Mead – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Tue, 04 Sep 2018 02:48:18 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 เพราะเหตุใด ‘พระและเหล้า’ สองสิ่งนี้จึงมาข้องเกี่ยวกันได้ https://thestandard.co/mead/ https://thestandard.co/mead/#respond Tue, 04 Sep 2018 02:21:13 +0000 https://thestandard.co/?p=118474

สำหรับคนในซีกโลกตะวันออกมักถูกบ่มเพาะความเชื่อว่า ‘พระใ […]

The post เพราะเหตุใด ‘พระและเหล้า’ สองสิ่งนี้จึงมาข้องเกี่ยวกันได้ appeared first on THE STANDARD.

]]>

สำหรับคนในซีกโลกตะวันออกมักถูกบ่มเพาะความเชื่อว่า ‘พระในศาสนาพุทธไม่ควรข้องแวะกับสุรา’ แต่หารู้ไม่ว่าอันที่จริง ยาโบราณของไทยและแถบเอเชียหลายตัวมีส่วนผสมของสุราซ่อนอยู่ ดังนั้นการจะกล่าวว่าเหล้ามีแต่โทษเห็นทีจะไม่ได้ และพระสงฆ์เองก็ต้องมีเจ็บไข้ได้ป่วยกันบ้างเป็นธรรมดา ในขณะที่ซีกโลกตะวันตกนั้น นักบวชในศาสนาคริสต์กลับข้องแวะกับสิ่งมึนเมาได้อย่างไม่ผิดกฎ นับตั้งแต่สมัยยุคกลาง พระในศาสนาคริสต์ยังหมักไวน์ไว้ใช้ในพิธีรับศีลมหาสนิท ส่วนเบียร์และสปิริตอื่นๆ ไว้เป็นโอสถ แต่สำหรับบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอมุ่งเน้นประเด็นไปที่เหล้าและสปิริตก่อนว่า เพราะเหตุใด ‘พระและเหล้า’ สองสิ่งนี้จึงมาข้องเกี่ยวกันได้

 

ความเชื่อมโยงของศาสนาและการผลิตเหล้า

จุดกำเนิดของ ‘เหล้าพระทำ’ เริ่มตั้งแต่เหล้าเก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง Mead (มีด) ซึ่งเป็นเหล้าที่นำน้ำผึ้งไปหมักกับน้ำ แต่ก็มีบ้างที่ใส่ผลไม้ เครื่องเทศ ธัญพืช และฮอปส์ เข้าไปด้วย ตามที่ระบุไว้ในหลักฐานทางโบราณคดีเมื่อ 7, 000 ปีก่อนคริสตกาล ณ ตอนเหนือของประเทศจีน ที่ริเริ่มทำเหล้าโดยใช้น้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบสำคัญ อีกทั้งคัมภีร์ฤคเวทของศาสนาพราหมณ์ที่มีอายุเก่าแก่ถึง 1,700-1,100 ปีก่อนคริสตกาล ยังกล่าวถึงเหล้าสูตรนี้ไว้อีกด้วย ในขณะที่ตำราของอริสโตเติล นักปราชญ์ในยุคทองของอาณาจักรกรีก ก็ยังกล่าวถึงเหล้ามีด และสิ่งที่ทำให้เหล้าตัวนี้ต่างจาก Honey-Wine

 

(ซ้าย) ลูคัส ยูนิอุส โมเดราทุส โคลูเมลลา (ขวา) อริสโตเติล

 

Honey-Wine ที่มีความใกล้เคียงกับเหล้ามีด

 

เช่นเดียวกับสูตรการทำเหล้ามีดที่มีอยู่ในตำรา De Re Rustica ของนักเกษตรศาสตร์แห่งจักรวรรดิโรมันอย่าง ลูคัส ยูนิอุส โมเดราทุส โคลูเมลลา ต่อด้วยช่วงที่จักรวรรดิโรมันแผ่ขยายไปทั่วยุโรปจนถึงเกาะบริตานี (หรือบริเตนในปัจจุบัน) เหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่า เหล้ามีดอยู่ในสายเลือดของชนเผ่าเยอรมนิกและเซลติกตั้งแต่ยุคโบรำ่โบราญ ซึ่งหลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลาย เหล้ามีดก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของบทเพลง บทกลอน และการเฉลิมฉลอง ทั้งยังได้รับการอุปถัมภ์จากพระในศาสนาคริสต์ เนื่องจากกฎในการถือตนเป็นพระในศาสนาคริสต์ไม่มีข้อห้ามเหมือนชาวพุทธ ทำให้พระในศาสนานี้สามารถเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาประกอบอาหาร อีกทั้งในสำนักสงฆ์เล็กๆ ตามชนบทยังสามารถเลี้ยงผึ้งเพื่อเอามาทำประโยชน์ได้อีก

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหล้ามีดในยุคปัจจุบันที่วางขายตามท้องตลาดหาได้เป็นฝีมือของพระ เพราะการที่พระสงฆ์ในศาสนาคริสต์เคยอุปถัมภ์ไว้ เลยทำให้มีการส่งต่อสูตรไปยังสามัญชนทั่วไป จนก่อตั้งเป็นโรงกลั่น และสร้างแบรนด์กันอย่างจริงจังในภายหลัง และกลับมาบูมอีกครั้งหลังเหล้ามีดเป็นเครื่องดื่มโปรดของ ทีเรียน แลนนิสเตอร์ ใน Game of Thrones

 

ปัจจุบันบาร์เทนเดอร์ยังคงนิยมนำเหล้ามีดมาใช้ในค็อกเทลที่ต้องการความหวาน ภาพจาก Chilled Magazine

 

จากยาพระทำกลายมาเป็นเหล้า

นอกจากเหล้ามีดแล้วก็ยังมี Liqueur หรือเหล้าลิเคียว ที่ถูกพัฒนามาจากยาสมุนไพรตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 (1201-1300) และถูกปรุงขึ้นโดยพระเช่นกัน แบรนด์เหล้าลิเคียวที่เป็นที่รู้จักในหมู่บาร์เทนเดอร์และเหล่าผู้รักการดื่มอย่างจริงจังหนีไม่พ้น Chartreuse (ชาร์ทรูส) ที่ถือกำเนิดขึ้นในศตวรรษที่ 17 (1601-1700) โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1605 ซึ่งสำนักสงฆ์ชาร์ทรูสที่ตั้งอยู่ในวอเวิร์ท แถบชานเมืองของปารีส ได้รับของขวัญเป็นบันทึกสูตรเหล้า Elixir (เอลิเซอร์)​ จากขุนพลฟร็องซัวส์-แอนนิบาล เดอ เอสเตส์ แต่เนื่องจากสมัยนั้นพระสงฆ์ที่นั่นไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของการเล่นแร่แปรธาตุนัก ทำให้การผสมเหล้าที่มีส่วนผสมของพืช ดอกไม้ และสมุนไพรถึง 130 ตัว ไม่ประสบความสำเร็จ

 

ในต้นศตวรรษที่ 18 ทางสำนักสงฆ์จึงส่งบันทึกฉบับนี้ไปยังสำนักสงฆ์ใหญ่อย่างลา กรองด์ ชาร์ทรูส ที่อยู่ในหุบเขาไม่ห่างจากแคว้นเกรโนเบิล เพื่อศึกษาต่อ จนกระทั่งปี 1737 ความลับของบันทึกเล่มนั้นก็ถูกไขกระจ่างโดยพระรูปหนึ่งนามว่า เยโรม มอเบค ซึ่งทำให้ทางสำนักสงฆ์สามารถเอาเหล้าตัวนี้ที่อยู่ในรูปโอสถมาวางขายออกตลาด ให้ชาวบ้านแถบเกรโนเบิลและแคว้นใกล้เคียงได้ดื่มกัน แต่เนื่องจากผู้คนเริ่มดื่มชาร์ทรูสในฐานะเครื่องดื่มมากกว่าสรรพคุณทางยา เลยมีการปรับสูตรกันเล็กน้อยในปี 1764 จนกลายมาเป็นเหล้าที่นักดื่มหลายๆ คนรู้จักกันเป็นอย่างดีในนาม Green Chartreuse หรือชาร์ทรูสเขียว

 

ค็อกเทลที่ใช้ชาร์ทรูสเป็นส่วนผสม ภาพจาก The Spruce Eats

 

เรื่อยมาจนถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้พระในสำนักชาร์ทรูสต้องกระเด็นกระดอนร่อนเร่ ทำให้สูตรนี้ไปอยู่กับสามัญชน และหนึ่งในนั้นคือเภสัชกรในเกรโนเบิล นามว่า ลิโอทาร์ด แต่หลังจากที่เภสัชกรคนนี้เสียชีวิต สูตรก็ได้ถูกส่งกลับคืนไปที่สำนักสงฆ์ จวบจนปี 1838 Yellow Chartreuse หรือชาร์ทรูสเหลือง ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ปัจจุบันเหล้าชาร์ทรูสอยู่ภายใต้การบรรจุขวด โฆษณา และวางขายโดยบริษัท Chartreuse Diffusion ซึ่งกระบวนการผลิตก็ยังคงเป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ชาร์ทรูสเช่นเดิม โดยจะมีพระเพียง 2 รูป ที่ถูกเลือกให้ทำหน้าที่นี้เท่านั้น

 

ดังนั้น เราจึงกล่าวได้ว่า ถ้าไม่ใช่เพราะพระเหล่านี้ ทุกวันนี้เราคงไม่มีอะไรให้ดื่มมากนัก แต่เพราะรสชาติที่แตกต่างกันของเหล้าแต่ละชนิดนี่เอง ที่ทำให้พวกมันถูกยกระดับเป็นค็อกเทลที่มีรสชาติและสัมผัสอันซับซ้อน มากกว่าการเป็นแค่แอลกอฮอล์บรรจุขวดแล้ววางขาย

 

ภาพ: SHUTTERSTOCK, Chilled Magazine, The Spruce Eats และ Courtesy of Game of Thrones  

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

The post เพราะเหตุใด ‘พระและเหล้า’ สองสิ่งนี้จึงมาข้องเกี่ยวกันได้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/mead/feed/ 0