- สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกยังเผชิญความผันผวน โดยตลาดหุ้นฝั่ง DM ที่อ่อนตัวลง สวนทางกับฝั่ง EM ที่ปรับตัวดีขึ้น
- ตลาดหุ้น EM ได้รับปัจจัยหนุนจากการประเด็นการเปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของจีน ทำให้ตลาดเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้เกินคาดในระยะต่อไป
- ประกอบกับราคาพลังงานที่อ่อนตัวลง ทำให้นักลงทุนมองว่าเงินเฟ้ออาจผ่านจุดสูงสุดแล้ว
- อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันจากตัวเลข PMI ภาคการผลิตทั่วโลกที่หดตัวลง และ Fed จะยังส่งสัญญาณผ่าน Fed Minutes ว่าจะยังคงดอกเบี้ยสูงต่อไป
สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพรวมการลงทุนปรับตัวดีขึ้นได้จาก
1. ตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศสำคัญในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน ที่ลดลงจากเดือนก่อน และลดลงต่ำกว่าคาด และทำให้ตลาดเริ่มเชื่อมากขึ้นว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
2. ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตทั่วโลกที่ลดลง ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ทำให้ตลาดเชื่อว่านโยบายการเงินจะเริ่มมีทิศทางที่ผ่อนคลายลงในระยะต่อไป โดย PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ หดตัวเป็นเดือนที่ 2 ที่ 46.2 ขณะที่ PMI ภาคการผลิตยุโรป ญี่ปุ่น และจีน อยู่ที่ 47.8, 48.9 และ 49.0 ตามลำดับ ขณะที่ PMI ภาคบริการยุโรปก็หดตัวเช่นกัน แม้ฟื้นขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 49.8
3. ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตสหรัฐฯ เดือนธันวาคมอยู่ที่ 48.4 ต่ำกว่าคาดที่ 48.5 บ่งชี้ภาคการผลิตสหรัฐฯ อยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 2 โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ตลาดคาดว่า Fed มีแนวโน้มว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงในระยะต่อไป
4. การเปิดประเทศของจีน โดยยุติการกักตัวของผู้เดินทางเข้าประเทศ ทำให้ตลาดเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้เกินคาดในระยะต่อไป โดยล่าสุดจำนวนผู้จองตั๋วเครื่องบิน รวมถึงผู้เดินทางในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
5. จีนเตรียมยกเลิกแบนการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียบางส่วน จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีขึ้น หลังระงับการนำเข้านานกว่า 2 ปี
อย่างไรก็ตาม การลงทุนเผชิญปัจจัยเสี่ยงจาก
1. รายงานการประชุม Fed ยังคงกังวลในประเด็นเงินเฟ้อ และจะยังคงดอกเบี้ยในระดับสูงเพื่อคุมความเสี่ยงเงินเฟ้อ แม้จะเริ่มลดทอนระดับการขึ้นดอกเบี้ยลง
2. ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง โดยตำแหน่งงานเปิดใหม่เดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 10.5 ล้านตำแหน่ง เท่าเดือนก่อน และสูงกว่าคาดที่ 10.0 ล้านตำแหน่ง
“สัปดาห์นี้ภาพรวมการลงทุนปรับตัวดีขึ้นได้จากตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศสำคัญในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน ที่ลดลงต่ำกว่าคาด ทำให้ตลาดเริ่มเชื่อมากขึ้นว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว ขณะที่ตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตทั่วโลกที่ลดลง โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน ทำให้ตลาดเชื่อว่านโยบายการเงินจะเริ่มมีทิศทางที่ผ่อนคลายลงในระยะต่อไป แม้ว่ารายงานการประชุม Fed ยังคงกังวลในประเด็นเงินเฟ้อ ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งก็ตาม และการเปิดประเทศของจีน โดยยุติการกักตัวของผู้เดินทางเข้าประเทศ ทำให้ตลาดเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้เกินคาดในระยะต่อไป ด้านเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาต่ำกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์”
เปิด 4 ปัจจัยหลักส่งผลต่อการลงทุนสัปดาห์นี้
InnovestX มีมุมมองใน 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. การที่จีนกลับมาเปิดประเทศ โดยเฉพาะการสิ้นสุดการกักบริเวณหรือ Quarantine สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ จะเป็นบวกต่อเศรษฐกิจจีนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกในระยะต่อไป
2. ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง
3. ภาคการผลิตทั่วโลกเริ่มหดตัวลงมาก สะท้อนจาก PMI ของเศรษฐกิจหลักที่ลดลงอย่างมาก
4. เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมากในช่วงวันหยุดปีใหม่
โดยในมุมมองของ InnovestX นั้น การกลับมาเปิดประเทศของจีนและตลาดแรงงานสหรัฐฯ เป็นบวกต่อเศรษฐกิจโลก แต่อาจเป็นแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไป ส่วนตลาดงานที่มีความยืดหยุ่น วัดจากตำแหน่งงานเปิดใหม่ที่ยังสูง (อันเป็นผลมาจากการจ้างงานบริการ) เทียบกับการผลิตที่เริ่มจ้างงานลดลง บ่งชี้ว่าตลาดงานที่แข็งแกร่งนั้นจะเกิดขึ้นชั่วคราว เนื่องจากรายได้จากภาคการผลิตจะเริ่มลดลงในระยะต่อไป
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค (รวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดในปัจจุบันจะแย่ลง และมีแนวโน้มว่าจะขาดดุลมากขึ้นตามการส่งออกที่หดตัว) บ่งชี้ว่าค่าเงินบาทอาจไม่แข็งค่าขึ้นมาก รวมถึงอาจอ่อนค่าลงได้ในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามทิศทางค่าเงินดอลลาร์อย่างใกล้ชิด โดยหากดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง บาทก็จะยังมีทิศทางแข็งค่าได้ในระยะสั้น
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
ช่วงสั้นมอง SET เคลื่อนไหวในกรอบ โดยมี Upside จำกัดและมีโอกาสพักตัว หลังดัชนีปรับตัวขึ้นไปมากในช่วงก่อนหน้านี้และยังอยู่ระหว่างรอปัจจัยชี้นำใหม่ ทั้งนี้ มีปัจจัยที่ต้องติดตามสัปดาห์หน้า คือ เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนธันวาคม 2565 ที่คาดชะลอตัวลงต่อเนื่อง และสถานการณ์การเปิดประเทศของจีนซึ่งเริ่ม 8 มกราคมนี้ ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนแนะนำ ‘Selective Buy’ ในธีมที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ดังนี้
1. หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งพรีวิวคาดกำไร 4Q65 เติบโตดีและได้อานิสงส์เงินทุนไหลเข้า เลือก BBL และ KTB
2. หุ้น Tier 2 ที่คาดได้อานิสงส์จีนเปิดประเทศ และ Valuation ยังน่าสนใจ เลือก BJC, CPALL, BDMS, AU, ADVANC และ BEM
3. หุ้นเก็งกำไรที่คาดได้อานิสงส์เงินบาทแข็งค่า เลือก AAV, GPSC, GULF และ COM7
ช่วงสั้นยังแนะนำเลี่ยงการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงกดดันผลประกอบการ ดังนี้
1. หุ้นเดินเรือ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากอุปทานเรือใหม่ที่เข้ามา และอุปสงค์การขนส่งสินค้าเริ่มชะลอตัวลง
2. หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคาดได้รับผลกระทบจากบาทแข็งค่า และผลประกอบการหุ้นเทคโนโลยีของโลกมีแนวโน้มอ่อนแอต่อใน 4Q65
เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
1. ข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม ที่ส่งผลต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ
2. การกระตุ้นเศรษฐกิจจีนผ่าน Aggregate และปริมาณเงินกู้หยวนใหม่ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจจีน เช่น CPI, PPI และ FDI
3. การปรับประมาณการลงของธนาคารโลก
4. ตัวเลขแรงงานฝั่งยูโรโซน
5. ตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทย
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BJC - หุ้น Laggard กลุ่มค้าปลีก
สัปดาห์นี้ InnovestX เลือกแนะนำ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC เนื่องจาก 5 เหตุผลหลัก ดังนี้
- ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ทั้งธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (MSC) ชั้นนำของไทย (ภายใต้แบรนด์ Big C) และธุรกิจ PSC ซึ่งผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งธุรกิจ CSC ซึ่งผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวเกรียบ สบู่ มันฝรั่งทอดกรอบ
- 4Q65 คาดกำไรเติบโต QoQ ตามผลฤดูกาล และ YoY ปัจจัยขับเคลื่อนมาจากกลุ่ม MSC ซึ่งคาดยอดขายสาขาเดิม (SSS) จะเติบโตดีและรับรู้ยอดขายสาขาใหม่ที่เปิดเพิ่มขึ้น อีกทั้งรายได้ค่าเช่าและรายได้อื่นๆ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับเช่นกัน
- ปี 2565 คาดกำไรปกติฟื้นตัว 40%YoY และโตต่อเนื่อง 14.6%YoY ในปี 2566 จากยอดขายที่ดีขึ้นในทุกธุรกิจ โดยยอดขายของธุรกิจ MSC และ CSC คาดเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นและมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีแผนเปิดสาขาและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ขณะที่ยอดขายธุรกิจ PSC คาดเติบโตจากปรับขึ้นราคาขายและมีปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น
- เป็นหุ้น Laggard ในกลุ่มค้าปลีก โดยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BJC ปรับขึ้น 5% น้อยกว่ากลุ่มที่ปรับขึ้นเฉลี่ย 12% อีกทั้งราคาหุ้นปัจจุบันยังต่ำกว่า 16% จากระดับก่อนเกิดโควิด ซึ่งมองยังไม่ได้สะท้อนโมเมนตัมกำไรที่กำลังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
- ประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่หุ้นละ 42 บาท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2565 ที่หุ้นละ 0.73 บาท คิดเป็น Div. Yield ราวปีละ 2.0
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
สภาพคล่อง/เงินสด
ความน่าสนใจระดับ 4
เน้นถือครองเงินสด/สินทรัพย์สภาพคล่อง เนื่องจากสินทรัพย์เสี่ยงยังเผชิญปัจจัยกดดันจาก
1. ธนาคารกลางหลักต่างๆ ยังมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวต่อ เพื่อคุมเงินเฟ้อที่ยังสูง
2. ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
3. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์
พันธบัตรรัฐบาลไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
10y UST Yield มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในช่วงที่ Fed ยังปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อ และมีแนวโน้มลดลง หลังจาก Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย (คาดในช่วง 2Q66) และจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ในส่วนของ TH Yield ปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อประโยชน์จากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า
กองทุนแนะนำ
Krungsri Yenjai Fund
- กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนกองทุนในตราสารหนี้ หุ้นไทย และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่คาดหวังความเจริญเติบโตของสินทรัพย์ในระยะยาว
หุ้นกู้ไทยและต่างประเทศ
ความน่าสนใจระดับ 4
IG ต่างประเทศ เราคาดว่า Credit Spread ของ US IG มีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงเล็กน้อย ตามที่ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลง สำหรับ IG ไทย Bond Yield และ Corporate Spread ยังทรงตัวในระดับต่ำ มาจากอุปสงค์ที่มีต่อเนื่อง ดอกเบี้ยในประเทศที่ไม่เร่งตัวมาก และสถานะหุ้นกู้ไทยที่ยังดี
หุ้นกู้ HY ไทยและต่างประเทศ ควรหลีกเลี่ยงในช่วงที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอยมากขึ้น ท่ามกลางดอกเบี้ยที่ยังสูง นอกจากนี้ HY ใน EM บางประเทศมีความเสี่ยงสภาพคล่อง และ Rollover Risk โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศที่อาจเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ เช่น จีน ไทย (กรณีล่าสุด All Inspire Development)
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดยังมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันหลัก จาก Earnings บจ.สหรัฐฯ ประจำ 4Q65 และปี 2566 ที่มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการลดลง ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ยังสูง และความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 2
เงินเฟ้อทั่วไปในกลุ่มประเทศหลักของยุโรปเริ่มผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่นโยบายการเงินที่ยังคงมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่องจากตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ยังทำให้เงินเฟ้อในภาคบริการปรับตัวขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่ ECB จะใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเกินไป และนำไปสู่ปัญหา Fragmentation ได้
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นในระยะสั้น จากการเริ่มเปลี่ยนผ่านนโยบายการเงินของ BOJ ประกอบกับทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วง 1H66 อย่างไรก็ตาม ด้วย Valuation อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และการฟื้นตัวหลังเปิดเมืองยังช่วยจำกัด Downside ได้อยู่
ตลาดหุ้นจีน A-Share
ความน่าสนใจระดับ 5
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเร่งผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่ Valuation อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวต่อ แม้การเปิดเมืองที่เร็วกว่าคาดอาจนำไปสู่การระบาดที่เร่งตัวขึ้นก็ตาม
ตลาดหุ้นจีน H-Share
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการเปิดเมืองของจีน ความเสี่ยงการเพิกถอน บจ.จีนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ADRs Delisting) ลดลงไปมาก และความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบบนกลุ่มแพลตฟอร์มลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังเผชิญปัจจัยกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังมีอยู่
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดยังได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นตามภาคท่องเที่ยว และ 1Q66 ได้ปัจจัยบวกจากมาตรการช้อปดีมีคืน และการใช้จ่ายช่วงก่อนเลือกตั้ง รวมถึงการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่อาจมีเร็วกว่าคาด โดยเน้นหุ้นกลุ่ม Domestic Related เป็นสำคัญ เช่น Commerce, Transportation และ Utility
กองทุนแนะนำ
SCB Dividend Stock Open End Fund
- กองทุน SCBDV เป็นกองทุนหุ้นไทยที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีนโยบายหรือมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ในระยะกลาง-ยาว ตลาดจะได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวโดดเด่น และ Valuation ที่ไม่แพง แต่ด้วยความกังวลการคุมเข้มบนภาคอสังหา ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ในภาคอสังหา และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางเวียดนาม จึงทำให้ Upside ตลาดยังคงถูกจำกัด
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ความน่าสนใจระดับ 4
ดัชนีฯ มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากแนวโน้มการใช้จ่ายในประเทศที่ยังโตหนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วง 1 ปีก่อนเลือกตั้งในต้นปี 2567 ท่ามกลางเงินเฟ้อที่อาจทยอยลดแรงกดดันลง โดยเฉพาะอาหาร รวมถึง FDI ช่วยให้ EPS ยังเติบโต โดยเน้นกลุ่ม High Quality & Liquidity เช่น ธนาคารใหญ่, Consumer Staple
กองทุนแนะนำ
SCB Indonesia Equity Fund
- กองทุน SCBINDO เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ กองทุน VanEck Indonesia Index ETF (กองทุนหลัก), สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บนความคาดหวังการเจริญเติบโตและการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาทองคำได้รับแรงหนุนจาก
1. ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
2. ธนาคารกลางต้องการถือทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้น
3. แนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม Real Yield ยังคงเป็นปัจจัยกดดันในช่วงที่ Fed ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 4
แม้ราคาน้ำมันจะยังคงถูกกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนที่กลับมาเร่งตัวขึ้น แต่อย่างไรก็ดี อุปทานน้ำมันที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น หลังรัสเซียเตรียมลดการผลิต และสหรัฐฯ มีแผนที่จะซื้อน้ำมันเข้าสู่คลังสำรองทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งอุปสงค์จากจีนหลังเปิดประเทศ จะช่วยหนุนราคาน้ำมัน
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ LT Bond Yield ที่ลดแรงกดดันลง ช่วยหนุนให้ REITs Index ปรับตัวดีขึ้น แต่ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ยังสูงจะยังฉุดรั้งในบางเซ็กเมนต์และบางตลาด โดยเฉพาะในยุโรปที่ถูกกดดันเพิ่มเติมจากเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางอัตรา Leverage สูงกว่าภูมิภาคอื่น จึงส่งผลต่อรายได้ และอัตรากำไรของ REITs ในยุโรปมีความเสี่ยง
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
EM REITs ทยอยดีขึ้นเช่นเดียวกับ DM โดยได้ปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นของจีน หนุนกลุ่มท่องเที่ยว โดยเฉพาะในพื้นที่ฮ่องกงที่พึ่งพาตลาดจีนอยู่สูง โดยเฉพาะกลุ่ม Retail ในส่วนของกลุ่ม Office ในหลายประเทศยังต้องระวังปัจจัยลบเชิงโครงสร้างจาก WFA & Hybrid ที่ฉุดรั้งการเติบโตของค่าเช่า
Private Asset
ความน่าสนใจระดับ 2
Slightly Negative on Private Equity & Private Real Estate; Neutral on Private Debt: ดอกเบี้ยในระดับสูงมีแนวโน้มส่งผลกระทบ Valuation ของบริษัทในกองทุน Private Equity และราคาอสังหา โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่จะเป็นผลลบต่อ Private Real Estate; สำหรับกองที่ลงทุนด้วยสกุลเงินต่างประเทศ แนะนำให้ป้องกันความเสี่ยง FX เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในปี 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไขคำตอบ…ทำไม หุ้นเวียดนาม ดิ่งเกือบจะหนักสุดของโลก ล้างภาพดาวรุ่งแห่งเอเชีย
- จับตา! หุ้นฮ่องกง ดีดกลับจริงหรือแค่ชั่วคราว หลังผู้นำจีนส่งสัญญาณหนุนตลาดหุ้นอีกครั้ง
- ส่อง 9 ตลาดหุ้นเอเชีย ‘อินโดนีเซีย’ แชมป์เงินไหลเข้ามากสุด และเป็นตลาดหนึ่งเดียวที่ยืนบวก