- สงครามระหว่างอิหร่านและอิสราเอล พลิกกลับมาสู่จุดคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผลักดันของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์
- อย่างไรก็ตาม ท่าทีของทรัมป์ต่อกรณีดังกล่าว อาจมีเป้าหมายเพื่อลดแรงตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ และใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือการเจรจากับจีน
- ส่วนเศรษฐกิจจีนมีพัฒนาการสำคัญ โดยรัฐบาลจีนประกาศใช้เครื่องมือการคลังเชิงรุกเพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโต
- สำหรับเศรษฐกิจไทย อินโนเวสท์ เอกซ์ ยังมองว่า ธปท. ควรลดดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 2 ครั้งในปีนี้ เพราะหากไม่ลดดอกเบี้ยภายในไตรมาส 3 อาจทำให้เศรษฐกิจอ่อนแรงลงช่วงปลายปี และจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยแรงเกินควรในภายหลัง
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกพลิกกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสงครามพลิกกลับมาสู่จุดคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว แม้จะเร่งตัวสูงสุดในช่วงวันหยุด หลังสหรัฐฯ เข้าร่วมโจมตีโรงนิวเคลียร์ 3 แห่ง อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ กลับสามารถผลักดันให้ทั้ง 2 ประเทศกลับมาสู่การเจรจายุติสงครามได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อในช่วงสัปดาห์นี้
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศผ่าน Truth Social ว่า “จีนสามารถซื้อน้ำมันจากอิหร่านต่อไปได้” หลังการหยุดยิงระหว่างอิหร่านและอิสราเอล สะท้อนสัญญาณเชิงการเมืองที่อาจตีความได้ว่า เป็นการผ่อนคลายจุดยืนแรงกดดันที่สหรัฐฯ ใช้กับอิหร่านมายาวนาน ท่าทีของทรัมป์อาจมีเป้าหมายเพื่อลดแรงตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ และใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือการเจรจากับจีน
ด้านประธาน Fed ยืนยันต่อสภาคองเกรสว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการลดดอกเบี้ย โดยต้องรอดูผลของเงินเฟ้อจากมาตรการภาษีนำเข้าชุดใหม่ก่อนตัดสินใจ ความคลี่คลายของสงครามในตะวันออกกลางหนุนตลาดหุ้น EM ปรับขึ้นแรงเช่นกัน
ทางการจีนมีพัฒนาการ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การควบคุมสารตั้งต้นเฟนทานิล ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่สหรัฐฯ ใช้โจมตี และเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน นอกจากนั้นนายกฯ จีนย้ำเป้าหมายเปลี่ยนจีนสู่มหาอำนาจด้านผู้บริโภค ทำให้ความคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยจีนออกงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอีก 5 แสนล้านหยวนผ่านการอัปเกรดเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรม และ โครงการเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเหนือ 1,100 จุด สะท้อนในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ขณะที่ราคาน้ำมันอ่อนตัวลงแรงสะท้อนความเสี่ยงอุปทานที่ผ่อนคลายลงมาก
ความตึงเครียดคลี่คลาย แต่แรงกดดันเศรษฐกิจ ‘ยังไม่จาง’
บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มองว่า สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลและอิหร่านเริ่มผ่อนคลายลง หลังผู้นำทั้งสองฝ่ายประกาศยุติการสู้รบ โดยสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการผลักดันข้อตกลงหยุดยิง
จากประเมินของเชิงยุทธศาสตร์ของเรามองว่า อิหร่านไม่สามารถยืดการสู้รบออกไปได้ เนื่องจากขีดความสามารถทางทหารที่จำกัด และสงครามที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจของอิหร่านที่เปราะบางอยู่แล้วท่ามกลางเงินเฟ้อที่สูงเกือบ 40%
ทั้งนี้ ทรัมป์เตือนว่าสงคราม “อาจเริ่มใหม่ได้ทุกเมื่อ” พร้อมเปิดเผยว่าสหรัฐฯ เตรียมเจรจากับอิหร่านในสัปดาห์นี้ ซึ่งทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากคำประกาศหยุดยิงยังไม่มีพันธะผูกพันในเชิงข้อตกลง และยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจปะทุซ้ำได้ทุกเมื่อ
ประเทศจีนประกาศใช้เครื่องมือการคลังเชิงรุกเพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโต โดยล่าสุดรัฐบาลได้เร่งใช้งบประมาณพิเศษรวมกว่า 5 แสนล้านหยวน ผ่านพันธบัตรพิเศษอายุยาว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน 2 นโยบาย ได้แก่
- การอัปเกรดเครื่องจักรและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรม วงเงินรวม 2 แสนล้านหยวน (โดยรอบแรกจัดสรรแล้ว 1.73 แสนล้านหยวน)
- โครงการเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ (trade-in) วงเงินรวม 3 แสนล้านหยวน (โดยรอบแรกและรอบสองจัดสรรแล้วรวม 1.62 แสนล้านหยวน)
สำหรับประเทศไทย แม้ กนง. จะมีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% แต่อินโนเวสท์ เอกซ์ ยังมองว่า ธปท. ควรลดดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ในการประชุมเดือน ส.ค. และ ต.ค. รวม 0.50% โดยหาก ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยภายในไตรมาส 3 อาจทำให้เศรษฐกิจอ่อนแรงลงช่วงปลายปี และจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยแรงเกินควรในภายหลัง
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย
- หุ้น Defensive ที่ผันผวนต่ำและต้านทานความเสี่ยงภายนอกได้ แนะนำ ADVANC BCH DIF
- หุ้นปันผลที่มีคุณภาพดี (SET50 ที่มี SET ESG Ratings A ขึ้นไป) โดยคาดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากกำไร 1H68 และให้ Div. Yield เกิน 2% แนะนำ ADVANC BBL PTT
- หุ้น Earnings Play ซึ่ง 2Q68 คาดกำไรปกติจะเติบโต YoY และ QoQ แนะนำ ADVANC CPALL BTG
- Trading Idea สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและต้องการเก็งกำไร แนะนำหุ้น Undervalue (PER PBV < -1SD) ซึ่งคาดให้ Div. Yield ไม่ต่ำกว่าปีละ 3% แนะนำ BBL BCPG BDMS CPALL DIF PTT SIRI TIDLOR รวมทั้งหุ้นที่มีโอกาสได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐอย่างกลุ่มปูนซีเมนต์และท่องเที่ยว แนะนำ SCC SCCC ERW CENTEL AAV
“ช่วงสั้นมอง SET จะแกว่งตัวไซด์เวย์และผันผวนต่อ หลังยังรอความชัดเจนของปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ โดยปัจจัยภายนอกติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลาง และความคืบหน้าการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ หลังใกล้เส้นตาย 9 ก.ค. ขณะที่ปัจจัยภายในติดตามเสถียรภาพทางการเมือง (การปรับ ครม., ศาลรัฐธรรมนูญจะรับพิจารณารับคำร้องคดีคลิปเสียงนายกฯ หรือไม่ในวันที่ 1 กค. และพรรคฝ่ายค้านอาจยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาวันที่ 3 ก.ค.), และปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา อย่างไรก็ดี เราประเมิน SET ที่บริเวณต่ำกว่า 1,100 จุด คิดเป็น PER ปี 2568 ต่ำกว่า 12 เท่า ยังเป็นจุดที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ
สัปดาห์นี้ต้องติดตาม
- การเมืองไทย อาทิ การเริ่มประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาในวันที่ 3 ก.ค. นี้
- ท่าทีของสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าต่างๆ ในช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงกำหนดการเริ่มเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ในวันที่ 9 ก.ค. นี้
- การจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. ในวันที่ 3 ก.ค.
หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BCPG - ถูกที่ถูกเวลา และคาดกำไรโตแกร่ง
แนะนำ บมจ. บีซีพีจี หรือ BCPG เนื่องจากเหตุผลหลัก ดังนี้
- ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (แสงอาทิตย์ ลม น้ำ และความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง) ภายใต้กลุ่มบางจาก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน โดยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะยาวเพื่อให้แน่ใจว่ากระแสเงินสดจะมีเสถียรภาพและคาดการณ์ได้
- แนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง โดยปี 2568 คาดกำไรปกติเติบโต 32% และ 24% ในปี 2569 แรงหนุนหลักจากการดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการใหม่หลายโครงการใน 2H68 และจากการปรับตัวขึ้นของค่า capacity payment ในสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยหนุนให้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- มองเป็นหุ้น Undervalued ซึ่งปัจจุบันซื้อขายที่ PER และ PBV 68F เพียง 10.9 เท่า (-1SD) และ 0.5 เท่า (-2SD) ซึ่งยังไม่สะท้อนกำไรปกติที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งยังเป็นหุ้น SET100 ที่ได้ SET ESG Rating สูงสุดในระดับ AAA
- เราประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่หุ้นละ 7.80 บาท อิงวิธี DCF (WACC ที่ 7.3% และ terminal growth rate ที่ 0.5%) และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปีนี้หุ้นละ 0.24 บาท คิดเป็น Div. Yield สูงปีละราว 4.5%
ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก
อุตสาหกรรม Robotaxi มีพัฒนาการในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยล่าสุด Tesla ได้เริ่มทดลองให้บริการในเมืองออสติน เราประเมินการแข่งขันในตลาดนี้จะรุนแรงขึ้นและยังระบุผู้ชนะในระยะยาวได้ยากขึ้นอยู่กับความสามารถในการขยายและทำกำไรในอนาคต ถึงแม้ว่าปัจจุบัน Waymo ยังเป็นผู้นำตลาด แต่ Tesla มีศักยภาพในการเติบโตที่แข็งแกร่งจากเทคฯที่ล้ำสมัย แต่อย่างไรก็ดีราคาหุ้นอาจสะท้อนความคาดหวังไปพอสมควร ผู้ถือหุ้น TSLA อาจพิจารณาขายทำกำไรได้
Robotaxi พัฒนาการอย่างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
- Tesla (TSLA) เริ่มทดลองให้บริการ Robotaxi ในเมืองออสติน โดยมี Model Y ประมาณ 10 - 20 คัน ให้บริการแก่ลูกค้าที่ได้รับเชิญด้วยค่าโดยสารคงที่ 4.20 ดอลลาร์
- Waymo เพิ่งได้รับอนุมัติให้ขยายบริการในพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโกและ LA ประกอบกับล่าสุดเตรียมยื่นขอใบอนุญาตเพื่อทดสอบรถยนต์ไร้คนขับใน New York
- Zoox (บริษัทลูกของ AMZN) เปิดโรงงานผลิต Robotaxi ขนาดใหญ่แห่งแรกในแคลิฟอร์เนีย มีแผนเปิดบริการเชิงพาณิชย์แบบเก็บค่าโดยสารในลาสเวกัสภายในปีนี้ FY68
- ในขณะที่ฝั่งจีน Hellobike ได้ร่วมมือกับ Ant Group และ CATL ก่อตั้งบริษัทใหม่ในเซี่ยงไฮ้เพื่อพัฒนาและเชิงพาณิชย์เทคโนโลยีรถไร้คนขับระดับ 4 โดยมีเงินลงทุนเริ่มต้นกว่า 3 พันล้านหยวน
เราประเมินว่าการแข่งขันใน Robotaxi เพิ่มขึ้นและมีผู้เล่นสำคัญในตลาดนี้คือ
- Waymo (GOOGL) เป็นผู้นำตลาดหลังมีความปลอดภัยที่พิสูจน์ได้และให้บริการเต็มรูปแบบในหลายเมือง โดยมีรถให้บริการกว่า 1,500 คัน และมีแผนเพิ่ม 2,000 คันในปี 2026
- Uber ที่เป็นแพลตฟอร์มให้บริการ Robotaxi เช่น Waymo, Pony.ai และ May Mobility
เรามองว่า TSLA มีความคาดหวังในการแข่งขันกับ Waymo ได้จากเทคฯที่ล้ำ, การมีแพลตฟอร์มของตัวเอง และมีข้อมูลในการเทรน AI ที่เยอะ เราประเมินว่าการทำ New High 400 ดอลลาร์ ยังทำได้ยาก และราคาหุ้น TSLA รับรู้ประเด็น Robotaxi ไปพอสมควรซึ่งสามารถขายทำกำไรได้
มุมมองการลงทุนต่อสินทรัพย์ต่างๆ โดย SCB CIO
เงินสด / สภาพคล่อง
สินทรัพย์สภาพคล่อง มีแนวโน้มให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ยังสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ หลังประธาน Fed ส่งสัญญาณว่า Fed ไม่ได้เร่งรีบที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และยังมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีอยู่ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน สถานการณ์ในตะวันออกกลาง และข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ-คู่ค้า โดยนักลงทุนรอจับตา เส้นตายสำหรับการชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในวันที่ 9 ก.ค.นี้
ตราสารหนี้ / เงินฝากระยะยาว
ความเสี่ยงเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังหนืด สอดรับกับที่ Fed กำลังรอความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่มีต่อเงินเฟ้อ ซึ่งมีแนวโน้มหนุนให้ UST Yield โดยเฉพาะตัวยาว ยังเพิ่มขึ้นต่อ ด้านตราสารหนี้ไทย เรามองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น-กลาง น่าจะยังปรับตัวลดลงจากการลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ถึงแม้ว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งล่าสุด ดังนั้น เราจึงยังแนะนำลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นถึงกลาง ทั้งไทยและสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยง duration ต่ำ
U.S. Treasury & IG
UST Yield ตัวยาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความกังวลด้านการคลังในสหรัฐฯ โดยล่าสุด ประธานาธิบดี Trump เสนอคำของบด้านกลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติประจำปี 2569 วงเงิน 8.926 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ ดัชนี US IG bond ยังมีความเสี่ยง credit ต่ำ และยังมีปัจจัยพื้นฐานดี เมื่อเทียบกับ US HY bond ทั้งนี้ เราแนะนำลงทุน UST และ US IG bonds โดยเน้น duration ระยะสั้นถึงกลาง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงพอร์ตลงทุน ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลัง และด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ยังมีอยู่
High Yield Bond
ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้ายังคงสูง หลัง EU เตรียมเก็บภาษีตอบโต้สินค้าจากสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐานกับ EU มีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยงที่ US HY default rate และ HY credit spread จะปรับเพิ่มขึ้น จากระดับในปัจจุบันที่ยังต่ำ ประกอบกับ UST Yield ตัวยาว ที่มีโอกาสสูงขึ้นต่อ ท่ามกลางความกังวลการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ และ Fed ที่ยังไม่รีบเร่งปรับลดดอกเบี้ย อาจจำกัด upside ของ US HY แม้ว่า ตัวเลข leverage ยังไม่ได้น่ากังวลมากนัก ก็ตาม
สินทรัพย์ผสมกึ่งหนี้กึ่งทุนและ REITs
ในระยะสั้น REITs มีแนวโน้มถูกกดดันจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี REITs ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีจากกระแสเงินสดที่มั่นคงและมีอัตราการเติบโตของเงินปันผล จากความสัมพันธ์ของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์อื่นต่ำ / สินทรัพย์ผสม (Ready Mixed - Asset Allocation) ช่วยกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ลงทุน และช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ภายนอก
US REITs
เราปรับคำแนะนำบน US REITs เป็น “ไม่ลงทุน” เนื่องจาก มองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปัญหาการขาดดุลการคลังจากร่างกฎหมายลดภาษี รวมถึง Fed ยังคงระมัดระวังในการลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง จากความกังวลด้านอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลทำให้ Yield Spread ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ และอัตราเงินปันผลของ REIT อยู่ในระดับติดลบที่ -0.3% นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและนโยบายการค้า ส่งผลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์การเช่าพื้นที่
Private Credit *สำหรับนักลงทุน Ultra High Net Worth เท่านั้น
เรายังมีมุมมองเป็นบวกต่อ Private Credit Asset จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดลงต่อจำกัด หลัง Core PCE สหรัฐฯ ใน 1Q2568 อยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากใน 4Q2567 ที่ 2.6% ประกอบกับ Jerome Powell ประธาน Fed ย้ำว่า เงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่าเป้าหมายของ Fed ที่ระดับ 2% ทั้งนี้ เรายังเน้นการลงทุนใน Private credit ที่ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหน้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกร้องหลักประกันเป็นลำดับแรก (first lien seniority)
หุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกระยะสั้นจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอง-อิหร่านที่เริ่มคลี่คลายหลังประกาศข้อตกลงหยุดยิง รวมถึงการอนุมัติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลคาดว่าจะสามารถเพิ่ม GDP ได้ 0.4% อย่างไรก็ดี เรามองว่าตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยกดดันจาก ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อความล่าช้าในการผ่านร่างงบประมาณปี 2569 และการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2568 ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดในระยะกลาง-ยาว ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมือง นโยบายการเงินจากการลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง และผลการเจรจาทางการค้าที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการนัดเจรจา
หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว
ความคาดหวังผลการเจรจาการค้าเชิงบวกของสหรัฐฯ กับคู่ค้าต่างๆ และการผลักดันการผ่อนคลายด้านกฎระเบียบของภาคธนาคาร อาจช่วยประคอง sentiment หุ้นสหรัฐฯ ด้านเศรษฐกิจยุโรปได้แรงหนุน จากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB และการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง ด้านหุ้นญี่ปุ่น มีแนวโน้มได้อานิสงส์จาก BoJ ที่มีแนวโน้มระมัดระวังในการลดดอกเบี้ย และกระทรวงการคลังญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มช่วยรักษาเสถียรภาพ JGBs แม้ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนทางเมืองก็ตาม
หุ้นสหรัฐฯ
ปัญหาขาดดุลงบประมาณที่สูง และมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ที่ยังไม่แน่นอน ทำให้นักลงทุนบางส่วนมีแนวโน้มที่จะยังคงระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ส่วนระยะกลาง เรามอง กำไรบจ.สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตดี และกระจายตัวเป็นวงกว้าง โดยได้อานิสงส์จากกระแส AI ทั่วโลก การผลักดันร่างกระตุ้นทางการคลัง ที่พรรครีพับลิกันตั้งเป้าที่จะผ่านร่างในวันที่ 4 ก.ค.นี้ และการผ่อนคลายด้านกฎระเบียบเพิ่มเติม ที่ล่าสุด Fed ได้เปิดเผยข้อเสนอการผ่อนคลายกฎระเบียบการสำรองเงินทุนต่อสินทรัพย์
หุ้นยุโรป
ตลาดยุโรปได้แรงหนุนจาก 1) NATO ประกาศเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเป็น 5% ของ GDP ทำให้หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 2) เยอรมนีประกาศเพิ่มการกู้ยืมผ่านการระดมทุนพันธบัตร เพื่อสนับสนุนการขยายการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งนี้ตลาดได้รับปัจจัยกดดันระยะสั้นจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีในเดือน มิ.ย. ที่ลดลงต่ำกว่าคาด สู่ระดับ -20.3 จุด มาจากแนวโน้มการออมที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-ยุโรป ที่คาดว่าจะชะลอการขึ้นภาษีออกไป
หุ้นญี่ปุ่น
แม้ความไม่แน่นอนของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ และความเสี่ยงทางการเมืองของญี่ปุ่นที่ยังมีอยู่ อาจเพิ่มความผันผวนต่อดัชนีหุ้นญี่ปุ่นระยะสั้น แต่เราคาด ดัชนีฯ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก 1) การปฏิรูปบรรษัทภิบาลในญี่ปุ่นที่ยังคืบหน้า 2) แรงกดดันเงินเฟ้อในญี่ปุ่นที่กลับมา หลังเงินเฟ้อพื้นฐานของกรุงโตเกียวล่าสุด เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 2 ปี และ 3) พัฒนาการการเจรจาระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐฯ โดยเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดี Trump อาจขยายเวลาการระงับใช้มาตรการภาษีนำเข้าตอบโต้ที่กำหนดไว้ 90 วัน
หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่
แม้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในเอเชีย มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่ยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ดี เราคาดว่า จะเห็นประเทศในเอเชียรีบเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ก่อนถึงเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. หรือพยายามขอเลื่อนเส้นตายออกไป นอกจากนี้ ยังคาด ทางการประเทศต่างๆ ยังมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินการคลังเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการค้า โดยล่าสุด BOK เผยว่าจะปรับกลไกการดำเนินงานผ่านตลาดเปิด เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบอย่างสม่ำเสมอ
หุ้นอินเดีย
ตลาดหุ้นอินเดียยังมีแนวโน้มได้รับปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม หลังสมาชิก RBI บางราย เชื่อแนวโน้มเงินเฟ้อที่ไม่รุนแรง ตามฝนที่ตกตามฤดูกาล และราคาผักที่ลดลง จะเอื้อให้มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงเพิ่ม หากเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่เหมาะสม และจากแนวนโยบายการคลังผ่อนคลายเพิ่มเติมที่ช่วยหนุนอุปสงค์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หลังมีความขัดแย้งในเรื่องภาษีนำเข้ารถยนต์ เหล็ก และสินค้าเกษตร ทำให้ลดโอกาสที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันก่อนเส้นตาย
หุ้นจีน A-Share
เราคาดว่า ทางการจีนมีแนวโน้มออกมาตรการผ่อนคลายการเงินการคลังเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ โดยล่าสุด ทางการเผยร่างนโยบายที่มุ่งเน้นกระตุ้นการบริโภคและสนับสนุนเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีน A-share มีแนวโน้มได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากความคืบหน้าในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หลังสหรัฐฯ-จีน ได้ยืนยันรายละเอียดของกรอบการค้าที่มุ่งหวังให้จีนอนุญาตส่งออกแร่หายาก และสหรัฐฯ ผ่อนคลายข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี
สินค้าโภคภัณฑ์
ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในระยะสั้น หลังจากสหรัฐฯ และจีน ยืนยันในกรอบข้อตกลงทางการค้า และขยายเวลาการระงับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ที่กำหนดไว้ 90 วัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะหมดอายุในวันที่ 9 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังชะลอตัว โดย GDP ใน 1Q2568 ต่ำกว่าคาดที่ -0.5% รวมถึงจำนวนขอรับสวัสดิการการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้น โดยเรามีมุมมองบวกต่อราคาทองคำในระยะกลาง-ยาว จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของธนาคารกลางทั่วโลก
ภาพ: 1715d1db_3/Getty Images, Piotr Powietrzynski/Getty Images