Studio Ghibli – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 09 Apr 2025 04:47:11 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ใดๆ ในโลกล้วน Ghibli ปะทะ ChatGPT ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ไวรัลสนั่นโลก กับการถกเถียงประเด็นลิขสิทธิ์ vs. เทคโนโลยี เมื่องานศิลป์ถูกเลียนแบบโดย AI https://thestandard.co/chatgpt-ghibli-style-feature-viral-debate/ Wed, 09 Apr 2025 04:47:11 +0000 https://thestandard.co/?p=1062213 ChatGPT Ghibli

นับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วเป็นต้นมา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ […]

The post ใดๆ ในโลกล้วน Ghibli ปะทะ ChatGPT ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ไวรัลสนั่นโลก กับการถกเถียงประเด็นลิขสิทธิ์ vs. เทคโนโลยี เมื่องานศิลป์ถูกเลียนแบบโดย AI appeared first on THE STANDARD.

]]>
ChatGPT Ghibli

นับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วเป็นต้นมา ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เชื่อว่าหลายคนน่าจะได้ผ่านตากับภาพวาดการ์ตูนน่ารักๆ โผล่ขึ้นเต็มฟีดไปหมด ไม่ว่าจะบนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มไหนก็ตาม

 

ภาพที่ปรากฏนั้นมีตั้งแต่ภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมือง ภาพศิลปินนักร้องคนดัง ภาพจากซีนในหนังเรื่องโปรด ภาพจังหวะสำคัญในเกมกีฬา ไปจนถึงภาพมีมคลาสสิกตลอดกาล

 

ที่มาของเรื่องราวนั้นเกิดจากการอัปเกรดตัวเองครั้งใหญ่ของ ChatGPT กับบริการสร้างรูปเวอร์ชันใหม่ของโมเดล GPT-4o ที่สามารถสร้างภาพได้หลากหลายสไตล์ แต่สไตล์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจนฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง คือภาพลายเส้นและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ของ Studio Ghibli สตูดิโอแอนิเมชันระดับตำนานของประเทศญี่ปุ่น

 

จนเราอาจเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘ใดๆ ในโลกล้วน Ghibli’ เลยก็ว่าได้

 

ปรากฏการณ์นี้กำลังบอกอะไรกับเรา? 

 

ศิลปินอัจฉริยะคนใหม่

 

ย้อนกลับไปในวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา OpenAI ได้อัปเดตบริการใหม่ของ ChatGPT โดยเป็นเครื่องมือในระดับความสามารถชั้นสูงของ GPT-4o ที่สามารถเปลี่ยนแปลงภาพถ่ายให้กลายเป็นภาพวาดได้

 

บริการนี้เป็นฟีเจอร์ที่มีชื่อว่า ‘Images in ChatGPT’ ที่เป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ ที่แตกต่างจากของเดิมอย่าง ‘Dall-E’ ด้วยการวาดภาพภายในโมเดล GPT-4o โดยตรง ซึ่งสามารถประมวลผลและสร้างข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ ไม่จำกัดเฉพาะเพียงภาพวาด แต่รวมถึงเสียงและวิดีโอด้วย

 

การอัปเดตครั้งนี้ถือเป็นการอัปเดตครั้งสำคัญเพราะทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่รู้จบ โดยใช้เพียงแค่จินตนาการและการพิมพ์คำสั่งและเงื่อนไขตามที่ต้องการอย่างถูกต้องเท่านั้น โดยสามารถสร้างทั้งภาพวาด ภาพจำลองผลิตภัณฑ์ โปสเตอร์ โลโก้ ไปจนถึงอินโฟกราฟิกได้อย่างง่ายดายเพียงชั่วพริบตา

 

แต่สิ่งที่ทำให้บริการใหม่นี้กลายเป็นกระแสในระดับโลกคือการสร้างภาพในสไตล์ต่างๆ จากการ์ตูนเรื่องโปรดของทุกคน ไม่ว่าจะเป็น South Park, Rick and Morty หรือ The Simpsons เพียงแต่สไตล์ที่กลายเป็นปรากฏการณ์คือ Studio Ghibli ที่ได้รับความนิยมที่สุด

 

เราได้เห็นภาพเกมดังอย่าง GTA, สื่อกีฬาชื่อดัง ไปจนถึงภาพข่าวอย่างการพบกันครั้งประวัติศาสตร์ของ 2 ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและยูเครน ‘โดนัลด์ ทรัมป์ และโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี’ หรือมีม ‘Distraced Boyfriend’ ที่ทุกคนรู้จักกันดี ไปจนถึงภาพครอบครัว ภาพบุคคลส่วนตัว

 

 

ChatGPT Ghibli

 

ตัวเลขสถิติที่น่าสนใจคือ เพียงแค่สัปดาห์เดียวมีจำนวนภาพที่ถูกสร้างขึ้นถึง 700 ล้านภาพ จากจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 130 ล้านคน โดยที่ผู้ให้บริการอย่าง OpenAI ที่เปิดฟีเจอร์นี้ให้ทุกคนใช้แบบฟรีๆ ยอมรับว่ากระทบต่อการให้บริการมากพอสมควรเพราะความต้องการสูงเกินกว่าที่รองรับไหวในช่วงแรก

 

“มันเป็นเรื่องสนุกมากๆ ที่เห็นทุกคนรักภาพที่สร้างใน ChatGPT แต่ GPU ของเรากำลังหลอมละลายแล้ว” แซม อัลต์แมน ซีอีโอของ OpenAI โพสต์ข้อความบน X ถึงความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

 

เพราะนี่คือ Ghibli

 

แต่หากถามถึงสิ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมาคือการที่ ChatGPT สามารถสร้างภาพในแบบของ ‘Studio Ghibli’ ได้

 

ภาพสไตล์นี้พิเศษตรงไหน?

 

คำตอบก็อยู่ในคำถามอยู่แล้ว ความพิเศษอยู่ที่ภาพสไตล์นี้เป็นผลงานของ Studio Ghibli สตูดิโอแอนิเมชันระดับตำนานของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสูงสุดของโลกแอนิเมชันมาอย่างยาวนาน

 

ผลงานระดับขึ้นหิ้งมากมายผ่านสายตาและอยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น My Neighbor Totoro, Spirited Away, Howl’s Moving Castle, Graves of The Fireflies, Princess Mononoke หรือ Ponyo 

 

โดยที่ในแต่ละเรื่องนั้น นอกจากการเล่าเรื่องราวที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งแล้ว ลายเส้นของแอนิเมชันของ Studio Ghibli ก็เป็นเอกลักษณ์ที่ยากจะเลียนแบบได้ ด้วยการวาดมืออย่างละเอียดและใส่ใจทุกขั้นตอน บางครั้งใช้เวลายาวนานกว่าจะได้สักฉาก เช่น ฉากหนึ่งในเรื่อง Wind Rises ในช่วงที่ตัวละครเดินผ่านตลาดที่วุ่นวายซึ่งปรากฏในภาพยนตร์ด้วยความยาวแค่ 4 วินาที แต่ต้องใช้เวลาในการวาดถึง 1 ปีกับอีก 3 เดือน

 

ผลงานของ Ghibli จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่แอนิเมชันธรรมดา แต่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘งานฝีมือ’ (Craftmanship) ซึ่งเป็นเจตจำนงของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอแห่งนี้ขึ้นมาที่ต้องการทำผลงานที่ดีที่สุดเท่านั้น

 

การที่เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนภาพทุกอย่างบนโลกให้เป็นภาพในสไตล์ของ Ghibli จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงการให้คุณค่าผลงานของสตูดิโอแห่งนี้ที่ทุกคนรักและชื่นชม 

 

ก่อนหน้านี้ ทุกคนอยากจะมีภาพในแบบของ Ghibli แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำอย่าง Ghibli ได้ แต่เมื่อจู่ๆ มีเครื่องมือที่สามารถอำนวยความสะดวกให้มีภาพในแบบของสตูดิโอระดับตำนานได้อย่างง่ายดายสุดๆ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่คนทั้งโลกจะแห่ทำตามกัน

 

 

ภาพโจร?

 

ปรากฏการณ์ใดๆ ในโลกล้วน Ghibli ที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากความสนุกสนานที่ได้เห็นภาพต่างๆ ถูกแปลงอย่างมากมายจนล้นไปหมด (ยังดีที่เริ่มซาลงบ้างแล้ว) ยังมีคำถามใหญ่ที่ถูกซ่อนไว้ในลายเส้นสวยๆ สีสันสดใสเหล่านี้

 

ทำแบบนี้ไม่เป็นการละเมิด Studio Ghibli งั้นหรือ?

 

เรื่องนี้แม้ว่าทางด้านสตูดิโอจากญี่ปุ่นจะยังไม่เคยออกมากล่าวถึง แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ Studio Ghibli ไม่เคยอนุญาตให้มีการทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นอย่างแน่นอน เพราะครั้งหนึ่ง ฮายาโอะ มิยาซากิ ได้เคยแสดงความเห็นเมื่อปี 2016 ถึงเรื่องของการใช้ปัญญาประดิษฐ์วาดภาพขึ้นมาว่า “ผมรู้สึกอย่างแรงกล้าว่ามันเป็นการกระทำที่ดูถูกชีวิตของมันเอง”

 

มิยาซากิยังกล่าวต่อในภายหลังว่า “ผมรู้สึกว่าเรากำลังใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดของกาลเวลา มนุษยชาติกำลังสูญสิ้นศรัทธาในตัวเอง”

 

เพราะสำหรับมิยาซากิและ Ghibli แล้วสิ่งที่เขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลงาน แต่เป็นจิตวิญญาณของความเป็นศิลปินที่ถ่ายทอดลงไปในเนื้องานด้วย ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นทุกเส้น การแต่งแต้มสีสัน และความอ่อนช้อยที่ถูกซ่อนอยู่ในนั้น

 

ย้อนกลับไปที่คำถามว่า นี่เป็นการละเมิดผลงานของศิลปินผู้สร้างหรือไม่นั้น ความจริงประเด็นนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวมาตลอดนับตั้งแต่เกิดภาพที่สร้างขึ้นจากเอไอ เพราะภาพนั้นปัญญาประดิษฐ์ (ไม่ว่าจะค่ายไหนก็ตาม) เข้าไปฝึกมาจากคลังข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งแน่นอนว่ามีภาพที่ติดลิขสิทธิ์และไม่เคยมีการอนุญาตหรือยินยอมให้ใช้

 

ภาพที่เกิดขึ้นจากเอไอ นัยหนึ่งแล้วจึงไม่ต่างอะไรจาก ‘ภาพโจร’ ที่ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ยังไม่มีใครจัดการให้เป็นระบบเป็นเรื่องเป็นราว อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ไหนที่คุ้มครองในเรื่องของ ‘สไตล์’ 

 

ดังนั้น ภาพที่เกิดขึ้นจาก ChatGPT จึงยากที่จะพูดได้แบบเต็มปากว่าผิดทั้งร้อย ถึงลึกๆ ในใจจะรู้ว่ามันก็ไม่น่าจะถูกก็ตาม เพราะขั้นต่ำที่สุดการที่มีสื่อและโซเชียลมีเดียพูดถึงสไตล์ในแบบของ Ghibli ก็กระทบต่อสตูดิโอผู้พยายามใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อสร้างผลงานแล้ว

 

แม้ว่าจิตวิญญาณของพวกเขาจะอ่อนแรงลงทุกที และเพิ่งขายหุ้นส่วนใหญ่ให้แก่ Nippon TV ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วหลังประสบปัญหาไม่สามารถหาทายาทผู้สืบทอดที่เหมาะสมได้ก็ตาม แต่ Ghibli ยังคงภูมิใจในตัวตนของพวกเขาเสมอ

 

สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันที่ปัญญาประดิษฐ์ที่ไหนจะมาพรากไปได้

 

 

 

ไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือแต่อยู่ที่ผู้ใช้?

 

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าเครื่องมืออัจฉริยะอย่าง GPT-4o จะเป็นผู้ร้ายโดยสมบูรณ์แบบ

 

เหมือนที่บอกไปข้างต้นว่ามันสามารถประยุกต์การใช้งานได้อย่างหลากหลายซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในงานด้านการออกแบบหรืองานศิลปะ

 

การทำภาพในแบบของ Ghibli นั้นไม่ได้เป็นหนึ่งในคุณสมบัติหลักด้วยซ้ำ เพียงแต่เป็นหนึ่งในสิ่งที่สามารถทำได้และเกิดเป็นไวรัลขึ้นมาเพราะภาพนั้นมีเสน่ห์ในแบบที่ทุกคนรักเฉยๆ – แม้ว่าหากเป็นแฟนของ Ghibli จริงๆ เห็นภาพแล้วก็จะรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ดูเป็นงานของ Ghibli ขนาดนั้น ดูเป็นแค่ภาพการ์ตูนแอนิเมชันธรรมดาๆ ที่พยายามจะลอกเลียนสไตล์มาเท่านั้น

 

ประโยชน์ของ AI ที่แท้จริงจึงเป็นเรื่องของการปฏิวัติการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งศิลปะโดย AI เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กหรือศิลปินรุ่นใหม่ ไม่แตกต่างจากในอีกหลายแวดวงที่ AI กำลังเข้ามาปฏิวัติวงการ

 

ไม่ต่างอะไรจากของวิเศษในกระเป๋าของโดราเอมอน ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

 

เพียงแต่มันอยู่ที่การใช้งานของแต่ละคนว่าจะใช้ไปในทิศทางแบบไหน อย่างไร ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว และจะดีกว่านี้หากมีการกำหนดกรอบกติกาที่คุ้มครองผลงานของศิลปินผู้สร้างสรรค์ด้วยมือและหัวใจอย่างดีกว่านี้

 

บนความหวังว่าเราจะห่างจุดตรงกลางที่ทุกฝ่ายยิ้มได้ ไม่มีใครต้องเจ็บปวดกับสิ่งเหล่านี้ แต่แน่นอนว่ายังเป็นเรื่องที่คงเป็นกรณีพิพาทกันอีกยาวนานในเรื่องของลิขสิทธิ์กับปัญญาประดิษฐ์

 

ขณะที่กระแสที่เกิดขึ้นนั้นมองอีกแง่คือการเปิดประตูบานใหญ่ให้คนอีกจำนวนมากที่อาจจะเคยได้ยินเรื่องการสร้างภาพโดย AI แต่ไม่เคยได้ลองใช้ได้มีโอกาสทดลองและเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ของโลกอย่างกว้างขวางขึ้น

 

นำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ที่เพิ่มพูนขึ้น และการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ที่อาจจะสะดวกหรือพบความเป็นไปได้อื่นๆ ที่แตกต่างจากเดิม

 

เพราะกระแสที่เกิดขึ้นนั้นแค่ผ่านมาเดี๋ยวก็ผ่านไปเหมือนลมพัด โลกใบนี้มีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ

 

อยู่ที่เราจะเรียนรู้หรือมองเห็นอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้บ้างไหม ที่มากกว่าแค่การกดถูกใจ เซฟภาพ หรือแชร์ให้คนใกล้ตัว

 

ภาพ: Shutterstock AI, villindayy / Shutterstock

อ้างอิง:

The post ใดๆ ในโลกล้วน Ghibli ปะทะ ChatGPT ปล่อยฟีเจอร์ใหม่ไวรัลสนั่นโลก กับการถกเถียงประเด็นลิขสิทธิ์ vs. เทคโนโลยี เมื่องานศิลป์ถูกเลียนแบบโดย AI appeared first on THE STANDARD.

]]>
The Boy and the Heron การปล่อยวางที่ไม่อาจปล่อยใจของแอนิเมเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล https://thestandard.co/the-boy-and-the-heron-3/ Fri, 19 Jan 2024 05:41:48 +0000 https://thestandard.co/?p=889615 The Boy and the Heron

**บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ The Boy and the […]

The post The Boy and the Heron การปล่อยวางที่ไม่อาจปล่อยใจของแอนิเมเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล appeared first on THE STANDARD.

]]>
The Boy and the Heron

**บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ The Boy and the Heron**

 

ถึงแม้รองประธานของ Studio Ghibli อย่าง จุนอิจิ นิชิโอกะ จะบอกว่า The Boy and the Heron ไม่ใช่หนังเรื่องสุดท้ายของ ฮายาโอะ มิยาซากิ แต่หากมองจากอายุอานามของเขาในวัย 83 ปี ก็คงจะบอกได้ว่า บั้นปลายชีวิตของแอนิเมเตอร์ผู้นี้ก็น่าจะใกล้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วเหมือนกัน 

 

และต่อให้ The Boy and the Heron จะเป็นหนังเรื่องสุดท้ายหรือไม่ก็ตาม แต่ผลงานของมิยาซากิก็ยังเป็นสิ่งที่งดงามและมีความหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญตลอดเส้นทางอาชีพที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ ไม่มีครั้งไหนเลยที่หนังของเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในโลกของศิลปะมาทั้งชีวิต 

 

แต่การอำลาย่อมเป็นสิ่งที่ต้องมาถึงในสักวัน และมิยาซากิเองก็ตระหนักดีว่า เวลาที่เหลืออยู่ของเขาอาจไม่ได้มีมากมายอีกต่อไป ทั้งสังขารที่แก่ตัวลง สายตาที่เริ่มฝ้าฟาง ความเหนื่อยล้าที่ทำให้ไม่สามารถทำงานหนักได้เหมือนแต่ก่อน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นปัจจัยที่กำลังกินชีวิตของแอนิเมเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลคนนี้ 

 

 

ถึงแม้ในปี 2013 มิยาซากิจะเกษียณตัวเองหลังจากที่ทำ The Wind Rises (2013) เสร็จ แต่ 10 ปีต่อมานับจากวันนั้น เขาก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับผลงานเรื่องใหม่อย่าง The Boy and the Heron โดยมิยาซากิก็ได้ให้เหตุผลว่า เขาแค่อยากทำมันเท่านั้นเอง 

 

หนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเด็กที่มีชื่อว่า How Do You Live? ของ เก็นซาบุโร โยชิโนะ ว่าด้วยเรื่องของเด็กหนุ่มอายุ 15 ปีที่อาศัยอยู่ในโตเกียวและต้องสูญเสียพ่อไป แต่กระนั้น ความเชื่อมโยงของเนื้อหาในหนังสือกับหนังก็ไม่ได้มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งมิยาซากิก็ได้พูดถึงหนังสือที่เป็นไอเดียตั้งต้นให้แก่เขาเพียงแค่ว่า “ผมกำลังสร้างหนังเรื่องนี้ เพราะว่าผมไม่มีคำตอบ” 

 

และนั่นก็คงจะไม่เกินจริงนัก หากบอกว่า The Boy and the Heron คือหนังส่วนตัวของมิยาซากิขนานแท้ เพราะยาแรงที่ถูกปล่อยออกมาในคราบศิลปะไม่เพียงแค่ไร้ซึ่งความประนีประนอม แต่มันยังให้ความรู้สึกที่ทั้งสวยงาม ยากที่จะเข้าใจ และมากไปด้วยสัญญะ ราวกับภาพวาดที่ถูกจัดแสดงอยู่ตามแกลเลอรีต่างๆ 

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การนำเสนอที่ดูเข้าถึงยาก คำพูดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่เคยบอกเอาไว้ว่า “อย่าพยายามจะเข้าใจ แค่รู้สึกไปตามมัน” ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับหนังเรื่องนี้ที่สุด เพราะการตีความคือส่วนที่ตกผลึกมาจากความรู้ แต่ความรู้สึกคือหัวใจสำคัญที่ตกผลึกมาจากประสบการณ์ชีวิต ทั้งจากตัวของมิยาซากิและตัวของเราเอง

 

 

The Boy and the Heron สร้างสรรค์สิ่งที่ไม่มีรูปธรรมอยู่จริงได้อย่างน่าฉงน สายลมที่พัดผ่านเนื้อหนังของ มาฮิโตะ ท่ามกลางเปลวเพลิงในช่วงแรก กลายเป็นภาพที่บิดเบี้ยวและตามหลอกหลอนเขาอยู่เสมอ บ่อยครั้งแม้การเดินทางของเด็กหนุ่มจะดูก้าวเดินไปข้างหน้า แต่ภาพในวันนั้นก็ยังคงติดแน่นทนนานอยู่ในความทรงจำของเขา ราวกับว่าการตายของแม่เป็นความผิดของตัวเอง ทว่าหนังก็ไม่ได้เล่าด้วยท่าทีที่ฟูมฟาย แต่เลือกที่จะทำให้มาฮิโตะมีความสลับซับซ้อนทางความรู้สึกว่า เขาอยากจะช่วยแม่ที่ตายไป หรืออยากหาทางหยุดความเศร้าโศกให้กับตัวเองกันแน่ 

 

มีช่วงหนึ่งที่ความอัดอั้นนี้ของมาฮิโตะระเบิดออกมา มันเป็นตอนที่เขาหยิบก้อนหินขึ้นมาฟาดหัวตัวเองอย่างไม่มีความลังเล เลือดที่ไหลทะลักออกมาท่วมใบหน้าของเขา ราวกับเป็นภาพสะท้อนของความเสียใจที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง ความเหินห่างกับพ่อทำให้มาฮิโตะมีช่องว่างในใจขนาดใหญ่ และหนังตอกย้ำมันมากขึ้นเมื่อเขาบ่ายเบี่ยงที่จะพูดว่าได้แผลนั้นมาอย่างไร ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการย้ายมาต่างจังหวัดและเริ่มต้นชีวิตใหม่ พ่อของเขาแทบไม่เคยแสดงความรู้สึกเสียใจใดๆ เลย 

 

 

หนังหยิบความระหองระแหงนี้มาเป็นจุดเปลี่ยนในวันที่มาฮิโตะค้นพบโลกอีกใบในหอคอยที่ถูกทิ้งร้างกลางป่า โลกแห่งความฝันที่กลืนกลายกับความจริงชวนให้นึกถึงหนังอันเป็นที่รักของใครหลายคนอย่าง Spirited Away (2001) หากแต่ The Boy and the Heron มีความต่างตรงที่มันเป็นหนังที่เงียบมากเมื่อเทียบกับผลงานเรื่องอื่นๆ ของเขา และไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นตัวเอกเป็นเด็กผู้ชายที่ต้องการความช่วยเหลือจากเด็กผู้หญิง 

 

หนังเริ่มวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวละครลึกซึ้งขึ้นตอนที่มาฮิโตะได้พบกับ ฮิมิ เป็นครั้งแรก ความเป็นแม่และเส้นแบ่งแห่งกาลเวลาทำให้บทบาทของเธอถูกจับต้องได้ในฐานะเพื่อนมากกว่าผู้ใหญ่ น่าทึ่งที่มิยาซากิไม่ได้ให้ตัวละครของเขาป่าวประกาศว่าใครเป็นใครอย่างชัดเจน แต่ให้ทุกคนตระหนักรู้ผ่านงานภาพและคำพูดของพวกเขา ซึ่งรับรู้ดีอยู่แล้วว่าปลายทางของชะตากรรมเป็นอย่างไร 

 

 

กลไกนี้กลับมาทำงานอีกครั้ง ตอนที่มาฮิโตะจะต้องบอกลากับฮิมิและนกกระสาตัวป่วนในช่วงท้าย เพราะตลอดทั้งเรื่องเราแทบไม่เห็นพวกเขาแสดงสถานะของกันและกันออกมาอย่างโจ่งแจ้งเลยนอกจากฉากนี้ มันเป็นการเปิดเผยที่ทั้งเจ็บปวด งดงาม และพร้อมที่จะยอมรับกลบฝังอดีตอันแสนเจ็บปวดของตัวเองเอาไว้ ขณะเดียวกันอดีตก็ได้ฝากฝังอนาคตเอาไว้ให้กับคนรุ่นหลัง กลายเป็นตอนจบที่ทั้งสองช่วงเวลาพาดผ่านกันอย่างตราตรึงและน่าอัศจรรย์

 

หนังของมิยาซากิยังคงพูดถึงเรื่องสงคราม เป็นสงครามที่มาจากสายตาของผู้ชนะ เขาไม่ได้ทำเพื่อที่จะยกยอ แต่ทำเพื่อต่อต้าน ไม่ว่าหนังกี่เรื่องที่ผ่านมาจะแฝงไปด้วยนัยที่หนักหน่วงเพียงใด ความแฟนตาซีเหนือจินตนาการก็จะบดบังมันเอาไว้ และนั่นอาจเป็นความเก่งกาจที่สุดของมิยาซากิในการทำหนังตลอดชั่วชีวิตของเขา

 

 

การสร้างโลกอาจเริ่มจากการเรียงก้อนหิน หากเรียงถูกมันจะกลายเป็นโลกที่สงบสุข แต่ถ้าผิดนั่นอาจหมายถึงสงคราม ความเซอร์เรียลที่หลอมหลวมกับทางเลือกที่หนังหยิบยื่นให้มาฮิโตะ ชวนให้นึกย้อนกลับไปถึงตอนจบของ Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time (2021) เมื่อตัวละคร รวมไปถึงผู้ให้กำเนิดอย่าง ฮิเดอากิ อันโนะ เดินทางมาถึงจุดที่พวกเขาจะต้องปล่อยวางเรื่องราวที่ผูกมัดกับชีวิตของตัวเองเสียที หลังจากที่ติดพันกับมันมานานเกือบสามทศวรรษ 

 

หากว่าอันโนะเป็นคนที่เรียงก้อนหินถูกและปล่อยวางได้สำเร็จ หนังที่ผสมผสานสัจธรรมของมนุษย์เข้ากับผลงานเกือบทั้งชีวิตของมิยาซากิเรื่องนี้เองก็ตกตะกอนบ่งบอกว่า เขาอยากจะปล่อยวางเหมือนกัน แต่อีกด้านก็ยังยึดติดกับมันจนไม่อาจปล่อยใจของตัวเองให้เป็นอิสระได้

 

 

ภาพของมาฮิโตะเลยซ้อนทับกับมิยาซากิอย่างน่าแปลกประหลาด และการกลับมาทำหนังอีกครั้งในวัย 83 ปี ก็น่าจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า เขายังคงติดอยู่ในโลกที่ตัวเองมีความสุขจริงๆ แม้นั่นอาจไม่ใช่ตอนจบแบบเดียวกับที่หนังเป็น แต่สำหรับแอนิเมเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล นี่อาจเป็นฉากสุดท้ายในชีวิตที่เหมาะสมแก่การมีอยู่ของเขาก็เป็นได้

 

The Boy and the Heron เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

The post The Boy and the Heron การปล่อยวางที่ไม่อาจปล่อยใจของแอนิเมเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทำความรู้จัก โจ ฮิซาอิชิ คอมโพสเซอร์คู่บุญของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่ใช้บทเพลงพาผู้ชมก้าวเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ https://thestandard.co/get-to-know-joe-hisaishi/ Tue, 09 Jan 2024 07:46:08 +0000 https://thestandard.co/?p=885747

นอกจากงานภาพอันมีเอกลักษณ์ ตัวละครเปี่ยมเสน่ห์ และเรื่อ […]

The post ทำความรู้จัก โจ ฮิซาอิชิ คอมโพสเซอร์คู่บุญของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่ใช้บทเพลงพาผู้ชมก้าวเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ appeared first on THE STANDARD.

]]>

นอกจากงานภาพอันมีเอกลักษณ์ ตัวละครเปี่ยมเสน่ห์ และเรื่องราวเปี่ยมจินตนาการที่สอดแทรกประเด็นน่าสนใจไว้ให้ผู้ชมได้พูดคุยแลกเปลี่ยน อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเติมเต็มให้ทุกผลงานของผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น คือดนตรีประกอบอันไพเราะจากปลายปากกาของ โจ ฮิซาอิชิ ที่ใช้บทเพลงพาผู้ชมก้าวเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ

 

ก่อนที่แฟนๆ ของ Studio Ghibli จะได้ไปรับชมและรับฟังผลงานเรื่องใหม่ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ และ โจ ฮิซาอิชิ อย่าง The Boy and the Heron ที่มีกำหนดเข้าฉายในบ้านเราวันที่ 11 มกราคมนี้ THE STANDARD POP ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จัก โจ ฮิซาอิชิ คอมโพสเซอร์มากฝีมือคนนี้กัน

 

joe hisaishi

ภาพ: JoeHisaishi.official / Facebook

 

จาก ‘มาโมรุ ฟุจิซาวะ’ เด็กหนุ่มที่ชื่นชอบในเสียงเพลง สู่คอมโพสเซอร์มากฝีมือ ‘โจ ฮิซาอิชิ’

 

โจ ฮิซาอิชิ มีชื่อจริงว่า มาโมรุ ฟุจิซาวะ เกิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 1950 ในจังหวัดนากาโนะ เขาเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับแวดวงดนตรีเลย แต่ผู้ที่พาเขาก้าวเข้าสู่โลกของเสียงเพลงคือพ่อของเขาที่ชื่นชอบในการฟังเพลงและดูภาพยนตร์เป็นประจำ จึงทำให้เขาเริ่มหลงใหลในเสียงเพลงและภาพยนตร์เช่นเดียวกับพ่อ และเริ่มต้นฝึกเรียนไวโอลินเป็นครั้งแรกในวัย 4 ขวบ

 

กระทั่งฮิซาอิชิได้เข้าเรียนชั้นมัธยมต้น เขาก็ได้มีโอกาสรู้จักกับแนวดนตรีและเครื่องดนตรีที่หลากหลายมากขึ้นผ่านการเป็นส่วนหนึ่งของวงเครื่องดนตรีทองเหลืองของโรงเรียน และนำพาให้เขามารู้จักกับศิลปินมากฝีมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Philip Glass, Steve Reich, Terry Riley, Shostakovich, Arvo Pärt ฯลฯ รวมถึง Yellow Magic Orchestra วงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่มี ริวอิจิ ซากาโมโตะ เป็นหนึ่งในสมาชิกวง และในช่วงมัธยมปลายเขาก็ตัดสินใจมุ่งหน้าสู่เส้นทางดนตรีอย่างจริงจังด้วยการสอบเข้าวิทยาลัยดนตรีคุนิทาจิได้สำเร็จ ซึ่งพาให้เขาได้มารู้จักและศึกษากับนักแต่งเพลงชื่อดังอย่าง ทาเคโอะ วาตานาเบะ ผู้อยู่เบื้องหลังเพลงประกอบอนิเมะยอดฮิตมากมาย เช่น Mobile Suit Gundam (1979)

 

ภายหลังจากขัดเกลาฝีมือของตัวเองอยู่พักใหญ่ ในช่วงยุค 1970 ฮิซาอิชิก็ได้รับโอกาสประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับอนิเมะซีรีส์ครั้งแรกจากเรื่อง Gyatoruzu (1974) และ Robokko Beeton (1976) ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเปลี่ยนชื่อของตัวเองจาก มาโมรุ ฟุจิซาวะ เป็น โจ ฮิซาอิชิ เพื่อใช้ในการออกผลงานเพลงของตัวเอง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากชื่อของศิลปินชาวอเมริกันที่เขาชื่นชอบ Quincy Jones ที่เมื่อนำมาเขียนเป็นตัวคันจิจะอ่านออกเสียงว่า โจ ฮิซาอิชิ ไม่นานจากนั้นเขาก็ได้ปล่อยอัลบั้มชุดแรกของตัวเองในชื่อ MKWAJU ออกมาในปี 1981 และ Information ในปี 1982 ซึ่งสองผลงานนี้เองที่ส่งให้ชื่อของฮิซาอิชิเริ่มกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

 

หนึ่งในนั้นคือ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ โปรดิวเซอร์คนสำคัญที่ชักชวนฮิซาอิชิให้มาร่วมงานกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่ ณ เวลานั้นมิยาซากิกำลังปลูกปั้นภาพยนตร์อนิเมะเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind

 

The Legend of the Wind เพลงประกอบภาพยนตร์ Nausicaä of the Valley of the Wind (1984)

 

หลังจากที่ Nausicaä of the Valley of the Wind ออกฉายในปี 1984 ฮิซาอิชิก็ได้รับหน้าที่ประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์อนิเมะของมิยาซากิมาอย่างต่อเนื่องถึง 11 เรื่อง (นับรวมผลงานล่าสุดอย่าง The Boy and the Heron) ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบทเพลงที่สร้างความประทับใจและเป็นที่จดจำของผู้ชมไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น A Town with an Ocean View จาก Kiki’s Delivery Service (1989), Princess Mononoke จาก Princess Mononoke (1997), One Summer’s Day จาก Spirited Away (2001) ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จ, Merry Go Round of Life จาก Howl’s Moving Castle (2004) ฯลฯ รวมถึงได้ร่วมประพันธ์ดนตรีประกอบให้กับผลงานของ Studio Ghibli เรื่อง The Tale of the Princess Kaguya (2013) ของผู้กำกับ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ

 

One Summer’s Day เพลงประกอบภาพยนตร์ Spirited Away

 

โดยฮิซาอิชิได้เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับวิธีการทำงานและการรักษามิตรภาพอันยาวนานระหว่างเขาและมิยาซากิไว้ว่า ทั้งคู่ต่างให้เกียรติกันด้วยการ ‘เว้นระยะห่าง’ พวกเขาแทบจะไม่ได้พูดคุยหรือถามไถ่เรื่องส่วนตัวหรือนัดกินข้าวกันเลย แต่เลือกที่จะพูดคุยกันเฉพาะเรื่องงานและทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่เท่านั้น

 

เพลงประกอบภาพยนตร์ Departures (2008)

 

นอกจากชื่อของมิยาซากิ ฮิซาอิชิยังได้มีโอกาสร่วมงานกับผู้กำกับมากฝีมืออีกหลายคนเช่นกัน ทั้ง ทาเคชิ คิตาโนะ ที่เขาได้ร่วมประพันธ์ดนตรีประกอบให้มากถึง 7 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ A Scene at the Sea (1991) ที่ส่งให้ชื่อของฮิซาอิชิสามารถคว้ารางวัล Japan Academy Film Prize สาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมครั้งแรกมาได้สำเร็จ, Departures (2008) ของผู้กำกับ โยจิโระ ทาคิตะ ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จ, Tom Thumb (2001) ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศส Olivier Dahan ฯลฯ รวมถึงมีผลงานการกำกับภาพยนตร์ของตัวเองอย่าง Quartet ในปี 2001 และด้วยผลงานอันโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติเหล่านี้เอง ส่งผลให้นักวิจารณ์และผู้ชมหลายคนต่างยกย่องให้เขาเป็น John Williams แห่งประเทศญี่ปุ่น

 

ภาพ: GKIDS Films / X

 

The Boy and the Heron การโคจรมาร่วมงานกันอีกครั้งในรอบ 10 ปีของฮิซาอิชิและมิยาซากิ

 

The Boy and the Heron นับว่าเป็นการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในรอบ 10 ปีของฮิซาอิชิและมิยาซากิ หลังจากที่ The Wind Rises เข้าฉายในปี 2013 รวมถึงตัวภาพยนตร์ก็เพิ่งคว้ารางวัล Golden Globe Awards 2024 สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จ

 

ภาพ: GKIDS Films / X

 

สำหรับ The Boy and the Heron ว่าด้วยเรื่องราวของ มาฮิโตะ ที่สูญเสียแม่ไปจากเหตุเพลิงไหม้ในกรุงโตเกียวในช่วงสงคราม เขาและพ่อจึงต้องย้ายไปอยู่ที่ชนบท และภายหลังจากที่พ่อของเขาแต่งงานใหม่กับน้องสาวของอดีตภรรยา มาฮิโตะก็ได้พบกับนกกระสาประหลาดที่พาเขาไปยังหอคอยปริศนา และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้เข้าสู่โลกใบใหม่

 

ฮิซาอิชิได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระบวนการทำงานในผลงานเรื่องนี้ว่า โดยปกติแล้วมิยาซากิจะนำสตอรีบอร์ดมาให้ฮิซาอิชิได้ดูก่อน เพื่อประชุมพูดคุยกันถึงแนวทางในการแต่งดนตรีประกอบในภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ แต่สำหรับ The Boy and the Heron กลับต่างออกไป เพราะเขาได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2022 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ภาพยนตร์เกือบจะสมบูรณ์แล้ว เพื่อให้งานภาพของภาพยนตร์เป็นหัวใจสำคัญในการถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมด อีกทั้งมิยาซากิยังไม่ได้พูดคุยถึงทิศทางของดนตรีที่ต้องการมากนัก แต่เลือกให้ฮิซาอิชิได้ตีความและลงมือสร้างสรรค์ดนตรีประกอบอย่างเต็มที่

 

 

Ask Me Why เพลงประกอบภาพยนตร์ The Boy and the Heron

 

หลังจากได้ชมภาพยนตร์ที่ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์ ฮิซาอิจิก็เริ่มทำงานของตัวเอง โดยแบ่งดนตรีประกอบออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ช่วงพาร์ตแรกของภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวของมาฮิโตะที่ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกความจริง นำเสนอภาพของญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ฮิซาอิจิจึงเลือกที่จะนำเสนอดนตรีที่มีความมินิมัล ใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้นอย่างเช่นเปียโน เพื่อช่วยขับเน้นให้ผู้ชมได้สัมผัสกับเรื่องราวและอารมณ์ในจิตใจของมาฮิโตะได้อย่างชัดเจนมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือเพลง Ask Me Why ที่สะท้อนถึงเรื่องราวของมาฮิโตะที่ตั้งคำถามและค้นหาความหมายของชีวิตและสิ่งต่างๆ รอบตัว

 

ส่วนในพาร์ตหลังของเรื่องซึ่งโฟกัสไปที่เรื่องราวการเดินทางของมาฮิโตะในโลกแฟนตาซีเหนือจินตนาการ ฮิซาอิจิจึงได้เพิ่มวงออร์เคสตราและวงประสานเสียงเข้ามาเสริม แต่ก็ยังคงรักษาสไตล์ดนตรีที่เรียบง่าย เพื่อให้ดนตรีช่วยเสริมเรื่องราวการเดินทางและการเติบโตของมาฮิโตะเช่นเดียวกับพาร์ตแรก

 

เรื่องราวการเดินทางของเด็กหนุ่มมาฮิโตะที่ผู้กำกับมิยาซากิและฮิซาอิชิอยากจะถ่ายทอดสู่สายตาผู้ชมครั้งนี้จะเป็นอย่างไร เราคงจะต้องไปติดตามกันต่อในโรงภาพยนตร์

 

The Boy and the Heron มีกำหนดเข้าฉายวันที่ 11 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

 

อ้างอิง:

The post ทำความรู้จัก โจ ฮิซาอิชิ คอมโพสเซอร์คู่บุญของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่ใช้บทเพลงพาผู้ชมก้าวเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ appeared first on THE STANDARD.

]]>
The Boy and the Heron ผลงานล่าสุดของ ฮายาโอะ มิยาซากิ เลื่อนกำหนดฉายในไทยออกไปอย่างไม่มีกำหนด https://thestandard.co/the-boy-and-the-heron-has-been-postponed-to-release-in-thailand/ Thu, 23 Nov 2023 02:43:21 +0000 https://thestandard.co/?p=868783 The Boy and the Heron

The Boy and the Heron ภาพยนตร์อนิเมะเรื่องล่าสุดของผู้ก […]

The post The Boy and the Heron ผลงานล่าสุดของ ฮายาโอะ มิยาซากิ เลื่อนกำหนดฉายในไทยออกไปอย่างไม่มีกำหนด appeared first on THE STANDARD.

]]>
The Boy and the Heron

The Boy and the Heron ภาพยนตร์อนิเมะเรื่องล่าสุดของผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่แต่เดิมจะเข้าฉายในประเทศไทยวันที่ 30 พฤศจิกายน ได้ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งแฟนๆ Studio Ghibli ในบ้านเราก็คงจะต้องอดใจรอกันอีกสักพักเพื่อที่จะได้รับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์

 

The Boy and the Heron จะว่าด้วยเรื่องราวของ มาฮิโตะ เด็กชายที่สูญเสียแม่ไปจากเหตุเพลิงไหม้ในกรุงโตเกียวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เขากับพ่อต้องย้ายไปอยู่ชนบทอันห่างไกล และภายหลังจากที่พ่อของเขาแต่งงานใหม่ มาฮิโตะได้พบกับนกกระสาตัวหนึ่งที่สามารถพูดได้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้เดินทางเข้าสู่โลกใบใหม่เพื่อพบกับแม่ที่จากไปอีกครั้ง

 

The Boy and the Heron

 

The Boy and the Heron ถือเป็นภาพยนตร์อนิเมะที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ กลับมานั่งแท่นเป็นผู้กำกับอีกครั้งในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ที่ผลงานก่อนหน้าของเขาอย่าง The Wind Rises ที่ออกฉายในปี 2013

 

นอกจากนี้ The Boy and the Heron ยังเป็นภาพยนตร์อนิเมะที่ได้เข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกมากมายไม่ว่าจะเป็น New York Film Festival, Toronto International Film Festival และ Independent Film Festival Boston พร้อมกันนั้นยังได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลามในแง่ที่ว่าเป็นผลงานที่เหมาะสมแก่การอำลาของเขา แม้ในปัจจุบันมันจะไม่ใช่เรื่องสุดท้ายแล้วก็ตาม

 

อ้างอิง: 

The post The Boy and the Heron ผลงานล่าสุดของ ฮายาโอะ มิยาซากิ เลื่อนกำหนดฉายในไทยออกไปอย่างไม่มีกำหนด appeared first on THE STANDARD.

]]>
SF Cinema นำ 7 ผลงานเรื่องเยี่ยมจาก Studio Ghibli กลับมาฉายอีกครั้ง 25-26 พ.ย. และ 2-3 ธ.ค. นี้ https://thestandard.co/sf-cinema-studio-ghibli-film-festival-2023/ Mon, 20 Nov 2023 06:17:38 +0000 https://thestandard.co/?p=867591 SF Cinema Studio Ghibli

แฟนๆ ผลงานของ Studio Ghibli ห้ามพลาด เมื่อ SF Cinema จั […]

The post SF Cinema นำ 7 ผลงานเรื่องเยี่ยมจาก Studio Ghibli กลับมาฉายอีกครั้ง 25-26 พ.ย. และ 2-3 ธ.ค. นี้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
SF Cinema Studio Ghibli

แฟนๆ ผลงานของ Studio Ghibli ห้ามพลาด เมื่อ SF Cinema จัดงาน Studio Ghibli Film Festival 2023 ด้วยการนำ 7 ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมจากผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ กลับมาเข้าฉายให้ทุกคนได้ทบทวนความประทับใจกันอีกครั้ง ในระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน และวันที่ 2-3 ธันวาคมนี้ 

 

สำหรับรายชื่อภาพยนตร์ทั้ง 7 เรื่องที่จะกลับมาฉายอีกครั้ง ประกอบด้วย Spirited Away (2001), My Neighbor Totoro (1988), Howl’s Moving Castle (2004), Kiki’s Delivery Service (1989), Castle in the Sky (1986), Princess Mononoke (1997) และ Porco Rosso (1992)

 

สำหรับ Studio Ghibli Film Festival 2023 จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ SFW เซ็นทรัลเวิลด์, SF เอ็มบีเค เซ็นเตอร์, SFX เมญ่า เชียงใหม่, SF เซ็นทรัล ขอนแก่น, SF เซ็นทรัล ชลบุรี และ SFX เซ็นทรัล ภูเก็ต โดยสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้แล้ววันนี้ 

 

สามารถตรวจสอบรอบฉายของภาพยนตร์ได้ที่: www.sfcinemacity.com/movies/film-festival/0000000029 

 

อ้างอิง:

The post SF Cinema นำ 7 ผลงานเรื่องเยี่ยมจาก Studio Ghibli กลับมาฉายอีกครั้ง 25-26 พ.ย. และ 2-3 ธ.ค. นี้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
The Boy and the Heron ผลงานล่าสุดจากผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ พร้อมเข้าฉายในไทย 30 พ.ย. นี้ https://thestandard.co/the-boy-and-the-heron-2/ Tue, 07 Nov 2023 06:33:29 +0000 https://thestandard.co/?p=863233 The Boy and the Heron

ถือเป็นข่าวดีของแฟนๆ Studio Ghibli เพราะ The Boy and th […]

The post The Boy and the Heron ผลงานล่าสุดจากผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ พร้อมเข้าฉายในไทย 30 พ.ย. นี้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
The Boy and the Heron

ถือเป็นข่าวดีของแฟนๆ Studio Ghibli เพราะ The Boy and the Heron ภาพยนตร์อนิเมะเรื่องล่าสุดจากผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ พร้อมเดินทางมาเข้าฉายให้แฟนๆ ชาวไทยได้รับชมกันแล้วในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

The Boy and the Heron

 

The Boy and the Heron ว่าด้วยเรื่องราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านสายตาของ มาฮิโตะ ที่สูญเสียแม่ไปจากเหตุเพลิงไหม้ในกรุงโตเกียว เขาและพ่อจึงต้องย้ายไปอยู่ที่ชนบท และภายหลังจากที่พ่อของเขาแต่งงานใหม่กับน้องสาวของอดีตภรรยา มาฮิโตะก็ได้พบกับนกกระสาที่สามารถพูดได้ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้เข้าสู่โลกใบใหม่เพื่อพบกับแม่ที่จากไปอีกครั้ง 

 

The Boy and the Heron นับว่าเป็นการกลับมานั่งแท่นผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมะอีกครั้งในรอบ 10 ปีของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ภายหลังจากที่ The Wind Rises ออกฉายในปี 2013 

 

ด้านรายชื่อทีมงานเบื้องหลังได้ ทาเคชิ ฮอนดะ จากภาพยนตร์ชุด Rebuild of Evangelion มาดูแลในตำแหน่งผู้กำกับแอนิเมชัน พร้อมด้วย โจ ฮิซาอิชิ คอมโพเซอร์คู่บุญที่ทำงานร่วมกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ มาแล้วหลายเรื่อง เช่น My Neighbor Totoro (1988), Princess Mononoke (1997) และ Spirited Away (2001) กลับมารับหน้าที่ประพันธ์ดนตรีประกอบเช่นเดิม และ เคนชิ โยเนสึ หนึ่งในศิลปินระดับแถวหน้า มารับหน้าที่ขับร้องเพลงประกอบในชื่อ Spinning Globe

 

ขณะที่รายชื่อนักพากย์ที่เปิดเผยออกมาให้เราได้ติดตามประกอบด้วย โชมะ ซันโทกิ, สุดะ มาซากิ, โค ชิบาซากิ, Aimyon, ทาคุยะ คิมูระ และ โยชิโนะ คิมูระ ฯลฯ

 

The Boy and the Heron เข้าฉายในประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา และแม้ว่าทาง Studio Ghibli จะตัดสินใจไม่ปล่อยภาพโปรโมต ข้อมูล หรือตัวอย่างออกมาให้ผู้ชมติดตามจนกว่าภาพยนตร์จะเข้าฉาย แต่ภาพยนตร์ก็สามารถกวาดรายได้เปิดตัว 3 วันแรกในญี่ปุ่นไปได้สูงถึง 13.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

รวมถึงยังได้ออกเดินทางไปเข้าฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วหลายแห่ง เช่น Toronto International Film Festival, San Sebastian Film Festival หรือ Independent Film Festival Boston ฯลฯ และได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ชมอย่างเนืองแน่น โดยภาพยนตร์ได้รับคะแนนรีวิวจากนักวิจารณ์บนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes สูงถึง 98% จาก 88 สำนัก 

 

อ้างอิง:

The post The Boy and the Heron ผลงานล่าสุดจากผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ พร้อมเข้าฉายในไทย 30 พ.ย. นี้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
The Boy and the Heron เผยรายชื่อนักพากย์ฉบับภาษาอังกฤษ นำโดย Christian Bale และ Florence Pugh https://thestandard.co/the-boy-and-the-heron-english-voice/ Wed, 18 Oct 2023 06:11:30 +0000 https://thestandard.co/?p=855976

วันนี้ (18 ตุลาคม) The Boy and the Heron ภาพยนตร์แอนิเม […]

The post The Boy and the Heron เผยรายชื่อนักพากย์ฉบับภาษาอังกฤษ นำโดย Christian Bale และ Florence Pugh appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (18 ตุลาคม) The Boy and the Heron ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องล่าสุดจาก Studio Ghibli ภายใต้การกำกับของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ได้มีการประกาศรายชื่อนักแสดงระดับแถวหน้าของฮอลลีวูดที่จะมาร่วมให้เสียงพากย์ฉบับภาษาอังกฤษ ก่อนที่ภาพยนตร์จะเข้าฉายที่อเมริกาเหนือในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ 

 

สำหรับรายชื่อนักแสดง นำโดย Christian Bale จากไตรภาค The Dark Knight ที่จะมาให้เสียงพากย์เป็น โชอิจิ มากิ, Dave Bautista จากไตรภาค Guardians of the Galaxy พากย์เป็น The Parakeet King, Gemma Chan จาก Crazy Rich Asians (2018) พากย์เป็น นัตซึโกะ, Willem Dafoe จาก Spider-Man (2002) พากย์เป็น Noble Pelican, Karen Fukuhara จากซีรีส์ The Boys (2019) พากย์เป็น Lady Himi, Mark Hamill จาก Batman: The Animated Series (1992) พากย์เป็น Granduncle, Robert Pattinson จาก Tenet (2020) พากย์เป็น The Gray Heron และ Florence Pugh จาก Midsommar (2019) พากย์เป็น คิริโกะ 

 

 

ก่อนหน้านี้ The Boy and the Heron ได้เดินทางไปเข้าฉายที่งาน Toronto International Film Festival และได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม โดยภาพยนตร์ได้รับคะแนนรีวิวจากนักวิจารณ์บนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes สูงถึง 99% จาก 73 สำนัก 

 

และจากการให้สัมภาษณ์ของ โทชิโอะ ซูซูกิ โปรดิวเซอร์และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Ghibli ก็ได้ออกมายืนยันให้แฟนๆ ของ Studio Ghibli ทราบว่า The Boy and the Heron จะไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ และตอนนี้เขามีไอเดียในการสร้างผลงานเรื่องต่อไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  

 

 

โดยนอกเหนือจากที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ จะรับหน้าที่กำกับและเขียนบทแล้ว ภาพยนตร์ยังได้ ทาเคชิ ฮอนดะ จากภาพยนตร์ชุด Rebuild of Evangelion มาดูแลในตำแหน่งผู้กำกับแอนิเมชัน พร้อมด้วย โจ ฮิซาอิชิ คอมโพเซอร์คู่บุญที่ทำงานร่วมกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ มาแล้วหลายเรื่อง เช่น My Neighbor Totoro (1988), Princess Mononoke (1997) และ Spirited Away (2001) กลับมารับหน้าที่ประพันธ์ดนตรีประกอบเช่นเดิม โดยได้ เคนชิ โยเนสึ หนึ่งในศิลปินระดับแถวหน้ามารับหน้าที่ขับร้องเพลงประกอบในชื่อ Spinning Globe

 

The Boy and the Heron ว่าด้วยเรื่องราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านสายตาของ มาฮิโตะ ที่สูญเสียแม่ไปจากเหตุเพลิงไหม้ในกรุงโตเกียว เขาและพ่อจึงต้องย้ายไปอยู่ที่ชนบท และภายหลังจากที่พ่อของเขาแต่งงานใหม่กับน้องสาวของอดีตภรรยา มาฮิโตะก็ได้พบกับนกกระสาที่สามารถพูดได้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้เข้าสู่โลกใบใหม่เพื่อพบกับแม่ที่จากไปอีกครั้ง 

 

รับชมตัวอย่าง The Boy and the Heron ได้ที่: www.youtube.com/watch?v=f7EDFdA10pg 

 

 

อ้างอิง:

The post The Boy and the Heron เผยรายชื่อนักพากย์ฉบับภาษาอังกฤษ นำโดย Christian Bale และ Florence Pugh appeared first on THE STANDARD.

]]>
Studio Ghibli ในวันที่ต้อง ‘ขายกิจการ’ เพราะไม่มีคนรับช่วงต่อ แล้วจิตวิญญาณกับตัวตนของสตูดิโอที่ทุกคนรักจะเปลี่ยนไปหรือไม่? https://thestandard.co/studio-ghibli-soul-and-identity/ Sun, 08 Oct 2023 11:49:38 +0000 https://thestandard.co/?p=852085

จากเรื่องราวของเพื่อนบ้านผู้น่ารักอย่าง โตโตโร่ ใน My N […]

The post Studio Ghibli ในวันที่ต้อง ‘ขายกิจการ’ เพราะไม่มีคนรับช่วงต่อ แล้วจิตวิญญาณกับตัวตนของสตูดิโอที่ทุกคนรักจะเปลี่ยนไปหรือไม่? appeared first on THE STANDARD.

]]>

จากเรื่องราวของเพื่อนบ้านผู้น่ารักอย่าง โตโตโร่ ใน My Neighbor Totoro สู่การผจญภัยของ จิฮิโระ กับ ฮาคุ ที่ทั้งสนุกสนานและซาบซึ้งอย่าง Spirited Away หรือความรักอันใสซื่อบริสุทธิ์ของ โปเนียว ธิดาสมุทร ใน Ponyo

 

เรื่องราวของความรัก ความผูกพัน ความสัมพันธ์ และมิตรภาพ ที่ให้มากกว่าแค่ความบันเทิง เพราะลงลึกไปถึงความคิดและจิตวิญญาณ ผ่านการบอกเล่าด้วยลายเส้นที่งดงามจนเหมือนภาพเหล่านั้นมีชีวิต คือเสน่ห์ไม่รู้ลืมที่ ‘Studio Ghibli’ มอบให้แก่ผู้ชมทุกคนผ่านแอนิเมชัน ‘ชั้นครู’ มากมาย

 

และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้สตูดิโอแอนิเมชันจากประเทศญี่ปุ่นแห่งนี้ คือหนึ่งในสตูดิโออันเป็นที่รักและหวงแหนมากที่สุดของคนทั่วโลก

 

แต่เพราะการเปลี่ยนแปลงคือสัจธรรมของชีวิต แม้แต่สตูดิโอที่ทุกคนรักอย่าง Ghibli เองก็หลีกหนีมันไม่พ้น เมื่อมีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่มาเป็น Nippon TV

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมันจะทำให้จิตวิญญาณและตัวตนของ Studio Ghibli ที่ก่อตั้งโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ สูญสลายไปด้วยหรือไม่

 

โตโตโร่ นายจะเปลี่ยนไปไหมหลังจากนี้?

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

การเปลี่ยนแปลงที่มิอาจหลีกหนี

 

ข่าวการเปลี่ยนแปลงเจ้าของ Studio Ghibli เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 21 กันยายน เมื่อผู้บริหารของ Nippon TV ได้เข้าพบกับผู้บริหารของฝ่ายสตูดิโอ

 

การพบกันครั้งนี้เป็นการตัดสินใจร่วมกันที่จะให้สตูดิโอระดับตำนานแห่งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเครือของ Nippon TV ด้วยการถือหุ้น 42.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ก่อนที่จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมกันของทั้งสองฝ่ายถึงการตัดสินใจครั้งนี้ โดยไม่มีการเปิดเผยถึง ‘มูลค่า’ ของข้อตกลงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

 

“จากการที่ผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ มีอายุถึง 82 ปีแล้ว ส่วน โทชิโอะ ซูซูกิ ก็มีอายุถึง 75 ปี Studio Ghibli ก็ประสบปัญหาในเรื่องของการหาผู้สืบทอด”

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวของสตูดิโอนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม พวกเขาตระหนักถึงปัญหานี้มาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว

 

ทุกอย่างเริ่มต้นจากเมื่อปี 2013 เมื่อ ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Ghibli ซึ่งขณะนั้นมีวัย 72 ปี ประกาศว่า เขาจะขอวางมือจากการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์  เนื่องจากคิดว่าถึงวัยอันควรที่จะพักผ่อนแล้ว โดยภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง The Wind Rises ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพในใจของมิยาซากิจากความทรงจำของครอบครัวในวัยเด็ก จะเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย

 

การประกาศครั้งนั้นทำให้ทางด้านซูซูกิที่ก่อร่างสร้างทุกอย่างด้วยกันมาคิดว่าถึงเวลาที่ Studio Ghibli จะต้องเปลี่ยนแปลง

 

แต่ระยะเวลาผ่านมา 10 ปี ก็ยังไม่มีใครที่จะรับช่วงต่อจากมิยาซากิได้

 

หรือความจริงเราควรจะบอกว่า ไม่มีใครกล้าที่จะรับช่วงต่อจากเขา แม้กระทั่งลูกชายของเขาเอง

 

ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ร่วมก่อตั้ง Studio Ghibli

ภาพ: Jun Sato / WireImage

 

ไม่มีใครทดแทนได้ แม้กระทั่งลูกชาย

 

หนึ่งในคนที่ถูกคาดหมายมาตลอดว่าจะรับช่วงต่อจาก ฮายาโอะ มิยาซากิ คือ โกโร มิยาซากิ บุตรชายคนโต ผู้เดินตามรอยของพ่อในการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชันด้วยเช่นกัน

 

เพียงแต่แอนิเมชันสำหรับเขาแล้วไม่ใช่ความทรงจำที่ดีนัก

 

การทำงานหนักชนิดทุ่มเทด้วยร่างกายไปจนถึงจิตวิญญาณของฮายาโอะ ทำให้เขาห่างเหินจากครอบครัว ไม่มีโอกาสที่จะได้ใช้เวลาร่วมกับลูกชายอย่างที่ควรจะเป็น และนั่นทำให้เมื่อโตขึ้นมา โกโรจึงไม่คิดที่จะเดินตามรอยเท้าของพ่อในการเป็นนักวาดแอนิเมเตอร์

 

เขาเลือกเส้นทางในการขีดเขียนของตัวเองไปอีกแบบ ด้วยการเป็นสถาปนิกแทน

 

อย่างไรก็ดี ฮายาโอะพยายามปรับความเข้าใจกับโกโรด้วยวิธีในแบบของเขาคือ การสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Ponyo ที่เชื่อกันว่าเป็นคำขอโทษจากพ่อที่ไม่ได้ใส่ใจและดูแลเขาอย่างที่ควรจะทำ

 

โดยเนื้อหาของแอนิเมชันเรื่องนี้นั้นนอกเหนือจากความรักอันแสนบริสุทธิ์ระหว่าง โปเนียว เทพธิดาสมุทรผู้แสนน่ารักและซุกซน กับ โชสุเกะ ตัวละครชายที่เป็นเด็กที่ซื่อตรงและมั่นคง บรรยากาศความอบอุ่นของครอบครัวคือ ‘สาร’ ที่ถูกแทรกอยู่ในเรื่อง

 

และนั่นเป็นการแทนคำขอโทษของฮายาโอะ เพราะแรงบันดาลใจของ Ponyo แท้จริงแล้วมาจากภาพยนตร์เรื่อง Tales from Earthsea ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของโกโรกับ Studio Ghibli ในการเป็นผู้กำกับแอนิเมชัน หลังจากที่ลังเลว่าจะเข้าวงการมาโดยตลอด

 

เรื่องราวนี้ถูกเปิดเผยในสารคดี How Ponyo Was Born ว่าโกโรเก็บความรู้สึกมาโดยตลอดว่าเขาไม่เคยถูกพ่อเลี้ยงดู คนที่เลี้ยงดูเขาคือผลงานของพ่อ

 

แต่ถึงฮายาโอะจะกล่าวคำขอโทษแล้ว นั่นก็ไม่ได้แปลว่าโกโรจะยอมรับช่วงต่อทุกอย่าง

 

เพราะการทำงานให้ได้มาตรฐานเดียวกับที่ฮายาโอะทำไว้ เป็นเรื่องที่หนักหนาจนเกินไปสำหรับลูกชายอย่างเขา

 

สุดท้ายแม้จะทำงานในวงการแอนิเมชัน ได้กำกับแอนิเมชันให้สตูดิโอของพ่อ 3 เรื่อง และมีส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าที่ระลึกที่ขายใน Ghibli Park สวนสนุกแห่งแรกของ Studio Ghibli ที่เพิ่งเปิดให้บริการในปี 2022 โดยการเปิดตัวของเขาในครั้งนั้นยังคล้ายเป็นการบอกว่า เขารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นในสายสัมพันธ์อันซับซ้อนกับสตูดิโอของพ่อ

 

แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องมีการหาคนที่จะมาแทนที่จริงๆ

 

โกโรขอปฏิเสธ ไม่ใช่เพราะไม่เคยคิดจะรับช่วงต่อ แต่หลังจากไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่แล้ว เขาคิดว่ามันจะเป็นการดีกว่าสำหรับ Studio Ghibli ที่จะหาคนสืบทอดงานแห่งจิตวิญญาณที่เป็นคนอื่นไปเลย

 

ภาพ: Tomohiro Ohsumi / Getty Images

 

เพราะจิตวิญญาณของ Ghibli คือชีวิตของมิยาซากิ

 

Studio Ghibli ถือกำเนิดขึ้นมาครั้งแรกในปี 1985 โดย อิซาโอะ ทาคาฮาตะ, ยาสุโยชิ โทคุมะ, โทชิโอะ ซูซูกิ และ ฮายาโอะ มิยาซากิ ซึ่งเป็นคนในวงการที่เคยร่วมงานกันมายาวนาน จนนอกจากจะรู้มือก็ยังรู้ใจด้วย

 

แต่กว่าจะมาถึงจุดนั้นได้ มิยาซากิก็ผ่านเส้นทางที่โหดหินอยู่ไม่ใช่น้อย

 

มิยาซากิเติบโตในครอบครัวที่ทำธุรกิจผลิตหางเสือให้เครื่องบินรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ให้ความสนใจในงานด้านศิลปะ โดยเฉพาะมังงะและแอนิเมชัน ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นไฮสคูล

 

ความแปลกประหลาดคือ การที่มิยาซากิเพิ่งเริ่มรู้ตัวในช่วงนั้นว่าเขาจะวาดภาพได้เฉพาะในสิ่งที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เช่น เครื่องบิน รถถัง หรือเรือรบ เท่านั้น โดยไม่สามารถวาดภาพของคนหรือรูปทรงได้ ซึ่งเหมือนจะเป็นข้อด้อยสำหรับการเป็นศิลปิน แต่สิ่งนี้กลายเป็นหนึ่งในข้อดีที่สุดของเขาแทน เพราะทำให้เขาเริ่มสนใจศึกษาการเคลื่อนไหวของคน

 

และลึกไปกว่านั้นคือ การทำความเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนเคลื่อนไหว

 

ดังนั้นในผลงานของมิยาซากิ ทุกอย่างจะอยู่บนโลกที่ดูสมจริงและอ่อนช้อย

 

แรงบันดาลใจของเขาในช่วงแรกคือ ปรมาจารย์ของวงการมังงะญี่ปุ่นยุคแรกอย่าง เท็ตสึจิ ฟุกุชิมะ และ โอซามุ เทซึกะ โดยคนหลังเป็นเจ้าของผลงานระดับตำนานมากมาย รวมถึง ‘เจ้าหนูอะตอม’ (Astro Boy) อันเป็นที่รักของเด็กทั่วโลก

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกนั้นมิยาซากิไม่ชอบผลงานของเขาสักเท่าไรนัก บ่อยครั้งที่เขาทำลายมัน เพราะรู้สึกว่าในผลงานนั้นไม่ได้มีอะไรที่เป็นของเขาเลย ทุกอย่างมันเป็นการลอกเลียนแบบมาจากไอดอลของเขาเท่านั้น

 

ในระหว่างนั้นเขาค้นพบความรักครั้งใหม่ในภาพยนตร์แอนิเมชันสีเรื่องแรกของญี่ปุ่นที่ออกฉายในปี 1958 อย่าง Panda and the Magic Serpent ที่ช่วยเปิดโลกใบใหม่ให้เขา และช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัย แม้จะศึกษาในด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ แต่มิยาซากิจะใช้เวลาอ่านวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งช่วยขัดเกลาความคิดและมุมมอง ทำให้มองโลกอย่างอ่อนโยนและลึกซึ้งมากขึ้น

 

จนกระทั่งเริ่มทำงานครั้งแรกกับบริษัท Toei Animation ซึ่งนอกจากจะได้ร่วมงานกับทาคาฮาตะ – ที่ในเวลาต่อมาร่วมกันทำผลงานระดับมาสเตอร์พีซของโลกอย่าง Grave of the Fireflies (สุสานหิ่งห้อย) – ก็ยังได้ครูดีอย่าง ยาสุโอ โอสึกะ เป็นที่ปรึกษาให้วิชาความรู้

 

เมื่อออกจาก Toei Animation มิยาซากิได้ทำงานกับสตูดิโออื่นๆ ก่อนจะเริ่มฉายแววในผลงานที่โดดเด่นอย่าง The Castle of Cagliostro (ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ สตีเวน สปีลเบิร์ก นำไปสร้างภาพยนตร์ชุด Indiana Jones) ในปี 1979 และในปี 1984  กับเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind

 

ในวันที่วิชาแก่กล้าแล้ว มิยาซากิจึงชักชวนเพื่อนก่อตั้ง Studio Ghibli โดยมีผลงานชิ้นแรกคือ Laputa: Castle in the Sky’

 

ก่อนที่จะมีภาพยนตร์แอนิเมชันระดับตำนานตามมาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็น My Neighbor Totoro ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาลและสะท้อนตัวตนของ Studio Ghibli แต่ความสำเร็จนั้นได้ถูกยกระดับขึ้นไปอีกด้วยเรื่อง Princess Mononoke ในปี 1997 ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Japan Academy Prize

 

จากนั้นในปี 2001 Studio Ghibli ได้สร้างตำนานแอนิเมชันที่ยิ่งใหญ่อย่าง Spirited Away ที่ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันแห่งปี และยังคงเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกและเรื่องเดียวจนถึงปัจจุบันที่วาดด้วยมือ (และไม่ใช่ภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ) ที่ได้รับรางวัลนี้

 

แต่ผลงานของ Studio Ghibli ก็ไม่ได้มีแค่นี้ ยังมีผลงานที่ได้รับความนิยมอย่าง Kiki’s Delivery Service (1989), Porco Rosso (1992), Howl’s Moving Castle (2004), Ponyo (2008), The Wind Rises (2013) รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เชื่อกันว่าในชีวิตคนเราทุกคนจะมีภาพยนตร์แอนิเมชันของ Ghibli อยู่ในความทรงจำอย่างน้อยคนละหนึ่งเรื่อง

 

สิ่งที่ทำให้ผลงานของสตูดิโอแห่งนี้ได้รับการโค้งคำนับจากโลก มาจากความทุ่มเทในการทำงานของทุกคนที่ทำงานกันอย่างหนัก ถวายทั้งชีวิตและจิตใจลงไปในผลงาน โดยเฉพาะมิยาซากิที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ไม่ยอมลดราวาศอกในเรื่องของการทำงานแม้แต่น้อย

 

ที่ทำเช่นนั้นก็เพื่อให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบ และนั่นหมายถึงอีกด้านของภาพที่งดงามคือ การที่คนที่ทำงานร่วมกับมิยาซากิต้องเจ็บปวดไปกับการทำให้ผู้กำกับอย่างเขาพอใจให้ได้

 

และนั่นหมายถึงอีกด้านของผู้กำกับอัจฉริยะก็คือ คนอารมณ์ร้อน โมโหร้าย และมีฝีปากที่ทำร้ายหัวใจของเพื่อนร่วมงานทุกคน

 

แต่นั่นก็เป็นเพราะผลงานทุกชิ้นมันคือเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของเขาเช่นกัน

 

 

ก้าวต่อไปของ Studio Ghibli

 

ผลงานล่าสุดของ Studio Ghibli ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี 2023 คือเรื่อง Kimitachi wa Dō Ikiru ka (君たちはどう生きる) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า The Boy and the Heron’ (เดิมใช้ชื่อว่า How Do You Live)

 

ผลงานชิ้นนี้ทางสตูดิโอไม่มีการโปรโมตในรูปแบบใดๆ อย่างที่ภาพยนตร์ทั่วไปต้องทำการตลาดประชาสัมพันธ์อะไร ไม่มีใครเคยได้เห็นภาพหรือเรื่องย่อของผลงานชิ้นนี้มาก่อนเลย

 

สิ่งเดียวที่มีการพูดถึงคือ การบอกกันว่า ‘นี่จะเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ยิ่งใหญ่’ และมันกลายเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุด

 

แฟนคลับของเขาและ Studio Ghibli ตีตั๋วเข้าไปชมโดยไม่ต้องคิดอะไรอีกเลย และปรากฏว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถทำเงินรายได้ในญี่ปุ่น 8.16 พันล้านเยน พร้อมกับได้รับเสียงตอบรับในทางที่ดีมาก

 

แต่ชีวิตหลังจากนี้ของ Studio Ghibli จะเป็นอย่างไร?

 

เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ เพียงแต่ Studio Ghibli ยุคที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น Nippon TV อาจจะไม่ได้ถึงกับเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจนัก

 

เหตุผลนั้นเป็นเพราะทั้งสองฝ่ายไม่ใช่คนอื่นคนไกล ต่างคุ้นเคยกันมาเป็นเวลาเนิ่นนาน เรียกได้ว่านับตั้งแต่ปีที่ก่อตั้ง Studio Ghibli เลยทีเดียว เพราะผลงานเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของสตูดิโอ ออกอากาศครั้งแรกที่ Nippon TV ในปี 1985 ต่อด้วย Kiki’s Delivery Service ในปี 1989 ที่ Nippon TV ร่วมออกทุนในการผลิต และนับจากนั้นเป็นต้นมาทั้งสองฝ่ายก็ร่วมมือกันมาโดยตลอด

 

ความร่วมมือนั้นไปถึงการที่ Nippon TV ช่วยก่อตั้ง Mitaka no Mori Ghibli Museum ในกรุงโตเกียวด้วย ส่วนในทางกลับกัน มิยาซากิก็เป็นผู้ออกแบบตัวนำโชค หรือมาสคอตของ Nippon TV ในปี 1993 และ 2001 ด้วยเช่นกัน

 

เรียกได้ว่า Nippon TV รู้และเข้าใจตัวตนของ Studio Ghibli เป็นอย่างดี และไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่เคยทำงานร่วมกับ Disney ในช่วงปี 1996 ที่พบว่าไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก

 

“เพราะ Nippon Television (Nippon TV) มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยาวนานกับ Studio Ghibli โดยเคารพในคุณค่าของสตูดิโอ ดังนั้นเรามั่นใจว่าเราจะสามารถช่วยปกป้อง Studio Ghibli ในเรื่องของการผลิตผลงานและมูลค่าของแบรนด์ได้อย่างแน่นอน” คือคำกล่าวในแถลงการณ์ร่วมของทั้งสองฝ่าย

 

จากนี้ Studio Ghibli จะก้าวเดินต่อไปโดยไม่ยึดติดกับตัวตนของใครคนใดคนหนึ่ง ด้วยความเชื่อว่า ระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา มันยาวนานและมากพอที่จะทำให้จิตวิญญาณในการสร้างสรรค์ผลงานในแบบของสตูดิโอแห่งนี้ได้รับการสานต่อไปสู่คนรุ่นต่อไป

 

และด้วยความหวังว่า Studio Ghibli จะไม่ใช่แค่สถานที่

 

แต่เป็นผู้คน

 

ส่วน ฮายาโอะ มิยาซากิ นั้น ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อย่างน้อยผลงานเรื่องสุดท้ายของเขาที่ใช้เวลาทำกว่า 6 ปีก็สำเร็จแล้ว

 

ซูซูกิเปิดเผยถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้ชายชราในวัย 82 ปีอย่างมิยาซากิทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างลงไปในผลงานชิ้นนี้ว่า เป็นการทำเพื่อหลานของเขา

 

และเป็นการบอกรักและบอกลากับหลานของเขาโดยไม่ใช้คำพูด เหมือนเช่นครั้งที่บอกขอโทษลูกชายผ่านภาพยนตร์แอนิเมชันว่า

 

“อีกไม่นานคุณปู่ก็จะไปอยู่โลกใหม่แล้ว แต่ปู่ทำหนังเรื่องนี้ทิ้งไว้เป็นของต่างหน้าให้หนูดู เพราะปู่รักหนูนะ”

 

ภาพปก: Damon Coulter / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

อ้างอิง: 

The post Studio Ghibli ในวันที่ต้อง ‘ขายกิจการ’ เพราะไม่มีคนรับช่วงต่อ แล้วจิตวิญญาณกับตัวตนของสตูดิโอที่ทุกคนรักจะเปลี่ยนไปหรือไม่? appeared first on THE STANDARD.

]]>
พาชม ‘How to Make STUDIO GHIBLI’S ANIMATION’ โซนใหม่ ที่เปิดเผยทุกขั้นตอนการทำงาน https://thestandard.co/life/how-to-make-studio-ghiblis-animation Sat, 07 Oct 2023 08:41:12 +0000 https://thestandard.co/?post_type=life&p=851792 The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023

ใครที่ยังคงประทับใจกับงาน The World of Studio Ghibli’s […]

The post พาชม ‘How to Make STUDIO GHIBLI’S ANIMATION’ โซนใหม่ ที่เปิดเผยทุกขั้นตอนการทำงาน appeared first on THE STANDARD.

]]>
The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023

ใครที่ยังคงประทับใจกับงาน The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok กันอยู่บ้าง ด้วยผลตอบรับที่ดีมากจากแฟนคลับชาวไทย Studio Ghibli จึงตัดสินใจขยายเวลาจัดงานออกไปจนถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 แต่แค่ขยายเวลาจัดงานยังไม่พิเศษพอ เพราะทางงานได้เพิ่มโซนใหม่ที่ชื่อ ‘How to Make STUDIO GHIBLI’S ANIMATION’ โดยเป็นการรวมเบื้องหลังการทำงานทุกๆ ขั้นตอน ตั้งแต่ทำภาพสเกตช์จนออกมาเป็นแต่ละฉาก ซึ่งปกติจะจัดแสดงเฉพาะในพิพิธภัณฑ์ที่กรุงโตเกียวเท่านั้น มาให้แฟนคลับชาวไทยได้ดูด้วย

 

The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023 The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023 The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023

 

วันนี้เราจะพาไปดูบรรยากาศโซนใหม่คร่าวๆ ว่ามีอะไรพิเศษบ้าง 

 

เริ่มด้วย อิมเมจบอร์ด (Imageboards) ภาพวาดที่แสดงบรรยากาศของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ซึ่งทางสตูโอได้นำอิมเมจบอร์ดของ My Neighbor Totoro มาจัดแสดงให้ได้ชมกัน

 

The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023

 

สตอรีบอร์ด (Storyboards) เบื้องหลังการทำงานสเกตช์ภาพแบบเฟรมต่อเฟรมในภาพยนตร์ และสตอรีบอร์ดที่เราจะได้เห็นในงานนี้เป็นของเรื่อง Nausicaä of the Valley of the Wind และ Spirited Away

 

The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023

 

เลย์เอาต์ (Layouts) เป็นการวางมุมมองภาพของแต่ละฉาก และไฮไลต์คือฉากห้องทำงานของ Yubaba จากเรื่อง Spirited Away

 

The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023

 

ในโซนใหม่ยังมีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น เครื่องเขียน สมุด และกระดาษ ที่ใช้ทำงานจริง แฟนคลับ Studio Ghibli คนไหนสนใจเบื้องหลังการทำงานต้องรีบมาแล้ว

 

The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023 The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023 The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok 2023

 

สำหรับใครที่เคยซื้อบัตรเข้าชมแล้ว (ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2566) สามารถนำบัตรเข้าชมรอบเก่ามาแสดงพร้อมบัตรรอบใหม่ เพื่อแลกรับโปสเตอร์ Limited Edition ได้เลย มีจำกัดแค่ 1,000 ใบเท่านั้น

 

The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok รอบใหม่เปิดให้เข้าชมวันแรก 7 ตุลาคม 2566 ไปจนถึงวันที่ 2 มกราคม 2567 

 

นิทรรศการจัดแสดงอยู่ที่ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราคาบัตรปกติ 590 บาท หรือบัตรหน้างาน 650 บาท ซื้อบัตรได้ที่: www.thaiticketmajor.com/the-world-of-studio-ghiblis

 

 

 

Live Nation Tero

Studio Ghibli 

The post พาชม ‘How to Make STUDIO GHIBLI’S ANIMATION’ โซนใหม่ ที่เปิดเผยทุกขั้นตอนการทำงาน appeared first on THE STANDARD.

]]>
The World of Studio Ghibli’s เปิดโซนใหม่เพิ่ม พร้อมขยายเวลาจัดงานถึง 2 ม.ค. 2567 https://thestandard.co/life/world-of-studio-ghibli-2-jan-67 Thu, 05 Oct 2023 10:48:50 +0000 https://thestandard.co/?post_type=life&p=851055 ขยายเวลาถึง 2 มกราคม 2567

ที่จริงนิทรรศการ The World of Studio Ghibli’s Animation […]

The post The World of Studio Ghibli’s เปิดโซนใหม่เพิ่ม พร้อมขยายเวลาจัดงานถึง 2 ม.ค. 2567 appeared first on THE STANDARD.

]]>
ขยายเวลาถึง 2 มกราคม 2567

ที่จริงนิทรรศการ The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok ครั้งใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เพิ่งปิดฉากไปเมื่อสิ้นเดือนก่อน แต่เพราะแฟนๆ สตูดิโอจิบลิชาวไทยให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นมาก ผู้จัดงานจึงตัดสินใจนำผลงานสุดหวงแหนมาจัดแสดงให้ชมเป็นพิเศษ พร้อมกับขยายเวลาจัดแสดงนิทรรศการไปด้วยเลย

 

โซนใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือ ‘Hall of Fame’ เป็นการจัดแสดงภาพสเกตช์และสต๊อปโมชันที่ส่งตรงจากสตูดิโอจิบลิมาให้คนไทยชมโดยเฉพาะ ซึ่งความพิเศษของโซนนี้ก็คือ ปกติแล้วจะจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่โตเกียวเท่านั้น และผู้เข้าชมไม่สามารถถ่ายภาพด้านในได้ ทว่าแฟนจิบลิชาวไทยจะเป็นข้อยกเว้น!

 

เนื้อหาในโซน Hall of Fame เล่าถึงเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นแอนิเมชันสตูดิโอจิบลิที่คนทั่วโลกหลงรัก มีทั้ง Image Board, Storyboard, Layouts ของแอนิเมชันเรื่องต่างๆ โดยผู้ซื้อบัตรจะสามารถเข้าชมนิทรรศการทั้งโซนใหม่-โซนเก่าได้พร้อมกัน 

 

ส่วนใครที่เคยซื้อบัตรเข้าชมแล้ว (ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน) สามารถนำบัตรเข้าชมรอบเก่ามาแสดงพร้อมบัตรรอบใหม่ เพื่อแลกรับโปสเตอร์ Limited Edition ได้เลย มีจำกัดแค่ 1,000 ใบเท่านั้น

 

The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok รอบใหม่เปิดให้เข้าชมวันแรกตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 สำหรับบัตร Early Bird ขายถึงพรุ่งนี้ (6 ตุลาคม 2566) ในราคา 490 บาท

 

นิทรรศการจัดแสดงอยู่ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 8 ราคาบัตรปกติ 590 บาท หรือบัตรหน้างาน 650 บาท ซื้อบัตรได้ที่ www.thaiticketmajor.com/the-world-of-studio-ghiblis/

The post The World of Studio Ghibli’s เปิดโซนใหม่เพิ่ม พร้อมขยายเวลาจัดงานถึง 2 ม.ค. 2567 appeared first on THE STANDARD.

]]>