Shalini Mullick – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 13 Mar 2024 07:37:08 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 จากดินแดนอาทิตย์อุทัยสู่ดินแดนภารตะ เรื่องราวความสำเร็จของแบรนด์ญี่ปุ่นในอินเดียที่มีคำว่า ‘มินิมัล’ เป็นตัวแปรหลัก https://thestandard.co/japans-uniqlo-muji-taking-young-indian-consumers/ Wed, 13 Mar 2024 07:37:08 +0000 https://thestandard.co/?p=910633 แบรนด์ญี่ปุ่น

ท่ามกลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซา เหล่าผู้ค้าปลีกญี่ปุ่นก […]

The post จากดินแดนอาทิตย์อุทัยสู่ดินแดนภารตะ เรื่องราวความสำเร็จของแบรนด์ญี่ปุ่นในอินเดียที่มีคำว่า ‘มินิมัล’ เป็นตัวแปรหลัก appeared first on THE STANDARD.

]]>
แบรนด์ญี่ปุ่น

ท่ามกลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ซบเซา เหล่าผู้ค้าปลีกญี่ปุ่นกลับค้นพบแสงสว่างในตลาดอินเดียที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา โดยพวกเขาสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต และผู้บริโภคที่ชื่นชอบสินค้าเรียบง่ายแต่คุณภาพสูง

 

นอกเหนือจากรถยนต์ นาฬิกา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมในหมู่คนอินเดียที่มีฐานะมาช้านานแล้ว ยังมีแบรนด์ระดับกลางใหม่ๆ ที่ขายสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่เสื้อผ้าแฟชั่นไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค เข้ามาตอกย้ำชื่อเสียงด้านคุณภาพของสินค้าญี่ปุ่น

 

ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นประมาณ 1,400 แห่งดำเนินงานในอินเดีย ซึ่งฐานการผลิตขนาดใหญ่และนโยบายการลงทุนจากต่างประเทศที่ผ่อนคลาย จะดึงดูดให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาตั้งรกรากเพิ่มมากขึ้น

 

“คนอินเดียมีความสัมพันธ์อันยาวนานและเชื่อใจแบรนด์ญี่ปุ่น เช่น Sony และ Suzuki มาโดยตลอด เพราะพวกเขาเชื่อมโยงญี่ปุ่นกับสินค้าที่มีคุณภาพสูงและราคาที่เหมาะสม” Arnab Dasgupta นักวิเคราะห์จากสถาบัน Manohar Parrikar Institute for Defence Studies and Analyses ผู้เชี่ยวชาญด้านประเด็นเกี่ยวกับญี่ปุ่นกล่าว

 

MUJI ร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภคและของใช้ในบ้าน KAI ผู้ผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และ Wacoal แบรนด์ชุดชั้นใน เป็นเพียงตัวอย่างของแบรนด์ญี่ปุ่นบางส่วนที่เข้ามาทำตลาดในอินเดียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

และกว่า 2 ใน 3 ของประชากรอินเดีย 1.4 พันล้านคนมีอายุต่ำกว่า 35 ปี แบรนด์แฟชั่นอย่าง UNIQLO จึงพบกลุ่มลูกค้าของตัวเองในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z ที่ต้องการสินค้าเรียบง่าย ผลิตจากวัสดุดี ต่างจากคนรุ่นก่อนที่นิยมสินค้าที่หรูหรา

 

Shalini Mullick นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนในกรุงนิวเดลีกล่าวว่า “ฉันชอบ UNIQLO เพราะเสื้อผ้าของพวกเขาใช้งานได้จริง มีสีพื้น เรียบง่าย และไม่โอ้อวด”

 

UNIQLO หนึ่งในแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นชั้นนำของโลก เปิดร้านแรกในนิวเดลีในปี 2019 และขยายสาขาเพิ่มอีก 12 แห่งในเมืองใหญ่อื่นๆ โดยปีที่แล้วบริษัทมีรายได้ 6.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 69% จากปีก่อนหน้า 

 

“ธุรกิจของเราในอินเดียมีศักยภาพการเติบโตที่มหาศาล และเราพลิกกลับมามีกำไรหลังจาก 3 ปี” โฆษกของ UNIQLO India กล่าว พร้อมเสริมว่าบริษัทยังมีธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่ง “ประเทศนี้มีศักยภาพมากมายเพราะฐานผู้บริโภคที่ขยายตัว เศรษฐกิจที่เติบโต และรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป”

 

ส่วนหนึ่งของความนิยมของ UNIQLO ในอินเดียมาจากการเน้นความสำคัญกับการทำให้สินค้าเหมาะกับท้องถิ่น ในปี 2019 พวกเขาจับมือกับ Rina Singh นักออกแบบท้องถิ่น เปิดตัวคอลเล็กชัน KURTA ซึ่งผสมผสานความเรียบง่ายแบบญี่ปุ่นกับรสนิยมของอินเดีย นอกจากนี้ UNIQLO India ยังทำงานร่วมกับโรงงานทอผ้าและโรงงานเย็บผ้าในท้องถิ่น

 

แบรนด์ญี่ปุ่นบางแห่งประสบความสำเร็จจากการจับมือกับบริษัทอินเดีย Wacoal จากเกียวโต ผู้เชี่ยวชาญด้านชุดชั้นในที่ใช้งานได้ยาวนาน เข้าสู่ตลาดอินเดียในปี 2015 ผ่านการร่วมทุนกับ Periwinkle Fashion ตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่น โดยปัจจุบันมี 12 ร้าน

 

Pooja Merani ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Wacoal India บอกกับนิตยสาร Forbes เมื่อปีที่แล้วว่า บริษัทมีการเติบโตขึ้น 3 เท่าตัวต่อปี และตั้งเป้ารายได้ 1 พันล้านรูปี (12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีนี้

 

MUJI ร้านค้าปลีกญี่ปุ่น ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ Reliance Brands ของ Mukesh Ambani มหาเศรษฐีอินเดีย ในปี 2015 ปัจจุบันมี 4 สาขาในอินเดีย รวมถึงพื้นที่ค้าปลีกขนาด 12,000 ตารางฟุตในย่าน Bandra Kurla Complex ของเมืองมุมไบ

 

Shoba Desai นักธุรกิจในเมืองมุมไบ ผู้เป็นลูกค้าประจำของ MUJI กับลูกสาววัยรุ่น กล่าวว่า “ฉันชอบสินค้าที่ใช้งานได้จริง คุ้มค่า โดยเฉพาะเครื่องเขียนและอุปกรณ์ทำอาหาร สินค้าของพวกเขามีให้เลือกมากมาย และคุณสามารถหาอะไรก็ได้ที่ต้องการในร้านเดียว”

 

Dasgupta กล่าวว่า ผู้ค้าปลีกญี่ปุ่นฉลาดที่สื่อสารจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครให้กับลูกค้าเป้าหมายในอินเดีย

 

“ตัวอย่างเช่น UNIQLO เรียกการลดราคาตามฤดูกาลว่า ‘Arigato Festivals’ ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับคนหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ของอินเดีย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะคุ้นเคยกับคำภาษาญี่ปุ่น เช่น ‘arigato’ ผ่านสื่อบันเทิงอย่างอนิเมะและมังงะ”

 

อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ผู้ค้าปลีกญี่ปุ่นเผชิญในอดีตคือ ความอ่อนไหวต่อราคาของผู้บริโภคชาวอินเดีย แต่ Harish Bijoor ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและแบรนด์ กล่าวว่า เขาเชื่อว่าผู้ค้าปลีกยุคใหม่มุ่งเน้นไปที่การสร้างฐานลูกค้า

 

“แนวคิดคือการดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้านก่อน จากนั้นค่อยปรับราคาขึ้นทีละน้อย” เขากล่าว

 

Bijoor ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทจีนใช้กลยุทธ์เดียวกันในการเข้าสู่ตลาดอินเดีย “ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือ สินค้าญี่ปุ่นมีคุณภาพสูงจริงๆ” เขากล่าว

 

ภาพ: Nasir Kachroo / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

The post จากดินแดนอาทิตย์อุทัยสู่ดินแดนภารตะ เรื่องราวความสำเร็จของแบรนด์ญี่ปุ่นในอินเดียที่มีคำว่า ‘มินิมัล’ เป็นตัวแปรหลัก appeared first on THE STANDARD.

]]>