THE STANDARD WEALTH - สำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน

×
THE STANDARD HOME ECONOMIC MARKET BUSINESS CRYPTOCURRENCY OPINION WEALTH MANAGEMENT WORK & LEADERSHIP LIFESTYLE & PASSION
IMF
EXCLUSIVE CONTENT

IMF หั่นเป้า GDP โลก สะท้อนสัญญาณชัดว่าความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และหนี้สาธารณะจ่อเขย่าทั้งโลก

... • 28 ต.ค. 2024

สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นโลกปรับลดลง เป็นผลจากการปรับความคาดหวังของนักลงทุนในประเด็นการลดดอกเบี้ยที่อาจไม่เร็วมากอย่างที่ตลาดคาดไว้ รวมถึงโอกาสที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันจะได้รับเลือกตั้งมีมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสงครามการค้าและการขาดดุลการคลังจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นกดดันสินทรัพย์เสี่ยง

 

นอกจากนั้น IMF ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2024 ไว้ที่ 3.2% โดยปรับ GDP สหรัฐฯ ขึ้น แต่ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนลง ส่วน GDP ปี 2025 มีการปรับคาดการณ์ลง 0.1% เหลือ 3.2% พร้อมเตือนความเสี่ยงจากสงครามและนโยบายกีดกันทางการค้า แม้ว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย

 

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและ Materials ปรับตัวลดลง 2.5-2.7% จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และความผิดหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน กลุ่มธนาคารปรับลดลง 1.1% จากการขายทำกำไรหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นจากกำไรที่ดีกว่าที่คาด

 

ตลาด EM ปรับลดลงเช่นกัน แม้จีนจะประกาศมาตรการการเงินการคลังเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลท้องถิ่นประกาศมาตรการกระตุ้นการบริโภคใน 5 เมืองใหญ่ของจีน และธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับอัตราดอกเบี้ย LPR 1 ปี และ 5 ปี ลง 25 bps

 

ตลาดหุ้นไทยปรับลงเช่นกัน หลัง SET ไม่ผ่าน 1,500 จุด เนื่องจากไม่มีประเด็นบวกใหม่ และถูกกดดันจากปัจจัยมหภาค หลังผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมุมมองของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าการลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดยังไม่ใช่วงจรดอกเบี้ยขาลง กดดันกระแสเงินมายังตลาด EM ส่วนราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ค่อนข้างทรงตัว หลังปรับลงมาแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมาจากความกังวลด้านอุปสงค์ที่อ่อนแอ

 

โลกเปลี่ยนผ่านสู่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

ในส่วนของประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ วิเคราะห์ว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากวิกฤตเงินเฟ้อสู่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความเสี่ยงหนี้สาธารณะ โดยแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มลดลงจาก 5.8% ในปีนี้ เป็น 4.3% ในปีถัดไป แต่ความเสี่ยงระยะถัดไปคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้า แรงงาน และการเงิน โดย Scenario Analysis ของ IMF ระบุว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเฉลี่ย 0.4-1.6% ต่อปี ในช่วง 4 ปีข้างหน้า

 

ขณะที่ Sensitivity Analysis ของเราพบว่า หากสหรัฐฯ ทำมาตรการกีดกันทางการค้าเต็มรูปแบบจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลง 0.8% ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.4% ต่อปี ขณะที่ความเสี่ยงหนี้สาธารณะทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้น จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรมีความเสี่ยงขาขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ในส่วนของมาตรการจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมาเรามองว่ามาตรการกระตุ้นการบริโภคในเมืองใหญ่ที่มีกำลังซื้อ รวมถึงการลดดอกเบี้ย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการออมสูงของชาวจีนเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจยังเสี่ยง เราจึงต้องจับตาว่ามาตรการนี้จะทำให้สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่หลังจากที่ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

 

ด้านรายงาน Beige Book สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ Soft Landing โดยเฉพาะการระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุนของประชาชน อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องในอนาคต

 

โดยประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่

  1. การขอสินเชื่อที่ชะลอลงเนื่องจากผู้ขอกู้รอจนกว่าดอกเบี้ยจะหยุดลง ทำให้ดอกเบี้ยควรลงเร็ว
  2. หากอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและขึ้นภาษีศุลกากรตามที่ประกาศไว้ อาจทำให้เงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นและทำให้ Fed ไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้ตามคาด

 

กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย

 

  1. หุ้น Global Play ซึ่งผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดกำไรเติบโต YoY ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า เลือก KCE, TU, MINT และ AOT
  2. ธีม Earning Play สำหรับนักลงทุนระยะกลางที่ต้องการหุ้นพื้นฐานดีที่กำไร 3Q67 คาดมีโมเมนตัมเติบโต YoY และ QoQ เลือก BEM, BCH, BDMS, GULF, TRUE, AU และ TNP
  3. หุ้นที่จ่ายปันผลสูงและคาดว่าได้อานิสงส์จากการเป็นเป้าหมายสะสมของกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง และกองทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีช่วงปลายปี เลือก KTB, BBL, ADVANC, HMPRO และ BCP
  4. หุ้นน้ำมันสำหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ความไม่สงบในตะวันออกกลาง เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP

 

“ช่วงสั้นมอง SET มีโอกาสแกว่งตัว Sideway Up โดยมีแรงหนุนจากผลประกอบการ 3Q67 ของบริษัทจำกัด (บจ.) ทั้งสหรัฐฯ และไทย ที่คาดว่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น และคาดหวังต่อการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน อย่างไรก็ดี SET จะยังมี Upside จำกัด โดยมีแนวต้าน 1,500 จุด เนื่องจากมองว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าจะส่งผลให้มีแรงกดดันต่อ Fund Flow ที่ไหลเข้ามาในตลาด EM อีกทั้งตลาดยังอยู่ในช่วงปรับความคาดหวังว่าธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทำให้ช่วงสั้นต้องระวังหุ้นที่ได้อานิสงส์ดอกเบี้ยลงซึ่งราคาปรับตัวขึ้นมาสะท้อนความคาดหวังแล้ว รวมทั้งหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแรงในช่วงก่อนหน้า เช่น DELTA, GULF, ADVANC และ INITUCH เนื่องจากมองว่าตลาดอยู่ในช่วง Rebalance” ทีมวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ระบุ

 

เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้

 

  1. การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 30-31 ตุลาคม คาดว่าคงดอกเบี้ยที่ 0.25%
  2. GDP 3Q24 ที่รายงานรอบแรกของสหรัฐฯ (คาด 3.2%QoQ, SAAR) และยูโรโซน (คาด +0.3%QoQ)
  3. การจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NFP) ของสหรัฐฯ เดือนตุลาคม ตลาดคาด 1.8 แสนตำแหน่ง (เดือนกันยายน 2.54 แสนตำแหน่ง)

 

หุ้นเด่นประจำสัปดาห์: BDMS - 3Q24 คาดกำไรทำ New High

แนะนำบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เนื่องจากเหตุผลหลักดังนี้

  • เป็นผู้นำธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายมากสุดในไทย (โรงพยาบาล 57 แห่ง รวมกว่า 8,500 เตียง) และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโรงพยาบาลเอกชนทั่วโลกในด้านมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งคาดได้ประโยชน์จากอุปสงค์ทางการแพทย์ที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว
  • 3Q24 คาดสร้างสถิติกำไรปกติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 4.3-4.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้ง QoQ และ YoY ปัจจัยขับเคลื่อนจากเป็นไฮซีซันของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากโรคตามฤดูกาล (มีผู้ป่วยชาวไทยเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น) และจากภาพการท่องเที่ยวไทยที่ดีขึ้น (มีผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น)
  • มองราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้น เนื่องจากมีกำไรที่แข็งแกร่งกว่าผู้ประกอบการโรงพยาบาลรายอื่นๆ ขณะที่ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BDMS ยัง Laggard กลุ่ม และ Valuation ไม่แพง โดยปัจจุบันซื้อขายที่ PER 2024F และ 2025F ที่ 27 เท่า และ 25 เท่า ต่ำกว่าระดับ -2SD ของ PER เฉลี่ยในอดีตที่ 30 เท่า
  • เราประเมินราคาเป้าหมายปี 2024 ที่หุ้นละ 36 บาท (อ้างอิงวิธี DCF) และคาดว่าจะมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรปี 2024 หุ้นละ 0.79 บาท คิดเป็น Dividend Yield ราวปีละ 2.8%

 

ธีมการลงทุนตลาดหุ้นโลก

 

ผลประกอบการของหุ้นสหรัฐฯ ออกมาดีในภาพรวม โดย

  1. กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์มีแรงหนุนจาก AI
  2. กลุ่มเทคโนโลยีแม้มีแรงหนุนจาก AI แต่ IT Spending ชะลอตัวจำกัดการเติบโต
  3. กลุ่มที่อิงภาพเศรษฐกิจและสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวตามภาพเศรษฐกิจ แต่ UPS มีแรงชดเชยจากแรงซื้อในคอมเมิร์ซจนทำให้งบดีกว่าคาดสวนทาง Peers
  4. กลุ่มเชิงรับมีมาร์จิ้นโตเป็นสำคัญ ด้วยภาพนี้เราคาดการณ์งบกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ AI และคอมเมิร์ซจะออกมาดี

 

  • กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์: LRCX และ SK Hynix เผยงบและคาดการณ์เติบโตดีกว่าคาด หนุนจากอุปสงค์ AI ที่แกร่งจนทำให้
    1. LRCX อุปสงค์การใช้อุปกรณ์ผลิตชิปโต โดยเฉพาะ AI
    2. SK Hynix อุปสงค์ HBM โต รวมถึงราคา NAND และ DRAM เพิ่มขึ้น
  • กลุ่มเทคโนโลยี: ภาพรวมออกมาในทิศทางผสมหลัง IT Spending ยังชะลอตัวในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ ซึ่งกดดันภาพรวมงบของ IBM และ NOW อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ AI ของ IBM และ NOW รวมถึง SAP ถือได้ว่าโตแกร่งและมีเทรนด์ขาขึ้น
  • กลุ่มที่อิงภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม: งบและคาดการณ์ของ HON และ TI ออกมาต่ำกว่าคาด หลังยอดขายสินค้ามีแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในทิศทางเดียวกัน ธุรกิจขนส่งทางอากาศที่มีราคาแพงของ UPS ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ดี ภาพรวมธุรกิจมีแรงสนับสนุนจากแรงซื้อของกลุ่มอีคอมเมิร์ซที่ดีมาช่วยชดเชยได้
  • กลุ่ม Defensive: ภาพรวมงบ KO และ ULVR ถือได้ว่าการเติบโตไม่ได้หวือหวา หลังแรงซื้อผู้บริโภคยังคงชะลอตัวกดดันสินค้าบางกลุ่ม แต่อย่างไรก็ดี ผลประกอบการมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของมาร์จิ้นหลังมีการควบคุมต้นทุนที่ดี

 

ในภาพรวมนี้เรามองว่าผลประกอบการของหุ้นสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าที่คาดการณ์โดยรวม หลังความคาดหวังต่องบค่อนข้างต่ำ รวมถึงแนวโน้มการทำกำไรยังคงดี ทั้งนี้เราประเมินว่า

  1. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ AI จะยังคงเติบโตได้ดีหลังอุปสงค์แกร่งจนหนุนให้รายได้เติบโตต่อเนื่องได้ เช่น กลุ่มคลาวด์และเซมิคอนดักเตอร์ประมวลผลขั้นสูง โดยเราชอบ MSFT, AMZN และ NVDA
  2. กลุ่มอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มโตดี สะท้อนจากปริมาณการขนส่งของ UPS ที่เติบโต รวมถึงยอดค้าปลีก Non-Store ในสหรัฐฯ ที่ยังคงดีอย่าง AMZN และ SHOP

 

นอกจากนี้มองกลุ่ม BNPL อย่าง PYPL และ AFRM โตดีในทางเดียวกัน หลังกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคอมเมิร์ซเป็นหลัก

ภาพ: posteriori / Getty Images

กรุณาเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความ EXCLUSIVE CONTENT ฟรี!

... • 28 ต.ค. 2024

READ MORE



Latest Stories