Remote Working – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 14 Nov 2024 07:30:05 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 คุยกับซีอีโอ AWS เจาะเบื้องลึกแนวคิดเรียกคนกลับออฟฟิศ 5 วัน แม้พนักงานบางส่วนอาจลาออก https://thestandard.co/aws-ceo-delve-deeper-into-concept/ Wed, 13 Nov 2024 08:49:36 +0000 https://thestandard.co/?p=1008150 AWS

นับเป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วที่วิถีการทำงานของคนทั่วโลกเปล […]

The post คุยกับซีอีโอ AWS เจาะเบื้องลึกแนวคิดเรียกคนกลับออฟฟิศ 5 วัน แม้พนักงานบางส่วนอาจลาออก appeared first on THE STANDARD.

]]>
AWS

นับเป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วที่วิถีการทำงานของคนทั่วโลกเปลี่ยนไปเพราะสิ่งที่เรียกว่าโรคโควิด จากเดิมที่หลายคนเคยต้องเข้าออฟฟิศเพื่อพบปะเพื่อนร่วมงานทุกวัน กลับกลายเป็นถูกบีบบังคับให้เว้นระยะห่างและทำทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเริ่มปรับตัวทำงานแบบ Remote Work

 

แต่เมื่อการระบาดเริ่มคลี่คลายลง ผู้คนรวมถึงธุรกิจก็เริ่มกลับมาดำเนินวิถีชีวิตแบบเดิมมากขึ้น ทว่าการทำงานแบบ Remote Work ที่มอบความยืดหยุ่นให้กับพนักงานก็กลายเป็นความคุ้นชินของใครหลายคนไปแล้ว โดยผู้คนส่วนใหญ่ต้องการทำงานจากทั้งออฟฟิศและที่บ้าน (Hybrid Work) ผสมผสานกันไป

 

ผลสำรวจจาก ‘2024 Global MARCO New Consumer Report’ เผยอินไซต์ว่า พนักงานที่ร่วมตอบแบบสอบถามกว่า 43.5% ชอบทำงานแบบผสม ในขณะที่ 39.3% ต้องการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศตลอดทั้งสัปดาห์ และส่วนที่เหลืออยากทำงานทางไกลเต็มเวลา ซึ่งผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าเทรนด์การทำงานแบบผสมเป็นสิ่งที่พนักงานส่วนใหญ่มองหา

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Amazon หนึ่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกตัดสินใจประกาศให้พนักงานทุกคนต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ เหมือนกับที่เคยเป็นมาตลอดหลายปีก่อนที่การระบาดของโรคโควิดจะเกิดขึ้น นำมาซึ่งความไม่พอใจของคนทำงานบางกลุ่มในบริษัท โดย TeamBlind แพลตฟอร์มที่ให้พนักงานเข้าไปตั้งกระทู้พูดคุยกันแบบไม่ต้องระบุตัวตน รายงานผลสำรวจไว้ว่า 91% ของพนักงาน Amazon รู้สึกไม่พอใจ และ 73% เผยว่าอาจพิจารณาหางานใหม่สืบเนื่องมาจากการประกาศเรียกพนักงานกลับออฟฟิศครั้งล่าสุดของบริษัท

 

ทำไม Amazon ถึงยอมเสี่ยงที่จะนำนโยบายที่พนักงานหลายคนไม่เห็นด้วยมาใช้ การกลับออฟฟิศทุกวันสำคัญอย่างไรกับการทำงาน

 

THE STANDARD WEALTH เดินทางไปเยือนบ้านเกิดของ Amazon ที่รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และร่วมพูดคุยกับ Matt Garman ซีอีโอคนปัจจุบันของหนึ่งในหน่วยย่อยธุรกิจของ Amazon นั่นก็คือ Amazon Web Services (AWS) ผู้ให้บริการคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 31% เพื่อหาคำตอบของความสำคัญในการดึงคนกลับออฟฟิศเต็มเวลา

 

‘การเจอกัน’ วิถีการทำงานที่ตอบโจทย์บริษัทผู้สร้างนวัตกรรม

 

ท่ามกลางการเห็นต่างจากพนักงาน Garman กลับมองว่านโยบายที่ทำให้ทุกคนต้องกลับออฟฟิศคือกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนบริษัทให้ไปสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในระยะยาว

 

“การจะกลับหรือไม่กลับออฟฟิศนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะขององค์กร และมิได้มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่สำหรับ Amazon นี่เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด” Garman กล่าว

 

 

แน่นอนว่าการบังคับใช้นโยบายที่พนักงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยนับเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง แต่หลังจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน Garman เผยว่า มี 2 เหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทตัดสินใจเช่นนี้

 

  1. การกลับมาเจอหน้ากันเป็นสิ่งที่ทำให้งานเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะในบริบทของ Amazon ที่เป็นผู้นำในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็วและความร่วมมือระหว่างทีมสูง การกลับมาจึงตอบโจทย์กับสิ่งที่บริษัททำมากกว่า แม้ว่าการทำงานทางไกลในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้งานเสร็จเหมือนกันก็ตาม 
  2. วัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า ‘Day 1’ คือสิ่งที่ทำให้ Amazon แตกต่าง ซึ่งเป็นแนวคิดการทำงานแบบสตาร์ทอัพที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้เร็วเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยการพบปะของพนักงานจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรักษาวัฒนธรรมนี้

 

Jeff Bezos เคยกล่าวไว้ว่า “ลูกค้าไม่เคยมีคำว่าพอและต้องการสิ่งที่ดีกว่าเสมอ ของที่เคยน่าประทับใจในวันก่อนอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาในวันนี้ ถ้าคุณสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ผลักตัวเองให้มองหาวิธีใหม่ๆ เพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้าทุกวัน ในทุกส่วนของธุรกิจ นั่นจะผลักให้คุณคิดค้นนวัตกรรมเพื่อพวกเขา”

 

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ Day 1 คือหัวใจของการทำงานที่ AWS ซึ่งบริษัทเชื่อว่าการกลับมาพบปะกันของพนักงานจะทำให้พวกเขาซึมซับวัฒนธรรมดังกล่าวได้เต็มที่ที่สุด

 

Amazon Spheres ออฟฟิศที่นำ ‘คน’ เชื่อม ‘ธรรมชาติ’

 

เมื่อการกลับออฟฟิศกำลังจะถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2025 แต่ก็ใช่ว่าการเข้ามาทำงานที่ Amazon ทุกวันจะเหมือนฝันร้ายที่ต่างคนต่างต้องนั่งอยู่ใน ‘คอก’ ของตัวเองทุกๆ วันเสมอไป โดยเฉพาะที่สำนักงานใหญ่ในเมืองซีแอตเทิลซึ่งมีสถานที่ชื่อว่า Amazon Spheres

 

 

Amazon Spheres มีลักษณะเป็นโดมกระจกโปร่งแสงขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้พนักงานได้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติระหว่างทำงาน เป็นสถานที่ทำงานทางเลือกที่สงบ ในขณะที่ยังเปิดกว้างทั้งสำหรับการประชุมร่วมกันหรือจะทำงานด้วยตัวเองอย่างเงียบๆ ก็ได้

 

ภายใน Amazon Spheres ประกอบไปด้วยพืชพันธุ์กว่า 40,000 ชนิดจากทั่วทุกมุมโลก โดยอาคารสามารถรองรับจำนวนพนักงานได้ครั้งละ 800 คน

 

 

แน่นอนว่าการมีสถานที่ทำงานที่ได้รับการออกแบบล้ำสมัยอย่าง Amazon Spheres อาจไม่สามารถขจัดความไม่พอใจของพนักงานทุกคนที่ถูกบังคับให้กลับมาประจำการที่ออฟฟิศในทุกวันของสัปดาห์ได้ แต่สถานที่แห่งนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้ประสบการณ์การหวนคืนสู่ออฟฟิศไม่จำเจและมีมิติมากยิ่งขึ้น

 

การเดิมพัน ‘ระยะสั้น’ เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ใน ‘ระยะยาว’

 

สำหรับประเด็นที่ว่าพนักงานบางคนอาจเลือกลาออกเพราะนโยบายที่บังคับให้ต้องกลับมาออฟฟิศทุกวัน Garman มีความเห็นว่า เขาไม่ได้กังวลกับเรื่องนี้ เนื่องจากในท้ายที่สุดการเดินหน้าของธุรกิจเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับลูกค้าเป็นเรื่องที่มีน้ำหนักมากกว่า

 

“เราคงต้องยอมรับว่าบริษัทไม่สามารถไปก้าวก่ายการตัดสินใจของพนักงานได้ บางคนอาจเลือกไม่อยู่ต่อเพราะนโยบายดังกล่าว แต่ผมเชื่อว่าจะเป็นแค่กลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งเรายอมรับได้ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือเป้าหมายการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งในระยะยาว” Garman กล่าวเสริม

 

ย้อนกลับไปที่งานวิจัยของ TeamBlind ที่เผยว่า 73% ของพนักงานอาจพิจารณาหางานที่ใหม่เพราะ Amazon บีบบังคับให้พวกเขาต้องกลับออฟฟิศ 5 วัน ในขณะเดียวกัน ตัวเลขที่ออกมาในรายงาน 2024 Global MARCO New Consumer Report ระบุว่า 64% ของพนักงานทั่วโลกรู้สึก ‘ไม่มีปัญหา’ ที่จะทำงานในบริษัทที่ไม่มีนโยบาย Hybrid Work

 

สุดท้ายแล้วการสูญเสียพนักงานที่มองว่าออฟฟิศคือกำแพงอาจเป็นการเปิดประตูต้อนรับคนที่พร้อมจะก้าวเข้ามาสร้างนวัตกรรมในพื้นที่ที่ Amazon เรียกว่า ‘บ้าน’

The post คุยกับซีอีโอ AWS เจาะเบื้องลึกแนวคิดเรียกคนกลับออฟฟิศ 5 วัน แม้พนักงานบางส่วนอาจลาออก appeared first on THE STANDARD.

]]>
ผลวิจัยเผยพนักงานเหนื่อยล้าและแกล้งทำงาน เมื่อพบว่าหัวหน้าใช้ระบบติดตามออนไลน์ https://thestandard.co/when-working-from-home-employers-are-watching/ Wed, 19 May 2021 12:25:56 +0000 https://thestandard.co/?p=490859 ระบบติดตามออนไลน์

ตั้งแต่ช่วงโรคระบาดโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2020 หลายบร […]

The post ผลวิจัยเผยพนักงานเหนื่อยล้าและแกล้งทำงาน เมื่อพบว่าหัวหน้าใช้ระบบติดตามออนไลน์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ระบบติดตามออนไลน์

ตั้งแต่ช่วงโรคระบาดโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2020 หลายบริษัทมีนโยบาย Work from Home และเรียนรู้ที่จะทำงานในรูปแบบ Remote Working ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด เป็นเหตุให้เจ้านายหรือนายจ้างหลายบริษัท เริ่ม ‘ติดตาม’ การทำงานของลูกจ้างจากทางไกล แต่สุดท้ายก็กลับตาลปัตร เมื่อพบว่าพนักงานจำนวนมาก ‘แสร้ง’ ว่าพวกเขากำลังทำงานอยู่

 

ผลการศึกษาล่าสุดจาก Gartner บริษัทวิจัยชั้นนำของโลกเผยว่า พนักงานมีแนวโน้มที่จะแสร้งทำเป็นทำงานมากกว่าสองเท่า เมื่อพบว่าเจ้านายของพวกเขามีการใช้ ‘ซอฟต์แวร์’ ติดตาม เพื่อตรวจสอบการทำงานจากทางไกล โดยข้อมูลนี้ Gartner ได้ไปสำรวจจากผู้ประกอบอาชีพต่างๆ จำนวน 2,400 คน เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

แครอล โคชแรน (Carol Cochran) รองประธานฝ่ายบุคคลและวัฒนธรรม ของเว็บไซต์ FlexJobs กล่าวว่า บทบาทของเราในฐานะผู้จัดการ คือการสร้างสภาพแวดล้อมให้ผู้คนสามารถทำงานออกมาได้ดีที่สุด ซึ่งมันยากมากที่พวกเขาจะทำงานได้ดี ถ้าพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความไว้วางใจ

 

“ถ้าฉันรู้สึกว่ามีคนกำลังไม่ไว้ใจฉันมากพอที่จะคิดว่า ฉันสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบผ่านซอฟต์แวร์ แล้วแบบนี้ฉันจะเชื่อใจพวกเขาคืนได้อย่างไร? แล้วฉันจะสามารถสร้างความปลอดภัยทางกายภาพให้พวกเขาเห็นได้ยังไง?” โคชแรน เสริม

 

สิ้นปี 2020 ที่ผ่านมา มีผลการศึกษาพบว่ามีบริษัทจำนวนมากใช้ระบบนี้ เพื่อตรวจสอบการทำงานระยะไกลของพนักงาน ทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ติดตามการกดแป้นพิมพ์ ติดตามประวัติการค้นหา ประมวลผลข้อความในอีเมล ข้อความในโซเชียลมีเดีย ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้จับภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะๆ ซึ่งพนักงานจำนวนมากมองว่าวิธีนี้ไม่ยุติธรรมกับพวกเขา

 

ในสมัยก่อนระบบการติดตามพนักงานนี้เคยถูกใช้เพื่อปรับปรุบการทำงานของพนักงาน ไปจนถึงช่วยให้พวกเขาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เมื่อเรากำลังเผชิญกับการทำงานระยะไกลในสภาวะที่ไม่ปกติ เจ้านายหรือนายจ้างควรปรับตัวโดยการตรวจสอบหรือให้พนักงานรายงานสิ่งเหล่านี้น้อยลง

 

รีด แบล็กแมน (Reid Blackman) ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทให้คำปรึกษาด้านจริยธรรมองค์กร Virtue Consultants ให้ความเห็นว่า เขาไม่แปลกใจเลยที่เห็นพนักงานหลายคนปลอมงานของตัวเองขึ้นมาในช่วงนี้ เพราะเห็นได้ชัดว่าพวกเขากำลังเล่นเกมกับระบบที่ไม่ยุติธรรมอยู่

 

นอกจากนี้แบล็กแมนยังให้คำแนะนำว่า จริงๆ ไม่มีเหตุผลเลยที่ผู้จัดการหรือหัวหน้าจะกังวลเกี่ยวกับประสิทธิผลการทำงานของพนักงาน และอยากให้ลองทบทวนอย่างถี่ถ้วนว่าเหตุผลในการใช้ระบบดังกล่าวคืออะไร และสิ่งที่ต้องการให้บรรลุคืออะไร แบล็กแมนบอกว่าทางที่ดีควรพูดคุยเรื่องนี้กับพนักงานก่อน เพื่อให้พวกเขาสามารถถามหรือเข้าใจเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังระบบนี้ได้

 

ซึ่งในช่วงหลังมานี้เราจะพบว่าการทำงานระยะไกลส่งผลให้พนักงานจำนวนมากมีสภาพ ‘เหนื่อยล้า’ เนื่องจากทุกอย่างถูกย้ายมาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งบริบทหรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยความสะดวก หากพูดถึงประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลของการทำงานในช่วงนี้ จะพบว่าถ้ามีเปอร์เซ็นต์ลดลงเรื่อยๆ ก็คงจะไม่แปลกอะไร

 

อเล็กเซีย แคมบอน (Alexia Cambom) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Gartner กล่าวว่า ช่วงเแรกสัญชาตญาณของเจ้านายในการติดตามพนักงาน อาจเป็นไปด้วยเจตนาที่ดี โดยเฉพาะในช่วงที่โรคระบาดเพิ่งเกิดใหม่ๆ และจำเป็นจะต้องสร้างกลยุทธ์ต่างๆ ขึ้นมา แต่ถึงอย่างนั้นหลายบริษัทก็ลืมที่จะคิดถึงพฤติกรรมของมนุษย์ด้วย

 

“ถ้าคุณเข้าใจว่าในฐานะมนุษย์ พวกเราจะต้องดิ้นรนเพื่อตัดการเชื่อมต่อจากโลกทางไกล จากนั้นคุณจำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์เพื่อจูงใจให้ผู้คนตัดการเชื่อมต่อเหล่านั้น และไม่ให้พวกเขาต้องอยู่ในโลกนั้นนานเกินไป” แคมบอนกล่าวเพิ่มเติม

 

Gartner ยังพบอีกว่า การปรับแนวทางปฏิบัติที่เน้นสำนักงานเป็นศูนย์กลาง (Office-Centric) หรือเน้นการพบปะตัวต่อตัวเป็นหลัก เช่น กำหนดให้มีการประชุมบ่อยๆ จะทำให้พนักงานเกิดสภาวะ Virtual Fatigue หรือความเหนื่อยล้าจากโลกเสมือนจริง และพบว่าการใช้เวลาประชุมมากขึ้นจะทำให้พวกเขาหมดอารมณ์จากงานมากกว่าปกติ 1.24 เท่า

 

แคมบอนเตือนว่า เมื่อพนักงานมีความเหนื่อยล้าสูง ประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาอาจลดลงถึง 33% และถ้าพวกเขารู้สึกว่าถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับงานตลอดเวลา ประสิทธิภาพการทำงานอาจลดลงได้ถึง 44% และในที่สุด พวกเขาจะมีโอกาสอยู่กับเจ้านายน้อยลงถึง 54%

 

แต่ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่มีทางออกที่ดี โคชแรนได้แนะนำให้บริษัทต่างๆ พิจารณาอีกครั้ง เรื่องการขอให้พนักงานเปิดกล้องตลอดเวลาขณะประชุม เพราะวิธีนี้จะทำให้พนักงานเกิดอาการเหนื่อยล้ามากขึ้น เธอเสนอว่าให้ทุกคนเปิดกล้องเพียงช่วง 2-3 นาทีแรกของการประชุมก็พอ เพื่อแลกเปลี่ยนความพึงพอใจระหว่างเพื่อนร่วมงาน จากนั้นก็ค่อยปิดกล้องเมื่อถึงเวลาทำงาน

 

“เราไม่ควรทำสิ่งต่างๆ เพียงเพราะดูเหมือนว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด แต่เราควรจะตั้งใจที่จะจัดการพนักงานให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากทางไกล แบบไฮบริด (ทั้งทางไกล ทั้งเข้าออฟฟิศ) หรือแบบตัวต่อตัวก็ตาม” โคชแรนกล่าว

 

แต่เมื่อเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกจับจ้องตลอดเวลาการทำงาน เราจะกลับมาโฟกัสงานตรงหน้าอย่างไรไม่ให้เหนื่อยล้า ไบรอัน ครอปป์ (Brian Kropp) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Gartner มีวิธีมาเสนอ นั่นก็คือเริ่มจากกิจวัตรยามเช้า โดยสร้างกิจวัตรให้คล้ายกับตอนไปทำงานปกติ ตื่นนอน อาบน้ำ แต่งชุดทำงาน (ที่ไม่ต้องจริงจังมากเกินไป ขอแค่ไม่ใส่ชุดนอนก็พอ) เพื่อสร้าง ‘Mental Commute’ หรือการสะกดจิตตัวเองว่ากำลังไปทำงานตามปกติอยู่ เป็นการแบ่งแยกบริบทระหว่างบ้านกับการทำงานในทางจิตใจนั่นเอง

 

นอกจากนี้ควรสร้างบริบทของการทำงานในทางกายภาพด้วย โดยแบ่งพื้นที่การใช้ชีวิตกับการทำงานออกจากกัน อย่าทำงานใกล้ที่นอน หรือควรสร้างมุมทำงานขึ้นมาโดยเฉพาะ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้พื้นที่พักผ่อนเรากลายเป็นพื้นที่ทำงานไปด้วย

 

และเมื่อถึงเวลาที่ต้องพักผ่อน เราก็ควรพักผ่อนอย่างเต็มที่และไม่พะวงหน้าพะวงหลังเกี่ยวกับเรื่องงานมากนัก เพื่อที่จะได้ไม่เอาเวลาพักผ่อนไปผสมปนเปกับการทำงานจนเกินไป และเกิดสมาธิในการทำงานมากขึ้น

 

อ้างอิง:

 

The post ผลวิจัยเผยพนักงานเหนื่อยล้าและแกล้งทำงาน เมื่อพบว่าหัวหน้าใช้ระบบติดตามออนไลน์ appeared first on THE STANDARD.

]]>