่อรับมือทรัมป์
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนที่สูงขึ้นเป็นผลจากปัจจัยต้นทุน (Cost-Push) เป็นหลัก โดยเฉพาะองค์ประกอบด้านอาหารและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นจาก 0.26% (p.p.) เป็น 0.40% (p.p.) จากฐานราคาน้ำมันสำเร็จรูปปี 2023 ที่ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.4 ดอลลาร์ต่อแกลลอน จาก 3.6 ดอลลาร์ในเดือนก่อน แม้ราคาน้ำมันในปีนี้จะลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3.2 ดอลลาร์ก็ตาม ขณะที่ราคาสินค้ารายเดือนหลายชนิดเริ่มเพิ่มขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ค่าห้องพักโรงแรม และราคาอาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ เงินเฟ้อจากราคาบ้านที่ลดลงสู่ 1.88% (p.p) ตามค่าเช่าที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2021 ขณะที่เงินเฟ้อจากค่าจ้างและองค์ประกอบอื่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
เราจึงยังคงมองว่า Fed สามารถลดดอกเบี้ยได้ในเดือนธันวาคม แต่ในระยะต่อไปจะเริ่มลดทอนการลดดอกเบี้ยลง
ด้านการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2025 ของรัฐบาลจีน มองว่าเพื่อตอบโจทย์เร่งด่วน 2 ประการ คือ
1. สัญญาณอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอต่อเนื่อง สะท้อนจากเงินเฟ้อผู้บริโภคต่ำและเงินเฟ้อผู้ผลิตที่ติดลบต่อเนื่อง 26 เดือน ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลง บ่งชี้มาตรการกระตุ้นเดิมมีผลจำกัด
2. เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจากนโยบายของทรัมป์ที่อาจกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยจีนพยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นอุปสงค์ภายในและเสริมความแข็งแกร่งของตลาดทุน เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและเตรียมรับมือกับสงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้นที่คาดได้อานิสงส์จากการเป็นเป้าหมายสะสมของกองทุนวายุภักษ์และกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีช่วงปลายปี เช่น SSF และ RMF แนะนำ ADVANC, AP, BBL, BDMS และ HMPRO
2. หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนของภาครัฐ แนะนำกลุ่มพาณิชย์ (CPALL, CPAXT, CRC, HMPRO และ TNP) กลุ่มท่องเที่ยว (AWC, AOT และ MINT)
3. หุ้น Earnings Play ซึ่งมองมีโมเมนตัมกำไร 4Q24 จะเติบโตดี YoY และ QoQ อีกทั้งเราแนะนำ Outperform เลือก GULF, OSP, AMATA, AU, TIDLOR และ BCP
4. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจเก็งกำไรหุ้นที่คาดได้อานิสงส์ดอกเบี้ยขาลง แนะนำ 1) หุ้นกลุ่ม REITs (LHHOTEL และ DIF) ซึ่งได้อานิสงส์บวกภายใต้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรกำลังจะเปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง 2) หุ้นกลุ่มค้าปลีก (CPALL) ซึ่งได้อานิสงส์จากประชาชนมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น (ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลง) และ 3) หุ้นธนาคาร (TISCO และ KKP) เพราะมีสัดส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อสูง ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ / หุ้น Laggard ซึ่งมีเทคนิคมีแนวโน้มฟื้นตัว แนะนำ BEM, BDMS, MINT และ AP
“ช่วงสั้นมอง SET จะแกว่งตัวผันผวน โดยมีแนวรับที่บริเวณ 1,440-1,450 จุด ทั้งนี้ Upside ของตลาดขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและการปรับลดดอกเบี้ยของ Fed ด้านตลาดหุ้นไทยติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ตลาดคาดว่าจะคงดอกเบี้ยเป็นปัจจัยกดดันตลาดในระยะสั้น อย่างไรก็ดี หาก กนง. ปรับลดดอกเบี้ยจะส่งผลให้ SET Index ปรับตัวขึ้นได้ราว 15-20 จุด รวมถึงการเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการซื้อกองทุนประหยัดภาษีที่มักเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี ขณะที่ยังต้องติดตามนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. Fed วันที่ 17-18 ธันวาคม คาดว่าจะลดดอกเบี้ยสู่ 4.4%
2. BOJ วันที่ 19 ธันวาคม คาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ 0.25%
3. ธปท. วันที่ 18 ธันวาคม คาดว่าจะลดดอกเบี้ยสู่ 2.00%
4. ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญจีน (ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนสินทรัพย์ถาวร)
5. GDP 3Q24 สหรัฐฯ ประกาศครั้งสุดท้าย
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: CPALL - 4Q24 คาดกำไรทำจุดสูงสุดปีนี้
แนะนำ บมจ.ซีพี ออลล์ หรือ CPALL เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีก-ค้าส่งในไทย ซึ่งมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง อีกทั้งยังสามารถอยู่รอดและเติบโตได้ดีภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนและชะลอตัว
- 4Q24 คาดว่าจะเป็นจุดสูงสุดของกำไรในปีนี้ โดยจะเพิ่มขึ้น YoY จากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้นทั้งจากธุรกิจ CVS และ CPAXT และเพิ่มขึ้น QoQ จากปัจจัยฤดูกาล (High Season) หนุนให้ปี 2024 คาดกำไรปกติเติบโตเด่น 37%YoY และยังเติบโตต่อ 16%YoY ในปี 2025 ซึ่งยังไม่รวม Upside จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 และ 3 ของรัฐบาล
- Valuation น่าสนใจ โดยราคาหุ้น CPALL ซื้อขาย PER 2024F และ 2025F ที่ 23 เท่า และ 20 เท่า ตามลำดับ (คิดเป็น -2 S.D. จาก PER เฉลี่ย 10 ปี) ซึ่งมองยังไม่สะท้อนกำไรที่เติบโตดี และเป็นหุ้นที่ได้อานิสงส์ตรงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 81 บาท อิงวิธี DCF (WACC 7% และอัตราเติบโตระยะยาว 2.5%) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 1.38 บาท คิดเป็น Div. Yield ราวปีละ 2.2%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ในปัจจุบันเราเริ่มเห็นกลุ่มบริษัทเทคใหญ่อย่าง AMZN, AAPL และ GOOGL ผลิตชิปของตัวเอง ซึ่งเรามองว่ากลุ่มเทคใหญ่ต้องการลดการพึ่งพาบริษัทอื่นที่มีต้นทุนที่สูงและมีความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานขาดแคลนมากกว่าที่จะหาแหล่งรายได้ใหม่ อย่างไรก็ดี เราประเมินได้ว่างานบางส่วนโดยเฉพาะการประมวลผล AI ยังคงต้องพึ่งพา NVDA ที่มีเทคล้ำอยู่ ทำให้แนวโน้มกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ AI ยังคงโตดี ขณะที่มองบวกต่อประเด็นนี้ หลังทำให้ระบบนิเวศกลุ่มเทคใหญ่ดีขึ้น
- Amazon สร้างชิปประมวลผล Trainium2 จำนวนหลายแสนชิป เพื่อจัดกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ ช่วยให้ Anthropic สามารถฝึกโมเดลภาษาขนาดใหญ่ที่จำเป็นสำหรับ Generative AI และงานแมชชีนเลิร์นนิงอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลให้กับ Anthropic ถึง 5 เท่า
- Apple เผยแผนใช้ชิป Proxima ที่พัฒนาเองสำหรับการเชื่อม Bluetooth และ WiFi โดยจะค่อยๆ เลิกใช้ชิปบางส่วนจาก AVGO และมีกำหนดจะเริ่มใช้ใน iPhone และอุปกรณ์สมาร์ทโฮมรุ่นแรกที่ผลิตในปี 2025 โดยชิปนี้จะผลิตโดย TSMC ขณะที่ในส่วนชิป AI ยังคงร่วมมือกับ AVGO ในการพัฒนาชิปเซ็ต AI ใหม่ที่ชื่อ Baltra และมีการผลิตจำนวนมากใน FY26
- Google ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชิป Willow ควอนตัมใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาที่ใช้เวลา 10 Septillion ปีด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ให้เหลือเพียง 5 นาที ซึ่งชิป Willow มีอัตราข้อผิดพลาด (Error Rate) ที่ต่ำลง ทำให้สามารถสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาดใหญ่ขึ้นได้ โดย Google มีแผนที่จะนำเสนอกรณีการใช้งานจริงภายในปี 2025
เราประเมินบริษัทเทคในภาพรวมต้องการลดการพึ่งพาชิป NVDA ที่มีราคาแพงและมีอุปทานการผลิตที่ช้ากว่าอุปสงค์ ซึ่งการพัฒนาชิปด้วยตัวบริษัทเองจะช่วยให้ระบบนิเวศของบริษัทครบวงจรและสมบูรณ์มากขึ้น รวมถึงลดความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานขาดแคลนได้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าในบางภาคส่วนงานยังคงเป็นเรื่องยากที่จะลดการพึ่งพาโปรเซสเซอร์อย่าง NVIDIA เนื่องจากประสิทธิภาพการประมวลผลยังคงมีความซับซ้อนอยู่มาก โดยเฉพาะงานในส่วน AI
ด้วยภาพนี้ทำให้เรามองว่า
1. กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตชิป AI ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตจากอุปสงค์ AI ที่แกร่งอยู่ โดยเราชอบ NVDA, AMD และ TSM อย่างไรก็ดี กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับชิปความจำหรือชิป 5G จะมีความเสี่ยงจากกลุ่มเทคที่ลดการพึ่งพาและลดคำสั่งซื้อได้
2. กลุ่มเทคใหญ่ที่ผลิตชิปด้วยตัวเองจะได้เปรียบจากระบบนิเวศที่ครบวงจรมากขึ้น เราชอบ GOOGL, AMZN และ MSFT
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่องมีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้าต่างๆ และข้อพิพาทบนช่องแคบไต้หวัน โดยล่าสุดทางการจีนระบุว่า การตัดสินใจว่าจะจัดการซ้อมรบทางทหารเพื่อตอบโต้การเยือนสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีไต้หวันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาถึงความจำเป็นและสถานการณ์ความขัดแย้ง
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
โอกาสที่ UST Yield Curve จะเพิ่มความชัน โดยที่ Yield ตัวยาวเพิ่มขึ้น ยังมีอยู่ จากแนวโน้มการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์ที่เพิ่มความเสี่ยงเงินเฟ้อ ทั้งนโยบายกีดกันผู้อพยพและนโยบายกำแพงภาษี และอาจทำให้ Fed เพิ่มความระมัดระวังในการลดดอกเบี้ยในระยะถัดไป นอกจากนี้ นักลงทุนอาจต้องการส่วนชดเชยความเสี่ยงสำหรับการลงทุนใน UST มากขึ้น ท่ามกลางความกังวลทั้งการขาดดุลการคลัง ความผันผวนในตลาด UST และความเสี่ยงเงินเฟ้อ โดย PPI สหรัฐฯ ล่าสุดออกมาสูงกว่าคาด ทั้งนี้ Bond อายุ 2-4 ปี มีความเสี่ยง Duration ไม่มาก และมี Coupon มากพอ จึงทำให้ยังน่าสนใจลงทุนและคุ้มที่จะถือเพื่อ Hedge หากเกิดกรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดไว้มาก
US Treasury & IG
UST Yield โดยเฉพาะตัวยาว มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความคาดหวังที่ลดลงของตลาด เกี่ยวกับแนวโน้มการลดดอกเบี้ยที่มากของ Fed หลังเจ้าหน้าที่ Fed หลายรายออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการ Fed ใช้ความระมัดระวังในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ประกอบกับความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการคลังที่มากขึ้น และแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังหนืดจากการผลักดันนโยบายต่างๆ ของทรัมป์
แนะนำลงทุนทั้ง UST และ US IG Bond โดยเน้นลงทุนใน Duration ประมาณ 2-4 ปี ที่ให้ Yield เฉลี่ยยังสูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของ Fed ที่ 2.9% เพื่อเป็นการ Lock Coupon
High Yield Bond
US HY ยังให้ผลตอบแทนรวมเป็นบวก QTD ส่วนใหญ่มาจาก Spread ที่แคบลง ตาม
1. HY Default Rate (12M Trailing) ที่ยังต่ำเพียง 3%
2. ตัวเลข Rising Stars ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า Fallen Angels สอดคล้องกับโมเมนตัมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดี
3. ความผันผวนของตลาด US HY ที่ยังต่ำ
4. ประเด็น Maturity Wall ที่ยังไม่ได้น่ากังวลนัก โดยในปี 2025 อยู่ที่เพียง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ด้วย Spread ที่ค่อนข้างแคบ และ UST Yield ตัวยาวที่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อ จึงทำให้ Upside ของ HY มีจำกัด
สินทรัพย์ผสม, กึ่งหนี้กึ่งทุน และ REITs
REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงินสดให้กับ Portfolio ได้ ทั้งในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจาก
1. แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งเราคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี 2025 ส่งผลให้ US REITs มีความน่าสนใจในแง่ของเงินปันผลที่สูงราว 4.0%
2. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงราว 94% และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NOI) ที่เติบโตต่อเนื่อง
3. ผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ตามแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง
4. งบดุลที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถรองรับการเติบโตในอนาคต
5. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
อย่างไรก็ตาม Bond Yield ที่ปรับตัวขึ้นจากแผนขาดดุลการคลังที่เพิ่มขึ้นของทรัมป์ และความกังวลเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น กดดันราคา US REITs ในระยะสั้น
Private Credit
เรามีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) อย่างไรก็ตาม ยังเน้นการลงทุนใน Private Credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (First Lien Seniority)
หุ้นไทย
ดัชนีฯ ได้ปัจจัยหนุนระยะยาวจาก
1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2025 ที่เร่งตัวขึ้น มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท และแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว
2. แนวโน้มการลงทุนด้าน Data Center ที่เพิ่มขึ้น
3. นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยคาดว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยปี 2025 อีก 25 bps อยู่ที่ 2.0%
4. มาตรการแก้หนี้ของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยหนุนการบริโภคและบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน
5. กำไร บจ. ในปี 2025 มีแนวโน้มขยายตัว โดย Bloomberg คาดการณ์ EPS Growth ในปี 2025 ของ SET ที่ 13% แม้ว่าการขึ้น Tariff ของสหรัฐฯ อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าและเงินทุนไหลออก แต่ในระยะกลาง-ยาว ภาคท่องเที่ยวและ FDI ที่ดีจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ที่ยังขยายตัวดี ท่ามกลางผลบวกจากกระแส AI และนโยบายกระตุ้นของทรัมป์ แม้ว่า P/E ยังตึงตัว แต่ความเสี่ยงที่จะปรับลดลงมากมีจำกัด ตามแนวโน้มเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้นและโมเมนตัม EPS ที่ยังดี
หุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากการลดดอกเบี้ย แต่ยังเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ จะปรับเพิ่ม Tariff และเสถียรภาพทางการเมืองในฝรั่งเศสและเยอรมนีที่ลดลง
หุ้นญี่ปุ่นได้อานิสงส์จากเงินเยนอ่อนค่าและการปฏิรูปบรรษัทภิบาลของตลาดฯ
หุ้นสหรัฐฯ
ความคาดหวังแนวโน้มเศรษฐกิจ Soft Landing ในสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ หลังแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุด บ่งชี้ว่า GDP ของสหรัฐฯ ใน 4Q24 จะ +3.3% ขณะที่ Consensus คาด S&P 500 EPS Growth ใน 4Q24 จะ +9.6%YoY และจะขยายตัวถึงสองหลักในทุกไตรมาสของปี 2025 ส่วนการที่คณะทำงานของทรัมป์เตรียมเข้ามาบริหารประเทศในเดือนมกราคม 2025 หนุนความหวังของตลาดเกี่ยวกับการผ่อนคลายกฎระเบียบและการลดภาษีเงินได้ในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เรายังเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ EPS มีแนวโน้มขยายตัวดี และสอดรับกับ AI Theme ผสมผสานกับหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ช่วยลดความเสี่ยงสงครามการค้า
หุ้นยุโรป
ดัชนีหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักในยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มส่งเสริมการบริโภค โดยเราเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ยุโรป ที่มีความสามารถในการกำไรสูงและมีงบดุลแข็งแกร่ง แม้ยังมีความเสี่ยงจากภาคการเมืองของเยอรมนีและฝรั่งเศสที่มีเสถียรภาพลดลงจากการที่รัฐบาลมีเสียงส่วนน้อยในสภา ขณะที่ยังไร้ข้อสรุปบนร่างงบประมาณประจำปี 2025 รวมทั้งข้อพิพาทการค้ากับจีน (หลังจีนบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดชั่วคราวต่อการนำเข้าบรั่นดีจาก EU) และแนวโน้มการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง อาจส่งผลกระทบกับการส่งออกรถยนต์ (กลุ่ม Auto) ของสหภาพยุโรป
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
ตลาดหุ้น EM เผชิญความท้าทายมากขึ้น หลังทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ สร้างความกังวลต่อประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้า ขณะที่ 10Y UST Yield ปรับเพิ่มขึ้นและเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า / แม้ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังผิดหวังกับผลการประชุม CEWC ที่รัฐบาลนำเสนอแนวทางนโยบายกระตุ้นการบริโภคอย่างกว้างๆ แต่ขาดรายละเอียดที่เป็นรูปธรรม / เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตชะลอตัวลง ขณะที่กำไรของ บจ. อาจถูกปรับประมาณการลงและกดดันดัชนีฯ ระยะสั้น อย่างไรก็ดี หุ้นอินเดียอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจโลก เงินดอลลาร์สหรัฐ และต่อดอกเบี้ยของ Fed ต่ำ
หุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาด โดยธนาคารกลางอินเดียปรับลดคาดการณ์ GDP ใน FY2025 อยู่ที่ 6.6% จากเดิมคาดไว้ที่ 7.2% และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6.5% ตามคาด จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 6.21% (มากกว่ากรอบเป้าหมาย ที่ 4-6%) ขณะที่ปรับลดอัตราส่วนสำรองเงินสดของธนาคารลง 0.5% เป็น 4.0% เพื่อเสริมสภาพคล่องในเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ Valuation ของดัชนีฯ อยู่ในระดับที่แพง อย่างไรก็ดี จากการที่เศรษฐกิจอินเดียพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ สัดส่วนต่ำกว่า EM อื่นๆ และโครงสร้างเศรษฐกิจยังเติบโตดีในระยะยาว แนะนำทยอยสะสมเมื่อย่อตัว
หุ้นอินโดนีเซีย
ดัชนีฯ ได้แรงหนุนจาก
1. เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดีจากการบริโภคที่ฟื้นตัว และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีราว 10.3% ในเดือนตุลาคม ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ ปราโบโว ซูเบียนโต ซึ่งจะหนุนภาคการลงทุนและก่อให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
2. FDI มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น
3. เราคาดว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก 100 bps จนถึงสิ้นปี 2025 ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการบริโภค
4. Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดย 12M Fwd P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ -1.0 S.D. อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนค่าลงจากความกังวลต่อนโยบายของทรัมป์ อาจส่งผลกดดันดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นจีน
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก EPS ดัชนีฯ ที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวขึ้น และจากการทยอยออกมาตรการหนุนทางการเงิน การคลัง ภาคอสังหา และตลาดทุน ของทางการ โดยล่าสุด ที่ประชุม CEWC ส่งสัญญาณว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายทางการคลังในปี 2025 โดยมุ่งเน้นไปที่การบริโภค เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากการที่ทางการจะขยายโครงการบำนาญเอกชนให้ครอบคลุมทั้งจีน (เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม) ซึ่งจะช่วยหนุนให้มีแรงซื้อในหุ้นจีนตามมา
สินค้าโภคภัณฑ์
ปัจจัยพื้นฐานของทองคำยังคงสนับสนุนการลงทุนในพอร์ตระยะยาว เนื่องจาก
1. เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
2. ความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อยู่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังทรัมป์ชนะเลือกตั้ง สนับสนุนการถือครองทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศ
3. ช่วยกระจายความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากนโยบายการกีดกันทางการค้า
4. Fund Flow ของ ETF ทองคำ ที่กลับมาซื้อสุทธิ 7 เดือนติดต่อกัน
อย่างไรก็ตาม สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และ US Bond Yield ที่ปรับขึ้น มีแนวโน้มส่งผลกดดันราคาทองคำในระยะสั้น