Trekking – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Tue, 23 Jul 2024 03:31:21 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 Trekking 101: เคล็ดลับการเตรียมตัวสำหรับการเดินป่าครั้งแรก https://thestandard.co/life/how-to-trekking-101 Tue, 23 Jul 2024 06:00:27 +0000 https://thestandard.co/?post_type=life&p=961340 การเดินป่า

หลายคนคงเหนื่อยล้ากับการทำงานเดิมๆ เป็นกิจวัตรมาตลอดปีจ […]

The post Trekking 101: เคล็ดลับการเตรียมตัวสำหรับการเดินป่าครั้งแรก appeared first on THE STANDARD.

]]>
การเดินป่า

หลายคนคงเหนื่อยล้ากับการทำงานเดิมๆ เป็นกิจวัตรมาตลอดปีจนสะสมความเครียดความล้ามากขึ้นจนจิตใจห่อเหี่ยว จึงเริ่มมองหากิจกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ได้พักผ่อนและเพิ่มความสดชื่นให้ชีวิตก่อนที่จะหมดไฟในการทำงาน การไปเที่ยวเชิงธรรมชาติก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้ออกจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่น่าเบื่อแล้ว ยังได้ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ มีธรรมชาติรายล้อม ทำให้ใจสงบและสดชื่นมากขึ้นได้อย่างดี

 

กิจกรรมที่น่าสนุกและท้าทายของหลายๆ คนคือการไป Trekking ซึ่งหมายถึง
‘การเดินป่าระยะไกล’ ทำให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติได้เต็มที่ โดยอาจมีการค้างแรมตั้งแคมป์ในป่าเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วยก็ได้ ดังนั้นการไป Trekking จึงต้องมีการวางแผนเพื่อให้เดินทางไปให้สนุกที่สุด และไม่ทำให้เหนื่อยล้ากว่าเดิมไปอีก

 

ถ้าเราตั้งใจจะไป Trekking แล้วเราต้องเตรียมตัวอย่างไรกันบ้างนะ?

 

ก่อนอื่นให้ศึกษาลักษณะทางภูมิศาสตร์ของป่าที่จะไป Trekking โดยทั่วไป ป่าหรืออุทยานที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเดินศึกษาธรรมชาตินั้นจะมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันไป ทำให้เกิดความยากความง่ายของเส้นทางซึ่งถือเป็นเสน่ห์ในการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ ตามปกติเจ้าของเส้นทางและอุทยานต่างๆ จะมีข้อมูลต่างๆ เพื่อให้นักเดินทางได้ศึกษาเพื่อตัดสินใจ และวางแผนเตรียมตัวก่อนมาท่องเที่ยว เพื่อให้สนุกและมีความปลอดภัยมากที่สุด ตัวอย่างของข้อมูลดังกล่าวที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ศึกษาระยะทาง

 

ระยะทางทั้งหมดที่จะต้องเดินเท้า โดยมีระยะเวลามาเกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นเส้นทางการเดินป่าระยะสั้นอาจใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงในการเดิน หากระยะไกลมากขึ้นอาจใช้เวลาเช้าจรดเย็น หรือหลายวัน ซึ่งทำให้ต้องวางแผนเรื่องน้ำและอาหาร และสัมภาระที่ต้องพกพาไปด้วย

 

เข้าใจเรื่องความสูงชัน


ความสูงสะสม (Elevation Gain) หมายถึง ความสูงจากพื้นราบจุดเริ่มต้นไปยังจุดสุดท้ายรวมแล้วเป็นระยะกี่เมตร ซึ่งจะบ่งบอกถึงความชันของเขานั้นๆ ที่จะต้องไต่ตลอดเส้นทาง เนื่องจากป่าและธรรมชาติที่สวยงามมักตั้งอยู่บนเขาสูง การเดินเท้าเข้าไปย่อมต้องมีการไต่ระดับจากพื้นราบขึ้นไปตามทางลาดชัน หากเส้นทางที่ต้องการไปมีระดับความสูงสะสมยิ่งมากเมื่อเทียบกับระยะทางที่สั้น ก็จะบ่งบอกถึงความยากที่มากขึ้น จำเป็นต้องเตรียมร่างกายให้แข็งแรงพอ หรือเตรียมอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ไม้เท้าเดินป่า (Trekking Pole) เพื่อไปพิชิตเส้นทางนี้ให้ได้

 

ความสูงของยอดเขาเหนือระดับน้ำทะเล (Altitude Level) หากยอดสูงสุดของเส้นทางสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่าระดับ 2,400 เมตรขึ้นไป จะถือว่าเป็น High-Altitude Level ที่มีสภาพอากาศเบาบาง มีความเสี่ยงต่อภาวะ AMS (Acute Mountain Sickness) หรือ Altitude Sickness ที่ในไทยเรียกกันว่า ‘อาการแพ้ความสูง’ ที่ทำให้มีอาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน มีน้ำในปอด ไปจนถึงสมองบวมได้ ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานยอดเขาสูงถึงระดับนี้ แต่หากวางแผนไปเดิน Trekking ที่ต่างประเทศก็มีความจำเป็นต้องหาข้อมูลนี้ไว้เพื่อเตรียมตัวให้ดีที่สุด

 

ศึกษาสภาพอากาศ


สภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศในช่วงที่เดินทางไปท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถจัดเตรียมเครื่องแต่งกายได้เหมาะสม เช่น หากอากาศร้อนชื้นจะเหมาะกับเสื้อผ้าที่บางเบาระบายเหงื่อได้ดี แต่หากอากาศหนาวก็ควรเตรียมอุปกรณ์กันหนาวที่เหมาะกับอุณหภูมิในพื้นที่ รวมถึงถุงมือและหมวกกันหนาว เป็นต้น ทั้งนี้ แนะนำให้เตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ที่กันแสง UV ได้ดีไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร เนื่องจากอาจต้องเดินท่ามกลางแสงแดดอยู่หลายชั่วโมงนั่นเอง

 

ข้อมูลอื่นๆ ที่ควรศึกษาเพื่อการ Trekking ที่สนุกและปลอดภัยที่สุด

 

นอกเหนือจากลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้ว ข้อมูลอื่นๆ ที่ป่าและอุทยาน หรือแม้แต่โปรแกรมทัวร์เดินป่าจะให้กับนักท่องเที่ยวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การเตรียมตัวของเราทำได้ง่ายขึ้น เช่น ลักษณะการพักแรม ซึ่งบางครั้งการ Trekking จะต้องมีการพักแรมในเส้นทาง บางเส้นทางจะเป็นแบบนอนเต็นท์ บางเส้นทางจะมีบ้านพักตามจุดบริการกลางทาง ซึ่งจะทำให้มีความแตกต่างกันทั้งความสะดวกสบาย และการเข้าห้องน้ำที่ไม่คุ้นเคย จึงเป็นอีกหนึ่งในข้อมูลเพื่อการตัดสินใจและเตรียมตัว

 

เตรียมพร้อมเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม


ลักษณะอาหารและน้ำดื่มในการเดินทาง โดยนับรวมถึงมื้ออาหารที่ผู้นำเส้นทางเตรียมไว้ และอาหารพลังงานที่เราต้องจัดเตรียมไปเอง เช่น Energy Snack หรือน้ำเกลือแร่ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่แพ้อาหาร จำเป็นต้องรู้ข้อมูลส่วนนี้เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง

 

เตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัย


ระบบการรักษาความปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งตามปกติอุทยานหรือสถานที่ท่องเที่ยวจะมีจัดระบบความปลอดภัยไว้ให้นักท่องเที่ยว แต่ก็เป็นการดีไม่น้อยหากทำการศึกษาไป และเตรียมตัวเองหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จะได้ออกจากเส้นทางไปโรงพยาบาลได้อย่างเร็วที่สุด

 

อย่าลืมประเมินตนเองเพื่อวางแผนเตรียมร่างกายให้สามารถไป Trekking ได้อย่างมีความสุข ที่สำคัญที่สุด หากเราอยากไป Trekking ได้สนุกสนาน ไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป และปลอดภัยกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ก็ต้องมีการประเมินร่างกายของตัวเอง และเตรียมตัวออกกำลังกายเพื่อให้แข็งแรงพอสำหรับเส้นทางที่จะไปพิชิต

 

และอย่าลืมเช็กว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เป็นโรคประจำตัวที่สามารถเดินทางไกลได้หรือไม่ มีอาการเหนื่อยง่ายจนเป็นอันตรายหรือไม่ เป็นต้น หากมีปัญหาเหล่านี้ควรแจ้งผู้ร่วมเดินทาง หรือปรึกษาไปยังอุทยานและผู้ชำนาญพื้นที่เสมอ และในวันเดินทางต้องนำยาประจำตัวพกติดตัวไปด้วยทุกครั้ง เพื่อนำมาใช้ได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

 

ความแข็งแรงของร่างกาย หากไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนและมีแผนไปเดินป่าในระยะไกล ควรหันกลับมาเริ่มออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว สะโพก และขา รวมถึงออกกำลังกายเพื่อให้มีระบบหัวใจแข็งแรงคงทน ซึ่งหมายถึง การเวตเทรนนิ่งและออกกำลังกายคาร์ดิโอ/แอโรบิกอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ทั้งนี้ หากมีเวลาเตรียมตัวออกกำลังกายมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป จะได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนแน่นอน

 

การเตรียมความพร้อมหากต้องไปยังยอดเขาในระดับ High Altitude หรือยอดเขาที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 2,400 เมตรขึ้นไป ก็ยิ่งต้องมีการออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีความอึดให้พร้อมที่สุด รวมถึงวางแผนการเดินทางให้มีการพักผ่อน มีอาหารและน้ำดื่มที่เพียงพอ และที่สำคัญแผนการเดินทางต้องไม่รีบร้อนในการเพิ่มระดับความสูงในเส้นทางเร็วเกินไป ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิด AMS ได้ หากมีความไม่แน่ใจในเรื่องสุขภาพของตนเอง หรือมีความกังวลในการเกิด AMS สามารถนำแผนการเดินทางไปปรึกษาแพทย์ประจำตัว หรือแพทย์เวชศาสตร์การท่องเที่ยวได้ ทั้งนี้ การเตรียมยาเพื่อป้องกันการเกิด AMS ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพื่อให้ใช้ยาได้ถูกต้องและปลอดภัยนั่นเอง

 

เมื่อรู้แบบนี้แล้วการเตรียมตัวไป Trekking ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงแค่ต้องหาข้อมูลและเตรียมตัวเองให้เหมาะกับพื้นที่ที่จะเดินทางไปให้มากที่สุด หากเราเตรียมได้ดีแล้วการเดินทางครั้งนี้ก็จะสร้างความประทับใจ และได้รีเฟรชร่างกายกับจิตใจให้สดชื่นได้อย่างแน่นอน

 

 

Trekking คือ ‘การเดินป่าระยะไกล’ ทำให้ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติเต็มที่ อาจมีการค้างแรมตั้งแคมป์ในป่าเป็นระยะเวลาหนึ่งด้วย

 


 

 

ก่อนไป Trekking ควรศึกษาเส้นทางและหาข้อมูล เพื่อให้นักเดินทางได้ศึกษาและวางแผนเตรียมตัวก่อนมาท่องเที่ยว จะได้สนุกและมีความปลอดภัยมากที่สุด

 


 

 

ระยะทางทั้งหมดที่จะต้องเดินเท้า โดยมีระยะเวลามาเกี่ยวข้อง หากเดินป่าระยะไกลอาจใช้เวลาเช้าจรดเย็นหรือหลายวัน จึงต้องวางแผนเรื่องน้ำ อาหาร และสัมภาระให้เพียงพอเหมาะสม

 


 

 

เตรียมร่างกายให้แข็งแรงพอ หรือเตรียมอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ไม้เท้าเดินป่า (Trekking Pole) เพื่อไปพิชิตเส้นทางที่แตกต่างเรื่องความสูงชันในแต่ละพื้นที่ให้สำเร็จ

 


 

 

ศึกษาสภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศในช่วงที่เดินทาง เพื่อจัดเตรียมเครื่องแต่งกายได้อย่างเหมาะสม เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์กันแดด กันฝน หรือกันหนาว

 


 

 

เตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งตามปกติอุทยานหรือสถานที่ท่องเที่ยวจะมีการจัดระบบความปลอดภัยไว้ให้นักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ควรศึกษาไว้เพิ่มเติม หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะได้ออกจากเส้นทางไปโรงพยาบาลได้อย่างเร็วที่สุด

 


 

 

ประเมินร่างกายของตัวเอง และเตรียมตัวออกกำลังกายเพื่อให้แข็งแรงพอสำหรับเส้นทางที่จะไปพิชิต

 


 

 

อย่าลืมเช็กว่าตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เป็นโรคประจำตัวที่สามารถเดินทางไกลได้หรือไม่ มีอาการเหนื่อยง่ายจนเป็นอันตรายหรือไม่ ในวันเดินทางต้องนำยาประจำตัวพกติดตัวไปด้วยทุกครั้ง เพื่อนำมาใช้ได้ทันทีหากเกิดเหตุฉุกเฉิน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

The post Trekking 101: เคล็ดลับการเตรียมตัวสำหรับการเดินป่าครั้งแรก appeared first on THE STANDARD.

]]>
โคลิน โอ’เบรดี นักสำรวจคนแรกของโลก ที่เดินทางข้ามแอนตาร์กติกสำเร็จโดยไร้ความช่วยเหลือ https://thestandard.co/colin-obrady-first-person-to-cross-antarctica-alone-and-unaided/ https://thestandard.co/colin-obrady-first-person-to-cross-antarctica-alone-and-unaided/#respond Fri, 28 Dec 2018 06:11:07 +0000 https://thestandard.co/?p=172320

โคลิน โอ’เบรดี ถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะหนึ่ง […]

The post โคลิน โอ’เบรดี นักสำรวจคนแรกของโลก ที่เดินทางข้ามแอนตาร์กติกสำเร็จโดยไร้ความช่วยเหลือ appeared first on THE STANDARD.

]]>

โคลิน โอ’เบรดี ถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะหนึ่งในนักผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อเขาเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถเดินทางข้ามแอนตาร์กติกอันกว้างใหญ่และหนาวเหน็บโดยลำพังและปราศจากความช่วยเหลือใดๆ

 

นักสำรวจชาวอเมริกันวัย 33 ปี ใช้เวลา 54 วัน ในการเดินทางรวม 1,500 กิโลเมตร (932 ไมล์) และถึงจุดหมายบนหิ้งน้ำแข็งรอสส์ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (26 ธ.ค.) ซึ่งตรงกับวันเปิดกล่องของขวัญ (Boxing Day) ในเทศกาลคริสต์มาส แน่นอนว่า เส้นชัยแห่งความสำเร็จ คือรางวัลแห่งความเพียรพยายามของเขา

 

บนรถลากเลื่อนหิมะที่เขาลากไปด้วยในระหว่างเดินทาง บรรทุกสิ่งของจำเป็นรวมน้ำหนักประมาณ 181 กิโลกรัม ก่อนจะเริ่มออกสตาร์ท โดยส่วนใหญ่เป็นอาหารที่เพียงพอสำหรับประทังชีวิตนานกว่า 2 เดือน ประกอบด้วยข้าวโอ๊ตบดหยาบๆ อาหารแห้ง และเอ็นเนอร์จีบาร์ที่ให้พลังงานเป็นหลัก นอกนั้นก็เป็นเต็นท์ ถุงนอน กล้อง โทรศัพท์ดาวเทียม และเชื้อเพลิงสำหรับประกอบอาหารและต้มน้ำ

 

เขาเผยว่า ระหว่างทางต้องกินอาหารเดิมๆ ทุกมื้อ เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอในการเดินทางแต่ละวัน ซึ่งแน่นอนว่า การคำนวณแคลอรีในอาหารให้เพียงพอก่อนออกเดินทางเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะต้องแน่ใจว่าเขาจะมีพลังงานเพียงพอ ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมสิ่งของที่บรรทุกบนรถเลื่อนไม่ให้หนักจนเกินไป หรือให้เบาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

ในเรื่องความเร็วในการเดินทาง โอ’เบรดีทำเวลาในแต่ละช่วงได้น่าพอใจเช่นกัน เขาสามารถไปถึงจุดหมายได้ก่อนกำหนดถึง 16 วัน จากที่เคยตั้งเป้าไว้ 70 วันในตอนแรก

 

ในช่วง 125 กิโลเมตรสุดท้าย โอ’เบรดีเดินทางไม่หยุดหย่อน โดยไม่นอน 32 ชั่วโมงติดต่อกัน เขาเปรียบมันว่า เหมือนการวิ่งอัลตรามาราธอนบนแอนตาร์กติกเลยก็ว่าได้

 

“ผมไม่ฟังเพลง ผมมีสมาธิอยู่กับมัน เหมือนผมเดินทางไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสำเร็จ มันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง สวยงาม และเป็นหนทางที่มหัศจรรย์ในการไปให้ถึงเส้นชัย” โอ’เบรดีเปิดใจกับ New York Times หลังถึงจุดหมาย  

 

ก่อนหน้านี้มีหลายคนที่เคยพยายามแบบโอ’เบรดี แต่ก็ไม่สำเร็จ โดยบางคนยอมแพ้กลางทาง หรือเสียชีวิตในระหว่างทาง

 

หลังจากนี้ก็ต้องรอลุ้นกันต่อว่าจะมีนักสำรวจคนไหนที่ทำได้อย่างโอ’เบรดีหรือไม่ โดยคนที่ใกล้เคียงที่สุดในเวลานี้คือ หลุยส์ รัดด์ นักสำรวจชาวอังกฤษ ที่ยังอยู่ในระหว่างเดินทางข้ามแอนตาร์กติกเช่นกัน เขาเหลือระยะทางอีกไม่กี่สิบกิโลเมตร ก่อนจะถึงจุดหมายที่ธารน้ำแข็งเลเวอเรตต์ในช่วงไม่กี่วันข้างหน้านี้  

 

ภาพ: Colin O’Brady / Instagram

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

The post โคลิน โอ’เบรดี นักสำรวจคนแรกของโลก ที่เดินทางข้ามแอนตาร์กติกสำเร็จโดยไร้ความช่วยเหลือ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/colin-obrady-first-person-to-cross-antarctica-alone-and-unaided/feed/ 0
เมื่อเส้นทางหฤโหด Annapurna Sanctuary หรือแชงกรีล่าแห่งเนปาลได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ที่อยู่อาศัย https://thestandard.co/annapurna-sanctuary-residence-inspiration/ https://thestandard.co/annapurna-sanctuary-residence-inspiration/#respond Fri, 03 Aug 2018 01:58:01 +0000 https://thestandard.co/?p=111335

เราอยากให้คุณลองคิดดูเล่นๆ ว่าถ้าหากเส้นทางสายโหดสู่เทื […]

The post เมื่อเส้นทางหฤโหด Annapurna Sanctuary หรือแชงกรีล่าแห่งเนปาลได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ที่อยู่อาศัย appeared first on THE STANDARD.

]]>

เราอยากให้คุณลองคิดดูเล่นๆ ว่าถ้าหากเส้นทางสายโหดสู่เทือกเขาหิมาลัยได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างที่อยู่อาศัยย่านใจกลางเมือง คุณคิดว่าสถานที่แห่งนั้นจะเป็นอย่างไร จะอบอุ่นน่าอยู่ แปลกใหม่ท้าทายผู้อยู่อาศัย หรือจะเป็นสถานที่ทำให้คุณรู้สึกถึงความสำเร็จหลังเอาชนะอุปสรรคต่างๆ รู้สึกปลดปล่อยจากปัญหาทั้งปวง หรือรู้สึกสบายใจและปลอดภัยทุกครั้งที่ได้กลับมา  

 

จุดเริ่มต้นแห่งแรงบันดาลใจ

เป็นที่รู้กันในหมู่นักเทร็กกิ้งว่าเส้นทางสายอันนาปุรณะ Annapurna Sanctuary Circuit หรือแชงกรีล่าแห่งเนปาล ถือเป็นเส้นทางเริ่มต้นสำหรับผู้ที่รักการเดินเขา เส้นทางสายนี้เป็นการเดินเท้าเพื่อขึ้นไปยังภูเขาอันนาปุรณะที่ทอดยาวสุดลูกหูลูกตา ซึ่งถ้าเดินจนรอบต้องใช้เวลาทั้งหมดกว่า 20-22 วัน นับเป็นระยะทาง 200 กิโลเมตร แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเส้นทางการเดินที่คุณและคณะวางแผนไว้ แต่ถึงกระนั้นระยะเวลาที่ต้องเดินเท้าต่อวันโดยประมาณอยู่ที่ 5-6 ชั่วโมง โดยเริ่มเดินตั้งแต่บริเวณตีนเขา แล้วค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไปสู่ยอดฟ้า ตลอดเส้นทางเดินมีทั้งทางราบและขึ้นเนิน ผ่านลำธารน้ำใส  ป่าเขียวชอุ่มราวกับป่าเขตร้อน และทุ่งหิมะหนาวเหน็บภายใต้อุณหภูมิลดต่ำ

 

 

เมื่อตะวันลาจากท้องฟ้า จุดค้างแรมได้แก่หมู่บ้านหรือจุดแวะพักต่างๆ ซึ่งนักเดินทางต้องวางแผนกันให้รอบคอบ เพราะบางครั้งหากพลาดจากหมู่บ้านนี้ไปอาจต้องใช้เวลาเดินนานนับหลายชั่วโมงกว่าจะถึงจุดพักถัดไป

 

 

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าเส้นทางสายนี้เป็นการเดินขึ้นเขา ดังนั้นยิ่งสูงระดับออกซิเจนยิ่งต่ำกว่าพื้นที่บนดิน ส่งผลให้ระบบหายใจต้องทำงานหนักขึ้น ทำให้เราเหนื่อยง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นที่ด้านบนที่ปกคลุมไปด้วยทุ่งหิมะขาวโพลน

 

 

แต่เมื่อน้ำแข็งละลายจะกลายเป็นลำธารสะท้อนความสวยงามของธรรมชาติ ที่สวยแทบลืมหายใจกันเลยทีเดียว

 

 

ด้วยความหลากหลายทางสภาพภูมิศาสตร์ที่ได้กลายมาเป็นเสน่ห์ของเส้นทางสายนี้ เมื่อนักเดินทางต้องเผชิญกับพื้นที่ป่า แม่น้ำ หิมะ รวมถึงพรรณไม้และสัตว์ป่านานาชนิดที่คาดเดาไม่ได้ ผู้ที่สามารถพิชิตเส้นทางนี้ได้จึงต้องมีทั้งใจที่กล้าแกร่ง สภาพร่างกายที่แข็งแรง และความอึดที่ไม่ย่อท้อต่อความเหนื่อย

 

 

แน่นอนว่าแม้เส้นทางจะหฤโหดขนาดไหนก็ตาม แต่รางวัลที่ได้ย่อมคุ้มค่าเสมอ เพราะวินาทีที่คุณสามารถขึ้นไปยืนในจุดที่หมายมั่นเอาไว้ คุณจะรู้สึกถึงพลังในตัวคุณที่สามารถนำพาคุณมาสู่ความสำเร็จสูงสุด  

 

เป็นมากกว่า ‘ที่พัก’

จากการเดินทางเส้นทางสายอันนาปุรณะได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ Life Ladprao Valley จาก AP ในการสร้างที่อยู่อาศัยภายใต้แนวคิด Live Your Adventurous Spirit ความน่าสนใจคือคอนโดแห่งนี้จัดวางรูปแบบอาคารและดีไซน์อาคารให้คล้ายกับเหลี่ยมมุมของหุบเขา มีการเล่นระดับคล้ายภูเขาสูงใหญ่ตั้งตระหง่านกลางแยกลาดพร้าว พื้นที่ส่วนกลางกว่า 2 ไร่ถูกปรับให้เป็นพื้นที่สีเขียวคล้ายป่าเขตร้อนที่ปกคลุมด้านล่าง

 

Grotto Pool

 

ในขณะที่ชั้นบนเป็นส่วนของพื้นน้ำให้อารมณ์เหมือนแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่สามารถขึ้นไปสู่ด้านบนด้วย Skywalk Circuit หรือสะพานเหล็กที่ทอดยาวสู่ชั้นสูงสุดของอาคาร เปรียบเสมือนการเดินเทร็กกิ้งพิชิตยอดเขา

 

ไอเดียการออกแบบ Skywalk

 

ทั้งหมดนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการมากกว่าความหรูหราอยู่สบาย หากแต่ต้องสะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งการผจญภัย ที่พร้อมเผชิญหน้ากับทุกความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิต

 

Photo: Courtesy of AP, shutterstock

The post เมื่อเส้นทางหฤโหด Annapurna Sanctuary หรือแชงกรีล่าแห่งเนปาลได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้ที่อยู่อาศัย appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/annapurna-sanctuary-residence-inspiration/feed/ 0