สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงทรงตัวเนื่องจาก
1. ตัวเลขการจ้างงานที่ขยายตัวแข็งแกร่ง โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 3.39 แสนตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 1.9 แสนตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นรุนแรงจาก 3.4% ในเดือนเมษายน เป็น 3.7% ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ค่าจ้างรายสัปดาห์ขยายตัว 3.4% ในเดือนพฤษภาคม ชะลอจาก 3.7% ในเดือนเมษายน
2. ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นดอกเบี้ยผิดคาดสู่ระดับ 4.25% จากเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับธนาคารกลางออสเตรเลียที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเหนือคาดมาอยู่ที่ 4.1% เช่นกัน ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่า Fed อาจต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) หลายท่านในสัปดาห์ก่อน (ก่อน Silence Period) ส่งสัญญาณว่าจะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนนี้
3. เศรษฐกิจจีนเสี่ยงชะลอตัวลงมากหลังการส่งออกกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ -7.5% จากความต้องการโลกที่หดลง ขณะที่การนำเข้าหดตัวเช่นกันที่ -4.5%
4. ธนาคารขนาดใหญ่ของจีน อันได้แก่ ICBC, AgriBank, Bank of China และ Bank of Communications ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 และ 5 ปี ลง 0.15% และอัตราดอกเบี้ยรายปีสำหรับเงินฝากกระแสรายวันลง 0.1% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 2 ปี ลดลง 0.1% ตอบสนองต่อคำร้องขอของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจ
5. ดัชนี ISM ภาคบริการสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม ชะลอลงมาก โดยอยู่ที่ 50.3 จุด ชะลอลงจาก 51.9 ในเดือนเมษายน ขณะที่ดัชนี ISM และ PMI ภาคการผลิตอยู่ระดับต่ำกว่า 50 จุดต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน นอกจากนั้นดัชนีย่อยของ ISM ภาคบริการชะลอลงเช่นกัน โดยการจ้างงานภาคบริการเริ่มเข้าสู่แดนลบแล้ว ขณะที่ดัชนีด้านคำสั่งซื้อใหม่ชะลอเหลือ 52.9 จาก 56.1 ในเดือนก่อน
6. คำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานลดลงต่อเนื่อง โดยหากหักอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว คำสั่งซื้อหดตัว -0.4% ต่อเดือนในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อสินค้าคงทนหักอาวุธฯ ปรับขึ้นเล็กน้อย
“หุ้นโลกได้ปัจจัยบวกจากการจ้างงานที่ขยายตัวแข็งแกร่ง แต่เผชิญปัจจัยลบจากการที่ธนาคารกลางแคนาดาและออสเตรเลียปรับขึ้นดอกเบี้ยสวนตลาด ด้านเศรษฐกิจจีนเสี่ยงชะลอตัวลงมาก หลังการส่งออกกลับมาหดตัวอีกครั้งจากความต้องการโลกที่หดลง ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ทรงตัวในระดับสูงหลังข้อตกลงหนี้สาธารณะถูกตราเป็นกฎหมาย ทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐจะออกพันธบัตรเพื่อเติมเงินคงคลังมากขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ทรงตัวในระดับสูง”
หุ้นไทยยังขาดปัจจัยหนุน
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า ตลาดกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในระยะต่อไปได้แก่ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่อาจมีมากขึ้นจากการ Fed Hawkishness ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังความผันผวนในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการลงทุนจะกลับมาสู่ปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น โดยนักลงทุนจะลดความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยลง และหันมามุ่งเน้นในสินทรัพย์หรือตลาดที่ยังมีความแข็งแกร่งและต้านทานการขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งการชะลอลงของเศรษฐกิจได้ แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับดัชนี SET จะยังผันผวนในกรอบและมี Upside จำกัด หลังขาดปัจจัยสนับสนุน โดยมองการประชุมนโยบายการเงินของ Fed จะมีมติคงดอกเบี้ยตามตลาดคาด แต่ต้องจับตาหาก Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม และเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตลาดคาด จะเป็น Sentiment ลบระยะสั้นต่อบรรยากาศลงทุนในตลาดหุ้นไทย ควบคู่ไปกับความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนและสถานการณ์จัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไทยที่ยังล่าช้า ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำให้ Selective Buy
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นแรงในวันที่ 8 มิถุนายน จากแรงซื้อของหุ้นขนาดใหญ่ เช่น PTT, DELTA และ GULF ที่ช่วยหนุนตลาดหุ้นโดยรวม ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์มีปัจจัยสนับสนุนจาก
1. เงินเฟ้อผู้บริโภคไทยขยายตัว 0.5% ชะลอรุนแรงเหนือคาดจากราคาพลังงานที่ลดลงและมาตรการภาครัฐ ทำให้ตลาดเริ่มมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยุติการขึ้นดอกเบี้ย
2. คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (กกร.) คงคาดการณ์ GDP ปีนี้ 3-3.5% จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
3. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนพฤษภาคม 1.97 ล้านคน
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
1. หุ้นที่คาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 2/66 จะยังเติบโตได้ดีทั้ง YoY และ QoQ เลือก AOT, BBL, ADVANC, MINT, OSP, KCE และ ONEE
2. หุ้นเชิงรับหาก Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกรกฎาคม และเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตลาดคาด เลือก BDMS และ BEM
3. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง ซึ่งต้องการเก็งกำไรระยะสั้น หาก Fed ส่งสัญญาณไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเดือนกรกฎาคม และเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด เลือก DELTA, PTTEP และ BCP
ขณะที่ช่วงสั้นแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุน
1. หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่ม ปตท. ออกไปก่อน เนื่องจากมีความเสี่ยงหรือความไม่ชัดเจนของโครงสร้างราคาพลังงานจากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่
2. หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลใหม่ ได้แก่ กลุ่มขนส่งพัสดุ อาทิ KEX, กลุ่มอาหาร ได้แก่ CPF, ZEN, GFPT, TU, AU และ CENTEL และกลุ่มอสังหา ได้แก่ LPN, PSH, SIRI, QH และ AP โดยหุ้นที่เราแนะนำ Underperform หรือมีความเสี่ยงที่ยังต้องติดตาม เลือก AAV, SAWAD, MST และ NRF
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก 3 แห่ง ได้แก่ Fed, ECB และ BOJ โดยตลาดคาด Fed และ BOJ จะมีมติคงดอกเบี้ย ขณะที่คาด ECB จะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
2. อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม ซึ่งตลาดคาดว่าจะชะลอลงมาอยู่ที่ 4.7% จาก 4.9% ในเดือนเมษายน
3. สถานการณ์ทางการเมืองไทย การรับรองผลการเลือกตั้งทั่วไปและการตรวจสอบคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: AOT กำไรจะเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง
สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็นผู้ประกอบธุรกิจท่าอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 90% ของจำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั้งหมดในประเทศไทย AOT ประกอบกิจการท่าอากาศยานหลัก 2 แห่งในกรุงเทพฯ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง) และท่าอากาศยานภูมิภาค 4 แห่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญ (ภูเก็ต, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และเชียงราย)
- มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศสูงสุดในกลุ่ม จึงคาดว่าการฟื้นตัวที่ชัดเจนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะช่วยหนุนฐานะการเงินให้ดีขึ้นและลดความเสี่ยงการฟื้นตัวของกำไร
- ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2566 (เมษายน-มิถุนายน 2566) คาดว่ากำไรเติบโต YoY และ QoQ จากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวไทย อีกทั้งยังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 31 มีนาคม 2566 และได้กลับมาเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 โดยเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่อผู้โดยสารสำหรับ 3 สัมปทานใหม่ที่มอบให้ King Power
- กำไรจะเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยปี 2566 คาดว่าพลิกมามีกำไรปกติ 1.48 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดสู่ 2.66 หมื่นล้านบาทในปี 2567 อิงกับสมมติฐานจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ 54 ล้านคนในปี 2566 และ 75.6 ล้านคนในปี 2567 เพิ่มจาก 13.9 ล้านคนในปี 2565
- มูลค่าหุ้นน่าสนใจ โดยราคาหุ้น AOT ปรับลง 6.0% ในปีนี้ และยังเทรดต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ 5.4% ขณะที่เราประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 82 บาท
Asset Allocation Strategy
ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะเข้าสู่ภาวะ Recession ยังคงอยู่ ตามอุปสงค์ที่ถูกลดทอนด้วยเงินเฟ้อและภาระดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นมาอยู่สูงกว่าแต่ก่อน ควบคู่กับสภาพคล่องที่จะหายไปจากตลาดมากขึ้น ขณะที่ปัญหาภาคการธนาคารก็จะกดดันให้การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดกว่าเดิม มีเพียงภาคบริการที่ยังขยายตัวได้และตลาดแรงงานที่ยังอยู่ในระดับแข็งแรง
ปัญหาต่อเนื่องของสหรัฐฯ จากการขยายเพดานหนี้คือ การกู้เงินของกระทรวงการคลังจำนวนมาก เพื่อเติมเงินคงคลังและชำระรายจ่ายภาครัฐผ่านการออกพันธบัตรรวมสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งนับเป็นการถอนเม็ดเงินออกจากเศรษฐกิจ
ด้านความเสี่ยงหลักของยุโรปคือการชะลอตัวของภาคการผลิตที่ดัชนีความเชื่อมั่นส่วนใหญ่บ่งชี้ว่า มีโอกาสเข้าสู่การหดตัวในไม่ช้า มีเพียงอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงเร็วกว่าคาด ที่ช่วยลดความเสี่ยงในอนาคตลงได้เล็กน้อย
ภูมิภาคเอเชียและจีนชะลอลงเช่นกัน หลังการเปิดเมืองของจีนกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายสินค้าได้เพียงระยะสั้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในระยะถัดไปทำให้ภาคครัวเรือนไม่กล้าใช้จ่าย ขณะที่ภาคธุรกิจก็ยังขาดความมั่นใจที่จะลงทุนเพิ่ม จึงเริ่มเห็นมาตรการจากภาครัฐออกมาเพิ่มเติม อาทิ การขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ในการลดดอกเบี้ยเงินฝาก
ดังนั้นเรามองว่าภาพการฟื้นตัวของตลาดจีนจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเกิดจากพื้นฐานภายในประเทศเป็นหลักควบคู่กับมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐฯ เมื่อเห็นเศรษฐกิจแสดงสัญญาณที่แย่ลงกว่าเดิม จุดแข็งเดิมของจีนคือ valuation ที่ถูกกว่าตลาดอื่น รอเพียงการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่เด่นชัดและเม็ดเงินลงทุนที่หมุนกลับเข้าตลาดจีนเท่านั้น
ด้านตราสารทางเลือก เรายังคงมุมมองเป็นกลางต่ออสังหาริมทรัพย์ / REIT ประเทศพัฒนาแล้ว แต่มีมุมมองเชิงบวกต่อ REIT ไทยและอาเซียน ซึ่งอัตราเงินปันผลมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแนะนำให้ถือลงทุนทองคำในพอร์ต เพื่อรองรับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง / เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 3
เรามีมุมมองเป็น Neutral ต่อสินทรัพย์สภาพคล่อง / เงินสด โดยเศรษฐกิจโลกได้รับแรงส่งจากภาคบริการและการเปิดเมืองของจีนและเอเชีย แต่ถูกกดดันด้วย Recession Risks รวมทั้งภาวะสินเชื่อตึงตัวใน DMs อีกทั้งยังมีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก ในขณะที่ BOT อาจขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดได้เพียง 2% หรือมากกว่าเล็กน้อย
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 5
UST Yields ในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเป็นขาลงมากกว่าขึ้น จากเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลง Fed (ใกล้) หยุดขึ้นดอกเบี้ย และ Recession Risks แต่ Yields ปรับขึ้นบ้างจากเงินเฟ้อพื้นฐานหนืด, ตลาดแรงงานและผู้บริโภคที่แข็งแรง และ Fed ไม่รีบลดดอกเบี้ย / TH Bond Yields อายุระยะยาว ได้แรงหนุนจากนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 3
US IG ได้รับแรงส่งหลักจาก UST Yields ที่มีแนวโน้มเป็นขาลงมากกว่าขึ้น และมี Buffer จากงบดุลที่ดี กระนั้น IG Spreads มีความเสี่ยง Widening จากภาวะสินเชื่อตึงตัวและความเสี่ยง Recession ซึ่งเริ่มสะท้อนจากจำนวนบริษัทยื่นล้มละลายที่สูงขึ้นอย่างมีนัย ในขณะที่ TH IG Spreads อายุระยะยาวทรงตัวหลังปรับเพิ่มขึ้น
US HY มีความเสี่ยง Spread Widening มากกว่า IG อย่างชัดเจน เหตุจาก Recession Risks โดยเฉพาะจากภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวมากขึ้นจนใกล้เคียงระดับในช่วงเผชิญ Recessions ในอดีต ซึ่งถูกกดดันเพิ่มเติมจากวิกฤตธนาคารภูมิภาคที่ถึงแม้ว่าจะแผ่วลง แต่ยังคงสร้างความกังวล อีกทั้งจำนวนบริษัทยื่นล้มละลายเริ่มสูงขึ้น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ถูกกดดันจากภาคผลิตหดตัว สินเชื่อตึงตัว และ Earnings หดตัว แต่หนุนด้วยตลาดแรงงานและผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง ภาคบริการที่ฟื้นตัว และ Earnings Surprises / Growth ที่เริ่มมีท่าที Bottom Out ขณะที่ Mega-Cap Tech ได้แรงหนุนมาจาก EPS ที่ดีกว่าคาด และ AI Trend แต่การที่ Overpriced ทำให้ควร Trim ลงบ้างในช่วงนี้
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 3
ดัชนีฯ มีแนวโน้มถูกกดดันจากการที่ ECB มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมเดือนนี้ และยังคงขึ้นต่อในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะที่โมเมนตัมของเศรษฐกิจของยุโรปเริ่มแผ่วลง โดยเฉพาะเยอรมนี และผลประกอบการ บจ.ยุโรป เสี่ยงถูกปรับลดลง อย่างไรก็ดี Valuation ของดัชนีฯ ที่ไม่แพง จึงมี Downside ที่จำกัด
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 2
ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากความเสี่ยงแรงขายทำกำไร หลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีอยู่และความเป็นไปได้ในการปรับ YCC จะส่งผลให้เงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่า นอกจากนี้ตลาดฯ ยังมีปัจจัยกดดันจาก EPS ที่มีแนวโน้มถูกปรับลง ตามดัชนี Economic Surprise ที่แย่ลง
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 5
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นำโดยภาคการบริโภค ประกอบกับแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมจากทางการจีน เช่น การปรับลด RRR ลง, มาตรการเยียวภาคอสังหา และการอุดหนุนภาษีเกี่ยวกับรถ EV ฯลฯ ขณะที่ EPS จีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้น
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นของทางการจีนจาก EPS ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่ม Internet Platform ขณะที่ Valuation ที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มเผชิญผันผวนจากประเด็นข้อพิพาทด้านเทคโนโลยีกับชาติต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มดี สอดคล้องกับที่ กนง. ปรับเพิ่มประมาณการ การบริโภคภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่เงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดมีแนวโน้มส่งผลให้ ธปท. หยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและคงที่ 2% อย่างไรก็ตาม ตลาดมีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้นจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะแล้วเสร็จ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 2
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างต่อเนื่องยังไม่ส่งผลต่อ Credit Growth ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย อีกทั้งการส่งออกในเดือนพฤษภาคมยังอ่อนแอและสภาพคล่องบนธุรกิจภาคอสังหายังตึงตัว โดยหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระหนี้กระจุกตัวช่วงไตรมาส 2 และ 3 ทำให้ปัจจัยบวกในระยะสั้นมีจำกัด
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมจะลดลงสู่เป้ากรอบบนของทางการ แต่คาดว่ายังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.75% เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน ทำให้การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ Upside ในระยะสั้นมีจำกัด อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามการบริโภคในช่วง 2H66 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 2567
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ได้แรงหนุนจาก US (Real) Bond Yields ใกล้เคียงสูงสุดไปแล้ว USD ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า (ถึงแม้ว่าแรงส่งด้านอ่อนค่าจะน้อยลง) และความเสี่ยงโลกที่แสดงให้เห็นเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำมี Upside จำกัด เนื่องจากอาจมีแรงขายทำกำไร Fed ยืนยันท่าทีไม่รีบลดดอกเบี้ย และตลาดเริ่มคลายความหวังลดดอกเบี้ยปีนี้
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ในระยะต่อไปอุปสงค์โลกจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ยังไม่แน่นอน ซึ่งค่อนข้างหดตัวในภาคผลิต แต่ฟื้นตัวต่อไปในภาคบริการ อีกทั้งเป็นขาลงใน DMs แต่ฟื้นตัวในจีนและเอเชีย กระนั้นยังไม่ทั่วถึงและไม่ร้อนแรง นับเป็นอุปสรรคต่อราคาพลังงาน ในขณะที่การลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมอาจสร้าง Sentiment เชิงบวกได้เพียงในระยะสั้น
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 2
ถูกกดดันหลักๆ จากกลุ่ม Office จาก Hybrid Working / E-Commerce, Occupancy Rate ลดลง และ Vacancy Rate สูงขึ้น อีกทั้งสินเชื่อ Commercial RE ตึงตัว เศรษฐกิจขาลงแต่ดอกเบี้ยสูง Refinancing Risks และ Short Selling ใน RE สูงขึ้น อย่างไรก็ดี Net Operating Income ของกลุ่มอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 4
ได้รับอานิสงส์จากวัฏจักรฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หนุนด้วยการเปิดเมือง / ประเทศ และ REIT-Govt Yield Spreads (เช่น ใน SG และ TH) อยู่ในระดับสูงและปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ Office Leasing และ Vacancy Rates ที่แย่ลงต่อเนื่องในสหรัฐฯ กลับค่อนข้างทรงตัวได้ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม อัตราค่าเช่าที่อยู่อาศัยเริ่มชะลอลงใน SG
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 2
Slightly Negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate; สำหรับกองที่ลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศแนะนำให้ป้องกันความเสี่ยง FX เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2566