NAFTA – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 08 Apr 2022 01:04:20 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ประมวลสงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ปี 2018 กับโอกาสขยายสมรภูมิสู่ AI และ 5G https://thestandard.co/2018-us-china-trade-war/ https://thestandard.co/2018-us-china-trade-war/#respond Thu, 27 Dec 2018 09:44:21 +0000 https://thestandard.co/?p=171844

ปี 2018 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนมากที่สุด […]

The post ประมวลสงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ปี 2018 กับโอกาสขยายสมรภูมิสู่ AI และ 5G appeared first on THE STANDARD.

]]>

ปี 2018 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนมากที่สุดในรอบหลายๆ ปี สืบเนื่องจากสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเป็นสองมหาอำนาจที่ค้ำจุนเศรษฐกิจโลก ห้ำหั่นกันเองบนสมรภูมิการค้าที่ร้อนระอุตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี

 

ดังนั้นคำว่า ‘เทรดวอร์’ จึงเป็นคำที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในรอบปี 2018 ที่ผ่านมาได้ดีที่สุด

 

ชนวนสงครามเริ่มมาจากผลการตรวจสอบของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (U.S. Trade Representative หรือ USTR) ซึ่งพบว่า จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ตามบทบัญญัติมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ด้วยการดำเนินนโยบายบีบบังคับบริษัทอเมริกันให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อแลกกับการลงทุนในจีน  นอกจากนี้รัฐยังสนับสนุนบริษัทจีนให้ซื้อกิจการในสหรัฐฯ เพื่อหวังครอบครองเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงส่งเสริมให้แฮกเกอร์เจาะระบบไซเบอร์ เพื่อล้วงข้อมูลลับทางธุรกิจและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรม

 

สหรัฐฯ จึงลงดาบจีนด้วยการใช้มาตรการภาษีเป็นชุดในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การตอบโต้ด้วยวิธีการต่างๆ จากฝ่ายตรงข้าม จนแนวคิดกีดกันทางการค้าเริ่มขยายตัวเป็นวงกว้าง และทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในความสั่นคลอน

 

แต่ก่อนจะลงลึกถึงสงครามการค้าที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบในภาพรวม และทิศทางของสมรภูมิการค้าในปีหน้า เราไปย้อนดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในรอบปีที่ผ่านมา

 

 

ประมวลเหตุการณ์สำคัญในสงครามการค้าปี 2018

 

23 มีนาคม – สหรัฐฯ ประกาศตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากจีนและหลายประเทศ

 

2 เมษายน – จีนตอบโต้โดยตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

3 เมษายน – คณะบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนเก็บภาษีอากรกับสินค้าส่งออกของจีนมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 25%

 

4 เมษายน – รัฐบาลจีนเตือนสหรัฐฯ ว่าจะเอาคืนโดยการเก็บภาษีอากรกับสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ มูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 25% เช่นกัน

 

16 เมษายน – สหรัฐฯ ประกาศแบน ZTE ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่ของจีน ไม่ให้ทำธุรกิจกับบริษัทอเมริกันเป็นเวลา 7 ปี

 

3-7 พฤษภาคม – คณะผู้แทนจากจีนและสหรัฐฯ เจรจากันรอบแรก เพื่อยุติข้อพิพาททางการค้าที่กรุงปักกิ่ง

 

17 พฤษภาคม – การเจรจารอบที่ 2 ระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

20 พฤษภาคม – สองฝ่ายตกลงกันว่าจะยุติสงครามการค้าชั่วคราว

 

2-4 มิถุนายน – การเจรจารอบที่ 3 จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง

 

6 กรกฎาคม – สหรัฐฯ อนุญาตให้ ZTE กลับมาทำธุรกิจกับบริษัทอเมริกันได้อีกครั้ง แต่อยู่ภายใต้ขอบเขตที่จำกัด ทว่าขณะเดียวกันก็ประกาศใช้มาตรการภาษีรอบแรกกับสินค้าจีน มูลค่า 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

11 กรกฎาคม – รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจีน มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

3 สิงหาคม – จีนตอบโต้โดยประกาศแผนเก็บภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ มูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

23 สิงหาคม – สหรัฐฯ ประกาศตั้งกำแพงภาษีรอบที่ 2 กับสินค้าจีน มูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

17-18 กันยายน – สหรัฐฯ ประกาศมาตรการเก็บภาษีสินค้าจีน มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 10% และเพิ่มเป็น 25% ในปี 2019

 

ขณะที่จีนประกาศมาตรการตอบโต้ โดยเรียกเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ มูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

24 กันยายน – มาตรการภาษีรอบที่ 3 ของสหรัฐฯ เริ่มมีผลบังคับใช้

 

1 พฤศจิกายน – ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ต่อสายหารือทางโทรศัพท์

 

1 ธันวาคม – ผู้นำสหรัฐฯ และจีนตกลงสงบศึกการค้าชั่วคราวเป็นเวลา 90 วันในที่ประชุมซัมมิต G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินา โดยช่วงเวลา 3 เดือน คณะเจรจาจาก 2 ประเทศจะหารือกันต่อเพื่อหาทางสะสางปัญหาที่ไม่ลงรอย ตั้งแต่การขาดดุลการค้า การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

 

ทางการแคนาดาควบคุมตัว เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของบริษัท Huawei ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมเบอร์ 1 ของจีน ตามคำขอของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเมิ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในการทำธุรกิจกับอิหร่าน

 

14 ธันวาคม – จีนประกาศระงับการเก็บภาษีจากรถยนต์สหรัฐฯ ที่อัตรา 25% ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2019

 

 

การปะทะกันของ 2 ขั้วเศรษฐกิจต่างแนวคิด

ในรอบปี 2018 ที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นได้เด่นชัดบนเวทีการค้าโลกก็คือ จีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เชิดชูนโยบายส่งเสริมการค้าเสรี และปกป้องระเบียบการค้าโลกภายใต้กรอบกติกาของ WTO

 

ตรงข้ามกับสหรัฐฯ ซึ่งแม้รัฐบาลชุดก่อนๆ จะเชิดชูค่านิยมตะวันตกในเรื่องประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรี แต่วันนี้ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขากลับมองว่ากฎเกณฑ์ของ WTO ทำให้อเมริกาสูญเสียผลประโยชน์ ดังนั้นจึงต้องการยกเครื่องจัดระเบียบการค้าโลกใหม่

 

ด้วยเหตุนี้การปะทะกันของสองขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

นับตั้งแต่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งในปี 2016 เขาพยายามแก้ไขข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศหลายฉบับที่เขาเห็นว่าทำให้สหรัฐฯ เสียเปรียบ ดังจะเห็นได้จากการฉีกข้อตกลงการค้าหลายฉบับ รวมถึงหันหลังให้กับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP และเปิดการเจรจาใหม่กับประเทศคู่ค้า เช่น แคนาดาและเม็กซิโกในข้อตกลง NAFTA

 

ในส่วนของ NAFTA นั้น ทรัมป์เพิ่งลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่ ร่วมกับนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา และประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ของเม็กซิโก บนเวทีซัมมิต G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทรัมป์หวังว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะสามารถแทนที่ฉบับเก่า และเรียกมันว่า United States–Mexico–Canada Agreement แต่หลายฝ่ายมองว่ามันก็คือ NAFTA 2.0 นี่เอง

 

ย้อนกลับมาที่คู่ของจีนและสหรัฐฯ ความขัดแย้งที่เด่นชัดในเรื่องนโยบายการค้าได้ฉายภาพอีกด้านถึงการช่วงชิงตำแหน่งผู้นำการจัดระเบียบการค้าโลกด้วย

 

กอปรกับปัญหาบาดหมางเกี่ยวกับประเด็นการค้าที่ยังไม่สะสางระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จึงสุมไฟลุกโชนกลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ

 

 

ปัญหาระหองระแหง

คณะบริหารของทรัมป์กล่าวหาจีนมาตลอดว่าใช้อำนาจอิทธิพลบีบบังคับประเทศคู่ค้าในทางเศรษฐกิจ และดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าประเทศอื่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างมหาศาลถึง 370,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 โดยสินค้าหมวดเทคโนโลยีนั้น สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สินค้าประเภทเครื่องจักร เฟอร์นิเจอร์ และของเล่น สหรัฐฯ ขาดดุลราว 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

สิ่งที่สหรัฐฯ ขุ่นเคืองจีนมาตลอดคือปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และการบีบประเทศคู่ค้าถ่ายทอดโนว์ฮาวในเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านความร่วมมือในรูปแบบ Joint Venture

 

หลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ ระบุว่าสายลับและแฮกเกอร์จีนได้ขโมยข้อมูลลับทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยการฝังบั๊กซอฟต์แวร์ หรือแทรกซึมเข้าไปในอุตสาหกรรม สถาบัน และมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือบริษัทจีนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทัดเทียมกับนานาชาติคือหน่วยงานด้านข่าวกรองของรัฐบาลจีน

 

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่กลาโหมของสหรัฐฯ ยังกล่าวหาว่า แฮกเกอร์จีนได้จารกรรมข้อมูลลับด้านการค้าจากบริษัทผู้ทำสัญญาว่าจ้างผลิตอาวุธของสหรัฐ เพื่อประโยชน์ในด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์ด้วย

 

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของจีนนั้น สหรัฐฯ ประเมินว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 225,000-600,000 ล้านเหรียญต่อปีเลยทีเดียว

 

 

ผลกระทบจากมวยคู่ซูเปอร์เฮฟวีเวต

แน่นอนว่าสงครามการค้าจากมาตรการภาษีได้เพิ่มต้นทุนให้กับสินค้าและบริการอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะค่าอากรที่เรียกเก็บทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น ซึ่งผู้ผลิตอาจตั้งราคาสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อรักษาผลกำไร และทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระไป

 

สงครามการค้าและมาตรการกีดกันต่างๆ ยังส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทำให้ทิศทางการไหลเวียนของสินค้าและบริการต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการไหลเข้าสู่ประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้หลายประเทศเผชิญกับภาวะสินค้าล้นตลาด หรืออุปทานส่วนเกิน

 

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยเตือนว่าความขัดแย้งทางการค้าและกำแพงภาษีที่สูงขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อการค้าทั่วโลกโดยรวม โดยมาตรการภาษีที่ต่างฝ่ายต่างงัดมาใช้กับอีกฝ่ายจะสร้างผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนราว 0.5%

 

ในมุมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น นักวิเคราะห์จาก Strategas บริษัทวิจัยกลยุทธ์การลงทุน ประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด กำแพงภาษีจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึง 120,000 ล้านเหรียญ แต่สำหรับสหรัฐฯ อาจไม่สะทกสะท้านมากนัก เมื่อพิจารณาถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการปฏิรูประบบภาษีของทรัมป์ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับสหรัฐฯ ถึง 800,000 ล้านเหรียญ

 

เช่นเดียวกับ Goldman Sachs สถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ ที่มองว่า การตั้งกำแพงภาษีจะไม่สะเทือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ มาก เพราะอาจฉุด GDP สหรัฐฯ เพียง 0.1 จุด เมื่อเทียบกับการไม่มีมาตรการภาษีใดๆ

 

แต่นั่นเป็นเพียงแรงกระเพื่อมบนผิวน้ำที่เห็นได้ชัดเท่านั้น เพราะคลื่นใต้น้ำที่เกิดจากมาตรการต่างๆ เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและส่งผลกระทบมากกว่า ดังจะเห็นได้จากตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลกที่ล้วนได้รับปัจจัยลบจากความไม่แน่นอนในสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์เศรษฐกิจกันอย่างถ้วนหน้า

 

ความกังวลที่เกิดขึ้นกับนักลงทุน (จากสงครามการค้า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง (เฟด) และปัจจัยอื่นๆ) ได้ฉุดตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง โดยนับจนถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2018 ดัชนี S&P 500 ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทได้ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดกว่า 20% ภายในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นได้เข้าสู่ทิศทางขาลง (Bear Market) อย่างเต็มตัว สอดคล้องตามคำทำนายของ FactSet Research Systems เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ระบุว่า สงครามการค้าจะฉุดตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงเกือบ 22% และเข้าสู่ทิศทางขาลง

 

จากสถิตินับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ตลาดขาลง หรือ ‘ภาวะตลาดหมี’ จะกินเวลาเฉลี่ย 13 เดือน และทำให้ตลาดมีมูลค่าลดลง 30.4% ขณะที่นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs เชื่อว่า ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอยู่นี้ จะทำให้ตลาดหุ้นต้องใช้เวลาถึง 22 เดือนในการฟื้นตัว ซึ่งหมายความว่า ตลาดหุ้นในปี 2019 จะมีทิศทางที่ไม่สดใสนัก    

 

ไทยได้รับผลกระทบแค่ไหน

สำหรับผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อไทยในรอบปี 2018 ที่ผ่านมานั้น ศูนย์ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานว่า หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการภาษีกับจีน ทั้งจากมาตรา 232 ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และอะลูมิเนียมตั้งแต่ต้นปี 2018 และมาตรา 301 ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายชนิดตั้งแต่กลางปี 2018 ทำให้ไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะสินค้าหมวดเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นผลิตภัณฑ์ที่จีนใช้วัตถุดิบแผ่นชิ้นไม้อัด (particleboard) ที่นำเข้าจากไทย

 

นอกจากแผ่นไม้อัดที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว ยังมีวัตถุดิบอีกหลายอย่างที่ไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสเสมอ เพราะสินค้าที่จีนถูกชาร์จภาษีจนแพงขึ้น จะเปิดโอกาสให้สินค้าบางอย่างของไทยส่งออกได้มากขึ้น ด้วยความสามารถในการแข่งขันในด้านราคา

 

 

กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา: สนธิสัญญาสันติภาพ?

นับเป็นสัญญาณบวกในช่วงปลายปีก่อนก้าวสู่ศักราชใหม่ หลังจีนรับปากสหรัฐฯ ว่าจะให้ความคุ้มครองบริษัทต่างชาติที่ดำเนินงานในจีน โดยในร่างกฎหมายใหม่ที่กำลังจะผ่านความเห็นชอบในสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเปรียบเสมือนสภาตรายางของจีนนั้น มีบทบัญญัติที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทต่างชาติมากขึ้น

 

นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังกำหนดให้มีการปฏิบัติต่อบริษัทต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่มั่นคง โปร่งใส และทำนายได้ โดยผู้เล่นต่างชาติจะได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาภาคธุรกิจ อีกทั้งสามารถเข้าร่วมโครงการจัดซื้อของรัฐอย่างเท่าเทียม  

 

ซึ่งจะทำได้ดีแค่ไหน และทรัมป์จะพอใจหรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป

 

ก่อนหน้านี้ในที่ประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ผู้นำจีนยอมโอนอ่อนผ่อนตามเงื่อนไขของสหรัฐฯ โดยรับปากว่าจะนำเข้าสินค้าสินค้าเกษตรและพลังงานจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อลดยอดการขาดดุลการค้าระหว่างสองประเทศ ขณะเดียวกันก็จะระงับมาตรการภาษีที่ใช้กับรถยนต์และชิ้นส่วนนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นการชั่วคราว

 

 

อะไรน่าจับตาในสงครามการค้า ปี 2019

แม้จะมีสัญญาณบวกเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีอะไรที่แน่นอน ขณะที่สัญญาสงบศึกมีผลเพียง 90 วันเท่านั้น และสิ่งที่ทั่วโลกต้องการเห็นคือข้อตกลงที่เปรียบเหมือน ‘สนธิสัญญาสันติภาพ’ เพื่อยุติสงครามการค้าอย่างถาวร

 

ดังนั้นช่วงเวลา 3 เดือนที่คาบเกี่ยวจนถึงต้นปีหน้านี้ จึงเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะชี้ชะตาว่าสงครามการค้าจะยืดเยื้อต่อไปในปีหน้าหรือไม่

 

หากทรัมป์และสีจิ้นผิงไม่สามารถหาทางออกในข้อพิพาทต่างๆ เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การแทรกซึมทางไซเบอร์ และการจารกรรมข้อมูลเทคโนโลยี รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มขยับพิกัดอัตราภาษีที่เก็บกับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญจาก 10% เป็น 25% เมื่อนั้นสงครามการค้าอาจปะทุขึ้นอีกระลอก

 

ไม่เพียงเท่านี้ คณะบริหารของทรัมป์ยังพิจารณาตั้งกำแพงภาษีเพิ่มกับสินค้าจีนอีก 267,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 10% หรือ 25% ด้วย

 

ในปีหน้า หากทั้งคู่แลกหมัดกันด้วยมาตรการภาษีโดยตรง สหรัฐฯ อาจกุมความได้เปรียบตรงที่มีไพ่ในมือเหนือกว่า เพราะสำหรับจีนซึ่งมียอดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ น้อยกว่ายอดส่งออกแล้ว ถือว่ามีข้อจำกัดในการตอบโต้สหรัฐฯ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จีนอาจงัดมาตรการอย่างอื่นมาเล่นงานสหรัฐฯ แทน เป็นต้นว่าการผ่อนคลายนโยบายการคลังและการเงิน หรือปล่อยให้สกุลเงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งนั่นอาจสร้างความผันผวนที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลก

 

 

สงครามการค้ากับสมรภูมิ AI และ 5G

นอกจากสงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของสินค้าและบริการทั่วโลกแล้ว พอล โรเมอร์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุดจากผลงานวิจัยเรื่องอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีต่อการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ยังแสดงความกังวลด้วยว่า ศึกการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของความคิดและไอเดียที่เป็นต้นทุนของนวัตกรรมต่างๆ ด้วย

 

โรเมอร์ มองว่า แนวคิดกีดกันทางการค้าซึ่งกำลังขยายตัวไปทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ เป็นอันตรายใหญ่หลวง โดยหนึ่งในความเสี่ยงคือความพยายามขับเคี่ยวกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนเพื่อช่วงชิงความผู้นำในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

 

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ระแวงจีนที่พยายามครอบครองเทคโนโลยีอันเป็นกุญแจสำคัญสำหรับอนาคต และยิ่งไม่พอใจที่จีนพยายามพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีโดยการขโมยไอเดียจากชาวอเมริกัน

 

แต่โรเมอร์มองว่า ในอดีตอังกฤษก็เคยกล่าวหาสหรัฐฯ ในลักษณะนี้ โดยยุคที่อเมริกากำลังผงาดขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมเมื่อศตวรรษที่ 19 นั้น สหรัฐฯ ก็พยายามก๊อบปี้หรือลอกเลียนเทคโนโลยีของอังกฤษเพื่อไล่ตามให้ทันเช่นกัน

 

ในมุมมองของโรเมอร์นั้น สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ก็คือ สังคมที่มีการแบ่งปันแนวคิด และการกำหนดนโยบายจากภาครัฐที่เอื้อต่อระบบนิเวศแห่งนวัตกรรม

 

กลยุทธ์ที่เหมาะสมในเวลานี้คือการส่งเสริมให้ข้อมูลต่างๆ มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น และผลักดันให้เกิดตลาดเสรี แต่รัฐบาลก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเครื่องจักรแห่งนวัตกรรมในโลกที่ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเปิดกว้าง ทว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากมีสงครามการค้าและมาตรการกีดกันรูปแบบต่างๆ เป็นตัวปิดกั้น

 

สิ่งที่น่าจับตาในปีหน้า นอกจากเรื่องการชิงความเป็นผู้นำในเทคโนโลยี AI ในบริบทของสงครามการค้าแล้ว เทคโนโลยี 5G ก็เป็นอีกประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ

 

ในบทวิเคราะห์ของ Financial Times มองว่า การจับกุมเมิ่ง หว่านโจว ซีเอฟโอของ Huawei ในแคนาดาเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เมื่อดูจากช่วงเวลาที่ Huawei กำลังผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในเทคโนโลยี 5G ของโลก

 

การที่ Huawei มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สหรัฐฯ เกิดความวิตกเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคง เพราะพวกเขาระแวงว่ารัฐบาลจีนอาจใช้สายสัมพันธ์ที่ดีกับ Huawei เป็นช่องทางล้วงความลับของทางการหรือข้อมูลเทคโนโลยีสำคัญในต่างประเทศ

 

ขณะที่ทรัมป์ได้แย้มท่าทีอย่างชัดเจนแล้วว่า เขาพร้อมใช้ผู้บริหารหญิงของ Huawei เป็นหมากต่อรองในการเจรจาการค้ากับจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเด็น Huawei, 5G และข้อพิพาททางการค้าต่างๆ จะอยู่ขอบข่ายการเจรจาระหว่างสองประเทศมหาอำนาจหลังจากนี้  

 

ดังนั้นสงครามการค้าที่ดำเนินอยู่จึงไม่ใช่แค่สงครามภาษีที่เราเห็นกันผิวเผินเท่านั้น แต่อาจขยายขอบเขตไปถึงสงครามในสมรภูมิ AI และ 5G ที่มีสหรัฐฯ และจีนเป็นผู้เล่นรายหลักในปีหน้า

 

ดูแล้วศึกใหญ่ระหว่างสองมหาอำนาจจึงไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ แม้ว่าสองฝ่ายอาจตกลงแก้ปัญหาบางอย่างกันได้ทันกำหนดเส้นตาย 90 วันก็ตาม เพราะความเป็นคู่อริและคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการช่วงชิงความเป็นผู้นำเทคโนโลยีกุญแจสำคัญแห่งอนาคต ทำให้ไม่มีใครยอมใคร ขณะที่การค้าเป็นเพียงเครื่องมือส่วนหนึ่งของประเทศมหาอำนาจเท่านั้น

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

The post ประมวลสงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน ปี 2018 กับโอกาสขยายสมรภูมิสู่ AI และ 5G appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/2018-us-china-trade-war/feed/ 0
จับตาซัมมิต G20 เดิมพันสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และไฮไลต์ท่าทีของผู้นำโลก https://thestandard.co/g20-summit/ https://thestandard.co/g20-summit/#respond Fri, 30 Nov 2018 12:14:35 +0000 https://thestandard.co/?p=157085

บรรดาผู้นำจาก 19 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและตลาดเกิดใหม่ข […]

The post จับตาซัมมิต G20 เดิมพันสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และไฮไลต์ท่าทีของผู้นำโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>

บรรดาผู้นำจาก 19 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ และผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) จะเริ่มต้นการประชุมซัมมิต G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในวันนี้ (30 พ.ย.) ซึ่งแน่นอนว่า ‘สงครามการค้า’ ครอบงำวาระการประชุมครั้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

นับตั้งแต่สาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (หรือย้อนกลับไปจนถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้ง) โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงจุดยืนมาตลอดว่าเขาไม่สนใจความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการค้าและเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามกับประเทศที่เหลือในกลุ่ม G20 ที่ต้องการให้ทุกประเทศเคารพกฎกติกาการค้าระดับพหุภาคี ด้วยเหตุนี้การปะทะกันทางนโยบายจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้บนเวทีใหญ่ส่งท้ายปีนี้

 

ซัมมิต G20 ปีนี้สำคัญอย่างไร มีส่วนกำหนดทิศทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศและระเบียบการค้าโลกในปีหน้าอย่างไร

 

 

การเดิมพันครั้งใหญ่

ถ้าจะกล่าวว่าชะตากรรมของโลกอาจแขวนอยู่กับผลการเจรจาในที่ประชุมซัมมิต G20 ครั้งนี้ก็คงไม่ผิดนัก

 

เป็นที่คาดหมายว่าถ้าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ตกลงแก้ไขข้อพิพาททางการค้ากันไม่ได้ ทรัมป์จะตัดสินใจทำสงครามการค้ากับจีนต่อ ซึ่งในปีหน้าจะมีความดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้น และส่งแรงกระเพื่อมแบบสึนามิต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ระหว่างให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ทรัมป์ยืนยันหนักแน่นว่า ถ้าการพูดคุยกับสีจิ้นผิงล้มเหลว เขามีแผนขยายกรอบกำแพงภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากอัตรา 10% เป็น 25% โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า

 

ไม่เพียงเท่านี้ ทรัมป์ยังขู่ว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีอากรสินค้านำเข้าที่เหลือรวมมูลค่า 267,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อัตรา 10-25% อีกด้วย

 

เราย้อนกลับไปดูสงครามภาษีระหว่างสองยักษ์เศรษฐกิจรุ่นซูเปอร์เฮฟวีเวตในรอบ 1 ปีที่ผ่านมากันสักนิด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะบริหารของทรัมป์ได้ประกาศมาตรการภาษีกับเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากจีนและหลายประเทศ ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยกำแพงภาษีกับสินค้ามูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน จากนั้นในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้บังคับมาตรการภาษีกับสินค้าส่งออกของจีนอีกรวมมูลค่า 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกันกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ รวมมูลค่า 110,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

จูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด นักวิเคราะห์จาก Capital Economics มองว่าในการประชุม G20 ปีนี้ สีจิ้นผิงไม่น่าจะมีข้อเสนอที่ทำให้ทรัมป์พอใจและเปลี่ยนใจได้ และเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นบวกนัก

 

“ถ้าพวกเขาคว้าน้ำเหลวในการทำข้อตกลงสงบศึกการค้า แน่นอนว่าสหรัฐฯ จะขยับขึ้นภาษีกับสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนมกราคม ปี 2019 และอาจขยายกำแพงภาษีครอบคลุมสินค้านำเข้าที่เหลือด้วย” อีแวนส์-พริตชาร์ดกล่าว

 

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ก่อนที่ซัมมิต G20 จะเปิดฉากขึ้นในลาตินอเมริกาครั้งแรก คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าความขัดแย้งทางการค้าและกำแพงภาษีที่สูงขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อการค้าทั่วโลกโดยรวม

 

เธอเผยผลการวิจัยว่า หากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด มาตรการภาษีที่ใช้กันอยู่จะสร้างผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลกราว 0.5%

 

แต่นั่นเป็นเพียงแรงกระเพื่อมบนผิวน้ำที่เห็นได้ชัดเท่านั้น เพราะคลื่นใต้น้ำที่เกิดจากมาตรการอื่นๆ อาจเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากและส่งผลกระทบมากกว่า  

 

ในปีหน้า หากทั้งคู่แลกหมัดกันด้วยมาตรการภาษีโดยตรง สหรัฐฯ อาจกุมความได้เปรียบตรงที่มีไพ่ในมือเหนือกว่า เพราะสำหรับจีนซึ่งมียอดนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ น้อยกว่ายอดส่งออกแล้ว ถือว่ามีข้อจำกัดในการตอบโต้สหรัฐฯ ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงมองว่าจีนอาจงัดมาตรการอย่างอื่นมาเล่นงานสหรัฐฯ แทน เช่น การผ่อนคลายนโยบายการคลังและการเงิน หรือปล่อยให้สกุลเงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งนั่นอาจสร้างความผันผวนที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลก

 

ข้อตกลงฉบับแทน NAFTA, เจ้าชายบิน ซัลมาน และอื่นๆ ที่น่าจับตา

นอกจากมวยคู่เอกระหว่างทรัมป์กับสีจิ้นผิงที่ทั่วโลกจับตาอย่างมากแล้ว ทรัมป์ยังมีกำหนดการหารือระดับทวิภาคีและไตรภาคีกับผู้นำหลายคน โดยหนึ่งในไฮไลต์คือการพบกันระหว่างทรัมป์กับจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา และอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ว่าที่ประธานาธิบดีเม็กซิโก เพื่อลงนามในดีลการค้า 3 ฝ่ายแทนข้อตกลง NAFTA ฉบับเดิมที่ทรัมป์หันหลังให้อย่างไม่แยแส

 

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือการเสด็จไปร่วมประชุมของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหลายฝ่ายจับตามองว่าทรัมป์กับบิน ซัลมาน จะส่งยิ้ม จับมือ พูดคุย หรือลงนามในข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุดีอาระเบียหรือไม่ หลังเจ้าชายถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรม จามาล คาช็อกกี นักข่าวอิสระชาวซาอุดีอาระเบีย ภายในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียประจำนครอิสตันบูล เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ทั่วโลกยังจับตาการพบกันของทรัมป์และเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร เพื่อวิเคราะห์ท่าทีและภาษากายของทั้งสอง หลังทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลง Brexit ที่ผลักดันโดยเมย์อย่างเผ็ดร้อน โดยเขาเห็นว่าข้อตกลงนี้เป็นประโยชน์กับสหภาพยุโรปมากกว่าสหราชอาณาจักร

 

ไม่เพียงแต่ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเท่านั้น ฌอง-โคลด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เตรียมใช้เวที G20 ครั้งนี้เร่งสะสางปัญหาภาษีเหล็กและรถยนต์กับสหรัฐฯ หลังการเจรจาระดับทวิภาคีในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาเผชิญกับภาวะชะงักงัน สืบเนื่องจากยุงเกอร์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของคณะบริหารทรัมป์ที่ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์แห่งชาติมากกว่ากฎกติกาแบบพหุนิยม

 

น่าเสียดายที่การหารือกันนอกรอบระหว่างทรัมป์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียจะไม่เกิดขึ้น หลังทรัมป์ประกาศยกเลิกกำหนดการดังกล่าวท่ามกลางปัญหาตึงเครียดบนคาบสมุทรไครเมีย สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่รัสเซียยึดเรือของยูเครน 3 ลำ พร้อมควบคุมตัวลูกเรือไว้ 24 คน โดยรัสเซียกล่าวหาว่าเรือเหล่านี้ล่วงล้ำน่านน้ำของพวกเขาอย่างผิดกฎหมาย หลังพยายามแล่นผ่านช่องแคบเคิร์ชไปยังทะเลอะซอฟ ขณะที่ทรัมป์ได้แสดงท่าทีไม่พอใจกับพฤติการณ์ที่ ‘ก้าวร้าว’ ของรัสเซีย

 

การยกเลิกพบปะระหว่างผู้นำสองประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์ย่อมหมายถึงการปิดประตูเจรจาเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการควบคุมขีปนาวุธพิสัยกลางภายใต้ข้อตกลงไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (INF Treaty) ขณะที่ทรัมป์เคยขู่ก่อนหน้านี้ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่ารัสเซียไม่ยอมปฏิบัติตามกฎกติกา ถึงแม้ว่ารัสเซียจะปฏิเสธมาตลอดก็ตาม

 

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีการประชุมระดับทางการหรือไม่เป็นทางการระหว่างทรัมป์กับปูติน แต่ทั่วโลกก็ยังจับตาดูท่าทีและภาษากายระหว่างท้ังสองอยู่ไม่น้อย

 

สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยสิ้นสุดในวันพรุ่งนี้ (1 ธ.ค.) ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าที่ประชุมจะส่งสัญญาณบวกเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาการค้าเพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปีหน้า อย่างไรก็ตามก็มีความเป็นไปได้ที่เวทีประชุมครั้งนี้อาจไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และลงเอยเหมือนกับเวทีประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งล่าสุด โดยที่ผู้นำไม่สามารถออกแถลงการณ์ที่เป็นจุดยืนร่วมกันต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ได้ เนื่องจากแนวคิดต่างขั้วระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศที่เหลือไม่อาจประสานให้ลงรอยได้ภายในเวลาอันสั้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

The post จับตาซัมมิต G20 เดิมพันสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และไฮไลต์ท่าทีของผู้นำโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/g20-summit/feed/ 0
สหรัฐฯ-แคนาดา บรรลุดีลการค้า ต่อลมหายใจข้อตกลง NAFTA https://thestandard.co/canada-us-reach-deal-to-replace-nafta/ https://thestandard.co/canada-us-reach-deal-to-replace-nafta/#respond Mon, 01 Oct 2018 09:20:45 +0000 https://thestandard.co/?p=126599

รัฐบาลสหรัฐฯ และแคนาดาบรรลุเงื่อนไขในการปรับปรุงข้อตกลง […]

The post สหรัฐฯ-แคนาดา บรรลุดีลการค้า ต่อลมหายใจข้อตกลง NAFTA appeared first on THE STANDARD.

]]>

รัฐบาลสหรัฐฯ และแคนาดาบรรลุเงื่อนไขในการปรับปรุงข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งถือเป็นการต่อลมหายใจดีลการค้าสามฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก หลังเจรจายืดเยื้อมานานกว่า 1 ปี

 

โรเบิร์ต ไลต์ทิเซอร์ ผู้แทนการค้าระดับสูงของสหรัฐฯ และ คริสเตีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดา ระบุในแถลงการณ์ว่า “วันนี้ แคนาดาและสหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน รวมถึงเม็กซิโก ในการทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ที่มีความทันสมัยสำหรับศตวรรษที่ 21 หรือข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา

 

“การตกลงกันครั้งนี้จะมอบข้อตกลงที่มีมาตรฐานสูงให้กับแรงงาน เกษตรกร เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ และธุรกิจของเรา ซึ่งจะนำไปสู่ตลาดที่เสรีขึ้น การค้าที่ยุติธรรมขึ้น และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในภูมิภาคของเรา” แถลงการณ์ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ร่วมของสหรัฐฯ และแคนาดาไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว แต่คาดว่าจะมีการผ่อนปรนข้อจำกัดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากนมของแคนาดา ซึ่งสหรัฐฯ เรียกร้องมาตลอด โดยหลังจากประกาศใช้ เกษตรกรสหรัฐฯ จะสามารถเข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์นมราว 3.5% ของแคนาดา

 

นอกจากอุตสาหกรรมนมแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังตกลงร่วมแก้ปัญหาเรื่องกำแพงภาษีรถยนต์ส่งออกรถยนต์ของแคนาดาด้วย

 

ด้านคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมนำข้อตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาคองเกรส โดยสภามีเวลาทบทวนและแก้ไขเนื้อหาภายใน 60 วันก่อนที่จะให้ทรัมป์ลงนามรับรอง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

The post สหรัฐฯ-แคนาดา บรรลุดีลการค้า ต่อลมหายใจข้อตกลง NAFTA appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/canada-us-reach-deal-to-replace-nafta/feed/ 0
ลับ ลวง พราง… ข้อตกลงนาฟตาคืนชีพ และกลยุทธ์ทรัมป์ในการต่อรองกับจีน https://thestandard.co/trumps-nafta-deal/ https://thestandard.co/trumps-nafta-deal/#respond Wed, 29 Aug 2018 12:36:54 +0000 https://thestandard.co/?p=117207

หลังข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ตกอยู่ในภาวะช […]

The post ลับ ลวง พราง… ข้อตกลงนาฟตาคืนชีพ และกลยุทธ์ทรัมป์ในการต่อรองกับจีน appeared first on THE STANDARD.

]]>

หลังข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ตกอยู่ในภาวะชะงักงันนับปี สืบเนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจขอถอนตัว เพราะเห็นว่าสหรัฐฯ สูญเสียผลประโยชน์จากการค้าที่ไม่เป็นธรรมอย่างมหาศาลนั้น ล่าสุดดีลการค้าระดับไตรภาคีระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก มีโอกาสฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังทรัมป์และรัฐบาลเม็กซิโกสามารถบรรลุเงื่อนไขในความตกลงการค้าสองฝ่ายหรือทวิภาคีได้สำเร็จ จนกลายเป็นข่าวครึกโครมในช่วงนี้

 

แต่ดีลนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังเจรจาหน้าสิ่วหน้าขวานกับจีน เพื่อหาทางยุติข้อพิพาทต่างๆ จากปมขาดดุลการค้าและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

 

หรือนี่อาจเป็นเพียงเหตุการณ์ที่ประจวบเหมาะหรือความบังเอิญเท่านั้น

 

ทว่า ผู้สันทัดกรณีไม่มองเช่นนั้น พวกเขาลงความเห็นว่า นี่อาจเป็นกุศโลบายของทรัมป์ เพื่อหวังเป็นแต้มต่อในการกดดันให้จีนรีบสะสางปัญหาที่ยังไม่ลงรอยกัน

 

แต่ก่อนจะว่ากันในประเด็นนี้ ขอย้อนกลับมาพูดถึงความหวังในการต่อลมหายใจของนาฟตาที่มีอายุ 24 ปีกันก่อน

 

สื่อชั้นนำในสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ทรัมป์ย้ำชัดว่า สหรัฐฯ ได้หันหลังให้กับนาฟตาแล้ว เพราะได้จัดทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับเม็กซิโกแทนที่นาฟตา พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘US-Mexico Trade Agreement’ และจะผลักดันข้อตกลงลักษณะนี้กับแคนาดาในอนาคต เพื่อแทนข้อตกลง 3 ฝ่าย

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อตกลงการค้าเสรีอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกยังไม่เกิดขึ้น เพราะข้อตกลงที่สองประเทศเพิ่งทำไปนั้น เป็นเพียงความตกลงในการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองฝ่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจานาฟตาเท่านั้น

 

คำยืนยันนี้มาจากสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกฉบับล่าสุด เป็นฉันทานุมัติในหลักการเบื้องต้น เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดในความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือฉบับเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้น และสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21

 

 

สหรัฐฯ-เม็กซิโก ตกลงอะไรกันบ้าง

หลังการเจรจาดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่นตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ในที่สุดสองประเทศซึ่งมีปมปัญหาเรื่องผู้อพยพก็ตกลงกันได้ในประเด็นการค้าภาคยานยนต์และพลังงาน ซึ่งถือเป็นชัยชนะในทางการเมืองของทรัมป์ ผู้ต้องการล้มเลิกข้อตกลงฉบับก่อน เพื่อร่างเงื่อนไขที่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ มากกว่าเดิม  

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านาฟตาจะมีความหวังอยู่รอด แต่หนทางข้างหน้ายังมีขวากหนามรออยู่ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องตกลงกับแคนาดาให้ได้ด้วย

 

ขณะที่ฝั่งเม็กซิโกยืนยันว่า จะยังไม่ประกาศรับรองข้อตกลงนาฟตาฉบับใหม่ จนกว่าแคนาดาจะจรดปากกาลงนามเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร

 

ชัยชนะของแคนาดา

ทรัมป์ประกาศจากทำเนียบขาวว่า เขาสามารถทำข้อตกลงที่มีความพิเศษสำหรับบริษัทผู้ผลิตและเกษตรกรชาวอเมริกันในดีลการค้ากับเม็กซิโก พร้อมส่งสารเตือนแคนาดาว่า พวกเขาต้องดิ้นรนเจรจา เพื่อทำข้อตกลงใหม่กับสหรัฐฯ มิเช่นนั้นรถยนต์ส่งออกทุกคันของแคนาดาก็จะเจอกับกำแพงภาษีมหาโหดของสหรัฐฯ

 

แม้ถ้อยแถลงของประมุขแห่งทำเนียบขาวจะฟังดูเลวร้ายสำหรับแคนาดา แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สิ่งที่สหรัฐฯ และเม็กซิโกเพิ่งตกลงกัน แท้จริงดูดีเพียงเปลือกนอก แต่เนื้อในแทบไม่มีอะไรใหม่ เพราะในอดีตจะเห็นได้ว่าทรัมป์มักข่มขู่ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง แต่พอเอาเข้าจริงกลับไม่ได้ทำอย่างที่พูด

 

และหากว่ากันตามหลักการหรือข้อกฎหมายแล้ว ทรัมป์ไม่สามารถฉีกข้อตกลงนาฟตาได้เพียงลำพังตามอำเภอใจ แม้จะทำในนามของประเทศชาติก็ตาม เพราะการจะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตามที่มีการเจรจากันมาหลายเดือน จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสก่อน

 

และในความเป็นจริงแล้ว การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกก็ยังไม่บรรลุขั้นตอนสุดท้าย เพราะยังต้องรอ โรเบิร์ต ไลต์ทิเซอร์ ผู้แทนการค้าระดับสูงของสหรัฐฯ ยื่นเอกสารที่มีรายละเอียดลงลึกให้รัฐสภาพิจารณาในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ก่อน

 

จากนั้นสภาคองเกรสมีเวลา 90 วัน ในการอ่านและรับรองรายละเอียด ซึ่งกระบวนการนี้อาจกินเวลานานจนล่วงเลยสู่ช่วงเลือกตั้งกลางเทอม และเมื่อถึงเวลานั้น การรับรองข้อตกลงก็อาจไม่เกิดขึ้น หากพรรครีพับลิกันของทรัมป์สูญเสียที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจนไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้อีกต่อไป

 

ดังนั้น สมาชิกรีพับลิกันจึงเห็นควรให้ทรัมป์เร่งผลักดันการเจรจาและรวมแคนาดาเข้าไปในข้อตกลงฉบับใหม่ด้วย โดย ออร์ริน แฮตช์ วุฒิสมาชิกรัฐยูทาห์ ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการด้านการคลังของวุฒิสภา ย้ำว่าข้อตกลงขั้นสุดท้ายจำเป็นต้องรวมแคนาดาเข้าไปด้วย

 

ส่วนแคนาดาเองก็มีพาวเวอร์ในข้อตกลงนาฟตา การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใดๆ ในข้อตกลงฉบับนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากแคนาดาก่อน ขณะที่ คริสเตีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดา ซึ่งบินไปเจรจากับคณะผู้แทนสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ยืนกรานว่าจะเซ็นข้อตกลงที่ดีสำหรับแคนาดาเท่านั้น พร้อมย้ำว่าลายเซ็นของแคนาดามีความสำคัญกับทุกขั้นตอนการเจรจา

 

และหากทรัมป์ขึ้นภาษีรถยนต์ส่งออกของแคนาดาจริง ก็เท่ากับเป็นการทำร้ายบริษัทของสหรัฐฯ เสียเองด้วย

 

รัฐบาลแคนาดาเตือนสหรัฐฯ ว่า หากแคนาดาไม่ยอมลดภาษีผลิตภัณฑ์จากนม และทรัมป์ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากแคนาดา ความพยายามของสหรัฐฯ อาจสูญเปล่า เนื่องจากแคนาดาไม่มีแบรนด์รถรายใหญ่ที่ผลิตในประเทศ แต่รถยนต์ส่งออกส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ เอง ไม่ว่าจะเป็น GM, Ford หรือ Chrysler

 

และการขึ้นภาษีรถยี่ห้อ Cadillac ของ GM ก็จะทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จ่ายแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งทำให้ผลกำไรของบริษัทสหรัฐฯ ลดลงด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทรัมป์ ไม่ว่าจะมองมุมไหน

 

ข่าวร้ายของจีน?

ในขณะที่สหรัฐฯ และจีนงัดข้อกันด้วยกำแพงภาษีจนโหมกระพือไฟสงครามการค้ากันอยู่นั้น ข่าวที่สหรัฐฯ และเม็กซิโกจับเข่าคุยกันอาจเป็นข่าวร้ายสำหรับจีน

 

จอห์น วูดส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Credit Suisse แสดงความเห็นกับ CNBC ว่าเม็กซิโกเป็นคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ ดังนั้นข้อตกลงที่เพิ่งทำกันจึงส่งผลบวกต่อผลงานของทรัมป์ ก่อนสู้ศึกเลือกตั้งกลางเทอมในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่ผลดีกับจีน

 

เขาอธิบายว่า ตอนนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกว่าจะสามารถสะสางประเด็นพิพาทกันได้หรือไม่ โดยสหรัฐฯ ต้องการให้จีนปฏิรูปโครงสร้างมากกว่าการลดการขาดดุลการค้าระหว่างกัน เพราะนั่นเป็นประเด็นที่น่าจะหาทางออกกันได้ง่ายกว่า ณ เวลานี้

 

“ผมสงสัยว่าทรัมป์อาจต้องการปกปิดการเจรจากับจีน ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง หรือรอไปจนกระทั่งถึงช่วงเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน”

 

ความเห็นของวูดส์ได้รับการสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร ING หลายคน ซึ่งต่างมองว่า ตราบใดที่จีนและเอเชียเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อตกลงกับเม็กซิโกฉบับใหม่ก็จะไม่คลี่คลายปัญหาอะไร

 

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงการค้าฉบับดังกล่าวจะทำให้สหรัฐฯ อยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบในการเล่นบทแข็งในระหว่างต่อรองกับจีน

 

“ณ เวลานี้ คณะบริหารของทรัมป์มองไม่เห็นประโยชน์จากการเป็นฝ่ายไล่ตามเจรจากับจีนในประเด็นการค้า หากจีนไม่ยอมแก้ปัญหาเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี” นักเศรษฐศาสตร์จาก ING ให้ความเห็น

 

หากแนวโน้มเป็นเช่นนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกรวมมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนกันยายน ซึ่งจีนก็น่าจะตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกัน จนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

 

แต่กระนั้นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการให้จีนเห็นจากดีลกับเม็กซิโกก็คือ สหรัฐฯ พร้อมที่จะถอยทุกเมื่อ หากพวกเขาได้รับการตอบสนองในเงื่อนไขที่น่าพอใจ ซึ่งนั่นถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับประเทศต่างๆ ที่พยายามจะเจรจากับคณะบริหารของทรัมป์

 

ฮวน คาร์ลอส ฮาร์ตาซานเชส ผู้อำนวยการอาวุโสของ Albright Stonebridge Group กล่าวว่า ประเทศเหล่านั้นสามารถเรียนรู้จากเม็กซิโกว่าจะเปลี่ยนการเจรจาที่ซับซ้อนและไม่คืบหน้ามาเป็นทางออกที่ดูเหมือนจะดีสำหรับทุกฝ่ายได้อย่างไร

 

ศึกการค้าครั้งนี้จึงมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่เคย และมีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย แน่นอนว่า การเดินหมากแต่ละก้าวย่อมมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง แต่ใครจะเป็นฝ่ายชนะหรือเพลี่ยงพล้ำ คงต้องรอดูกันยาวๆ แต่ผลเลือกตั้งกลางเทอมอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าทรัมป์เดินหมากตานี้พลาดหรือไม่  

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

The post ลับ ลวง พราง… ข้อตกลงนาฟตาคืนชีพ และกลยุทธ์ทรัมป์ในการต่อรองกับจีน appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/trumps-nafta-deal/feed/ 0
บทสรุปภาพแห่งปี ซัมมิต G7 เวทีแลกหมัดผู้นำโลก ความบาดหมางร้าวลึก และโอกาสทองของจีน https://thestandard.co/g7-summit-2018/ https://thestandard.co/g7-summit-2018/#respond Mon, 11 Jun 2018 11:32:06 +0000 https://thestandard.co/?p=96789

ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตส […]

The post บทสรุปภาพแห่งปี ซัมมิต G7 เวทีแลกหมัดผู้นำโลก ความบาดหมางร้าวลึก และโอกาสทองของจีน appeared first on THE STANDARD.

]]>

ปิดฉากลงไปแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ที่รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าคว้าน้ำเหลวตามคาด เนื่องจากบรรดาผู้นำได้เปลี่ยนเวทีความร่วมมือและเวทีแสดงฉันทามติในจุดยืนที่มีต่อปัญหาสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ให้กลายเป็นสังเวียนทำสงครามน้ำลายระหว่างประเทศสมาชิก G7 จากมูลเหตุของสงครามการค้าที่จุดชนวนโดยสหรัฐฯ  

 

ภาพไวรัลภาพหนึ่งจากซัมมิต G7 ครั้งนี้ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียลมีเดีย เพราะสามารถสรุปเรื่องราวทั้งหมดของการประชุมปีนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ

 

เป็นภาพที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั่งกอดอกด้วยสีหน้าขึงขัง และถูกห้อมล้อมโดย อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่เอามือเท้าโต๊ะขณะยืนคุยกับทรัมป์อย่างเคร่งเครียด ขนาบข้างด้วย เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

 

ภาพดังกล่าวเป็นผลงานของเจสโก เดนเซล ช่างภาพของรัฐบาลเยอรมนี และเผยแพร่โดย สเตฟเฟน ไซเบิร์ต โฆษกประจำตัวของแมร์เคิล

 

จริงๆ แล้วในห้องประชุมนี้ยังมี จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา (ยืนด้านหลังทรัมป์) และ จูเซปเป คอนเต้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิตาลี (ยืนอยู่ด้านซ้ายของทรัมป์) แต่ทั้งสองไม่ปรากฏอยู่ในภาพ ขณะที่ข้างกายทรัมป์ยังมี แลร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาสูงสุดด้านเศรษฐกิจของทรัมป์ และจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติด้วย  

 

อะไรคือชนวนความบาดหมางล่าสุดภายในกลุ่ม G7

เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่บรรดาผู้นำ G7 จะลงนามในแถลงการณ์ร่วมในช่วงท้ายการประชุมเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กำลังเป็นกระแสหรืออยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

แต่ปีนี้ทรัมป์ได้ตัดสินใจออกจากที่ประชุมก่อนกำหนดเพื่อเดินทางไปร่วมประชุมซัมมิตกับคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือที่ประเทศสิงคโปร์ โดยทรัมป์ได้ปฏิเสธลงนามรับรองเนื้อหาของแถลงการณ์ร่วม G7 ซ้ำยังกำชับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ไม่ให้ลงนามแทนเขาด้วย

 

อันที่จริงแล้วปัญหาระหองระแหงระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (EU) แคนาดา และญี่ปุ่นได้สั่งสมมาระยะหนึ่งแล้ว นับตั้งแต่ทรัมป์ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2017 เริ่มจากทรัมป์วิจารณ์เยอรมนีและญี่ปุ่นว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลทุกปี นอกจากนี้ทรัมป์ยังฉีกข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เพื่อบีบแคนาดาและเม็กซิโกให้ตั้งโต๊ะเจรจาเงื่อนไขกับสหรัฐฯ ใหม่อีกครั้ง ตลอดจนการที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

 

ในประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐฯ และ EU ก็มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่สหรัฐฯ จัดทำขึ้นร่วมกับ 5 ชาติมหาอำนาจในยุคสมัยของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ถึงแม้ว่า EU จะเห็นดีเห็นงามกับข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้อิหร่านยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ แต่ทรัมป์กลับคัดค้านอย่างหนัก โดยอ้างว่าอิหร่านไม่จริงใจ และมองว่าข้อตกลงนี้มีเงื่อนไขจำกัดขอบเขตกิจกรรมทางนิวเคลียร์ของอิหร่านภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดเท่านั้น แต่ไม่มีกลไกห้ามปรามอิหร่านในการพัฒนาขีปนาวุธ ดังนั้นจึงไม่สามารถตรวจสอบและควบคุมได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะไม่สามารถหยุดยั้งอิหร่านไม่ให้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้จริง

 

นอกจากนี้ EU และแคนาดายังไม่พอใจที่สหรัฐฯ หันหลังให้กับความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ‘ข้อตกลงปารีส’ แถมยังแสดงความเห็นปัดความรับผิดชอบที่ว่าสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตัวการที่สำคัญของปัญหาโลกร้อน เพราะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่พอๆ กับจีน

 

ความกระด้างกระเดื่องที่ทรัมป์มีต่อกฎกติการะหว่างประเทศ ทำให้หลายประเทศในซีกโลกตะวันตกเกิดความเอือมระอา และฟางเส้นสุดท้ายก็ได้ขาดสะบั้นลง เมื่อสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีกับประเทศพันธมิตรและคู่ค้าเก่าแก่ โดยเรียกเก็บอากรขาเข้ากับเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และ EU ที่อัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศเหล่านี้เป็นอย่างมาก เพราะ EU แคนาดา และเม็กซิโก มียอดส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ รวมมูลค่าสูงถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2017

 

ไม่เพียงเท่านี้ ทรัมป์ยังขู่บนเวที G7 ด้วยว่าจะขยายขอบเขตมาตรการภาษีให้ครอบคลุมถึงสินค้าหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีและอิตาลี ประเทศผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก

 

แน่นอนว่ามาตรการด้านศุลกากรของทรัมป์ทำให้หลายประเทศอยู่นิ่งเฉยไม่ได้และต้องงัดกำแพงภาษีขึ้นมาตอบโต้สหรัฐฯ เช่นกัน โดยแคนาดาประกาศตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยมาตรการภาษี โดยจะเริ่มเก็บอากรขาเข้ากับสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในอัตรา 25% ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ครอบคลุมสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคตั้งแต่เมล็ดกาแฟคั่ว วิสกี้ ไปจนถึงโยเกิร์ต

 

ขณะที่ EU เตรียมตอบโต้ด้วยบัญชีขึ้นภาษีอากรสินค้ายาวเป็นหางว่าวจำนวน 10 หน้ากระดาษ ตั้งแต่ถั่วไปจนถึงยานัตถุ์

 

สารัตถะของแถลงการณ์ร่วม G7 ประจำปี 2018 คืออะไร

ด้วยบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร ส่งผลให้สหรัฐฯ และประเทศที่เหลือในกลุ่ม G7 ไม่สามารถรอมชอมกันได้ และทำให้ทรัมป์ตัดสินใจไม่ลงนามในแถลงการณ์ร่วม แม้ว่าอีก 6 ประเทศจะสนับสนุนแถลงการณ์ของที่ประชุมปีนี้ก็ตาม

 

สำหรับประเด็นการค้าซึ่งเป็นหนึ่งในวาระหลักของการประชุมครั้งนี้นั้น ทั้งแคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ต่างก็เห็นพ้องว่าทุกประเทศจำเป็นต้องส่งเสริมการค้าเสรี มีความยุติธรรม และมอบผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการต่อสู้กับนโยบายกีดกันทางการค้าของหลายประเทศ

 

นอกจากเรื่องการค้าแล้ว ที่ประชุม G7 ยังต้องการให้รัสเซียยุติพฤติการณ์ที่บั่นทอนเสถียรภาพในยุโรปและตะวันออกกลาง รวมถึงเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลังทหารออกจากซีเรีย และยุติการสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธเคมีเข่นฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์ แต่ทรัมป์กลับสวนกระแสโดยเรียกร้องให้ G7 เปิดประตูต้อนรับรัสเซียให้กลับเข้ามาเจรจาในกลุ่ม G8 อีกครั้ง

 

ส่วนประเด็นอิหร่านที่ถกเถียงกันมานานนั้น ในที่ประชุม G7 ครั้งนี้มี 6 ประเทศที่แสดงจุดยืนร่วมสร้างหลักประกันอย่างถาวรว่า โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านจะเป็นโครงการเพื่อสันติ

 

นอกจากนี้แถลงการณ์ร่วมยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ ที่ไม่ยอมลงนามในข้อตกลงช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน หลังจากทรัมป์ได้ประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสไปก่อนหน้านี้

 

ที่ประชุม G7 ยังเห็นพ้องที่จะจัดสรรงบประมาณจำนวน 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็กผู้หญิงและสตรีผู้ยากไร้ทั่วโลก

 

การแลกหมัดระหว่างผู้นำ

ถึงแม้การประชุม G7 จะปิดฉากลงแล้วด้วยการออกแถลงการณ์ร่วม แต่ทรัมป์ยังคงเปิดศึกกับบรรดาผู้นำอย่างไม่หยุดหย่อน เริ่มด้วยการวิจารณ์ถ้อยแถลงของนายกฯ จัสติน ทรูโด ในกรณีข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ และย้ำว่าแคนาดาเป็นฝ่ายผิดต่อสหรัฐฯ ก่อน โดยการตั้งกำแพงภาษีใส่เกษตรกร แรงงาน และบริษัทอเมริกัน

 

ทรัมป์ยังทวีตข้อความหลังเดินทางถึงสิงคโปร์ด้วยว่า การค้าที่เป็นธรรมถูกเรียกขานว่าการค้าแบบโง่ๆ แล้วในขณะนี้ เพราะนี่ไม่ใช่การค้าต่างตอบแทน เนื่องจากแคนาดามีรายได้สูงถึง 1 แสนล้านเหรียญจากการค้ากับสหรัฐฯ แต่จำนวนนี้เป็นเงินจากอากรนำเข้าผลิตภัณฑ์นมที่แคนาดากำหนดไว้สูงถึง 270%

 

อย่างไรก็ดี อัลเบิร์ต แคมป์ส รองนายกสมาคม Alberta Milk ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนเกษตรกรในรัฐแอลเบอร์ตาของแคนาดาออกมาโต้แย้งทรัมป์ว่า ในความเป็นจริงแล้ว แคนาดาอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์จากนมโดยที่ไม่ต้องเสียภาษีในสัดส่วน 10% แรก แต่ในทางตรงกันข้าม สหรัฐฯ กลับยกเว้นภาษีให้เพียง 3% แรกกับผลิตภัณฑ์นำเข้าหมวดเดียวกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเกิดความไม่สมดุลขึ้น

 

ขณะที่ คริสตา ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศของแคนาดาระบุว่า ข้ออ้างที่ทรัมป์ใช้ในการเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากแคนาดาเป็นเรื่องที่ไร้สาระและเป็นการดูหมิ่นคนแคนาดาอย่างโจ่งแจ้ง หลังทรัมป์อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงโดยระบุว่าการที่ประเทศจะมีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ได้จำเป็นต้องมีรายรับและรายจ่ายที่สมดุล

 

สงครามน้ำลายระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และแคนาดาเป็นไปอย่างดุเดือด หลัง ปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษานโยบายการค้าของทรัมป์ได้แสดงความเห็นกับ Fox News เมื่อวานนี้ว่า มีสถานที่พิเศษในนรกสำหรับผู้นำต่างชาติ หากพวกเขามีวิธีปฏิบัติในทางการทูตต่อทรัมป์แบบไม่น่าไว้ใจ และพยายามจะแทงข้างหลังในระหว่างที่เขาเดินออกจากห้องประชุม

 

ขณะที่ แลร์รี คุดโลว์ กล่าวเสริมว่า ทรูโดเป็นคนทรยศและหักหลังทรัมป์

 

การปะทะคารมกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และแคนาดาเป็นเรื่องที่เราพบเห็นไม่บ่อยครั้งนัก โดยนักวิเคราะห์มองว่าทรัมป์กำลังฉุดความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ดำดิ่งสู่ห้วงความขัดแย้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี

 

ล่าสุดทรูโดยืนยันว่าแคนาดาจะไม่ยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ ในเรื่องนี้อย่างแน่นอน และพร้อมเดินหน้าตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยกำแพงภาษีตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป

 

ไม่เพียงแค่ทรูโดเท่านั้น อังเกลา แมร์เคิล ก็ออกมากล่าวโจมตีทรัมป์และแสดงความผิดหวังที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ลงนามในแถลงการณ์ร่วมของ G7 โดยระบุว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าเศร้าสลด

 

ก่อนหน้านี้ เอ็มมานูเอล มาครง ได้เรียกร้องให้ 6 ประเทศในกลุ่ม G7 ร่วมมือกันต่อต้านนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐฯ โดยระบุว่าเป็นภัยคุกคามใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ กำลังใช้อิทธิพลครอบงำประเทศพันธมิตร

 

มาครงยังออกแถลงการณ์ร่วมกับทรูโดก่อนที่ซัมมิตจะเริ่มต้นขึ้นว่า ผู้นำ G7 ไม่ควรลดทอนความสำคัญของแถลงการณ์ร่วมด้วยการทำลายค่านิยมร่วมกันเพียงเพื่อจะเอาใจสหรัฐฯ ดังนั้นทุกประเทศจึงไม่ควรอ่อนข้อให้ทรัมป์

 

เปรียบเวที G7 กับ SCO ที่มีจีนเป็นหัวหอก

แม้องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO จะเป็นเวทีความร่วมมือที่แตกต่างจากกลุ่ม G7 แต่เนื่องจากสองเวทีจัดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน จึงทำให้หลายคนอดนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะในขณะที่ผู้นำ G7 ผลักดันแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือภายในกลุ่มอย่างทุลักทุเล แต่จีนกลับเฉิดฉายขึ้นมาในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมความเป็นเอกภาพขององค์การ SCO ในระหว่างการประชุมซัมมิต ณ เมืองชิงเต่า มณฑลซานตง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา  

 

SCO ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2001 ด้วยจุดประสงค์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงภายในกลุ่มประเทศยูเรเชีย ปัจจุบันมี 8 ประเทศสมาชิก ได้แก่ จีน, รัสเซีย, อินเดีย, ปากีสถาน, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน และอุซเบกิสถาน นอกจากนี้ยังมี 4 ประเทศผู้สังเกตการณ์ ประกอบด้วย มองโกเลีย, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน และเบลารุส และ 6 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ อาร์เมเนีย, อาเซอร์ไบจาน, กัมพูชา, เนปาล, ศรีลังกา และตุรกี

 

ในขณะที่ผู้นำ G7 ไม่สามารถบรรลุฉันทามติร่วมกันในเนื้อหาของแถลงการณ์จากที่ประชุม แต่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกลับสามารถเชิดชูจิตวิญญาณขององค์การ SCO ซึ่งให้ความสำคัญกับการแสวงหาความร่วมมือบนผลประโยชน์ร่วมกัน โดยละทิ้งปัญหาขัดแย้งไว้เบื้องหลัง

 

ในที่ประชุม SCO ยังมีมติรับรองเอกสารความร่วมมือ 17 ฉบับ ครอบคลุมแผนปฏิบัติการสำหรับปี 2018-2022 ว่าด้วยการปฏิบัติตามสนธิสัญญาความเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ดีและความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก SCO ในระยะยาว ตลอดจนโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการต่อต้านการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และลัทธิสุดโต่ง

 

นอกจากความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมแตกต่างจากเวที G7 แล้ว การปรากฏตัวของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย, นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดีย และประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานีของอิหร่าน ยังทำให้เวที SCO ดูมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในสายตาชาวโลก จนมีผู้คาดหวังว่าองค์การ SCO อาจมีบทบาทกำหนดทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจโลกในอนาคต

 

สีจิ้นผิงยังใช้เวที SCO ในการแสดงจุดยืนต่อต้านนโยบายเอกภาคนิยม และการกีดกันทางการค้า

 

“เราควรปฏิเสธแนวคิดการทำสงครามเย็นและการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มความร่วมมือต่างๆ และควรต่อต้านการกระทำที่มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงให้กับตนเองเพียงฝ่ายเดียวโดยแลกมาด้วยผลประโยชน์ของประเทศอื่นๆ” สีจิ้นผิงกล่าว

 

ถึงแม้สีจิ้นผิงจะไม่ได้เอ่ยชื่อสหรัฐฯ แต่มีความชัดเจนว่าเขาพยายามพาดพิงนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของโดนัลด์ ทรัมป์ และเรียกร้องให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีและสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง

 

นอกจากจุดยืนของกลุ่ม SCO ที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว จีนยังประสบความสำเร็จในการแสดงบทบาทคนกลางที่คอยประสานความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ โดยสามารถดึงผู้นำอินเดียและปากีสถาน ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อกันมาร่วมเจรจาในเวทีเดียวกัน ขณะที่จีนเองแม้ว่าจะไม่ถูกกับอินเดียนัก เพราะมีปัญหาพิพาทเรื่องดินแดนและการเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ก็สามารถแสดงให้โลกเห็นว่าจีนพร้อมจะทิ้งปัญหาขัดแย้งไว้เบื้องหลังเพื่อสานต่อความร่วมมือในมิติอื่นๆ ก่อน

 

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นเครื่องหมายคำถามว่า อนาคตของ G7 จะเป็นเช่นไร เพราะบทบาทในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลกของ G7 เริ่มเสื่อมถอยลงทุกขณะ สวนทางกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ในกลุ่ม SCO ที่มีสิทธิ์มีเสียงบนเวทีโลกมากขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งภายใน G7 ยิ่งทำให้กลุ่มอ่อนแอลงไปอีก ซึ่งอาจกลายเป็นโอกาสสำหรับกลุ่ม SCO ในการผงาดขึ้นมามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ   

 

อ้างอิง:

The post บทสรุปภาพแห่งปี ซัมมิต G7 เวทีแลกหมัดผู้นำโลก ความบาดหมางร้าวลึก และโอกาสทองของจีน appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/g7-summit-2018/feed/ 0
ทรัมป์เซ็นประกาศขึ้นภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมนำเข้า แต่แย้มอะลุ้มอล่วยให้ประเทศมิตรแท้ https://thestandard.co/trumps-steel-aluminum-tariffs-exempt-canada-mexico/ https://thestandard.co/trumps-steel-aluminum-tariffs-exempt-canada-mexico/#respond Fri, 09 Mar 2018 05:38:36 +0000 https://thestandard.co/?p=75925

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามในประกาศมาตร […]

The post ทรัมป์เซ็นประกาศขึ้นภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมนำเข้า แต่แย้มอะลุ้มอล่วยให้ประเทศมิตรแท้ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามในประกาศมาตรา 232 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากต่างประเทศ 25% และ 10% ตามลำดับ ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากประชาคมนานาชาติ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นชนวนให้เกิดสงครามการค้าทั่วโลก ล่าสุดประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเตรียมตอบโต้ด้วยมาตรการต่างๆ

 

การลงนามในประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมนำเข้าของทรัมป์ ถือเป็นสัญญาณหันหลังให้กับจุดยืนของสหรัฐฯ ที่ยึดถือมานานหลายสิบปี กับการส่งเสริมให้นานาชาติสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าที่เปิดกว้างและผ่อนคลายกฎระเบียบที่เข้มงวด

 

ทรัมป์ระบุว่า อเมริกาถูกบ่อนทำลายจากข้อปฏิบัติด้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากต่างชาติ และตนจะไม่รีรอผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้า สำหรับมาตรการภาษีใหม่นี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังจากที่ทรัมป์ลงนาม 15 วัน

 

“หลายประเทศปฏิบัติกับเราด้วยนโยบายการค้าที่เลวร้ายที่สุด แต่ในด้านการทหาร เราเรียกประเทศเหล่านี้ว่าชาติพันธมิตร” ทรัมป์กล่าวเหน็บแนม

 

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นประกาศขึ้นภาษีฉบับนี้จะยังไม่บังคับใช้กับประเทศแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับสหรัฐฯ และเป็นผู้ส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมรายใหญ่ของสหรัฐฯ โดยสองประเทศนี้อาจได้รับการยกเว้นถาวร หากสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ประสบความสำเร็จในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) รอบใหม่

 

ทั้งนี้แคนาดาถือเป็นแหล่งซัพพลายเออร์เหล็กรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในปี 2017 รองลงมาคือบราซิล เกาหลีใต้ รัสเซีย เม็กซิโก ญี่ปุ่น และเยอรมนี นอกจากนี้แคนาดายังเป็นผู้ส่งออกอะลูมิเนียมรายใหญ่สุดของสหรัฐฯ ตามมาด้วยจีน รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

 

อะลุ้มอล่วยให้ ‘มิตรแท้’

นอกจากแคนาดาและเม็กซิโกแล้ว ทรัมป์แย้มว่าเขาอาจจะอะลุ้มอล่วยให้กับประเทศที่เป็น ‘มิตรแท้’ ของสหรัฐฯ โดยหนึ่งในนั้นคือออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศหุ้นส่วนระยะยาวของสหรัฐฯ แต่ยังไม่ชัดเจนว่า ‘มิตรแท้’ ของทรัมป์หมายรวมถึงไทยด้วยหรือไม่

 

แต่กระนั้น มิตรแท้ในที่นี้อาจไม่รวมเยอรมนีและญี่ปุ่น ประเทศซึ่งทรัมป์วิจารณ์มาตลอดว่าทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลในแต่ละปี   

 

 

ปฏิกิริยาตอบโต้จากประเทศที่ได้รับผลกระทบ

เซซิเลีย มาล์มสตอร์ม กรรมาธิการด้านการค้าของสหภาพยุโรป (EU) ย้ำว่า ชาติสมาชิก EU ทั้งกลุ่มควรได้รับการยกเว้นจากกำแพงภาษีในฐานะพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ แต่ EU จะสอบถามความชัดเจนจากรัฐบาลทรัมป์อีกครั้งในเรื่องนี้

 

ขณะที่อังกฤษระบุว่าจะร่วมหารือกับประเทศใน EU เพื่อพิจารณาขอบข่ายการยกเว้นภาษี แต่ย้ำว่าการขึ้นภาษีไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาอุปทานเหล็กล้นตลาด

 

ด้านบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก ออกมาประกาศว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์แห่งชาติ เช่นเดียวกับจีนที่เตือนว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ด้วย ถึงแม้ว่าทรัมป์จะมีท่าทีที่ผ่อนปรนลง โดยเปิดทางให้มีการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาขาดดุลการค้าสะสม

 

ขณะที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 6 ของสหรัฐฯ ได้แสดงความเสียใจและผิดหวังกับมาตรการภาษีของทรัมป์ โดยทาโร โคโนะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นอย่างร้ายแรง อีกทั้งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกด้วย

 

อ้างอิง:

  • AFP

The post ทรัมป์เซ็นประกาศขึ้นภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมนำเข้า แต่แย้มอะลุ้มอล่วยให้ประเทศมิตรแท้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/trumps-steel-aluminum-tariffs-exempt-canada-mexico/feed/ 0
ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวพร้อมหน้าครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตัวเลขนี้บอกอะไร? https://thestandard.co/global-economy-2018/ https://thestandard.co/global-economy-2018/#respond Wed, 31 Jan 2018 04:04:45 +0000 https://thestandard.co/?p=66419

เศรษฐกิจทั่วโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 2017 […]

The post ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวพร้อมหน้าครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตัวเลขนี้บอกอะไร? appeared first on THE STANDARD.

]]>

เศรษฐกิจทั่วโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในปี 2017 ด้วยพลังขับเคลื่อนจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ ซึ่งเติบโตอย่างพร้อมหน้าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน

 

ข้อมูลจาก Conference Board องค์กรวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำของโลกระบุว่า ในปี 2017 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่ ทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ทั่วโลก ต่างก็มีอัตราขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ นำโดยสหรัฐอเมริกาที่เติบโตระดับ 2.3% ส่วนจีน ยักษ์เศรษฐกิจเบอร์ 2 ของโลกขยายตัว 6.6% ขณะที่ญี่ปุ่น แม้จะยังไม่หลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดก็ยังขยายตัวที่ระดับ 1.4%

 

ข้ามไปที่ยูโรโซน แม้เผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองในบางประเทศก็ยังเติบโตที่ระดับ 2.2% ขณะที่สหราชอาณาจักรที่กำลังดิ้นรนเจรจาแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ยังเติบโตที่ 1.5%

 

ประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่อื่นๆ ต่างก็ขยายตัวแบบไม่ยอมน้อยหน้าเช่นกัน ประกอบด้วย อินเดีย 6.2% รัสเซีย 1.8% และบราซิล 1% ซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่ม BRICS ขณะที่แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก ตุรกี และอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในกลุ่ม G20 ก็เติบโตที่ระดับ 2.5% 1.8% 2.7% 2.5% 4% และ 4.9% ตามลำดับ

 

 

การขยายตัวของประเทศเหล่านี้ดีต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร?

เราสามารถอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ได้ว่า ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ เป็นตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง อีกทั้งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานทักษะมหาศาล ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจดีย่อมกระตุ้นการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานและขยายกำลังการผลิตมากขึ้น และเมื่อคนมีรายได้มากขึ้นก็จะกระตุ้นการจับจ่ายเพื่อการบริโภค ด้วยเหตุนี้มูลค่าการค้าก็จะขยายตัวตามไปด้วย ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็จะได้รับประโยชน์จากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นเช่นกัน

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวถึง 3.9% ในปี 2018 และปี 2019 จากระดับ 3.7% ในปี 2017 และ 3.2% ในปี 2016 แต่อัตราการเติบโตดังกล่าวยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2008 ซึ่งในเวลานั้นเติบโตในอัตราสูงกว่า 4%

 

 

ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ

แม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในทิศทางเติบโตอย่างสดใสในปีนี้ แต่หลายประเทศยังคงเผชิญกับปัญหาท้าทายและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ไปจนถึงสงครามการค้า ซึ่งอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ

 

ที่ประชุม World Economic Forum (WEF) 2018 ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเพิ่งปิดฉากไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ออกรายงานเตือนถึงปัญหาความขัดแย้งต่างๆ โดย 93% ของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมีความกังวลเกี่ยวกับการเผชิญหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจ ขณะที่ 79% วิตกสถานการณ์ตึงเครียดในพื้นที่สู้รบในหลายประเทศ และ 73% กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่หลายประเทศจะฝ่าฝืนกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากกระแสชาตินิยมและการปกป้องการค้ากำลังมาแรง

 

 

นอกจากนี้รายงานของ WEF ยังเตือนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ภัยคุกคามจากการโจมตีทางไซเบอร์ และปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย

 

ขณะที่สหประชาชาติ (UN) ได้เตือนในรายงาน World Economic Situation and Prospects 2018 ว่า ถึงแม้ลมมรสุมจากวิกฤตการเงินทั่วโลกจะอ่อนกำลังลงแล้ว แต่บรรดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ ควรหันมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาระยะยาวที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  

 

นอกจากนี้ UN ยังแนะให้ประเทศต่างๆ เรียนรู้บทเรียนจากอดีตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ซ้ำรอยดังเช่นที่เกิดวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2008-2009 และวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรประหว่างปี 2010-2012     

 

 

แม้เศรษฐกิจโลกขยายตัว แต่ยังกระจายความเจริญไม่ทั่วถึง

UN ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และในปีที่แล้ว เศรษฐกิจโลกยังได้อานิสงส์จากรัสเซีย บราซิล อาร์เจนตินา และไนจีเรียที่ฟื้นตัวจากภาวะถดถอยตามวงจรทางเศรษฐกิจ แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว การเติบโตของรายได้ยังคงกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ประเทศและภูมิภาค ขณะที่หลายพื้นที่ทั่วโลกยังคงประสบปัญหายากจน และประชากรมีรายได้ต่ำ  

 

 

นโยบายของสหรัฐฯ มีผลต่อเศรษฐกิจโลก

สำหรับสหรัฐฯ ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกยังคงมีปัญหาท้าทายรออยู่ในปีนี้เช่นกัน แม้ว่ากฎหมายปฏิรูประบบภาษีที่ผลักดันโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันจะสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยให้ประเทศอื่นๆ พลอยได้อานิสงส์จากการค้าและการลงทุนที่ขยายตัวตามไปด้วย แต่ Moody’s สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกเตือนว่า กฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในกรอบที่จำกัดเท่านั้น เนื่องจากบริษัทนอกภาคการเงินจำนวนมากมีแนวโน้มไม่นำเงินจากการลดหย่อนภาษีไปลงทุนเพิ่ม นอกจากนี้ Moody’s ยังเตือนความเสี่ยงเกี่ยวกับหนี้สาธารณะและหนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลท้องถิ่นด้วย

 

ขณะเดียวกันธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ยังมีความท้าทายในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อไปสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ในขณะที่ตลาดแรงงานอยู่ในภาวะการจ้างงานที่ใกล้เต็มศักยภาพ

 

รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ไว้ที่ 3% ในปีนี้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีโอกาสเป็นไปได้ไม่มาก เว้นเสียจากว่าทรัมป์จะสามารถผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพตามมาอีกในปีนี้ โดยเฉพาะการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ขณะที่ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะขยายตัว 2.7% ในปี 2018

 

แต่นโยบายปกป้องการค้าของทรัมป์อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลก โดยในปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้ถอนตัวจากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ส่งผลให้บรรยากาศการค้าโลกตกอยู่ในความอึมครึม ดังนั้นท่าทีของทรัมป์ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศและการค้าหลังจากนี้ จึงเป็นตัวกำหนดทิศทางการค้าโลกด้วย เพราะประเทศพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มักปรับนโยบายหรือยุทธศาสตร์ตาม

 

 

จีน กับปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นและความเสี่ยงเกิดวิกฤตการเงินระลอกใหม่

เศรษฐกิจจีนมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงในช่วงหลัง ในขณะที่รัฐบาลมุ่งหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจโดยหันไปพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี จีนยังคงเผชิญปัญหาหนี้สินที่ก่อโดยรัฐบาลท้องถิ่น และปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

 

ข้อมูลจากกระทรวงการคลังจีนระบุว่า หนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวสู่ระดับ 16.47 ล้านล้านหยวน (2.56 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจุดกระแสความกังวลว่าจะเกิดวิกฤตการเงินครั้งใหม่ในจีน โดย IMF ประมาณการว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของจีนได้ขยายตัวถึงระดับ 234% ของ GDP ในปี 2016

 

 

นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังออกมาตรการควบคุมความร้อนแรงของตลาดที่อยู่อาศัยตามเมืองใหญ่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า จีนกำลังปวดหัวกับการแก้ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน

 

แต่การที่จีนส่งเสริมนโยบายการค้าเสรีทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีจะสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ขยายตัวมากขึ้น แม้ว่าหลายฝ่ายจะออกมาเรียกร้องให้จีนเปิดกว้างมากขึ้นก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจีนต้องขบคิดต่อไป เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีมาตรการควบคุมตลาดทุนอย่างเข้มงวด และมักใช้เครื่องมือแทรกแซงตลาดการเงินอยู่เสมอ

 

 

ความไม่แน่นอนและปัญหาขัดแย้งทางการเมือง อาจทำให้ยุโรป ‘สะดุด’     

การที่เศรษฐกิจยูโรโซนยังอยู่ในทิศทางการขยายตัวอย่างมั่นคง ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจพิจารณาถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วน หลังจากที่ดำเนินการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และคงอัตราดอกเบี้ยติดลบมานาน 3 ปี

 

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองในยุโรป โดยเฉพาะกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลสเปนกับแคว้นกาตาลุญญาที่พยายามแยกตัวเป็นเอกราช ตลอดจนปัญหาความไม่แน่นอนของกระบวนการ Brexit และการเมืองที่ไม่ค่อยมีเสถียรภาพในเยอรมนี อาจบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาคและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

 

 

ญี่ปุ่น กับการขยายบทบาทเป็นหมุดเชื่อมการค้าระหว่างประเทศ

แม้ญี่ปุ่นยังคงถูกรุมเร้าจากภาวะเงินฝืดที่ดำเนินมานานนับทศวรรษ แต่รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ยังคงใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า ‘อาเบะโนมิกส์’ เพื่อรักษาอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์คือการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ รวมทั้งอาสาเป็นผู้สานต่อความตกลง TPP ในยามที่ไร้หัวเรือใหญ่อย่างสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังพยายามจับมือเป็นพันธมิตรกับอินเดีย ประเทศคู่แข่งของจีน และเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น เพื่อคานอำนาจจีนและขยายอิทธิพลในภูมิภาคไปพร้อมกัน

 

แต่ในประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีปัญหาหนักอกในการกระตุ้นภาคการบริโภคของประชาชน โดยที่ผ่านมานายกฯ อาเบะ พยายามเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจในญี่ปุ่นปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ยังไม่เป็นผล

 

ในภาพรวม แม้เศรษฐกิจโลกจะอยู่ในทิศทางการเติบโตอย่างสดใสในปีนี้ แต่ปัจจัยเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี วิกฤตความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป อาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับนโยบายกีดกันการค้าของหลายประเทศที่เป็นผลมาจากการขยายตัวของกระแสชาตินิยมทั่วโลก ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความกังวลด้วย

 

อย่างไรก็ดี UN คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะสามารถประคับประคองการขยายตัวที่ระดับ 3% ในปีนี้ได้ ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่มีอยู่มากมาย

 

Cover Photo: Karin Foxx

Photo: AFP

อ้างอิง:

The post ยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวพร้อมหน้าครั้งแรกในรอบ 10 ปี ตัวเลขนี้บอกอะไร? appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/global-economy-2018/feed/ 0
‘สีจิ้นผิง’ กับ ‘อำนาจละมุน’ และทิศทางนโยบายปี 2018 ที่โลกห้ามกะพริบตา https://thestandard.co/2018-year-of-xi-jinping-china-soft-power/ https://thestandard.co/2018-year-of-xi-jinping-china-soft-power/#respond Wed, 13 Dec 2017 06:49:12 +0000 https://thestandard.co/?p=54853

ปี 2017 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ภูมิทัศน์การเมืองโลกมีการเป […]

The post ‘สีจิ้นผิง’ กับ ‘อำนาจละมุน’ และทิศทางนโยบายปี 2018 ที่โลกห้ามกะพริบตา appeared first on THE STANDARD.

]]>

ปี 2017 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ภูมิทัศน์การเมืองโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก สหรัฐอเมริกาและยุโรปถดถอยลงจากปัญหาการเมืองภายใน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารประเทศปีแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจที่มุ่งเน้น ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ พร้อมกับลดบทบาทความเป็นผู้นำโลกบนเวทีความร่วมมือระดับนานาชาติโดยพฤตินัย ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ในยุโรปทั้งอังกฤษ เยอรมนี และสเปน ต่างก็เผชิญปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและความไม่แน่นอนต่างๆ ที่บั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาค

 

 

ในปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าสีจิ้นผิงได้นำพาจีนผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นบนเวทีโลก ขณะที่หลายๆ นโยบายของจีนได้รับความสนใจและถูกจับตาจากประชาคมโลกมากขึ้นในฐานะทางเลือกใหม่ เพราะสหรัฐฯ ได้กลับจุดยืนที่มีต่อนโยบายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในระดับพหุภาคี โดยหนึ่งในนั้นคือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ดังนั้นโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ทางบกและทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ Belt & Road ในดำริของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจึงเฉิดฉายขึ้นและถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา

 

สีจิ้นผิงหมายมั่นปั้นมือว่าจะผลักดันโครงการ Belt & Road ให้สำเร็จลุล่วงโดยการสร้างโครงข่ายระบบคมนาคมขนาดมหึมา ทั้งทางรถไฟความเร็วสูง ถนน ท่าเรือ และระบบการสื่อสารที่จะเชื่อมต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเอเชีย รวมทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ไปจนถึงยุโรป

 

หากจีนทำสำเร็จ ย่อมตีตราผลงานของรัฐบาลและแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของจีนที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีโลก พร้อมกับยกระดับจีนสู่การเป็นมหาอำนาจเต็มตัวทัดเทียมกับสหรัฐฯ นอกจากนี้โครงการ Belt & Road ยังเป็นช่องทางขับเคลื่อน ‘อำนาจละมุน’ ของจีน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สีจิ้นผิงใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อให้จีนก้าวมาขึ้นเป็นมหาอำนาจและเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก

 

 

อำนาจละมุนคืออะไร? เหตุใดสีจิ้นผิงจึงผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

อำนาจละมุนไม่ใช่ของแปลกใหม่สำหรับการกำหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทั่วโลก ผู้ที่คิดค้นทฤษฎีและใช้คำว่า Soft Power หรืออำนาจละมุน คนแรกคือโจเซฟ เอส. ไน จูเนียร์ (Joseph S. Nye Jr.) นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเขานิยามคำว่าอำนาจละมุนไว้ในหนังสือ Bound to Lead: The Changing Nature of American Power ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1990 ว่าเป็นความสามารถของประเทศหนึ่งในการโน้มน้าวให้ประเทศอื่นต้องการในสิ่งที่ตนต้องการด้วยเครื่องมือทางวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง หรือนโยบายต่างประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับอำนาจกระด้าง หรือ Hard Power ที่ชักจูงด้วยอิทธิพลหรือใช้กำลังบังคับให้ทำในสิ่งที่ตนต้องการ  

 

สีจิ้นผิงเคยกล่าวไว้ว่า การก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจในทุกมิติคือ ‘ความฝัน’ ของคนจีนทั้งประเทศ หรือที่เรียกว่า ‘จงกั๋วม่ง’ อย่างไรก็ตาม การที่จีนมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ กลับสร้างความหวาดระแวงให้กับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาพิพาทเรื่องดินแดนกับจีน หลายประเทศหวั่นเกรงว่า จีนพยายามแผ่อิทธิพลครอบงำภูมิภาคเพื่อสร้างอำนาจต่อรองการเจรจาในประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งส่งผลให้การผลักดันนโยบายระหว่างประเทศของจีนถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่ามีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองหรือไม่

 

ดังนั้นสีจิ้นผิงจึงให้ความสำคัญกับการใช้อำนาจละมุนเป็นพิเศษ เพื่อปรับภาพลักษณ์ใหม่ของจีนในฐานะประเทศที่ผงาดขึ้นมาอย่างสันติและเป็นผู้นำโลกที่มีบทบาทสร้างสรรค์ โดยนโยบายที่จีนผลักดันในช่วงหลังล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงค่านิยมใหม่ของจีน เช่น การรับบทบาทเป็นผู้นำในการรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อน รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง และผลักดันโครงการแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ โดยสีจิ้นผิงมองว่า การเผยแพร่วัฒนธรรมและส่งเสริมค่านิยมจีนแบบใหม่จะช่วยขยายอิทธิพลของจีนจนเป็นที่ยอมรับอย่างยั่งยืนมากกว่าการใช้อำนาจดิบแบบ Hard Power   

 

สำหรับสีจิ้นผิงแล้ว เขาเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ในปี 2014 ว่า “เราควรเพิ่มอำนาจละมุนของจีนเพื่อส่งข้อความจากจีนถึงชาวโลกให้ดียิ่งขึ้น” และเขาก็ได้ประกาศปณิธานอันแน่วแน่ในการส่งเสริมค่านิยมทางการเมืองแบบสังคมนิยมตามโมเดลจีนสมัยใหม่ในระหว่างพิธีปิดการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเขาจะยังคงยึดมั่นแนวทางการพัฒนาประเทศและขยายอิทธิพลของจีนด้วยอำนาจละมุนต่อไป   

 

 

การปะทะระหว่าง Hard Power ของโดนัลด์ ทรัมป์ และ Soft Power ของสีจิ้นผิง

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่งประมุขแห่งทำเนียบขาวในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาได้ชูนโยบายที่แข็งกร้าวต่อบรรดาประเทศที่เขาเห็นว่าเอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ หรือทำให้ชาวอเมริกันสูญเสียผลประโยชน์ พร้อมกดดันประเทศต่างๆ ให้ปฏิบัติตามกฎกติกาใหม่ที่สหรัฐฯ กำหนดขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐฯ กำลังใช้อำนาจแบบ Hard Power เพื่อทวงความยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ กลับคืนมาอีกครั้ง ดังสโลแกนที่ทรัมป์ใช้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งว่า ‘Make America Great Again’  

 

จุดยืนด้านนโยบายต่างประเทศของทรัมป์จึงแตกต่างจากนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดก่อนๆ ทั้งของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และบิล คลินตัน ที่ให้ความสำคัญกับ Soft Power ในการกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศเป็นสำคัญ

 

ในรอบปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ผลักดันนโยบายที่มีลักษณะกีดกันเชื้อชาติและปกป้องการค้า เช่น ออกคำสั่งห้ามผู้อพยพชาวมุสลิมจากหลายประเทศไม่ให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ และผลักดันโครงการสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก รวมถึงล้มโต๊ะเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ขณะที่นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่านโยบายของทรัมป์ในปีหน้าไม่น่าที่จะผิดแปลกไปจากเดิมมากนัก

 

ดังนั้น ปี 2018 จึงเป็นปีที่อำนาจ Hard Power ของทรัมป์จะปะทะกับ Soft Power ของสีจิ้นผิงอย่างเด่นชัดมากขึ้น โดยคาดกันว่าหลังจากที่สีจิ้นผิงได้รับการรับรองในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติของจีนให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนต่ออีกสมัยในช่วงต้นปีหน้าแล้ว เขาก็เตรียมที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามแนวทางสังคมนิยมแบบจีนต่อไป พร้อมกับเชิดชูค่านิยมการเมืองแบบจีนให้โลกประจักษ์ว่า ประเทศต่างๆ ก็สามารถประสบความสำเร็จตามอย่างจีนด้วยโมเดลที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้ สีจิ้นผิงยังเตรียมสานต่อบทบาทการส่งเสริมความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมกับนานาประเทศต่อไป

 

น่าสนใจว่าการที่จีนผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นในช่วงปีที่ผ่านมาและมีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นจะบีบให้สหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อแก้เกมหรือกลับมาคานอำนาจจีนหรือไม่?

 

ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันต่อไป       

  

Photo: AFP

อ้างอิง:

The post ‘สีจิ้นผิง’ กับ ‘อำนาจละมุน’ และทิศทางนโยบายปี 2018 ที่โลกห้ามกะพริบตา appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/2018-year-of-xi-jinping-china-soft-power/feed/ 0
ทรัมป์ส่งสัญญาณ สหรัฐฯ อาจถอนตัวจาก NAFTA https://thestandard.co/trump-warned-tough-talks-lie-ahead-on-the-future-of-nafta/ https://thestandard.co/trump-warned-tough-talks-lie-ahead-on-the-future-of-nafta/#respond Thu, 12 Oct 2017 04:32:28 +0000 https://thestandard.co/?p=34158

         จัสติน ทรูโด (Justin […]

The post ทรัมป์ส่งสัญญาณ สหรัฐฯ อาจถอนตัวจาก NAFTA appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

 

     จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีของเเคนาดาเดินทางเข้าพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงที่มีความยุติธรรมมากขึ้นสำหรับทุกประเทศสมาชิกในความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement: NAFTA) ภายหลังจากทรัมป์มีแนวโน้มที่จะถอนตัวออกจากความร่วมมือไตรภาคีนี้และหันไปสนับสนุนข้อตกลงแบบทวิภาคีแทน

     ผู้นำของทั้งสองประเทศพบกันในการเจรจาข้อตกลงทางด้านการค้า NAFTA รอบที่ 4 ที่จัดขึ้นนอกเมืองหลวงของสหรัฐฯ โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็น ผู้นำเข้า-ส่งออกสินค้า นักธุรกิจ แรงงาน นักวางแผนนโยบาย และนักกฎหมายจากทั้ง 3 ประเทศเข้าร่วมหารือ โดยนายทรูโดยังคงเชื่อมั่นใน NAFTA และเรียกร้องให้ความร่วมมือไตรภาคีนี้ยังดำเนินต่อไป เขายังเชื่อว่าในท้ายที่สุดความตกลงนี้จะจบลงด้วย win-win-win

 

 

     ด้าน โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า “เราต้องปกป้องแรงงานของพวกเรา และเพื่อความยุติธรรม นายกรัฐมนตรีทรูโดเองเขาก็ต้องการปกป้องแคนาดาและคนของประเทศเขาเหมือนกัน แล้วเราจะได้เห็นว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับ NAFTA”

     นอกจากนี้เขายังเน้นย้ำว่า “ผมต่อต้านความตกลง NAFTA มานานแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของความยุติธรรม และเราจะพูดคุยในประเด็นนี้กัน ผมคิดว่านายกฯ ทรูโดคงเข้าใจว่า ถ้าหากพวกเราไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ มันอาจจะถึงเวลาที่ต้องยุติลง”

     “NAFTA คือความเลวร้ายสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศนี้ พวกเราต้องสูญเสียธุรกิจรถยนต์จำนวนมากให้แก่เม็กซิโก NAFTA อาจจะต้องยุติลง ถ้าหากเรากำลังทำสิ่งที่เป็นผลดี (ต่อประเทศของเรา) มิฉะนั้นผมมั่นใจเลยว่า คุณจะไม่มีทางเจรจาตกลงผลประโยชน์ที่เป็นผลดีต่อประเทศของคุณได้เลย”

     ขณะที่นายลูอิส วิเดกาเรย์ (Luis Videgaray) รัฐมนตรีต่างประเทศเม็กซิโก ออกมากล่าวแสดงความเห็น ภายหลังจากที่รับทราบถึงสัญญาณเตือนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ว่า การจบลงของความร่วมมือไตรภาคี NAFTA อาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ และเม็กซิโก รวมถึงปฏิบัติการร่วมกันในการต่อสู้กับการลักลอบค้ายาเสพติดตามแนวพรมแดนของทั้งสองประเทศอีกด้วย

 

 

     ถ้าการตัดสินใจที่ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกไตรภาคี NAFTA ที่มีมากว่า 23 ปีเกิดขึ้นจริง  NAFTA จะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศฉบับที่ 3 ที่ประธานาธิบดีหัวการค้าของสหรัฐฯ ตัดสินใจนำพาประเทศออกจากการเป็นภาคี

     หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ตัดสินใจนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงไว้ในสมัยโอบามาแล้วถึง 2 ฉบับ นั่นคือการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของ ‘ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP)’ และ ‘ความตกลงปารีส (Paris Agreement)’

     ต้องจับตาดูกันว่า ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา จะลงเอยและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

The post ทรัมป์ส่งสัญญาณ สหรัฐฯ อาจถอนตัวจาก NAFTA appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/trump-warned-tough-talks-lie-ahead-on-the-future-of-nafta/feed/ 0