Patagonia – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Sat, 06 Apr 2024 12:34:58 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 7 THINGS WE LOVE ABOUT PATAGONIA แบรนด์เสื้อผ้ากิจกรรมกลางแจ้งที่ยืนหยัดเรื่องความยั่งยืน https://thestandard.co/7-things-we-love-about-patagonia/ Sun, 07 Apr 2024 12:30:34 +0000 https://thestandard.co/?p=920392

หากใครเป็นสายกิจกรรมกลางแจ้งจะต้องรู้จักชื่อของ Patagon […]

The post 7 THINGS WE LOVE ABOUT PATAGONIA แบรนด์เสื้อผ้ากิจกรรมกลางแจ้งที่ยืนหยัดเรื่องความยั่งยืน appeared first on THE STANDARD.

]]>

หากใครเป็นสายกิจกรรมกลางแจ้งจะต้องรู้จักชื่อของ Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าที่มีอายุกว่า 50 ปี กับโลโก้ภาพจำอย่างภูเขาและแบ็กกราวด์แถบสีม่วงน้ำเงิน แม้จะมีจุดเริ่มต้นและเป้าหมายเป็นแบรนด์สำหรับนักปีนเขา แต่ปัจจุบัน Patagonia มีไลน์เสื้อผ้าครอบคลุมหลากหลายกิจกรรม ตอบโจทย์กีฬาเกือบทุกประเภท จนกลายเป็นแบรนด์ที่มูลค่าหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

นอกจากคุณภาพสินค้าและงานดีไซน์ที่ถูกใจผู้บริโภคแล้วนั้น Patagonia ยังโดดเด่นในการสร้างธุรกิจที่มีหัวใจหลักเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ นำโดย Yvon Chouinard ผู้ก่อตั้ง Patagonia ประกาศยกบริษัทของตัวเองให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อต่อสู้กับวิกฤต Climate Change หรือวิกฤตการณ์โลกร้อนอย่างจริงจัง กระชากกระแสสร้างภาพลักษณ์รักษ์โลกแบบฉาบฉวยของแบรนด์อื่นๆ

 

วันนี้ THE STANDARD POP จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับแบรนด์ Patagonia ถึงที่มาที่ไปและทำไมถึงได้กลายเป็นแบรนด์ที่ยืนหยัดเรื่องความยั่งยืน

 


 

HOW IT STARTED 

 

จุดเริ่มต้นของ Patagonia มาจากชายนาม Yvon Chouinard หนุ่มชาวอเมริกันผู้หลงใหลการปีนเขาเป็นชีวิตจิตใจ เขานำความรู้เรื่องการตีเหล็กจากพ่อมาต่อยอดในการทำธุรกิจผลิตหมุดปีนเขาจนได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนในปี 1970 เขากลายเป็นเจ้าของบริษัทอุปกรณ์ปีนเขาเจ้าใหญ่ในอเมริกา ภายหลังเมื่อเขารู้ว่าหมุดของเขาสร้างผลกระทบต่อภูเขา Yvon จึงใช้เวลากว่าสองปีในการค้นคว้าออกแบบหมุดที่ใช้สำหรับเกี่ยวกับร่องหินโดยไม่เจาะเข้าไปในภูเขา ต่อมาไม่นาน Yvon เริ่มนำเอาเสื้อสไตล์รักบี้มาใส่ปีนเขาจนได้รับความสนใจจากนักปีนเขาคนอื่นๆ จากเนื้อผ้าที่แข็งแรงและทนทานต่อสภาพอากาศ เมื่อเขาเล็งเห็นจุดนี้จึงเกิดไอเดียผลิตเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งตามมา และยังเขายังเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Chouinard Equipment สู่ Patagonia 

 

 


 

BEHIND THE NAME PATAGONIA 

 

ที่มาของชื่อ Patagonia มีแรงบันดาลใจมาจาก Fitz Roy หุบเขาแห่งหนึ่งในภูมิภาค Patagonia ของประเทศอาร์เจนตินาที่เขาได้ไปสำรวจมา หลังจากที่ Yvon ได้เดินทางไปทวีปอเมริกาใต้เพื่อปีนเขาตามหุบเขาชื่อดังในแถบประเทศอาร์เจนตินาและประเทศชิลี ซึ่งหุบเขาดังกล่าวได้กลายเป็นพื้นหลังตั้งตระหง่านให้กับชื่อ Patagonia ในขณะที่พื้นหลังด้านบนแถบน้ำเงินม่วงซึ่งมาจากสีของท้องฟ้ายามเย็นเป็นช่วงเวลาที่เขาได้แรงบันดาลใจและตกตะกอนในการทำแบรนด์นี้นั่นเอง ในปี 1973 จึงเป็นปีที่แบรนด์ Patagonia เปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมเป้าหมายมุ่งลดการทำลายธรรมชาติและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม 

 

 


 

SUSTAINABLE MATERIAL

 

เพื่อขานรับกับนโยบายที่ตนเองตั้งใจ Patagonia เริ่มต้นกระบวนผลิตตั้งแต่การใช้โรงงานที่ใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ รวมถึงการปรับสำนักงานให้เป็นอาคารสีเขียว อาคารสำนักงานที่ผ่านประเมินคะแนนวัดระดับอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) สินค้าของ Patagonia ใช้วัสดุหลักเป็นผ้าฝ้าย 100% ในการผลิตเสื้อผ้าและกว่า 70% สินค้าของแบรนด์ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล เช่น ไนลอน ขนสัตว์ หรืออวนจับปลา ที่ครั้งหนึ่ง Patagonia นำมาใช้ผลิตแจ็กเกตผ้านวม และขวดน้ำพลาสติกกว่า 10 ล้านใบมาแปรสภาพเป็นกระเป๋าสุดฮิตรุ่น Black Hole ซึ่งในอนาคต Patagonia วางแผนจะใช้วัสดุรีไซเคิล 100% ในการผลิตสินค้าของแบรนด์ 

 

 


 

WORN WEAR 

 

อีกหนึ่งแคมเปญและกลยุทธ์การขายที่ชูเรื่องความยั่งยืนของ Patagonia คือการออกแพลตฟอร์มชื่อ ‘Worn Wear’ บริการที่เปิดโอกาสให้ลูกค้านำเสื้อผ้าที่ซื้อไปของ Patagonia มาส่งซ่อมได้ หรือบริการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ซื้อไปแล้วไม่ชอบเป็นเงินแล้วซื้อของชิ้นใหม่ในร้านได้ แต่ถ้าชิ้นไหนเกินเยียวยาทางแบรนด์จะขอนำสินค้าชิ้นนั้นไปใช้รีไซเคิลในภายหลัง แพลตฟอร์ม Worn Wear มีศูนย์ซ่อมมากกว่า 70 แห่งทั่วโลก แถมยังบริการขับรถไปซ่อมเสื้อผ้าให้ถึงหน้าบ้าน ซึ่งบริการดังกล่าวสามารถซ่อมได้สูงสุดกว่าแสนชิ้นต่อปีเพื่อยืดอายุการใช้งานของสินค้าทุกชิ้นของแบรนด์ Patagonia และลดการทิ้งสินค้าของลูกค้าทุกคน 

 

 


 

‘DON’T BUY THIS JACKET’

 

โฆษณาที่ไวรัลที่สุดของ Patagonia คือ ‘Don’t Buy This Jacket’ สโลแกนโฆษณาที่พยายามบอกผู้บริโภคว่าอย่าซื้อหากคุณไม่ต้องการมันจริงๆ โฆษณาตัวนี้มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนขยะและกระบวนการผลิตที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ซื้อเกินความจำเป็น แม้ว่าแบรนด์จะใช้กลยุทธ์นี้เพื่อต่อต้านการเติบโต แต่เปล่าเลยกลับยิ่งทำให้ Patagonia โด่งดังและเป็นที่ต้องการมากขึ้น เมื่อผู้บริโภคยิ่งเข้าใจถึงสินค้าและจุดยืนของ Patagonia ทำให้ลูกค้ารู้สึกดีและสร้างภาพลักษณ์ที่โปร่งใส กลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ Patagonia จนทุกวันนี้  

 

 


 

SUSTAINABLE COMMUNITY 

 

แบรนด์ Patagonia เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีสำนักอยู่หลายประเทศทั่วโลก มีร้านค้ากว่า 70 แห่งใน 20 ประเทศ และมีพนักงานกว่า 3,000 คนทั่วโลก บริษัท Patagonia ขึ้นชื่อในเรื่องการบริหารคนด้วยวัฒนธรรมองค์กรแบบ Un-Company นั่นคือการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรต่อเพื่อนร่วมงาน โดยส่งเสริมให้พนักงานทุกคนออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ใช้ชีวิตแบบฉบับของตัวเอง แถมยังมีนโยบายให้พนักงานผู้ชายมีวันพักร้อนสำหรับช่วยภรรยาเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ที่นี่ยังเปิดกว้างเรื่องสิทธิของทุกคนอีกด้วย พนักงานทุกคนสามารถเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ และถ้าหากโดนจับบริษัทก็พร้อมที่จะประกันตัวและชำระค่าใช้จ่ายทางกฎหมายให้อีกด้วย 

 

 


 

EARTH IS NOW OUR ONLY SHAREHOLDER 

 

ในปี 1985 แบรนด์ Patagonia ได้ก่อตั้งโครงการ 1% for the Planet เพื่อมอบเงินจากยอดขายหมด 1% ให้กับองค์การด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2022 เมื่อ Yvon ประกาศมอบธุรกิจมูลค่ากว่า 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐของเขาให้กับองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม โดยเขาได้ทิ้งท้ายด้วยวลีดัง ‘ณ เวลานี้โลกเป็นหุ้นส่วนเดียวของเรา’ เขาเลือกไม่ผลักดันบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่เลือกโอน 2% ให้กับองค์กรที่ชื่อว่า Patagonia Purpose Trust เพื่อดำรงกิจการบริษัทแฟชั่นรักษ์โลกต่อ และอีก 98% ให้กับองค์กรการกุศลชื่อ Hold Fast Collective โดยมีเงินปันผลมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อสนับสนุนองค์กรต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วน เช่น Climate Change 

 

 

ภาพ: Courtesy of Patagonia / Getty Images

The post 7 THINGS WE LOVE ABOUT PATAGONIA แบรนด์เสื้อผ้ากิจกรรมกลางแจ้งที่ยืนหยัดเรื่องความยั่งยืน appeared first on THE STANDARD.

]]>
Patagonia-Costco ถูกจัดให้เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในอเมริกา ขณะที่ Tesla-Twitter ของอีลอน มัสก์ หล่นลงมาอยู่อันดับท้ายๆ ในบรรดา 100 แบรนด์ https://thestandard.co/patagonia-costco-most-famous-brand-in-us/ Thu, 25 May 2023 11:18:49 +0000 https://thestandard.co/?p=795215 Patagonia

ผลสำรวจปี 2023 Patagonia และ Costco ถูกจัดอันดับให้เป็น […]

The post Patagonia-Costco ถูกจัดให้เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในอเมริกา ขณะที่ Tesla-Twitter ของอีลอน มัสก์ หล่นลงมาอยู่อันดับท้ายๆ ในบรรดา 100 แบรนด์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Patagonia

ผลสำรวจปี 2023 Patagonia และ Costco ถูกจัดอันดับให้เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา ส่วนฝั่งแบรนด์ที่อยู่ภายใต้เงื้อมมือของอีลอน มัสก์ อย่าง Tesla หล่นลงมาอยู่อันดับ 62 ตามด้วย Twitter ถูกจัดให้อยู่ท้ายๆ ในบรรดา 100 แบรนด์ 

 

การจัดอันดับเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจในปี 2023 โดยสำนักข่าว Axios และบริษัทวิจัยตลาด The Harris Poll ซึ่งได้นำรายชื่อบริษัท 100 แห่งเข้าไปสำรวจและทำแบบสอบถามกับผู้คนมากกว่า 16,300 ราย ตั้งแต่วันที่ 13-28 มีนาคม ว่าแสดงถึงมุมมองและภาพลักษณ์ของบริษัทดังกล่าวอย่างไร 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

หากเจาะลงถึงแบรนด์ดัง 10 อันดับประจำปี 2023 ประกอบด้วย 

  1. Patagonia
  2. Costco
  3. John Deere
  4. Trader Joe’s 
  5. Chick-fil-A
  6. Toyota
  7. Samsung
  8. Amazon
  9. USAA
  10. Apple

 

ทำให้เห็นว่า Patagonia แบรนด์แฟชั่นชั้นนำที่มีโลโก้คุ้นตา ภูเขาและแบ็กกราวด์แถบสีม่วง-น้ำเงิน ที่เริ่มต้นมาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายนักปีนเขา แต่ในปัจจุบันมีสินค้าตอบโจทย์ทุกชนิดกีฬาจนมีกลุ่มลูกค้าประจำ

 

และ Costco ห้างค้าส่งที่ลูกค้ายอมจ่ายค่าสมาชิก ด้วยรูปแบบของห้างขายสินค้าแบบโกดังขนาดใหญ่ และระบบสมาชิก ทำให้เป็นที่รู้จักในอเมริกา และขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว โดยทั้งสองเรียกได้ว่าเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก 

 

ส่วนแบรนด์อื่นๆ ที่มีชื่อเสียงเชิงลบในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อย่าง Twitter อยู่อันดับที่ 97 อาจเป็นผลหลังจากอีลอน มัสก์เข้ามานั่งเป็นประธานบริหาร ทำให้ Twitter มีแต่ข่าวเสียๆ หายๆ รวมถึงการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก 

 

ตามด้วย Fox บริษัทแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีที่อยู่ในกระบวนการล้มละลาย จากคดีของอดีตผู้บริหารรวมถึงผู้ก่อตั้ง แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ ที่กำลังโดนข้อหาฉ้อโกงและสมรู้ร่วมคิด และ The Trump Organization ถูกจัดให้อยู่ในอันดับท้ายสุดจากปัญหาภาพลักษณ์ของโดนัลด์ ทรัมป์ที่ถูกฟ้องในคดีล่วงละเมิดทางเพศ 

 

ไม่เว้นแม้แต่ Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ลดลง 50 อันดับ หล่นมาอยู่อันดับที่ 62 จาก 100 บริษัท 

 

ถึงกระนั้นบริษัทยานยนต์ที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ต้นๆ คือ Toyota ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6 จาก 100 แบรนด์ ตามมาด้วย Honda, Subaru, BMW, Ford, General Motors และ Volkswagen ล้วนอยู่ในอันดับที่สูงกว่า Tesla

 

นอกจากนี้ การสำรวจพบว่าประมาณ 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามต่างให้คะแนนกับบริษัทที่มีสินค้าจับต้องได้ ถ้าเทียบกับบริษัทสกุลเงินดิจิทัล เช่น FTX, Twitter และ Bitcoin ยังไม่สามารถทำคะแนนกับคนอเมริกันได้มากนัก จอห์น เกอร์ซีมา ซีอีโอของ The Harris Poll กล่าว

 

อ้างอิง:

The post Patagonia-Costco ถูกจัดให้เป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในอเมริกา ขณะที่ Tesla-Twitter ของอีลอน มัสก์ หล่นลงมาอยู่อันดับท้ายๆ ในบรรดา 100 แบรนด์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ถอดรหัสดีเอ็นเอของ Patagonia ในวันที่เจ้าของบริจาคทั้งบริษัทเพื่อสู้โลกร้อน (ตอนที่ 1) https://thestandard.co/patagonia-dna-part-1/ Mon, 10 Oct 2022 11:00:50 +0000 https://thestandard.co/?p=693940

หลังจากผู้เขียนเห็นข่าวใหญ่จากหน้าหนังสือพิมพ์ The New […]

The post ถอดรหัสดีเอ็นเอของ Patagonia ในวันที่เจ้าของบริจาคทั้งบริษัทเพื่อสู้โลกร้อน (ตอนที่ 1) appeared first on THE STANDARD.

]]>

หลังจากผู้เขียนเห็นข่าวใหญ่จากหน้าหนังสือพิมพ์ The New York Times ออนไลน์ ที่พาดหัวข่าวว่า ‘ไม่ใช่มหาเศรษฐีอีกต่อไปแล้ว: ผู้ก่อตั้ง Patagonia บริจาคให้ทั้งบริษัท’ จากที่เคยได้เขียนเรื่องราวของ Patagonia ถึงสองครั้งสองคราลงใน THE STANDARD มาก่อน และเป็นแฟนตัวยงในเรื่องความยั่งยืนของบริษัท การเคลื่อนไหวที่น่าช็อกโลกโดยการที่ อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) ผู้ก่อตั้งบริษัทได้ยกหุ้นทั้งบริษัทที่น่าจะมีมูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.11 แสนล้านบาท) เพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดูจะไม่เหนือความคาดหมายจนเกินไปนักหากเรารู้จักดีเอ็นเอของ Patagonia

 

 

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ในด้านกระบวนการดำเนินธุรกิจ Patagonia ใส่ใจและพยายามหานวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบของตัวเองและทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ถือว่าสร้างมลพิษให้โลกเป็นอันดับต้นๆ อย่างที่กล่าวถึงส่วนหนึ่งในบทความของผู้เขียนก่อนหน้า อย่าง Patagonia: เมื่อธุรกิจขอร้องลูกค้าว่า ‘อย่าซื้อสินค้าของเรา’ และ Patagonia Provisions: เมื่อแบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์เริ่มขายอาหารเพื่อซ่อมโลก ดีเอ็นเอหลายอย่างที่ Patagonia มีก่อนจะมาถึงวันที่เจ้าของบริจาคทั้งบริษัทในวันนี้มีอยู่หลายด้าน

 

 

ยังไม่กล้าเรียกตัวเองว่า ‘ยั่งยืน’

ถึงจะทำอะไรมากมายและมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นผู้นำความยั่งยืน แต่บริษัทก็ไม่เคยใช้คำว่า ‘ยั่งยืน’ (Sustainable) กับตัวเอง เพราะตระหนักดีว่าตัวเองยังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ อย่างการที่บริษัทตั้งเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)* ให้ได้ภายใน ค.ศ. 2025 แต่บริษัทยังมองว่าตนเองทำได้โดยอาศัยการซื้อคาร์บอนจากแหล่งอื่นมาชดเชย แต่ยังไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดได้ตามที่อยากได้ รวมการลด ‘รอยเท้า’ ด้านสิ่งแวดล้อมอีกหลายๆ เรื่องกับทุกข้อต่อของห่วงโซ่อุปทาน บริษัทจึงไม่กล้าเรียกตัวเองว่า ‘ยั่งยืน’ ได้เต็มปาก

 

บริจาคเพื่อสิ่งแวดล้อมแบบ ‘หมดหน้าตัก’ และสร้างรูปแบบใหม่ของทุนนิยม

จริงๆ การทำ CSR และการทำการกุศลเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยเหล่าบริษัทใหญ่ๆ หรือนักธุรกิจชั้นนำไม่ใช่เรื่องใหม่นัก Patagonia เองก็ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะบริจาค 1% ของยอดขาย (ไม่ใช่กำไร) ทุกปี เพื่อการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่หลายโครงการก็เป็นเรื่องที่พยายามบรรเทาปัญหาโลกร้อนผ่าน NGO ขนาดเล็กที่ทำงานในระดับฐานรากมาตั้งแต่ ค.ศ. 1985 ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทก็ได้บริจาคเงินไปแล้วกว่า 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.76 พันล้านบาท)

 

นักธุรกิจใหญ่หลายรายอย่างเพื่อนรักของชูนาร์ดอย่าง ดัก ทอมป์กินส์ ที่เป็นนักปีนเขาและผู้ที่ชื่นชอบกีฬาเอาต์ดอร์ที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจเหมือนกัน ทอมป์กินส์ในฐานะเจ้าของแบรนด์ The North Face ได้ซื้อผืนป่าจำนวนกว่า 2.5 ล้านไร่ เพื่อบริจาคให้เป็นอุทยานแห่งชาติในประเทศชิลี หรืออภิมหาเศรษฐีที่เราคุ้นหูกันอย่าง เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้ง Amazon ก็ประกาศมอบเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท) เพื่อกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ภรรยาของ สตีฟ จ็อบส์ รวมถึง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และ บิล เกตส์ ก็บริจาคเงินเพื่อสู้โลกร้อนเช่นกัน แต่นักวิจารณ์หลายรายมองว่าแผนของ Patagonia น่าจะมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมกว่าของรายอื่น

 

รวมทั้งหากเทียบกันในระดับของความมั่งคั่งแล้ว การที่ชูนาร์ดรวมทั้งภรรยาและลูกๆ ของเขาตัดสินใจบริจาคบริษัทครั้งนี้ถือว่าเป็นแบบ ‘เทหมดหน้าตัก’ เพราะ Patagonia ถือเป็นสินทรัพย์เกือบทั้งหมดที่พวกเขามี และจะไม่หลงเหลือความเป็นเจ้าของอีกแล้ว ซึ่งหากเทียบกับอภิมหาเศรษฐีรายอื่น เงินที่บริจาคนั้นถือเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความร่ำรวย การให้ในครั้งนี้ของ Patagonia จึงสะท้อนความทุ่มเทที่ชูนาร์ดไม่ได้ทำแค่ตามกระแส แต่ยกระดับสิ่งที่เขาทำอยู่แล้วให้ใหญ่ขึ้น และต้องการสร้างตัวอย่างใหม่ในโลกทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ “หวังว่าสิ่งนี้จะสร้างอิทธิพลต่อรูปแบบใหม่ของทุนนิยมที่ไม่จบลงที่คนรวยเพียงไม่กี่คนและคนจนเพียงกระจุกหนึ่ง” ชูนาร์ดกล่าวในการสัมภาษณ์หนึ่ง

 

 

ลด ‘ภาษี’ ไม่ใช่สิ่งจูงใจ

หลายครั้งการบริจาคเงินและการกุศลของบริษัทหรืออภิมหาเศรษฐีมักได้ผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี แต่การบริจาคบริษัทในครั้งนี้ครอบครัวชูนาร์ดต้องเสียภาษีกองมรดก (Estate Tax) เกือบ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการโอนบริษัท และองค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ Holdfast Collective ที่จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่องานด้านสิ่งแวดล้อม จะไม่ได้ผลประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเพราะจดทะเบียนในลักษณะองค์กรไม่แสวงกำไรแบบ 501(c)(4) คือเน้นเป้าหมายหลักในการสร้างสวัสดิการของสังคม สามารถล็อบบี้ (Lobby) และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างมีอิสระ

 

แฟนตัวจริงของ Patagonia จะรู้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในดีเอ็นเอของ Patagonia เสมอมา อย่างการประท้วงประธานาธิบดีทรัมป์ในการถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และการต่อต้านการสร้างเขื่อนหลายแห่ง การที่องค์กรไม่แสวงหากำไรที่จะทำหน้าที่บริษัทต่อไปยังสามารถส่งเสียงและผลักดันการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายได้ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนเรื่องสภาพภูมิอากาศ

 

 

หารูปแบบที่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์สูงสุดจากมูลค่าบริษัท

การหารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดการสินทรัพย์มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ทั้ง ชูนาร์ด ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท และที่ปรึกษาใช้เวลาอยู่นานตั้งแต่กลางปี 2020 เพื่อหาโมเดลการใช้ประโยชน์จากบริษัทที่ตรงกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง การปกป้องที่ดินที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา สนับสนุนการเกษตรเพื่อฟื้นฟู (Regenerative) ที่ดีต่อโลก และยังสนับสนุน NGO ในระดับฐานรากต่อไป

 

พวกเขาคิดหนักว่าจะเปลี่ยนรูปแบบของบริษัทให้เป็นสหกรณ์ โอนหุ้นให้พนักงาน หรือขายบริษัทบางส่วนเพื่อเอาเงินสดมาใช้ด้านสิ่งแวดล้อม ข้อสรุปที่ได้คือการโอนหุ้นร้อยละ 2 เข้ากองทุนชื่อ Patagonia Purpose Trust ที่จะเป็นหน่วยบริหารธุรกิจของบริษัทต่อและยกกำไรให้กับงานด้านสิ่งแวดล้อม และหุ้นอีกร้อยละ 98 จะเป็นของ Holdfast Collective องค์กรไม่แสวงกำไรที่มีเป้าหมายที่กล่าวมาข้างต้น

 

การตัดสินใจเพื่อใช้ความมั่งคั่งของบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสู้โลกร้อนออกมาทันใจชูนาร์ด ที่ขู่ว่าถ้าทีมผู้บริหารบริษัทคิดไม่ออกเสียทีเขาก็อาจจะขายบริษัททิ้งทั้งหมด แล้วเอาเงินทั้งหมดมาใช้กับพันธกิจทางสิ่งแวดล้อมทันที

 

ในตอนหน้าเราจะมาทำรู้จัก DNA ในด้านคนของ Patagonia ตั้งแต่ DNA เพื่อสิ่งแวดล้อมในตัวชูนาร์ด เจ้าของกิจการแสนล้านที่ลังเลจะเรียกตัวเองว่า ‘นักธุรกิจ’ และหงุดหงิดเสมอหากถูกจัดอันดับโดย Forbes ในทำเนียบการจัดอันดับของมหาเศรษฐี และเลือกยกทั้งบริษัทเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นหัวใจและจิตวิญญาณของเขา ไปจนถึงการดูแลพนักงานที่เน้นไปที่ความยั่งยืน (ที่พวกเขาไม่กล้าเรียกว่ายั่งยืน) และกลายเป็นส่วนประกอบของความยิ่งใหญ่ของการ ‘ให้’ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ถือเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่มากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

 
หมายเหตุ: มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดกลับคืนมา

 

อ้างอิง:

The post ถอดรหัสดีเอ็นเอของ Patagonia ในวันที่เจ้าของบริจาคทั้งบริษัทเพื่อสู้โลกร้อน (ตอนที่ 1) appeared first on THE STANDARD.

]]>
ชมคลิป: ผู้ก่อตั้ง Patagonia บริจาคบริษัทตัวเองมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท เพื่อต่อสู้ ‘ภาวะโลกร้อน’ | Morning Wealth https://thestandard.co/morning-wealth-16092022-4/ Fri, 16 Sep 2022 08:00:35 +0000 https://thestandard.co/?p=682450 Patagonia

Yvon Chouinard ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้ากลางแจ้งที่มีอาย […]

The post ชมคลิป: ผู้ก่อตั้ง Patagonia บริจาคบริษัทตัวเองมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท เพื่อต่อสู้ ‘ภาวะโลกร้อน’ | Morning Wealth appeared first on THE STANDARD.

]]>
Patagonia

Yvon Chouinard ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้ากลางแจ้งที่มีอายุยาวนานกว่า 50 ปี ประกาศบริจาคบริษัทของตัวเองอย่าง Patagonia ซึ่งมีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.1 แสนล้านบาท ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ติดตาม รายการ Morning Wealth วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 7.00-8.00 . ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD WEALTH

 

อัปเดตข่าวสารจากสำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการลงทุน โดยทีมข่าว THE STANDARD ได้ที่ https://thestandard.co/wealth/

The post ชมคลิป: ผู้ก่อตั้ง Patagonia บริจาคบริษัทตัวเองมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท เพื่อต่อสู้ ‘ภาวะโลกร้อน’ | Morning Wealth appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘กำไรทุกดอลลาร์ที่ไม่ได้ใช้ลงทุนจะถูกนำไปปกป้องโลก’ อีวอง ชูนาร์ด ผู้ก่อตั้ง Patagonia บริจาคบริษัทตัวเองมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท เพื่อต่อสู้กับ ‘ภาวะโลกร้อน’ https://thestandard.co/patagonia-owner-donation/ Thu, 15 Sep 2022 12:45:35 +0000 https://thestandard.co/?p=682160

อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้า […]

The post ‘กำไรทุกดอลลาร์ที่ไม่ได้ใช้ลงทุนจะถูกนำไปปกป้องโลก’ อีวอง ชูนาร์ด ผู้ก่อตั้ง Patagonia บริจาคบริษัทตัวเองมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท เพื่อต่อสู้กับ ‘ภาวะโลกร้อน’ appeared first on THE STANDARD.

]]>

อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้ากลางแจ้งที่มีอายุยาวนานกว่า 50 ปี ประกาศบริจาคบริษัทของตัวเองอย่าง Patagonia ซึ่งมีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.1 แสนล้านบาท ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

“โลกเป็นผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียวของเรา” ชายวัย 83 ปีกล่าว พร้อมเสริมว่า ตัวเองนั้นไม่ได้อยากเป็นนักธุรกิจเลย กระนั้นจากจุดเริ่มต้นการสร้างอุปกรณ์ปีนเขาให้เพื่อน ได้พัฒนากลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


“ทางเลือกหนึ่งคือขาย Patagonia และบริจาคเงินทั้งหมด” เขากล่าว “แต่เราไม่สามารถแน่ใจได้ว่าเจ้าของคนใหม่จะรักษาค่านิยมของเราหรือให้ทีมงานของเราทั่วโลกมีงานทำ”

 

ตอนนี้หุ้นของ Patagonia ถูกโอนให้กับ Patagonia Purpose Trust และ Holdfast Collective ซึ่งเป็น ‘องค์กรไม่แสวงหากำไรที่อุทิศตนเพื่อต่อสู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและปกป้องธรรมชาติ’ โดยทุกดอลลาร์ที่ไม่ได้นำกลับมาลงทุนใน Patagonia จะถูกแจกจ่ายเป็นเงินปันผลเพื่อปกป้องโลก

 

Patagonia คาดว่าจะบริจาคประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.7 พันล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางธุรกิจในช่วงนั้นๆ นอกจากนี้ Patagonia ยังได้รับรองจาก B-Corp ว่าเป็นองค์กรที่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อย่างเข้มงวด

 

ปัจจุบัน Patagonia จำหน่ายเครื่องแต่งกายสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งทั้งใหม่และมือสอง อุปกรณ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การตั้งแคมป์ การตกปลา การปีนเขา ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่มจากแหล่งที่ยั่งยืน

 

Yvon Chouinard ยังกล่าวด้วยว่า ทรัพยากรของโลกหมดลง และตอนนี้เป็นเวลาที่จะช่วยโลกได้อย่างแท้จริง

 

“หวังว่าสิ่งนี้จะส่งผลต่อรูปแบบใหม่ของทุนนิยมที่ไม่จบลงที่คนรวยเพียงไม่กี่คนและคนจนอีกจำนวนหนึ่ง” เขากล่าวกับ The New York Times “เราจะมอบเงินจำนวนสูงสุดให้กับผู้ที่กำลังทำงานอย่างแข็งขันในการกอบกู้โลกนี้”

 

 

ภาพ: Ben Gabbe / Getty Images for Tribeca X

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

The post ‘กำไรทุกดอลลาร์ที่ไม่ได้ใช้ลงทุนจะถูกนำไปปกป้องโลก’ อีวอง ชูนาร์ด ผู้ก่อตั้ง Patagonia บริจาคบริษัทตัวเองมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท เพื่อต่อสู้กับ ‘ภาวะโลกร้อน’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Patagonia ยุติการดำเนินงานทั้งองค์กรชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 https://thestandard.co/patagonia-is-closing-all-of-its-stores-because-of-the-coronavirus/ Mon, 16 Mar 2020 03:15:21 +0000 https://thestandard.co/?p=341866

Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กลางแจ้งจากแคลิฟอร์เน […]

The post Patagonia ยุติการดำเนินงานทั้งองค์กรชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 appeared first on THE STANDARD.

]]>

Patagonia แบรนด์เสื้อผ้าและอุปกรณ์กลางแจ้งจากแคลิฟอร์เนีย ประกาศยุติการดำเนินงานทั้งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสินค้าหน้าร้านและเว็บไซต์เพื่อปิดรับการสั่งซื้อจากลูกค้าเป็นการชั่วคราว นับอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้ปรับตัวรับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา Rose Marcario ซีอีโอของแบรนด์ได้ออกประกาศเป็นจดหมายในนามของบริษัทว่า ทางบริษัทจะทำการปิดร้านทุกสาขา รวมไปถึงเว็บไซต์หลักของแบรนด์เป็นการชั่วคราว และให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน และยังคงจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานตามเดิม ทั้งนี้ประกาศไม่ได้มีระบุถึงรายละเอียดการปิดที่เป็น Authorized Dealer 

 

“ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 และนับเป็นการระบาดครั้งใหญ่อย่างเป็นทางการ เราได้ทำการคำนวณความปลอดภัยเพื่อปกป้องพนักงานและลูกค้าของเรา ผลกระทบครั้งนี้ยังไม่สามารถประเมินค่าได้ และเราต้องการที่จะทำหน้าที่ในส่วนของเรา ป้องกันชุมชนของเรา โดยเฉพาะเมื่อความสามารถในการเข้าถึงการตรวจยังไม่แน่ชัด” Rose Marcario กล่าว โดยหลังจากนี้ทางแบรนด์จะออกมาประกาศความเคลื่อนไหวอีกครั้งในวันที่ 27 มีนาคม พร้อมทั้งออกมาขอโทษลูกค้าหากจะได้รับสินค้าที่สั่งไปก่อนหน้าที่ช้ากว่าเดิมประมาณสองสัปดาห์ 

 

แบรนด์ Patagonia มีสาขาจำนวนมากกว่า 37 สาขาในสหรัฐอเมริกา และรวมกว่า 208 สาขาทั่วโลก และพนักงานกว่า 1,000 คน (ตัวเลขพนักงานปี 2017) และยังมีคู่ค้าที่ได้การรับรองจากแบรนด์กว่า 4,500 ร้านค้า ก่อตั้งขึ้นในปี 1973 และมีความเชี่ยวชาญด้านเสื้อผ้าและอุปกรณ์กิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการปีนเขา เต็นท์เชือก และแบรนด์ยังมีชื่อเสียงในเรื่องการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม

 

ภาพ: Robert Alexander / Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

The post Patagonia ยุติการดำเนินงานทั้งองค์กรชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 appeared first on THE STANDARD.

]]>
เมื่อกระเป๋ารุ่นล่าสุดของ Patagonia ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิลนับ 10 ล้านใบ! https://thestandard.co/patagonia-black-hole-bag-range-10-million-recycled-plastic-bottles/ Wed, 07 Aug 2019 08:52:32 +0000 https://thestandard.co/?p=277015 Patagonia

แบรนด์ดังในกลุ่มเด็กเจนใหม่อย่าง Patagonia ได้นำไลน์กระ […]

The post เมื่อกระเป๋ารุ่นล่าสุดของ Patagonia ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิลนับ 10 ล้านใบ! appeared first on THE STANDARD.

]]>
Patagonia

แบรนด์ดังในกลุ่มเด็กเจนใหม่อย่าง Patagonia ได้นำไลน์กระเป๋าสุดฮิต Black Hole ที่มีกว่า 25 แบบมานำเสนอใหม่ โดยใช้วัสดุรีไซเคิลจากขวดน้ำพลาสติกถึง 10 ล้านใบ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

 

แบรนด์ Patagonia ก่อตั้งโดย อีวอน ชูนาร์ด ในปี 1973 ที่เมืองเวนทูรา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โดยมีพันธกิจที่จะผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยกระเป๋าไลน์ Black Hole เวอร์ชันนี้ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลที่กันน้ำได้ พร้อมสายกระเป๋าและสายรัดที่มีความทนทานสูงตามสไตล์ของแบรนด์อุปกรณ์และเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ ทั้งยังผลิตออกมาให้เลือกหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเป้สะพายหลัง กระเป๋าเดินทางแบบดัฟเฟิล โท้ต หรือกระเป๋าคาดเอวคละสี

 

นับว่าเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของแบรนด์ที่ต้องการใช้วัสดุรีไซเคิล 100% ในกระบวนการผลิตทั้งหมดตามที่ตั้งไว้ จากปัจจุบันที่ทำไปแล้วถึง 69% ในคอลเล็กชันที่ผ่านมา สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของแบรนด์ที่ต้องการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยการงดใช้วัสดุที่ใช้แล้วทิ้งเพื่อลดขยะและประหยัดทรัพยากรธรรมชาติให้มากที่สุด

 

แนวคิดเรื่อง Sustainability กำลังเป็นที่แพร่หลายในหมู่แบรนด์แฟชั่น จากเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Prada ก็ออกคอลเล็กชันกระเป๋าที่ชื่อว่า Re-Nylon ที่ทำมาจากวัสดุเหลือใช้และขยะพลาสติกทางทะเลเช่นกัน และตั้งเป้าจะใช้วัสดุรีไซเคิลดังกล่าวในการผลิตกระเป๋าประเภทเดียวกันทั้งหมดภายในปี 2021 เช่นเดียวกับแบรนด์ Stella McCartney ที่ใช้แนวคิดนี้ตั้งแต่กระบวนการผลิตตั้งต้น ไปจนถึงแบรนด์สนีกเกอร์ที่เป็นที่นิยมตอนนี้อย่าง Veja ที่เลือกใช้วัสดุธรรมชาติทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

สำหรับผู้ที่สนใจกระเป๋าไลน์ Black Hole สามารถไปจับจองได้ที่เว็บไซต์ www.patagonia.com และสามารถแชร์ประสบการณ์การใช้กระเป๋าบนโลกโซเชียลด้วยการถ่ายรูปและติดแฮชแท็ก #PackedToGo 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

The post เมื่อกระเป๋ารุ่นล่าสุดของ Patagonia ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิลนับ 10 ล้านใบ! appeared first on THE STANDARD.

]]>
ธุรกิจคิดต่างเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมวิ่งไปทางไหนในปี 2017 https://thestandard.co/business-for-social-and-environment/ https://thestandard.co/business-for-social-and-environment/#respond Wed, 27 Dec 2017 06:05:15 +0000 https://thestandard.co/?p=58193

เมื่อปี 2017 กำลังจะผ่านไปในไม่กี่วันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ […]

The post ธุรกิจคิดต่างเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมวิ่งไปทางไหนในปี 2017 appeared first on THE STANDARD.

]]>

เมื่อปี 2017 กำลังจะผ่านไปในไม่กี่วันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยับตัวของธุรกิจเพื่อเข้าหาความ ‘ยั่งยืน’ หรือ Sustainability เป็นสิ่งที่เริ่มหลีกเลี่ยงได้ยากบนโลกที่ทรัพยากรร่อยหรอ อากาศเปลี่ยนแปลงเร็วจนจัดชุดใส่แทบไม่ทัน ท่ามกลางความเคร่งเครียดทางการเมืองและแรงกดดัน ไม่ว่าจะจากภาคเอ็นจีโอ แรงงาน รวมทั้งผู้บริโภคสู่ภาคธุรกิจมากขึ้น  


คอลัมน์ ‘ธุรกิจคิดต่าง’ จึงอยากรวบรวมเทรนด์จากโลกธุรกิจสากลที่ความพยายาม ‘คิดต่าง’ เพื่อโลกและสังคมที่ดีขึ้น ความคิดต่างที่ว่าอาจไม่ใช่เพียงแค่ความเก๋ไก๋หรือแค่ภาพลักษณ์ แต่คือการลดต้นทุนที่เป็นรูปธรรม การสร้างความสามารถในการแข่งขัน หรือในบางกรณีอาจเป็นกลยุทธ์เพื่อสร้างความอยู่รอดในระยะยาวของธุรกิจ


หลายเทรนด์ที่ไม่ได้เกิดตูมตามภายในปี 2017 ที่ผ่านมา แต่เป็นพัฒนาการที่ถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ และเราคงได้เห็นแนวคิดเหล่านี้ต่อเนื่องไปอีกหลายปี

 

พลังงานทดแทน โลกใหม่ของการใช้พลังงาน

การใช้ถ่านหินหรือพลังงานฟอสซิลถือเป็นความเชยขั้นสุด เมื่อหลายบริษัทหันไปลงทุนก้อนใหญ่ให้พลังงานทางเลือก Google ได้กลายเป็นธุรกิจที่ซื้อพลังงานทดแทนมากที่สุดในโลก ตามมาด้วย Amazon และ Microsoft


Google เซ็นสัญญาซื้อพลังงานลมและแสงอาทิตย์จำนวน 2.5 ล้านกิกะวัตต์จากทั่วโลก และตั้งเป้าใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 100% ในปีนี้


ธุรกิจคลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ล้วนถูกจับตามองเรื่องการใช้พลังงานมหาศาลในการดูแลระบบและรักษาข้อมูล ส่วนธุรกิจอื่นๆ ก็ขยับตัวเรื่องนี้ไม่แพ้กัน เช่น Ikea จะสร้างพลังงานใช้เองในแต่ละสาขาโดยไม่ต้องพึ่งพิงการไฟฟ้าของแต่ละประเทศให้ได้ภายในปี 2020 และ Walmart ตั้งเป้าใช้พลังงานทางเลือก 50% ในปี 2025

 

 

การแสดงจุดยืนของธุรกิจที่กล้า ‘สวนทาง’ กับการตัดสินใจของรัฐ

ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ไม่เชื่อในปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เข้ารับตำแหน่ง ก็ได้ออกคำสั่งจำนวนมากที่ส่งผลลบในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม


ทำให้บริษัทหลายแห่งต้องรีบสวนกระแสและประกาศนโยบายแสดงถึงจุดยืนในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Starbucks ที่ประกาศเพิ่มตำแหน่งงานให้ผู้ลี้ภัย 10,000 ตำแหน่งทั่วโลก หลังจากที่ประธานาธิบดีมีนโยบายกีดกันผู้ลี้ภัย บริษัทหลายแห่ง เช่น General Electric (GE), Apple, Google, Hewlett-Packard (HP), Mars ฯลฯ ต้องออกมาประกาศตัวว่าบริษัทยังมุ่งมั่นเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกต่อไป แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (COP21) และเมื่อเร็วๆ นี้ Patagonia ประกาศฟ้องร้องประธานาธิบดีที่ยกเลิกพื้นที่อนุรักษ์ที่เป็นอนุสรณ์สถานของชาติในรัฐยูทาห์เพื่อธุรกิจเหมือง

 

 

เทคโนโลยีที่ปูทางการลดผลกระทบต่อโลกในอนาคต

เพราะบริษัทที่สร้างความยั่งยืนต้องอาศัยความ ‘คิดต่าง’ นวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ เราเริ่มเห็นนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อโลกมีบทบาทมากขึ้น เช่น กล่องปลอดความหงุดหงิด (Frustration Free Package) ของ Amazon ที่ออกแบบให้ลดชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นในการแพ็กสินค้า ทำให้ขนาดกล่องเล็กลง น้ำหนักเบา ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาแกะ และรีไซเคิลได้


เทคโนโลยีใหม่ๆ นี้รวมไปถึงธุรกิจสตาร์ทอัพที่จะเปลี่ยนวิธีการบริโภคของเราในอนาคต เช่น Hampton Creek จากซิลิคอนแวลเลย์ ที่ประกาศส่ง ‘เนื้อปลูก’ (Lab-grown meat) สู่ตลาดในปี 2018 เนื้อปลูกที่จะมีรสชาติและโปรตีนไม่ต่างจากเนื้อสัตว์นี้เป็นความหวังในการดูแลประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นข้างหน้าเป็น 9 พันล้านคนในปี 2050 ในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกอาหารลดลง และการเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะวัว ที่การเรอและตดของพวกมันสร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 15% ของโลก

 

 

คืนชีวิตให้ขยะด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

บริษัทต่างๆ เริ่มหาวิธีสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น คือการใช้ทรัพยากรแบบเป็นวงจร ไม่ใช่ที่เคยทำแบบเป็นเส้นตรง คือการใช้วัตถุดิบ ผลิต จัดจำหน่าย แล้วทิ้งเป็นขยะจำนวนมหาศาล แต่หาทางคืนชีวิตให้วัตถุในวงจรอีกครั้ง เช่น Dell ออกแบบระบบรีไซเคิลแบบปิด และใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ที่รีไซเคิลง่ายขึ้นเพื่อลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Levi’s ที่กำลังรวบรวมยีนส์และเสื้อผ้าเก่าเพื่อทำเป็นฉนวนตึก วัสดุกันกระแทก และไฟเบอร์ เพื่อใช้เป็นสิ่งทอต่อไป

 

 

แหล่งที่มาของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ต้องชัดเจนและโปร่งใส

สำหรับผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว การตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบและการดูแลแรงงานในห่วงโซ่อุปทานถือเป็น ‘ความปกติ’ บริษัทมีหน้าที่แสดงความโปร่งใสและต้องตอบคำถามเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำลายป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่เป็นวัตถุดิบหลักในสินค้าจำนวนมาก เช่น ช็อกโกแลต มันฝรั่งทอด สบู่ และเครื่องสำอาง ที่มาของฝ้ายและการใช้แรงงานในธุรกิจแฟชั่น ที่มาของแร่ธาตุและการเอาเปรียบแรงงานที่อยู่ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงการใช้พลังงานหล่อเลี้ยงระบบเงินดิจิทัลบิตคอยน์ที่มากกว่าการใช้พลังงานของไอร์แลนด์ทั้งประเทศ ฯลฯ

 

 

เป้าหมาย SDGs ไม่ตามไม่ได้แล้ว

หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ออกมา 17 ข้อในปี 2016 ซึ่งภาคธุรกิจได้ร่วมร่างเป้าหมายนี้ด้วย เราเริ่มเห็นการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับประเทศที่ร่วมลงนาม (รวมทั้งไทย) ลงมาถึงระดับภาคเอกชน หลายบริษัทเริ่มนำ SDGs ไปใช้เป็นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน หรือเป็นโจทย์ตั้งต้นในการสร้างคุณค่าด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเพิ่ม

 

การ ‘คิดต่าง’ เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่ทำได้สำเร็จเพียงชั่วข้ามคืนหรือข้ามปี แต่ต้องอาศัยพัฒนาการที่ต่อเนื่อง เพราะหลายเรื่องต้องอาศัยเวลา และปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ธุรกิจที่ยังแสวงหากำไรสูงสุดแบบเดิมๆ โดยยังไม่ยอม ‘คิดต่าง’ ก็จะยิ่งเชยและทิ้งห่างออกไปจากธุรกิจที่ปรับตัวได้บนเส้นทางนี้ ที่อาจใช้ความยั่งยืนทำให้บริษัทอยู่รอดได้ในวันที่ทรัพยากรยิ่งจำกัด และปัญหาสังคมมีความสลับซับซ้อนกว่านี้

 

อ้างอิง:

The post ธุรกิจคิดต่างเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมวิ่งไปทางไหนในปี 2017 appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/business-for-social-and-environment/feed/ 0
เรื่องเล่าจากชิลี: เมื่อการเดินเขาคือความงดงามของชีวิต https://thestandard.co/exotic-experiences-chile/ https://thestandard.co/exotic-experiences-chile/#respond Fri, 11 Aug 2017 10:57:08 +0000 https://thestandard.co/?p=19917

     เหมือนเรียนไม่จบหลักสูตรยังไงไม่รู้ […]

The post เรื่องเล่าจากชิลี: เมื่อการเดินเขาคือความงดงามของชีวิต appeared first on THE STANDARD.

]]>

     เหมือนเรียนไม่จบหลักสูตรยังไงไม่รู้ มันค้างๆ คาๆ คล้ายทำอะไรไม่สุด

     เมื่อ 5-6 ปีก่อนฉันมาเทรกกิ้งที่พาทาโกเนีย (Patagonia) ฝั่งอาร์เจนตินาที่เอล ชาลเท็น (El Chalten) แต่ด้วยข้อจำกัดของชีวิตมนุษย์เงินเดือนตอนนั้น เลยมีจำนวนวันในการทัศนศึกษาโลกอันจำกัดจำเขี่ย แต่พอปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการชีวิตนักเดินทางเอาไว้ มาอาร์เจนตินาเที่ยวนี้เลยวางแผนหอบผ้าผ่อนไปเทรกกิ้งที่พาทาโกเนียฝั่งชิลี จะได้เรียบร้อยโรงเรียนพาทาโกเนียซะที

 

 

     ตัวยังแกว่งอยู่ที่เมืองเอล คาลาฟาเต (El Calafate)ในฝั่งอาร์เจนตินา ตระเตรียมจับจองตั๋วรถและวางแผนการเดินทางทุกอย่างเพื่อข้ามพรมแดนไปหาพาทาโกเนียฝั่งชิลี

 

 

     มาพูดถึงที่ราบสูงพาทาโกเนียกันก่อน นี่คือดินแดนที่มีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติอยู่ใต้สุดของแผนที่โลก มีทั้งผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ทะเลสาบ และธารน้ำแข็งซ่อนตัวอยู่ในอุทยานแห่งชาติราว 5 แห่ง พาทาโกเนียกินพื้นที่มหาศาลครอบคลุมทั้งฝั่งชิลีและอาร์เจนตินา สนิทชิดเชื้อกับเทือกเขาแอนดีสเป็นอย่างดี และคบหาทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก

     อุทยานแห่งชาติตอร์เรส เดล ไปเน (Torres del Paine National Park) ในฝั่งชิลี คือจุดที่ถูกฉันปักหมุดเอาไว้ การข้ามพรมแดนจากอาร์เจนตินาไปยังชิลีมันไม่ยากนักหรอก เพราะมีนักเดินทางผู้รักการผจญภัยทำแบบนี้อยู่ตลอด 365 วัน

 

 

     ในรุ่งเช้าที่เอล คาลาฟาเต คงยังสะลึมสะลือ ฉันแบกทั้งกระเป๋า ทั้งความงัวเงีย ไปยืนตากหนาวรอรถบัสที่วิ่งข้ามประเทศ ผู้โดยสารทั้งคันคือนักท่องโลกที่มาจากทั่วทุกมุมโลก แต่ประเด็นคือคนเต็มคัน ทำให้รู้เลยว่าพาทาโกเนียทั้งสองฝั่งนั้นหอมหวานไม่แพ้กัน บางคนสำรวจฝั่งชิลีก่อนแล้วข้ามมาอาร์เจนตินา และอีกไม่น้อยที่เลือกสำรวจฝั่งอาร์เจนตินาก่อนแล้วค่อยอพยพตัวเองไปฝั่งชิลี ฉันกับคนในรถบัสนี้อยู่ในพวกหลัง

     จังหวะที่ข้ามพรมแดนฝั่งอาร์เจนตินานั่นไม่เท่าไร แต่ฝั่งชิลีนี่สิเข้มมาก ให้ทุกคนขนกระเป๋าลงไปสแกนตรวจหาสิ่งไม่พึงประสงค์ทุกอย่าง และเน้นไปที่พวกอาหารสด ถ้ามีให้รีบเคลียร์ออกให้หมด เพราะชิลีซีเรียสเรื่องการนำอาหารเข้าประเทศมาก

 

 

     ราวๆ 10 โมงเช้าโดยประมาณ เราก็ข้ามพรมแดนมาโลดแล่นในพาทาโกเนียฝั่งชิลี รถวิ่งมาไม่เท่าไร โชเฟอร์ก็แตะเบรกเพื่อชะลอความเร็วและจอดแน่นิ่งในที่สุด

     ข้างหน้ารถติดพอสมควร ชะเง้อดูแล้วไม่มีตำรวจ สน. พาทาโกเนีย มาดักจับสิ่งไม่ชอบมาพากลหรือตรวจจับความเร็ว ไม่มีสัญญาณไฟหรือสี่แยก ไม่มีรถเสีย แต่ต้นเหตุที่ทำให้รถเคลื่อนช้าเป็นเพราะมีสิ่งมีชีวิตบางอย่างเคลื่อนเกะกะอยู่บนท้องถนน

 

 

     โชเฟอร์ตะเบ็งเสียงบอกว่าข้างหน้ามีฝูงกัวนาโคกำลังข้ามถนนอยู่ (ตัวอะไรนะ?!) ขอให้ผู้โดยสารใจเย็นหน่อย เขาว่าฝั่งชิลีนี่จะมีกัวนาโคเยอะมาก ฟังเขาพูดเลยชะเง้อคอมอง ถึงได้รู้ว่ากัวนาโคที่ว่านี้หน้าตาละม้ายคล้ายไปทางอัลปากาและพวกลามะนั่นเอง

     นอกจากจะเจอกัวนาโคหากินตามเทือกเขาสูงในชิลีแล้ว ใครไปแถวเปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ โคลัมเบีย และอาร์เจนตินา ก็มีโอกาสเจอกัวนาโคได้เหมือนกัน ตามสถิติแล้วในแถบลาตินอเมริกามีกัวนาโคราวๆ 5 แสนตัว เขาว่าจากนี้ไป ถ้าวนเวียนอยู่ในอุทยานจะเจออีกเรื่อยๆ สิ้นคำเขาดูเหมือนความตื่นเต้นค่อยๆ คลายตัวลง พร้อมๆ กับรถที่ค่อยๆ ขยับเคลื่อนตัวไปข้างหน้า

เมื่อมาถึงที่พักบริเวณทะเลสาบเพเว ฉันก็พบว่าแทบไม่อยากขยับตัวไปไหนอีกแล้ว เพราะวิวที่กองอยู่ตรงหน้าเหมือนหญิงสาวเซ็กซี่ที่ยวนตาจนไม่อยากจากเธอไปไหน

 

     ที่ปากทางเข้าอุทยานตอร์เรส เดล ไปเน อยู่ที่ทะเลสาบอมาร์กา (Laguna Amarga) มีนักเดินเขานอนแผ่หลาอยู่กลางสนามหญ้า บ้างกำลังเดินตากแดดลงมาจากเขา บ้างกำลังตีตั๋วเข้าอุทยาน ดูเหมือนกิจกรรมทุกอย่างเริ่มต้นและจบลงตรงนี้

     ก่อนจะมุ่งหน้าไปหาเรือนพักที่จับจองไว้แถวทะเลสาบเพเว (Laguna Pehoe) เลยแวะเที่ยวตามเบี้ยใบ้รายทางไปก่อน มีทั้งน้ำตกซัลโต แกรนด์ (Salto Grande) และเส้นทางเทรกกิ้งแบบเบาๆ เป็นการเรียกน้ำย่อย

     และเมื่อมาถึงที่พักบริเวณทะเลสาบเพเว ฉันก็พบว่าแทบไม่อยากขยับตัวไปไหนอีกแล้ว เพราะวิวที่กองอยู่ตรงหน้าเหมือนหญิงสาวเซ็กซี่ที่ยวนตาจนไม่อยากจากเธอไปไหน

 

 

     วิวของภูเขาคูแอร์นอส เดล ไปเน (Cuernos del Paine Mountain) อันทรงพลังทอดตัวอยู่ข้างหน้า เมื่ออยากมองภูเขาลูกนี้ให้เต็มตาจึงเดินไต่เขาเทรกกิ้งขึ้นไปบนจุดชมวิวสูงสุดตามคำแนะนำของสตาฟฟ์ที่เรือนพัก เป็นเส้นทางที่เดินขึ้นแล้วไม่อยากนึกถึงตอนเดินลง เพราะทั้งชันและลื่นมาก แต่ชีวิตของนักเดินเขา ลองได้เดินหน้าแล้วยากที่จะถอยหลัง เดินลุยป่าฝ่าเนินไปจนถึงจุดสูงสุดถึงได้พบว่าของสมนาคุณที่ได้รับนั้นเลอค่าเหลือเกิน

 

 

     เพราะภูเขาคือที่สิงสถิตของความยิ่งใหญ่แข็งแกร่งเสมอ แต่เมื่อถูกแสงหวานๆลงห่ม ภูเขาอันแข็งแกร่งกลับกลายเป็นอ่อนโยน ภูเขาที่เคยทึมทะมึนสง่าผ่าเผย คล้ายยิ้มได้

     ถือว่าเป็นการซ้อมเทรกก็แล้วกัน เพราะฉันมาที่นี่ มีความตั้งใจจะมาเทรกกิ้งในพาทาโกเนียฝั่งนี้บ้าง แต่ครั้นจะให้ไปล่มหัวจมท้ายในเส้นทาง W-Trek อันโด่งดัง ก็ต้องใช้เวลาเทรก 4 วัน เรื่องระยะวันไม่เป็นปัญหาสำหรับฟรีแลนซ์ แต่ที่เป็นปัญหาคือการเทรกกิ้งที่นี่ไม่มีพอร์เตอร์และโรงเตี๊ยมข้างทางเหมือนเนปาล นักเดินเขาต้องแบกสัมภาระทุกอย่างเองหมดทั้งเต็นท์ ถุงนอน และอุปกรณ์กันหนาว เลยเลือกเฉพาะบางช่วงของเส้นทางนี้เท่านั้น

 

 

     แน่นอนว่าสำหรับคนมีเวลาไม่มากนัก แต่อยากเทรก โจทย์จะแคบเข้า ทุกคนจะใช้เวลาเดินแค่ 2 วัน 1 คืน ไปนอนในแคมป์ตรงเบสแคมป์ใกล้ๆ มิราดอร์ ตอร์เรส (Mirador Torres) ซึ่งเป็นไฮไลต์ของอุทยานตอร์เรส เดล ไปเน แต่บางวันที่ฟิตกว่านั้นอีกก็สามารถเดินจากตีนเขาขึ้นถึงมิราดอร์ ตอร์เรส ไป-กลับในวันเดียวได้เลย ซึ่งมีคนไม่ใช่น้อยที่เลือกทำแบบนั้น เพราะไม่อยากไปเบียดกันนอนเต็นท์ที่เบสแคมป์

     คนฟิตอย่างฉันเลือกอย่างหลังนี่แหละ นั่นหมายถึงว่าวันนี้ต้องเดินขึ้น-ลงเขาร่วม 20 กิโลฯ และระยะทางไปกลับราว 8 ชั่วโมงกว่า หรืออาจจะเลยเถิดไป 9 ชั่วโมง เพราะทางขาขึ้นจะค่อนข้างชันมาก

     ถ้าไม่ใช่สตรีสายเทรกกิ้งผู้ผ่านการเทรกบนหิมาลัยและคิลิมันจาโรมาคงถอดใจไปแล้ว แต่คนที่ผ่านสังเวียนอันแสนสาหัสเหล่านี้มาแล้ว การเดินในระยะแบบนี้ถือว่าอยู่ในระดับเบาบาง

เพราะภูเขาคือที่สิงสถิตของความยิ่งใหญ่แข็งแกร่งเสมอ แต่เมื่อถูกแสงหวานๆลงห่ม ภูเขาอันแข็งแกร่งกลับกลายเป็นอ่อนโยน ภูเขาที่เคยทึมทะมึนสง่าผ่าเผย คล้ายยิ้มได้

 

     เราเริ่มต้นกันตรงตีนเขาที่มีบ้านพัก ร้านอาหาร และทุกสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้นักเดินเขา ไม่ต้องกลัวหลง เพราะระหว่างทางจะสวนทางกับนักเดินเขา มีทั้งพวกที่เดินขึ้นและเดินลง ทางช่วงแรกจะชันมาก ชันจนนักเดินเขาหลายคนตกอยู่ในอาการพักกะปริบกะปรอย รวมทั้งฉันด้วย 2 ชั่วโมงแรกของการเดินจึงค่อนข้างหนักหน่วงและร้อนมาก เพราะต้องเดินตากแดด

     แต่เมื่อถึงแคมป์แรกที่ชื่อริฟูจิโอ ชิเลียโน (Refugio Chileano) หลังจากนี้เป็นทางเดินในร่มเสียเยอะ แถมเป็นการเดินผ่านใบไม้เปลี่ยนสี ยิ่งทำให้การเดินสนุกและคลายความเหนื่อยไปได้เยอะ

 

 

     ชั่วโมงเศษๆ ถัดมาถึงได้มาอยู่ตรงเบสแคมป์ ที่นี่เขาตั้งเต็นท์นอนกันเพื่อรอขึ้นไปดูพระอาทิตย์ขึ้นในรุ่งเช้า แต่ฉันยังมีภารกิจเดินไต่เขาต่อไปอีก ต้องใช้คำว่าไต่ เพราะจากเบสแคมป์ขึ้นไปหายอดทรี ทาวเวอร์ (Three Tower) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตอร์เรส เดล ไปเน เป็นเส้นทางสุดโหด ต้องค่อยๆ ก้าวและไต่ไปบนหินที่ก้าวไม่ดีอาจจะมีพลาดได้ แต่จนแล้วจนรอด ฉันก็พาตัวเองมาสบตากับยอดเขาแกรนิต 3 ยอดได้สำเร็จ

 

 

     ความสุขของนักเดินเขาอยู่ตรงไหน??? ฉันเจอคำถามนี้จากคนรอบตัวบ่อยมาก บางคนบอกเหนื่อยก็เหนื่อย เดินก็ไกล ไม่รู้จะเดินไปทำไม

     นักเดินเขาคนอื่นไม่รู้คิดอย่างไร ส่วนฉันคงเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่และสนทนากับตัวเอง ตัดขาดจากโลกไซเบอร์ที่ถาโถมเข้าหาชีวิตอย่างรุนแรงเหลือเกิน ทุกก้าวคือสติ ได้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติที่โอบเราไว้อย่างหลวมๆ ความสวยงามที่อยู่รอบตัวเป็นแค่ของสมนาคุณที่ธรรมชาติบรรณาการให้

     แค่นี้คงเพียงพอแล้วกระมังที่ฉันจะกล้าพูดว่า การเดินเขาคือความงดงามของชีวิต

The post เรื่องเล่าจากชิลี: เมื่อการเดินเขาคือความงดงามของชีวิต appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/exotic-experiences-chile/feed/ 0
Patagonia: เมื่อธุรกิจขอร้องลูกค้าว่า ‘อย่าซื้อสินค้าของเรา’ https://thestandard.co/opinion-unconvention-business-patagonia/ https://thestandard.co/opinion-unconvention-business-patagonia/#respond Wed, 14 Jun 2017 05:24:42 +0000 https://thestandard.co/?p=6546

     คงไม่มีหนังสือเรียนธุรกิจเล่มไหนที่ […]

The post Patagonia: เมื่อธุรกิจขอร้องลูกค้าว่า ‘อย่าซื้อสินค้าของเรา’ appeared first on THE STANDARD.

]]>

     คงไม่มีหนังสือเรียนธุรกิจเล่มไหนที่จะสอนให้บริษัททำโฆษณาบอกลูกค้าว่า ‘อย่าซื้อสินค้าของเรา’ แต่นี่คือแท็กไลน์ที่ Patagonia แบรนด์เสื้อผ้ากีฬาเอาต์ดอร์ใช้บอกกับลูกค้า

     แคมเปญ ‘อย่าซื้อแจ็กเก็ตตัวนี้’ (Don’t Buy this Jacket) ที่เคยลงเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ The New York Times ในวัน Black Friday หรือวันช้อปปิ้งแห่งชาติของชาวอเมริกันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อความหวือหวา แต่มันสื่อสารถึงหัวใจของแบรนด์ ที่พร่ำบอกลูกค้ามาหลายทศวรรษว่า อย่าซื้อสินค้า ถ้าไม่ได้ต้องการจริงๆ

     เพราะเป้าหมายของบริษัทคือต้องการลดปริมาณการบริโภคและช่วยบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งแต่วันแรกเมื่อ 40 กว่าปีก่อนที่ อีวอง ชูนาร์ด (Yvon Chouinard) ก่อตั้งบริษัทนี้ เขาได้ยึดมั่นการให้ความสำคัญกับธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าเทียมกัน Patagonia มีพันธกิจในการทำธุรกิจที่ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม ใช้ธุรกิจสร้างแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด

 

     

     หลักคิด ‘เพื่อสิ่งแวดล้อม’ ดังกล่าวทำให้ Patagonia เป็นหนึ่งในผู้นำแบรนด์ธุรกิจยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก และเป็นหนึ่งในไม่กี่แบรนด์ที่เราแยกไม่ค่อยออกว่าเป็น ‘ธุรกิจ’ หรือ ‘เอ็นจีโอ’ กระทั่งชูนาร์ดก็เรียกตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจ ‘แบบไม่เต็มใจ’ และเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาตั้งธุรกิจนี้ขึ้นมาเพียงเพราะหงุดหงิดกับอนาคตของสิ่งแวดล้อม และอยากใช้ธุรกิจนี้ทำอะไรบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา

     ด้วยความรักที่มีต่อการปีนเขามาตั้งแต่เด็ก ในปี 1957 ชูนาร์ดต้องการหาอุปกรณ์ปีนเขาที่มีคุณภาพ แต่ไม่มีอุปกรณ์ในตลาดอย่างที่เขาอยากได้ เขาจึงขอยืมเงินพ่อแม่จำนวน 825 เหรียญสหรัฐเพื่อซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น และเริ่มเรียนตีเหล็กเพื่อผลิตหมุดปีนเขาเอง

     เมื่อเดินสายปีนเขาไปทั่วสหรัฐอเมริกา ชูนาร์ดก็เปิดท้ายรถขายหมุดปีนเขาไปด้วย และเริ่มขายดีจนต้องตั้งกิจการจริงจัง ก่อนจะกลายเป็นบริษัทขายอุปกรณ์ปีนเขาที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ในปี 1970

     อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหมุดของชูนาร์ดจะมีคุณภาพดี แต่มันกลับทำร้ายธรรมชาติ เพราะอุปกรณ์พวกนี้ทำให้ร่องหินแตกเมื่อนักปีนเขาต้องดันหมุดเข้าหรือดึงออกจากหิน โดยเฉพาะหินที่มีความเปราะบาง หมุดเหล่านี้ทำให้ภูเขาเสียหาย เมื่อเล็งเห็นถึงผลลบต่อสิ่งแวดล้อม ชูนาร์ดตัดสินใจเลิกขายหมุดที่แม้ว่าจะเป็นสินค้าหลัก เขากลับไปใช้เวลาค้นคว้าพัฒนาถึง 2 ปีจนได้เครื่องมืออย่าง นัท (Nut) หมุดปีนเขาที่ใช้เกาะเกี่ยวกับร่องหินได้โดยไม่ต้องเจาะหิน

     ในปี 1973 เมื่อพยายามหาเสื้อผ้าปีนเขาที่มีคุณภาพเพื่อจะไปปีนเทือกเขาพาทาโกเนียในอเมริกาใต้ ชูนาร์ดได้ไอเดียการทำธุรกิจเสื้อผ้าปีนเขาและก่อตั้งบริษัท Patagonia ขึ้น

     เขาใส่จิตวิญญาณด้านสิ่งแวดล้อมลงในทุกขั้นตอนการทำธุรกิจของบริษัท Patagonia เป็นบริษัทแรกๆ ที่ตั้งเป้าใช้วัตถุดิบอย่างฝ้ายออร์แกนิกให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์มาตั้งแต่กลางยุค 90s (ที่ยังไม่มีใครพูดถึงสินค้าออร์แกนิก) เพื่อลดปัญหาการใช้สารเคมีที่ทำลายระบบนิเวศ

     แม้ว่าจะทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นไปเป็นเท่าตัว แต่ชูนาร์ดมองว่าการใช้วัตถุดิบออร์แกนิกคือสิ่งถูกต้องที่บริษัทควรทำ ถ้าบริษัทจะเจ๊งก็ต้องเจ๊ง แต่นี่คือวิธีที่ดีกว่าที่จะทำธุรกิจแบบเดิมๆ แล้วสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

     นอกจากนี้บริษัทยังใช้หลักการค้าที่เป็นธรรม (fair trade) ในการทำงานกับซัพพลายเออร์ ในปี 2016 สินค้ากว่า 200 รายการของบริษัทผ่านมาตรฐานแฟร์เทรด และบริษัทตั้งเป้าจะมีสินค้าแฟร์เทรดให้ถึง 600 รายการในปีนี้ หรือนับเป็นหนึ่งในสามของสินค้าทั้งหมดของบริษัท

     Patagonia มีโรงงานสีเขียวที่ใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ อาคารสำนักงานเป็นอาคารประหยัดพลังงาน และอาคารสีเขียวที่ผ่านมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) และใช้วัสดุก่อสร้างส่วนหนึ่งจากวัสดุรีไซเคิล

 

 

     ในด้านการผลิต นอกจากจะใช้ฝ้ายออร์แกนิกเป็นวัตถุดิบหลักแล้ว วัตถุดิบอื่นๆ ก็ต้องดีกับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เช่น ไนลอนรีไซเคิล ผ้าขนสัตว์รีไซเคิล ขนเป็ดรีไซเคิล รวมทั้งการสรรหานวัตกรรมการผลิตวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ยางธรรมชาติที่ทำจากพุ่มไม้เตี้ยในเขตทะเลทราย ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตชุดดำน้ำ แม้ว่าบริษัทจะจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีนี้ไว้ แต่ก็อนุญาตให้แบรนด์อื่นๆ นำไปใช้ได้ เพื่อส่งเสริมการใช้วัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง

 

     

     Patagonia แสดงออกถึงความรักที่มีต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการสื่อสารเสมอ หลายปีก่อน บริษัทเคยทำโฆษณาสิ่งพิมพ์ที่มีรูปโลมากำลังว่ายน้ำในทะเล และเขียนด้วยตัวอักษรเบ้อเริ่มว่า ‘นี่คือผู้ถือหุ้นของเรา’

 

 

     หลังช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทปล่อยโฆษณา ‘อย่าซื้อแจ็กเก็ตตัวนี้’ ออกมา เพราะต้องการให้ผู้บริโภคสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่กับเสื้อผ้า คือซื้อเสื้อผ้าเมื่อจำเป็น ซื้อแบบที่คงทนยาวนาน และเมื่อซื้อไปแล้วก็ดูแลและซ่อมแซมเพื่อให้อยู่ได้นาน เพราะกระบวนการผลิตเสื้อผ้าในแต่ละขั้นตอนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น และผลเสียเหล่านั้นถูกเร่งให้เร็วขึ้นด้วยกระแส fast fashion หรือการผลิตเร็ว จำหน่ายเร็ว ซื้อเร็ว และทิ้งเร็ว

     หลังจากโฆษณานี้ออกไป ยอดขายของ Patagonia ในปีนั้นเพิ่มขึ้น 25-30 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าเสื้อผ้าของ Patagonia จะมีราคาสูงจนมีผู้บริโภคเรียกแบบจิกกัดว่า ‘พาทากุชชี’ แต่บริษัทก็เน้นขายของคุณภาพดีที่สุดเพื่อที่ลูกค้าจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ รวมทั้งขายชุดซ่อมเสื้อผ้า และรับซ่อมเสื้อผ้าเพื่อให้ลูกค้ายืดอายุเสื้อผ้าไปให้นานที่สุดตราบเท่าที่ยังจะพอปะ ชุน หรือเย็บซ่อมได้

 

     

     นอกเหนือจากการใส่ใจสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจแล้ว ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา Patagonia ยังมอบเงินจาก 1 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายในแต่ละปีให้กับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและเอ็นจีโอระดับฐานรากหลายร้อยแห่งทั่วโลก บริษัทมีจุดยืนในการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมไม่ต่างกับเอ็นจีโอ เช่น การต่อต้านเขื่อนทุกประเภท การฟื้นฟูแม่น้ำ และการต่อต้านการขุดเจาะน้ำมัน

     แม้ว่าบริษัทจะเติบโตในอัตราตัวเลขสองหลักทุกปี และมีรายได้เกือบ 750 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2015 จากร้านเพียง 68 แห่งทั่วโลกและช่องทางออนไลน์ ชูนาร์ดก็ไม่มีแผนที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเพื่อขยายกิจการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพราะเขาเชื่อว่าการเข้าตลาดหุ้นจะทำให้คุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมของ Patagonia ถูกทำลาย

     แม้ชูนาร์ดจะมีกลยุทธ์ในการเติบโตของธุรกิจที่เขาเรียกว่า ‘ต่อต้านการเติบโต’ (anti-growth) เขาและซีอีโอหญิงคนปัจจุบัน โรส มาซาริโอ (Rose Marcario) ก็ได้ก่อตั้งบริษัทการลงทุน Venture Capital เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพที่ดีต่อระบบนิเวศ เช่น บริษัทสเก็ตบอร์ดที่ทำจากแหจับปลาที่ถูกทิ้งแล้ว เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้เติบโตต่อไป

     ทุกวันนี้ชูนาร์ดในวัยใกล้ 80 ยังเข้ามาทำงานที่บริษัทบนโต๊ะไม้ตัวเดิมโดยไม่มีห้องส่วนตัวพิเศษ หากเขาไม่ติดที่ต้องไปเดินป่าหรือตกปลา และยังยืนยันว่าชอบอยู่กับธรรมชาติมากกว่าบริหารบริษัท

     แม้ Patagonia จะพร่ำบอกลูกค้าว่าอย่าซื้อสินค้าของบริษัท แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำธุรกิจในสไตล์ ‘นอกคอก’ แบบชูนาร์ดก็ทำให้ Patagonia ประสบความสำเร็จทั้งทางการเงิน และที่มากไปกว่านั้นคือการสร้างมาตรฐานใหม่ให้การทำธุรกิจที่ไม่จำเป็นต้อง ‘เลือก’ เป็นขั้วตรงข้ามกับการดูแลสิ่งแวดล้อม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


Photo: patagonia.com

The post Patagonia: เมื่อธุรกิจขอร้องลูกค้าว่า ‘อย่าซื้อสินค้าของเรา’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/opinion-unconvention-business-patagonia/feed/ 0