Teahupo’o – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 17 Jul 2024 08:38:50 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ปารีส 101: ทุกเรื่องน่ารู้สำหรับโอลิมปิกเกมส์ 2024 https://thestandard.co/paris-101-olympics-interesting-things-2024/ Wed, 17 Jul 2024 11:00:33 +0000 https://thestandard.co/?p=959148 ปารีส โอลิมปิกเกมส์ 2024

อีกเพียงไม่กี่วันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ปารีส […]

The post ปารีส 101: ทุกเรื่องน่ารู้สำหรับโอลิมปิกเกมส์ 2024 appeared first on THE STANDARD.

]]>
ปารีส โอลิมปิกเกมส์ 2024

อีกเพียงไม่กี่วันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส จะเริ่มเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ

 

THE STANDARD SPORT ขอถือโอกาสนี้พาแฟนกีฬาไปทำความรู้จักกับโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้กันให้มากขึ้นผ่านโลโก้, คบเพลิง, เหรียญรางวัล, มาสคอต, สนามแข่งขันสุดเจ๋ง และทุกเรื่องน่ารู้อีกมากมายจากโอลิมปิกเกมส์ 2024

 

 

โลโก้, ธีม, คบเพลิง และมาสคอตของ Paris 2024

 

โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 มาในธีมสีน้ำเงิน แดง เขียว และม่วง เพื่อแสดงถึงความหลากหลายในฝรั่งเศส และเพื่อสื่อถึงสโลแกนของมหกรรมกีฬาในครั้งนี้ที่มีชื่อว่า Games Wide Open โอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน

 

โลโก้ได้รับการออกแบบโดย Sylvain Boyer ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส จากบริษัท Ecobranding & Royalties ซึ่งภายในโลโก้ได้ใส่ 3 สัญลักษณ์สำคัญลงไป ประกอบด้วยเหรียญทอง (สัญลักษณ์ความสำเร็จ), เปลวไฟ (สัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่น) และ Marianne (สัญลักษณ์แห่งฝรั่งเศส)

 

คบเพลิงของโอลิมปิกเกมส์ 2024 ได้แรงบันดาลใจจากผิวน้ำของแม่น้ำสายหลักของเมือง เป็นผลงานการดีไซน์ของ Mathieu Lehanneur นักออกแบบชาวฝรั่งเศส และผลิตโดยบริษัทเหล็ก ArcelorMittal

 

โดยตัวคบเพลิงทรงมนทำมาจากเหล็ก ด้านบนจะเป็นพื้นผิวเรียบและมีการประดับโลโก้ Marianne ที่เป็นหน้าผู้หญิงและเปลวเพลิงบนเหรียญทอง ส่วนด้านล่างไล่มาจนถึงด้ามจับจะเป็นพื้นผิวโลหะคล้ายผิวน้ำของแม่น้ำแซนที่สะท้อนส่วนบนอย่างสมมาตร

 

ขณะที่ Phryges คือมาสคอตที่จะใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส โดยได้รับการออกแบบมาจากหมวกฟรีจีอุส (Phryges) หรือที่รู้จักกันในชื่อหมวกเสรีภาพ ซึ่งเป็นหมวกทรงกรวยแบบโมเดิร์น โดยจุดประสงค์ของการใช้หมวกฟรีจีอุสมาออกแบบเป็นมาสคอตคือเพื่อเป็นการสื่อถึงจิตวิญญาณของฝรั่งเศสอย่างชัดเจน

 


 

ปารีส โอลิมปิกเกมส์ 2024

 

เหรียญรางวัลและชุดผู้อัญเชิญเหรียญ

 

เหรียญรางวัลของโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ทั้งหมดได้รับแรงบันดาลใจจากหอไอเฟล โดยด้านหน้าจะเป็นเหล็กรูป 6 เหลี่ยม วางลงบนเหรียญทอง เพื่อสื่อถึงลักษณะแผนที่ประเทศฝรั่งเศสที่มีความคล้ายรูป 6 เหลี่ยม ซึ่งแผ่นเหล็กเหล่านี้ก็มีความเชื่อมโยงกับหอไอเฟล เนื่องจากเหล็กเหล่านี้ถูกเก็บไว้เพื่อใช้บูรณะซ่อมแซมหอไอเฟลนั่นเอง

 

ส่วนด้านหลังนอกจากจะมีรูปเทพีไนกี ซึ่งเป็นเทพีแห่งชัยชนะตามธรรมเนียมแล้ว ยังมีการแกะสลักภาพหอไอเฟลไว้ฝั่งขวา ขณะที่ฝั่งซ้ายคืออะโครโพลิสแห่งเอเธนส์ด้วย

 

ขณะที่ชุดแต่งกายสำหรับผู้อัญเชิญเหรียญรางวัลให้กับนักกีฬา รวมถึงถาด ผ่านการออกแบบโดย Louis Vuitton ซึ่งตัวถาดอัญเชิญเหรียญถูกออกแบบให้มีความหรูหราและเข้ากับเหรียญรางวัลทั้ง 3 สี

 

ส่วนชุดของอาสาสมัครที่อัญเชิญเหรียญรางวัลถูกออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 1924 แต่เพิ่มความทันสมัยเข้าไป เพื่อปรับรูปลักษณ์ให้ออกมาดูดีและเหมาะกับการเป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่นของโลกให้มากที่สุด และด้วยคอนเซปต์ด้านความหลากหลาย รวมไปถึงความเท่าเทียม ชุดนี้ยังถูกออกแบบมาให้ไม่มีการแบ่งเพศ โดยสามารถใส่ได้ทั้งชายและหญิงในชุดเดียวกันด้วย

 


 

 

โปสเตอร์ 2 เวอร์ชัน

 

โปสเตอร์โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 (เวอร์ชันกลางวัน) ได้รับการออกแบบโดย Ugo Gattoni ศิลปินจากปารีส ที่รวมภาพของสถานที่สำคัญในปารีส ทั้งหอไอเฟล, ประตูชัยฝรั่งเศส (Arc de Triomphe) และกรองด์ ปาเลส์ (Grand Palais)

 

รวมถึงสนามกีฬาและสถานที่ต่างๆ ที่จะถูกใช้ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ ทั้ง Stade de France และแม่น้ำแซน ที่จะใช้เป็นสถานที่สำหรับพิธีเปิดการแข่งขัน และทะเลที่สื่อถึงตาฮิติ สถานที่แข่งขันของกีฬาเซิร์ฟ โดยโปสเตอร์ชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะแบบ Surrealism

 

ส่วนโปสเตอร์ (เวอร์ชันกลางคืน) จะแสดงให้เห็นถึงช่วงค่ำคืนของโปสเตอร์เวอร์ชันแรก ซึ่งสื่อถึงการเฉลิมฉลองทั้งกลางวันและกลางคืนในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ปารีส

 


 

ปารีส โอลิมปิกเกมส์ 2024

 

Pictogram

 

สำหรับ Pictogram หรือสัญลักษณ์ของกีฬาแต่ละชนิดของโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้มีองค์ประกอบการออกแบบทั้งหมด 3 องค์ประกอบ แกนสมมาตร, รูปสนามกีฬาชนิดนั้น และสัญลักษณ์บางอย่างที่สื่อถึงกีฬาชนิดนั้น 

 

ซึ่งในปารีส 2024 ครั้งนี้ การออกแบบมีความคล้ายคลึงกับเม็กซิโกในปี 1968 ที่เลือกใช้อุปกรณ์กีฬาเป็นภาพสัญลักษณ์บน Pictogram และเชื่อว่าการออกแบบ Pictogram ในปี 1968 ที่เม็กซิโก เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ Iconography ที่ถูกนำมาออกแบบไอคอนบนแอปพลิเคชันที่เราใช้งานกันในสมาร์ทโฟนทุกวันนี้อีกด้วย

 


 

 

สนามใจกลางกรุงปารีส และอุปกรณ์การแข่งขัน

 

อีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจของโอลิมปิกเกมส์ 2024 คือสนามวอลเลย์บอลชายหาดที่ถูกยกมาจัด ณ ใจกลางกรุงปารีส เช่นเดียวกับสถานที่อื่นๆ เช่น พระราชวังแวร์ซายส์, กรองด์ ปาเลส์ และจัตุรัสคองคอร์ด นับเป็นแลนด์มาร์กของสนามกีฬาสุดว้าวแห่งโอลิมปิกเกมส์ 2024

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เพียงสถานที่เท่านั้นที่ถูกปรับแต่งเพื่อการแข่งขัน แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขันอย่างลูกฟุตบอล, ลูกบาสเกตบอล, ลูกขนไก่ ก็มีการดัดแปลงดีไซน์เพื่อให้สีสันสอดคล้องกับธีมการแข่งขันให้มากที่สุด

 


 

ปารีส โอลิมปิกเกมส์ 2024

 

พิธีเปิดในแม่น้ำแซน

 

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้คือการใช้พื้นที่ ‘แม่น้ำแซน’ ในการทำหน้าที่เป็นพิธีเปิดการแข่งโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ที่แฟนกีฬาทั่วโลกต่างเฝ้ารอชมว่าจะมีความอลังการและตระการตามากขนาดไหน

 


 

 

การแข่งเซิร์ฟที่เกาะตาฮิติ

 

หนึ่งในโลเคชันสุดเจ๋งที่ได้รับการยกย่องว่าน่าสนใจในการใช้จัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้คือ Teahupo’o อยู่ที่เกาะตาฮิติ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปารีสราว 15,288 กิโลเมตร มีชื่อเสียงว่าเป็นหนึ่งในสถานที่โต้คลื่นที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งจะถูกใช้เป็นพื้นที่แข่งขันเซิร์ฟในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ด้วย

 


 

ปารีส โอลิมปิกเกมส์ 2024

 

Stade de France ถูกเนรมิตเป็นลู่วิ่งสีม่วง

 

สนามสต๊าดเดอฟรองซ์ (Stade de France) ที่มีความจุ 80,698 ที่นั่ง ได้รับการแปลงโฉมครั้งใหญ่เพื่อจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 โดยมีไฮไลต์อยู่ที่การปรับลู่วิ่งที่ใช้แข่งขันกีฬากรีฑาให้กลายเป็นสีม่วง 

 

โดยลู่วิ่งสีม่วงเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีชื่อว่า Mondotrack EB ออกแบบโดยบริษัท Mondo ของอิตาลี ซึ่งลู่วิ่งสีม่วงนี้ไม่เพียงแตกต่างจากลู่วิ่งสีน้ำตาลแดงดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังได้รับการออกแบบทางวิศวกรรมให้เป็นพื้นผิวที่ทำให้วิ่งได้เร็วที่สุดในโลก ซึ่ง Mondo ยืนยันว่าจะสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับทั้งนักกีฬา และยกระดับประสบการณ์การมองเห็นของผู้ชมได้อย่างแน่นอน

 


 

 

นักกีฬาไทย 51 ชีวิต จาก 16 ชนิดกีฬา

 

สำหรับโอลิมปิกเกมส์ 2024 มีนักกีฬาไทยคว้าโควตาเข้าร่วมการแข่งขันได้ทั้งหมด 51 คน จาก 16 ชนิดกีฬา เช่น พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ (เทควันโด รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง), กุลวุฒิ วิทิตศานต์ (แบดมินตันชายเดี่ยว), เดชาพล พัววรานุเคราะห์ กับ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย (แบดมินตันคู่ผสม), ภูริพล บุญสอน (กรีฑา วิ่ง 100 เมตรชาย) รวมถึง อาฒยา ฐิติกุล (กอล์ฟบุคคลหญิง)

 


 

ปารีส โอลิมปิกเกมส์ 2024

 

เกาะติดโอลิมปิกเกมส์ 2024 กับ THE STANDARD SPORT

 

ร่วมเกาะติดทุกความเคลื่อนไหวกับทีมงานภาคสนามของ THE STANDARD SPORT ที่จะรายงานสดก่อนพิธีเปิดในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ เพื่อนำคอนเทนต์สุดเอ็กซ์คลูซีฟส่งตรงจากกรุงปารีสกลับมายังประเทศไทยในแง่มุมที่หลากหลาย

 

พร้อมเว็บไซต์พิเศษสำหรับแฟนกีฬาและผู้ที่สนใจติดตามการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 โดยเราจะนำเสนอทั้งความเคลื่อนไหวของนักกีฬาไทยที่จะเดินทางไปแข่งขันทั้งหมด 51 คน จาก 16 ชนิดกีฬา และนักกีฬาชั้นนำของโลกที่ลงแข่งขันครั้งนี้

 

นอกจากความเคลื่อนไหวด้านกีฬาแล้ว ยังสามารถติดตามสีสันนอกสนาม ทั้งเรื่องการออกแบบ แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ ที่เกิดขึ้นจากกรุงปารีสใน Art of Olympic ซีรีส์ที่จะนำเสนอแง่มุมของการออกแบบที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นเหมือนกับแรงบันดาลใจอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันกีฬา

 

เข้าชมเว็บไซต์พิเศษได้แล้ววันนี้: https://thestandard.co/paris2024/

 

ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

The post ปารีส 101: ทุกเรื่องน่ารู้สำหรับโอลิมปิกเกมส์ 2024 appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทำไมโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ถึงอยากจัดแข่งโต้คลื่นในพื้นที่ที่ห่างออกไปอีกเกือบครึ่งโลก https://thestandard.co/paris-2024-teahupoo/ Thu, 09 Nov 2023 13:18:39 +0000 https://thestandard.co/?p=864178

15,706 กิโลเมตร คือระยะทางจากปารีสไปตาฮิติ ซึ่งหากมองแค […]

The post ทำไมโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ถึงอยากจัดแข่งโต้คลื่นในพื้นที่ที่ห่างออกไปอีกเกือบครึ่งโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>

15,706 กิโลเมตร คือระยะทางจากปารีสไปตาฮิติ ซึ่งหากมองแค่ที่ตัวเลข หลายคนคงนึกภาพไม่ออกว่ามันไกลขนาดไหน เพื่อให้เห็นภาพมากกว่านั้นก็อาจต้องยกเส้นรอบวงของโลกใบนี้มาเทียบ โดยเส้นรอบวงที่เส้นศูนย์สูตรยาว 40,077 กิโลเมตร ขณะที่เส้นรอบวงที่ขั้วโลกยาว 40,009 กิโลเมตร (คงทราบกันดีว่าโลกไม่ได้เป็นทรงกลมโดยสมบูรณ์) 

 

นั่นหมายความว่า ระยะทางจากปารีสไปตาฮิติ แม้จะไม่ถึงระยะทางราวครึ่งโลก แต่ก็ถือว่าใกล้เคียง ถ้าจะตีเป็นตัวเลขกลมๆ ก็อยู่ที่ราว 2 ใน 5 ของเส้นรอบวงของโลกใบนี้เลยทีเดียว

 

แต่ระยะทางไกลขนาดนั้นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับฝ่ายจัดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 หรือ OCOG ที่จะเลือกชายหาดทีฮูโป (Teahupo’o) ให้มาเป็นสังเวียนในการแข่งขันกีฬาโต้คลื่นในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

 

ทีฮูโปสวรรค์ของนักโต้คลื่น

 

ไม่ใช่แค่ทีฮูโปเท่านั้น แต่เกาะตาฮิติทั้งเกาะขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักโต้คลื่น เพียงแต่ว่าทีฮูโปนับเป็นพื้นที่ที่โด่งดังที่สุดในตาฮิติที่มักจะถูกใช้แข่งขันกีฬาโต้คลื่น

 

อันที่จริงแล้วในแวดวงนักกีฬาโต้คลื่นจะรู้จักทีฮูโปกันเป็นอย่างดี และรู้จักมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะหากย้อนกลับไป เวิลด์เซิร์ฟลีก หรือ WSL ซึ่งคือลีกการแข่งขันโต้คลื่นอันดับ 1 ของโลก ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1976 เลือกที่จะใช้ทีฮูโปเป็นสนามประจำในการแข่งขันแต่ละฤดูกาลมาตั้งแต่ปี 1999 แล้ว

 

เมื่อกีฬาชนิดนี้แพร่หลายและมีคนติดตามมากขึ้นหาดทีฮูโปยิ่งกลายเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนักโต้คลื่นว่าเป็น ‘ปลายทางในฝัน’ ที่ต้องไปลองโต้คลื่นให้ได้สักครั้ง

 

 

สาเหตุที่ทำให้ทีฮูโปเป็นสุดยอดหาดโต้คลื่นเบอร์ต้นๆ ของโลก นอกจากคลื่นสูงที่มีมาเกือบตลอดปีทำให้การโต้คลื่นเป็นไปอย่างสนุกแล้ว ทิวทัศน์ของทีฮูโปเรียกได้ว่าเหมือนสรวงสวรรค์ เพราะนอกจากน้ำทะเลสีครามใสตรงหน้า ด้านหลังยังเป็นภูเขาสูงเขียวชอุ่ม นอกจากนี้ทีฮูโปยังเป็นหาดที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทำให้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่ยอดเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งในตาฮิติอีกด้วย

 

นอกจากเรื่องของการแข่งขันแล้ว ทีฮูโปยังมีแนวปะการังที่สวยงาม และไม่จำเป็นต้องออกจากฝั่งไปไกลนักก็สามารถดำน้ำลงดูได้แล้ว (แม้ว่ายิ่งออกไปไกลก็แนวปะการังจะยิ่งสมบูรณ์ก็ตาม)

 

เหตุผลที่ว่ามาจึงไม่ใช่เรื่องแปลที่ OCOG จะมองว่า นี่คือตัวเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการแข่งขันกีฬาโต้คลื่นในโอลิมปิกเกมส์ 2024 และนอกจากฝ่ายจัดอยากจัดที่นี่แล้ว นักโต้คลื่นจำนวนมากก็อยากไปแข่งขันที่นี่เช่นเดียวกัน

 

ข้อจำกัดด้านเวลาพาไปไกล

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่กลายเป็นเรื่องสำคัญทำให้ทีฮูโปกลายมาเป็นตัวเลือกแรกๆ ของ OCOG คือปัญหาด้านเวลาและสถานที่ในฝรั่งเศสเอง

 

แม้ว่าฝรั่งเศสจะมีชายหาดขึ้นชื่อหลายแห่งที่ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกอย่าง บียาร์ริตซ์, ลากานู, เลส์ ลองด์, ลา ทอร์กช์ แต่ด้วยระยะเวลาในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ซึ่งไม่ใช่ช่วงเวลาที่มีคลื่นซึ่งมีคุณภาพเพียงพอจะแข่งขันโต้คลื่นได้เลย

 

ต่างจากในตาฮิติที่ฤดูคลื่นจะมีขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนถึงตุลาคม อันที่จริงแล้วต้องกล่าวว่าช่วงเวลาในเดือนสิงหาคม แทบจะเป็นโกลเดนพีเรียดสำหรับการโต้คลื่นเลยด้วยซ้ำ 

 

ดังนั้นตัวเลือกของฝ่ายจัดการแข่งขันจึงต้องมองไปยังตาฮิติเป็นหลัก เพราะนอกจากเรื่องของความเหมาะสมสภาพสนามแล้ว ปัจจัยอื่นๆ อย่างความต้องการของนักกีฬา และความสนุกในการแข่งขันก็ล้วนแต่มีผลทั้งสิ้น

 

เพราะหากสุดท้าย พวกเขาฝืนจัดการแข่งขันในฝรั่งเศส แต่วันแข่งขันคลื่นเกิดสูงแค่ 2 เมตร หรือแทบไม่มีคลื่นขึ้นมา การแข่งขันกีฬาโต้คลื่นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกคงกร่อยน่าดูทีเดียว

 

 

ไกลแต่อย่างไรก็คือบ้าน

 

ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันว่าโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 จะจัดขึ้นที่ทีฮูโปจริงหรือไม่ เพราะต้องรอการอภิปรายและศึกษาเพิ่มเติมที่จะได้ข้อสรุปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดเกี่ยวกับสถานที่ที่จะใช้จัดการแข่งขันกีฬาชนิดนี้

 

แต่ถ้าหากทีฮูโปกลายมาเป็นเวทีในการจัดการแข่งขันโต้คลื่นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกจริง นี่จะกลายเป็นการจัดแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่การชิงเหรียญรางวัลในกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งห่างไกลจากเมืองเจ้าภาพที่สุดในประวัติศาสตร์ทันที ด้วยระยะทางถึง 15,706 กิโลเมตร

 

โดยสถิติเดิมที่หลายคนเชื่อว่าไม่มีทางถูกทำลายได้ เกิดขึ้นในโอลิมปิกเกมส์ เมลเบิร์น 1956 ที่การชิงเหรียญทองกีฬาขี่ม้าต้องไปแข่งขันกันที่กรุงสตอกโฮม ประเทศสวีเดน ห่างออกไปประมาณ 15,589 กิโลเมตร โดยการแข่งขันดังกล่าวยังเกิดขึ้นก่อนพิธีเปิดการแข่งขันถึง 5 เดือนด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันโต้คลื่นที่ตาฮิตินั้นจะต่างออกไป เพราะอย่างไรก็ตาม ตาฮิติก็เป็นส่วนหนึ่งของเฟรนช์โปลินีเซีย ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมโพ้นทะเลของฝรั่งเศสมาก่อน

 

แม้ปัจจุบันเฟรนช์โปลินีเซียจะได้รับการยกสถานะจากฝรั่งเศสให้เป็นประเทศโพ้นทะเลเพื่อเน้นความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของดินแดนแล้วก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติพวกเขายังต้องรับความช่วยเหลือทางการเงินจากฝรั่งเศสแผ่นดินใหญ่อยู่ดี

 

อำนาจของฝรั่งเศสที่อยู่เหนือเฟรนช์โปลินีเซียทำให้กลายเป็นภาวะจำยอม ที่ส่งผลให้ฝ่ายจัดการแข่งขันสามารถเป็นฝ่ายเลือกให้ตาฮิติจัดการแข่งขันโต้คลื่นได้ ซึ่งต่างจากในปี 1956 ที่ออสเตรเลียต้องขอความร่วมมือไปยังสวีเดนเพื่อขอให้จัดการแข่งขันแทนนั่นเอง

 

ผลพลอยได้ที่มองไม่เห็น

 

แม้ที่เล่ามาจะดูเหมือนว่าฝ่ายจัดการแข่งขันฯ จะเป็นฝ่ายชี้นิ้วสั่งและเลือกให้ทีฮูโปจัดแข่งขันกีฬาโต้คลื่น แต่สิ่งหนึ่งที่เฟรนช์โปลินีเซียและตาฮิติจะได้รับหลังจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 จบลง คือการที่ดินแดนแห่งนี้จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสายตาชาวโลก และน่าจะมีคนอยากมาท่องเที่ยวในตาฮิติเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

จากรายงานเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยเฟรนช์โปลินีเซียระบุว่า รายได้หลักของประเทศขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว แต่ตัวเลขในปี 2022 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาเยือนตาฮิติเพียงแค่ 219,000 คนเท่านั้น ซึ่งพวกเขาตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนแตะหลัก 300,000 คนหลังจบปีนี้ (2023)

 

แม้จะถึง 3 แสนคนตามเป้าที่ตั้งไว้ แต่นั่นยังไม่ใช่ตัวเลขที่มากมายอยู่ดีหากเทียบกับประเทศที่มีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ทว่าหากชาวโลกนับพันล้านคนที่ได้เห็นความงดงามของเกาะแห่งนี้ผ่านการแข่งขันกีฬาโต้คลื่นในโอลิมปิกเกมส์ 2024 น่าจะทำให้หลายคนอยากลองมาท่องเที่ยวที่นี่อย่างแน่นอน

 

ซึ่งนั่นจะกลายมาเป็นเงินรายได้เข้าประเทศมหาศาลสำหรับเฟรนช์โปลินีเซีย แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีมุมที่สวยงามเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น เพราะมันมีมุมที่น่าวิตกกังวลตามมาด้วยเช่นกัน

 

เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

 

 

การที่ OCOG เลือกที่จะใช้ทีฮูโปเป็นสังเวียนในการแข่งขันโต้คลื่น ทำให้พวกเขาต้องเผชิญแรงต่อต้านจำนวนมาก จากทั้งคนในพื้นที่ นักอนุรักษ์ และนักท่องเที่ยวบางส่วนด้วย

 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะโครงการในการจัดการแข่งขันโต้คลื่นในตาฮิตินั้น พวกเขาอยากให้ได้มาตรฐานในการจัดการแข่งขันระดับโลกอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องก่อสร้างหอสังเกตการณ์ใหม่ โดยพวกเขาจะใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียม เพื่อให้ได้มาตรฐานของการแข่งขัน และจุดนั้นเองที่เป็นปัญหา

 

การก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติอย่างอะลูมิเนียม มีโอกาสสูงที่จะส่งผลกระทบกับแนวปะการังอันสวยงามใต้ทะเลในย่านนั้น และผลกระทบจะเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเลยทีเดียวไม่ใช่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว

 

นอกจากนี้ทางฝ่ายจัดการแข่งขันยังวางแผนที่จะเดินสายไฟใต้น้ำจากชายฝั่งไปยังหอสังเกตการณ์ที่จะก่อสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ตัดสินที่จะต้องไปประจำการในหอนั้นเกือบตลอดเวลาที่ทำการแข่งขัน เพราะการมีไฟฟ้า ณ หอสังเกตการณ์ จะสามารถช่วยเรื่องความสะดวกในการตัดสินอื่นๆ อย่างการสื่อสาร เป็นต้น

 

นั่นเองที่ทำให้หลายฝ่ายมองว่าสิ่งที่แลกมากับการจัดการแข่งขันนั้นมากเกินไป และเป็นการได้ไม่คุ้มเสีย ส่งผลให้ฝ่ายจัดการแข่งขันฯ ต้องเจอกับแรงต่อต้านอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งเมื่อพวกเขา ‘ยืนกราน’ จะจัดการแข่งขันที่ทีฮูโปให้ได้ก็ยิ่งเจอกับแรงกดดันเพิ่มเติม 

 

ในทางกลับกันฝั่ง WSL ที่มาจัดการแข่งขันโต้คลื่นที่นี่เกือบทุกปีแต่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ ตามมา เพราะพวกเขายอมใช้หอสังเกตการณ์ซี่งก่อสร้างด้วยไม้ที่มีอยู่แต่เดิม ทำให้พวกเขาแทบไม่เจอกับแรงต่อต้านเลย

 

ปัจจุบันแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อหวังให้โอลิมปิกเกมส์ 2024 ไม่จัดแข่งขันโต้คลื่นในทีฮูโปบนเว็บไซต์ Change.org มีคนลงชื่อในแคมเปญนี้ทะลุ 1.5 แสนคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และดูเหมือนจะมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวันด้วย

 

ดังนั้นนี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ OCOG ด้วยเช่นกัน ว่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ในเมื่อการจัดการแข่งขันกีฬาที่ทิ้งรอยบาดแผลเอาไว้ให้ธรรมชาติก็ดูเหมือนไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันการตัดสินที่ไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยก็อาจไม่ได้มาตรฐาน

 

คำตอบของคำถามที่ว่า ‘ฝ่ายจัดการแข่งขันฯ จะทำอย่างไร?’ อาจต้องรอต่อไปอีกสักเล็กน้อย ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า พวกเขาจะเจอกับทางออกที่ทั้งไม่ทำร้ายธรรมชาติและยังได้การตัดสินที่ดีมีมาตรฐานไปพร้อมๆ กัน

 

อ้างอิง:

The post ทำไมโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ถึงอยากจัดแข่งโต้คลื่นในพื้นที่ที่ห่างออกไปอีกเกือบครึ่งโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>