- ดัชนี Composite PMI ของสหรัฐฯ แข็งแกร่ง แต่ยุโรปลดลง บ่งชี้ความเปราะบางของยุโรปจากปัจจัยทางการเมือง ขณะที่ในส่วนของสหรัฐฯ ปัจจัยดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
- แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ เป็นโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้น แต่ในกรณีของญี่ปุ่น แรงกดดันเงินเฟ้อที่เริ่มเพิ่มขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่า BOJ จะทำนโยบาย QT และขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม
- ค่าเงินบาทในปี 2024 บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่าบาทจะอ่อนค่าลงอีกสู่ 37.5 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 3 จากดอลลาร์ที่แข็งค่าจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง
- ส่วนค่าเงินหยวนมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเพื่อช่วยเศรษฐกิจ ซึ่งเยนและหยวนที่อ่อน จะเป็นแรงกดดันให้บาทยังอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า
ตลาดหุ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกเริ่มชะลอการปรับเพิ่มขึ้น โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังปรับขึ้นเล็กน้อยจากผลของ Stress Test ที่บ่งชี้ว่า ธนาคารสหรัฐฯ ยังมีสถานะทางการเงินที่ดี ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างผสมผสาน ยอดขายบ้านชะลอตัวลงเช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ขณะที่มีปัจจัยบวกจากตัวเลข PMI เบื้องต้นเดือนมิถุนายนยังเร่งตัวขึ้นได้และแกร่งกว่าภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะยุโรปที่เริ่มชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนหลังจากมีการยุบสภา
ความเห็นเจ้าหน้าที่ Fed ยังออกมาในโทนกลางถึง Hawkish โดย มิเชล โบว์แมน สมาชิก FOMC ระบุ ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาปรับลดดอกเบี้ย แต่เปิดกว้างต่อการปรับขึ้นหากเงินเฟ้อยังคงไม่ปรับตัวลง เริ่มเห็นการขายทำกำไรในกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปที่ยังคงปรับลดลงแน่นอนดังที่กล่าวข้างต้น
ด้านตลาด EM ปรับตัวลง นำโดยตลาดหุ้นจีนหลังตัวเลขเศรษฐกิจ เช่น กำไรภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ
ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย โดยปรับขึ้นในต้นสัปดาห์จากแรงหนุนจากความคาดหวังมาตรการ Thai ESG และ Uptick Rule อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ตลาดกังวลค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและแรงขายหุ้นที่มีประเด็นเฉพาะตัว ราคาน้ำมันยังคงปรับเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยจากความเสี่ยงในตะวันออกกลางและสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และเริ่มมีการโจมตีกันมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% กลุ่มเทคโนโลยียังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย แม้จะมีแรงขายทำกำไรในหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่กลุ่มที่เกี่ยวกับกำลังซื้อและกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมลดลง
แรงกดดันต่อนโยบายการเงินไม่เท่ากัน
ในส่วนของพัฒนาการของดัชนี PMI โลก บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า
1. ดัชนี Composite PMI ของสหรัฐฯ แข็งแกร่ง แต่ยุโรปลดลง บ่งชี้ความเปราะบางของยุโรปจากปัจจัยทางการเมือง ขณะที่ในส่วนของสหรัฐฯ ปัจจัยดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
2. แรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลงทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ เป็นโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยได้ง่ายขึ้น
3. ในกรณีของญี่ปุ่น แรงกดดันเงินเฟ้อที่เริ่มเพิ่มขึ้นจากเงินเยนอ่อนค่า ทำให้เราคาดการณ์ว่า BOJ จะทำนโยบาย QT และขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ตามลำดับ
4. PMI ของอินเดียที่ยังขยายตัวอย่างร้อนแรง บ่งชี้ถึงศักยภาพเศรษฐกิจอินเดียที่ยังแข็งแกร่ง
ค่าเงินเอเชีย ‘อ่อนค่า’
ในส่วนของค่าเงินบาทในปี 2024 เรามองว่าบาทจะอ่อนค่าลงอีกสู่ 37.5 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 3 จากดอลลาร์ที่แข็งค่าจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่ง แต่เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง (ช่วงปลายไตรมาส 3) ดอลลาร์จะอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดเริ่มมองว่า Fed จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ ซึ่งจะทำให้บาทแข็งค่าขึ้นได้ในไตรมาส 4 ท่ามกลางดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่จะสมดุล (จากดุลการค้าที่ขาดดุล แต่ดุลบริการเกินดุล)
ขณะที่ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หลังจาก BOJ ทำ QT และขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ท่ามกลางแนวโน้มดอลลาร์ที่จะเริ่มอ่อนค่าลง จะทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นในช่วงไตรมาส 4 นอกจากนั้นเรามองว่าค่าเงินหยวนมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเพื่อช่วยเศรษฐกิจ (ปัจจุบันอ่อนลง 1.7%YTD) ซึ่งเยนและหยวนที่อ่อน จะเป็นแรงกดดันให้บาทยังอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ เรามองว่าความผันผวนของค่าเงินบาทจะเพิ่มขึ้นจากมุมมองของตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์ Cover Short หลัง ตลท. เริ่มใช้มาตรการ Uptick ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 เลือก HANA, TOP, BEM, MINT, OSP, BBL, SCGP และ AOT
2. หุ้นที่คาดว่าจะได้อานิสงส์บวกจากแผนปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG ใหม่ โดยขยายวงเงินเป็น 3 แสนบาท และลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี เลือก ADVANC, CPALL, BDMS, BBL และ BEM
3. หุ้น Global Play ที่คาดว่าผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่จะขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ไม่แน่นอน เลือก KCE, SCGP, TU และ MINT (ทั้งนี้ KCE และ SCGP แนะนำซื้อเมื่ออ่อนตัว หลังมีแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ออกมาอ่อนแอ
4. หุ้นที่สามารถลดความผันผวนและเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
“ช่วงสั้นมอง SET Index ยังเปราะบางและแกว่งตัวในกรอบแคบ ระหว่างรอความชัดเจนของปัจจัยการเมืองในประเทศ ซึ่งในวันที่ 3 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการนัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล และวันที่ 10 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญจะมีการนัดพิจารณาคดียื่นวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมิถุนายน จีน อียู และสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะออกมาทรงตัวถึงขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า”
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. การแถลงการณ์โดยประธาน Fed ในวันที่ 2 กรกฎาคม และรายงานการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 11-12 มิถุนายน (FOMC Minutes) ในวันที่ 4 กรกฎาคม
2. การประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และวันที่ 3 กรกฎาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล
3. ข้อมูลดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ PMI ภาคการผลิตเดือนมิถุนายนของจีน อียู และสหรัฐ, เงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของไทยและอียู
4. ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนมิถุนายน ตลาดคาดว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรอยู่ที่ 1.6 แสนตำแหน่ง น้อยลงเมื่อเทียบกับตัวเลขเดือนพฤษภาคมที่ 2.72 แสนตำแหน่ง อัตราการว่างงานคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 4.0%
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: ADVANC - คาดว่ากำไรโตต่อเนื่องใน 2Q24
แนะนำ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้นำธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมในไทย มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในด้านจำนวนผู้ใช้บริการสูง 45% อีกทั้งยังมีจำนวนคลื่นในมือมากที่สุดในกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้บริการลูกค้าได้อย่างมีคุณภาพ และผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตได้ดีในระยะยาว
- 2Q24 คาดว่ากำไรจะเติบโต YoY และ QoQ แรงหนุนจากรายได้ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วน SG&A คาดว่าจะทรงตัว QoQ เนื่องจาก Synergy ด้านต้นทุนเริ่มเห็นผลแล้ว
- เป็นหุ้นปลอดภัยภายใต้ภาวะตลาดผันผวนและเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมองราคาหุ้นจะ Outperform ตลาดได้ เมื่อพิจารณาจากกำไรที่แข็งแกร่งขึ้น โดยปี 2024 คาดว่ากำไรสู่ 3.16 หมื่นล้านบาท เติบโต 10.9%YoY และให้ Div. Yield ที่ดีในระดับ 4.7%
- เราประเมินราคาเป้าหมายที่หุ้นละ 260 บาท อิงวิธี DCF (WACC 6% และอัตราเติบโตระยะยาว 2%) และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 9.34 บาท
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้หุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์จะมีการปรับตัวลง แต่อย่างไรก็ดี เรายังคงเห็นสัญญาณเชิงบวกที่ทำให้เชื่อว่าการฟื้นตัวในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ยังคงดีในระยะถัดไปจาก
1. การผลิตภาคอุตสาหกรรมไต้หวันและส่งออกเกาหลีเติบโตดี
2. มุมมองเชิงบวกของ ADVANTEST ต่อ AI ที่หนุนกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์
3. งบและแนวโน้มที่ดีของ Micron Technology ด้วยภาพนี้เราจึงมองว่าราคาหุ้นที่ปรับลงอาจเป็นโอกาสในการลงทุนที่ดี เพื่อคาดหวังการเติบโตใน 2H24
- การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาด โดยมีแรงหนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ที่มีการเติบโต เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มวงจรรวม (IC) และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นภาพที่ออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกภาคเซมิคอนดักเตอร์เกาหลีที่ยังแกร่งและเพิ่มขึ้นกว่า 50.2%YoY ในเดือนมิถุนายน
- ภาพงบ Micron Technology ออกมาดีกว่าคาด แต่อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นปรับลงเป็นผลจากแนวโน้มงบที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่บาง House มอง และราคาหุ้นที่ปรับขึ้นไปแล้วจากความคาดหวังที่สูง ซึ่งหากตัดความคาดหวังตลาดออกเราเชื่อว่าภาพงบและแนวโน้มยังคงฟื้นตัวที่ดีในปี 2024 สะท้อนจากมุมมองเชิงบวกของบริษัท, แนวโน้มการเติบโตที่แกร่งของ HBM, แนวโน้ม CAPEX to REV ที่ปรับตัวขึ้น และแนวโน้มราคาชิป NAND ที่ปรับขึ้น ผลจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นไม่เท่าทันกับอุปสงค์
- ADVANTEST มีมุมมองที่เป็นบวกต่อการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะจากการพัฒนาด้าน AI ซึ่งจะทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทดสอบชิปเพิ่มขึ้น รวมถึงมองอุตสาหกรรมอื่นนอกจาก Data Center จะได้รับประโยชน์ในทางเดียวกันทั้ง PC และสมาร์ทโฟน
ภาพนี้สะท้อนได้ว่า แนวโน้มการฟื้นตัวและการเติบโตของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ยังคงดูดี โดยมีแรงหนุนหลักจากอุปสงค์ AI ที่แกร่ง ที่จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมดั้งเดิม อาทิ PC มีการฟื้นตัวดี รวมถึง Data Center ที่จะมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในระยะสั้นอาจมีความผันผวนจาก
1. ความคาดหวังที่สูง
2. การเติบโตที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากฐานที่สูง
3. การขายทำกำไร
แต่อย่างไรก็ดี ในภาพใหญ่เราเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานยังคงแกร่ง รวมถึงแนวโน้มการเติบโตยังคงดี
เรามองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลงในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนที่จะให้ Risk Reward ที่ดีในระยะถัดไป โดยในกลุ่มนี้
1. เราแนะ NVDA (มองแถว 105 ดอลลาร์) TSM, ARM, QCOM และ AVGO
2. แนะนำ มองกลุ่มต้นน้ำที่เราเชื่อว่าได้ประโยชน์เช่นกัน Lam Research, Applied Material, Tokyo Electron, ASML
3. ส่วนผู้ผลิต HBM ที่มีแนวโน้มเติบโตดี Micron Technology, SK hynix และ Samsung
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่สูง โดยเฉพาะสหรัฐฯ หลังหนึ่งในสมาชิกคณะผู้ว่าการ Fed กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาลดดอกเบี้ย และตนเปิดกว้างต่อการขึ้นดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อยังคงไม่ปรับตัวลง นอกจากนี้สภาพคล่อง / เงินสด มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำเนินต่อ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดภายในตะวันออกกลาง และข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
10Y UST Yield ยังแกว่งตัวแคบในระดับ 4.2-4.3%
กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในการประชุมล่าสุด โดย 10Y TGB Yield ยังไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แกว่งตัวแคบในกรอบ 2.7-2.8%
Real Yield ในปัจจุบันมีความน่าสนใจในการถือเพื่อรับ Income และมีความคุ้มค่าที่จะถือเพื่อ Hedge ในกรณีที่เกิด ‘Growth Shock’ (เศรษฐกิจโตต่ำกว่าคาด)
เราคาดว่า Volatility ของ Bond จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน โดย Bond รุ่นตัวยาว (>= 7 ปีขึ้นไป) มีความเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนบนผลของการเลือกตั้ง และขนาดของ Fiscal Policy ที่จะถูกประกาศออกมาหลังเลือกตั้งในช่วงเดือนมกราคม 2568 เรามองว่า Bond ช่วง Mid-Curve (2-4 ปี) มีความเสี่ยงของ Duration ที่น้อยกว่า และ Coupon ที่ได้รับเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
US Treasury & IG
สัปดาห์นี้ UST ทั้งตัวสั้นและตัวยาวทรงตัวในกรอบแคบ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาส่วนใหญ่ต่ำกว่าคาด (New Home Sales / Pending Home Sales ของเดือนพฤษภาคม และ Initial Jobless Claim) และ TGB Yield Curve ทรงตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติด
Spread ของ IG ยังทรงตัวตามคาด ด้านอัตราผลตอบแทนยังน่าสนใจ โดยเราชอบในส่วนของทั้ง US Treasury และ IG Bond Duration อายุ 2-4 ปี จากการที่ Fed อาจลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาด และ Inverted Yield Curve นอกจากนี้ผลตอบแทนเฉลี่ยยังอยู่ใกล้ 4.5-5.5% ยังสูงกว่าที่ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายปกติ ‘ระยะยาว’ (Long Run Normal Policy Rate) ที่ 2.6%
High Yield Bond
US HY Yield-to-Worst และ HY Spreads ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก และยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 เราคาดการณ์ว่า Spread ของ HY จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น และ Supply ของการ Re-Finance ที่จะเริ่มออกมาในช่วงปลายปี 2567
สินทรัพย์ผสม / กึ่งหนี้กึ่งทุน / REITs
ในสภาวะที่ Spread ของ Public Credit (อย่างเช่น IG และ HY) ค่อนข้างแคบ การเพิ่ม REITs จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนในรูปกระแสเงิน (Income Return) ให้กับ Portfolio ได้ในระยะกลางถึงยาว และเป็นการเพิ่ม Diversification ให้กับ Portfolio จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ
สินทรัพย์ผสมช่วยลดความผันผวน เนื่องจากการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอกที่มีต่อสินทรัพย์ที่ถือครอง
US REITs
US REITs มีปัจจัยหนุนจาก
1. Occupancy Rate ที่อยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการปรับขึ้นค่าเช่าในอนาคต
2. Valuation ที่อยู่ในระดับที่ไม่แพง
3. ดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่มีแนวโน้มปรับตัวลงในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม US Bond Yield ที่ยังสูง กดดันภาพการลงทุนในระยะสั้น
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
การกระจุกตัวของหุ้นเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังหุ้นกลุ่ม Quality Growth กลับมา Outperform ได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจาก Bond Yield ที่ทรงตัวระดับต่ำ / กลุ่มสาธารณูปโภคได้รับประโยชน์จากกระแส AI
ตลาดกลับมาให้น้ำหนักการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายนอีกครั้ง เร็วขึ้นจากเดือนธันวาคม
ภาพรวมกำไรของ บจ. ของทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ใน 1Q67 ออกมาดีกว่าที่คาดค่อนข้างมาก บริษัทที่ให้ Positive Guidance มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 1Q67 และกำไรของตลาดหุ้นในยุโรปกลับมาเป็นบวก QoQ ครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส
นโยบายการเงินของ BOJ ถึงแม้จะตึงตัวมากขึ้น แต่ยังน้อยกว่าตลาดคาด การกลับมาของเงินเฟ้อในญี่ปุ่นสนับสนุนการเติบโตของกำไรในระยะกลางถึงยาว
หุ้นสหรัฐฯ
วัฏจักรของกำไรบริษัทจดทะเบียนกำลังเข้าสู่ช่วงเร่งตัวขึ้น และเริ่มเห็นการขยายตัวของกำไรกระจายตัวสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จากที่เคยกระจุกตัวอยู่ใน IT, Consumer Service และ Consumer Discretionary โดยคาดการณ์ล่าสุด EPS (Earnings per Share) ในปี 2567 อยู่ที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐ (+13%YoY) และในปี 2568 อยู่ที่ 275 ดอลลาร์สหรัฐ (+10%YoY) การเร่งตัวของกำไรรายไตรมาส และ Financial Condition ที่ยังอยู่ในภาวะผ่อนคลาย จะเป็นตัวประคอง Valuation ของตลาดฯ
คาดการณ์กำไรในครึ่งปีหลัง จะเห็นส่วนต่างการเติบโตระหว่างหุ้น Magnificent 7 และหุ้นที่เหลือในตลาดเริ่มหดแคบลง จากฐานที่สูงของ MAG 7 การเร่งตัวขึ้นของกำไรในกลุ่มที่เหลือ
หุ้นยุโรป
ตลาดหุ้นยุโรปมี Valuation ที่ไม่แพง และได้แรงหนุนจากการทยอยลดดอกเบี้ยของ ECB และ BOE ขณะที่ EPS มีแนวโน้มถูกปรับดีขึ้นตามโมเมนตัมเศรษฐกิจในภูมิภาคและโลกที่ยังดี โดยเราเน้นกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรที่สูงและมีงบดุลที่แข็งแกร่ง แม้ว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับจีน บนความเสี่ยงการขึ้นภาษีนำเข้ารถตอบโต้กัน และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป จากผลการเลือกตั้งทั้งในฝรั่งเศสและอังกฤษอาจสร้างความผันผวนและกดดันตลาดฯ โดยรวมอยู่ก็ตาม
หุ้นญี่ปุ่น
เราคาดว่ากลุ่ม Value ญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการปฏิรูปธรรมาภิบาลในญี่ปุ่นที่จะหนุน P/BV และ ROE ในภาพรวมให้สูงขึ้น นอกจากนี้กลุ่มฯ มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการคุมเข้มทางการเงินมากขึ้นของ BOJ โดยเราคาดว่า BOJ มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมฯ วันที่ 30-31 กรกฎาคม และเริ่มลดการเข้าซื้อ JGB ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
การเติบโตของ Global GDP ในปี 2567 ถูกปรับประมาณการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี สนับสนุนการขยายตัวของการค้าโลก และส่งผลให้หุ้น Value ที่มีอยู่มากในหุ้นกลุ่ม EM มีความน่าสนใจมากขึ้น โดย Valuation ของกลุ่ม EM ส่วนใหญ่ (ยกเว้นอินเดีย) ถูกกว่า DM ทั้งในแง่ของ FWD P/E และ PBV รวมทั้งกำไรเติบโตมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ PMI และ GDP ของฝั่งตลาด EM มีภาพของการขยายตัวที่สูงกว่าตลาด DM
หุ้นอินเดีย
ในระยะสั้นตลาดอาจผันผวนจากการที่พรรคร่วมรัฐบาล NDA ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งน้อยกว่าที่คาดมาก (293 ที่นั่ง จากคาดไว้ที่ 350-400 ที่นั่ง) ได้สร้างความกังวลต่อตลาด เรื่องความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการผ่านร่างนโยบายต่างๆ และอาจกระทบต่อความต่อเนื่องของนโยบายหลักที่สำคัญ อย่างไรก็ดี นโยบายภาคการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของอินเดียจะดำเนินต่อไป แต่อาจจะมีนโยบายประชานิยมที่สนับสนุนภาคการบริโภคมากขึ้น
เราชอบหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง Valuation ที่ถูกกว่าหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมาก และได้แรงหนุนจากเงินทุนจากต่างประเทศที่ฟื้นตัว บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ทำผลงานได้ดีกว่ามากเมื่อปีที่แล้ว มีความเสี่ยงที่จะถูกขายทำกำไร เนื่องจากการประเมินมูลค่าที่สูงและการถูกตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นจาก ก.ล.ต. อินเดีย
หุ้นอินโดนีเซีย
ดัชนีฯ เริ่มเห็นการฟื้นตัว หลังตัวเลขการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง และผลสำรวจยอดค้าปลีกในเดือนพฤษภาคมที่มีแนวโน้มขยายตัว ทั้งนี้ เรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อดัชนีฯ จากภาพรวมเศรษฐกิจที่เติบโตดีราว 5.0%YoY และผลประกอบการดัชนีฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ 2Q67 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ค่าเงินรูเปียห์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ส่งผลกดดันเงินทุนไหลเข้าดัชนีฯ ในระยะสั้น
หุ้นจีน H-Share
ดัชนีหุ้นจีน H-Share มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจจีนที่ไม่ได้น่ากังวล เห็นได้จากตัวเลขยอดค้าปลีกกับการส่งออกล่าสุดที่ยังดี และจากความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นและปฏิรูปเพิ่มเติมในการประชุม 3rd Plenum และการประชุม Politburo ช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
ขณะที่ล่าสุดทางการปักกิ่งประกาศผ่อนคลายข้อกำหนดการซื้อบ้าน ด้วยการลดอัตราส่วนการวางเงินดาวน์ซื้อบ้านและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
สินค้าโภคภัณฑ์
ราคาทองคำมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงพักฐานในระยะสั้น หลังปรับขึ้นมารวดเร็วบนความกังวลของสงคราม อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานยังคงสนับสนุนการถือครองทองคำในพอร์ตระยะยาว เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากภาวะสงครามที่รุนแรงได้ ประกอบกับเริ่มมีความกังวลประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งประเทศหลักๆ ที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ได้กระจายความเสี่ยง ลดการถือเงินดอลลาร์สหรัฐ ในทุนสำรองระหว่างประเทศ และมีความต้องการสะสมทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง-ยาว