Peng T. Ong – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 13 Jul 2018 10:16:21 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 “เรารู้วิธีว่าจะสร้างยูนิคอร์นได้อย่างไร” มองโลกของสตาร์ทอัพผ่านสายตา Peng T. Ong แห่ง Monk’s Hill Ventures https://thestandard.co/peng-t-ong-monks-hill-ventures/ https://thestandard.co/peng-t-ong-monks-hill-ventures/#respond Fri, 13 Jul 2018 10:14:26 +0000 https://thestandard.co/?p=106941

นักรบทางเศรษฐกิจในยุค 4.0 ที่แต่ละประเทศต่างคาดหวังในขณ […]

The post “เรารู้วิธีว่าจะสร้างยูนิคอร์นได้อย่างไร” มองโลกของสตาร์ทอัพผ่านสายตา Peng T. Ong แห่ง Monk’s Hill Ventures appeared first on THE STANDARD.

]]>

นักรบทางเศรษฐกิจในยุค 4.0 ที่แต่ละประเทศต่างคาดหวังในขณะนี้คือบรรดาสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป้าหมายสำคัญคือการผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้อย่าง Uber ที่เปลี่ยนโลกของ Sharing Economy มาแล้ว

 

แต่โลกแห่งความจริง ไม่มีอะไรง่ายเลย

 

สำนักข่าว THE STANDARD พบกับ เผิง ที. อ่อง (Peng T. Ong) ผู้ประกอบการต่อเนื่อง (Serial Entrepreneur) ผู้กว้างขวางในซิลิคอนแวลลีย์ในฐานะ Managing Partner ของ Monk’s Hill Ventures ซึ่งลงทุนและปลุกปั้นสตาร์ทอัพในอาเซียน เล่าถึงประสบการณ์ มุมมอง และคำเตือนบางเรื่องที่คนในโลกธุรกิจควรจะหยุดอ่าน และทบทวนความคิดจากบทสัมภาษณ์นี้

 

 

ตลาดของเราใหญ่พอจริงหรือเปล่า? คำถามง่ายๆ ที่ยากจะตอบ

 

“คุณไม่มีทางสร้างยูนิคอร์นได้ในเวลาแค่ปีเดียวหรอก ในเมื่อสตาร์ทอัพมีจำนวนมากขนาดนี้ อย่างเร็วที่สุดก็ต้องใช้เวลา 5-6 ปี ดูที่ผ่านมาสิ จะมีสักกี่บริษัทที่มีมูลค่าเป็นพันล้านดอลลาร์ภายในแค่ 5-6 ปี แต่ก่อนนี่เป็นไปไม่ได้เลย”

 

เผิงเล่าว่าตอนนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนมีบริษัทที่เรียกได้ว่า ‘ยูนิคอร์น’ จริงๆ อยู่ 10 แบรนด์เท่านั้น และยังไม่มียูนิคอร์นสัญชาติไทยแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญคือหลายสตาร์ทอัพในอาเซียนเริ่มต้นธุรกิจมานานแล้ว และจังหวะในการทำธุรกิจในช่วงที่คู่แข่งยังน้อยทำให้โอกาสประสบความสำเร็จยังมีอยู่มาก ซึ่งต่างจากปัจจุบัน

 

“สำหรับประเทศไทยถ้าเทียบกับอินโดนีเซียแล้ว เราน่าจะช้ากว่าเขา 2-3 ปีได้  ระบบนิเวศ (ecosystem) ของที่นั่นเขาลงทุนล่วงหน้าไปเยอะแล้ว ตอนนี้สตาร์ทอัพในอินโดนีเซียก็รู้ทิศทางและวัฏจักรของธุรกิจพอสมควร ”

 

เผิงชี้ว่านโยบายของภาครัฐมีผลอย่างมากต่อการเกิดขึ้นและเติบโตของสตาร์ทอัพ ซึ่งไทยอาจจะทำเรื่องนี้ช้าไปหน่อยเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียหรือมาเลเซีย บางประเภทธุรกิจที่มีเจ้าตลาดที่แข็งแรงมากแล้วอย่าง Ride Hailing ก็ถือว่าช้าเกินไปที่จะแข่งขัน เพราะในอาเซียน Grab ที่ทำตลาดอย่างหนัก ยังไม่นับรวม Go-Jek ด้วย แต่ก็ยังมีโอกาสสำหรับธุรกิจอื่นอยู่

 

“การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพอาเซียนยังเป็นเรื่องใหญ่ มีช่องว่าง (Lending Gap) อยู่ถึง 50% ซึ่งถือว่าเยอะมาก ถ้าเทียบกับประเทศจีน ซึ่งเขาไม่มีปัญหาเรื่องนี้ หรืออย่างญี่ปุ่นที่ดอกเบี้ยเป็นศูนย์หรือติดลบ ก็ผลักดันให้คนปล่อยกู้กันเยอะ ดังนั้น ไทย อินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ ยังมีทุนสำหรับคนตัวเล็กๆ อยู่น้อย อาจเพราะไม่มีฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะบอกว่าใครที่ต้องการมันบ้าง และคนที่ต้องการจะเข้าถึงอย่างไร ถ้าไม่มีข้อมูลเราก็จะไม่รู้อะไรเลย”

 

 

นอกจากนี้เขายังมองการเติบโตอย่างบ้าคลั่งของอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีผลต่อธุรกิจโลจิสติกส์ให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญยังเป็นเรื่องการบริหารจัดการข้อมูล (Data) ถ้ามีข้อมูลไม่มากพอหรือวิเคราะห์ไม่ดีพอก็จะใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

 

“ถ้าผมมีกระเป๋าที่ต้องจัดส่งสัก 5 พันใบใน 5 พันจุดจัดส่ง แทนที่ผมจะต้องไปส่งถึงมือ 5 พันคน ผมมีข้อมูลที่เชื่อมโยงกันกับคนอื่น ผมก็สร้างจุดกระจายสินค้าไปให้คนอื่นจัดส่งต่อในแต่ละพื้นที่ของตัวเอง หลักการนี้ง่ายมาก การสร้างคุณค่าไม่ได้เกิดจากรถหรือถนน เกิดจากข้อมูลนี่ล่ะ”

 

ในฐานะนักลงทุน เผิงก็ยอมรับว่าไม่สามารถการันตีได้ว่าทุกดีลจะประสบความสำเร็จ เขาเพียงแต่แนะนำว่าที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยจากสิ่งที่เขาลงทุนมาเป็นอย่างไรบ้าง เป้าหมายของนักลงทุนทุกคนคือกำไรเป็นกอบเป็นกำจากทุกดีล แต่นักลงทุนที่เก๋าพอก็รู้ดีว่าทุกการลงทุนก็เสี่ยงที่จะรุ่งและร่วง

 

“Monk’s Hill คือ Venture Capital ที่เน้นลงทุนใน Tech Company ซึ่งบริษัทเหล่านั้นต้องใช้เทคโนโลยีที่สร้างความแตกต่างทางธุรกิจ ไม่ใช่บริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นอย่างเดียว เราลงทุนทั้งฟินเทค โลจิสติกส์ด้วย”

 

Monk’s Hill จะไม่ลงทุนในสตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มต้น และยังไม่รู้อย่างแน่ชัดว่าธุรกิจของตนจะสร้างรายได้ได้อย่างไร เผิงจะเลือกธุรกิจที่มีแนวทางของตนเอง มีความสามารถในการสร้างรายได้แล้ว และพร้อมที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะเป็นจังหวะที่ดีลเกิดขึ้น

 

“ช่วงแรกของการทำธุรกิจคือการสร้างเครื่องยนต์ในการทำเงิน (Sales Engine) เราต้องรู้ทิศทางของมันว่ามีศักยภาพแค่ไหน มีคำถามเป็นล้านให้เราต้องตอบ เมื่อเริ่มต้น คุณไม่รู้หรอกว่าคุณต้องจ่ายเท่าไร หมดไปกับอะไรบ้าง ดังนั้นผมจะไม่ลงทุน อัดเงินเข้าไปในวันที่คุณยังไม่รู้เลยว่าจะทำเงินยังไง ก่อนที่คุณจะเข้าใจวิธีการทำธุรกิจ คุณต้องลองทำมันดูก่อน มีบริษัทจำนวนมากมาไม่ถึงจุดนี้ ”

 

 

ขณะนี้ Monk’s Hill เข้าลงทุนในบริษัท 17 แห่งทั่วอาเซียนแล้ว ซึ่งมีทั้งสตาร์ทอัพในเวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เผิงเชื่อในศักยภาพของตลาดนี้ แต่สิ่งที่สำคัญคือในแต่ละประเทศของอาเซียนไม่มีที่ใดที่ขนาดตลาดใหญ่มากพอที่สตาร์ทอัพจะอยู่ได้โดยไม่ต้องขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศ

 

“สิ่งที่อาเซียนต่างกับจีนคือ ตลาดของจีนใหญ่มาก มี Venture Capital มากมายที่พร้อมลงทุน แต่ไม่ใช่กับอาเซียน เพราะ Venture Capital อยู่ไม่ได้จากการลงทุนในสตาร์ทอัพเพียงประเทศเดียว แต่ละตลาดยังไม่ใหญ่พอ กระทั่งในอินโดนีเซียเองก็ตาม อย่าง Go-Jek ก็ต้องขยายไปที่อื่น Traveloka ก็เหมือนกัน”

 

เผิงเน้นย้ำว่าขนาดของตลาดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าตลาดของธุรกิจค่อนข้างเฉพาะหรือไม่ใหญ่พอ ก็เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนจะมาเสี่ยงด้วย เพราะประเมินว่าผลตอบแทนอย่างไรก็ไม่คุ้มค่า  

 

“ผมเพิ่งไปเวียดนามมา คุยกับสตาร์ทอัพ 3-4 ราย มีศักยภาพมากเลย พวกเขาเรียนรู้เยอะมาก มีเวียดเกียว (ผู้ที่มีเชื้อชาติเวียดนามที่เติบโตในต่างประเทศ มีความรู้ความสามารถ ซึ่งขณะนี้ทางการเวียดนามประกาศให้คนเหล่านี้กลับมาช่วยกันสร้างชาติ) ที่ทำงานในซิลิคอนแวลลีย์ และตอนนี้พวกเขาก็กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด อย่างผู้บริหารสูงสุดด้านไอทีของ Uber นี่ก็คนเวียดนามนะ และพวกเขาก็เอาความรู้ที่มีกลับมาพัฒนาธุรกิจ”

 

สิ่งที่แตกต่างระหว่างสตาร์ทอัพไทยและเวียดนามในมุมของเผิง หากมองเผินๆ จะดูคล้ายกัน แต่คนเวียดนามจะมีตัวตนในซิลิคอนแวลลีย์มากกว่าคนไทย คนเหล่านี้มีเครือข่ายระดับโลกที่ช่วยเชื่อมโยง และเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจได้มากกว่า ขณะนี้ก็มีคนไทยที่มีความสามารถที่ใช้ชีวิตในต่างประเทศทยอยกลับบ้านมาเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี

 

“เวลาสร้างบริษัท คุณต้องมองตลาดทั้งภูมิภาคหรือไม่ก็ทั้งโลกไปเลยว่าจะทำอย่างไร มันไม่ง่าย เราต้องเรียนรู้ ต้องเจอกับคนให้เยอะ สำหรับ Venture Capital เองก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า คุณทำธุรกิจนี้ทำไม เพราะคู่แข่งขององค์กรตั้ง Venture Capital เราก็เลยต้องทำด้วยเพื่อให้มีเหมือนกันหรือ Venture Capital ต้องแน่ใจว่าการลงทุนของเขาจะนำนวัตกรรมกลับมาสู่องค์กรและต้องทำเงินด้วย มี Corporate Venture Capital (CVC) หลายที่มากที่ไม่เป็นอิสระจากองค์กรแม่และถูกครอบงำ ซึ่งไม่ดีเลย”

 

เผิงมองเรื่องนี้ได้ขาดและ ‘เก๋า’ สมกับที่เป็นนักลงทุนระดับโลกจริงๆ

 

ในฐานะผู้ที่สร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จมามากมาย เป็นที่ยอมรับในวงการธุรกิจ รู้จักกับบุคคลระดับโลก จึงเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาว่าผู้ชายคนนี้ยังจะต้องการอะไรอีกในชีวิตนี้ คำตอบของเผิงน่าฟังทีเดียว

 

“คนเราจะอายุยืนได้สักเท่าไร 100 ปีได้ไหม แล้วมันหมายถึงอะไร แค่อยู่และตายไปอย่างนั้นหรอ เราต้องหาเป้าประสงค์ (Purpose) ของชีวิตให้เจอ ทุกครั้งที่เราคิดถึงมัน เชื่อเถอะ มันจะไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเรา แต่หมายถึงคนอื่นๆ ด้วยทั้งครอบครัว คนในสังคม ในโลกนี้ สิ่งนี้สำคัญมาก ผมโชคดี ผมคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ยังหนุ่มๆ สิ่งที่ผมตั้งใจทำและจะทำต่อคือทำให้โลกนี้ดีขึ้นในแนวทางของผม วิธีที่ผมทำได้ ลองดูบางโซลูชันที่สตาร์ทอัพช่วย SMEs เป็นล้านแห่งให้เข้าถึงแหล่งเงินได้สิ มันก็คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หมายถึงชีวิตคนหลายนล้านคนจะดีขึ้น นี่ล่ะ ผู้ประกอบการที่แท้จริงจึงประสบความสำเร็จ เพราะเขาสนใจสิ่งที่มากกว่าการหาเงิน”

 

เรื่องบางเรื่องเงินก็ซื้อไม่ได้

เพราะมันไม่ได้มีไว้ขายตั้งแต่แรก

The post “เรารู้วิธีว่าจะสร้างยูนิคอร์นได้อย่างไร” มองโลกของสตาร์ทอัพผ่านสายตา Peng T. Ong แห่ง Monk’s Hill Ventures appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/peng-t-ong-monks-hill-ventures/feed/ 0