Economic – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Sat, 27 Apr 2024 05:56:48 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.3.1 สรุป! ทำไมเงินเยนอ่อนสุดรอบ 34 ปี หลัง BOJ คงดอกเบี้ย ส่วน Fed มีโอกาส Higher for Longer https://thestandard.co/yen-drops-to-fresh-34-year-low/ Sat, 27 Apr 2024 05:56:48 +0000 https://thestandard.co/?p=927388 เงินเยนอ่อนค่า

เงินเยนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี เมื่อเทียบกับดอ […]

The post สรุป! ทำไมเงินเยนอ่อนสุดรอบ 34 ปี หลัง BOJ คงดอกเบี้ย ส่วน Fed มีโอกาส Higher for Longer appeared first on THE STANDARD.

]]>
เงินเยนอ่อนค่า

เงินเยนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 เมษายน) โดยจุดหนึ่งร่วงไปถึง 158.33 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ตั้งแต่ต้นปี (YTD) เงินเยนอ่อนค่าไปแล้วเกือบ 11%

 

เมื่อเทียบกับเงินบาทไทย วันนี้ (27 เมษายน) เงินเยนก็ยังอ่อนค่า โดยเงิน 100 เยนใช้เงินบาทเพียง 23.37 บาทก็สามารถแลกได้แล้ว นับว่าเป็นการอ่อนค่ามากสุดในรอบ 27 ปี หรือตั้งแต่ปี 1997 แม้ว่าตั้งแต่ต้นปีเงินบาทจะอ่อนค่าไปราว 8% แล้วก็ตาม (เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ)

 

เปิดเหตุผลทำไมเงินเยนอ่อนค่าหนัก

 

  1. BOJ คงดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ช่องว่างดอกเบี้ยญี่ปุ่น-สหรัฐฯ กว้างต่อ

 

การอ่อนค่าของเงินเยนครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในวันศุกร์ พร้อมส่งสัญญาณว่าญี่ปุ่นยังจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป (Ultra-Loose Policy)

 

สะท้อนว่า BOJ จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่น และธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) กว้างเช่นนี้ต่อไป ทำให้นักลงทุนย่อมเสาะหาผลตอบแทนที่ดีกว่าญี่ปุ่น

 

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นอยู่ที่ 0-0.1% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ สูงถึง 5.25-5.5%

 

  1. ผู้ว่า BOJ ไม่ให้น้ำหนักต่อการอ่อนค่าของเยน?

 

นอกจากนี้ ในการแถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน Kazuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ก็กล่าว ‘เพียงเล็กน้อย’ เท่านั้นว่าสนับสนุนเงินเยน

 

อย่างไรก็ดี Shunichi Suzuki รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ก็กล่าวย้ำหลังการประชุม BOJ ว่ารัฐบาลจะตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยให้เงินเยนอ่อนค่าเร็วเกินไป

 

  1. เงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังร้อนแรง นักลงทุนหวั่นดันช่องว่างดอกเบี้ยกว้างขึ้น

 

ขณะเดียวกันข้อมูลจากฝั่งสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ ก็แสดงให้เห็นว่าดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditures: PCE) ซึ่งเป็นตัววัดอัตราเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญ ก็เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนมีนาคม ส่งผลให้ความคาดหวังของนักลงทุนเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ริบหรี่ลง

 

Ben Ayers นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Nationwide กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ร้อนแรงจนถึงเดือนมีนาคมน่าจะลดความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครึ่งแรกของปีนี้ออกไป นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ดูเหมือนจะ Resilience มากขึ้น เพิ่มความเป็นไปได้ว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed จะเกิดขึ้นในปี 2025 หากเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญในปีหน้า

 

ดังนั้นตลาดจึงเชื่อว่าช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มกว้างต่อไป ทำให้นักลงทุนหันไปหาสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

 

อ้างอิง: 

The post สรุป! ทำไมเงินเยนอ่อนสุดรอบ 34 ปี หลัง BOJ คงดอกเบี้ย ส่วน Fed มีโอกาส Higher for Longer appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘ธนาคารกรุงเทพ’ แบงก์พาณิชย์แรก! ประกาศลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% https://thestandard.co/bangkok-bank-interest-rate-reduction/ Fri, 26 Apr 2024 07:41:07 +0000 https://thestandard.co/?p=927110

หลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ […]

The post ‘ธนาคารกรุงเทพ’ แบงก์พาณิชย์แรก! ประกาศลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% appeared first on THE STANDARD.

]]>

หลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง หารือขอให้ช่วยพิจารณาเรื่องดอกเบี้ย

 

ล่าสุดธนาคารกรุงเทพตอบรับมาตรการของภาครัฐ ลดภาระทางการเงินของลูกค้า ประกาศปรับลด MRR ลง 0.25% มีผลวันที่ 29 เมษายน 2567 เป็นธนาคารแรก

 

โดยรายงานข่าวระบุว่า ตามที่สมาคมธนาคารไทย (TBA) เห็นถึงความจำเป็นในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SME เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และสนับสนุนการฟื้นตัว ปรับตัว ในช่วงที่กลไกตลาดกำลังปรับเปลี่ยนไปสู่จุดสมดุลในระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล และสอดคล้องกับแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

ธนาคารกรุงเทพพร้อมที่จะตอบสนองต่อมาตรการของภาครัฐ และตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้า เพื่อลดภาระทางการเงินด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้า ครอบคลุมทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ SME และลูกค้ารายย่อย ซึ่งรวมถึงกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ 

 

ดังนั้น การปรับลด MRR 0.25% ในครั้งนี้ จึงเป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่จะช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมในช่วงที่มีความเปราะบางทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ 

 

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีโครงการช่วยเหลือลูกค้า SME ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษภายใต้โครงการ ‘สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan)’ วงเงินโครงการ 2 หมื่นล้านบาท โดยพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 5% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี ผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งลูกค้าปัจจุบันหรือลูกค้าใหม่ สามารถติดต่อสมัครสินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 – 31 มกราคม 2568 (หรือเมื่อมีลูกค้าใช้สินเชื่อเต็มวงเงินของโครงการ) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจ SME ในการฟื้นฟูธุรกิจและปรับตัวเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน

The post ‘ธนาคารกรุงเทพ’ แบงก์พาณิชย์แรก! ประกาศลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% appeared first on THE STANDARD.

]]>
คนผ่อนบ้านเฮ! ธอส. ลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย MRR 0.25% มีผล 1 พ.ค. นี้ https://thestandard.co/gho-mortgage-rate-reduction/ Fri, 26 Apr 2024 07:00:09 +0000 https://thestandard.co/?p=927073

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ขานรับนโยบายรัฐบาล ช่วยลดภา […]

The post คนผ่อนบ้านเฮ! ธอส. ลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย MRR 0.25% มีผล 1 พ.ค. นี้ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ขานรับนโยบายรัฐบาล ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

 

วันนี้ (26 เมษายน) กมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สมาคมสถาบันการเงินของรัฐมีมติร่วมกันให้สถาบันการเงินสมาชิกปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและลูกค้ากลุ่มเปราะบาง 

 

โดย ธอส. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% ต่อปี จากเดิม 6.795% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.545% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป

 

เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้ากว่า 1.8 ล้านบัญชี รวมถึงลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยและลูกค้ากลุ่มเปราะบางให้มีเงินเหลือเพียงพอในการดำรงชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

 

นอกจากนี้ ธอส. ยังพร้อมสนับสนุนการออมภาคประชาชนให้มีวินัยทางการเงินเพิ่มมากขึ้น ด้วยการเพิ่มทางเลือกในการออมเงินที่ได้รับผลตอบแทนสูง จึงได้จัดทำผลิตภัณฑ์เงินฝากออมทรัพย์ ‘เก็บออม’ เพียงเปิดบัญชีเงินฝากขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป และมีวงเงินฝากคงเหลือไม่เกิน 200,000 บาท จะได้รับอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1.95% ต่อปี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) พิเศษ! ดอกเบี้ยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากปีละ 2 ครั้ง (29 มิถุนายน และ 29 ธันวาคม) 

 

ผู้ที่สนใจสามารถเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ‘เก็บออม’ ได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม – 30 ธันวาคม 2567 หรือจนกว่าจะเต็มกรอบวงเงินโครงการ ณ สาขาธนาคารทั่วประเทศ

The post คนผ่อนบ้านเฮ! ธอส. ลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย MRR 0.25% มีผล 1 พ.ค. นี้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ’ เอาด้วย! ลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย ‘ทุกกลุ่ม’ ลง 0.25% ขานรับนโยบายนายกฯ เริ่ม 1 พ.ค. นาน 6 เดือน https://thestandard.co/gfa-discount-interest/ Fri, 26 Apr 2024 04:18:31 +0000 https://thestandard.co/?p=926967 สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อ […]

The post ‘สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ’ เอาด้วย! ลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย ‘ทุกกลุ่ม’ ลง 0.25% ขานรับนโยบายนายกฯ เริ่ม 1 พ.ค. นาน 6 เดือน appeared first on THE STANDARD.

]]>
สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบาง สนองขานรับนโยบายนายกฯ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ด้าน EXIM BANK ชี้ลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate เหลือ 6.35% ต่อปี ต่ำที่สุดในระบบ!

 

วันนี้ (26 เมษายน) วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 ที่ประชุมมีมติร่วมกันในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและกลุ่มเปราะบางตามนโยบายรัฐบาล เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นระยะเวลา 6 เดือน 

 

โดยธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมถึงธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกันลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยทุกกลุ่มลง 0.25% อันได้แก่

 

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR – Minimum Retail Rate)
  • อัตราดอกเบี้ยตามประกาศ (Prime Rate) 
  • อัตรากำไรอ้างอิงสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (SPRR – Standard Profit Rate for Prime Retail Customer)

 

ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร่วมลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางลง 0.25% เป็นระยะเวลา 6 เดือนด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีการพักชำระหนี้เกษตรกรไปแล้วก่อนหน้านี้ 

 

ในแถลงการณ์ยังระบุว่า “อนึ่ง สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารสมาชิกฯ ตระหนักถึงภาระต้นทุนทางการเงินของประชาชนและสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในขณะนี้ โดยสมาคมฯ พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการทางการเงินต่างๆ ที่จัดทำขึ้น เพื่อบรรเทาภาระและช่วยเสริมสภาพคล่องในครัวเรือน ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

 

EXIM BANK ชี้ ลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate เหลือต่ำที่สุดในระบบ

 

ขณะที่ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.60% เหลือ 6.35% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์) นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางและ SMEs โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในครั้งนี้เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.15% ต่อปีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เพื่อเป็นของขวัญแก่ผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ EXIM BANK จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 0.40% ต่อปี เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และ SMEs สอดคล้องกับภารกิจของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ บรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจ และสามารถปรับตัวให้แข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ช้าลง

The post ‘สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ’ เอาด้วย! ลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อย ‘ทุกกลุ่ม’ ลง 0.25% ขานรับนโยบายนายกฯ เริ่ม 1 พ.ค. นาน 6 เดือน appeared first on THE STANDARD.

]]>
ส.อ.ท. เผย ตลาดรถยนต์มีนาคมทรุด! หนี้ครัวเรือนพุ่ง-แบงก์เข้มสินเชื่อ ทุบยอดผลิตลดลง 23% ขณะที่ยอดขายและส่งออกหายไป ‘ทุกเซ็กเตอร์’ https://thestandard.co/fti-automotive-march-sales-drop/ Thu, 25 Apr 2024 11:55:12 +0000 https://thestandard.co/?p=926759 ส.อ.ท.

หนี้ครัวเรือนยังพุ่งสูง แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อทำตลาดรถย […]

The post ส.อ.ท. เผย ตลาดรถยนต์มีนาคมทรุด! หนี้ครัวเรือนพุ่ง-แบงก์เข้มสินเชื่อ ทุบยอดผลิตลดลง 23% ขณะที่ยอดขายและส่งออกหายไป ‘ทุกเซ็กเตอร์’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ส.อ.ท.

หนี้ครัวเรือนยังพุ่งสูง แบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อทำตลาดรถยนต์ชะลอ ส.อ.ท. เผย เดือนมีนาคม 2567 ยอดการผลิตรถยนต์ของไทยลดลง 23.08% ส่งผลให้ยอดขายลดลง 29.83% รวมถึงยอดส่งออกลดลง 3.35% ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้น 2,965% แต่ยอดขายประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ลดลง 28.38%

 

วันนี้ (25 เมษายน) สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือนมีนาคม 2567 มีการผลิตทั้งสิ้น 138,331 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 23.08% โดยมีปัจจัยหลักจากการผลิตขายในประเทศลดลง 41.01% จากการผลิตรถกระบะและรถยนต์นั่งที่ลดลงตามยอดขายในประเทศที่ลดลง

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

“เนื่องจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมไปถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังไม่มาก เพราะโรงงานผลิตรถยนต์บางบริษัทยังไม่พร้อม ซึ่งคาดว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสที่ 3”

 

ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 414,123 คัน ลดลงจากปีที่แล้ว 18.45%

 

ยอดขายทรุดหลังหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจยังอ่อนแอ

 

ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 56,099 คัน ลดลง 29.83% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินจากหนี้ครัวเรือนที่สูงมากและเศรษฐกิจที่อ่อนแอ เพราะความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้าไปหลายเดือน ทำให้การใช้จ่าย การลงทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชะลอตัวไปด้วย ซึ่งคาดว่าครึ่งปีหลังยอดขายรถยนต์จะดีขึ้นจากการใช้จ่าย การลงทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลร่วมกับการลงทุนของเอกชน และการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นมากกว่า 33 ล้านคน

 

“โดยรวมไตรมาสแรกมียอดขาย 163,756 คัน ลดลง 24.56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะยอดขายรถกระบะลดลงมาก โดยมีสัดส่วนน้อยกว่ารถยนต์นั่ง เพราะแบงก์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อลดลงถึง 50%” สุรพงษ์กล่าว

 

เช่นเดียวกับยอดการส่งออกเดือนมีนาคม 2567 ส่งออกได้ 95,089 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 7.18% แต่ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 3.35% ทั้งนี้ เชื่อว่าการส่งออกยังคงแข็งแกร่งตามยอดขายของประเทศคู่ค้าที่ยังเติบโต เช่น ประเทศออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ 

 

โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์ในเดือนมีนาคมปีนี้อยู่ที่ 67,926.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ 12%

 

ดังนั้น การส่งออกในช่วงไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปี 2567 อยู่ที่ 270,525 คัน ลดลง 1.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 248,608.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

แม้ว่ายอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเดือนมีนาคม รวมมีการจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 2,965% 

 

แต่เมื่อดูประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่แล้วมียอดจดทะเบียนใหม่ 7,436 คัน ลดลง 15.59% จากเดือนมีนาคมปีก่อน

 

ส่งผลให้ยอดขายรวม BEV เดือนมีนาคมปีนี้อยู่ที่ 4,615 คัน หรือ 8.23% ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้วที่ 28.38% 

 

เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้บริโภคเร่งจดทะเบียนให้ทันภายในกำหนดเวลา เพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการ EV3.5 ในการลดภาษีสรรพสามิต 150,000 บาทต่อคัน 

 

สุรพงษ์กล่าวสรุปอีกว่า “แม้เดือนมีนาคม ภาพรวมทั้งยอดผลิตรถยนต์ ยอดขาย ยอดส่งออกลดลง แต่ปีนี้ยังคงเป้าหมายการผลิตที่ 1.9 ล้านคัน การส่งออก 1.15 ล้านคัน และเป้าหมายขายในประเทศ 750,000 คัน ท่ามกลางหลายปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิด”

The post ส.อ.ท. เผย ตลาดรถยนต์มีนาคมทรุด! หนี้ครัวเรือนพุ่ง-แบงก์เข้มสินเชื่อ ทุบยอดผลิตลดลง 23% ขณะที่ยอดขายและส่งออกหายไป ‘ทุกเซ็กเตอร์’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
สมาคมแบงก์ไทยประกาศลดดอกเบี้ย สวนสัญญาณแบงก์ชาติหรือไม่? ส่งผลดี-เสียอย่างไร https://thestandard.co/wealth-in-depth-tba-interest-rate-cut/ Thu, 25 Apr 2024 10:51:13 +0000 https://thestandard.co/?p=926740 สมาคมธนาคารไทย ลดดอกเบี้ย

ประเมินผลกระทบหลัง ‘สมาคมธนาคารไทย’ ประกาศลดดอกเบี้ยลูก […]

The post สมาคมแบงก์ไทยประกาศลดดอกเบี้ย สวนสัญญาณแบงก์ชาติหรือไม่? ส่งผลดี-เสียอย่างไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
สมาคมธนาคารไทย ลดดอกเบี้ย

ประเมินผลกระทบหลัง ‘สมาคมธนาคารไทย’ ประกาศลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยลง 0.25% เพื่อช่วยลูกค้ากลุ่มเปราะบางเป็นเวลา 6 เดือน หลังนายกรัฐมนตรีเรียกผู้บริหารธนาคารใหญ่เข้าพบ ด้านผู้เชี่ยวชาญมอง แม้มาตรการนี้คาดว่าจะช่วยลดภาระลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ในระยะสั้น แต่ต่างชาติอาจตั้งคำถามต่อการบริหารงานของรัฐบาลไทย พร้อมจับตาว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในระยะยาวได้แค่ไหน?

 

วันนี้ (25 เมษายน) ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า วานนี้ (24 เมษายน) ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทยได้ตระหนัก และเห็นถึงความจำเป็นในการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง จึงประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SMEs เป็นเวลา 6 เดือน

 

โดยในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ธนาคารสมาชิกแต่ละแห่งจะเร่งพิจารณาดำเนินการตามหลักการดังกล่าว และเตรียมความพร้อมของระบบงาน เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเปราะบางของแต่ละธนาคารตามบริบทที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด ซึ่งหมายความว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์ว่าจะให้มีผลเมื่อไรหรือครอบคลุมสินเชื่อใดบ้าง

 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกผู้บริหาร 4 ธนาคารใหญ่ หลังจากประสบความล้มเหลวในการร้องขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ย

 

โดยในการประชุมครั้งล่าสุด (10 เมษายน) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ เงินเฟ้อจ่อเข้ากรอบ และห่วงว่าการลดดอกเบี้ยจะกระทบต่อกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt Deleveraging) 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

แบงก์ลดดอกเบี้ยสวนสัญญาณแบงก์ชาติปกติหรือไม่ 

 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองผู้ว่าการ  สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (​ธปท.) ระบุว่า มีบ่อยครั้งที่แบงก์พาณิชย์เลือกลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้สัมพันธ์กับแบงก์ชาติ

 

อย่างไรก็ดี ความพิเศษของการเคลื่อนไหววันนี้คือ เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหาร 4 แบงก์

 

สอดคล้องกับ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในรายการ Morning Wealth ว่า ในเชิงหลักการ แบงก์พาณิชย์สามารถปรับขึ้นและลงดอกเบี้ยได้อยู่แล้วตาม Business Model ของธนาคารแต่ละแห่ง

 

อย่างไรก็ดี ดร.กิริฎา มองว่า โดยปกติแล้วการพูดคุยกับแบงก์พาณิชย์จะเป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ แต่การพูดคุยของผู้นำรัฐบาลไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเห็น เช่น ช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เคยเรียกภาคเอกชนมาพูดคุย

 

กระนั้นเหตุการณ์ที่ผู้นำประเทศขอร้องธนาคารพาณิชย์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยโดยตรงโดยไม่ผ่านธนาคารกลาง ธีระชัยระบุว่า เป็นเหตุการณ์ที่ “ผมไม่เคยเห็นเลย”

 

การประชุมของสมาคมธนาคารไทยครั้งนี้ยังเกิดขึ้นหลังจากแจ้งผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/67 ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ซึ่งพบว่า มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ยังคงขยายตัวในภาพรวม

 

โดย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ ก็มองอีกว่า “แบงก์พาณิชย์ขณะนี้กำไรเยอะอยู่ ถ้าจะลดดอกเบี้ยสามารถทำได้อยู่แล้ว และเดิมผมก็คิดอยู่ว่าควรมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ยลงมา”

 

พร้อมทั้งแนะว่า รัฐบาลควรหาทางแก้ปัญหาลูกหนี้ที่มีปัญหาค้างชำระ หรือไม่มีกระแสเงินสดมากพอ โดยมองไกลมากกว่าการแก้ปัญหาชั่วคราวแค่ 6 เดือน โดยต้องหาวิธีแก้ที่ยั่งยืน ครบวงจร เป็นรูปธรรม และมองในหลายมิติ ไม่ใช่แค่ในดอกเบี้ยมิติเดียว แต่ควรสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ประชาชนควบคู่ไปด้วย

 

เหตุการณ์นายกฯ วอนแบงก์ลดดอกเบี้ยโดยตรงสะท้อนอะไร?

 

ธีระชัยยังมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่สามารถพูดคุยให้แบงก์ชาติเชื่อในแนวคิดของท่านได้ (ต้องการให้ลดดอกเบี้ย) ท่านจึงใช้วิธีทางอ้อมด้วยการไปคุยกับแบงก์พาณิชย์แทน

 

“เป็นการสะท้อนให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่า การบริหารงานในประเทศมีปัญหาอยู่ ไม่ได้ราบเรียบปราศจากปัญหา” ธีระชัยกล่าว

 

สอดคล้องกับ ดร.กิริฎา ที่กล่าวว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางเป็นสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากหากธนาคารกลางขาดความอิสระ รัฐบาลสามารถสั่งการได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น ภาวะฟองสบู่ และเงินเฟ้อรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศแทบลาตินอเมริกา

 

แบงก์ลดดอกเบี้ยสวนแบงก์ชาติ กระทบบทบาทนโยบายการเงิน?

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT มองว่า การเคลื่อนไหวของสมาคมแบงก์วันนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสำคัญของนโยบายการเงิน เนื่องจากเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ซึ่งมีผลต่อคนกลุ่มเดียวเท่านั้น

 

นอกจากนี้ดอกเบี้ยนโยบายแบงก์ชาติยังคงมีความสำคัญอยู่และมีผลต่อการดำเนินการหลายอย่าง เช่น เป็นอัตราอ้างอิงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรบ้าง มีผลต่อการกำหนดสภาพคล่องในประเทศ และนโยบายอื่นๆ

 

สำหรับผลกระทบของเงินเฟ้อ ต้องติดตามว่าการลดดอกเบี้ยของแบงก์จะนำไปสู่การเร่งการกู้ยืมและจะไปกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดไหน รวมทั้งจะช่วยลดภาระลูกค้ารายย่อยหรือกลุ่มที่ฟื้นตัวช้าได้อย่างไร

 

แบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ย 0.25% เท่ากับแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง

 

ดร.อมรเทพ ยังตั้งข้อสังเกตว่า หากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ดำเนินการตามมติที่ประชุมสมาคมธนาคารไทยคือ ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% จะพอๆ กับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติประมาณ 2 ครั้ง (ครั้งละ 0.25%) เนื่องจากโดยปกติแล้วการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย (Transmission Rate) จะอยู่ที่ราว 50%

 

จึงมองว่า การช่วยเหลือครั้งนี้เป็นการช่วยเหลือที่มีนัยสำคัญและน่าชื่นชม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีปัญหาและโตช้า รวมทั้งโตกระจุกมานาน

 

ประเมินผลลัพธ์ต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย-เศรษฐกิจ

 

ขณะที่ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการลงทุน มองว่า มติสมาคมธนาคารไทยดังกล่าวจะไม่ได้ช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างมีนัยสำคัญนัก เนื่องจากเป็นการลดเพียง 0.25% เท่านั้น และไม่น่าจะทำให้เกิดการเบี้ยวหนี้ลดลง

 

เช่นเดียวกับผลกระทบในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจก็คาดว่าจะไม่ได้มีผลสูงมาก เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ย MLR ที่ให้กับลูกค้าที่เป็นธุรกิจและผู้ประกอบการ โดยกลุ่มลูกค้ารายย่อย MRR ก็มีสัดส่วนไม่เยอะมาก ‘ไม่ถึงครึ่ง’ ของสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัว (Floated) ทั้งระบบ

 

ส่วนผลกระทบต่อผลกำไรแบงก์ ดร.จิติพล ประเมินว่า แทบจะไม่มีผลกระทบต่อกำไรสุทธิ (Bottom Line) เนื่องจากมองว่า หากทุกแบงก์ลดพร้อมกันหมด น่าจะเห็นการเติบโตของสินเชื่อ (Loan Growth)

 

ขณะที่ผลกระทบต่อบทบาทนโยบายการเงินก็น่าจะมีน้อยมากเช่นกัน เนื่องจาก “ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายส่งผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์น้อยอยู่แล้ว เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ไม่ได้กู้หรือทำธุรกรรมกับแบงก์ชาติเพื่อสร้างสภาพคล่อง เนื่องจากมีเงินฝากอยู่แล้ว

 

โดยแบงก์ชาติสามารถควบคุมธนาคารพาณิชย์ได้ตามกฎเกณฑ์ต่างๆ และขอความร่วมมือได้ตามความศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่สามารถสั่งให้แบงก์พาณิชย์ขยับดอกเบี้ยตามได้” ดร.จิติพล กล่าว

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเคยเปิดเผยว่า ในการขึ้นดอกเบี้ยรอบที่ผ่านมา อัตราการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย (Transmission Rate) ของไทยอยู่ที่ราว 50% เท่านั้น นับว่ายังต่ำกว่าหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ที่ส่งผ่าน 100%, มาเลเซียที่ 80% และสหภาพยุโรป 61%

 

TDRI มอง ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยัง ‘เหมาะสม’

 

ดร.กิริฎา ยังมองว่า ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% นั้นเหมาะสม เนื่องจากยังต้องรอดูท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าจะปรับขึ้นหรือลดดอกเบี้ยหรือไม่ โดยหาก ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อน Fed จะทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนกว้างขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนได้

 

นอกจากนี้ ธปท. อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ เนื่องจากตามหลักการแล้วอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจราว 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้นหากในช่วง 6 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว การลดอัตราดอกเบี้ยตอนนี้อาจไม่เกิดประโยชน์อะไร 

 

ดร.กิริฎา ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest) ของไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาคยังถือว่าต่ำ ดังนั้นหากแบงก์ชาติกดอัตราดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่านี้ หากเกิดวิกฤตหรือความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม อาจไม่เหลือพื้นที่ (Room) มากพอ

The post สมาคมแบงก์ไทยประกาศลดดอกเบี้ย สวนสัญญาณแบงก์ชาติหรือไม่? ส่งผลดี-เสียอย่างไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘เศรษฐา’ พบ ‘นายแบงก์’ กำลังสะท้อนทิศทางของเศรษฐกิจไทยอย่างไร https://thestandard.co/direction-of-the-thai-economy/ Thu, 25 Apr 2024 01:21:10 +0000 https://thestandard.co/?p=926451

เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนต […]

The post ‘เศรษฐา’ พบ ‘นายแบงก์’ กำลังสะท้อนทิศทางของเศรษฐกิจไทยอย่างไร appeared first on THE STANDARD.

]]>

เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เชิญผู้บริหารของ 4 ธนาคารใหญ่ของไทยมาพบที่ตึกไทยคู่ฟ้า ได้แก่ 

 

  • ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
  • ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย
  • ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 
  • อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ 

 

ภายหลังการหารือกันด้วยเวลาประมาณ 30 นาที แม้จะยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นในเศรษฐกิจไทย ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือสมาคมธนาคารที่กำลังจะประชุมกันในวันนี้ (24 เมษายน) เพื่อหารือร่วมกันว่าจะสามารถตอบรับคำขอของนายกฯ ได้อย่างไรบ้าง 

 

ขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดคำถามต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทย การใช้นโยบายการเงิน การใช้นโยบายการคลัง ว่าจะเดินไปอย่างไรต่อจากนี้  

 

นายกฯ และแบงก์ชาติ เริ่มมองไปในทิศทางเดียวกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนหน้านี้มุมมองของเศรษฐาซึ่งเป็นตัวแทนของฝั่งรัฐบาลกับมุมมองของแบงก์ชาติ ดูเหมือนจะไปกันคนละทิศ 

 

ที่ผ่านมา เราเห็นความพยายามจากรัฐบาลเพื่อโน้มน้าวให้แบงก์ชาติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือแม้แต่ในครั้งนี้เองที่เศรษฐาหารือกับผู้บริหารแบงก์โดยตรงเพื่อให้พิจารณาช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่เปราะบางในเรื่องของดอกเบี้ย จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่ารัฐบาลกำลังกดดันแบงก์ชาติทางอ้อมอยู่อีกหรือไม่ 

 

ในมุมมองของ ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เชื่อว่า การที่นายกฯ ขอให้แบงก์พาณิชย์ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเป็นแนวคิดที่ขยับเข้ามาใกล้เคียงกับแบงก์ชาติมากขึ้น คือการพุ่งเป้าความช่วยเหลือหรือนโยบายไปยังบางกลุ่มมากขึ้น  

 

“สิ่งที่นายกฯ ต้องการจากแบงก์พาณิชย์คือการให้ความช่วยเหลือเรื่องหนี้สำหรับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แบงก์ชาติสื่อสารออกมาล่าสุด ขณะเดียวกันแบงก์ชาติก็เล็งเห็นว่าดอกเบี้ยสูงอาจกระทบกับบริษัทบางส่วนที่ไม่ใหญ่นักหรือไม่ได้เข้าถึงเงินทุนต้นทุนต่ำ” 

 

ส่วนความกังวลที่ว่า ความเชื่อมั่นต่อแบงก์ชาติกำลังถูกกระทบหรือไม่นั้น ดร.ทิม กล่าวว่า จากความชัดเจนที่แบงก์ชาติมีต่อนโยบายการเงิน และต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นสิ่งที่ต่างชาติอยากเห็นอยู่แล้ว 

 

ส่วนสิ่งที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจออกมาจากการหารือในครั้งนี้ คือความเสี่ยงจากกลุ่มเปราะบาง ซึ่งก็สะท้อนออกมาจากผลประกอบการแบงก์ล่าสุดเช่นกันว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องช่วยกันจับตามอง 

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เป็นลบมากนัก อาจต้องระมัดระวังช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 แต่หลังจากนั้นน่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ส่วนปีหน้าจะเห็นการท่องเที่ยวเป็นตัวนำเศรษฐกิจ

 

เพิ่มรายได้ประชาชนคือนโยบายเร่งด่วน

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลขอความร่วมมือหรือความช่วยเหลือจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ บริษัทค้าปลีก หรือบริษัทพลังงาน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา หรือช่วงที่ราคาพลังงานสูง 

 

คำถามสำคัญที่ตามมาคือรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ควรจะทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้

 

ดร.อมรเทพ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นคือนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้ เพราะปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทยเวลานี้คือ ‘รายได้โตไม่ทันกับรายจ่าย’ 

 

“ส่วนตัวอยากเห็นมาตรการทางการคลังเข้าช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่า เพราะมาตรการทางการเงินกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน”

 

แต่ก็ใช่ว่ามาตรการทางการเงินจะไม่จำเป็น เพียงแต่ควรทำแบบพุ่งเป้า อย่างเรื่องของดิจิทัลวอลเล็ต ดร.อมรเทพ บอกว่า ชื่อโครงการเป็นสิ่งที่ใช่ แต่รายละเอียดควรเฉพาะเจาะจงมากกว่านั้น

 

ส่วนมาตรการทางการคลังที่ว่านี้อาจมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นคือการเงินในกระเป๋าให้กับกลุ่มที่เปราะบาง หรือการลดค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายสำหรับคนรายได้น้อย 

 

สำหรับระยะยาวต้องเน้นเรื่องของการจ้างงาน การสร้างรายได้ ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถทำได้ผ่านการลงทุนภาครัฐในหลากหลายพื้นที่ รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่าย

 

“เศรษฐกิจไทยเวลานี้ไม่ได้ซึมหรือกระทบทุกภาคส่วน แต่เป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ส่วนตัวไม่ได้บอกว่าไทยไม่ควรลดดอกเบี้ย แต่ต้องเป็นไปตามกลไกตลาดและความเหมาะสม เพราะวันนี้สหรัฐฯ ยังยืนดอกเบี้ยสูงอยู่ ถ้าเราลดดอกเบี้ยก่อนอาจกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย และเงินบาทอาจอ่อนค่าไปมากกว่านี้” 

 

เศรษฐกิจไทยเข้าโลว์ซีซัน

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การหารือร่วมกับผู้บริหารแบงก์ที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนกันเสาะหาหนทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซัน ซึ่งเป็นปกติของทุกปีที่ไตรมาส 2 และไตรมาส 3 จะชะลอตัวลง 

 

“เดิมทีเราคาดหวังงบประมาณรัฐเข้ามาช่วย แต่ล่าสุดยังไม่เห็นสัญญาณการเบิกจ่ายมากนัก ทำให้เศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะผ่านสุญญากาศจากเรื่องการเมืองไปได้ก่อนหน้านี้ อาจกำลังตกหล่มและฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ เพราะโมเมนตัมที่หายไป ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเหมือนกลับมาสู่สุญญากาศเล็กๆ แต่ถ้าถามว่าวิกฤตหรือไม่ คงจะไม่ถึงขั้นนั้น”

 

ในมุมของการลงทุน ตลาดหุ้นไทยน่าจะชะลอไม่ต่างจากเศรษฐกิจ เงินบาทน่าจะยังอ่อนค่าต่อไป จากการที่นักลงทุนต่างชาติขนเงินปันผลออก ขณะที่การท่องเที่ยวเข้าสู่โลว์ซีซัน ส่วนราคาน้ำมันแพงกระทบต้นทุนการนำเข้า 

 

The post ‘เศรษฐา’ พบ ‘นายแบงก์’ กำลังสะท้อนทิศทางของเศรษฐกิจไทยอย่างไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
จับสัญญาณแบงก์ชาติ ‘ปิดประตู’ ลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วในปีนี้? https://thestandard.co/catch-bot-signals-about-interest-rates/ Wed, 24 Apr 2024 11:59:56 +0000 https://thestandard.co/?p=926386

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินท่าที กนง. อาจปิดประตูสำหรับการปรั […]

The post จับสัญญาณแบงก์ชาติ ‘ปิดประตู’ ลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วในปีนี้? appeared first on THE STANDARD.

]]>

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินท่าที กนง. อาจปิดประตูสำหรับการปรับดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วในปีนี้ ขณะที่ ธปท. ยืนยันยึดหลัก Data Dependent และไม่ได้ยึดติดว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ในระดับปัจจุบันไปตลอด

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า จากการแถลงในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2024 ว่า ท่าทีแบงก์ชาติแทบจะปิดประตูสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว เนื่องจากมองเศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้น และการเบิกจ่ายจากภาครัฐกำลังจะกลับมา ดังนั้นความจำเป็นในการใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแทบไม่มีแล้ว

 

นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ยังมองว่า สิ่งที่แบงก์ชาติกังวลมากที่สุดคือ ‘หนี้ครัวเรือน’ ดังนั้นถ้าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อกับการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้มีปัญหา ก็ไม่ควรทำให้เสถียรภาพระบบการเงินมีปัญหาในระยะยาว

 

“ผมมองว่า ธปท. ส่งสัญญาณชัดมากว่า ถ้าเศรษฐกิจไม่ได้แย่กว่าที่ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ ก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องลดอัตราดอกเบี้ย” ดร.พิพัฒน์กล่าว นอกจากนี้ ธปท. ยังกล่าว (Defend) อีกว่า Potential GDP Growth และ Neutral Rate อาจไม่ได้เปลี่ยนไปเยอะ และความไม่แน่นอนมีสูง เท่ากับเป็นการปิดประตูแล้ว

 

ดร.พิพัฒน์ยังมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ไว้ถึงไตรมาสแรกของปี 2568 เนื่องจากหากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตดำเนินไปได้ น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และไตรมาสแรกของปีหน้า ดังนั้นหากเศรษฐกิจชะลอก็อาจเกิดขึ้นหลังจากนั้น ถ้าจะมี Room ให้ลดดอกเบี้ยก็น่าจะเกิดในไตรมาส 2 ปีหน้า

 

ส่วนความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในมุมมองของ ดร.พิพัฒน์เป็น 0% เนื่องจากตอนนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ได้ดีมาก เงินเฟ้อไม่ได้สูง ต่างจากสถานการณ์ในสหรัฐฯ ที่มีแรงกดดันจากอุปสงค์ (Demand Pull) เยอะ ต่างจากประเทศไทยที่ผู้คนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีอยู่

 

อย่างไรก็ดี ดร.พิพัฒน์ยังแนะให้จับตาสัญญาณจากการประชุม กนง. นัดต่อไป โดยระบุว่า หากการประชุมในวันที่ 12 มิถุนายนไม่มีการลดดอกเบี้ย ในปีนี้ก็ไม่น่าจะมีแล้ว

 

ด้าน ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ก็มองว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับปัจจุบันไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ เนื่องจากแบงก์ชาติมองว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัว การเบิกจ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวที่น่าจะมาต่อเนื่อง 

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังจากนั้น (สิ้นปี) อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า มีโอกาสทั้ง 2 ทางคือ ขึ้นและลดอัตราดอกเบี้ย “หากเศรษฐกิจดีขึ้น และเงินเฟ้อมีแนวโน้มร้อนแรงมาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย” ดร.ปิยศักดิ์กล่าว 

 

“มุมมองของแบงก์ชาติ ต้องการให้ดูแลหนี้ครัวเรือนเป็นหลัก ทางหนึ่งยังมองว่า เศรษฐกิจไม่ได้มีความเสี่ยง เงินเฟ้อไม่ได้สูงหรือต่ำเกินไป ดังนั้นจึงใช้นโยบายการเงินช่วยดูแลหนี้ครัวเรือน”

 

ขณะที่ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและตลาดเงิน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า โอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ย ‘มีน้อยลง’ จากเดิมที่ EIC คาดว่าจะเห็นการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ฐิติมายังขอรอดูผลประชุม กนง. ในรอบเดือนมิถุนายนก่อน ว่าเสียงโหวตและการสื่อสารจะมีการปรับโทนอย่างไร ก่อน EIC จะมีการปรับ Outlook ในรอบเดือนมิถุนายน 

 

ธปท. ยืนยัน Data Dependent มองเศรษฐกิจไทยกำลังกลับสู่ระดับศักยภาพ

 

ขณะที่ ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 1/2024 ว่า กนง. พร้อมที่จะทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ย หากมีข้อมูลใหม่เข้ามาเพิ่มเติม และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งยืนยันว่า กนง. ไม่ได้ยึดติดว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ในระดับนี้ไปตลอด 

 

“หนึ่งในสิ่งที่ กนง. มุ่งเน้นในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายคือ อัตราดอกเบี้ยจะต้องไม่อยู่ในจุดที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไปสู่จุดศักยภาพ” ปิติกล่าว

 

โดย ธปท. ยังมองว่าในปี 2567 และ 2568 เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวกลับไปสู่ระดับศักยภาพ ดังนั้นภาวะการเงินและอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันก็น่าจะสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว

 

นอกจากนี้ ในการแถลงข่าว ธปท. ยังยืนว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินระยะยาว อีกทั้งเป็น Robust Policy (สามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะข้างหน้า)

The post จับสัญญาณแบงก์ชาติ ‘ปิดประตู’ ลดดอกเบี้ยนโยบายแล้วในปีนี้? appeared first on THE STANDARD.

]]>
แบงก์ชาติจับตาการประชุมสมาคมธนาคารไทย ชี้ ธปท. มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางมาโดยตลอด https://thestandard.co/thai-bankers-association-meeting-24042024/ Wed, 24 Apr 2024 09:15:36 +0000 https://thestandard.co/?p=926215

แบงก์ชาติจับตาการประชุมสมาคมธนาคารไทยเย็นนี้ หลังนายกรั […]

The post แบงก์ชาติจับตาการประชุมสมาคมธนาคารไทย ชี้ ธปท. มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางมาโดยตลอด appeared first on THE STANDARD.

]]>

แบงก์ชาติจับตาการประชุมสมาคมธนาคารไทยเย็นนี้ หลังนายกรัฐมนตรีเรียกผู้บริหาร 4 ธนาคารใหญ่เข้าพบเมื่อวานนี้ (23 เมษายน) พร้อมระบุ ธปท. เองก็มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางมาโดยตลอดอยู่แล้ว

 

วันนี้ (24 เมษายน) ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เท่าที่ทราบ สมาคมธนาคารไทยจะมีการประชุมกันในวันนี้ เพื่อพิจารณาเรื่องกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะมุ่งเน้นดูแลกลุ่มเปราะบางนั้น ‘เป็นสิ่งที่ดี’ และสอดคล้องกับแนวทางที่แบงก์ชาติดำเนินมาโดยตลอด

 

ยกตัวอย่างเช่นในช่วงการปรับนโยบายให้เข้าสู่ระดับปกติ (Normalization) หรือการขึ้นดอกเบี้ยในปีก่อน ธปท. ได้ดูแลการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ย (Transmission) ให้เป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อย (MRR) โดยพยายามทำให้การส่งผ่านดอกเบี้ย MRR อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยตัวอื่นๆ เช่น MLR และ MOR

 

นอกจากนี้ ตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ธปท. ก็ยังได้พยายามดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย (NPL) และหลังเป็นหนี้เสียด้วย

 

โดยย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยชี้แจงว่า หลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีก่อน การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อย MRR อยู่ที่ 49% เท่านั้น (หมายความได้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% อัตราดอกเบี้ย MRR จะขึ้นราว 0.49%) โดยการส่งผ่านดังกล่าวนับว่าต่ำเมื่อเทียบกับในอดีตที่ 58% และต่ำกว่าการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยประเภท MLR และ MOR ซึ่งอยู่ที่ 69% และ 64% ตามลำดับ

 

“การทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือกลุ่มคนที่เดือดร้อนได้มากขึ้นเป็นหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่ ธปท. พยายามทำมาโดยตลอด” ปิติกล่าว

 

ปิติยังมองว่า การที่ธนาคารพาณิชย์จะออกมาตรการดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างไรขึ้นอยู่กับรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) ของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ และเป็นเรื่องกลไกของตลาด 

 

The post แบงก์ชาติจับตาการประชุมสมาคมธนาคารไทย ชี้ ธปท. มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางมาโดยตลอด appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘เผ่าภูมิ’ ไม่กังวลผู้ว่าฯ ธปท.จี้ทบทวนดิจิทัลวอลเล็ต เตรียมส่งกฤษฎีกาตีความแหล่งเงิน ธ.ก.ส. https://thestandard.co/paophum-rojanasakul-24042024/ Wed, 24 Apr 2024 08:40:57 +0000 https://thestandard.co/?p=926196 เผ่าภูมิ โรจนสกุล

เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง […]

The post ‘เผ่าภูมิ’ ไม่กังวลผู้ว่าฯ ธปท.จี้ทบทวนดิจิทัลวอลเล็ต เตรียมส่งกฤษฎีกาตีความแหล่งเงิน ธ.ก.ส. appeared first on THE STANDARD.

]]>
เผ่าภูมิ โรจนสกุล

เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์หลังเข้าพบ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่ามารายงานความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

 

ส่วนกรณีที่ เศรษฐพุฒิ​ สุทธิวาทนฤพุฒิ​ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือถึงคณะรัฐมนตรี ให้ทบทวนหลักเกณฑ์โครงการดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการออกหนังสือเตือน แต่เป็นเพียงการเสนอความคิดเห็น ซึ่งทุกอย่างจะยังคงเดินหน้าตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีอะไรสะดุด เดินหน้าเต็มที่

 

เมื่อถามย้ำว่า กังวลหรือไม่ที่ผู้ว่าการ ธปท. ออกมาจี้ทบทวนหลักเกณฑ์ดังกล่าว เผ่าภูมิกล่าวว่า เป็นความเห็นที่นำมาพิจารณาหลายครั้ง โดยได้นำความเห็นดังกล่าวมาพูดคุยหลายครั้งมากๆ และมีความเห็นร่วมกันในคณะกรรมการ ก่อนที่จะเสนอมายังคณะรัฐมนตรีวานนี้ (23 เมษายน) และอนุมัติโครงการ

 

ต่อคำถามที่ว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะไม่ผิดกฎหมายใช่หรือไม่ เผ่าภูมิยืนยันว่ามีการดูเรื่องข้อกฎหมายเป็นอย่างดี ซึ่งตัวกฎหมายเองไม่ได้มีอะไร แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ ซึ่งได้รับการยืนยันว่าไม่ติดอะไร และทางกฤษฎีกาก็ไม่ได้มีการท้วงติงถึงข้อกฎหมายให้ระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษ พร้อมยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะส่งให้กฤษฎีกาตีความอีกครั้งเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย เพื่อดูถึงความถูกต้องของข้อเสนอต่างๆ และยืนยันได้ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์

 

เมื่อถามว่า ส่งให้กฤษฎีกาพิจารณาเรื่องกฎหมายได้ช่วงใด เผ่าภูมิกล่าวว่า เรื่องที่จะส่งให้กฤษฎีกาตีความ คือเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ซึ่งยังไม่ได้รีบ อยู่ในส่วนของกรอบโครงการ แหล่งที่มาของเงิน ที่ต้องชงไปยัง ธ.ก.ส. ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งยังไม่ใช่ช่วงนี้ และตัวโครงการก็ดำเนินการไปเรื่อยๆ รวมถึงการพัฒนาระบบก็เดินไปเรื่อยๆ ธ.ก.ส. ก็ยังมีเวลา

 

เมื่อถามต่อถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบซูเปอร์แอปที่จะมาใช้ในโครงการ เผ่าภูมิกล่าวว่า เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งเป็นไปตามไทม์ไลน์ 

 

เมื่อถามว่าจะไม่กลับมาใช้แอปเป๋าตังแล้วใช่หรือไม่ เผ่าภูมิกล่าวว่า จะมีการพัฒนาระบบร่วมกับแอปเป๋าตัง ส่วนหน้าตาของแอปนั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ระบบลงทะเบียน และระบบการใช้งาน ซึ่งก็จะเป็นแอปพลิเคชันใหม่ขึ้นมา พร้อมยืนยันว่าจะเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้ง่ายและจะยิ่งง่ายกว่าเดิม เนื่องจากมีการเชื่อมกับระบบธนาคารที่มีอยู่แล้วและวอลเล็ต รวมถึงมีการเตรียมระบบรองรับผู้ที่มีสมาร์ทโฟนเรียบร้อยแล้ว

 

ปลัดคลังลุยเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตตามแผนเดิม​ 

ลวรณ​ แสงสนิท​ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่​ เศรษฐพุฒิ​ สุทธิวาทนฤพุฒิ​ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีให้ทบทวน พร้อมตั้งข้อสังเกตในโครงการ เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต​ 10,000​ บาท​ว่า​ ทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถให้ความเห็นมาได้ ทั้งเห็นด้วยและมีข้อทักท้วง ซึ่งเราก็รับฟัง และการประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้มีการพิจารณาเรื่องของหลักการและขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ไป แต่ละขั้นตอนก็มีระเบียบและกฎหมายที่ต้องดำเนินการตามนั้น​ 

 

“ความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย​ไม่ได้ส่งผลให้โครงการดังกล่าวสะดุด​ลง​ และขณะนี้ยังมีเวลาในการพิจารณา​ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องเริ่มดำเนินการได้แล้ว เนื่องจากได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ลวรณกล่าว 

 

ส่วนความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาระบุว่า ขอให้ลดกลุ่มเป้าหมายเหลือเพียงกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยประมาณ 15 ล้านคน จะนำข้อเสนอดังกล่าวมาพิจารณาด้วยหรือไม่ ปลัดกระทรวงการคลังระบุว่า ทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเคยให้ความเห็นเช่นนี้มาตั้งแต่ต้น​ จนผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบาย โครงการเติมเงิน 10,000 บาท​ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่ากลุ่มใดเป็นผู้ที่เหมาะ ซึ่งได้ผ่านขั้นตอนนั้นไปทั้งหมดแล้ว ซึ่งสิ่งที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นมาก็เป็นข้อเสนอแนะเดิม​ที่เคยพูดในที่ประชุมมาโดยตลอด ไม่มีอะไรเป็นประเด็นใหม่ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้มีการชี้แจงต่อข้อกังวลธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

เมื่อถามว่า​จะมีการชี้แจงต่อธนาคารแห่งประเทศไทยอีกครั้งหรือไม่ ลวรณ​ยืนยันคำเดิมว่า​ ได้มีการชี้แจงต่อธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าผู้ว่าการ ธปท. จะไม่ได้มาเข้าร่วมการประชุมก็ตาม​ ทั้งนี้ คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เนื่องจากเราพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งทางผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ขณะที่คณะกรรมการท่านอื่นๆ อีก 20 กว่าคนก็ไม่ได้มีความเห็นเช่นนี้​ 

 

“ยืนยันว่า​โครงการดิจิทัลวอ​ล​เล็ต​จะเดินหน้าต่อตามแผนเดิม​ ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบ​”  

 

ส่วนจะมีการส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าเกี่ยวข้องกับข้อกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่​ ปลัดกระทรวงการคลัง​ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้อง และชี้แจงเพิ่มว่าเป็นเรื่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร​ หรือ​ ธ.ก.ส.​ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่​ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่าต้องทำด้วยความรอบคอบ ในประเด็นที่เราเห็นว่าไม่มีความชัดเจนก็ให้มีการปรึกษากฤษฎีกาในเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกฤษฎีกาแต่อย่างใด​ 

 

พร้อมกับ​ระบุว่า​ การใช้งบประมาณจากธนาคาร ธ.ก.ส. ตามมาตรา​ 28 ปีงบประมาณ 2568 จะสามารถดำเนินการได้ในเดือนตุลาคม​ ซึ่งถือว่ายังคงมีเวลาอยู่

The post ‘เผ่าภูมิ’ ไม่กังวลผู้ว่าฯ ธปท.จี้ทบทวนดิจิทัลวอลเล็ต เตรียมส่งกฤษฎีกาตีความแหล่งเงิน ธ.ก.ส. appeared first on THE STANDARD.

]]>