World – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 21 Nov 2024 06:50:37 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเคียฟกลับมาเปิดอีกครั้ง หลังปิดชั่วคราวจากเหตุโจมตีทางอากาศรุนแรง https://thestandard.co/us-embassy-kyiv-shuts-down-over-anticipated-air-attack/ Thu, 21 Nov 2024 06:50:37 +0000 https://thestandard.co/?p=1011136 สถานทูตสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกาได้กลับมาเปิดสถานทูตในกรุงเคียฟเมื่อวานนี้ […]

The post สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเคียฟกลับมาเปิดอีกครั้ง หลังปิดชั่วคราวจากเหตุโจมตีทางอากาศรุนแรง appeared first on THE STANDARD.

]]>
สถานทูตสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกาได้กลับมาเปิดสถานทูตในกรุงเคียฟเมื่อวานนี้ (20 พฤศจิกายน) หลังจากปิดให้บริการในช่วงเช้าของวันเดียวกันเนื่องจากมีภัยคุกคามจากการโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ที่ได้รับจากสหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายในรัสเซีย

 

ทั้งนี้ บริดเจ็ต เอ บริงค์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครน ได้แนะนำให้พลเมืองสหรัฐฯ ในยูเครนเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมสำหรับการหลบภัยหากมีสัญญาณเตือนภัยทางอากาศ

 

ก่อนหน้านี้สถานทูตได้ปิดชั่วคราวเนื่องจากภัยคุกคามต่อกรุงเคียฟ ขณะที่สถานทูตอิตาลีและกรีซก็ปิดให้บริการเช่นกัน ส่วนสถานทูตฝรั่งเศสยังคงเปิด แต่เตือนพลเมืองให้ระมัดระวัง

 

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน เตือนประชาชนให้ปฏิบัติตามคำเตือนภัยทางอากาศ และกล่าวว่า “ข้อความที่สร้างความตื่นตระหนกคือการช่วยเหลือรัสเซียเท่านั้น แต่เราควรให้ความสำคัญกับคำเตือนเพื่อความปลอดภัย”

 

ขณะที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (19 พฤศจิกายน) ยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธ ATACMS โจมตีคลังอาวุธในรัสเซีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้ขีปนาวุธนี้โจมตีเป้าหมายในรัสเซียได้ โดยรัสเซียระบุว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นการยกระดับสงคราม ขณะที่หน่วยข่าวกรองของยูเครนกล่าวหารัสเซียว่าเผยแพร่ข้อความปลอมเพื่อสร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม สงครามที่ยืดเยื้อมาถึงวันครบรอบ 1,000 วันยังคงตึงเครียด โดยทั้งสองฝ่ายได้เพิ่มระดับความรุนแรงในปฏิบัติการ และรัสเซียยังคงใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายภายในยูเครนอย่างต่อเนื่อง

 

ภาพ: Thomson Reuters / Reuters

อ้างอิง:

The post สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเคียฟกลับมาเปิดอีกครั้ง หลังปิดชั่วคราวจากเหตุโจมตีทางอากาศรุนแรง appeared first on THE STANDARD.

]]>
จุดประกาย ‘คน’ อาเซียน เปลี่ยนอนาคต เสวนาแลกเปลี่ยนมุ่งสู่วิสัยทัศน์ 2045 [ADVEROTIAL] https://thestandard.co/asean-vision-2045-dialogue/ Wed, 20 Nov 2024 08:00:01 +0000 https://thestandard.co/?p=1010403

เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับงานเสวนา ‘OUR ASEAN […]

The post จุดประกาย ‘คน’ อาเซียน เปลี่ยนอนาคต เสวนาแลกเปลี่ยนมุ่งสู่วิสัยทัศน์ 2045 [ADVEROTIAL] appeared first on THE STANDARD.

]]>

เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับงานเสวนา ‘OUR ASEAN VISION: FROM PEOPLE TO POWER จุดประกาย ‘คน’ อาเซียน เปลี่ยนอนาคต’ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็น 2 ช่วง (Session)

 

เวทีแรกเสวนาในหัวข้อ ‘Empowering People for ASEAN Beyond 2025 แผนพัฒนาคนเพื่อรองรับอาเซียนภายหลังปี 2568’ ดำเนินการเสวนาโดย ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD โดยมี วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย, พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน พร้อมด้วย จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และ อเล็กซ์ เรนเดลล์ ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย ร่วมพูดคุย

 

บางช่วงของการพูดคุย วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ชี้ว่า ไทยกำลังประสบปัญหาใหญ่ เนื่องจากขณะนี้ประชากรไทยราว 20% อายุเกิน 60 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นฐานประชากรที่สำคัญของไทย อีกทั้งอุตสาหกรรมที่ไทยต้องการดึงนักลงทุนเข้ามาก็ต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถ ดังนั้นการพัฒนาคนจึงเป็นกุญแจสำคัญของทั้งไทยรวมถึงอาเซียนด้วย 

 

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ ระบุว่า ในประเด็นเรื่องของคน ไทยมีปัญหาในมิติเชิงปริมาณรวมถึงคุณภาพและทักษะ เนื่องจากคนเกิดใหม่น้อย ทักษะแข่งขันไม่ได้ กลายเป็นสังคมแก่ก่อนรวย อีกทั้งการศึกษาไทยก็ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยพริษฐ์ยังเสนอการแก้ไขปัญหาทักษะของคนผ่านกลไกอาเซียน เช่น Teacher Swaps แลกเปลี่ยนคุณครูในอาเซียน เพื่อส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษ, High Tech – High Touch ผ่านการแลกทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะในมิติเทคโนโลยี และ Care Economy ผ่านการดึงบุคลากรที่มีความสามารถจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแก้ไขปัญหาความต้องการทางการแพทย์ที่มีมากกว่าบุคลากรทางการแพทย์ภายในประเทศ

 

ขณะที่ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา กล่าวว่า โอกาสของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จะเป็นไปได้มากขึ้น โดยอายุเฉลี่ยของคนทำงานจะยาวขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนอายุยืนขึ้น ทำให้ 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยอาจไม่เพียงพอที่จะเตรียมตัวสู่โลกการทำงานในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ดังนั้นการเพิ่มทักษะใหม่ๆ และการฟื้นฟูทักษะต่างๆ จำเป็นสำหรับทุกๆ คน และภายใต้กรอบ DEFA ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จะเกิดการเคลื่อนย้ายของคนและ Payment ทั่วอาเซียน สิ่งหนึ่งที่ไทยต้องเตรียมพร้อมคือ การเดินหน้าสนับสนุนสินค้าที่จับต้องไม่ได้ เช่น AI หรือ Digital Trade ให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากภาคเศรษฐกิจดิจิทัลเหล่านี้จะเติบโตขึ้นและสร้างเม็ดเงินมหาศาล

 

ส่วน อเล็กซ์ เรนเดลล์ ชี้ว่า โลกกำลังประสบ 3 วิกฤตใหญ่ ทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤตมลพิษ ซึ่งล้วนสร้างความท้าทายต่อการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) อย่างมาก และกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงจุดแข็งของอาเซียนที่มีความสวยงามทางระบบนิเวศ อาเซียนจึงควรเป็นผู้นำการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Tourism)

 

ส่วนเวทีที่ 2 เป็นการเสวนาในหัวข้อ ‘Positioning Thailand Amidst Changes and Opportunities ทิศทางไทยท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและโอกาส’ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ดำเนินรายการ 8 Minute History และ Morning Wealth โดยมี รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ Fellow สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ และ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move), ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและความยั่งยืน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน

 

โดย รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ชี้ว่า โลกในยุคสงครามเย็น 2.0 มีความท้าทายต่างๆ มากมาย เกิดการแข่งขันกันระหว่างโลกเหนือและโลกใต้ ภายใต้การนำของสองมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยเฉพาะในมิติของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ รวมถึงมิติที่เป็นดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น แรงกระเพื่อมนี้ส่งผลต่อประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยทักษะสำคัญที่ทุกคนพึงมีท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้คือทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)

 

ด้าน ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร แสดงความเห็นว่า ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะทำให้สถานการณ์การเมืองโลกเปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเฉพาะต้นปี 2025 ในยุคทรัมป์ 2.0 โดยอาเซียนอาจเป็นภูมิภาคที่ ‘เจ็บหนัก’ และได้รับผลกระทบมากที่สุดจากความเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะกำลังจะถูก 3 แรงบีบ ได้แก่ แรงบีบจากตลาดสหรัฐฯ ที่กำลังจะดำเนินนโยบายขึ้นภาษีบรรดาประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือไทย (อันดับที่ 12), แรงบีบจากตลาดจีนที่เตรียมมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้ไทยและอาเซียนเข้าไปแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้ยาก และแรงบีบจากตลาดอื่นๆ ทั่วโลกที่จะทำให้เกิดโลกาภิวัตน์ใหม่ที่ไม่นับรวมสหรัฐฯ และจีน ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์กับตลาดใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยตลาดอาเซียนอาจกลายเป็นหัวใจของโลกาภิวัตน์ที่เหลืออยู่

 

ขณะที่ ดร.ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ระบุว่า ปัญหาเมียนมาเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับไทยและอาเซียน จึงเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) เช่น การไม่มองปัญหานี้เป็นภัยคุกคาม แต่มองหาจุดที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และการมองปัญหาเมียนมาในเชิงปัญหาด้านมนุษยธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ดร.ฟูอาดี้ ยังมองว่า การวางตัวเองเป็น Adapter จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างประโยชน์ให้ไทยและอาเซียนท่ามกลางการแข่งขันของมหาอำนาจได้ โดยไทยเป็นมหาอำนาจขนาดกลางที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ไทยมักมองตนเองเป็นรัฐขนาดเล็ก การปรับเปลี่ยนมุมมองจุดนี้อาจช่วยให้ไทยกล้าที่จะแสดงจุดยืนในเรื่องต่างๆ มากยิ่งขึ้น อย่างที่สิงคโปร์กล้าแสดงความเห็นต่างต่อจุดยืนของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน

 

ส่วน ผศ.ชล บุนนาค ชี้ว่า เทคโนโลยีสีเขียวเป็นคีย์สำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) มาสู่พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาเซียนขณะนี้กำลังมุ่งส่งเสริมเรื่องพลังงานทดแทน แต่การลงทุนยังค่อนข้างน้อย เนื่องจากคำว่า ‘สีเขียว’ (Green) มีราคาแพงและมีต้นทุนสูง การทำสิ่งนี้ให้ถูกลงและเข้าถึงผู้คนกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยใช้องค์กรอาเซียน (ASEAN) เป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปและเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่มีความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นในอนาคต ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

 

ย้อนชมงานเสวนา ‘OUR ASEAN VISION: FROM PEOPLE TO POWER จุดประกาย ‘คน’ อาเซียน เปลี่ยนอนาคต’ ได้ที่: https://www.facebook.com/ThaiMFA/videos/584837757558684 

 

The post จุดประกาย ‘คน’ อาเซียน เปลี่ยนอนาคต เสวนาแลกเปลี่ยนมุ่งสู่วิสัยทัศน์ 2045 [ADVEROTIAL] appeared first on THE STANDARD.

]]>
13 พันธมิตรใหม่ BRICS กับความสำคัญเชิงภูมิศาสตร์-ยุทธศาสตร์ https://thestandard.co/13-new-brics-partners/ Wed, 20 Nov 2024 07:51:37 +0000 https://thestandard.co/?p=1010704

BRICS ขยายพาร์ตเนอร์เพิ่มอีก 13 ประเทศ รวมถึงไทย โดย รศ […]

The post 13 พันธมิตรใหม่ BRICS กับความสำคัญเชิงภูมิศาสตร์-ยุทธศาสตร์ appeared first on THE STANDARD.

]]>

BRICS ขยายพาร์ตเนอร์เพิ่มอีก 13 ประเทศ รวมถึงไทย โดย รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน มองว่าพาร์ตเนอร์ใหม่ BRICS ล้วนมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ หรือแหล่งทรัพยากรสำคัญที่ป้อนอุตสาหกรรมใหม่ๆ

 

ในอีกมุมหนึ่ง การเลือกพาร์ตเนอร์ BRICS รอบนี้ยังสะท้อนการเชื่อมหมากในกระดานหมากล้อม ที่จีนพยายามแก้เกมปิดล้อมในทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก

 

 

แอลจีเรียมีทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เดิมมีลูกค้าพลังงานรายใหญ่คือฝรั่งเศส แต่เริ่มรู้สึกว่าไม่แฟร์ จึงกระจายความเสี่ยงไปคบกับจีน

 

 

ไนจีเรีย เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุด และมีตัวเลข GDP สูงที่สุดในทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังเป็นประตูสู่แอฟริกาตะวันตก และประตูสู่พื้นที่รอยต่อทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา และเหนือพื้นที่สีเขียวของแอฟริกาที่เรียกว่าเข็มขัดซาเฮล

 

 

ยูกันดาเป็นประตูสู่แอฟริกาตะวันออก มีทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์

 

 

โบลิเวียเป็นประเทศที่มีแหล่งแร่ลิเธียมมากที่สุดในโลก ซึ่งจะเป็นหลักประกันในการป้อนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของจีนตามแผนยุทธศาสตร์ 3 ขั้น

 

 

คิวบาเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ของ BRICS ด้วยเหตุผลด้านทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ เพื่อจ่อคอหอยอเมริกา โดยที่ผ่านมาเคยมีบทบาทสำคัญจากวิกฤตการณ์คิวบาปี 1962 ที่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต หลังสหรัฐฯ นำขีปนาวุธไปติดตั้งในตุรกีและเล็งไปที่มอสโก รัสเซียจึงขนขีปนาวุธไปคิวบาจนเกิดวิกฤตการณ์ขึ้น

 

 

เบลารุสเป็นรัฐกันชนรัฐสุดท้ายของรัสเซีย (รัสเซียมี 3 แนวกันชน แนวแรกคือ ลัตเวีย, ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย ซึ่งเป็น NATO ทั้งหมด แนวที่ 2 ที่อยู่ใต้ลงมาคือ เบลารุส และใต้ลงมาอีกคือยูเครน) โดยมีความสำคัญในเชิงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ทำให้รัสเซียและ BRICS ต้องพยายามชิงเบลารุสให้ได้ก่อน

 

 

ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมเอเชียและยุโรป การได้ตุรกีเป็นพาร์ตเนอร์ยังได้ประโยชน์ในแง่การ PR ว่า BRICS เป็นความร่วมมือที่เปิดกว้างจริงๆ และโฟกัสเรื่องเศรษฐกิจ เพราะตุรกีเป็นสมาชิก NATO ซึ่งแม้ NATO จะขัดแย้งกับรัสเซีย แต่ก็สามารถร่วมมือกันทางเศรษฐกิจได้ ขณะที่จีนเองก็ไปลงทุนในตุรกีผ่านโครงการ BRI ในการเชื่อมจากตุรกีไปยุโรป โดยมองเป็นเส้นทางสายไหมทางบกทางด้านใต้

 

 

คาซัคสถานมีความสำคัญจากการเป็นประเทศที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรปทางตอนกลาง และอยู่ในเส้นทางสายไหมตอนกลางที่ทอดจากนครซีอานของจีน

 

 

อุซเบกิสถานเป็นจุดศูนย์กลางของเอเชียกลาง และมีแหล่งแร่ธาตุเยอะ รวมทั้งอยู่ในเส้นทางสายไหมตอนกลางที่ทอดจากนครซีอานของจีน

 

 

ไทยถือเป็นศูนย์กลางอาเซียนภาคพื้นทวีป มีความสำคัญในแง่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่คำถามสำคัญคือไทยจะได้อะไรจาก BRICS นั้น ยังคงเป็นเรื่องของความร่วมมือในทุกมิติ ต่างจากเขตการค้าเสรีที่มีข้อผูกมัด โดย BRICS เน้นเปิดพื้นที่เพื่อให้แต่ละประเทศมาให้สิทธิประโยชน์และให้สิทธิพิเศษระหว่างกัน แต่มีจุดต่างระหว่างการเป็นสมาชิกเต็มตัวกับประเทศพาร์ตเนอร์ โดยสมาชิกดั้งเดิมมีสิทธิพิเศษในการนำเสนอประเด็นใหม่ๆ ส่วนพาร์ตเนอร์ยังไม่แน่ชัดว่าจะได้สิทธิประโยชน์อะไรจากแหล่งเงินกู้ในธนาคาร New Development Bank หรือไม่

 

 

อินโดนีเซียเป็นแหล่งทรัพยากร (นิกเกิล) มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ และตลาดแรงงานมหาศาล อีกทั้งยังมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่การรวมกลุ่มมุสลิม

 

 

มาเลเซียมีศักยภาพในการเป็นฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต นอกเหนือจากการเป็นแหล่งสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันปาล์ม และอิเล็กทรอนิกส์ โดยเมื่อพิจารณาว่าผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ย้ายฐานออกจากไต้หวันจะไปไหน คำตอบคือไป 4 ที่ ได้แก่ มาเลเซีย, สิงคโปร์, เท็กซัส และแอริโซนา จีนจึงจำเป็นต้องมีมาเลเซีย

 

 

เวียดนามมีศักยภาพ เศรษฐกิจโตเร็ว เป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียน โดยจีนเองอยากให้อินเดียมองเวียดนามเป็นตัวอย่าง จากการที่มีพรมแดนติดกับจีนเหมือนกัน และมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนเหมือนกัน แต่จีนกับเวียดนามสามารถทำมาค้าขายกันได้ และเวียดนามยังเปิดประตูให้จีนเข้าไปลงทุนอย่างมหาศาล แม้มีปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอยากใช้โมเดลนี้กับอินเดียเช่นกัน 

The post 13 พันธมิตรใหม่ BRICS กับความสำคัญเชิงภูมิศาสตร์-ยุทธศาสตร์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ยูเครนใช้ขีปนาวุธสหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายในรัสเซียเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1,000 ของสงคราม https://thestandard.co/ukraine-hits-russia-with-us-atacms-missiles/ Wed, 20 Nov 2024 04:28:38 +0000 https://thestandard.co/?p=1010614 ขีปนาวุธสหรัฐ

ยูเครนใช้ ‘ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพบก’ (Army Tacti […]

The post ยูเครนใช้ขีปนาวุธสหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายในรัสเซียเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1,000 ของสงคราม appeared first on THE STANDARD.

]]>
ขีปนาวุธสหรัฐ

ยูเครนใช้ ‘ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพบก’ (Army Tactical Missile System: ATACMS) ซึ่งเป็นระบบขีปนาวุธพิสัยไกลที่ผลิตโดยสหรัฐอเมริกาในการโจมตีเป้าหมายภายในดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1,000 ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลัง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจอนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธดังกล่าวได้

 

ด้านรัสเซียเผยว่า กองกำลังของตนยิงสกัดขีปนาวุธ ATACMS ได้ 5 จาก 6 ลูกที่ยูเครนยิงเข้าใส่เป้าหมายทางทหารแห่งหนึ่งในแคว้นเบรียนสก์ (Bryansk Oblast) ทางภาคตะวันตกของรัสเซีย ซึ่งห่างจากพรมแดนยูเครน-รัสเซียราว 110 กิโลเมตร ขณะที่ขีปนาวุธอีก 1 ลูกพุ่งชนกับโครงสร้างอาคารหลังหนึ่งและเกิดไฟลุกไหม้ ก่อนที่ทางการท้องถิ่นรัสเซียจะควบคุมความเสียหายไว้ได้ เบื้องต้นไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการโจมตีในครั้งนี้แต่อย่างใด

 

โดยไบเดนเพิ่งจะอนุมัติการใช้ขีปนาวุธดังกล่าวของสหรัฐฯ ภายในสัปดาห์เดียวกันนี้ เพื่อโจมตีเป้าหมายในรัสเซีย ขณะที่ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระบุว่า การใช้ขีปนาวุธ ATACMS เป็นสัญญาณแน่ชัดที่บ่งชี้ว่าชาติตะวันตกต้องการยกระดับสงครามและความขัดแย้ง

 

รัสเซียยังระบุอีกว่า อาวุธดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้หากปราศจากการสนับสนุนปฏิบัติการโดยตรงจากสหรัฐฯ และการใช้อาวุธเหล่านี้ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นคู่ต่อสู้โดยตรงในสงคราม ซึ่งกระตุ้นให้รัสเซียต้องตอบโต้

 

การโจมตีดังกล่าวมีขึ้นในวันที่ 1,000 ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังจากที่กองทัพรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 ซึ่งขณะนี้ดินแดนราว 1 ใน 5 ของยูเครนตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพรัสเซีย ท่ามกลางความกังวลใจของหลายชาติตะวันตกเกี่ยวกับอนาคตของยูเครน หาก โดนัลด์ ทรัมป์ หวนกลับคืนทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2025 เนื่องจากทรัมป์มีแนวโน้มที่จะยุติการสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย

 

แฟ้มภาพ: Oleg Petrasiuk / Press Service of the 24th King Danylo Separate Mechanized Brigade of the Ukrainian Armed Forces / Handout via Reuters

อ้างอิง:

The post ยูเครนใช้ขีปนาวุธสหรัฐฯ โจมตีเป้าหมายในรัสเซียเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1,000 ของสงคราม appeared first on THE STANDARD.

]]>
จับตาประชุม G20: การกลับมาของทรัมป์ อาจทำให้โลกแตกแยกมากขึ้น? https://thestandard.co/g20-meeting-trump-return-global-impact/ Tue, 19 Nov 2024 11:01:14 +0000 https://thestandard.co/?p=1010496 G20

บรรดาผู้นำและผู้แทนทั้ง 19 ประเทศ รวมถึงผู้นำสหภาพยุโรป […]

The post จับตาประชุม G20: การกลับมาของทรัมป์ อาจทำให้โลกแตกแยกมากขึ้น? appeared first on THE STANDARD.

]]>
G20

บรรดาผู้นำและผู้แทนทั้ง 19 ประเทศ รวมถึงผู้นำสหภาพยุโรป (EU) และสหภาพแอฟริกัน (AU) เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ครั้งที่ 19 ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2024 โดยมี ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล เป็นประธานการประชุมในปีนี้ 

 

ข้อมูลของธนาคารโลกและ World Economic Forum ระบุว่า สมาชิกกลุ่ม G20 ครอบคลุม 2 ใน 3 ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 85% ของ GDP โลก

 

ผู้เข้าร่วมการประชุม G20

 

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะพ้นวาระในวันที่ 20 มกราคม 2025 เข้าร่วมการประชุม G20 เป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่ เคลาเดีย ไชน์บัม ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเม็กซิโก เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระดับนานาชาติในครั้งนี้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เธอเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

 

ส่วน วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เป็นผู้นำประเทศสมาชิก G20 เพียงคนเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง เนื่องจากเกรงว่าเขาอาจถูกจับกุมตามการออกหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในข้อกล่าวหา ‘ก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน’ จึงส่ง เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมแทน

 

นอกจากผู้นำและผู้แทนจากกลุ่มสมาชิก G20 ทั้ง 21 แห่งแล้ว ยังมีผู้นำและผู้แทนอื่นๆ ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เช่น นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และมาเลเซีย, ประธานาธิบดีเวียดนาม, ผู้แทนระดับสูงจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เลขาธิการสหประชาชาติ, ประธานธนาคารโลก และกรรมการผู้จัดการกองทุน IMF 

 

วาระสำคัญในการประชุม G20

 

ผู้นำ G20 ออกแถลงการณ์ร่วมเน้นย้ำถึง ‘ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจากสงครามและความขัดแย้ง’ โดยเฉพาะสงครามในยูเครนและฉนวนกาซาที่กำลังเผชิญหน้ากับ ‘วิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่’ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งประสานความช่วยเหลือและคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่พลเรือน ควบคู่ไปกับการเจรจาหยุดยิง

 

ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม ยังได้ประกาศ ‘ต่อสู้กับความหิวโหยและความยากจน’ ผ่านการจัดตั้งเครือข่าย ‘Global Alliance Against Hunger and Poverty’ เพื่อร่วมรับมือกับปัญหานี้ทั่วโลก โดยชี้ว่า “ความหิวโหยและความยากจนไม่ได้เป็นผลมาจากความขาดแคลนหรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่เป็นผลลัพธ์ของการตัดสินใจทางการเมือง”

 

ในแถลงการณ์ร่วม ผู้นำกลุ่ม G20 ยังเห็นพ้องว่าโลกจำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการกำหนดเป้าหมายใหม่ทางการเงิน โดยประเทศร่ำรวยจะต้องจัดหาเงินสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนที่การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ หรือ COP29 ปีนี้ ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน จะปิดฉากลง

 

นอกจากนี้ที่ประชุม G20 ยังหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านการค้าและความมั่นคงระหว่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะหวนคืนทำเนียบขาวในเดือนมกราคม ปี 2025

 

แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน จะร่วมต่อสู้กับความหิวโหยและความยากจน รวมถึงให้คำมั่นสัญญาใหม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและการพัฒนา แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น และจะถูกลบล้างอย่างรวดเร็วหลังจากที่ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ 

 

ความกังวลต่อทรัมป์ 2.0 ในที่ประชุม G20

 

ที่ประชุม G20 ในปีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่มีต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางนโยบายสำคัญของสหรัฐฯ หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมกลับมากุมบังเหียนในการขับเคลื่อนสหรัฐฯ อีกครั้งในยุค ‘ทรัมป์ 2.0’ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2025 เป็นต้นไป โดยจุดยืนของทรัมป์ในการเพิ่มกำแพงภาษี แนวโน้มที่จะยุติการสนับสนุนยูเครนในสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการเคยถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ต่างสวนทางกับจุดยืนของกลุ่มความร่วมมือต่างๆ รวมถึงกลุ่ม G20 และแนวทางเหล่านี้จะสร้างความท้าทายให้กับประชาคมโลกอย่างมาก

 

ฆาเบียร์ มิเล ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา เจ้าของฉายา ‘ทรัมป์แห่งอาร์เจนตินา’ เป็นผู้นำประเทศคนแรกที่เดินทางเข้าพบทรัมป์ถึงที่ปาล์มบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งใหญ่นี้จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับมิเลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งสองคนมีแนวคิดและอุดมการณ์สอดคล้องกัน

 

นักการทูตบางคนถึงกับแสดงความกังวลว่า ‘แนวนโยบายโดดเดี่ยว’ (Isolationism) จากการถอนตัวจากกลุ่มความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะความตกลงปารีสของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้นำฝ่ายขวาของอาร์เจนตินาอย่างมิเลปฏิบัติตาม ซึ่งจะนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ในกลุ่มสมาชิก G20 

 

“สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้กลุ่มสมาชิกต่างต้องเผชิญหน้ากัน เพราะจุดยืนที่แตกต่างกัน แต่ทรัมป์จะยิ่งทำให้ความแตกแยกนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่มากขึ้นนี้หมายความว่าอำนาจและอิทธิพล (ของกลุ่ม G20) ก็จะลดน้อยลง”

 

นอกจากนี้การเตรียมกลับมาของทรัมป์ยังส่งสัญญาณให้เห็นถึงบรรยากาศการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจที่มีแนวโน้มดุเดือดและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดย สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ใช้โอกาสในการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้กระชับความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศ ‘โลกใต้’ (Global South) ผ่านการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ การลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ตลอดจนลดกำแพงภาษีและการค้าให้กับประเทศกำลังพัฒนา และประกาศว่าจีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อรักษาช่องทางการสื่อสาร ขยายความร่วมมือ และจัดการกับจุดยืนที่แตกต่างกันของทั้งสองประเทศ

 

ภาพ: Kevin Wurm  / Reuters, Ricardo Moraes / Reuters

อ้างอิง:

The post จับตาประชุม G20: การกลับมาของทรัมป์ อาจทำให้โลกแตกแยกมากขึ้น? appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทักษิณให้สัมภาษณ์ Nikkei Asia แนะมาตรการรับมือผลกระทบทรัมป์ 2.0 เผยยิ่งลักษณ์สามารถกลับไทยได้สงกรานต์ปีหน้า https://thestandard.co/thaksin-nikkei-interview-trump-impact-thailand/ Tue, 19 Nov 2024 03:58:12 +0000 https://thestandard.co/?p=1010226 ทักษิณ

เว็บไซต์สำนักข่าว Nikkei Asia เผยแพร่บทสัมภาษณ์อดีตนายก […]

The post ทักษิณให้สัมภาษณ์ Nikkei Asia แนะมาตรการรับมือผลกระทบทรัมป์ 2.0 เผยยิ่งลักษณ์สามารถกลับไทยได้สงกรานต์ปีหน้า appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทักษิณ

เว็บไซต์สำนักข่าว Nikkei Asia เผยแพร่บทสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวานนี้ (18 พฤศจิกายน) โดยมีการแสดงความเห็นในหลายประเด็น ทั้งสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกและผลกระทบจากการกลับสู่อำนาจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาของไทย และประเด็นที่เกี่ยวกับคนในครอบครัว ทั้งกรณีความเป็นผู้นำของ แพทองธาร ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกรณีของน้องสาวหรืออดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังอยู่ระหว่างลี้ภัย ซึ่งเขาเผยว่าอาจจะสามารถกลับไทยได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีหน้า

 

Nikkei Asia ระบุว่า การให้สัมภาษณ์ของทักษิณครั้งนี้ถือเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เขากลับไทยเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

 

โดยในประเด็นผลกระทบจากรัฐบาลทรัมป์ 2.0 นั้น ทักษิณได้เรียกร้องรัฐบาลไทยให้มีมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบธุรกิจและการลงทุนในสหรัฐฯ เนื่องจากการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้ความสำคัญต่อการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ขณะที่เขากังวลว่าการค้าของไทยที่เกินดุลมากเกินไปอาจกลายเป็นเป้าหมายการตอบโต้ของรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากที่ผ่านมาทรัมป์ประกาศคำมั่นว่าจะขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อปรับปรุงดุลการค้าของประเทศ

 

“ผลกระทบจากการกลับมามีอำนาจของทรัมป์จะขยายมาถึงไทยด้วยเช่นกัน จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อกระตุ้นให้บริษัทไทยลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” เขากล่าว

 

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งทักษิณเชื่อว่าจะเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจไทยที่มีนโยบายรักษาความเป็นกลาง

 

โดยกรณีที่ไทยพยายามจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS นั้น ทักษิณมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่จะช่วย ‘รักษาสมดุลด้านการทูตของไทย’ โดยเขาคาดหวังว่าไทยจะได้รับการลงทุนเพิ่มขึ้นผ่านนโยบายการทูตที่เป็นไปอย่างสมดุล

 

Nikkei Asia ยังชี้ถึงปัญหาของไทยที่ตกอยู่ใน ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังสิ้นสุดการระบาดของโควิดยังคงต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งทักษิณให้ความเห็นว่า “เสถียรภาพทางการเมืองและการเติบโตอย่างรวดเร็วมีความจำเป็น เพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากสถานการณ์ในปัจจุบัน”

 

โดยเขาเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับไทยในการที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ไร้เสถียรภาพในปัจจุบัน ซึ่งความไม่สงบทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนลดลง

 

ทักษิณยังตอบคำถามเกี่ยวกับความเป็นผู้นำของ แพทองธาร ชินวัตร ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย โดยชี้ว่าบุตรสาวของเขา “ประสบความสำเร็จในการผสมผสานประสบการณ์ของเขาในฐานะนักการเมือง กับความคิดของคนรุ่นใหม่” และเสริมว่าเขาให้ความเคารพบุตรสาวและปฏิเสธที่จะให้คำแนะนำด้านนโยบายที่เฉพาะเจาะจงแก่เธอ

 

ส่วนประเด็นการกลับไทยของอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ทักษิณกล่าวว่า เขาพยายามสร้างความมั่นใจว่าน้องสาวของเขาจะสามารถกลับไทยได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีหน้า

 

“ผมไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไรที่ขัดขวางเธอ (ยิ่งลักษณ์) ไม่ให้กลับบ้าน ผมคิดว่าเธออาจจะกลับมาก่อนหน้านั้นนิดหน่อย ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส (ที่เหมาะสม)” ทักษิณกล่าว

 

นอกจากนี้ทักษิณยังให้ความเห็นต่อกรณีของ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่บุตรสาวของเขาจะเข้ารับตำแหน่งแทน โดยมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ‘ไม่คาดคิด’ และกล่าวว่าบุตรสาวของเขาใส่ใจและระมัดระวังอย่างยิ่ง ‘เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ประสบชะตากรรมเดียวกัน’

 

โดยเขายังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทยที่มีการใช้อำนาจทางกฎหมายบ่อยครั้งเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง

 

ซึ่งในกรณีเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เขาปฏิเสธว่าเป็น ‘ข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลอย่างสิ้นเชิง’ และแสดงความเชื่อมั่นว่าจะไม่ถูกตัดสินลงโทษ

 

อ้างอิง:

The post ทักษิณให้สัมภาษณ์ Nikkei Asia แนะมาตรการรับมือผลกระทบทรัมป์ 2.0 เผยยิ่งลักษณ์สามารถกลับไทยได้สงกรานต์ปีหน้า appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทิ้งทวนก่อนลา? ทำไมไบเดนไฟเขียวยูเครนยิงมิสไซล์สหรัฐฯ ในรัสเซียได้ จุดชนวนความเสี่ยง ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ https://thestandard.co/biden-approves-ukraine-missile-use-in-russia/ Mon, 18 Nov 2024 13:34:19 +0000 https://thestandard.co/?p=1010118 ไบเดน ยูเครน

Reuters และ CNN รายงานโดยอ้างข้อมูลจาก 2 เจ้าหน้าที่รัฐ […]

The post ทิ้งทวนก่อนลา? ทำไมไบเดนไฟเขียวยูเครนยิงมิสไซล์สหรัฐฯ ในรัสเซียได้ จุดชนวนความเสี่ยง ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ไบเดน ยูเครน

Reuters และ CNN รายงานโดยอ้างข้อมูลจาก 2 เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจอนุมัติให้ยูเครนใช้ ‘ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพบก’ (Army Tactical Missile System: ATACMS) ซึ่งเป็นระบบขีปนาวุธพิสัยไกลที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ในการโจมตีภายในดินแดนรัสเซีย 

 

การตัดสินใจดังกล่าวสร้างความกังวลและความสงสัยแก่หลายฝ่าย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบในยูเครนที่ทวีความตึงเครียด ขณะที่ไบเดนเหลือเวลาดำรงตำแหน่งอีกเพียงประมาณ 2 เดือนก่อนจะส่งมอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในเดือนมกราคมปีหน้า

 

สิ่งที่เกิดขึ้นจุดชนวนคำถามมากมายว่าทำไมจู่ๆ ไบเดนถึงตัดสินใจเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ที่เรียกได้ว่าอาจถึงขั้นยกระดับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และดึงให้สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกเข้าไปมีส่วนร่วมกับสงคราม จนไม่แน่ว่าท้ายที่สุดจะบานปลายเป็น ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ หรือไม่

 

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นภาระใหญ่ที่ไบเดนส่งมอบให้ทรัมป์พร้อมกับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ หรือไม่ และทรัมป์จะจัดการเช่นไรกับเรื่องนี้

 

ทิ้งทวนก่อนทรัมป์รับตำแหน่ง?

 

การตัดสินใจของไบเดนที่อนุญาตให้ยูเครนใช้ระบบขีปนาวุธพิสัยไกลของสหรัฐฯ โจมตีรัสเซียได้ เกิดขึ้นหลังจากที่หลายฝ่ายกังวลว่ารัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะระงับการสนับสนุนยูเครน และบีบบังคับให้สงครามยุติลงด้วยการที่ยูเครนต้องยอมรับเงื่อนไขเจรจาเสียดินแดนบางส่วน

 

โดยความเคลื่อนไหวของไบเดนรอบนี้ถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจในช่วงสุดท้ายกับการเดิมพันที่สุ่มเสี่ยงจะขยายความขัดแย้งในสงคราม

 

มาเรีย บูตินา นักการเมืองรัสเซียที่เคยถูกดำเนินคดีในสหรัฐฯ ฐานเป็นสายลับ ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า ไบเดนพยายามขยายสถานการณ์ความขัดแย้งให้ลุกลามไปถึงระดับสูงสุดในระหว่างที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่

 

“ฉันหวังอย่างยิ่งว่าทรัมป์จะเอาชนะการตัดสินใจนี้ได้ เพราะพวกเขากำลังเสี่ยงที่จะจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลย”

 

ด้านทรัมป์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อความเคลื่อนไหวของไบเดน แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายของทรัมป์ โพสต์ข้อความบน X ที่แสดงชัดถึงความไม่พอใจว่า “กลุ่มอุตสาหกรรมทางการทหารดูเหมือนว่าต้องการจะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ก่อนที่พ่อของผมจะมีโอกาสสร้างสันติภาพและช่วยชีวิตคน…พวกคนโง่!” 

 

ขณะที่ ริชาร์ด เกรเนลล์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ โพสต์ใน X ถึงการตัดสินใจของไบเดนว่าเป็น “การยกระดับสงครามก่อนจะพ้นจากตำแหน่ง”

 

ส่วน เจ.ดี. แวนซ์ คู่หูรองประธานาธิบดีของทรัมป์ กล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ควรสนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารใดๆ แก่ยูเครนอีก

 

ภายหลังปรากฏรายงานข่าว โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน โพสต์ข้อความผ่าน Telegram ว่า “วันนี้สื่อหลายสำนักรายงานว่า เราได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตามที่เหมาะสม แต่การโจมตีไม่ได้เกิดขึ้นด้วยคำพูด สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกประกาศออกมา ขีปนาวุธจะพูดแทนตัวมันเอง”

 

ด้านรัฐบาลเครมลินออกแถลงการณ์เช้าวันนี้ว่า “หากขีปนาวุธที่สหรัฐฯ จัดหามาให้ถูกยิงเข้าไปในรัสเซีย รัสเซียจะมองว่าการโจมตีไม่ได้มาจากยูเครน แต่มาจากสหรัฐฯ เอง” พร้อมระบุว่า “รัสเซียและปูตินแสดงจุดยืนที่ชัดเจน และการตัดสินใจของสหรัฐฯ บ่งชี้ถึงการมีส่วนร่วมของวอชิงตันในระดับใหม่ในความขัดแย้ง”

 

โดยแถลงการณ์ยังระบุว่า “เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไบเดนที่กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ตั้งใจที่จะดำเนินมาตรการเพื่อราดน้ำมันลงในกองไฟ และกระตุ้นให้ความตึงเครียดของความขัดแย้งนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น”

 

ในขณะที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ แต่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเขาเคยประกาศว่า หากสหรัฐฯ ยกเลิกข้อห้ามในการใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีรัสเซียก็จะถือว่าเป็น ‘การมีส่วนร่วมโดยตรง’ ของ NATO ในสงครามนี้

 

ATACMS คืออะไร? 

 

สำหรับระบบขีปนาวุธ ATACMS ที่ผลิตโดยบริษัท Lockheed Martin ถือเป็นระบบขีปนาวุธที่มีความซับซ้อน ใช้เวลาผลิตค่อนข้างนาน และมีหลายเวอร์ชัน ทั้งแบบพิสัยกลาง และพิสัยไกลที่สามารถโจมตีได้ระยะไกลถึง 306 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเพิ่มความได้เปรียบในการโจมตีตอบโต้ทัพรัสเซียได้อย่างมากเมื่อเทียบกับอาวุธโจมตีระยะไกลอื่นๆ เช่น ระบบขีปนาวุธ HIMARS ที่โจมตีได้ไกล 80 กิโลเมตร และปืนใหญ่ M777 ที่โจมตีไกล 40 กิโลเมตร 

 

โดยสหรัฐฯ จัดส่ง ATACMS แบบพิสัยกลางแก่ยูเครนตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ส่วนแบบพิสัยไกลนั้น รัฐบาลไบเดนอนุมัติให้จัดส่งแก่ยูเครนอย่างลับๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะเริ่มส่งมอบในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมีข้อจำกัดให้ใช้ภายในดินแดนของยูเครนเท่านั้น 

 

ไบเดนไฟเขียว ‘ช้าไป-น้อยไป’? 

 

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เซเลนสกีพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกข้อจำกัดในการใช้ ATACMS เพื่อให้กองทัพยูเครนใช้โจมตีนอกพรมแดนยูเครนได้ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ตอบรับและใช้เวลาพิจารณามาตลอด เนื่องจากมีหลายข้อกังวล ทั้งในแง่ปริมาณระบบขีปนาวุธของกองทัพสหรัฐฯ ที่ลดลง ซึ่งอาจกระทบต่อความพร้อมรบของกองทัพ ตลอดจนข้อกังวลเกี่ยวกับการยกระดับสงคราม

 

เซเลนสกีเคยหยิบยกประเด็น ATACMS ในการประชุมกลยุทธ์ยุโรปยัลตา (Yalta European Strategy Conference) ที่กรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา โดยชี้ว่าการที่สหรัฐฯ ส่งมอบ ATACMS ให้จะไร้ประโยชน์หากไม่สามารถนำมาใช้กับเป้าหมายในรัสเซียได้ ซึ่งเขายังกล่าวถึงเรื่องนี้ระหว่างการหารือทวิภาคีกับไบเดนที่ทำเนียบขาวช่วงปลายเดือนกันยายนด้วย

 

สาเหตุที่ไบเดนตัดสินใจอนุมัติให้ยูเครนใช้ ATACMS ในดินแดนของรัสเซีย ถูกมองว่าเป็นการตัดสินใจที่เร่งด่วน หลังจากที่กองทัพรัสเซียเริ่มส่งทหารเกือบ 50,000 นายไปยังภูมิภาคคุสค์ (Kursk) ทางตอนใต้ ซึ่งเป็นจุดที่ยูเครนส่งทหารข้ามชายแดนบุกยึดไว้ได้ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

 

โดยภูมิภาคนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ยูเครนสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองได้ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้รัสเซียยึดคืน และ ATACMS จะมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการบุกของกองทัพรัสเซีย

 

บทวิเคราะห์จาก The Telegraph ชี้ว่า การใช้ ATACMS ในคุสค์จะส่งผลดีทันทีต่อกองกำลังทหารยูเครนในแนวหน้าที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด โดยนอกจากจะเผชิญกับทหารรัสเซีย ยังมีรายงานว่าทหารเกาหลีเหนืออีกราว 10,000 นาย ถูกส่งไปช่วยรบในภูมิภาคนี้ 

 

บทวิเคราะห์ชี้ว่า การที่รัสเซียนำกำลังทหารเกาหลีเหนือมาใช้ อาจเป็นการตอบโต้ในเชิงยุทธศาสตร์ต่อยูเครนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธที่ชาติสมาชิก NATO สนับสนุนในการโจมตีเป้าหมายของรัสเซียเท่านั้น 

 

ซึ่งการขยายการใช้ ATACMS ของยูเครนอาจทำให้ปูตินยับยั้งการขอความช่วยเหลือด้านกำลังพลจากเกาหลีเหนือเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ยูเครนสามารถโจมตีสนามบินคุสค์ วอสทอชนี (Kursk Vostochny) ซึ่งเป็นฐานทัพที่มีรายงานว่าเป็นที่จัดเก็บเครื่องบินรบ MiG-29 และระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ Pantsir-S1 

 

ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าสหรัฐฯ จะอนุญาตให้ยูเครนใช้ ATACMS กับเป้าหมายของรัสเซียที่อยู่ห่างจากพื้นที่แนวหน้าบริเวณชายแดนหรือไม่ 

 

โดยก่อนหน้านี้รัสเซียย้ายเครื่องบินที่ใช้ทิ้งระเบิดร่อน 90% ออกไปจากระยะโจมตีของ ATACMS แล้ว ขณะที่ฐานทัพอากาศรัสเซีย 17 แห่งและเป้าหมายทางทหารสำคัญอย่างน้อย 250 เป้าหมาย ก็อยู่ภายในรัศมีการโจมตีดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการตัดสินใจของไบเดนอาจมีส่วนผลักดันให้ยูเครนชิงความได้เปรียบในการตอบโต้รัสเซียได้มากขึ้น แต่ก็ยังดูเป็นการปรับเปลี่ยนที่ ‘ล่าช้า’ และ ‘น้อยเกินไป’ สำหรับยูเครนอยู่ดี เนื่องจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์จะมาถึงในวันที่ 20 มกราคม 2025 และอาจเป็นไปได้ที่เขาจะใช้อำนาจพลิกคำสั่งของไบเดนในทันที ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะส่งผลต่อทิศทางของสงครามยูเครนเช่นไร

 

อ้างอิง:

 

The post ทิ้งทวนก่อนลา? ทำไมไบเดนไฟเขียวยูเครนยิงมิสไซล์สหรัฐฯ ในรัสเซียได้ จุดชนวนความเสี่ยง ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ไบเดนไฟเขียวยูเครน ใช้ระบบขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ของสหรัฐฯ โจมตีในรัสเซีย https://thestandard.co/biden-lifts-ban-ukraine-using-us-arms-strike-inside-russia/ Mon, 18 Nov 2024 03:50:57 +0000 https://thestandard.co/?p=1009872 ไบเดน ยูเครน

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ อนุมัติให้ยูเครนสามารถใ […]

The post ไบเดนไฟเขียวยูเครน ใช้ระบบขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ของสหรัฐฯ โจมตีในรัสเซีย appeared first on THE STANDARD.

]]>
ไบเดน ยูเครน

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ อนุมัติให้ยูเครนสามารถใช้อาวุธพิสัยไกลที่สหรัฐฯ จัดส่งให้โจมตีภายในแผ่นดินรัสเซียได้ โดยรายงานดังกล่าวได้รับการยืนยันจาก 2 เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้

 

การตัดสินใจของไบเดนมีขึ้นหลังจากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ยกเลิกข้อจำกัดในการใช้งาน ‘ระบบขีปนาวุธยุทธวิธีของกองทัพ’ หรือที่เรียกว่า ATACMS เพื่อให้กองทัพยูเครนสามารถใช้โจมตีนอกพรมแดนยูเครนได้

 

ขณะที่เซเลนสกีกล่าวภายหลังทราบรายงานข่าว โดยประกาศผ่านทาง Telegram ว่า ‘ขีปนาวุธจะพูดแทนตัวมันเอง’

“วันนี้สื่อต่างๆ พูดถึงการที่เราได้รับการอนุญาตสำหรับดำเนินการตามลำดับ การโจมตีไม่ได้เกิดขึ้นด้วยคำพูด สิ่งแบบนี้ไม่จำเป็นต้องประกาศ ขีปนาวุธจะพูดแทนตัวมันเอง”

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบในยูเครนที่ทวีความตึงเครียด หลังรัสเซียใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนระลอกใหญ่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ของประเทศ

 

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า กองทัพรัสเซียเริ่มดำเนินการส่งทหารเกือบ 50,000 นายไปยังภูมิภาคคุสค์ (Kursk) ทางตอนใต้ ซึ่งเป็นจุดที่ยูเครนส่งทหารข้ามชายแดนบุกเข้ายึดตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าเป็นความพยายามเพื่อยึดดินแดนคืน และทำให้ยูเครนไม่สามารถนำพื้นที่นี้มาเป็นเครื่องมือต่อรองสำหรับการเจรจาสันติภาพใดๆ ในอนาคต ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่า ATACMS จะถูกใช้ในภูมิภาคคุสค์เป็นหลัก

 

ความกังวลยกระดับสงคราม

 

ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาเรื่องการตัดสินใจอนุญาตให้ยูเครนใช้ ATACMS ในรัสเซีย ท่ามกลางข้อกังวลเกี่ยวกับการยกระดับสงครามและปริมาณของระบบขีปนาวุธที่ลดลง

 

โดยในช่วง 2 ปีแรกของสงครามยูเครน สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะจัดส่งระบบขีปนาวุธชนิดนี้ให้กับกองทัพยูเครน เนื่องจากกังวลเรื่องความพร้อม เพราะ ATACMS ต้องใช้เวลาและส่วนประกอบที่ซับซ้อนในการผลิต 

 

ขณะที่ไบเดนอนุมัติการจัดส่ง ATACMS ให้กับยูเครนอย่างลับๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะเริ่มส่งมอบในเดือนเมษายน แต่มีข้อจำกัดให้ใช้ภายในดินแดนของยูเครนเท่านั้น

 

ทางด้านประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อการตัดสินใจล่าสุดของไบเดน แต่ก่อนหน้านี้เขาส่งข้อความเตือนสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเกี่ยวกับการส่งระบบขีปนาวุธให้ยูเครน โดยชี้ว่าการกระทำดังกล่าวจะถือเป็นการ ‘มีส่วนร่วมโดยตรง’ ของพันธมิตร NATO ในสงครามยูเครน

 

ขณะที่ วลาดิเมียร์ จาบารอฟ รองประธานคณะกรรมการกิจการระหว่างประเทศของสภาสหพันธรัฐ ซึ่งเป็นสภาสูงของรัสเซีย กล่าวว่า การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่ปล่อยให้ยูเครนโจมตีในดินแดนรัสเซียนั้นอาจนำมาซึ่ง ‘สงครามโลกครั้งที่ 3’

 

อ้างอิง:

The post ไบเดนไฟเขียวยูเครน ใช้ระบบขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ของสหรัฐฯ โจมตีในรัสเซีย appeared first on THE STANDARD.

]]>
ปานปรีย์เปิดแผนที่อำนาจเศรษฐกิจปี 2025 ไทยอยู่ตรงไหนและควรกำหนดยุทธศาสตร์อย่างไร https://thestandard.co/economic-power-2025-thailand-strategy/ Sun, 17 Nov 2024 11:59:43 +0000 https://thestandard.co/?p=1009827 ปานปรีย์

ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรี […]

The post ปานปรีย์เปิดแผนที่อำนาจเศรษฐกิจปี 2025 ไทยอยู่ตรงไหนและควรกำหนดยุทธศาสตร์อย่างไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
ปานปรีย์

ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Geoeconomics 2025: Mapping the Future of Economic Power เปิดแผนที่อำนาจเศรษฐกิจปี 2025 ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

 

โดยปานปรีย์แบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomics) ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน รวมทั้งเสนอแนวทางการรับมือและการเตรียมพร้อม เพื่อกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2025 ที่ใกล้จะมาถึง

 

ทีมงาน THE STANDARD ถอดความสปีชนี้แบบคำต่อคำ

 

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งโรคระบาด ปัญหา Global Warming รวมทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งใน Geoeconomics ความตึงเครียดของสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็สร้างผลกระทบภาพรวมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน หรือเทคโนโลยี ที่มีผลกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงส่งผลให้เราต้องมาเข้าใจสิ่งนี้ นั่นคือแผนที่อำนาจเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

 

เริ่มกันที่จีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจฝั่งเอเชียที่เชื่อมต่อกับประเทศอื่นในหลายมิติ ทั้งด้านการเมืองอย่าง BRICS และโครงการต่างๆ เช่น Belt and Road Initiative เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งนโยบาย BRICS ก็ค่อนข้างจะมีความชัดเจนในการลดการพึ่งพาจากชาติตะวันตก ในปีนี้เจ้าภาพการประชุมอย่างรัสเซียถึงกับมีข้อเสนอ De-dollarization กับกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเอง

 

 

จะเห็นว่าประเทศที่ประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกต่างอยู่ใน BRICS เป็นจำนวนมาก และไทยกำลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกในนั้น ในแง่ความสัมพันธ์กับไทย จีนยังเป็นคู่ค้าสำคัญของเรา และประเทศในอาเซียนตามข้อตกลง RCEP ที่ทำให้การค้าหมุนเวียนของเราในอาเซียนมีสภาพคล่องสูงมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังพยายามขยายอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านโครงการ Belt and Road Initiative โดยการสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อเติบโตในภูมิภาค

 

 

แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง Belt and Road Initiative อาจเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับประเทศในระยะยาวด้วย โดยหากมีภาระหนี้กับจีน ประเทศนั้นๆ จะต้องสำรองหยวนมากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นคือ De-dollarization รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับจีนที่เป็นโรงงานของโลกในการส่งสินค้าสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็ว

 

พอหันกลับมามองสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจขั้วเดิมก็ปรับตัวสู้กับการเติบโตและการขยายอิทธิพลของจีนในฐานะผู้นำระเบียบโลก หรือ World Order อย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน

 

 

นอกจากสหรัฐฯ จะรวมกลุ่มกับ OECD ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมในหมู่ประเทศสมาชิกของตนแล้ว โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญที่มากขึ้นของกลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย จึงริเริ่มกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือ IPEF หรือ Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity เพื่อสร้างความได้เปรียบในภูมิภาคที่สำคัญนี้ โดยเฉพาะขณะที่ผมดำรงตำแหน่ง ผมพูดคุยและสื่อสารกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จึงเข้าใจได้ว่าทำไมพื้นที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญมาก

 

 

ผมอยากให้ทุกท่านลองมองโลกอีกด้านหนึ่งของแผนที่ หากจีนอยู่ซ้าย สหรัฐฯ อยู่ขวา IPEF คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งทางด้านธุรกิจและความมั่นคง โดยล้อมรอบจีนในเกือบทุกด้าน เราจึงต้องวางตัวบนเวทีโลกให้เหมาะสม เนื่องด้วยอำนาจของทั้งสองด้านต่างมีเราเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ ที่ผมต้องพูดแบบนี้ เพราะจากประสบการณ์ของผม ก่อนหน้านี้โลกของเรามองเศรษฐกิจเหนือการเมือง ในยุคหนึ่งที่จีนเริ่มเปิดประเทศเพราะรู้ว่าการค้านั้นสำคัญ ทุกประเทศต่างเปิดรับและยอมรับเข้า WTO ถึงแม้ว่าจีนจะยังคงมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก็ตาม

 

แต่เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาจะใช้ Geoeconomics นำ Geopolitics เช่น กลับมาทำสงครามการค้า โดยตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันสินค้าจากบางประเทศ ลามไปถึงมาตรการสกัดกั้นบริษัททุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากจีน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ หน่วยประมวลผลควอนตัม และปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เราเรียกว่า AI จากโลกยุคใหม่ที่เคยเป็น Free Trade หรือการค้าเสรี เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก จาก Globalization จึงกลับกลายเป็น Deglobalization มากขึ้นทุกวัน

 

 

จากภาพนี้กลุ่มประเทศ OECD เป็นสีน้ำเงิน และ BRICS เป็นสีแดง ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่มีการทับซ้อนของประเทศเลย นี่คือฉากทัศน์ของโลกในปัจจุบัน และถ้ามองตามข้อตกลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน การไหลเวียนของเงินทุน หรือการพัฒนาเทคโนโลยีและพันธมิตรต่างๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่ สีเหล่านั้นจะเหลื่อมกันในบางพื้นที่ และเราเป็นหนึ่งในนั้น ท่ามกลางข้อเสนอจากทุกฝ่าย สิ่งสำคัญที่เราต้องมองคือแล้วไทยควรทำอย่างไร

 

 

เรื่องที่จะนำเสนอนี้เป็นมุมมองส่วนตัวของผม ในฐานะคนที่ทำงานด้านเศรษฐกิจและเคยดำรงตำแหน่งในด้านการต่างประเทศมาก่อน จึงขอพูดเรื่องนี้ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดในปัจจุบัน

 

ส่วนตัวผมมองว่าเราควรบริหารความสัมพันธ์อย่างมียุทธศาสตร์ นั่นคือสิ่งที่ผมยึดมาตลอดการทำงานตลอด 8 เดือน และมองไปในอนาคตข้างหน้าด้วย ที่การบริหารงานภาคเศรษฐกิจจะมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เราเรียกว่า Strategic Neutrality หรือการวางตัวเป็นกลางอย่างมีกลยุทธ์ ถ้าเป็นกลางเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องขยับคุยกับใครก็เป็นกลางได้ แต่ความได้เปรียบทางการค้าหรือโอกาสต่างๆ ก็อาจหายไป เพราะชาติอื่นมองว่าเราไม่ชัดเจน ยิ่งในยุคที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ การที่เราสามารถรับโอกาสได้จากทุกฝ่าย ค้าขายได้กับทุกทาง จะทำให้เรามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน หากต้องการจะเติบโต เราจำเป็นจะต้องมีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก รวมทั้งเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันกับตลาดโลกไปพร้อมๆ กัน

 

 

เราต้องเปิดโอกาสให้มากที่สุดทั้งระดับประเทศและภาคเอกชน เพราะแต่ละคนมีคู่ค้าที่ไม่เหมือนกัน หากเราส่งออกไปที่ใดที่หนึ่งแล้วมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นจากการเลือกข้างในระดับชาติ เราควรต้องป้องกันความเสี่ยงโดยการกระจายการค้าไปหลายที่หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ก่อน เพื่อให้เรามีโอกาสมากขึ้น

 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผมมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เช่น การเปิดโอกาสด้านการท่องเที่ยวด้วยการทำฟรีวีซ่าจาก 93 ประเทศรวมจีนและอินเดีย เพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจในประเทศ, การเจรจาเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ Digital Economy และเซมิคอนดักเตอร์กับสหรัฐฯ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เรามีโอกาสกับการลงทุนต่างประเทศ เช่น Google และ NVIDIA ที่เริ่มมาลงทุนในไทยมากขึ้น หากเราเดินหน้าต่อทางด้าน FTA กับประเทศในยุโรปและสหราชอาณาจักร เราจะแข่งขันเรื่องการส่งออกได้อย่างสูสีกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมากขึ้น ส่งผลให้ GDP ของเราจะสูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

แต่เราจะสร้างโอกาสไม่ได้เลยถ้าเรากับคู่ค้ามีมาตรฐานต่างกัน เพราะแต่ละประเทศไม่ได้มองเพียงแค่สินค้าหรือต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ยังรวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากเรามีความสัมพันธ์ที่ดี สามารถแสดงให้โลกเห็นได้ว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นจริงๆ เช่น กรณีการจับตัวประกันชาวไทยของฮามาส ซึ่งเราก็สามารถเจรจาให้ยอมปล่อยตัวประกัน รวมถึงอพยพชาวไทยกลับมาได้โดยความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งได้รับความชื่นชมจากประเทศฝั่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก หรือแม้กระทั่งการช่วยเหลือทางด้านมนุษยชนกับชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดคือตัวอย่างของการสร้างโอกาสการเติบโตร่วมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในโลกที่เกิดการแบ่งขั้ว เราต้องสร้างดุลยภาพ ไม่พึ่งพาใครมากเกินไป เพราะไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าใครจะเป็นผู้วาง World Order ของทศวรรษหน้า

 

 

ประเด็นสุดท้ายที่ผมขอกล่าวถึงคือผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย ทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

 

การที่ทรัมป์ 2.0 ขึ้นเป็นประธานาธิบดีจากนโยบาย America First เศรษฐกิจโลกจะเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการแข่งขันทางการค้าระหว่างมหาอำนาจคือสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะทวีความเข้มข้นไปอีก รวมทั้งประเทศที่ค้าขายกับสหรัฐฯ ด้วย ในฐานะที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 และได้ดุลการค้า เป็นไปได้ว่าจะถูกตั้งกำแพงภาษีเช่นกัน เราจึงต้องติดตามภาษีของแต่ละประเภทสินค้าของเราให้ดี และพร้อมเจรจาเพื่อคงความได้เปรียบด้านการค้าของไทยในอนาคต

 

ส่วนการแบ่งขั้วหรือที่เราเรียกกันว่า Decoupling จากสหรัฐฯ ต่อจีน รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะถอดถอนจีนจาก MFN ที่มีการปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเท่าเทียมกันนั้น อาจเกิดประโยชน์กับไทย เพราะฐานการผลิตและการลงทุนจะย้ายออกจากจีน ซึ่งจะมีหลายอุตสาหกรรมที่มีโอกาส ได้แก่ รถยนต์, คอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องดื่ม รวมทั้งภาคเกษตรด้วย

 

แต่ไม่ได้แปลว่าโอกาสนี้จะเกิดประโยชน์กับเราแน่นอน เพราะนโยบายหลักของทรัมป์มีความเชื่อว่ามี Free Trade ได้จะต้อง Fair Trade ก่อน ทุกประเทศอาจต้องปรับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ใหม่ทั้งหมด เพราะแนวโน้มการเจรจาจะเปลี่ยนรูปแบบจากพหุภาคีเป็นเลือกเจรจาเป็นคู่และ Mini Trade Agreement แทน เดิมมี IPEF ก็อาจยกเลิก เหมือนที่เคยถอนตัวจาก CPTPP มาก่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้เจรจาการค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างไม่เคยมีมาก่อน เราต้องพร้อมทั้งยุทธศาสตร์และประสิทธิภาพ เพื่อชิงจังหวะของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อประเทศไทย

 

มาถึงตรงนี้ผมขอสรุปว่า ในปีที่กำลังจะมาถึงนี้โลกจะยังคงมีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พวกเราจะต้องเตรียมพร้อมไว้ทั้งเชิงรับและเชิงรุก การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมียุทธศาสตร์จะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ผมมองว่าควรเปิดโอกาสให้ตัวเอง ไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง คุยได้ทุกฝ่าย เข้าได้ทุกชาติ ไม่ว่าจะเกิดสงครามหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าการค้าจะเป็นเช่นไร เราจะต้องเดินต่อไปให้ได้

The post ปานปรีย์เปิดแผนที่อำนาจเศรษฐกิจปี 2025 ไทยอยู่ตรงไหนและควรกำหนดยุทธศาสตร์อย่างไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
สีจิ้นผิงยืนยัน พร้อมทำงานร่วมกับทรัมป์ ในการพบปะครั้งสุดท้ายกับไบเดน https://thestandard.co/xi-says-he-will-work-with-trump/ Sun, 17 Nov 2024 05:40:53 +0000 https://thestandard.co/?p=1009625 สีจิ้นผิง

เมื่อวานนี้ (16 พฤศจิกายน) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ให […]

The post สีจิ้นผิงยืนยัน พร้อมทำงานร่วมกับทรัมป์ ในการพบปะครั้งสุดท้ายกับไบเดน appeared first on THE STANDARD.

]]>
สีจิ้นผิง

เมื่อวานนี้ (16 พฤศจิกายน) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ ในการพบปะครั้งสุดท้ายกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างการประชุม APEC ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู

 

ทั้ง 2 ผู้นำได้หารือกันนอกรอบการประชุมประจำปี โดยได้กล่าวถึง ‘ความสัมพันธ์ที่มีทั้งขึ้นและลง’ ตลอด 4 ปีที่ไบเดนดำรงตำแหน่ง แต่ก็เน้นย้ำถึงความก้าวหน้าในการลดความตึงเครียดในประเด็นต่างๆ เช่น การค้าและไต้หวัน

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจเผชิญกับความผันผวนมากขึ้นเมื่อทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่ง โดยเฉพาะจากคำมั่นสัญญาของทรัมป์ที่ประกาศว่าจะเพิ่มภาษีศุลกากร 60% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน และการแต่งตั้งผู้ที่มีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีนในตำแหน่งสำคัญด้านการต่างประเทศและกลาโหม ซึ่งหากย้อนไปดูในสมัยแรกของทรัมป์ เขาระบุว่าจีนเป็น ‘คู่แข่งเชิงกลยุทธ์’ (Strategic Competitor) ต่อเนื่องจนถึงความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงเมื่อเขาเรียกโควิดว่าเป็น ‘ไวรัสจีน’ ระหว่างการระบาดใหญ่ 

 

ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม APEC สีจิ้นผิงกล่าวว่า เป้าหมายของจีนยังคงเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับสหรัฐฯ พร้อมเสริมว่า “จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อรักษาการสื่อสารระหว่างกัน การขยายความร่วมมือ และการบริหารจัดการความแตกต่าง”

 

ด้านไบเดนย้ำว่า การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจไม่ควรนำไปสู่สงคราม “ประเทศของเราไม่สามารถปล่อยให้การแข่งขันนี้กลายเป็นความขัดแย้งได้ นั่นคือความรับผิดชอบของเรา และตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเราพิสูจน์แล้วว่าสามารถรักษาความสัมพันธ์นี้ได้”

 

ตลอดเวลาที่ไบเดนดำรงตำแหน่ง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนเผชิญกับปัญหาหลายประการ เช่น กรณีบอลลูนสอดแนมและการแสดงแสนยานุภาพทางทหารของจีนใกล้ไต้หวัน หลังจากการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ

 

ด้านจีนยังคงมองไต้หวันเป็น ‘เส้นแดง’ (Red Line) โดยย้ำว่า จีนมีอธิปไตยเหนือเกาะแห่งนี้ ขณะที่สหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนยังคงยืนหยัดในการสนับสนุนไต้หวันและเสริมความแข็งแกร่งให้กับพันธมิตรด้านกลาโหมในเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในภูมิภาค

.

บอนนี เกลเซอร์ ผู้อำนวยการโครงการอินโด-แปซิฟิกแห่ง German Marshall Fund ชี้ว่า จีนอาจกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของทรัมป์ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่ง แต่ก็ดูเหมือนพร้อมที่จะเจรจาและทำข้อตกลงในช่วงต้นกับทีมงานของทรัมป์ แต่ในขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมที่จะตอบโต้ หากทรัมป์ยังยืนกรานเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน

 

ในช่วงท้ายของการประชุมไบเดนกล่าวว่า การหารือกับสีจิ้นผิงนั้นเป็นไปอย่าง ‘ตรงไปตรงมา’ และ ‘เปิดเผย’ โดยทั้ง 2 คนได้พบกัน 3 ครั้งระหว่างที่ไบเดนดำรงตำแหน่ง หนึ่งในนั้นคือการประชุมสุดยอดที่สำคัญในปีที่แล้วที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งบรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นยาเสพติดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

อย่างไรก็ตาม ไบเดนยังคงใช้นโยบายที่ต่อเนื่องจากยุคทรัมป์ เช่น การคงภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจีน และยังได้กำหนดภาษีเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ และเหล็กจากจีน

 

ทั้งนี้ การพบปะครั้งนี้จึงเป็นจุดสิ้นสุดที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศในยุคไบเดน ก่อนที่ทรัมป์จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ซึ่งน่าจับตาว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

 

ภาพ: Leah Millis / Pool / Reuters

อ้างอิง:

The post สีจิ้นผิงยืนยัน พร้อมทำงานร่วมกับทรัมป์ ในการพบปะครั้งสุดท้ายกับไบเดน appeared first on THE STANDARD.

]]>