Cost of Living – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 30 Oct 2024 14:34:49 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 Best Timing ทบทวนนโยบาย Digital Wallet https://thestandard.co/review-digital-wallet-policy/ Tue, 20 Aug 2024 01:11:26 +0000 https://thestandard.co/?p=972928

หลังจากที่ แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 […]

The post Best Timing ทบทวนนโยบาย Digital Wallet appeared first on THE STANDARD.

]]>

หลังจากที่ แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 คำถามสำคัญที่ตามมาคือ รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของแพทองธารจะยังคงเดินหน้าโครงการสำคัญๆ ที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงและอยู่ระหว่างดำเนินการหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ที่ปัจจุบันมียอดผู้ลงทะเบียนทั่วประเทศแล้วกว่า 30 ล้านคน

 

ที่ผ่านมา เราได้รับทราบมุมมองต่อนโยบายดังกล่าวมาพอสมควร ในความคิดเห็นของผม ช่วงเวลานี้ (ระหว่างการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่) เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด (Best Timing) สำหรับแพทองธารและพรรคเพื่อไทย ที่จะทบทวนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอีกครั้งหนึ่ง บทความนี้ชวนมองโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโดยใช้กรอบแนวคิดจากเศรษฐศาสตร์การพัฒนา มี 2 ประเด็น ดังนี้

 

1. โครงการดิจิทัลวอลเล็ตตั้งต้นจากกรอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่แคบเกินไปเกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

ผู้สนับสนุน (Cheerleader) ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมักกล่าวอยู่เสมอว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการนำแนวคิดที่ได้เรียนในวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคตัวต้นมาอธิบาย โดยเริ่มจากการพูดถึงการกำหนดขึ้นของรายได้ประชาชาติ หรือ National Income Identity ว่าประกอบไปด้วย การบริโภค (Consumption), การลงทุน (Investment), การใช้จ่ายของรัฐบาล (Government Expenditure), และการส่งออกสุทธิ (Net Export) และอธิบายต่อว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้จากการเพิ่มตัว C หรือการบริโภคเอกชน

 

การอธิบายเช่นนี้สะท้อนว่าผู้สนับสนุนรายนี้/กลุ่มนี้ แยกไม่ออกระหว่างการวัด (Measurement) และปัจจัยกำหนด (Determinants) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การนำ C+I+M+X-M นั้น เป็นหนึ่งในวิธีที่เราพยายามจะวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนนโยบายหรือติดตามสภาวะการทำงานของเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะหาก C+I+M+X-M เป็นสูตรสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คงไม่มีประเทศไหนนำเข้าสินค้าเพราะรู้ว่า GDP จะลดลง!

 

สำหรับคนที่เรียนจบสาขาเศรษฐศาสตร์เพียงแค่ระดับปริญญาตรีคงจะได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา (Development Economics) กันมาบ้าง วิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญๆ เช่น Arthur Lewis, Simon Kuznets, Amartya Sen รวมถึง Abhijit Banerjee และ Esther Duflo (แฟนๆ เศรษฐศาสตร์การพัฒนาคงจะไม่โกรธเคืองหากผมไม่ได้พูดถึงนักเศรษฐศาสตร์คนโปรดของท่าน!) แม้ว่าแต่ละคนจะมีทฤษฎีที่แตกต่างกัน แต่เป้าหมายสำคัญของวิชาดังกล่าวคือการหาคำตอบว่า เหตุใดประเทศหนึ่งถึงร่ำรวย อีกประเทศถึงยากจน ประสบการณ์การลดความยากจนของประเทศที่รวยแล้วปัจจุบันเป็นอย่างไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการลดความยากจน มีนโยบายใดบ้างที่เวิร์กและไม่เวิร์กในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

จากการติดตามพัฒนาการของวิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาอย่างใกล้ชิด สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือน Wisdom ที่ยึดถือกันในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาคือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นคนละเรื่องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราจะโฟกัสแค่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (วัดจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง หรือ Real GDP) ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ‘Invention’ หรือการสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา โดยแบบจำลองพื้นฐาน (Traditional Model) ที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ในการศึกษาปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือ Solow Model ซึ่งมีข้อสรุปว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะหยุดลง ‘หาก’ เทคโนโลยีของการผลิต (Technology of Production) ไม่เติบโตอย่าง Exponentially ขณะเดียวกัน Endogenous Growth Models เช่น The Romer Model และ The Schumpeterian Model ให้ความสำคัญกับ Ideas หรือความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) และนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Progress) นอกเหนือจากเรื่องของไอเดียแล้ว การเพิ่มขึ้นของประชากร (Population Growth) ยังเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่เรื่องของปัจจัยการผลิต แต่รวมถึงโอกาสที่นวัตกรรมใหม่ๆ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะเกิดขึ้น

 

นอกเหนือจากทฤษฎีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว หนึ่งในข้อค้นพบสำคัญของงานวิจัยเชิงประจักษ์ (Stylized Fact from Empirical Research) ยังแบ่งปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ

  1. Deep (Fundamental) Determinant
  2. Proximate Determinant

 

ซึ่ง Deep Determinant ประกอบด้วยสถาบัน วัฒนธรรม ศาสนา ที่ตั้งของประเทศ ความหลากหลายทางเชื้อชาติ (Ethnolinguistic Fractionalization) และการเปิดเสรีทางการค้า (Openness to Trade) ขณะที่ Proximate Determinant คือ การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิต มีเหตุปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Technological Change) ทุนมนุษย์ ประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาทางการเงิน

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเปรียบเสมือน ‘Manna from Heaven’ ส่งผลให้คนไทยมีอิสระทางการเงินเพียงชั่วครู่ แต่หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การใช้จ่ายเงินผ่าน Digital Wallet สามารถเพิ่มตัว C ในสมการ National Income Identity ได้จริงคือ การมี Leakage ไปยังสินค้านำเข้าในปริมาณที่ต่ำ และผู้เข้าร่วมโครงการใช้เงิน 10,000 นี้ ‘เพิ่มขึ้น’ จากค่าใช้จ่ายเดิมที่มีอยู่แล้ว หากเป็นเช่นนั้นผลกระทบระยะสั้นอาจเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตชั่วคราวเพื่อให้สอดรับกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับการสร้าง Invention หรืออะไรใหม่ๆ ที่เป็นเสาหลักของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่โฟกัสกับตัวเลข GDP ที่วัดจาก C+I+G+X-M

 

รัฐบาลใหม่นำโดย แพทองธาร ชินวัตร ควรให้ความสำคัญกับการสร้าง Invention รวมถึงการส่งเสริมปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Deep และ Proximate) ไม่ใช่แค่โฟกัสกับตัวเลข GDP ที่วัดจาก C+I+G+X-M

 

2. โครงการดิจิทัลวอลเล็ตตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ผิดพลาด (False Assumption) เกี่ยวกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย

 

หากย้อนดูพัฒนาการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์เรียกช่วงเวลา 2530-2539 ว่า ‘Economic Boom Period’ เพราะ Real GDP ของไทยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.3 ต่อปี ในช่วงเวลาดังกล่าว ไทยคือประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก วาทะเกี่ยวกับเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย (ต่อจากสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และเกาหลีใต้) เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ จนทำให้ธนาคารโลกกล่าวถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ‘Miracle’

 

การขยายตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากการลงทุนของภาคเอกชน (Private Investment) ซึ่งมีสัดส่วนราว 40% ของ GDP ระหว่างปี 2534-2539 แต่หลังเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง การลงทุนเอกชนของไทยไม่เคยกลับไปสู่จุดเดิมอีกเลย ในปี 2566 สต็อกทุนมีสัดส่วนประมาณ 23% ของ GDP ใกล้เคียงกับปี 2513 หรือ 50 ปีที่แล้ว ขณะที่เวียดนามมีสัดส่วนดังกล่าวประมาณ 30% ของ GDP และสูงกว่าไทยนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

 

 

ในทางตรงกันข้าม โครงการดิจิทัลวอลเล็ตถูกมองว่าเป็นกระสุนกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ กระสุนที่ว่าคือการเพิ่มการบริโภคของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้มีปัญหาเรื่องของการบริโภคเอกชน จากการแถลง GDP ไตรมาส 2/67 จากสภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/67 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อพิจารณา GDP ด้านรายจ่ายพบว่า GDP โตขึ้นจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าและบริการ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าร้อยละ 6.8 โดยมีประมาณการว่า ในปี 2567 การลงทุนภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับการเติบโตเมื่อปี 2565 และ 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ การขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชนคือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยโตช้านั้นไม่ได้มีเหตุปัจจัยมาจากด้านดีมานด์

 

ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณา GDP ด้านการผลิต พบว่าการผลิตอุตสาหกรรมติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางด้านซัพพลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตสินค้าจำพวกผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร เคมี โลหะประดิษฐ์ และเฟอร์นิเจอร์ ที่เผชิญกับการหดตัวของผลิตภาพการผลิต อันเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การใช้ทุนต่อแรงงานลดลง การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาลดลง ทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มลดลง

 

เมื่อคำนึงถึงปัจจัยกำหนดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงเวลาที่มี Growth สูงๆ โจทย์ของรัฐบาลในปัจจุบันคือจะทำอย่างไรให้การลงทุนของภาคเอกชน (Private Investment) กลับมาสูงดังเดิม แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นการสร้างเสริมบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน (Investment Climate) ของภาคเอกชน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้สัญญา (Contract Enforcement), การปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สิน (Respect for Property Rights), การแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition), นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ, กฎระเบียบที่โปร่งใส, กฎระเบียบของราชการ และความล่าช้าในการปฏิบัติงานของราชการ

 

เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีความพยายามพอสมควรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (รู้จักในชื่อการกิโยตินกฎหมาย) ไม่ต้องกู้งบประมาณจากที่ไหนนับแสนล้าน แต่ต้องอาศัยความเด็ดขาดและเอาจริงเอาจังของผู้นำในการรื้อระบบระเบียบราชการเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ซึ่งสามารถยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ทัดเทียมประเทศอื่น

 

จากข้อมูลของ Doing Business Report ปี 2020 แม้ว่าคะแนนรวมของไทยจะรั้งอันดับที่ 21 ของโลก จากทั้งหมด 190 ประเทศ แต่ไทยยังมีคะแนนต่ำในเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลงทุนของเอกชน เช่น การจดทะเบียนทรัพย์สิน (Registering Property) ที่แม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชีย แปซิฟิก และประเทศ OECD ในเรื่องของจำนวนขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ แต่ค่าใช้จ่ายยังมีราคาสูง

 

นอกจากนั้น เมื่อดูความเห็นของประชาชนต่อการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สิน เมื่อไปดูดัชนี Trade Facilitation Indicators (TFI) ซึ่งเป็นดัชนีใช้วัดความยากง่ายของขั้นตอน/กระบวนการทางเทคนิคและทางกฎหมายที่เอื้อต่อการค้าระหว่างประเทศ พบว่า แม้ไทยจะทำได้ดีในภาพรวม (อยู่ลำดับที่ 61 ของโลก จากทั้งหมด 164 ประเทศ มีอันดับต่ำกว่ามาเลเซียและจีน แต่อันดับดีกว่าอินโดนีเซียและเวียดนาม) แต่ยังมีอีกหลายด้านที่มีคะแนนต่ำและต้องปรับปรุง เช่น ด้านค่าธรรมเนียมและค่าปรับ (Fees and Charges) ซึ่งครอบคลุมทั้งการเข้าถึงข้อมูล การประเมินค่าธรรมเนียมและค่าปรับ จำนวนค่าธรรมเนียมและค่าปรับที่เรียกเก็บ จำนวนค่าธรรมเนียม และด้านความร่วมมือของหน่วยงานภายใน (Internal Border Agency Co-Corporation) ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในประเทศ

 

เป็นเรื่องน่าชื่นชมที่รัฐบาลมีความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่หากเริ่มต้นด้วย Assumption ที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับปัจจัยกำหนดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย ก็อาจทำให้นโยบายผิดเพี้ยนไปแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้การพัฒนาเศรษฐกิจหยุดอยู่กับที่ การทบทวนนโยบายสาธารณะที่มีราคาสูง (ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนค่าเสียโอกาส) จึงเป็นก้าวแรกที่ควรกระทำ

The post Best Timing ทบทวนนโยบาย Digital Wallet appeared first on THE STANDARD.

]]>
นโยบายแจกเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เสี่ยงจุดชนวนซ้ำรอยคดี ‘จำนำข้าว’? https://thestandard.co/digital-wallet-risk-being-second-rice-pledging/ Mon, 19 Aug 2024 08:53:44 +0000 https://thestandard.co/?p=972797 ดิจิทัลวอลเล็ต

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ กำลังเผชิญโจทย์อันท […]

The post นโยบายแจกเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เสี่ยงจุดชนวนซ้ำรอยคดี ‘จำนำข้าว’? appeared first on THE STANDARD.

]]>
ดิจิทัลวอลเล็ต

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ กำลังเผชิญโจทย์อันท้าทายที่ต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้องตามวลีเด็ด ‘มีกิน มีใช้’ โดยเฉพาะคำถามถึงความเป็นไปได้ของดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งแม้มีกระแสข่าวว่า ทักษิณ ชินวัตร สั่งยกเลิกโครงการนั้น ไม่เป็นความจริง เพียงแค่ขอเวลาพิจารณาประเมินและทบทวนข้อกฎหมาย ขณะเดียวกันสื่อนอกต่างจับตาประเด็นเกี่ยวกับ ‘เงินทุน’ ที่จะนำมาใช้ อาจจุดชนวนให้แพทองธารหลุดจากตำแหน่งก่อนวาระ ซ้ำรอยคดี ‘นโยบายจำนำข้าว’ หรือไม่

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานอ้างอิงคำกล่าวของแพทองธาร นายกฯ คนที่ 31 ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 สิงหาคม) ที่ระบุว่า โครงการสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศอย่างดิจิทัลวอลเล็ตมูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ “จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายวินัยการคลังของประเทศ”

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

แพทองธารย้ำชัดระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ต้องประเมินและทบทวนเพิ่มเติม โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังมีรายงานว่า ทักษิณ อดีตนายกฯ มีแผนที่จะยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

 

ทว่าเพื่อปกป้องไม่ให้แพทองธารได้รับผลกระทบด้านลบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับ ‘เงินทุน’ ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการ

 

ส่งผลให้ประเด็นดังกล่าวอาจกลายเป็นชนวนให้แพทองธารหลุดจากตำแหน่งก่อนวาระ ซ้ำรอย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในปี 2017 ที่ถูกศาลตัดสินให้มีความผิดเกี่ยวกับ ‘นโยบายจำนำข้าว’

 

ดิจิทัลวอลเล็ต

 

ทั้งนี้ แพทองธารระบุว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ดังนั้นรายละเอียดของโครงการจึงต้องมีความชัดเจนมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยต้องมีความคิดเห็นเพิ่มเติมจากหลายฝ่าย รวมถึงจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แพทองธารย้ำชัดว่า “โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นโครงการที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย”

 

ขณะเดียวกันแพทองธารซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา และยังเป็นนายกฯ ที่อายุน้อยที่สุดของไทย ยังคง ‘ปฏิเสธหนักแน่น’ เกี่ยวกับรายงานที่ทักษิณต้องการให้ยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

 

สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตถือเป็นการแจกเงินสดผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล เป็นโครงการเรือธงที่พรรคเพื่อไทยให้คำมั่นระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง โดยมองว่าโครงการดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตได้ถึง 5% ต่อปี

 

ท่ามกลางเสียงสะท้อนจากธนาคารกลางแห่งประเทศไทย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติบางส่วน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ต่างออกมาท้วงติงอย่างดุเดือดในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีการจัดหาเงินทุนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รวมถึงผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการขับเคลื่อนดำเนินการ

 

อย่างไรก็ดี สื่อหลายสำนักของไทยต่างรายงานตรงกันว่า รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของแพทองธาร “อาจยกเลิกโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่อาจเปลี่ยนมาเป็นการออกมาตรการชุดใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรงเพิ่มเติมแทน”

 

อ้างอิง:

The post นโยบายแจกเงิน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เสี่ยงจุดชนวนซ้ำรอยคดี ‘จำนำข้าว’? appeared first on THE STANDARD.

]]>
คนไทยจะยังได้ ‘เงินดิจิทัล’ อยู่หรือไม่ หลังเศรษฐาหลุด EIC มอง หากนายกฯ ใหม่มาจากเพื่อไทย ดิจิทัลวอลเล็ตได้ไปต่อ https://thestandard.co/thai-digital-money-future-post-srettha/ Thu, 15 Aug 2024 05:43:13 +0000 https://thestandard.co/?p=971259 เงินดิจิทัล ยังได้อยู่ไหม

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉ […]

The post คนไทยจะยังได้ ‘เงินดิจิทัล’ อยู่หรือไม่ หลังเศรษฐาหลุด EIC มอง หากนายกฯ ใหม่มาจากเพื่อไทย ดิจิทัลวอลเล็ตได้ไปต่อ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เงินดิจิทัล ยังได้อยู่ไหม

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐาสิ้นสุดลง หนึ่งในคำถามที่ผุดขึ้นมาในหัวของคนหลายคนนั่นคือ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จะไปต่อหรือไม่ หรือจะถูกพับเก็บไป

 

โดยวันนี้ (15 สิงหาคม) ที่อาคารรัฐสภา จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลชุดต่อไป

 

“เมื่อมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาก็ต้องแถลงนโยบายต่อสภาอีกครั้ง ก็ต้องให้เกียรติว่าที่นายกรัฐมนตรีคนถัดไปว่าจะบรรจุนโยบายอะไรเข้ามาบ้าง แต่พรรคเพื่อไทยหากมีการจัดตั้งรัฐบาลและเราร่วมด้วยก็คงจะเสนอนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต”

 

SCB EIC มอง หากนายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย ดิจิทัลวอลเล็ตได้ไปต่อ

 

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม SCB EIC เผยแพร่มุมมองเกี่ยวกับฉากทัศน์การเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยแบ่งความเป็นไปได้ออกเป็น 3 ฉากทัศน์ ได้แก่

 

  1. นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย โดย SCB EIC ประเมินว่า ความน่าจะเป็นสำหรับฉากทัศน์นี้อยู่ที่ 50%

    โดยหากฉากทัศน์นี้เกิดขึ้น ดิจิทัลวอลเล็ตก็มีโอกาสเกิดขึ้นเท่าเดิม แต่อาจล่าช้า อย่างเร็วที่สุดเริ่มได้เดือนธันวาคม 2567 (อย่างไรก็ดี SCB EIC ยังไม่ได้ใส่ลงไปใน Baseline เนื่องจากความเสี่ยงเชิงเทคนิคมีสูง) 
  2. นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคร่วมอื่น โดย SCB EIC ประเมินว่า ความน่าจะเป็นสำหรับฉากทัศน์นี้อยู่ที่ 40%

    โดยหากฉากทัศน์นี้เกิดขึ้น ดิจิทัลวอลเล็ตก็มีโอกาสเกิดน้อยมาก หรืออาจเกิดขึ้นได้ แต่วงเงินโครงการจะลดลง 
  3. เกิดการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ โดย SCB EIC ประเมินว่า ความน่าจะเป็นสำหรับฉากทัศน์นี้อยู่ที่ 10% เท่านั้น

    โดยหากฉากทัศน์นี้เกิดขึ้น ดิจิทัลวอลเล็ตก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

 

The post คนไทยจะยังได้ ‘เงินดิจิทัล’ อยู่หรือไม่ หลังเศรษฐาหลุด EIC มอง หากนายกฯ ใหม่มาจากเพื่อไทย ดิจิทัลวอลเล็ตได้ไปต่อ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เศรษฐกิจไทยในวันที่ไม่มี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จะเป็นอย่างไรต่อไป https://thestandard.co/thailand-economic-outlook-without-srettha/ Wed, 14 Aug 2024 11:32:48 +0000 https://thestandard.co/?p=970984 เศรษฐา ทวีสิน

ก่อนหน้านี้สื่อนอกต่างจับตาหาก เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เป็น […]

The post เศรษฐกิจไทยในวันที่ไม่มี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จะเป็นอย่างไรต่อไป appeared first on THE STANDARD.

]]>
เศรษฐา ทวีสิน

ก่อนหน้านี้สื่อนอกต่างจับตาหาก เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน โครงการเรือธงของพรรคเพื่อไทยอย่างดิจิทัลวอลเล็ต และแลนด์บริดจ์ จะได้ไปต่อหรือไม่?

 

สืบเนื่องจากกรณี 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าพิชิตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากเคยถูกคำสั่งศาลฎีกาคุมขังเป็นเวลา 6 เดือน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

แม้พิชิตได้ลาออกไปแล้ว และเศรษฐา ซึ่งดำรงตำแหน่งมาได้ไม่ถึง 1 ปีเต็มนัก ยืนยันว่าเขาบริสุทธิ์

 

ล่าสุดวันนี้ (14 สิงหาคม) เมื่อเวลา 15.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ถอดถอนความเป็นรัฐมนตรีของเศรษฐา ทำให้สิ้นสุดความเป็น ‘นายกรัฐมนตรี’ ส่งผลให้หลังจากนี้

 

  • นายกฯ พ้นจากตำแหน่ง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และไม่สามารถทำหน้าที่ ‘รักษาการนายกฯ’ ได้
  • คณะรัฐมนตรี (ครม.) 34 คน พ้นจากตำแหน่ง แต่ยังสามารถทำหน้าที่ ‘ครม. รักษาการ’ ได้
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมได้

 

Krystal Tan นักเศรษฐศาสตร์จาก Australia and New Zealand Banking Group กล่าวว่า “หากมองด้านเศรษฐกิจ ความกังวลแรกที่อาจจะเกิดขึ้นคือความเสี่ยงที่จะเกิดการประท้วงและอาจจะส่งผลต่อความล่าช้าของงบประมาณปี 2568”

 

ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นั้น “หากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถรักษาตำแหน่งนายกฯ ไว้ได้ ก็จะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะล่าช้าออกไปอีก หรือยกเลิกไปในที่สุด”

 

สำนักข่าว Bloomberg วิเคราะห์คำวินิจฉัยไว้ 2 ฉากทัศน์ ดังนี้

 

 

THE STANDARD WEALTH รวบรวมผลการดำเนินงานของเศรษฐาในเวลาเกือบ 1 ปี หากย้อนเวลาช่วงเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ เศรษฐาจะครบรอบการทำงานเป็นนายกฯ 1 ปีเต็มในเดือนกันยายน 2567 ในมุมของโครงการลงทุนเศรษฐกิจที่เป็นเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลถือว่ายังไม่ถึงฝั่งฝันนัก โดยเศรษฐาหมายมั่นว่าจะดึงดูดการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ หวังผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวเฉลี่ย 5%

 

เมื่อประกอบกับที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ GDP โต 2.7% หลายองค์กรและหน่วยงานเศรษฐกิจต่างก็คาดการณ์ว่า GDP ไทยปีนี้น่าจะขยายตัวเต็มที่ในกรอบ 2.4-2.8% ดูท่าทีน่าจะยังห่างไกล

 

ย้อนดูโครงการสำคัญของรัฐบาลเศรษฐา มีอะไรบ้าง คืบหน้าถึงไหน

 

  • กระตุ้นเศรษฐกิจ กระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ขยับไทม์ไลน์ออกไปไตรมาส 4/67 คาดว่าจะกระตุ้น GDP 1.2-1.8%
  • แลนด์บริดจ์ยังเดินหน้าโรดโชว์จีบนักลงทุน เช่น
  • CHEC บริษัทก่อสร้างและสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน
  • กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ ซาอุดีอาระเบีย
  • Sultan Ahmed bin Sulayem ประธาน Dubai Port World (DP World) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)
  • ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex (คาสิโน) อยู่ระหว่างประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นทุกฝ่าย
  • เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อยู่ระหว่างเร่งเครื่อง 4 เมกะโปรเจกต์ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, สนามบินอู่ตะเภา, เมืองการบิน, ท่าเรือมาบตาพุด เป้าหมายดึงดูดเม็ดเงิน 2.2 ล้านล้านบาท
  • ตั้งเป้ากระตุ้นการท่องเที่ยวปีนี้ให้ได้ 3.5 ล้านล้านบาท
  • อยู่ระหว่างเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนแหล่งก๊าซไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area: OCA)
  • ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน คาดหวังไว้ว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม

 

เอกชนช็อก! หวั่นการลงทุนหยุดชะงัก

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในมุมของภาคเอกชนก็ได้สะท้อนให้เห็นภาพหลายแล้วว่าวันนี้ไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า รวมถึงมีความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นในโลก และไทยก็ยังอยู่ในช่วงที่จะต้องรีบเร่งสร้างความเชื่อมั่น สร้างการลงทุนใหม่ๆ เชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

 

 

“ผมคิดว่าช่วงนี้เป็นจังหวะที่สำคัญ และปัจจัยที่เป็นตัวพิจารณาสำหรับนักลงทุนก็คือการเมือง เราต้องมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ หรือว่ามีความนิ่งและต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่องมานาน การเปลี่ยนขั้วพรรคการเมืองตลอดเวลาก็จะทำให้นโยบายที่รัฐบาลเคยขับเคลื่อนนั้นหยุดชะงักไป มันก็ขาดความต่อเนื่อง ซึ่งถ้าผลออกมาว่านายกฯ ได้ไปต่อ ผมคิดว่าก็จะทำให้ระบบในประเทศเดินหน้าต่อได้

 

“โดยนักลงทุนก็ยังเฝ้ารอลุ้นเหมือนกับทุกๆ คน และคิดว่าทุกคนก็จะโล่งอกแล้วก็จะเดินหน้าต่อ แต่ถ้าผลออกมาว่าถอดถอน ผมก็คิดว่ามันจะมีผลอันดับแรกคือช็อก แล้วก็ชะงัก ซึ่งแต่ละฝ่ายก็จะต้องกลับไปทบทวนว่าการลงทุนจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่” เกรียงไกรกล่าว

 

เกรียงไกรกล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีคดี ตลอดระยะเวลากว่า 80 วัน ทุกคนก็ชะลอการลงทุนอยู่แล้วและรอดูกันอยู่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ทุกฝ่ายมอนิเตอร์ ติดตามผล แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอุตสาหกรรมจะหยุดหมด เพราะก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของอุตสาหกรรมนั้นๆ ด้วย

 

ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศ ฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรป อาจจะให้น้ำหนักในเรื่องนี้มาก เรียกว่าซีเรียสเลยก็ว่าได้ ทำให้มีนักธุรกิจหลายรายต้องการความชัดเจนและพูดคุยสอบถามกับ ส.อ.ท. ตลอดเวลา แต่นักลงทุนทั้งโซนเอเชียเอง อย่างนักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย และอยู่ในประเทศมา 40-50 ปี ก็อาจจะเริ่มเรียนรู้และสามารถปรับตัวได้

 

“ตลอดระยะเวลาในช่วงปี 1 ที่ผ่านมา ผมคิดว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลในชุดของเศรษฐา เพราะขึ้นมาเป็นรัฐบาลในช่วงที่เกิดความท้าทายของโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ การที่ต้องเลือกข้าง การย้ายฐานการผลิตจำนวนมากที่ไม่เคยรุนแรงและเข้มข้นขนาดนี้มาก่อน รวมถึงปัญหาสะสมของไทยที่ลึกไปในเชิงโครงสร้างมานาน แต่นายกฯ ก็สามารถเข้ามาทำงาน ปรับตัว และใช้เวลาไม่มาก 3-4 เดือน ก็เริ่มพอเข้าใจในหน้าที่และมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ได้” เกรียงไกรกล่าว

The post เศรษฐกิจไทยในวันที่ไม่มี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ จะเป็นอย่างไรต่อไป appeared first on THE STANDARD.

]]>
เศรษฐา…รอดหรือร่วง? สื่อนอกจับตาคดีศาลวินิจฉัยถอดถอนนายกฯ หากหลุดเก้าอี้เสี่ยงฉุด GDP โตต่ำกว่า 2% ทำโครงการ Digital Wallet ล้ม https://thestandard.co/srettha-survive-or-fall/ Tue, 13 Aug 2024 13:53:43 +0000 https://thestandard.co/?p=970657

สื่อนอกจับตา หาก เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอี […]

The post เศรษฐา…รอดหรือร่วง? สื่อนอกจับตาคดีศาลวินิจฉัยถอดถอนนายกฯ หากหลุดเก้าอี้เสี่ยงฉุด GDP โตต่ำกว่า 2% ทำโครงการ Digital Wallet ล้ม appeared first on THE STANDARD.

]]>

สื่อนอกจับตา หาก เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน โครงการเรือธงของพรรคเพื่อไทยอย่าง Digital Wallet จะได้ไปต่อหรือไม่?

 

ในวันพรุ่งนี้ (14 สิงหาคม) เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยซึ่งจะทราบผลชี้ชะตาเศรษฐาว่าจะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 หรือจะทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) หลุดไปทั้งคณะ หรือสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จะต้องโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ หรือรัฐบาลสุญญากาศ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สืบเนื่องจากกรณี 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าพิชิตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากเคยถูกคำสั่งศาลฎีกาคุมขังเป็นเวลา 6 เดือน

 

แม้พิชิตได้ลาออกไปแล้ว และเศรษฐา ซึ่งดำรงตำแหน่งมาได้ไม่ถึง 1 ปีเต็มนัก ยืนยันว่าเขาบริสุทธิ์

 

ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง รับคำร้อง 40 สว. ยื่นถอดถอนนายกฯ ขณะที่ 5 ต่อ 4 ไม่มีคำสั่งให้เศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย

 

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่า เศรษฐาจะไม่อยู่ที่ศาลในวันพรุ่งนี้เพื่อฟังคำตัดสิน โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ แต่จะส่ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปแทน

 

สำนักข่าว Bloomberg วิเคราะห์คำวินิจฉัยไว้ 2 ฉากทัศน์ ดังนี้

 

1. กรณีไม่มีความผิด

 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผลดีกับเศรษฐา หมายความว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะดำเนินไปตามปกติ เนื่องจากหลุดความเสี่ยงคำครหาที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐบาลผสม (Coalition Government) ทันที โดยพรรคเพื่อไทยที่ครองอำนาจอยู่จะยังรักษาตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดไว้ได้ เอาชนะพันธมิตรในรัฐบาลผสมฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ถูกตั้งคำถามว่าสนับสนุนคำร้องที่ต่อต้านเศรษฐา

 

นอกจากนี้ จะเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่กังวลถึงผลกระทบของเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลที่นำโดยพลเรือนถือเป็นชัยชนะที่ต่อสู้มาอย่างยากลำบาก หลังจากไทยปกครองโดยสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพมาเกือบ 10 ปีเต็ม

 

อีกทั้งปีนี้กองทุนต่างชาติ (Foreign Funds) ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ดัชนี SET ของไทยลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ถือเป็นหนึ่งในดัชนีที่มีผลงานแย่ที่สุดในบรรดาดัชนีตลาดหุ้นโลกทั้งหมดที่ Bloomberg ติดตามในปีที่ผ่านมา

 

แต่เนื่องจากเศรษฐาไม่ได้ถูกสั่งให้พักการปฏิบัติหน้าที่ จึงมุ่งเน้นไปที่การเดินหน้าโครงการแจกเงิน (Digital Wallet) ของรัฐบาลมูลค่าประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ความสำเร็จของโครงการนี้จะยิ่งตอกย้ำต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยที่ครองอำนาจอยู่ หลังจากที่คะแนนนิยมของพรรคลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

 

2. กรณีมีความผิด

 

คำวินิจฉัยไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐาแน่นอน หมายความว่า เศรษฐา และ ครม. จะต้องลาออก ทำให้เกิดการแย่งชิงกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเจรจาและตกลงกันเกี่ยวกับผู้สมัครรับตำแหน่งนายกฯ คนต่อไป

 

หลังจากนั้น สส. จะต้องเปิดประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการเลือกผู้นำคนใหม่ที่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักได้

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองและนักกฎหมายมีความเห็นแตกต่างว่าจำเป็นต้องมีนายกฯ รักษาการในระหว่างนี้หรือไม่ และอาจจำเป็นต้องเป็นเศรษฐา หรือ ‘รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งในจำนวน 6 คน’ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความชัดเจนในประเด็นนี้

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างความเสี่ยงต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีแรงกดดันทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องว่างทางอำนาจ การลงทุนจากต่างประเทศอาจหยุดชะงักลง เนื่องจากตลาดต้องรอความชัดเจนก่อนว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศ ทว่าเศรษฐาจะทิ้งทวนเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโต 2% ต่อปี มานานกว่า 10 ปีอีกต่อไปหรือไม่ ท่ามกลางบรรยากาศตลาดและนักลงทุนที่ต่างกังวลปมวิวาทะระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ย

 

Krystal Tan นักเศรษฐศาสตร์จาก Australia and New Zealand Banking Group กล่าวว่า “หากมองด้านเศรษฐกิจ ความกังวลแรกที่อาจเกิดขึ้นคือความเสี่ยงที่จะเกิดการประท้วงและอาจส่งผลต่อความล่าช้าของงบประมาณปี 2568”

 

ส่วนโครงการ Digital Wallet 10,000 บาท นั้น “หากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถรักษาตำแหน่งนายกฯ ไว้ได้ ก็จะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะล่าช้าออกไปอีกหรือยกเลิกไปในที่สุด”

 

จับตาแคนดิเดต 6 คนจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีสิทธิเสียบแทนตำแหน่งนายกฯ

 

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยยังมีผู้สมัคร 2 คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ ชัยเกษม นิติสิริ อายุ 75 ปี

 

ทั้งนี้ เชื่อว่าทั้งคู่มีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากแพทองธารไม่พร้อมสำหรับตำแหน่งนี้ และชัยเกษมมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ถือเป็น ‘ตัวเต็ง’ ส่วน ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ คืออีกหนึ่งทางเลือกจากกลุ่มอนุรักษนิยม

 

อ้างอิง:

The post เศรษฐา…รอดหรือร่วง? สื่อนอกจับตาคดีศาลวินิจฉัยถอดถอนนายกฯ หากหลุดเก้าอี้เสี่ยงฉุด GDP โตต่ำกว่า 2% ทำโครงการ Digital Wallet ล้ม appeared first on THE STANDARD.

]]>
e-Wallet ไทยยังไม่เกิด เพราะมี Mobile Banking และ PromptPay ขวางอยู่ แต่ทำไม BigPay จากมาเลเซียถึงกล้าบุกเข้ามา? https://thestandard.co/thai-e-wallet-market-challenges-bigpay-entry/ Tue, 13 Aug 2024 07:39:50 +0000 https://thestandard.co/?p=970413 BigPay e-Wallet

เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่กระแส e-Wallet เริ่มก่อตัวขึ้น […]

The post e-Wallet ไทยยังไม่เกิด เพราะมี Mobile Banking และ PromptPay ขวางอยู่ แต่ทำไม BigPay จากมาเลเซียถึงกล้าบุกเข้ามา? appeared first on THE STANDARD.

]]>
BigPay e-Wallet

เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่กระแส e-Wallet เริ่มก่อตัวขึ้นในไทย หากมองย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้น หลายคนต่างคาดหวังว่านี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะพลิกโฉมวงการการเงินไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว

 

แต่จนถึงวันนี้ความฝันนั้นดูเหมือนจะยังเลือนรางเพราะ e-Wallet ในไทยยังคงอยู่ในสภาวะ ‘ไม่ปัง ไม่แป้ก’ ท่ามกลางคำถามที่ว่า ทำไม? อะไรคืออุปสรรคที่ขวางกั้นเส้นทางสู่ความสำเร็จของ e-Wallet ในไทย?

 

และในขณะที่ e-Wallet เจ้าถิ่นยังคง ‘คลำทางอยู่’ ก็มีผู้เล่นรายใหม่จากต่างแดนอย่าง BigPay จากมาเลเซีย ที่ข้ามพรมแดนมาท้าชิงตลาด e-Wallet ในไทย สร้างความตื่นตัวและตั้งคำถามใหม่ให้กับวงการว่า การมาของ BigPay จะเป็นตัวเร่งให้ e-Wallet ไทยแจ้งเกิด หรือจะเป็นเพียงแค่ ‘พลุ’ ที่สว่างวาบแล้วดับไป?

 

“ทุกคนต่างมองว่าพวกเรา (BigPay) เป็น ‘Latecomer’ ในตลาดฟินเทค หรือผู้เล่นที่เข้ามาช้าไป แต่ผมอยากจะบอกว่าเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ตอนผมเริ่มตั้งบริษัทสายการบิน AirAsia ผมทำธุรกิจด้วยเครื่องบินแค่ 2 ลำ จนทุกวันนี้เราสามารถก้าวขึ้นมาเป็นสายการบินอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียได้” โทนี เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แคปปิตอล เอ (Capital A) และ MOVE Digital ที่บินตรงมาจากมาเลเซีย กล่าวต่อหน้าสื่อมวลชนของไทย

 

“เรามั่นใจมากว่า BigPay จะทำแบบนั้นได้กับตลาดฟินเทค เพราะหลายครั้งเรามีความเข้าใจตลาดได้ดีกว่าผู้เล่นเดิมที่อยู่มานานกว่าเราเสียอีก”

 

 

ย้อนกลับไปวงการ e-Wallet ในบ้านเราเริ่มต้นด้วยยักษ์ใหญ่ในฝั่งโอเปอเรเตอร์เป็นกลุ่มแรกที่กระโดดเข้าสู่สังเวียนด้วยการเปิดตัว e-Wallet ของตัวเอง ทั้ง AIS ที่มี mPay ฟาก DTAC มี Jaew Wallet ส่วน True ก็มี TrueMoney และก็มีบริษัทอื่นๆ ตามมาอีก เช่น Rabbit LINE Pay และ Dolfin Wallet

 

แต่เกือบทั้งหมดได้ลาตลาดไปหมดแล้ว เหลือเพียง TrueMoney และ Rabbit LINE Pay ที่เปลี่ยนมาอยู่ภายใต้ LINE MAN Wongnai เมื่อปลายปีที่แล้ว

 

“กำแพงใหม่ที่ขวางไม่ให้ e-Wallet มี 2 ส่วนคือ Mobile Banking ที่แข่งกันพัฒนา และการเข้ามาของ PromptPay ที่ทำให้การจ่ายเงินนั้นสะดวกมากๆ สำหรับคนไทยทั่วไป” แหล่งข่าวในแวดวงเทคโนโลยีฟินเทคให้ความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH

 

หลายค่ายมักเทียบไทยกับจีนว่า e-Wallet จะสามารถแจ้งเกิดได้เหมือนในแดนมังกร แต่จริงๆ แล้วแหล่งข่าวให้มุมมองที่น่าสนใจว่า การที่คนจีนนิยมใช้ e-Wallet เป็นเพราะ Mobile Banking นั้นไม่ได้มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจ แทบกับของไทยที่ตอนนี้แทบจะทำได้ทุกอย่าง ดังนั้นคนจีนจึงต้องโยกเงินไปสู่ e-Wallet เพื่อใช้จ่าย

 

ยิ่งการมาถึงของ PromptPay ก็ยิ่งทำให้ความจำเป็นในการใช้ e-Wallet ของคนไทยนั้นลดลงไปเรื่อยๆ เพราะสามารถใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking ได้ทันที

 

ข้อมูลจากบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด หรือ NITMX ผู้พัฒนาและให้บริการระบบการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างธนาคารของไทย ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบ PromptPay ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียน PromptPay อยู่ที่ 71.31 ล้านหมายเลข ถือว่าครอบคลุมผู้ใช้งานทั้งประเทศ

 

ในปี 2566 จำนวนธุรกรรม PromptPay เพิ่มขึ้น 34% และมูลค่าธุรกรรม PromptPay เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมียอดธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน PromptPay ตลอดทั้งปีรวมทั้งสิ้น 18,362 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 46 ล้านล้านบาท โดยมีจำนวนธุรกรรมเฉลี่ยต่อวัน 58.23 ล้านรายการ และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

“เพราะความแข็งแกร่งของ Mobile Banking และ PromptPay ทำให้ e-Wallet ที่ยังอยู่ได้ล้วนมาจาก Ecosystem ของตัวเองทั้งนั้น” แหล่งข่าวระบุ

 

 

ภาพนี้เห็นได้ชัดเจนมากกับ TrueMoney ที่ได้อานิสงส์จาก 7-Eleven ที่มีตัวเลขกว่า 14,730 สาขา (ณ 31 มีนาคม 2567) ซึ่งการไม่รับ PromptPay รวมถึงการรูดบัตรเครดิตมีขั้นต่ำ ก็เป็นการบังคับกลายๆ ให้ลูกค้าที่ไม่พกเงินสดต้องจ่ายผ่าน TrueMoney ไปโดยปริยาย

 

ตัวเลขล่าสุดที่เปิดเผยในช่วงกลางปี 2566 TrueMoney ระบุว่า มีผู้ใช้ 27 ล้านราย ขณะที่จำนวน Active Users ราว 17-18 ล้านคนต่อเดือน มีจุดรับชำระของแพลตฟอร์มกว่า 7 ล้านจุดในร้านค้าออนไลน์กว่า 1.3 ล้านร้านค้าทั่วโลก และจ่ายในประเทศอื่นๆ อีกราว 40 ประเทศ

 

ขณะที่การเข้ามาของ BigPay อย่างเป็นทางการเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้วางตัวเองเป็นแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) สำหรับทำธุรกรรมใช้จ่ายในประเทศและระหว่างประเทศผ่านช่องทางบัตรเสมือน Visa (Visa Virtual Card) และบัตรพลาสติก Visa Platinum Prepaid Card

 

BigPay ระบุว่า แพลตฟอร์มของตัวเองนั้นสามารถใช้จ่ายกว่า 130 ล้านร้านค้าทั่วโลก ทั้งออนไลน์และร้านค้าทั่วไป

 

เพราะรู้ดีว่ามีกำแพงใหญ่ขวางแพลตฟอร์ม e-Wallet ดังนั้นการเข้ามาในไทยซึ่งเป็นประเทศที่ 3 ในแผนการขยายธุรกิจต่อจากมาเลเซียและสิงคโปร์ BigPay จึงต้องทำการบ้านมาเป็นอย่างดี

 

“เราต้องการจะจับลูกค้ากลุ่มที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวเป็นกลุ่มหลักในช่วงเริ่มต้นก่อน เพราะเรามีข้อได้เปรียบเรื่องฐานข้อมูลอินไซต์ของลูกค้า AirAsia MOVE ที่ BigPay สามารถหยิบมาใช้เพื่อออกแบบบริการให้ตรงใจกลุ่มคนชอบเที่ยวได้อย่างคุ้มค่าที่สุด” เฟอร์นานเดสกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ถึงความมั่นใจในการเข้ามาเปิดบริการที่ไทยว่า “ตอนนี้เราอยากจะสร้างระบบนิเวศสำหรับนักท่องเที่ยวในเอเชีย ซึ่ง BigPay ไม่จำเป็นต้องเป็นแอปพลิเคชันที่คนใช้งานทุกวัน แต่เราขอเป็นแอปเบอร์ 1 สำหรับนักเดินทาง”

 

 

วิธีคิดดังกล่าวคล้ายกับตอนที่เฟอร์นานเดสเริ่มทำธุรกิจสายการบินครั้งแรก โดยเขามักจะบอกพนักงานของตัวเอง ณ เวลานั้นว่า เราอย่าเพิ่งคิดไปไกลถึงธุรกิจที่จะก้าวไปเป็น ‘ผู้นำ’ ระดับโลก แต่ให้คิดแค่หาวิธีที่จะเป็น ‘คิง’ หรือเบอร์ 1 ในตลาดท้องถิ่นที่ตนเองอยู่ให้ได้ และนั่นก็เป็นแนวคิดที่ BigPay จะนำมาใช้ต่อยอดกลยุทธ์การเติบโตต่อจากนี้

 

อย่างไรก็ดี เฟอร์นานเดสย้ำชัดว่า BigPay ไม่ใช่แอปธนาคารดิจิทัลและไม่ได้ต้องการจะเข้ามาแข่งกับธนาคาร แต่เลือกที่จะจับมือกับธนาคาร โดยในกรณีของบริษัทตอนนี้ก็คือร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินจาก BBL เข้ากับอินไซต์ตลาดท่องเที่ยว ให้ตอบโจทย์การเก็บเงินแพลนทริปของนักท่องเที่ยวมากขึ้น

 

การเลือกไทยเป็นแห่งที่ 3 เพราะมองพฤติกรรมผู้บริโภคหลายอย่างค่อนข้างคล้ายกับในมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ BigPay ทำธุรกิจมาอยู่แล้วก่อนหน้านี้ อีกทั้งไทยยังเป็นตลาดอันดับ 2 ของสายการบิน AirAsia สื่อให้เห็นถึงการเดินทางที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา ดังนั้นบริษัทมองว่า BigPay มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก

 

การเปิดตัว e-Wallet ครั้งนี้ยังสอดคล้องกับเทรนด์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่อยากออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศมากขึ้น โดยแผนเดินทางเยือนต่างประเทศของคนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 ทริปในปีนี้ และระหว่างทริป 81% ของผู้บริโภคชาวไทยเลือกที่จะใช้จ่ายโดยไม่พึ่งพาเงินสดเป็นตัวเลือกหลักจากผลสำรวจของ Visa

 

นอกจากการเป็นช่องทางชำระเงิน ฟีเจอร์หลักของ BigPay ยังมีตัวช่วยเก็บเงินอย่าง ‘Stash’ กระเป๋าเก็บเงินย่อย และ ‘Round-up’ ฟังก์ชันปัดเศษเงินทอนเพื่อเก็บเงินได้ทันที รวมถึง ‘Analytics’ เพื่อวิเคราะห์การใช้จ่ายแบบแบ่งประเภทสินค้า ทำให้ผู้ใช้งานเห็นและเข้าใจข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง

โดยเฟอร์นานเดสมองว่า BigPay จะเป็นเครื่องมือการเงินทางเลือกของคนไทย สำหรับบริหารการเงิน ทั้งการออม สะสมแต้ม หรือแม้แต่กู้ยืมเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว

 

สำหรับเป้าหมายธุรกิจ อภิฤดี ปรัชญาเศรษฐ ผู้จัดการ BigPay ประจำประเทศไทย กล่าวว่า BigBay ตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้งานไทยภายในสิ้นปีไว้ที่ 100,000 ราย และภายในอีก 2-3 ปี บริษัทหวังว่าจะสามารถแตะยอดผู้ใช้งาน 1 ล้านรายให้ได้ ซึ่งในอนาคต BigPay ก็มีแผนที่จะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น โอนเงินทั้งในและต่างประเทศ, จ่ายเงินที่ร้านค้าผ่าน QR PromptPay, ชำระบิลค่าไฟ, เติมเงินมือถือ และบริการอื่นๆ ให้จบในแอปเดียว

 

บทสรุปของเรื่องราว e-Wallet ในไทยยังคงเขียนไม่จบ สงครามยังไม่สิ้นสุด และคำถามสำคัญยังคงไร้คำตอบที่แน่ชัดว่า BigPay จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการ e-Wallet ไทยได้หรือไม่? หรือจะกลายเป็นเพียงแค่ ‘สีสัน’ ชั่วคราวที่ถูกกลืนหายไปในกระแส Mobile Banking และ PromptPay ที่แข็งแกร่ง?

 

อนาคตของ e-Wallet ไทยยังคงเป็นปริศนาที่รอการคลี่คลาย ความสำเร็จของ BigPay หรือผู้เล่นรายอื่นๆ อาจเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรืออาจเป็นเพียงบทเรียนราคาแพงที่ตอกย้ำความจริงที่ว่า e-Wallet ไทยยังไม่พร้อมสำหรับการแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว

 

 

เรื่อง: สรสิช ลีลานุกิจ, ถนัดกิจ จันกิเสน

The post e-Wallet ไทยยังไม่เกิด เพราะมี Mobile Banking และ PromptPay ขวางอยู่ แต่ทำไม BigPay จากมาเลเซียถึงกล้าบุกเข้ามา? appeared first on THE STANDARD.

]]>
จับตาดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยงถึงทางตัน หาก ธปท. ไม่ยอมให้บล็อกเชนเชื่อมกับระบบโอนเงินแบงก์พาณิชย์ หวั่นกระทบระบบการเงินประเทศ https://thestandard.co/digital-wallet-bot-blockchain-sync/ Fri, 09 Aug 2024 05:31:30 +0000 https://thestandard.co/?p=969328 ดิจิทัลวอลเล็ต

แม้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ห […]

The post จับตาดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยงถึงทางตัน หาก ธปท. ไม่ยอมให้บล็อกเชนเชื่อมกับระบบโอนเงินแบงก์พาณิชย์ หวั่นกระทบระบบการเงินประเทศ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ดิจิทัลวอลเล็ต

แม้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังเริ่มให้ประชาชนกลุ่มที่มีสมาร์ทโฟนที่สนใจเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2567

 

แต่ก็เริ่มมีคำถามว่าระบบ Payment ซึ่งจะใช้ในโครงการนี้ที่ยังไม่มีความชัดเจน จะกลายเป็นทางตันของโครงการนี้หรือไม่

 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ใช้ซูเปอร์แอปที่นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กำกับการทำงานของระบบ เพื่อควบคุมการใช้งานให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ดังนั้น รัฐบาลมีความจำเป็นในการนำบล็อกเชนมาใช้เพื่อควบคุมเงื่อนไขการใช้งานดิจิทัลวอลเล็ตของโครงการ เช่น รัศมีพื้นที่สามารถใช้ซื้อสินค้า การกำหนดกลุ่มสินค้าที่ห้ามซื้อ เช่น ห้ามนำไปซื้อเหล้าหรือลอตเตอรี่

 

ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้คาดว่าจะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา เนื่องจากระบบบล็อกเชนมีความแตกต่างกัน และเป็นคนละระบบกับการโอนและชำระเงินในปัจจุบันที่มีความเสถียร ซึ่งผ่านการทดสอบมายาวนานว่ามีความปลอดภัยสูง คือ ระบบบาทเนต (Bank of Thailand Automated High-value Transfer Network: BAHTNET) ที่ควบคุมโดย ธปท. ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อรองรับการโอนเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงินและสถาบันที่มีบัญชีเงินฝากกับ ธปท. ในลักษณะ Real-Time Gross Settlement (RTGS) และเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2538

 

ธีระชัยอธิบายต่อว่า หากจะนำบล็อกเชนมาใช้งานเชื่อมต่อระบบการโอนและชำระเงินดังกล่าว จะต้องเปิดอนุญาตให้ระบบบล็อกเชนเปรียบเสมือนทำหน้าที่เป็นยานแม่ที่คร่อมอยู่บนสุดของระบบ สามารถเจาะท่อเชื่อมต่อไปยังระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์อีกประมาณ 20 แห่งในประเทศไทยที่เปรียบเสมือนยานลูก โดยบล็อกเชนสามารถสั่งการระบบคอมพิวเตอร์ของยานลูกได้ทั้งหมดในการทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ซึ่งอาจสร้างความกังวลให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าของระบบคอมพิวเตอร์ว่าจะมีความปลอดภัยมากเพียงพอไม่ 

 

เนื่องจากยังไม่ได้ทดสอบยาวนานเพียงพอจนสร้างความมั่นใจได้ว่าระบบปลอดภัยและเสถียรมากเพียงพอ รวมถึงต้องมีระบบป้องกันการถูกแฮ็กข้อมูลของลูกค้าจากภายนอกด้วย ส่งผลให้ธนาคารต่างๆ มีความกังวลในการเชื่อมต่อกับระบบบล็อกเชนของรัฐบาล

 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย



“คิดว่ารัฐบาลอาจจะต้องมาค้ำประกันให้กับธนาคารพาณิชย์กับลูกค้าของธนาคารด้วย หากนำบล็อกเชนมาต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารแล้วเกิดความเสียหายกับธนาคาร เช่น ข้อมูลถูกแฮ็ก หรือเกิดกรณีลูกค้าถูกดูดขโมยเงินจากบัญชี”

 

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ในฐานะรองผู้ว่าการ ธปท. ยังเห็นความเสี่ยงของระบบบล็อกเชนต่อระบบการเงินของประเทศ ดังนั้น คาดว่า ธปท. ในฐานะองค์กรที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ อาจไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์นำระบบคอมพิวเตอร์ไปเชื่อมต่อกับระบบบล็อกเชนของรัฐบาลที่ยังไม่ผ่านการทดสอบจนมั่นใจว่าปลอดภัยและมีเสถียรภาพ เพราะจะถือเป็นความเสี่ยงต่อภาพรวมของระบบการโอนและชำระเงินทั้งหมดของประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ เช่น การโอนเงินซื้อ-ขายหุ้น, การโอนรับจ่ายเงินชำระค่าสินค้านำเข้าหรือส่งออก หากเกิดปัญหาในอนาคตจะมีผลกระทบให้ระบบโอนชำระเงินต้องหยุดชะงักทั้งหมดเพื่อตรวจสอบและแก้ปัญหา

 

“ส่วนตัวผมในฐานะคนที่เคยทำงานแบงก์ชาติเห็นว่ามีความเสี่ยงที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจมาถึงทางตันที่ผ่าไม่ออก เพราะแบงก์ชาติเองก็น่าจะมองออกว่าประเด็นนี้อาจเป็นปัญหาใหญ่ต่อภาพรวมระบบการโอนเงินหรือ Payment ของประเทศ ตอนนี้เหมือนรัฐบาลอยู่บนทาง 2 แพ่ง ถ้าจะไปบล็อกเชนก็เสี่ยงจะเจอทางตัน แต่เลือกแจกเงินธรรมดาก็อาจควบคุมเงื่อนไขโครงการไม่ได้”

 

ธีระชัยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า ควรนำข้อท้วงติงหรือข้อสังเกตต่างๆ ก่อนหน้านี้ของ ธปท. เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อหาทางแก้ไขที่ชัดเจน รวมถึงรัฐบาลควรเร่งหารือกับ ธปท. เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบการโอนและชำระเงินของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เคยหารือกับ ธปท. ในประเด็นปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เห็นทิศทางความชัดเจนของโครงการนี้ในระยะข้างหน้า 

 

สมาคมธนาคารไทยร่วมกับรัฐบาลเร่งศึกษา Open Loop เชื่อมระบบแจกเงินดิจิทัล 

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่รัฐบาลอนุญาตให้ธนาคารเชื่อมต่อระบบการใช้จ่าย (Open Loop) ในโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และมีข้อกังวลว่าข้อมูลจะรั่วไหลนั้น ล่าสุดรัฐบาลยังอยู่ระหว่างเร่งศึกษาระบบ และคณะทำงานเรื่องระบบชำระเงินของสมาคมธนาคารไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าไปร่วมกันเร่งดำเนินการศึกษาระบบด้วย แต่เข้าใจว่ามีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA พัฒนาระบบอยู่แล้วในเบื้องต้น 

 

และได้นำคำแนะนำและข้อกังวลจากหลายฝ่าย ทั้งสมาคมธนาคารไทยและสมาคมสถาบันการเงินของรัฐมาถกกันในการประชุมเพื่อพัฒนาระบบให้รัดกุม

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่อง Open Loop อาจต้องแปลความ เพราะเรามี Central Payment Engine หรือเครื่องมือชำระเงินกลางอยู่ ซึ่งมีกฎกติกามากมาย โดยคำว่า Open คือช่องทางให้ผู้ใช้เงินและรับเงินได้หลายช่องทาง เชื่อมต่อกันเป็นทอดๆ แต่ในส่วนของระบบหลักยังต้องใช้ส่วนกลาง ซึ่ง สพร. ดูแลทั้งหมด ในเรื่อง Payment Platform ส่วนนี้ธนาคารไม่ได้ดู

 

ดิจิทัลวอลเล็ต

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย

 

นอกจากนี้ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังมีความน่ากังวล โดยเฉพาะตัวเลขหนี้เสีย (NPL) ซึ่งการรายงานโดยเครดิตบูโรยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนพฤษภาคมสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% สะท้อนภาพการฟื้นตัวของรายได้ที่ยังไม่ทั่วถึง

 

โดยมองว่ามาตรการหนี้ครัวเรือนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ ขณะเดียวกันเราก็มีเครื่องมืออยู่ แต่ต้องยอมรับว่าเรามีหนี้ในระบบและนอกระบบ ซึ่งมีหลายมิติ และสหกรณ์ยังอยู่ในระบบเพียง 7 แห่ง ยังมีอีกหลายร้อยแห่งที่ไม่อยู่ในระบบ

 

ดังนั้น ธนาคารจึงต้องนำเครื่องมือทดแทนเข้ามาจัดการระบบ ขณะเดียวกันมาตรการใช้ชีวิตประจำวันที่มีการผ่อนดอกเบี้ยที่เกิดจากการรวมหนี้ก็ดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ผ่านเม็ดเงินสู่ระบบยั่งยืน ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะเศรษฐกิจภาพใหญ่ไม่ดี 

 

‘ประกิต’ มองดิจิทัลวอลเล็ตอาจกลายเป็นกับดักทางนโยบาย

 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้คือ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่อาจกลายเป็นกับดักทางนโยบาย (Policy Trap) ซึ่งทำให้หุ้นไทยไม่น่าดึงดูดแม้หุ้นโลกกำลังปรับฐาน

 

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์

 

“ส่วนตัวมองว่าดิจิทัลวอลเล็ตไม่น่าจะเบิกจ่ายได้ทันภายในปลายปีนี้ เพราะติดเรื่องระบบ การลงทะเบียนเป็นแค่การเช็กชื่อว่าจะมีใครได้สิทธิบ้าง และตรวจสอบให้แน่ชัดว่างบประมาณที่ต้องใช้จะไม่เกิน 4.5 แสนล้านบาท ก่อนที่จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม”

 

แต่ปัญหาหลักในปัจจุบันคือระบบที่ใช้เบิกจ่ายยังไม่พร้อม และยังอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วระบบในลักษณะนี้ที่จะต้องนำไปเชื่อมต่อกับระบบของธนาคารพาณิชย์ ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อทดสอบให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยมากเพียงพอ

The post จับตาดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยงถึงทางตัน หาก ธปท. ไม่ยอมให้บล็อกเชนเชื่อมกับระบบโอนเงินแบงก์พาณิชย์ หวั่นกระทบระบบการเงินประเทศ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศรีสุวรรณยื่นฟ้องศาลปกครอง เอาผิดนายกฯ-​ครม. เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ว่าขัดต่อ กม. ทำคนไทยแบกรับหนี้สิน พร้อมขอระงับโครงการ https://thestandard.co/srisuwan-sues-government-digital-wallet/ Fri, 09 Aug 2024 05:25:20 +0000 https://thestandard.co/?p=969315 ศรีสุวรรณ จรรยา

วันนี้ (9 สิงหาคม) ที่ศาลปกครองกลาง ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้ […]

The post ศรีสุวรรณยื่นฟ้องศาลปกครอง เอาผิดนายกฯ-​ครม. เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ว่าขัดต่อ กม. ทำคนไทยแบกรับหนี้สิน พร้อมขอระงับโครงการ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศรีสุวรรณ จรรยา

วันนี้ (9 สิงหาคม) ที่ศาลปกครองกลาง ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เดินทางมาศาลปกครองเข้ายื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยขอให้ระงับโครงการ พร้อมขอสั่งคุ้มครองชั่วคราว

 

ศรีสุวรรณกล่าวว่า มีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยเนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้จำนวนเงินมหาศาล ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวหากไปใช้ในโครงการพัฒนาอื่นๆ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า แต่หากนำมาแจกให้กับบุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะทำให้ผู้ที่ได้รับเงินและผู้ที่ไม่ได้รับจ่ายเงินจะต้องมาร่วมชดใช้หนี้สิน เพราะเงินดังกล่าวนอกจากจะมาจากภาษีประชาชนแล้ว ยังมาจากเงินกู้ที่จะต้องชำระดอกเบี้ยด้วย

 

ทั้งที่สถานภาพทางเศรษฐกิจ​ตอนนี้ทุกคนต้องแบกรับภาระหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 70% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงหลายหน่วยงานออกมายืนยันว่า การดำเนินการโครงการดิจิทัล10,000 บาท จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ 0.6-0.9% เท่านั้น และเกิดในระยะเวลาที่สั้นๆ แต่หลังจากนั้นภาระหนี้สินของประเทศก็จะเพิ่มมากขึ้น

 

ดังนั้นการที่รัฐบาลไม่ฟังเสียงท้วงติงของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการ รวมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง แต่กลับพยายามจะผลักดันโครงการอย่างถูลู่ถูกัง ทำให้หลายคนมองว่าเรื่องนี้ส่อว่าจะขัดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.เงินตรา รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับเงินสำรองงบประมาณ หากไม่หยุดโครงการนี้คนไทยทุกคนก็จะร่วมกันรับผิดชอบ

 

ศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า ตนจึงเดินทางมาเพื่อขอให้ศาลสั่งระงับโครงการดังกล่าว หรือหากรัฐบาลเดินหน้าโครงการนี้ต่อ ก็ให้ไปปรับเงื่อนไขตามคำแนะนำของหลายองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางคนยากคนจนที่ถือบัตรสวัสดิการ​แห่งรัฐ ที่มีประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งจะใช้เม็ดเงินไม่มากและไม่เป็นภาระสำหรับงบประมาณที่จะใช้ไปพัฒนาโครงการอื่นๆ

 

ศรี​สุวรรณ​ยังกล่าวด้วยว่า แม้รัฐบาลจะมีการปรับที่มาของเงิน โดยออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 ที่เพิ่งผ่านสภา งบประมาณ 1.22 แสนล้านบาท บางส่วนเป็นเงินกู้ ไม่ใช่มาจากงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลพยายามใช้เทคนิคในการสอดไส้ และอ้างว่าไม่ใช่เงินกู้ แต่ความเป็นจริงแล้วมันคือเงินกู้ ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งได้ทำวิจัย เพราะว่าคนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้แท้ที่จริงแล้วอาจไม่ใช่ผู้ค้ารายเล็ก แต่จะเป็นประโยชน์ต่อร้านสะดวกซื้อที่กระจายตัวอยู่นับหมื่นแห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นของนายทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองหรือนักการเมืองมาโดยตลอด โครงการนี้จึงอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่รัฐบาลโฆษณาชวนเชื่อมาโดยตลอด

 

ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยกรณีที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะส่งผลต่อโครงการดังกล่าวหรือไม่ ศรี​สุวรรณ​กล่าวว่า หากศาลมองว่าการที่เศรษฐาแต่งตั้งบุคคลที่มีลักษณะ​ต้องห้ามมาเป็นรัฐมนตรี จะส่งผลให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี​หลุดออกจากตำแหน่งทั้งหมด ส่งผลให้โครงการต่างๆ ของรัฐจะต้องถูกระงับไว้ก่อน เพื่อไปฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่หาก ครม.ชุดใหม่ยังมีแต่หน้าเดิมๆ ก็คงจะผลักดันโครงการนี้ต่อไป เพราะเป็นนโยบายของแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือหากศาลรัฐธรรมนูญ​วินิจฉัย​ว่าไม่มีความผิด รัฐบาลก็จะเดินหน้าโครงการนี้ต่ออย่างแน่นอน

 

ศรี​สุวรรณ​กล่าวอีกว่า หากศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็จะทำให้โครงการแจกเงินจะต้องหยุดลงเหมือนกับกรณีที่เคยยื่นฟ้องโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งศาลปกครองก็ให้การคุ้มครองชั่วคราว จนสุดท้ายโครงการนี้ก็ต้องยุติลง

The post ศรีสุวรรณยื่นฟ้องศาลปกครอง เอาผิดนายกฯ-​ครม. เดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ชี้ว่าขัดต่อ กม. ทำคนไทยแบกรับหนี้สิน พร้อมขอระงับโครงการ appeared first on THE STANDARD.

]]>
กระทรวงพาณิชย์เลื่อนแถลงลงทะเบียนร้านค้าเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เผยคนไทยแห่ลงทะเบียนแล้วกว่า 23.7 ล้านคน แจงแอป ‘ทางรัฐ’ ไม่รั่วไหล https://thestandard.co/postpone-the-announcement-of-registering-merchants/ Sun, 04 Aug 2024 09:46:48 +0000 https://thestandard.co/?p=967134

‘ภูมิธรรม’ เลื่อนแถลงลงทะเบียนร้านค้าเข้าร่วมดิจิทัลวอล […]

The post กระทรวงพาณิชย์เลื่อนแถลงลงทะเบียนร้านค้าเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เผยคนไทยแห่ลงทะเบียนแล้วกว่า 23.7 ล้านคน แจงแอป ‘ทางรัฐ’ ไม่รั่วไหล appeared first on THE STANDARD.

]]>

‘ภูมิธรรม’ เลื่อนแถลงลงทะเบียนร้านค้าเข้าร่วมดิจิทัลวอลเล็ตออกไปอีก 1 เดือน ระบุรอประชาชนลงทะเบียนบุคคลให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันความสับสน ขณะที่กระแสข้อติดขัดการเชื่อมโยงข้อมูลจากแอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ อาจทำให้เกิดความกังวล DGA ยืนยัน ข้อมูลประชาชนไม่รั่วไหล 

 

วันนี้ (4 สิงหาคม) รายงานข่าวระบุว่า ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่จังหวัดลำพูนว่า จะเลื่อนแถลงข่าว ‘ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ Digital Wallet’ ในวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคมนี้ ที่กระทรวงพาณิชย์ ออกไปประมาณเดือนกันยายน เนื่องจากไม่ต้องการให้ซ้ำซ้อน และอยากให้โฟกัสเรื่องการลงทะเบียนของประชาชนให้ผ่านไปก่อน อีกทั้งยังมีเวลาเพียงพอก่อนที่ทั้งโครงการจะครบทั้งระบบภายในเดือนตุลาคม ก่อนเริ่มโครงการได้ทันที

 

“กว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ตจะออกประมาณเดือนพฤศจิกายน และช่วง 1 ตุลาคมเป็นช่วงที่ลงทะเบียนร้านค้า ยังมีเวลาเหลืออีก 2 เดือน จึงเลื่อนการแถลงไปก่อน ไม่อยากให้สับสน เอาเรื่องคนลงทะเบียนให้จบ และจากนี้เอาเรื่องร้านค้ามาทีเดียว” ภูมิธรรมกล่าว

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดมีคนลงทะเบียนตรวจสอบตัวตนแล้วกว่า 23.7 ล้านคน (สถานะวันที่ 4 สิงหาคม 2567) 

 

อย่างไรก็ตาม ตามไทม์ไลน์ วันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา นับเป็นวันที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนสิทธิโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นวันแรกผ่านแอปทางรัฐ และจะปิดการลงทะเบียนในวันที่ 15 กันยายน 2567 โดยไม่มีการจำกัดจำนวนประชาชนที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิ

 

โครงการนี้รัฐบาลคาดหมายจะมีคนลงทะเบียนไม่ต่ำกว่า 45-50 ล้านคน เพื่อนำไปจัดทำงบประมาณเหลื่อมปี 2567 

 

ขณะที่กระแสของโลกออนไลน์กังวลเกี่ยวกับการลบแอปทางรัฐและข้อมูลรั่วไหลนั้น DGA Thailand โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า หากเผลอลบแอปโดยที่ไม่เคยยืนยันตัวตนและสมัครสมาชิกแอปทางรัฐก่อนวันที่ 1 สิงหาคม จะทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบและตรวจสอบสถานะการรับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ตได้ชั่วคราว DGA ยืนยันว่า หากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ถือว่าระบบได้รับข้อมูลการลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตของท่านแล้ว ในเร็วๆ นี้ DGA จะเปิดให้ท่านสมัครสมาชิกและยืนยันตัวตน

 

ล่าสุด DGA ออกมาระบุอีกครั้งว่า แอปทางรัฐมีความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลสูงด้วยมาตรฐานระดับโลก ขอให้เชื่อมั่น ติดตั้งแอปผ่าน App Store และ Play Store เท่านั้น

 

แอปทางรัฐเป็นแอปของภาครัฐที่พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชนที่มีการเชื่อมข้อมูลและบริการจากส่วนราชการต่างๆ มาไว้ในแอปเดียวอย่างสะดวกและตรวจสอบได้ รวมถึงเป็นช่องทางในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

 

ดังนั้น การที่ประชาชนจะเข้าใช้งานแอปทางรัฐ จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าผู้ที่กำลังจะเข้าใช้งานแอปทางรัฐเป็นประชาชนตัวจริงหรือไม่ 

 

ในปัจจุบัน แอปทางรัฐเป็นเพียงช่องทางเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจากหน่วยงานต้นทาง โดยไม่ได้เก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทางมาไว้ที่แอปทางรัฐแต่อย่างใด และข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปทางรัฐสามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูลและผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น

 

อ้างอิง:

The post กระทรวงพาณิชย์เลื่อนแถลงลงทะเบียนร้านค้าเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เผยคนไทยแห่ลงทะเบียนแล้วกว่า 23.7 ล้านคน แจงแอป ‘ทางรัฐ’ ไม่รั่วไหล appeared first on THE STANDARD.

]]>
นายกฯ พอใจ ประชาชนตื่นตัวลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตวันแรก 18.3 ล้านคน ด้านภูมิธรรมเชื่อ ตอบโจทย์แก้ความเดือดร้อน https://thestandard.co/thai-people-interested-registering-digital-wallets/ Fri, 02 Aug 2024 03:55:08 +0000 https://thestandard.co/?p=966405

วันนี้ (2 สิงหาคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงก […]

The post นายกฯ พอใจ ประชาชนตื่นตัวลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตวันแรก 18.3 ล้านคน ด้านภูมิธรรมเชื่อ ตอบโจทย์แก้ความเดือดร้อน appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (2 สิงหาคม) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงทะเบียน โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในแอปพลิเคชันทางรัฐว่า ณ เวลา 06.00 น. ของวันนี้ มีผู้ลงทะเบียนถึง 18.3 ล้านคน สำหรับวันแรกไม่ถึง 24 ชั่วโมงถือว่าเยอะมาก 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

 


 

ส่วนตัวเลขดังกล่าวจะสะท้อนความต้องการของประชาชนและตัวเลขทางเศรษฐกิจใดบ้างหรือไม่ ตนเชื่อว่าสามารถบ่งบอกได้หลายอย่าง เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความตื่นตัวและเข้าใจดีขึ้น และแอปพลิเคชันก็มีความเสถียร แต่แน่นอนว่าเรื่องการทุจริตหรือความไม่ถูกต้องเราก็ให้ความสำคัญ 

 

ส่วนจะป้องกันอย่างไรหลังมีกระแสข่าวว่ามีการเตรียมแลกเงินดิจิทัลเป็นเงินสดนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราก็มีวิธีการป้องกัน โดยในเวลา 11.00 น. ของวันนี้ก็จะไปตรวจเยี่ยมที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พบกับ พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และหารือในเรื่องดังกล่าว ขณะที่แอปพลิเคชันปลอมก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และตำรวจสอบสวนกลางก็จะช่วยกันดูแลเรื่องนี้ 

 

ส่วนความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคลของแอปพลิเคชันทางรัฐที่ประชาชนหลายคนหวั่นข้อมูลจะรั่วไหล นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “มั่นใจครับ ตรงนี้มั่นใจครับ” 

 

เมื่อถามว่า งบประมาณผ่านสภาแล้ว แต่จะมีผู้ไปยื่นร้องศาลปกครอง ทำให้โครงการนี้สะดุดหรือไม่ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า มั่นใจในความสุจริต และมั่นใจในที่มาที่ไปของโครงการนี้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องตอบทุกข้อสงสัยขององค์กรอิสระทั้งหลาย ส่วนไทม์ไลน์จะสะดุดหรือช้าลงหรือไม่ ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นอะไร และขออย่าไปคาดเดาว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น หากเกิดขึ้นก็จัดการกับมันไป

 

5 สิงหาคม ชัดเจนรายละเอียดร้านค้า 

 

ด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องการแถลงข่าวโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคมนี้ว่า จะทำให้เห็นไทม์ไลน์ชัดขึ้น ในส่วนของร้านค้า คาดว่าจะสามารถนำร้านค้าเข้าระบบได้ประมาณ 2 ล้านร้านค้า ซึ่งเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงหาบเร่-แผงลอย

 

เมื่อเสร็จกระบวนการก็จะสรุปจำนวนร้านค้าได้ ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือต้องทำให้ร้านค้าเชื่อมโยงกับประชาชนและเชื่อมโยงกับธนาคารทั้งหมด โดยให้รอฟังรายละเอียดทั้งหมดในวันที่ 5 สิงหาคม รวมถึงการเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้าอย่างเป็นทางการ 

 

มั่นใจตอบโจทย์แก้ความเดือดร้อนประชาชน

 

ภูมิธรรมกล่าวอีกว่า จากการลงทะเบียนของประชาชนสะท้อนว่าประชาชนกำลังเดือดร้อนหนักจริงๆ ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ดิจิทัลวอลเล็ตจะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ เพราะฉะนั้นเงินที่แจกไปไม่ใช่เงินแจกเปล่า แต่เป็นเครื่องมือที่จะทำให้ประชาชนเข้าร่วมการกระตุ้นเศรษฐกิจ

The post นายกฯ พอใจ ประชาชนตื่นตัวลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตวันแรก 18.3 ล้านคน ด้านภูมิธรรมเชื่อ ตอบโจทย์แก้ความเดือดร้อน appeared first on THE STANDARD.

]]>