- สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดปรับขึ้นเล็กน้อยในช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนตัวเลขสำคัญ ได้แก่ เงินเฟ้อและรายงานการประชุม FOMC เดือนมีนาคมจะประกาศ โดยทิศทางสินทรัพย์เสี่ยงเริ่มปรับลงหลังภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง
- โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอลงชัดเจน สะท้อนจากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือนมีนาคม ที่เพิ่มขึ้น 2.36 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.38 แสนตำแหน่ง (เดือนก่อน 3.26 แสนตำแหน่ง) สอดคล้องกับตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ประกาศก่อนหน้าที่เป็นทิศทางชะลอตัวทั้งหมด
- บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ในเดือนต่อๆ ไป จะเริ่มเห็นการชะลอลงรุนแรงขึ้นตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลง อีกทั้งวิกฤตสภาพคล่องธนาคารที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม จะยิ่งทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อยากขึ้น โดยเฉพาะในธนาคารขนาดกลางและเล็ก (Regional Bank) ที่มีภาวะสินเชื่อตึงตัวมากขึ้น
- ขณะที่เศรษฐกิจไทยก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น เห็นได้จากรายงานเสถียรภาพทางการเงินของ ธปท. ไตรมาส 1/23 ที่ระบุเสถียรภาพภาคการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่นโยบายการเงินตึงตัวเริ่มส่งผลถึงสภาพเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้สินเชื่อชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดปรับขึ้นเล็กน้อยในช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนตัวเลขสำคัญ ได้แก่ เงินเฟ้อสหรัฐฯ และรายงานการประชุม FOMC เดือนมีนาคมจะประกาศ โดยทิศทางสินทรัพย์เสี่ยงเริ่มปรับตัวลดลงหลังภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอลงจากสาเหตุดังนี้
1. การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) เดือนมีนาคม ที่เพิ่มขึ้น 2.36 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.38 แสนตำแหน่ง (เดือนก่อน 3.26 แสนตำแหน่ง) ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนมีนาคม 3.5% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 3.6% (ลดลงจากเดือนก่อนที่ 3.6%) ในส่วนแรงกดดันค่าจ้างต่อเงินเฟ้อลดลงเช่นกัน โดยค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงเพิ่มขึ้น +0.3%MoM และ +4.2%YoY ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 4.6%YoY ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น 3.3%YoY ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ 4.0% สอดคล้องกับตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ประกาศก่อนหน้า เช่น ตำแหน่งงานเปิดใหม่ (JOLT) การจ้างงานภาคเอกชน (ADP) และยอดขอรับสวัสดิการว่างงาน ที่เป็นทิศทางชะลอตัวทั้งหมด
2. ตัวเลขภาวะสินเชื่อเริ่มชะลอตัวแม้ก่อนวิกฤตธนาคาร ขณะที่ผลสำรวจเจ้าหน้าที่สินเชื่อพบว่าความต้องการสินเชื่อลดลงและมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อยากขึ้น โดยรายงานสำรวจแนวโน้มสินเชื่อของ Fed สาขา Dallas ระบุว่า ความต้องการสินเชื่อของประชาชนลดลงสู่ -45.6 ในเดือนมีนาคม (สำรวจ 3 เมษายน) จาก -41.7 ในการสำรวจก่อนหน้า ขณะที่มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อจะตึงตัวขึ้นสู่ระดับ -35.9 จากระดับ -29.8 ขณะที่แนวโน้มใน 6 เดือนข้างหน้า เจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อจะยิ่งเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นจากแนวโน้ม NPL ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
3. ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยพุ่งขึ้นจาก 0.28% ในช่วงปลายเดือนมีนาคม สู่ 0.46% ในปัจจุบัน หลังการเข้ารับตำแหน่งของ คาซุโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ ขณะที่การออกหุ้นกู้ของบริษัทในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่บริษัทต่างๆ กังวลว่าดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังอุเอดะอาจจะยกเลิกมาตรการควบคุมผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) อย่างไรก็ตาม หลังการเข้ารับตำแหน่ง อุเอดะยังส่งสัญญาณสานต่อนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปอีก 10 ปี ทำให้คลี่คลายความกังวลได้ระดับหนึ่ง
“สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดปรับขึ้นเล็กน้อยในช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนตัวเลขสำคัญ ได้แก่ เงินเฟ้อและรายงานการประชุม FOMC เดือนมีนาคมจะประกาศ โดยทิศทางสินทรัพย์เสี่ยงเริ่มปรับลงหลังภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง เห็นได้จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) เดือนมีนาคม ที่เพิ่มขึ้น 2.36 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.38 แสนตำแหน่ง (เดือนก่อน 3.26 แสนตำแหน่ง) สอดคล้องกับตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ประกาศก่อนหน้าที่เป็นทิศทางชะลอตัวทั้งหมด ด้านการขยายตัวสินเชื่อเริ่มชะลอตัวแม้ก่อนวิกฤตธนาคาร ขณะที่ผลสำรวจเจ้าหน้าที่สินเชื่อพบว่าความต้องการสินเชื่อลดลงและมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อยากขึ้น ด้านผลตอบแทนพันธบัตรญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังการเข้ารับตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่”
คาดสัญญาณ ‘เศรษฐกิจชะลอ’ ชัดเจนขึ้นรายเดือน
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า ภาพรวมของตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ประกาศในเดือนมีนาคม เป็นทิศทางชะลอตัวทั้งหมด โดยมองว่าในเดือนต่อๆ ไปจะเริ่มเห็นการชะลอลงรุนแรงขึ้นตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลง นอกจากนั้นยังมองว่าวิกฤตสภาพคล่องธนาคารที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม จะยิ่งทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อยากขึ้น โดยเฉพาะในธนาคารขนาดกลางและเล็ก (Regional Bank) ที่มีภาวะสินเชื่อตึงตัวมากขึ้น เช่นเดียวกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวขณะที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ชาวสหรัฐฯ มีความต้องการสินเชื่อลดลง ซึ่งจะยิ่งทำให้สภาพคล่องในธุรกิจชะลอลง
ในส่วนของการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จาก ฮารุฮิโกะ คุโรดะ เป็น คาซุโอะ อุเอดะ ที่ถึงแม้จะเน้นสานต่อนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในระยะต่อไป BOJ อาจพิจารณายกเลิกมาตรการ Yield Curve Control ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด และอาจเริ่มพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินเยนและเงินเอเชียแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป
ในส่วนของไทย มองว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปสูงขึ้น เห็นได้จากรายงานเสถียรภาพทางการเงินของ ธปท. ไตรมาส 1/23 ที่ระบุเสถียรภาพภาคการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่นโยบายการเงินตึงตัวเริ่มส่งผลถึงภาพเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้สินเชื่อชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคผ่านตัวเลข NPL แย่ลงเช่นกัน ด้านความสามารถในการชำระหนี้และการทำกำไรของภาคธุรกิจลดลง โดยเฉพาะภาคการผลิต ผลจากส่งออกและภาคการผลิตที่หดตัว
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
“ช่วงสั้นมอง SET ยังมี Upside จำกัด และมีโอกาสพักตัว หลังขาดปัจจัยหนุนใหม่ และโดยปกตินักลงทุนจะชะลอการเข้าลงทุนจากการมีวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ (ปกติเดือนเมษายนวอลุ่มตลาดส่วนใหญ่จะลดลง MoM) อีกทั้งมุมมองที่แตกต่างระหว่าง Fed และตลาด เกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ย อาจนำไปสู่ความผันผวนของตลาดในระยะถัดไป ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนแนะนำ ‘Selective Buy’ ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะ”
โดยแนะนำการลงทุนในหุ้นไทยดังนี้
1. หุ้น Best of the Best ภายใต้วิกฤตการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีพื้นฐานและฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีกำไรในปี 2566-2567 เติบโตเฉลี่ยสูงกว่ากำไรของกลุ่มหุ้นที่เราแนะนำ Outperform และ Valuation ไม่แพง โดยซื้อขายด้วย PER และ PBV เฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่บริเวณ -1.0 ถึง -2.0 S.D. ทำให้คาด Downside เริ่มจำกัด จึงมองเป็นโอกาสซื้อสะสม เลือก AU, BBL, BDMS, CPALL และ GULF
2. หุ้นที่มีสถิติให้ผลตอบแทนดีหากซื้อวันแรกหลังเปิดสงกรานต์และขายปลายเดือนเมษายน โดยคัดเลือกหุ้นที่เราแนะนำ Outperform และมีปัจจัยบวกหนุน ได้แก่ กลุ่มพลังงาน เลือก PTT และ BCP ซึ่งคาดได้อานิสงส์ราคาน้ำมันฟื้นตัวและค่าการกลั่นเข้าสู่ High Season, กลุ่มค้าปลีก เลือก HMPRO หลังอุปสงค์เครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มให้ความเย็นปรับตัวดีขึ้นจากภาวะอากาศร้อนจัด และหุ้นปันผล เลือก AP, KKP, KTB และ LH ซึ่งจะขึ้น XD ในช่วงกลางเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. GDP 1Q23 ของจีน รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ของจีน เช่น ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน ยอดค้าปลีก
2. ตัวเลขตลาดอสังหาสหรัฐฯ เช่น ยอดขายบ้านมือสองและมือหนึ่ง รวมถึงดัชนีราคา S&P Case Shiller Index
3. สถานการณ์การเลือกตั้งในประเทศ ติดตามนโยบายหาเสียงและผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมือง
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: MARKO - ผลประกอบการมีแนวโน้มดีขึ้น
สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.สยามแม็คโคร หรือ MAKRO เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประกอบธุรกิจ Cash & Carry ภายใต้แบรนด์ ‘Makro’ ในไทย กัมพูชา จีน และเมียนมา และแบรนด์ ‘LOTS Wholesale Solutions’ ในอินเดีย รวมทั้งธุรกิจค้าปลีก Lotus’s ในไทยและมาเลเซีย
- ปี 2023 คาดกำไรปกติจะเติบโต 32%YoY สู่ 1.04 หมื่นล้านบาท จากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้น การขยายสาขาที่เป็นไปต่อเนื่อง และการผนึกกำลังทางธุรกิจมากขึ้น ขณะที่การรีไฟแนนซ์หนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐเสร็จในปี 1H23 จะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น
- 1Q23 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท เติบโต 2%YoY แต่หากไม่รวมขาดทุนพิเศษจากค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้คืนก่อนกำหนดในธุรกิจ B2C จำนวน 260 ล้านบาท คาดกำไรปกติจะอยู่ที่ 2.4 พันล้านบาท เติบโต 15%YoY จากยอดขายที่ดีขึ้นมากพอจะชดเชยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
- มองมีปัจจัยกระตุ้นในระยะถัดไป คือการรีไฟแนนซ์หนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐเสร็จจากการออกหุ้นกู้สกุลบาทในเดือนเมษายน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับลดลงจากระดับ 4.7-7.0% ต่อปี สู่ระดับ 2.8-4.15% ต่อปี และจะช่วยขจัดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น
- เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 46 บาท (อิงวิธี DCF) และมีเงินปันผลจ่ายจากกำไร 2H22 หุ้นละ 0.33 บาท (XD 27 เมษายน) คิดเป็น Div. Yield
Asset Allocation Strategy
ตลาดยังอยู่ในภาวะที่มีโอกาสเผชิญข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี ถึงแม้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะเริ่มแสดงสัญญาณการชะลอตัวไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ แต่ระดับการจ้างงานยังเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับค่าจ้างแรงงาน ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะชะลอลงช้าและ Fed จำเป็นต้องคงดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นระยะเวลานานจึงยังคงอยู่
เรายังคงคำแนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม Growth ที่มีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงจากการปรับลดคาดการณ์กำไรในอนาคตหากสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะถัดไป การวางพอร์ตการลงทุนควรเน้นไปที่สภาพคล่องในสัดส่วนที่สูง เน้นการลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในกรณีตลาด Risk-Off หรือความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย พร้อมหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนประเภท High Yield เพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หากเศรษฐกิจชะลอตัวเร็วกว่าคาด
สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงมุมมองเป็นกลาง โดยจะจับตาพัฒนาการเชิงบวกจากการเปิดประเทศควบคู่กับความเสี่ยงจากการเร่งตัวของเงินเฟ้อ ที่จะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ BOJ ในอนาคต โดยอาจจะต้องลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับการแข็งค่าของสกุลเงินเยน ซึ่งมักกลายเป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้น
เรายังคงมุมมองบวกกับหุ้นตลาดเกิดใหม่ เอเชีย และจีน เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าตลาดพัฒนาแล้ว โดยได้อานิสงส์หลักจากการเปิดประเทศของจีนที่จะช่วยหนุนการบริโภคและการท่องเที่ยว มองการย่อลงของตลาดเป็นโอกาสเข้าสะสมเพิ่มเติมเพื่อรับการเติบโตในอนาคต
ด้านตราสารทางเลือก เรายังคงมุมมองเป็นกลางต่ออสังหาริมทรัพย์ / REIT แต่มีมุมมองบวกกับ TH REIT ซึ่งอัตราเงินปันผลมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เรายังคงมุมมองเป็นกลางต่อสินค้าโภคภัณฑ์และแนะนำให้มีสัดส่วนของทองคำในพอร์ตการลงทุน เพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมองเป็น Neutral ต่อสินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด โดยที่เศรษฐกิจโลกยังได้แรงส่งจากการเปิดประเทศของจีนและจากภาคบริการ แต่ความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังมีอยู่ รวมทั้งมีความกังวลผลกระทบเชิงลบของปัญหาภาคธนาคารก่อนหน้านี้ และความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ยังคงส่งสัญญาณอยู่เป็นระยะๆ
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
US Bond Yields อยู่ในขาลงจากความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เงินเฟ้อผ่อนลง และตลาดแรงงานที่เริ่มส่งสัญญาณลดความตึงตัว กระนั้น มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น จากเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงช้า และ Fed น่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคม / TH Bond Yields เคลื่อนไหวตาม US Yields และเริ่มเห็นแรงขายของต่างชาติ
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
US IG Yields ได้รับแรงหนุนหลักจาก Govt Bond Yields มีแนวโน้มปรับลดลง (จาก Fed ใกล้หยุดขึ้นดอกเบี้ย ความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อชะลอลง) และจาก US IG Spreads ที่แคบลง หลังความกังวลปัญหาภาคธนาคารลดลง ขณะที่ TH IG Spreads ค่อนข้างทรงตัว
US HY Spreads มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้มากกว่า IG Spreads จากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งผลกระทบจากวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ที่ถึงแม้ว่าจะเริ่มผ่อนคลายลงจากมาตรการฉุกเฉินโดยทางการ แต่ยังคงสร้างความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงิน และมีส่วนเพิ่มความตึงตัวในภาวะการปล่อยสินเชื่อ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจาก Earnings ที่ได้รับ Downside Risks เพิ่มเติมจากแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้น และภาคการผลิตที่ยังหดตัว อย่างไรก็ดี ภาคบริการฟื้นตัว และ Fed มีแนวโน้มหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายใน 2Q2566 หนุน Bond Yields ขาลง และช่วยจำกัดการปรับลดลงของตลาด
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นยุโรปได้มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหลังเหตุการ์ณ Banking Crisis แม้ว่า Valuation ยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่เรามองว่าปัจจัยหนุนให้ตลาดปรับตัวขึ้นต่อนั้นยังคงต้องอาศัยทิศทางของผลประกอบการ ซึ่งยังคงเป็นที่ต้องจับตาว่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ยังมีอยู่ เงินเยนที่มีแนวโน้มแข็งค่า และผลประกอบการ บจ. ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลง อย่างไรก็ดี Valuation ที่ยังไม่แพง แรงส่งจากการเปิดเมือง การซื้อหุ้นคืนที่มากขึ้น และท่าทีของ BOJ ที่ Hawkish น้อยกว่าที่คาดไว้ จะช่วยจำกัด Downside ตลาด
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 5
ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการผ่อนคลายทางเงินที่ยังมีอยู่หลังเงินเฟ้อยังอยู่ต่ำ จากแรงซื้อหุ้นจีนของภาคครัวเรือนจีน และจากแนวโน้มพัฒนาการเชิงบวกในตลาดทุนของจีน ประกอบกับแนวโน้ม EPS Growth ของดัชนีในช่วงที่เหลือของปีนี้ ที่มีโมเมนตัมดีขึ้น ขณะที่ Valuation ของดัชนียังค่อนข้างน่าสนใจ
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนียังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการคุมเข้มกฎระเบียบกับกลุ่ม Platform ที่ลดลง และจาก EPS Growth ที่มีแนวโน้มดีขึ้น Valuation ที่ตึงตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากข้อพิพาทกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและประเด็นที่เกี่ยวกับไต้หวัน
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยอาจได้รับผลกระทบจากการปรับประมาณการลงตามปัจจัยภายนอก เช่น การส่งออกที่ชะลอตัว แต่เรายังคงมองว่าตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง นำโดยการฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ ที่ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 2
ดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น และการทยอยออกร่างกฎหมายเพื่อช่วยภาคอสังหา แต่เศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากยอดส่งออกที่ปรับตัวลดลงแรง และภาคการผลิตที่ยังหดตัว ซึ่งจะกดดัน Earnings ของบริษัทจดทะเบียนใน 1Q2566 ทำให้ Upside ต่อตลาดหุ้นยังคงมีจำกัด
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงที่ 5.75% เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่แม้ว่าจะชะลอลงแต่ยังเกินกว่าเป้าหมาย ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือนให้ยังคงอ่อนแอ ขณะที่ Cycle ถ่านหินผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อีกทั้งการส่งออกที่ชะลอลงทำให้ Upside ในระยะสั้นมีจำกัด
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ว่า Bond Yields ที่มีแนวโน้มปรับลดลง ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก และเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่า จะสนับสนุนราคาทองคำให้ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำมี Upside จำกัด เนื่องจากยังได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงแรงขายทำกำไร และจากการที่ Fed ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวหลังปรับดีขึ้นในระยะสั้น เนื่องจาก OPEC+ ลดกำลังการผลิตเหนือความคาดหมาย แต่ในระยะข้างหน้า อุปสงค์โลกยังเป็นตัวแปรที่สำคัญ โดยที่ชะลอตัวลงในกลุ่ม DMs แต่ฟื้นตัวในจีนและเอเชีย นอกจากนี้การลดกำลังการผลิตที่มากเกินไป จะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและการบริโภคภาคครัวเรือน
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
ภาวะสินเชื่อที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Commercial Real Estate และวัฏจักรเศรษฐกิจขาลงท่ามกลางดอกเบี้ยในระดับสูง ส่งผลลบต่อ Occupancy / Rental Rates และรายรับของ DM REITs ถึงแม้ว่าการปรับลดลงของ DM Govt Bond Yields จะส่งผลบวกต่อ REIT Govt Yield Spreads ก็ตาม
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 4
อัตราเงินปันผลของกลุ่ม EM REITs ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ในขณะที่แรงกดดันจากการปรับเพิ่มขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ เริ่มจำกัด นอกจากนี้ปัจจัยพื้นฐานด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มเอเชียยังคงได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง / ประเทศ ส่งผลให้รายได้ของกลุ่ม REITs ยังคงมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 2
Slightly Negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate สำหรับกองที่ลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ แนะนำให้ป้องกันความเสี่ยง FX เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2566
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กูรูแนะกลยุทธ์นักลงทุนในปี 2023 ศึกษาตลาด อย่าหวั่นไหว และรู้ข้อจำกัดตนเอง
- สินทรัพย์ไหนรุ่ง/ร่วง? เปิด 5 คำทำนายจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ สำหรับปี 2023
- โปรดระวังดอลลาร์ ‘กลับทิศ’ กระทบเศรษฐกิจโลก