TDI – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Mon, 27 May 2024 05:46:23 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 สุทินเร่งแก้กฎหมายหนุนเอกชนไทยขายอาวุธ เริ่มให้กองทัพซื้ออาวุธในประเทศปี 68 รับจัดซื้ออาวุธสูง เหตุหมดอายุ https://thestandard.co/thai-laws-boosting-domestic-arms-sales/ Mon, 27 May 2024 05:46:23 +0000 https://thestandard.co/?p=937947

วันนี้ (27 พฤษภาคม) สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง […]

The post สุทินเร่งแก้กฎหมายหนุนเอกชนไทยขายอาวุธ เริ่มให้กองทัพซื้ออาวุธในประเทศปี 68 รับจัดซื้ออาวุธสูง เหตุหมดอายุ appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (27 พฤษภาคม) สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีส่งมอบรถยานเกราะล้อยางแบบ 4×4 จำนวน 10 คัน ของบริษัท ไทยดีเฟนส์อินดัสตรี จำกัด (TDI) และอาวุธปืนเล็กสั้น อาวุธปืนพก จำนวน 230 กระบอก ของบริษัท อุตสาหกรรมผลิตอาวุธ จำกัด (WMI) ให้กับเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรภูฏานประจำประเทศไทย เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ราชอาณาจักรภูฏาน นำไปใช้ในภารกิจรักษาสันติภาพ

 

สุทินกล่าวว่า เป็นการช่วยให้ประเทศเดินหน้าในเรื่องของความมั่นคงและนำรายได้ทางด้านยุทโธปกรณ์เข้าสู่ประเทศ โดยในระหว่างนี้ก็ยังได้เจรจากับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียนน่าจะประสานงานเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้ และเชื่อว่าจะมีการขายอาวุธได้อีกเป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี

 

ส่วนการปรับแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนผลิตอาวุธออกขาย สุทินกล่าวว่า ในเรื่องนี้ได้ตั้งคณะทำงานตั้งแต่ช่วงเข้ามาเป็นรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมผลักดันให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศก้าวหน้า จากผลการศึกษาจำเป็นจะต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ อย่างน้อยคือเรื่องเกี่ยวกับภาษี เพราะขณะนี้เอกชนไทยยังเสียเปรียบต่างประเทศ เนื่องจากการนำชิ้นส่วนเข้ามาผลิตต้องเสียภาษีมากกว่ายุทโธปกรณ์ที่ผลิตเสร็จแล้ว

 

สุทินกล่าวว่า คณะทำงานเตรียมประชุมเพิ่มเติมในเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย เพื่อผลักดันให้ทันการประชุมสภาในสมัยการประชุมนี้ รวมไปถึงการผลักดันพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติภารกิจ และส่งเสริมให้เอกชนเดินหน้าทำงานอย่างคล่องตัวไปพร้อมกัน

 

สุทินกล่าวอีกว่า ไทยยังมีความร่วมมือกับอีกหลายประเทศ จาก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเดินทางไปฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดร่วมทีมไปด้วย โดยมีเอกชนไทยร่วมทำ MOU กับฝรั่งเศส ก็เป็นอีกด้านหนึ่งในการส่งเสริมการขาย แม้ว่าจะไม่มากแต่ก็ถือเป็นการขับเคลื่อนในทุกมิติ

 

ส่วนกรณีที่เหล่าทัพจัดซื้ออาวุธในประเทศน้อยมากนั้น สุทินกล่าวว่า เรื่องนี้จำเป็นจะต้องเริ่มทำ โดยคณะทำงานของกระทรวงกลาโหมเสนอมาว่า อย่างน้อยอาวุธใดที่ผลิตได้เองในประเทศ กองทัพก็ควรจะจัดซื้อในประเทศเป็นลักษณะขั้นบันไดไปก่อน จากการให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีและสภากลาโหมเดิมได้มีการพูดคุย แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งจะริเริ่มบังคับใช้ในปี 2568

 

ส่วนภาพรวมการจัดซื้ออาวุธในปี 2568 นั้น สุทินกล่าวว่า ยอมรับว่ามีการจัดซื้อจำนวนมาก เพราะเป็นเหตุบังเอิญยุทโธปกรณ์หลายประเภทหมดอายุ จึงต้องจัดหาใหม่ในช่วงนี้พอดี เช่น เครื่องบินขับไล่ของกองทัพอากาศหมดอายุในปี 2570 ต้องเตรียมการจัดซื้อล่วงหน้า ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจกับทางสภาและประชาชนถึงความจำเป็น ส่วนรายการใดที่ใช้ในประเทศก็จะดำเนินการจัดซื้อในประเทศ

The post สุทินเร่งแก้กฎหมายหนุนเอกชนไทยขายอาวุธ เริ่มให้กองทัพซื้ออาวุธในประเทศปี 68 รับจัดซื้ออาวุธสูง เหตุหมดอายุ appeared first on THE STANDARD.

]]>
แนวโน้มและโอกาสการลงทุนของไทย ‘ในต่างประเทศ’ https://thestandard.co/trends-thai-investment-abroad/ Wed, 14 Jun 2023 06:09:00 +0000 https://thestandard.co/?p=802887 การลงทุนของไทย

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงระหว่างปร […]

The post แนวโน้มและโอกาสการลงทุนของไทย ‘ในต่างประเทศ’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
การลงทุนของไทย

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ไม่เพียงแต่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่ผลักดันให้ผู้ประกอบการของตนเองออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เงินลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีการชะลอลงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด สำหรับในระยะต่อไปนักลงทุนไทยมีแนวโน้มออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อตอบโจทย์การแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ๆ และการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

 

ย้อนรอยการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทย

ในช่วงปี 2548-2553 การลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (Thai Direct Investment Abroad: TDI) อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของยอดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) และจุดหมายปลายทางส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาเซียน (40%) รองมาเป็นสหภาพยุโรป (8%) และตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ยอด TDI เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยับสูงสุดแตะระดับเกือบ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556 สะท้อนถึงภาพรวมธุรกิจไทยมีการมองหาโอกาสด้านการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตเพิ่มขึ้นชัดเจนมากขึ้น  

 

สำหรับในปี 2563-2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด การลงทุน TDI ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2565 TDI ยังคงลดลง 9.7% จากปี 2564 เป็นผลจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ รวมทั้งเผชิญกับการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออย่างรุนแรงและอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกขยับสูงขึ้น ณ ปัจจุบันโครงสร้างการลงทุนยังปักหมุดเป็นกลุ่มอาเซียน (28%) สหภาพยุโรป (9%) สหรัฐอเมริกา (8%) ญี่ปุ่น (7%) และจีน (3%) ประเภทธุรกิจที่ไปลงทุนในรูปแบบ TDI ประกอบด้วยการผลิต (20%) ซึ่งได้แก่ อาหาร อุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ รองลงมาเป็นภาคการค้าขายส่ง-ขายปลีก (10%) กิจกรรมภาคการเงิน (8%) การทำเหมืองแร่ ภาคบริการในกลุ่มโรงแรม ขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์ (4%)

 

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมแม้ยอด TDI จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาในมุมยอดคงค้างการลงทุนต่างประเทศสุทธิพบว่า ยอดลงทุนในต่างประเทศยังคงน้อยกว่าการลงทุนจากต่างประเทศในไทย (net TDI stock ซึ่งคำนวณจาก TDI stock หักด้วย FDI stock ยังคงติดลบ) แต่ net TDI stock เริ่มมีทิศทางสูงขึ้นหรือติดลบน้อยลง ซึ่งเป็นพัฒนาการที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ กล่าวคือเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีต่อเนื่องและ FDI สูงถึงระดับหนึ่งแล้ว บริษัทในประเทศมีแนวโน้มออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ที่มียอดคงค้างของการลงทุน TDI สูงกว่า FDI ที่สะสมในประเทศแล้ว และคงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้หากไทยจะก้าวไปสู่จุดนั้นในอนาคต จากปัจจุบันยอดคงค้าง TDI และ FDI อยู่ที่ 1.8 และ 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

 

TDI ตอบโจทย์การขยายตลาดและลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจของไทยในปัจจุบัน   

หากดูรูปแบบที่ธุรกิจไทยลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (TDI) ส่วนใหญ่ออกไปทำธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว หรือเป็นการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายตลาดไปยังประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง หรือเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าแรง อัตราภาษี แรงงานทักษะสูง ในระยะต่อไปบริษัทไทยมีแนวโน้มลงทุนในรูปแบบ TDI มากขึ้น เพื่อเข้าถึงตลาดและแหล่งทรัพยากรที่ไทยมีจำกัด รวมถึงขยายแบรนด์สินค้า และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาบริษัทไทยให้แข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น รวมทั้งเห็นแนวโน้มการเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับความยั่งยืนหรือเป็นธุรกิจสีเขียวมากขึ้น

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยบริษัทขนาดกลางมีแนวโน้มไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น สะท้อนจากข้อมูลในปี 2563 มูลค่าการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) รวมทั้งสิ้น 1.39 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของตลาดหลักทรัพย์ mai (ตามนิยามหมายถึงธุรกิจที่มีศักยภาพขนาดกลางและเล็ก ซึ่งมีทุนชำระแล้วหลังการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยเน้นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง และมีแนวโน้มการเติบโตดีในอนาคต) จำนวน 27 บริษัท มูลค่า TDI ราว 2 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมการบริการมากที่สุด โดยรวมแล้วภูมิภาคที่เป็นเป้าหมายการลงทุนของบริษัททั้งสองตลาดคือกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1.32 แสนล้านบาท

 

แนวโน้มการเติบโตของ TDI ของไทยในปี 2566 และในอนาคตยังคงเป็นภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน  

จากแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน (มีสัดส่วนในการลงทุน TDI เกือบ 30%) มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าภูมิภาคอื่น โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market and Developing Economies) เติบโต 3.9% โดยกลุ่มอาเซียน-5 (สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์) จะเติบโตโดดเด่นที่ 4.5% ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเติบโตในอัตราชะลอลงที่ 2.8% 1.6% และ 0.8% ตามลำดับ  

 

นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว อาเซียนเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับนักลงทุนไทย เมื่อพิจารณาจากจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสะท้อนภาพกำลังซื้อที่ดี และการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเห็นภาพของอาเซียนมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต สอดคล้องกับสถานการณ์เงินลงทุนจากบริษัททั่วโลกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า กระแสการลงทุนไหลสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากที่สุด และที่สำคัญคือเป็นการลงทุนจากประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน 

 

นอกจากนี้ อินเดียเป็นประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามอง คาดว่าในอนาคตนักลงทุนไทยจะสนใจไปลงทุนในอินเดียเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ TDI ไปอินเดียอยู่ในระดับ 1% ของยอด TDI ทั้งหมด ด้วยปัจจัยหนุนด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ IMF คาดการณ์ที่ 5.9% และศักยภาพด้านกำลังซื้อที่เติบโตก้าวกระโดดจากชนชั้นกลางที่มีอยู่กว่า 600 ล้านคน อีกทั้งมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเครื่องผลิตไฟฟ้า และยังเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจที่ลงทุนไปยังประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงจะเป็นโอกาสสำหรับภาคส่งออกของไทย ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตช้าลงในระยะข้างหน้า และเป็นทางเลือกทดแทนของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีน รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลงในอนาคตด้วย 

The post แนวโน้มและโอกาสการลงทุนของไทย ‘ในต่างประเทศ’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้ไทยหมดเสน่ห์ในมุมต่างชาติ ส่งผลให้ TDI พุ่งแซง FDI ต่อเนื่อง มองตลาดอาเซียนยังมีศักยภาพน่าลงทุน https://thestandard.co/timb-pointed-out-that-thailand-should-not-invest/ Fri, 06 Aug 2021 08:34:44 +0000 https://thestandard.co/?p=522273 Thailand invest

เกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลั […]

The post ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้ไทยหมดเสน่ห์ในมุมต่างชาติ ส่งผลให้ TDI พุ่งแซง FDI ต่อเนื่อง มองตลาดอาเซียนยังมีศักยภาพน่าลงทุน appeared first on THE STANDARD.

]]>
Thailand invest

เกษม พันธ์รัตนมาลา กรรมการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจไทยอยู่ในช่วงมองหาโอกาสลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพการเติบโตที่มากกว่าไทย โดยจากตัวเลขการลงทุนโดยตรงของคนไทยในต่างประเทศ (Thailand Direct Investment หรือ TDI) พบว่า คนไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 แม้ปีก่อนจะเผชิญโควิดแต่ TDI ยังคงโตถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ และโตต่อเนื่องมาถึงปีนี้ 

 

เกษมระบุว่า ธุรกิจไทยส่วนใหญ่นิยมไปลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในปีที่ผ่านมา การลงทุนในสิงคโปร์มีมูลค่าถึง 4 พันล้านดอลลาร์ อินโดนีเซีย 3 พันล้านดอลลาร์ เวียดนาม 2 พันล้านดอลลาร์ และมาเลเซีย 1.5 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดีผลตอบแทนจากการไปลงทุนอาจต้องรอ 3-5 ปี หากธุรกิจเติบโต แข่งขันได้ เงินลงทุนจะกลับเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงขึ้น

 

ขณะที่เงินต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทย Foreign Direct Investment (FDI) กลับน้อยกว่าเงินที่คนไทยนำไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน โดย FDI ปีก่อน ติดลบ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมองย้อนกลับไปก่อนมีโควิด FDI มาไทยไม่ได้สูงมาตั้งแต่ปี 2559 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

 

“ตลาดไทยไม่น่าสนใจในสายตาต่างชาติอีกต่อไป เพราะเราไม่ค่อยมีบริษัทที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่วนใหญ่เป็นเซกเตอร์ใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยี สินค้าไฮเทค สมาร์ทโฟน รถ EV ซึ่งต้องมีเงินทุนใหม่ๆ มารองรับ ถ้าถามว่าไทยจะมีอุตสาหกรรมใดที่จะพัฒนาเพื่อต่อยอดเศรษฐกิจของเราเองได้ เป็นคำถามที่รัฐบาลต้องนำไปคิด ทำไมต่างชาติเขามองข้ามเราไป หรือโครงสร้างพื้นฐานเราเองมีปัญหา เช่น เรื่องคน เรื่องการศึกษา แรงงานเราค่าแรงไม่ถูก แต่ทักษะสูงไม่พอหรือเปล่า รวมถึงระบบโลจิสติกส์ที่ไม่เอื้อ ทำให้ประเทศไทยขาดความน่าสนใจในการลงทุน อย่าว่าแต่นักลงทุนต่างชาติเลย แม้แต่นักลงทุนไทยยังไปลงทุนกับเพื่อนบ้าน” เกษมกล่าว

 

สำหรับตลาดหุ้นไทย เกษมระบุว่า การระบาดของโควิดที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันยังทำสถิติใหม่ไม่หยุด ได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ต้นปีหรือ Year to Date ขายไปแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท Year to Date และเมื่อรวมกับปีก่อนเป็นการเทขายรวม 2.6 แสนล้านบาทแล้ว 

 

“ในช่วงหลังนี้ต่างชาติขายอย่างเดียว แทบไม่ซื้อเลยเพราะเงินบาทอ่อนด้วยทำให้มีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นหากไทยยังควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ไม่ได้ โอกาสที่ต่างชาติจะกลับมาซื้อคงยาก อย่างไรก็ดีหากไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในไตรมาส 3 SET Index อาจมีโอกาสวิ่งกลับไปแตะระดับ 1,690 จุดได้เช่นกัน” เกษมกล่าว

 

ทั้งนี้หากดูตัวเลขการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ต้นปีถึง ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2564 พบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยรวม 9.93 หมื่นล้านบาท

 

เกษมกล่าวอีกว่า ไม่เฉพาะตลาดหุ้นไทยเท่านั้นที่เผชิญกับการเทขายจากต่างชาติในเวลานี้ แต่ตลาดหุ้นในประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็ตกอยู่ในภาวะใกล้เคียงกัน เนื่องจากโควิดไม่ใช่ปัจจัยเดียว แต่ยังมีปัจจัยความกังวลต่อสัญญาณที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือ Mortgage-backed Securities รวมถึงกังวลว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 จึงลดสัดส่วนถือครองหุ้นแทบทุกตลาดและระมัดระวังกับเงินลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบเพื่อนบ้าน Market Performance ยังเป็นบวกเล็กน้อย โดยตลาดหุ้นไทยยังทำผลงานได้ดีกว่ามาเลเซีย ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ส่วนตลาดเวียดนามดีในช่วงแรก โดยนำโด่งขึ้นไปถึง 30% แต่หลังโควิดระบาดหนักจึงลดลงมาเหลือ 19% และถ้าระบาดหนักกว่าเดิมอาจลดลงไปได้อีก

 

“ในระยะสั้นหากการระบาดยังไม่คลี่คลายลงตลาดหุ้นจะเหนื่อย แต่ด้วยศักยภาพของภูมิภาคอาเซียนที่ยังมีโอกาสเติบโตและฟื้นตัวได้เร็ว เชื่อว่าเมื่อตัวเลขการติดเชื้อลดลงเงินทุนต่างชาติก็พร้อมจะไหลกลับเข้ามา โดยหุ้นที่น่าจะฟื้นได้เร็วคือ กลุ่ม Domestic Play” เกษมกล่าว

 

ด้าน ดนัย อรุณกิตติชัย ผู้บริหารที่ปรึกษาการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมของหลักทรัพย์ในอาเซียนเวลานี้จะได้รับผลกระทบจากโควิด แต่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้ายังทำให้ตลาดอาเซียนเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่จะเก็บไว้ในพอร์ตการลงทุน

 

ดนัยกล่าวว่า การลงทุนในกลุ่มอาเซียนสามารถทำได้ทั้งผ่านกองทุนรวม หรือการลงทุนในหลักทรัพย์โดยตรงในบางตลาด เช่น เวียดนาม ที่น่าสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยตลาดเวียดนามเป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นกว่าตลาดอื่นๆ ในอาเซียน 

 

โดย 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในดัชนี VN Index (VNI) ของเวียดนามให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 16.5% ต่อปี สูงกว่าผลตอบแทนช่วงเวลาเดียวกันของดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีที่ให้ตอบแทนสูงและเติบโตเร็วช่วงที่ผ่านมา ที่ 15.0% ต่อปี โดยขนาดมูลค่าของตลาดเวียดนาม (Market Capitalization) สะท้อนจากดัชนี VNI ก็เติบโตขึ้นกว่า 3.5 เท่าจากมูลค่าโดยประมาณ 84,000 เป็น 210,846 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำไรต่อหุ้นเติบโตโดยเฉลี่ย 14.8% ซึ่งเป็นอัตราที่อยู่ในเกณฑ์สูง

 

ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาจจะทรงตัวและปรับตัวไม่มากนัก แต่ก็ยังน่าสนใจในแง่ของความหลากหลายของอุตสาหกรรมและความหลากหลายในภูมิภาค โดยบางประเทศเน้นอุตสาหกรรมกลุ่มธุรกิจการเงิน บางประเทศเน้นกลุ่มอุตสาหกรรม

 

นอกจากนี้จากปัจจัยในตลาดโลก ทั้งการแพร่ระบาด นโยบายการเงินการคลัง และการอัดฉีดสภาพคล่องของภาครัฐ ทำให้ตลาดหุ้นหลายๆ แห่งโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป เริ่มอยู่ในเกณฑ์แพง สะท้อนจาก Forward PE และความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนอาจต้องระมัดระวังและหันกลับมามองในฝั่งเอเชีย รวมถึงกลุ่มอาเซียนด้วย ซึ่งยังมีระดับการซื้อขายในช่วง 13-18 เท่า และเทียบกับค่าเฉลี่ยของระดับการซื้อในอดีตก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว

 

ดนัยกล่าวว่า ภูมิภาคอาเซียนแม้ปัจจุบันเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดที่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ เช่น ในเวียดนามและไทย แต่ในระยะยาว อาเซียนยังคงมีจุดเด่นเรื่องความเป็นตลาดสำหรับผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่ และเป็นตลาดสำหรับชนชั้นกลาง โดยประชากรของกลุ่มอาเซียนคิดเป็น 8.6% ของทั้งโลก และมีอายุเฉลี่ยเพียง 30.2 ปี รวมถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิที่ดีในระยาวและการเติบโตของรายได้ของประชากร รวมถึงมีความโดดเด่นด้านการผลิต และอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว และมีความหลายหลายภายในกลุ่ม รวมถึงการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ยังมีต่อเนื่อง อาศัยการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่การผลิตในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

 

“การจัดพอร์ตการลงทุนเรายังคงแนะนำให้กระจายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมไทยและอาเซียนด้วยในช่วง 11-39% ตามระดับความเสี่ยงจากพอร์ตความเสี่ยงต่ำสุดไปถึงสูงสุด โดยในช่วงที่ผ่านมาเน้นการลงทุนในเวียดนาม แต่หากมองไปในอนาคต การกระจายบางส่วนลงทุนภูมิภาคอาเซียนก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ” 

 

กองทุนที่ให้ผลตอบแทนโดนเด่นยังเป็นกองทุนที่ลงทุนในเวียดนามที่เป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในภูมิภาค โดยกองทุนหลัก ได้แก่ กองทุน PRINCIPAL VNEQ-A ที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนกองทุนที่ลงทุนในภูมิภาคอาเซียนแม้ผลตอบแทนจะต่ำกว่ากองทุนเวียดนามแต่ความเสี่ยงในแง่ของความผันผวนมีน้อย และเนื่องจากกระจายการลงทุนไปยังหลากหลายอุตสาหกรรมและในหลายประเทศ ได้แก่ กองทุน KT-ASEAN 

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า การใช้มาตรการล็อกดาวน์ การฉีดวัคซีนล่าช้า รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อสูงของกลุ่มประเทศอาเซียน จะส่งผลให้การค้าการลงทุนปีนี้รวมถึงอุปสงค์ในแต่ละประเทศชะลอตามไปด้วย อย่างไรก็ดีการส่งออกของแต่ละประเทศยังมีศักยภาพเติบโตได้ดี อยู่ในระดับที่สูงราว 15-20% ในปีนี้ และจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อเนื่องไปถึงปีหน้า สืบเนื่องจากการที่ชาติพันธมิตร 10 ประเทศมีโอกาสที่จะร่วมมือกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาคที่เรียกว่า RCEP และมีการเจรจาการค้าเสรี FTA กับประเทศนอกกลุ่มเพิ่มเติม

 

“อาเซียนมีโอกาสทางธุรกิจสำหรับนักลงทุนไทย เพราะแต่ละประเทศมีศักยภาพด้วยกัน 3 ปัจจัย คือ เศรษฐกิจโตเร็ว ชนชั้นกลางเพิ่มต่อเนื่องสะท้อนภาพกำลังซื้อที่ดี และการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเห็นภาพของอาเซียนยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันอาเซียนจะเป็นจุดศูนย์กลางการระบาดของโควิดที่รุนแรงแต่น่าจะชั่วคราว น่าจะถึงจุดสูงสุดอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และถึงจุดสิ้นสุดได้ในปีนี้จากการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้น ประชากรมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น ผู้ติดเชื้อรายวันที่ลดลง” อมรเทพกล่าว

The post ซีไอเอ็มบี ไทย ชี้ไทยหมดเสน่ห์ในมุมต่างชาติ ส่งผลให้ TDI พุ่งแซง FDI ต่อเนื่อง มองตลาดอาเซียนยังมีศักยภาพน่าลงทุน appeared first on THE STANDARD.

]]>