Muhammad Yunus – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 09 Aug 2024 10:32:41 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 มูฮัมหมัด ยูนุส จากผู้ชนะโนเบลสันติภาพ สู่ผู้นำรัฐบาลรักษาการบังกลาเทศ https://thestandard.co/muhammad-yunus-peace-nobel/ Fri, 09 Aug 2024 10:32:11 +0000 https://thestandard.co/?p=969470 มูฮัมหมัด ยูนุส

มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ผู้ชนะรางวัลโนเบล สาขา […]

The post มูฮัมหมัด ยูนุส จากผู้ชนะโนเบลสันติภาพ สู่ผู้นำรัฐบาลรักษาการบังกลาเทศ appeared first on THE STANDARD.

]]>
มูฮัมหมัด ยูนุส

มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ผู้ชนะรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ วัย 84 ปี สาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษารัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศ โดยรับหน้าที่นำพาเสถียรภาพกลับสู่ประเทศ ภายหลังเกิดวิกฤตประท้วงครั้งใหญ่ ที่ทวีความรุนแรงจนทำให้ ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรี ต้องลาออกและลี้ภัยไปยังอินเดีย

 

การรับตำแหน่งของยูนุสมีขึ้นท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากกลุ่มผู้ประท้วง โดยเขามีบทบาท ทั้งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ประกอบการ นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และเป็นหนึ่งในผู้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของฮาสินา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปกครองประเทศแบบเผด็จการตลอดหลายปีที่ผ่านมา

 

ขณะที่ยูนุสประกาศภายหลังสาบานตนว่า ภารกิจแรกของเขาคือ ‘การฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบ’ พร้อมเน้นย้ำว่า “ความเกลียดชังและความไม่เคารพกฎระเบียบ เป็นศัตรูของประชาธิปไตย”

 

สำหรับประวัติของยูนุส เขาเป็นบุตรคนที่ 1 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน โดยเกิดในครอบครัวพ่อค้าชาวมุสลิมในเมืองจิตตะกอง ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งของบังกลาเทศ

 

เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธากา (Dhaka University) และได้รับทุนฟูลไบรท์ ศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ (Vanderbilt University) ในสหรัฐฯ

 

ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘นายธนาคารเพื่อคนจน’ จากการก่อตั้งธนาคาร Grameen Bank ในปี 1983 และริเริ่มแนวคิดสินเชื่อรายย่อยเพื่อช่วยคนยากไร้ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และสนับสนุนสตรีชาวบังกลาเทศในการสร้างอาชีพ

 

โครงการของเขาประสบความสำเร็จอย่างมาก ขนาดที่ว่าแม้แต่ขอทานก็สามารถกู้สินเชื่อได้ และปัจจุบันมีลูกค้ามากกว่า 9 ล้านคน

 

ความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้ยูนุสและ Grameen Bank ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2006 จากผลงานในการ ‘สร้างการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมจากล่างขึ้นบน’

 

อย่างไรก็ตาม เขากลายเป็นปฏิปักษ์กับฮาสินา อดีตนายกรัฐมนตรี จากการประกาศตั้งพรรค Citizen Power ในปี 2007 ซึ่งฮาสินากล่าวหาว่าเป็นกลุ่มการเมืองที่อันตราย และโจมตียูนุสว่าสูบเลือดจากคนจน โดยรัฐบาลของเธอยังสั่งปลดเขาจากตำแหน่งผู้บริหาร Grameen Bank ในปี 2011

 

หลายปีหลังจากนั้น ยูนุสต้องเข้าไปพัวพันกับหลายคดีความ ซึ่งผู้สนับสนุนเขามองว่า เป็นการพุ่งเป้าดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม โดยเผชิญทั้งข้อหายักยอกเงินบริษัท ทุจริตภาษี ละเมิดกฎหมายแรงงาน และล่าสุดคือข้อหาฉ้อโกงที่ถูกฟ้องในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่รัฐบาลฮาสินายืนยันว่า การดำเนินคดีต่อยูนุส ไม่ได้เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง

 

มูฮัมหมัด ยูนุส

 

ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล

อ้างอิง:

The post มูฮัมหมัด ยูนุส จากผู้ชนะโนเบลสันติภาพ สู่ผู้นำรัฐบาลรักษาการบังกลาเทศ appeared first on THE STANDARD.

]]>
คนกลุ่มเล็กๆ เปลี่ยนโลกได้ เมื่อไทยเคยต้องสู้กับ HIV https://thestandard.co/hiv-small-group-changed-world-thailand-fought/ Fri, 10 May 2024 08:07:08 +0000 https://thestandard.co/?p=931988 HIV

“อย่าสงสัยเลยว่าคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีวิจารณญาณและมีความมุ่ […]

The post คนกลุ่มเล็กๆ เปลี่ยนโลกได้ เมื่อไทยเคยต้องสู้กับ HIV appeared first on THE STANDARD.

]]>
HIV

“อย่าสงสัยเลยว่าคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีวิจารณญาณและมีความมุ่งมั่นสามารถจะเปลี่ยนโลกได้ ในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาก็เป็นไปเช่นนี้” วาทะกระเดื่องโลกของ มาร์กาเรต มี้ด นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ประโยคนี้ถูกนำไปเอ่ยอ้างกันทั่วโลก

 

บังกลาเทศเป็นประเทศยากจนที่ประชาชนมีความลำบากยากเข็ญอยู่แล้ว เมื่อประสบทุพภิกขภัยร้ายแรงในปี 2517 ยิ่งซ้ำเติมชาวบ้านให้เผชิญความลำเค็ญแสนสาหัส

 

มูฮัมหมัด ยูนุส ในเวลานั้นเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันการศึกษาไม่ไกลจากหมู่บ้านโจบรา ทำให้เขาและเพื่อนๆ สัมผัสความยากจนของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด พวกเขาเห็นว่าการปล่อยเงินกู้ในหมู่บ้านของเจ้าหนี้เงินกู้เป็นการรีดเลือดกับปู เหมือนนายทาสกระทำต่อทาส ที่มีเงื่อนไขสุดแสนหฤโหด

 

ยูนุสเห็นและตระหนักในปัญหา จึงนำเงินในกระเป๋าตนเองออกมาให้ชาวบ้านกู้ยืมไปเป็นทุนสร้างรายได้โดยไม่คิดดอกเบี้ย นี่คือจุดก่อเกิดธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ธนาคารคนจนในเวลาต่อมา

 

ในขณะที่ธนาคารทั้งหลายเชื่อว่าคนจนเป็นลูกหนี้ที่วางใจไม่ได้ แต่ธนาคารกรามีนสร้างประวัติศาสตร์ให้โลกรู้ว่าผู้หญิงที่ยากจน สามารถกู้หนี้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันใดๆ ซึ่งจะให้กู้แก่สตรีหรือชาวบ้านที่ยากจนเกินกว่าจะมีคุณสมบัติพอที่จะกู้จากธนาคารทั่วไป แต่แล้วกลับปรากฏว่าสตรีชาวบ้านที่กู้เงินมีเครดิตดียิ่ง มีความรับผิดชอบในการใช้หนี้คืนสูงมากกว่า 99% นับเป็นสัดส่วนสูงกว่าการชำระคืนของลูกหนี้ร่ำรวยส่วนใหญ่อีกด้วย

 

ระบบการเงินแบบจุลภาคหรือไมโครไฟแนนซ์ที่ยูนุสเริ่มขึ้นกระจายไปทั่วโลก ส่วนใหญ่จะทำผ่านองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) จนธนาคารโลก, กองทุน IMF และสหประชาชาติ หันมาสนับสนุนโครงการทางการเงินแบบมีส่วนร่วมของเขา

 

ยูนุสชี้ว่า “ธนาคารกรามีนที่ผมก่อตั้งขึ้นในบังกลาเทศประเทศบ้านเกิดของผมเมื่อปี 2519 ช่วยให้บรรดาชาวบ้านในระดับหมู่บ้านที่ยากจน โดยเฉพาะบรรดาผู้หญิง เข้าถึงเงินทุนได้ นับแต่นั้นมาไมโครเครดิตได้ปลดปล่อยศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการของผู้คนยากจนกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกออกมาให้เห็น ช่วยทำลายห่วงโซ่แห่งความยากจนและการฉกฉวยประโยชน์ซึ่งเคยกดพวกเขาลงเป็นทาสได้สำเร็จ” (หนังสือ โลกสามศูนย์ (A World of Three Zeros) by Muhammad Yunus)

 

ทำให้ในปี 2549 ยูนุสผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะเป็นผู้ที่มีความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง

 

ยูนุสและกลุ่มเพื่อนๆ ตัดสินใจและลงมือทำในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เลยที่คนยากจนจะมีแรงกำลังใช้หนี้คืนในวันเวลาที่สัญญากันไว้ นี่เป็นการคิดนอกกรอบ เป็นการคิดในสิ่งที่คนอื่นไม่คาดคิดกัน แล้วก็ประจักษ์ว่าสิ่งที่ไม่คาดคิดเป็นเรื่องที่สามารถทำให้เป็นไปได้

 

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับการก่อเกิดธนาคารกรามีนในบังกลาเทศ

 

ที่ประเทศไทย คุณมีชัย วีระไวทยะ เศรษฐกรหนุ่มแห่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เดินทางไปชนบททั่วประเทศเพื่อประเมินผลโครงการพัฒนาต่างๆ ว่าสำเร็จผลมากน้อยเพียงไร อย่างไร

 

“สิ่งที่ผมเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ว่าจะเดินทางไปแห่งหนใด จะเห็นเด็กจำนวนมากมายเหลือเกิน มีวัยรุ่นอุ้มเด็กทารกคนหนึ่งหรือสองคน ในขณะที่ลูกคนโตก็เกาะผ้าถุงแม่ เมื่อถามว่า ‘มีลูกกี่คน’ คำตอบที่ได้คือเจ็ดบ้าง สิบบ้าง ด้วยสามัญสำนึกบอกผมว่าการที่ประชากรมีมากล้น มีผลกระทบทางลบในการพัฒนา” (หนังสือ ไผ่นอกกอ ชีวิตและงานของ มีชัย วีระไวทยะ โดย สนธิ เตชานันท์ เรียบเรียง)

 

สามัญสำนึกและความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากฐานล่างคือชุมชน ไม่ใช่เริ่มจากข้างบนที่เป็นระบบราชการ ทำให้คุณมีชัย วีระไวทยะ กับเพื่อนๆ เช่น คุณธวัชชัย ไตรทองอยู่, คุณสุธา ชัชวาลวงศ์, คุณประวีณ พยับวิภาพงศ์ ร่วมกันตั้งสำนักงานบริการวางแผนครอบครัว ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (Population and Community Development Association: PDA) เป็นการนับหนึ่งในการรณรงค์เพื่อลดอัตราเกิดของประชากรซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ด้านหนึ่งต้องทำให้รัฐบาลตระหนักในปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากร อีกด้านหนึ่งต้องรณรงค์ให้สตรีในชนบททั่วประเทศเปลี่ยนแปลงทัศนคติให้เห็นว่ามีลูกมากจะยากจน และแล้วความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ก็พรั่งพรูออกมาเป็นปฏิบัติการวางแผนครอบครัวที่เป็นจริง

 

ถุงยางอนามัยที่คนไทยรู้สึกตะขิดตะขวงใจในการแตะต้องสัมผัส นำมาใช้เป่าลูกโป่งแข่งขันกันของครูและเด็กนักเรียน ในที่ประชุมระหว่างชาติที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ คุณมีชัยเอาถุงยางอนามัยไปแจกผู้ร่วมประชุม คุณมีชัยเข้าไปแจกถุงยางอนามัยถึงสถานบันเทิงที่ถนนพัฒน์พงศ์อย่างเอิกเกริก กลายเป็นข่าวในสื่อมวลชนจนสื่อตั้งชื่อถุงยางอนามัยว่า ‘ถุงยางมีชัย’ ซึ่งคุณมีชัยต้อนรับฉายานี้ไว้ด้วยความยินดี ทำให้ผู้คนคุ้นเคยกับอุปกรณ์ชนิดนี้ว่าเป็นของธรรมดาที่ใช้กันได้เป็นปกติภายในครอบครัว

 

นี่คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติอย่างสำคัญควบคู่กันไปกับถุงยางอนามัยคือการจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิด แผงละ 28 เม็ด เท่ากับจำนวนวันของสตรีมีรอบเดือน

 

ก่อนหน้านั้นคนจ่ายยาคือหมอเท่านั้น หมอหนึ่งคนต่อประชากร 2-3 แสนคน จะแจกทั่วถึงได้อย่างไร คุณมีชัยผลักดันให้แม่ค้าร้านขายของชำ ซึ่งอยู่ใกล้ชิดชุมชนที่สุดเป็นคนแจกยาเม็ดคุมกำเนิดได้ มีการร่วมกับคุรุสภาอบรมครูหลายหมื่นคนทั่วประเทศให้ช่วยเป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการวางแผนครอบครัว

 

นพ.วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในเวลานั้น เห็นชอบและสนับสนุน PDA ให้ดำเนินโครงการวางแผนครอบครัว โดยกล่าวว่า

 

“คุณมีชัยและทีมงานจัดตั้งและอบรมอาสาสมัครครั้งแรกใน 150 อำเภอทั่วประเทศในปี 2516 โดยความเห็นชอบและอนุมัติของ นพ.เชิด โทณะวนิก อธิบดีกรมการแพทย์และอนามัย ให้การสนับสนุนเต็มที่ อาจกล่าวได้ว่าโครงการนั้นเป็นพื้นฐานการกระจายอำนาจสู่ชนบท ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาประเทศ นับเป็นจุดเริ่มแรกของอาสาสมัครที่ราชการให้การสนับสนุน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และต่อมากลายเป็นฐานข้อมูลและฐานปฏิบัติการของ อบต. ในปัจจุบัน” (หนังสือ ไผ่นอกกอ ชีวิตและงานของ มีชัย วีระไวทยะ โดย สนธิ เตชานันท์ เรียบเรียง)

 

การวางแผนครอบครัวที่ได้รับความสนับสนุนดียิ่งจากภาคราชการทำให้อัตราเกิดของเด็กในปี 2517 ลดลงจากครอบครัวละ 7 คน เหลือเพียง 1.2 คน ในปี 2545 เท่ากับอัตราเพิ่มของประชากรจาก 3.3% ลดเหลือเพียง 0.5% เท่านั้น

 

ถ้าเทียบกับฟิลิปปินส์ ซึ่งมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทยราว 40 ล้านคนในปี 2515 ในขณะที่ไทยมีการรณรงค์และวางแผนครอบครัวอย่างจริงจัง 40 ปี หลังจากนั้นในปี 2556 ไทยมีประชากร 67.4 ล้านคน ฟิลิปปินส์ที่ไม่มีการวางแผนครอบครัว มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 105.7 ล้านคน แปลว่าอัตราเพิ่มของประชากรมากกว่าไทยถึง 2 เท่าครึ่ง

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้พูดถึงงานวางแผนครอบครัวไว้ว่า “ผมมีความนับถือคุณมีชัยเป็นที่สุด และผมยังคงนับถือตลอดไป แม้ชาตินี้ทั้งชาติคุณมีชัยจะไม่ได้ทำอะไรอีกเลย เพราะความสำเร็จของการวางแผนครอบครัวที่คุณมีชัยทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากมายจริงๆ” (หนังสือ ไผ่นอกกอ ชีวิตและงานของ มีชัย วีระไวทยะ โดย สนธิ เตชานันท์ เรียบเรียง)

 

ลดอัตราเกิดมีความสำคัญ แต่ลดอัตราตายก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

 

การติดเชื้อ HIV หรือโรคระบาดเอดส์จากต่างประเทศเข้าสู่ไทยในเวลานั้นน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก การค้าประเวณีทั้งทางตรงและทางอ้อมทำให้โรคเอดส์กระจายเหมือนไฟลามทุ่ง ความหวาดกลัวว่านักท่องเที่ยวจะไม่มาเมืองไทยเพราะกลัวโรคเอดส์ทำให้รัฐมนตรีซึ่งคุมสื่อวิทยุและโทรทัศน์ส่ายหัวไม่เอาด้วย โดยห้ามสื่อออกอากาศเรื่องอันตรายของโรคเอดส์


ทำให้คุณมีชัยตรงดิ่งเข้าหา พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ. ในเวลานั้น โดยชี้แจงว่า

 

“หากประเทศไทยไม่ทำอะไร ทหารเกณฑ์จำนวนมากจะป่วยตายด้วยโรคเอดส์”

 

พล.อ. ชวลิต เห็นคล้อยตามแล้วถามกลับว่า

 

“จะให้ผมช่วยอะไร”

 

“ผมขอยืมวิทยุทหารกว่า 300 สถานี และโทรทัศน์ 2 สถานี ช่วยกระจายความรู้เรื่องอันตรายจากโรคเอดส์และการป้องกัน”

 

จากนั้นเป็นต้นมา ทั้งสารคดีและสปอตวิทยุโทรทัศน์ผ่านสื่อทุกเหล่าทัพของกองทัพไทย ทำให้สังคมไทยตระหนักภัยของปีศาจร้าย HIV

 

HIV

 

เมื่อ รสช. ทำการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้เชิญคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี คุณอานันท์เชิญคุณมีชัยเป็นรัฐมนตรี โดยเห็นชอบให้คุณมีชัยแก้ไขปัญหาโรคระบาด HIV อย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรีรับเป็นประธานคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ ทำให้การรณรงค์ต้านเอดส์มีพลังแรงเหมือนพยัคฆ์ติดปีก

 

ผลการรณรงค์ทำให้รัฐบาลและสังคมไทยยอมรับ มีการใช้ถุงยางมีชัยอย่างแพร่หลายในหญิงและชายที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางเพศ เป็นการควบคุมการกระจายเชื้อ HIV อย่างได้ผลเต็มอัตรา เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและเกิดปฏิบัติการใช้ถุงยางอนามัย 100%

 

ไทยสามารถควบคุมการแพร่เชื้อ HIV เป็นตัวอย่างในเวทีสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่ง UNAIDS สรุปว่าภายในระยะเวลา 12 ปี (พ.ศ. 2533-2545) ประเทศไทยมีการติดเชื้อรายใหม่ลดลง 90% ผลการรณรงค์ทำให้คนไทย 7,700,000 คน ปลอดพ้นจากการติดเชื้อเอดส์

 

PDA ในรอบระยะ 50 ปีมานี้ยังก้าวไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในชนบทด้วยโปรแกรมต่างๆ มากมาย โดยดึงเอาธุรกิจภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งเรื่องการขาดแคลนน้ำ เรื่องทักษะอาชีพ เรื่องเงินออมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เรื่องการพึ่งพาตนเองของชุมชน ฯลฯ

 

ผลงาน PDA ทำให้วารสาร The  Global เดือนกุมภาพันธ์ 2012 ยกย่องว่า PDA เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ลำดับที่ 39 ของโลก จากจำนวน 100 องค์กร NGO ทั่วโลก

 

มูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation ให้รางวัล Gates Award for Global Health 2007 โดยชี้ว่า “PDA นำโดย มีชัย วีระไวทยะ เปลี่ยนแปลงสุขภาพของประเทศชาติ และงานของเขามีผลกระทบต่อสุขภาพทั่วโลก มีชัยมีความสามารถพิเศษในการระบุปัจจัยเหล่านั้นที่ให้ประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพ ความกล้าหาญในการปฏิบัติตามความเป็นจริง และความพร้อมเพรียงพร้อมด้วยอารมณ์ขันในการทำให้นวัตกรรมต่างๆ กลายเป็นแนวมาตรฐานในการปฏิบัติ”

 

ในขณะที่มูลนิธิรางวัลรามอน แมกไซไซ มอบรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี 2537 โดยชี้ให้เห็นว่า

 

“เมื่อมีโรคเอดส์ในไทยปี พ.ศ. 2527 มีชัยตระหนักถึงศักยภาพในการกระจายของโรค เมื่อเผชิญกับความชะล่าใจของรัฐบาลและการต่อต้านจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปี พ.ศ. 2530 เขาเริ่มรณรงค์เรื่องเอดส์ และเขาเตือนว่าหากไม่มีการแทรกแซงหรือไม่ทำอะไรจะมีคนติดเชื้อกว่าล้านคนในหนึ่งทศวรรษ PDA กระจายเทปเสียง วิดีโอ แผ่นพับที่อธิบายความเสี่ยงอย่างตรงไปตรงมา และวิธีหลีกเลี่ยงไปทั่วประเทศ การประชาสัมพันธ์สุดเร้าใจของมีชัยถูกนำมาพาดเป็นหัวข้อข่าว โดยได้รับความร่วมมือจากกองทัพไทยในการรณรงค์ผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์”

 

เนื้องานล่าสุดคือการจัดตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี 2552 เป็นโรงเรียนที่รองรับนักเรียนจากชนบททั่วประเทศเข้าเรียนโดยให้เด็กนักเรียนปลูกต้นไม้และทำความดีแทนค่าเล่าเรียน 15 ปีแห่งการบ่มเพาะให้นักเรียนมีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และมีหัวใจแบ่งปัน ทำให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบโรงเรียน ด้วยผลงานรูปธรรมเชิงสร้างสรรค์ ทำให้รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกย่องให้เป็นแบบอย่างโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) ที่มีโรงเรียน 240 แห่งเข้าร่วมโดยมีโรงเรียนมีชัยพัฒนาเป็นต้นแบบ ซึ่งก่อนหน้านี้กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) กล่าวยกย่องไว้ว่า “โรงเรียนมีชัยพัฒนา (Bamboo School) เป็นโรงเรียนที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

 

กึ่งศตวรรษ หรือ 50 ปีของ PDA สร้างสรรค์ผลงาน ทั้งลดการเกิด ลดการตาย ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน สร้างสรรค์การศึกษารูปแบบใหม่ที่สร้างเยาวชนให้มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อชุมชน โดยผ่านการปฏิบัติร่วมกับชุมชน วัด โรงพยาบาล นำไปสู่รูปแบบโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการยกระดับชีวิตชุมชนได้อย่างน่าสนใจ

 

มาร์กาเรต มี้ด ชี้ว่า ‘คนกลุ่มเล็กๆ’ ก็จริงอยู่ แต่ได้ระบุให้เห็นชัดเจนไว้ด้วยว่าคนกลุ่มเล็กๆ นั้นต้องเป็นคนที่ ‘มีวิจารณญาณ’ (Thoughtful) และ ‘มีความมุ่งมั่น’ (Committed) จึงจะเปลี่ยนโลกได้

 

มูฮัมหมัด ยูนุส นายธนาคารของคนจนและกลุ่มเพื่อนในบังกลาเทศกลุ่มเล็กๆ คุณมีชัย วีระไวทยะ และผองเพื่อนใน PDA เพียงไม่กี่คน ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง เลือกตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้องในเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เป็นการเลือกทางปฏิบัติที่เกิดประโยชน์สูงสุดบนพื้นฐานความเข้าใจในบริบทที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดทัศนคติใหม่ที่สร้างสรรค์ และเกิดพฤติกรรมใหม่ที่งดงาม ส่งผลกระทบที่มีผลไพศาลทั่วทั้งสังคมอย่างมีวิจารณญาณและมีความมุ่งมั่น

 

ผลงานที่รังสรรค์ไว้แล้วนั้นยืนยันให้เห็นถึงการไม่ยอมจำนนต่อปัญหา หากแต่ได้ใช้ความพยายามอย่างไม่ลดละของผู้คนเพียงไม่กี่คน

 

The post คนกลุ่มเล็กๆ เปลี่ยนโลกได้ เมื่อไทยเคยต้องสู้กับ HIV appeared first on THE STANDARD.

]]>