THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
EXCLUSIVE CONTENT BY SCB WEALTH

การปรับ YCC ของ BOJ จะสร้างแรงกดดันตลาดเงินและตลาดทุนไปจนถึง เม.ย. ปีหน้า

... • 26 ธ.ค. 2022

HIGHLIGHTS

  • ตลาดการลงทุนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการประกาศตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ซึ่งพุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี 
  • อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นเอเชียโดยเฉพาะญี่ปุ่นกลับผันผวนหนัก เนื่องจาก BOJ ประกาศขยายช่วงนโยบายควบคุมผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Yield Curve Control ขึ้นจาก +/-0.25% เป็น +/-0.50% ซึ่งเป็นปัจจัยเหนือความคาดหมายของตลาด
  • การปรับ YCC Band ครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นก้าวแรกของการทำ Normalization โดย InnovestX มองว่า BOJ จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจยกเลิกมาตรการ YCC ช่วงเดือนเมษายน 2023
  • ส่วนสถานการณ์โควิดในจีน แม้จะคลี่คลายในเชิงนโยบายควบคุมการเดินทาง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นทำให้นักลงทุนกังวลและถอนการลงทุนจากจีนเพื่อลดความเสี่ยง
  • แนวโน้ม SET สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,600-1,640 จุด ระหว่างรอปัจจัยชี้นำใหม่ โดยสัปดาห์หน้ามีปัจจัยติดตาม คือ การประชุม ครม. เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กลยุทธ์ลงทุนจึงยังคงแนะนำ ‘Selective Buy’ โดยเน้นรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว

สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมการลงทุนทรงตัวรวมถึงปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากปรับลดลงในสัปดาห์ก่อน จากตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน แต่ตลาดเอเชียโดยเฉพาะญี่ปุ่นลดลงแรงจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ขยายช่วงนโยบายควบคุมผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Yield Curve Control ขึ้นจาก +/-0.25% เป็น +/-0.50% เหนือความคาดหมายของตลาด ทำให้ตลาดมองว่านโยบายการเงินจะตึงตัวขึ้น ขณะที่ตลาดจีนปรับลดลงจากผู้ติดเชื้อจีนที่มากขึ้น ขณะที่รัฐบาลยกเลิกการรายงานผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและป่วยจากโควิดโดยตรง รวมถึงรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิดล่าสุดเพียง 2 ราย ทำให้นักลงทุนกังวลและถอนการลงทุนจากจีน 

 

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่น่าสนใจได้แก่ 

1. ยอดขายบ้านมือสองเดือนพฤศจิกายนของสหรัฐฯ ลดลง 7.7%MoM ปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 10 และต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 

2. ทางการจีนเริ่มอนุญาตให้พนักงานในบางเมืองที่ป่วยโควิดเพียงเล็กน้อยสามารถทำงานได้ตามปกติ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะที่เร่งเสริมเตียงโรงพยาบาลหลังผู้ป่วยโควิดพุ่งสูงขึ้น ด้านโมเดลของสถาบันเศรษฐกิจต่างๆ คาดการณ์ให้จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นถึง 1.5 ล้านคน 

3. การพบปะระหว่างประธานาธิบดียูเครนและประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นไปอย่างราบรื่น โดยสหรัฐฯ พร้อมให้ความช่วยเหลือทางการทหารกับยูเครน 

4. หุ้นเทคของจีนกว่า 100 แห่ง เช่น Alibaba, Baidu, JD.com รอดพ้นจากการถูกถอดถอนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังรัฐบาลจีนยินยอมให้คณะกรรมการกำกับดูแลด้านบัญชีของสหรัฐฯ เข้าตรวจสอบเต็มรูปแบบได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 

5. ตัวเลข Global Flash Composite PMI ของสหรัฐฯ ปรับลดลงเหลือ 44.6 ในเดือนธันวาคม จาก 46.4 ในเดือนพฤศจิกายน

6. สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ภาระการคลังของยุโรปในการสนับสนุนพลังงานเพิ่มขึ้นถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ และกระทบสถานะการคลังยุโรปในระยะต่อไปมากขึ้น ท่ามกลางราคาพลังงานที่เริ่มปรับขึ้นอีกครั้ง 

7. องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน โดยยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 934,500 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 87% จากเดือนตุลาคม หลังจากเปิดพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบ

 

“ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมการลงทุนทรงตัว รวมถึงปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากปรับลดลงในสัปดาห์ก่อน ประกอบกับตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากเงินเฟ้อที่ลดลงและตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ตลาดเอเชียโดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีนปรับลดลงแรง โดยในฝั่งญี่ปุ่นเป็นผลจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขยายช่วงนโยบายควบคุมผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control: YCC) จาก +/-0.25% เป็น +/-0.50% เหนือความคาดหมายของตลาด ทำให้ตลาดมองว่า BOJ จะเริ่มทำนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น ด้านผู้ติดเชื้อจีนที่มากขึ้นขณะที่รัฐบาลยกเลิกการรายงานผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและป่วยจากโควิดโดยตรง ทำให้นักลงทุนกังวลและถอนการลงทุนจากจีน” 

 

InnovestX มองว่า มติของ BOJ ที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% และประกาศการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มสู่ 9 ล้านล้านเยนต่อเดือน จากเดิมที่ซื้อ 7.3 ล้านล้านเยนต่อเดือน รวมถึงขยายช่วงนโยบายควบคุมผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ 0% จาก +/-0.25% เป็น +/-0.50% นั้น เหนือความคาดหมายของตลาด 

 

โดยวิเคราะห์ว่าเหตุผลที่ BOJ ประกาศขยายช่วงในครั้งนี้เนื่องจาก 1. BOJ ต้องการลดการบิดเบือนกลไกตลาด เนื่องจากปัจจุบัน BOJ เข้าถือครองพันธบัตรรัฐบาลกว่า 50% 2. การประกาศในช่วงปลายปีที่ธุรกรรมการเงินโดยภาพรวมเบาบาง ก็จะไม่ทำให้ตลาดผันผวนรุนแรงนัก 3. วาระของผู้ว่าการฯ กำลังจะหมดในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าผู้ว่าการฯ ท่านใหม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต (เพื่อเป็นการ Normalization) 

 

การปรับ YCC Band ครั้งนี้จึงถูกมองว่าเป็นก้าวแรกของการทำ Normalization อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการฯ BOJ ได้กล่าวหลังการประชุมว่า มาตรการครั้งนี้เป็นเพียงการปรับให้ผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นเคลื่อนไหวไปตามตลาดมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นการทำนโยบายการเงินตึงตัวขึ้นแต่อย่างใด

 

InnovestX มองว่า BOJ จะเริ่มกระบวนการ Normalization อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจยกเลิกมาตรการ YCC ช่วงเดือนเมษายน 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการฯ และอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับ 0.1-0.2% ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นกลับมาแข็งค่าขึ้นในระยะถัดไป 

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรระวังใน 2 จุด ได้แก่ 1. ในช่วงสั้น การขยาย Band ดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลและอาจมีการถอนธุรกรรม Yen Carry Trade (กู้เงินเยนไปลงทุนในต่างประเทศ) อย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าเงินผันผวนและแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และ 2. ทำให้ภาระดอกเบี้ยของภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป เนื่องจากหนี้สาธารณะและหนี้เอกชนญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงที่กว่า 266% ของ GDP และ 245% ของ GDP ตามลำดับ 

 

ด้านความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดทั่วโลกปรับตัวลดลง 0.3% (EM -0.7%, DM -0.4%) โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ประกอบกับการปรับเพิ่มกรอบการเคลื่อนไหวของ YCC ของธนาคารกลางญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีแรงหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป

 

หุ้นกลุ่ม Growth (-1.2%) ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าหุ้นกลุ่ม Value (+0.6%) หุ้นขนาดเล็ก (-0.2%) ให้ผลตอบแทนลดลงน้อยกว่าหุ้นขนาดใหญ่ (-0.3%) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันจาก Yield ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างกลุ่มเทคโนโลยี สาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ ปรับตัวลงราว 0-2% กลุ่มการเงินและสินค้าอุตสาหกรรมที่อิงกับภาพเศรษฐกิจปรับตัวลง 0-1.5% ส่วนกลุ่มเชิงรับปรับขึ้น 0.5% สวนทางกลุ่มอื่น

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

ช่วงสั้นมอง SET จะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,600-1,640 จุด ระหว่างรอปัจจัยชี้นำใหม่ โดยสัปดาห์หน้ามีปัจจัยติดตาม คือ การประชุม ครม. เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงยังคงแนะนำ ‘Selective Buy’ โดยเน้นรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้

 

1. หุ้นเก็งกำไรที่คาดได้อานิสงส์จากการทำ Window Dressing (ราคาหุ้นปรับลงทั้ง YTD และ QTD รวมทั้งมีสถิติผลตอบแทนดีในช่วงปลายปี) เลือก CPF, ADVANC

2. หุ้นที่คาดโมเมนตัมกำไร 4Q22 เติบโตแข็งแกร่ง YoY และ QoQ อีกทั้ง Valuation ยังน่าสนใจ เลือก BBL, GULF, CPALL, AU, AP

3. หุ้น 10 Top Picks 2023 ของ InnovestX ได้แก่ AOT, AU, BBL, BDMS, CPALL, CRC, GPSC, HANA, SCGP และ SECURE

 

ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้

 

1. หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากบาทแข็งค่า และผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีของโลกมีแนวโน้มอ่อนแอต่อใน 4Q22

2. หุ้นเดินเรือ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามา และอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

1. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปจะปิดทำการในวันจันทร์ (26 ธันวาคม) เนื่องจากวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส

2. ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการแรกและตัวเลข Chicago PMI ของสหรัฐฯ 

3. ตัวเลขเศรษฐกิจเวียดนาม เช่น GDP 4Q, ตัวเลขค้าปลีก ฯลฯ 

4. วันที่ 27 ธันวาคมนี้ ที่ประชุม ครม. พิจารณาเกี่ยวกับมาตรการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เฟส 5 หลังถูกตีกลับให้ทบทวนใหม่

5. ธปท. รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BDMS - แนวโน้มกำไรจะแข็งแกร่งขึ้น

สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้

  • ผู้นำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายมากสุดในไทย (โรงพยาบาล 53 แห่ง รวมกว่า 8,500 เตียง) และติดอันดับ 1 ใน 5 ของผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนของโลกในด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งคาดได้ประโยชน์จากอุปสงค์การแพทย์ในไทยและต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว 
  • 4Q22 คาดกำไรเพิ่มขึ้น YoY จากบริการที่ไม่เกี่ยวกับโควิดที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ป่วยไทยและผู้ป่วยต่างชาติ ซึ่งมีการนัดหมายเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง แต่จะลดลง QoQ จากการปรับปรุงค่าใช้จ่ายช่วงสิ้นปีตามฤดูกาล และรายได้โควิดที่ลดลง 
  • กำไรปกติจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2022 จะเติบโต 58%YoY สู่ 1.22 หมื่นล้านบาท สูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด และเติบโต 12%YoY ในปี 2023 แรงหนุนจากจำนวนผู้ป่วยไทยที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และบริการผู้ป่วยต่างชาติที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยบริการโควิดที่ชะลอตัวลง
  • จัดเป็นหุ้น Laggard Play โดยราคาหุ้น BDMS ปรับขึ้น 23%YTD น้อยกว่า BH ที่เป็นคู่แข่งตรงที่ปรับขึ้น 50%YTD อีกทั้งราคาหุ้นปรับขึ้นเพียง 8.7% เทียบกับระดับก่อนเกิดโควิด แย่กว่ากำไรปกติปีนี้ที่คาดจะสูงกว่าก่อนเกิดโควิด และปี 2023 คาดจะโตเด่นสุดในกลุ่มฯ 
  • เป็นหุ้นเด่นกลุ่มการแพทย์ โดยประเมินราคาเป้าหมายหุ้นละ 34 บาท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2022 หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็น Div Yield ราวปีละ 1.7% 

 

มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO

 

สภาพคล่อง / เงินสด

ความน่าสนใจระดับ 4

เน้นถือครองเงินสด / สินทรัพย์สภาพคล่อง เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงเผชิญปัจจัยกดดันจาก 1. ธนาคารกลางหลักต่างๆ ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯ ต่อ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ยังสูง 2. ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ 3. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

 

พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

10Y UST Yield มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังขึ้นดอกเบี้ยต่อ และมีแนวโน้มลดลงหลังจาก Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย (คาดในช่วง 2Q23) รวมทั้งจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ในส่วนของ TH Yield ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสอดรับไปกับสหรัฐฯ ขณะที่ไทยยังมีแรงซื้อจากนักลงทุนในและต่างประเทศช่วยหนุน

 

กองทุนแนะนำ

Krungsri Yenjai Fund

  • กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว

 

หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ

ความน่าสนใจระดับ 4

IG ต่างประเทศ InnovestX คาดว่า Credit Spread ของ US IG ยังมีแนวโน้มทรงตัวถึงปรับลงเล็กน้อย ตามความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง สำหรับ IG ไทยยังคงได้ปัจจัยบวกจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาจาก Bond Yield และ Corporate Spread ที่ไม่ได้เร่งตัวขึ้นแรง 

 

หุ้นกู้ HY ไทยและต่างประเทศ ควรหลีกเลี่ยงในภาวะที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีมากขึ้น ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และ HY ใน EM บางประเทศยังคงมีความเสี่ยงปัญหาสภาพคล่อง โดยเฉพาะในภาคอสังหาที่หลายประเทศเผชิญความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ เช่น จีน รวมถึงความเสี่ยงในการ Refinancing ในหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ความน่าสนใจระดับ 3

แม้ว่า Valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดความตึงตัวลง และหุ้นกลุ่ม Defensive จะช่วยประคองตลาดฯ แต่คาดว่าตลาดฯ ยังมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันหลักจาก Earnings ในปี 2023 ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่สูง

 

ตลาดหุ้นยุโรป

ความน่าสนใจระดับ 2

ทิศทางของกำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มอ่อนตัวลงตามความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่นโยบายการเงินของ ECB ยังคงมีแนวโน้มตึงตัว และเริ่มถอนสภาพคล่องผ่านโครงการ TLTRO-III และ APP ในช่วงปี 2023 มีโอกาสนำไปสู่ปัญหา Fragmentation 

 

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ความน่าสนใจระดับ 3

แนวโน้มตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นในระยะสั้น จากการเริ่มเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินของ BOJ ประกอบกับทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นในช่วง 1H23 อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation ที่ปรับตัวลงมา ประกอบกับการฟื้นตัวหลังเปิดเมือง ยังช่วยจำกัด Downside ได้อยู่

 

ตลาดหุ้นจีน A-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

แม้ดัชนีตลาดหุ้นจีนจะได้แรงหนุนจากการที่ทางการมีแนวโน้มออกมาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการเยียวยาภาคอสังหา และการเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมการระบาด แต่ดัชนีฯ ยังถูกจำกัดด้วยภาคอสังหาที่ยังซบเซา การระบาดในจีนที่ไม่แน่นอนสูง รวมถึง InnovestX คาดว่าการยกเลิกมาตรการ Zero-COVID จะเกิดขึ้นช่วง 2Q23

 

ตลาดหุ้นจีน H-Share

ความน่าสนใจระดับ 3

แม้ Valuation ยังไม่แพง ความคาดหวังต่อการเปิดเมืองของจีน และความเสี่ยงที่หุ้นจีน ADRs จะถูก Delist ที่ลดลงอย่างมีนัย แต่ตลาดฯ ยังเผชิญปัจจัยกดดันจาก 1. ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเฉพาะการแข่งขันด้านเทคโนโลยี และ 2. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะทำให้ Upside ของตลาดฯ ยังถูกจำกัด 

 

ตลาดหุ้นไทย

ความน่าสนใจระดับ 4

EPS ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เมื่อเทียบกับหลายประเทศใน EM ตามเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเร่งตัวตามการท่องเที่ยว และ 1Q23 ได้ปัจจัยหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืน ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจที่ดีทำให้หุ้นไทยมีโอกาสผันผวนต่ำ โดยเน้นหุ้น High Quality ในกลุ่ม Domestic-related เช่น Commerce และ Transport

 

กองทุนแนะนำ

 

SCB Dividend Stock Open End Fund

  • กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ

 

ตลาดหุ้นเวียดนาม

ความน่าสนใจระดับ 3

แม้ในระยะกลาง-ยาว ตลาดฯ จะได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีและ Valuation ที่ไม่แพง แต่ด้วยความกังวลการคุมเข้มบนภาคอสังหาซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาสภาพคล่องที่มากขึ้น และความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของภาคอสังหา จึงทำให้ Upside ของตลาดฯ ยังคงถูกจำกัด 

 

ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจระดับ 4

ดัชนีฯ กลับทรงตัว (หลังปรับลดลงในช่วงครึ่งแรกของเดือนธันวาคม) หลังจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของ Fed โดยปัจจัยระยะกลางจากการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะ FDI ยังหนุนเศรษฐกิจและ EPS ให้เติบโตได้ แม้แรงส่งจากราคาโภคภัณฑ์จะแผ่วลง ทั้งนี้ เน้นกลุ่ม High Quality & Liquidity เช่น ธนาคารใหญ่

 

กองทุนแนะนำ 

 

SCB Indonesia Equity Fund

  • กองทุน SCBINDO เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก), สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังการเจริญเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย

 

ทองคำ

ความน่าสนใจระดับ 3

ราคาทองคำมีแนวโน้มถูกกดดันจากทิศทาง Real Yield ที่ยังเพิ่มขึ้น ตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ทองคำยังมีแรงหนุนจาก 1. ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในภาวะที่ตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจ 2. ธนาคารกลางต้องการถือทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้น และ 3. แนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

 

น้ำมัน 

ความน่าสนใจระดับ 4

ราคาน้ำมันยังคงมีแนวโน้มผันผวนอยู่ในช่วงสั้นจากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การที่ราคาได้ปรับลดลงมามาก และสามารถใช้ Hedge ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้น่าสนใจในการลงทุน รวมทั้งยังได้แรงหนุนจากกระแสการเปิดเมืองของจีนที่จะกระตุ้นอุปสงค์น้ำมัน และอุปทานน้ำมันที่ยังคงตึงตัว

 

REITs ประเทศพัฒนาแล้ว

ความน่าสนใจระดับ 3

ดัชนีฯ ฟื้นตัวหลัง LT Bond Yield ลดแรงกดดันลง แต่ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ยังสูงจะฉุดรั้งผลตอบแทนของ REITs โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งถูกกดดันเพิ่มเติมจากเศรษฐกิจถดถอยและต้นทุนการเงินสูง (ยุโรปมีอัตรา Leverage สูงกว่าภูมิภาคอื่น) ส่งผลต่อรายได้และอัตรากำไรของ REITs ในยุโรปให้มีความเสี่ยง

 

REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

ความน่าสนใจระดับ 3

ดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับ DM โดยเฉพาะฮ่องกงที่ได้ผลบวกจากการทยอยยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด ขณะที่ REITs ของไทยยังน่าสนใจในแง่ของ Div Yield ที่สูงเมื่อเทียบกับ DM และเทียบกับค่าเฉลี่ย 10Y แม้ REITs โดยรวมจะฟื้นตัว แต่ในกลุ่มของสำนักงานยังต้องระวังปัจจัยลบเชิงโครงสร้างจาก WFA & Hybrid

 

Private Asset 

ความน่าสนใจระดับ 2

Slightly negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate สำหรับกองที่ลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ แนะนำให้ป้องกันความเสี่ยง FX เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2023


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 26 ธ.ค. 2022

READ MORE



Latest Stories