×

สรุปข้อมูลโซเชียลมีเดียไทยปี 2017 วัยรุ่นหนีพ่อแม่มาเล่นทวิตเตอร์มากขึ้น เฟซบุ๊กแตะ 49 ล้านราย อันดับ 8 โลก

02.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • ปี 2017 คอนเทนต์ด้านบันเทิงยังเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจมากที่สุดบนโซเชียลมีเดีย ประมาณ 300 ล้านข้อความ มากกว่าคอนเทนต์ธุรกิจ 10 เท่าตัว
  • Twitter มีอัตราการเติบโตด้านผู้ใช้งานสูงที่สุดของประเทศไทย 33% ปัจจุบันมีผู้ใช้รวม 12 ล้านราย เป็นวัยรุ่น (16-24 ปี) มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก สาเหตุมาจากการหนีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่คุกคามจากแพลตฟอร์มอื่นๆ
  • Facebook มีสัดส่วนผู้ใช้งานในไทยเพิ่มขึ้นแค่ 4% เท่านั้น รวม 49 ล้านราย และเอ็นเกจเมนต์ต่อโพสต์ลดลงกว่าเดิมเฉลี่ย 27%

พุธที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โธธ โซเชียล และวันบิต แมทเทอร์ ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลได้ร่วมกันจัดงาน Thailand Zocial Awards 2018 ครั้งที่ 6 ขึ้น ภายในงานมีการสรุปข้อมูลการใช้งานโซเชียลมีเดียท่ีน่าสนใจของคนไทยตลอดรอบปี 2017 ที่ผ่านมาจากข้อความเกือบๆ 3,600 ล้านข้อความบนโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์ม (Facebook, Instagram, Twitter, LINE, Google และ Pantip) พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

จากการคัดกรองข้อมูลดิบบนโลกโซเชียลมีเดียไทยปีที่ผ่านมา กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โธธ โซเชียล จำกัด เผยว่า แต่ละแพลตฟอร์มมีการเปลี่ยนแปลงไปมากมายเช่นเดียวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และเมื่อจำแนกตามชาร์ตความถี่ของแต่ละวันจะพบว่า เดือนตุลาคมหรือช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะมีข้อความปรากฏบนโซเชียลมีเดียของคนไทยมากเป็นพิเศษ

 

 

เมื่อแยกตามไตรมาสในแต่ละปีจะปรากฏเป็นคียเวิร์ดที่สำคัญดังนี้

  • ไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) ปรากฏการณ์ Facebook Live และ Youtube Live ของรายการเกมโชว์ The Mask Singer ซีซัน 1, แฮชแท็ก #Missuniverse ร่วมเชียร์ น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ บนทวิตเตอร์
  • ไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) แมว, สุนัข, หน้ากากหอยนางรม (โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ) จากรายการ The Mask Singer ซีซัน 2 และเจ้านาย-จินเจษฎ์ วรรธนะสิน (จากการออกซิงเกิล คนละชั้น)
  • ไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) โรคซึมเศร้ากับการจากไปของเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวง Linkin Park, ซีเกมส์ (ซีโกง), ต่ำตมไม่หยุด (โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน), เพลงประกอบภาพยนตร์ ส่ม ภัค เสี่ยน ที่มียอดวิวกว่า 50 ล้านครั้งในเดือนที่หนังฉาย
  • ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) แฮชแท็ก #MissUniverse ร่วมเชียร์ มารีญา พูลเลิศลาภ บนทวิตเตอร์ และก้าวคนละก้าว

 

 

เมื่อแยกเป็นประเด็นย่อยต่างๆ จะพบว่าประเด็นส่วนใหญ่ที่ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลมีเดียจะอยู่ในวงการ ‘บันเทิง’ เป็นหลัก สะท้อนให้เห็นว่าวงการบันเทิงสำคัญกับสังคมไทยมากๆ มีการเปรียบเทียบกันคร่าวๆ ว่าประเด็นบันเทิงจะถูกพูดถึงมากกว่าประเด็นทางธุรกิจกว่า 10 เท่าตัว (300 ล้านข้อความ : 30 ล้านข้อความ) ในจำนวนนี้ 52.5% คือการพูดถึงศิลปินชาย, 29.7% พูดถึงรายการทีวี และอีก 5.9% พูดถึงตัวนักแสดง

 

 

Twitter คือโซเชียลมีเดียที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในไทย เด็กวัยรุ่นหนีพ่อแม่มาจากแพลตฟอร์มอื่น

พเนิน อัศววิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันบิต แมทเทอร์ จำกัด สรุปภาพรวมการใช้งานโซเชียลมีเดียจำแนกตามแต่ละแพลตฟอร์มหลักๆ และพบว่า Twitter คือแพลตฟอร์มที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดด้านยอดผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 33% มีจำนวนผู้ใช้รวมมากกว่า 12 ล้านราย แบ่งเป็น Active User ที่ 5.7 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 80% (ปี 2017 มี Active User 3.6 ล้านราย)

 

 

เหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้ Twitter มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดนั้น ทีมงาน Twitter ประเทศไทย บอกว่าเป็นเพราะวัยรุ่นไทยในช่วงวัย 16-24 ปี ใช้แพลตฟอร์มของตนเป็นที่ลี้ภัยจากการถูกคุกคามของผู้ปกครอง พ่อแม่ และผู้ใหญ่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ จนทำให้กลุ่มวัยรุ่นไทยมีสัดส่วนการใช้งาน Twitter มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

 

อย่างไรก็ดี เมื่อมองกลับไปยัง Facebook และ Instagram สองแพลตฟอร์มเจ้าสำคัญในตลาด จะพบว่าปีที่ผ่านมา Facebook ในไทยมียอดผู้ใช้รวมอยู่ที่ 49 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วแค่ 4% เท่านั้น ด้าน Instagram มียอดผู้ใช้รวม 13.6 ล้านราย คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 24% ซึ่งพเนินมองว่าเมื่อแพลตฟอร์มมีอัตราการเติบโตที่ช้าลง แต่จำนวนแบรนด์ที่ต้องการลงโฆษณากลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มีการแย่งพื้นที่สื่อกันเอง ส่งผลให้ค่าโฆษณาแพงขึ้น และทำให้แบรนด์-เอเจนซีหลายๆ เจ้าต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การทำการตลาดในปี 2018 ใหม่กันทั้งหมด

 

 

  • ปัจจุบัน Facebook มีผู้ใช้งานทั่วโลกรวมกว่า 2.13 พันล้านราย โตขึ้นจากปีที่แล้ว 10% โดยประเทศไทยมียอดผู้ใช้รวมอยู่ในอันดับที่ 8
  • 5 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ใช้สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ชลบุรี, นครราชสีมา และสงขลา
  • จุดที่น่าสนใจคืออินเดียแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยยอดผู้ใช้งานรวม 240 ล้านราย สาเหตุมาจากจำนวนประชากรและอัตราการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยังเป็นโอกาสที่เหมาะสมกับการที่แบรนด์ต่างๆ จะใช้ Facebook เจาะตลาดผู้ใช้ในอินเดีย
  • Facebook Messenger มีอัตราการใช้งานโตขึ้นจากเดิมที่ 22% มีผู้ใช้งานรวม 886 ล้านราย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 มีจำนวนผู้ใช้เท่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สอดคล้องกับสัดส่วนการเติบโตของแพลตฟอร์ม Facebook ที่เริ่มช้าลง

 

 

  • สัดส่วนเอ็นเกจเมนต์ยอดนิยมของคนไทยคือการคลิกไลก์ที่ 89% กดแชร์ 5% คลิกแสดงความคิดเห็นและกดรีแอ็กชันเท่ากันที่อย่างละ 3%
  • ช่วงเวลาที่คนไทยนิยมใช้ Facebook มากที่สุดคือ 6 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม

 

 

 

  • Instagram มีสัดส่วนผู้ใช้ทั่วโลกโตขึ้น 14% มีผู้ใช้ในปี 2018 ที่ 800 ล้านราย โดยสหรัฐอเมริกานำขาดเป็นอันดับหนึ่งด้วยยอดผู้ใช้ 117 ล้านราย ขณะที่ไทยรั้งอยู่ในอันดับ 14
  • ช่วงเวลาที่คนไทยนิยมเล่น Instagram มากที่สุดคือช่วงปลายสัปดาห์ ในระยะเวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม เพราะชอบถ่ายภาพแนวไลฟ์สไตล์ ขณะที่วันธรรมดา ช่วงเวลาพีกไทม์จะอยู่ที่ 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม
  • ประเภทโพสต์ที่ได้รับความนิยมากที่สุดคือ ภาพ 71% ส่วนโพสต์แบบอัลบั้ม (Carossel) อยู่ที่ 24%, วิดีโอ 5% โดย Carossel มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

  • ช่วงเวลาที่คนไทยนิยมใช้ Twitter มากที่สุดคือ 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืน และปีนี้เริ่มลามไปจนถึงช่วงเวลาตี 1 และการที่ผู้ใช้  Twitter ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นยังสะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะนอนดึกมากขึ้น ซึ่งแบรนด์ที่ขายสินค้า-บริการ 24 ชั่วโมงอาจจะใช้เป็นช่องทางทำประโยชน์ได้

 

***หมายเหตุ: ข้อมูลทั้งหมดนับจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2018 เท่านั้น

 

 

Facebook ปรับหน้าฟีดใหม่ ทำเอ็นเกจเมนต์ต่อโพสต์ตก 27%!

หลังการปรับนโยบายเปลี่ยนการแสดงผลหน้านิวส์ฟีดบน Facebook ของผู้ใช้งานแบบใหม่ โดยเน้นให้โชว์โพสต์จากแบรนด์น้อยลงเพื่อให้เห็นโพสต์จากเพื่อนๆ หรือผู้ใช้งานคนอื่นๆ มากขึ้นนั้น พเนินบอกว่าเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วและปีนี้ (มกราคม 2017, 2018) พบว่าแบรนด์มีอัตราการโพสต์คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียมากขึ้น 52% มีอัตราการได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมเพิ่มขึ้น 12%

 

ถึงแม้จำนวนโพสต์และเอ็นเกจเมนต์จะสูงขึ้น แต่เมื่อจำแนกแยกตามเอ็นเกจเมนต์ต่อโพสต์จะพบว่าสัดส่วนกลับลดลงจากเดิมที่ 27% เลยทีเดียว นั่นหมายความว่าแต่ละแบรนด์ต้องแข่งขันกันหนักมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อแย่งเอ็นเกจเมนต์กัน ต้องขยันปล่อยโพสต์ให้ถี่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อดันตัวเองให้กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมบนโลกออนไลน์

 

 

ส่วนประเภทของคอนเทนต์ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์เฉลี่ยสูงสุดบน Facebook จากการเก็บข้อมูลบนเพจ 100,000 เพจใน 27 หมวดอุตสาหกรรม มีดังนี้  

  • อันดับ 1 วิดีโอ 2,556 เอ็นเกจเมนต์
  • อันดับ 2 ภาพ 1,273 เอ็นเกจเมนต์
  • อันดับ 3 ลิงก์ 1,199 เอ็นเกจเมนต์
  • อันดับ 4  อีเวนต์ 387 เอ็นเกจเมนต์
  • อันดับ 5 โน้ต 115 เอ็นเกจเมนต์
  • อันดับ 6 สเตตัส 32 เอ็นเกจเมนต์

 

จากข้อมูลและผลลัพธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์ม Facebook ในปัจจุบันนั้นได้นำไปสู่การตั้งคำถามว่า แบรนด์ต่างๆ ควรจะกระจายช่องทางการสื่อสารของตัวเองไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Twitter หรือไม่

 

 

พเนินตอบในข้อสงสัยนี้โดยยกจำนวนยอดผู้ใช้แบบ Active User ที่เพิ่มขึ้นระหว่างช่วงปี 2016-2017 ที่ 83%, จำนวนทวีตของแบรนด์เพิ่มขึ้น 124% และจำนวนรีทวีตโพสต์ของแต่ละแบรนด์โดยผู้ใช้ทั่วไปเพิ่มขึ้น 101% มาประกอบ โดยชี้ว่าถึงเวลาแล้วที่แบรนด์ต่างๆ อาจจะเริ่มหันมาใช้แพลตฟอร์มนี้ แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละแบรนด์ด้วย

 

ภาพรวมและนโนบายการให้ความสำคัญของ 6 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปี 2018

 

เว็บไซต์ Pantip.com – อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ตัวแทนจากเว็บไซต์พันทิป

ภาพรวมปี 2017

  • ห้องที่คนเข้าไปดูหน้าฟีดมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ ห้องบางขุนพรหม (ละคร) เหตุผลเพราะเป็นเรื่องความบันเทิง คนสามารถเข้าไปคุยหรือแลกเปลี่ยนความเห็นได้ทุกวัน รองลงมาคือห้องศุภชลาศัย (กีฬา) โดยวอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่คนให้ความสนใจมากที่สุด ส่วนห้องกระทู้ที่มีคนอ่านมากที่สุดอยู่ใน 3 ห้อง ได้แก่ ห้อง Blue Planet (ท่องเที่ยว), ห้องโต๊ะเครื่องแป้ง (เครื่องสำอาง) และห้องสวนลุมพินี (ดูแลสุขภาพ)
  • ห้องที่มีเอ็นเกจเมนต์สูงสุด (เข้ามาคอมเมนต์มากที่สุด) คือห้องสาระประชาชน เป็นห้องที่พูดคุยเรื่องกฎหมาย ความเดือดร้อนผู้บริโภค กระทู้ร้องเรียนปัญหา รวบรวมเอากระทู้ร้องเรียนจากทุกห้องมารวมไว้ด้วยกัน โดยกระทู้ที่มีคนคอมเมนต์มากที่สุดอยู่ที่ประมาณหลายหมื่นคอมเมนต์
  • แบรนด์ต่างๆ เริ่มมีการมาใช้ฟีเจอร์กระทู้ Advertorial ที่เขียนโดยทีมงาน Pantip มากขึ้น

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

  • Brand Expert Account ฟีเจอร์ที่เปิดให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาตอบปัญหาของผู้ใช้งานที่เขามาตั้งกระทู้ร้องเรียน สามารถใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ห้ามโฆษณาขายสินค้า

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2018 นี้

  • ฟีเจอร์ใหม่ Pantip Branded Content ที่เปิดให้แบรนด์เข้ามาเขียนกระทู้ของตัวเอง หรือใช้สมาชิกที่เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เขียนแล้ว ‘ซื้อ’ ในราคาหลักหมื่นบาทเพื่อบูสต์ให้ปรากฏในตำแหน่งพิเศษ 7 วัน (หลังจากจบ 7 วันกระทู้ยังอยู่) เปิดใช้ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งแบรนด์สามารถเลือกปิดคอมเมนต์แง่ลบได้

 

Twitter – ชนะชัย ไชยปัญญา จากบริษัท มีเดียโดนัทส์ จำกัด ตัวแทนอย่างเป็นทางการของ Twitter ประเทศไทย

ภาพรวมปี 2017

  • อัตราการเติบโตของผู้ใช้งาน Twitter ในประเทศไทยสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 16-24 ปี ที่ใช้เป็นที่ลี้ภัยจากการถูกสอดส่องของผู้ใหญ่
  • อินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่อย่าง เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร และโอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน มีส่วนช่วยทำให้บรรยากาศใน Twitter คึกคักมากขึ้น ดึงแฟนคลับเข้ามาในแพลตฟอร์ม โดย #เป๊กผลิตโชค อยู่ในอันดับ 3 ของแฮชแท็กยอดฮิตในประเทศไทย ปี 2017
  • มีสัดส่วนการเติบโตของรายรับจากค่าโฆษณาโตขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกๆ ไตรมาส
  • อยากให้มองเป็นสำนักข่าวของโลกที่มีหน้า Trends เป็นหน้าหนึ่ง โดยมีผู้ใช้ทุกคนเป็นบรรณาธิการในการอัพเดตข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์สดๆ ที่เกิดขึ้น

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

  • Promote Trend แบรนด์สามารถซื้อตำแหน่งเทรนด์อันดับ 1 ของ Twitter ได้แล้วในราคา 180,000 บาทต่อวัน (ไม่รวม Vat) และจำกัดแบรนด์เดียวเท่านั้นต่อวัน โดยตอนนี้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาลงโฆษณาได้แล้วโดยไม่ต้องผ่านเอเจนซีอีกต่อไป
  • Key Word Targeting โฆณาตามคีย์เวิร์ดแต่ละคำ เช่น เมื่อเสิร์ชคำว่า ‘หิว’ จะเจอสินค้าหมวดบริโภค

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2018 นี้

  • Content Partnership ที่ Twitter จะเข้ามาร่วมงานสนับสนุนกับแบรนด์ในแต่ละหมวดอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยทำการตลาด

 

LINE – นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร ตัวแทนจาก LINE ประเทศไทย

ภาพรวมปี 2017

  • ผู้ใช้แบบ Active User ยังอยู่ที่ 41 ล้านคน โดยผู้ใช้หน้าใหม่จะเริ่มมีอายุมากขึ้น (เบบี้ บูมเมอร์, เจนเอ็กซ์) ทำให้สัดส่วนประชากรเริ่มขยายและมีแบรนด์เข้ามาทำตลาดมากขึ้น
  • แบรนด์ไม่ได้แค่ตอบคำถามหรือส่งข้อความไปหาลูกค้า แต่เริ่มมีการทำ Business Connect หรือบริการที่เชื่อมต่อกับหลังบ้านมากขึ้นเพื่อเอ็นเกจกับผู้บริโภค เช่น แอ็กเคานต์ธนาคารที่เชื่อมต่อกับการแจ้งเตือนการทำธุรกรรม

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

  • Data Management Solution เชื่อมต่อกับระบบหลังบ้านของแบรนด์เพื่อส่งแคมเปญโปรโมชันที่เฉพาะเจาะจงถึงลูกค้าแต่ละคนตามพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการ

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2018 นี้

  • การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค เพราะ LINE ไม่มีนโยบายเก็บข้อมูลของผู้ใช้เลย
  • เป็นช่องทางช่วยให้แบรนด์ทำตลาดแบบ Customer on Demand กับผู้บริโภค เช่น การแจ้งเตือนบริการหลังการขายผ่าน Brand Official Account
  • เข้าไปเจาะตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในชื่อ ‘LINE Idol’

 

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ Google ประเทศไทย

ภาพรวมปี 2017

  • เทรนด์ Xylo Cast การถ่ายทอดสดพร้อมกันบนโทรทัศน์และช่อง Youtube Official Account เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือช่องเวิร์คพอยท์ ด้านผู้ใช้ต่างจังหวัดก็เริ่มเข้ามาใช้แพลตฟอร์มมากขึ้น
  • ประเภทชาแนลที่มีสัดส่วนยอดผู้ติดตามมากขึ้นสูงสุดใน 3 หมวด ได้แก่ Gaming, Family, Beauty

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

  • การศึกษาข้อมูลความสนใจของผู้บริโภคที่ดึงข้อมูลจากแพลตฟอร์มบริการทั้ง 7 อย่างของ Google ออกมาวิเคราะห์ให้กับแบรนด์ต่างๆ

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2018 นี้

  • ปีนี้ Youtube จะเน้นการทำโฆษณารูปแบบใหม่ผ่าน ‘True View for Action’ เพื่อดึงคนดูคลิปโฆษณาต่างๆ ให้คลิกเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของแบรนด์นั้นๆ โดยตรง

 

Facebook – ดวงพร พรหมอ่อน ตัวแทนจาก Facebook ประเทศไทย

ภาพรวมปี 2017

  • เทรนด์การนำแพลตฟอร์มไปใช้เป็นโซเชียลคอมเมิร์ซทำธุรกิจขายสินค้าเป็นจำนวนมาก รวมถึงการไลฟ์ขายของ
  • ผู้ใช้มีแนวโน้มจะเลื่อนหน้าฟีดเร็วมาก นับเป็นหลักวินาทีเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ ควรเลือกใช้ภาพประกอบ ภาพเปิดคอนเทนต์ต่างๆ ให้เหมาะกับพฤติกรรมของคนเพื่อดึงดูดความสนใจ
  • ฟีเจอร์ Instagram Story มีสัดส่วนการใช้งานสูงมากๆ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการทำตลาดผ่านฟีเจอร์นี้

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

  • Instragram Story Ad และ Messenger Ad ที่มาพร้อมกับ Messenger Bot ผู้ช่วยแชตบอตในการให้บริการข้อมูลต่างๆ

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2018 นี้

  • ฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้แบรนด์อีคอมเมิร์ซรายเล็กๆ ทำการตลาดของตัวเองเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคได้ดีขึ้น

 

ในแต่ละปี ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มย่อมมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการของตัวเองอยู่เสมอ ระดับความเปลี่ยนแปลงในบางปีอาจจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่บางปีอาจจะเปลี่ยนไปแบบเหนือความคาดหมาย (เหมือน Facebook กับการเปลี่ยนอัลกอริทึมหน้าฟีดในปี 2018) แต่ส่ิงที่สำคัญที่สุดซึ่งสปีกเกอร์ทุกๆ คนเน้นย้ำคือการที่แบรนด์และคนทำคอนเทนต์ก็ต้อง ‘ปรับตัว’ ด้วยเช่นกัน

 

เหตุผลที่ต้องปรับตัวไม่ใช่แค่เพื่อให้วิ่งตามแพลตฟอร์ม คู่แข่ง และผู้บริโภคให้ทันเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณหยุดอยู่กับที่ นั่นเท่ากับว่าคุณจะเสียโอกาสโดยสูญเปล่า ทำให้คุณล้าหลังกว่าชาวบ้านอยู่เสมอ และหนักที่สุดคือคุณจะหลุดจากวงโคจรเดิมของตัวเองอย่างน่าเสียดาย

 

สำคัญที่สุดคือหากเกิดกระบวนการนำ ‘ข้อมูล’ ที่มีมาประมวลผลเพื่อออกแบบและวางกลยุทธ์สื่อสารให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อแบรนด์ได้เมื่อไร ก็จะช่วยผ่อนแรงการทำงานได้มหาศาลตามไปด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising