- Fed Fund Futures ส่งสัญญาณว่า Fed มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าจะขึ้นต่อเนื่องอีก 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย
- การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ระดับ 1% ในครึ่งปีแรก เป็นระดับที่เหมาะสม แต่เริ่มกังวลเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็วไปจะกลายเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจ
- มีข้อสังเกตว่าตลาดหุ้นไม่ได้ปรับตัวลดลงแรงเหมือนช่วงต้นปี แม้ว่าความกังวลเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นก็ตาม สะท้อนว่าตลาดได้รับรู้ประเด็นนี้ไปมากแล้ว
- ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ คือ รายงานการประชุม FOMC ครั้งล่าสุด วันที่ 17 กุมภาพันธ์ เพื่อประเมินท่าทีของ Fed รวมถีงแนวทางในการทำ QT
ตลาดการเงินกำลังคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าคาด โดยล่าสุด Fed Fund Futures ส่งสัญญาณว่า Fed มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าจะขึ้นต่อเนื่องอีก 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมที่สูงเกินคาด ส่งผลให้ล่าสุด Bond Yield อายุ 2 ปี พุ่งขึ้นถึง 1.6% จาก 1.3% ในสัปดาห์ก่อน ส่วนอายุ 10 ปี อยู่บริเวณ 2% เรียบร้อยแล้ว
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS) ประเมินว่า ตลาดมีความกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากเกินไป หากจะพิจารณาจากองค์ประกอบของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เริ่มมีสัญญาณอ่อนตัวลง เช่น ค่าเช่าบ้าน ราคารถมือสอง ที่เคยสูงก่อนหน้า รวมถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัวน้อยลง ดังนั้นเราจึงประเมินว่า Fed มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ แต่จะไม่มากเท่ากับที่ตลาดการเงินกำลังคาดการณ์
SCBS ประเมินว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ระดับ 1% ในครึ่งปีแรก เป็นระดับที่เหมาะสม หลังจากนั้นค่อยพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจ ในทางกลับกันเราเริ่มกังวลเรื่องอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะหากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็วไปจะกลายเป็นผลลบต่อเศรษฐกิจ เหมือนกับบทเรียนในอดีตที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากจนทำให้เกิดวิกฤตตามมาภายหลัง
ประเด็นที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
- รายงานการประชุม FOMC ครั้งล่าสุด วันที่ 17 กุมภาพันธ์ เพื่อประเมินท่าทีของ Fed รวมถึงแนวทางในการทำ QT โดย SCBS คาดว่าภาพรวมจะไม่ Hawkish หรือการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเท่าที่ตลาดการเงินกำลังคาด ซึ่งจะช่วยให้ตลาดผ่อนคลาย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร(Bond Yield) มีโอกาสลดลง
- ตัวเลขสำคัญสหรัฐฯ เช่น Retail Sale จะชะลอลงหรือไม่
- เงินเฟ้อผู้บริโภคและผู้ผลิตในจีน ว่าจะเริ่มย่อลงตามที่ตลาดคาดหรือไม่ (จาก 1.5% สู่ 1.2%)
ตลาดหุ้นทั่วโลกทรงตัวได้ แม้ Bond Yield พุ่งแรงมาก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% แบ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ (EM) เพิ่มขึ้น 2.5% และตลาดพัฒนาแล้ว (DM) เพิ่มขึ้น 0.9% โดยได้รับแรงหนุนจากกลุ่ม Value ที่ได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและราคาน้ำมัน นอกจากนั้นมีแรงซื้อกลับในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหลังปรับตัวลงแรง ประกอบกับผลประกอบการในไตรมาส 4Q21 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ราว 6-7%
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดหุ้นไม่ได้ปรับตัวลดลงแรงเหมือนช่วงต้นปี แม้ว่าความกังวลเงินเฟ้อและดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นก็ตาม สะท้อนว่าตลาดได้รับรู้ประเด็นนี้ไปมากแล้ว
กลยุทธ์การลงทุนประจำสัปดาห์ แนะนำซื้อเก็งกำไรหุ้นที่มีแนวโน้มได้รับผลบวกจากกระแสเงินไหลเข้าแต่ราคายังไม่ขึ้นอย่าง PTT, AOT, PTTEP, CPALL, LH, CPF
เหตุการณ์สำคัญในสัปดาห์นี้
- รายงานการประชุมของ Fed ซึ่งมีรายละเอียดที่ต้องติดตาม คือ ความเห็นเกี่ยวกับการใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และการลดขนาดงบดุล (QT)
- การประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคเดือนมกราคม 2022 ของต่างประเทศ
- การรายงานผลประกอบการ 4Q21 ของ บจ.ไทย ซึ่งหุ้นขนาดใหญ่ที่จะประกาศ เช่น PTTGC, TOP, BCP, PTT, GULF, MTC, CBG
CRC - ปีนี้จะเห็นฟื้นตัวชัดเจนขึ้น
สัปดาห์นี้เราเลือกแนะนำ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- เป็น Holding Company ซึ่งถือหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย โดยจัดเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่สุดในไทยและอันดับสามในเวียดนาม รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าที่มีขนาดใหญ่สุดในอิตาลี
- 4Q21 คาดมีกำไรปกติราว 2.3 พันล้านบาท เติบโต 173%YoY และฟื้นตัวจากขาดทุนปกติที่ -2.1 พันล้านบาท ใน 3Q21 โดยมีแรงหนุนหลักจาก SSS และรายได้ค่าเช่าที่ฟื้นตัวดีขึ้น หลังมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์
- ราคาหุ้นปรับขึ้น 18.8%YTD และยังมีโมเมนตัมขึ้นต่อได้อีก หลังเป็นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากกำลังซื้อฟื้น ซึ่งคาดหนุนให้ปี 2022 มีกำไรเติบโตดีที่สุดในกลุ่มฯ ทั้งนี้เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 43 บาท
มุมมองการลงทุนต่อตลาดต่างๆ โดย SCB CIO
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วได้รับแรงหนุนจากการที่ผลกระทบของโอมิครอนไม่ได้รุนแรงเท่าที่คาด โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ของกลุ่ม DM ปรับลดลงจากจุดสูงสุด และอัตราการเสียชีวิตลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำ ประกอบกับผลประกอบการ บจ.
ใน 4Q21 ของกลุ่ม DM ยังมีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นฯ มีแนวโน้มผันผวนในระยะสั้น จากความกังวลแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังมีอยู่ และการเพิ่มขึ้นของ Bond Yield สหรัฐฯ ตามแนวโน้มการทยอยดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed
กองทุนแนะนำ
-
SCB Global Experts Fund หรือ SCBGEX(A)
กองทุน SCBGEX(A) เป็นกองทุนหุ้นทั่วโลกที่ลงทุนในสไตล์ Core-Satellite Portfolio คัดเลือกกองทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ โดยกองทุนหลัก (Core) ลงทุนในกองทุน Julius Baer Global Excellence Equity เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ เติบโต และกำไรสูง และกองทุนเสริม (Satellite) ในหุ้นธีมเมกะเทรนด์หลักของโลก
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนตาม Bond Yield สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากการที่นักลงทุนยังรอประเมินรายงานการประชุม Fed รอบล่าสุดที่จะถูกเปิดเผยช่วงกลางเดือนนี้ ซึ่งอาจเห็นรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับแผนการปรับลดขนาดงบดุลของ Fed
อย่างไรก็ดี ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่ลดลงไปค่อนข้างมาก และผลประกอบการ บจ.สหรัฐฯ รายใหญ่ใน 4Q21 ที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด ประกอบกับแนวโน้มการซื้อคืนหุ้นมากขึ้นของ บจ. จะสามารถช่วยประคองตลาดฯ ทั้งนี้เราคงคำแนะนำสัดส่วนการลงทุนหุ้นกลุ่ม Growth ต่อหุ้นกลุ่ม Value อยู่ที่ 60:40
ตลาดหุ้นยุโรป
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนจากการเปลี่ยนผ่านนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ดี เรามองว่าปัญหาด้านการเมืองอาจไม่บานปลาย ทำให้ความผันผวนจะสูงเพียงในระยะสั้น
นอกจากนี้ยังคาดว่า ECB จะเข้มงวดได้ช้ากว่ากลุ่มประเทศอื่น ปัจจัยด้านอุปทานขาดแคลนที่บรรเทาลงจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวได้ภาคการผลิตได้ต่อเนื่อง โดยเราแนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Growth จาก EPS ที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี
กองทุนแนะนำ
-
Europe High Dividend Fund หรือ EHD
กองทุน EHD ลงทุนในกองทุน NN (L) European High Dividend บริหารโดยบริษัท Investment Management สำนักงานอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นยุโรปที่เน้นการจ่ายเงินปันผลสูง เน้นลงทุนในกลุ่ม Financial และ Consumer Staples ในชื่อที่ทุกคนรู้จัก เช่น Nestlé และ AstraZeneca
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ Valuation ของหุ้นญี่ปุ่นยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น DM อื่น แต่มองตลาดได้รับรู้ข่าวมาตรการกระตุ้นไปมากแล้ว ขณะที่ในช่วงสั้นตลาดเริ่มขาดปัจจัยสนับสนุน และดัชนี TOPIX และ Nikkei 225 ยังมีแนวโน้มผันผวนในช่วงที่ตลาดการเงินยังเผชิญความไม่แน่นอน และรัฐบาลญี่ปุ่นขยายเวลาห้ามต่างชาติเข้าประเทศจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
อย่างไรก็ดี BOJ ยังมีท่าที Dovish แต่เริ่มชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์ในส่วนของ Commercial Paper และ Corporate Bond แม้ยังคงวงเงินการเข้าซื้อ ETF และ J-REITs
ตลาดหุ้นจีน H-share
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นจีน H-share ดัชนีเริ่มอยู่ในระดับที่ไม่แพง เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอินเทอร์เน็ต ประกอบกับทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการคุมเข้มกฎระเบียบที่รุนแรงลดลงจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเฉพาะประเด็น ADR Delisting และการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่ยังมีอยู่ และจากผลประกอบการ
บจ.จีนใน 4Q21 ที่มีแนวโน้มขยายตัวปานกลาง แม้เริ่มดีขึ้นจากใน 3Q21 ก็ตาม จะยังกดดันการฟื้นตัวของดัชนีโดยรวม
ตลาดหุ้นจีน A-share
ความน่าสนใจระดับ 3
หุ้นจีน A-share โดยดัชนีมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการที่ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจ เช่น การเร่งเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับลด RRR
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ทางการจีนจะคงมาตรการควบคุมการระบาดภายใต้ Zero-COVID Policy ต่อ แม้สิ้นสุดการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนนี้ จะกดดันการฟื้นตัวของการบริโภคและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ยังคงมีอยู่ อาจกดดัน Sentiment การลงทุนในช่วงสั้น โดยล่าสุดสหรัฐฯ เพิ่มรายชื่อบริษัทจีน 33 แห่งลงใน Unverified List ซึ่งจะเป็นการจำกัดการส่งสินค้าให้กับบริษัทในลิสต์
ตลาดหุ้นไทย
ความน่าสนใจระดับ 4
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการเปิดเศรษฐกิจหลังปัญหาการแพร่ระบาดที่บรรเทาลง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รวดเร็วกว่าคาด ด้านนโยบายการเงินและการคลังยังคงสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่การประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเราแนะนำลงทุนในหุ้นกลุ่ม Domestic Play ที่มีรายได้จากในประเทศเป็นหลัก เช่น ธนาคาร ค้าปลีก ขนส่ง อสังหา
กองทุนแนะนำ
-
TISCO Strategic Fund
กองทุน TSF-A ลงทุนในหุ้นไทยที่เน้นการคัดเลือกหุ้นที่มีพื้นฐานดี โดยลงทุนในหุ้นประมาณ 10-15 บริษัท รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนตามสภาวะตลาดที่เหมาะสม
ตลาดหุ้นเวียดนาม
ความน่าสนใจระดับ 4
ตลาดหุ้นเวียดนามได้แรงหนุนจากแนวโน้มทยอยเปิดเศรษฐกิจของเวียดนาม และจากแนวโน้มการทยอยเบิกจ่ายตามแพ็กเกจกระตุ้นล่าสุด วงเงิน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะช่วยหนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และช่วยหนุน Sentiment ของภาคธุรกิจและผู้บริโภค ผ่านการปรับลด VAT ลง 2%
นอกจากนี้ EPS Growth ของดัชนี VN Index มีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่น โดย Consensus คาด EPS ปี 2022 และปี 2023 จะขยายตัว 21% และ 25% ตามลำดับ ประกอบกับจากสถิติในอดีตบ่งชี้ว่า ตลาดมักมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ในช่วง 1 เดือนหลังผ่านช่วงหยุดเทศกาลตรุษจีน (5 ปี จาก 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2015)
กองทุนแนะนำ
-
Principal Vietnam Equity Fund
กองทุนลงทุนในหุ้นเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตสูงในอนาคต โดยทางผู้จัดการกองทุนคัดสรรหุ้นเวียดนามด้วยตนเอง และคาดหวังผลตอบแทนระยะยาวให้สูงกว่าดัชนี VN 30 Total Return
ทองคำ
ความน่าสนใจระดับ 3
ทองคำได้รับปัจจัยบวกจากที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ หลังความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับสูง อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อทองคำในเชิงลบ เนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ Fed เร่งคุมเข้มนโยบายทางการเงินเร็วกว่าที่ตลาดคาด
น้ำมัน
ความน่าสนใจระดับ 3
ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนหลังตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์น้ำมันที่ยังคงแข็งแกร่งและอุปทานที่ยังคงตึงตัว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันมากขึ้น หลังการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจมีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งหากการเจรจาเป็นผลสำเร็จ จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลกมากขึ้นกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน
REITs ประเทศพัฒนา
ความน่าสนใจระดับ 3
REITs ประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มได้รับปัจจัยบวกจากความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่ผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของ Fed และการระบาดในบางประเทศที่ยังคงมีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงถูกกดดัน และ Upside ของตลาดยังถูกจำกัด
REITs เอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)
ความน่าสนใจระดับ 3
แม้ REITs ไทย ยังคง Laggard และได้รับประโยชน์จากการกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบ Test & Go แต่ผลกระทบที่ผ่านมาจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของ REITs ไทยอยู่ ขณะที่สิงคโปร์มีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราการติดเชื้อโควิดในสิงคโปร์เริ่มเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อ REITs สิงคโปร์ในระยะข้างหน้า