Love Simon – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 01 Mar 2019 11:19:10 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 27 กุมภาพันธ์ 2018 – ครบรอบ 1 ปี Love, Simon: หนังเรื่องแรกจากสตูดิโอยักษ์ใหญ่ที่ให้พื้นที่แก่เรื่องราวของ LGBTQ+ https://thestandard.co/pop-on-this-day-27-feb-2562/ https://thestandard.co/pop-on-this-day-27-feb-2562/#respond Wed, 27 Feb 2019 01:00:51 +0000 https://thestandard.co/?p=212685

“ชาร์ลสตัน ที่รัก พวกคุณทุกคนสมควรได้รับชมเรื่องราวความ […]

The post 27 กุมภาพันธ์ 2018 – ครบรอบ 1 ปี Love, Simon: หนังเรื่องแรกจากสตูดิโอยักษ์ใหญ่ที่ให้พื้นที่แก่เรื่องราวของ LGBTQ+ appeared first on THE STANDARD.

]]>

“ชาร์ลสตัน ที่รัก พวกคุณทุกคนสมควรได้รับชมเรื่องราวความรักอันแสนยิ่งใหญ่เรื่องนี้ ด้วยรัก, เจน” นี่คือข้อความที่ เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ โพสต์ลงอินสตาแกรมส่วนตัวเพื่อเชิญชวนให้ผู้คนในเมืองชาร์ลสตันไปรับชมภาพยนตร์เรื่อง Love, Simon หลังจากที่เธอเหมาโรงฉายเพื่อให้ดูหนังเรื่องนี้กันฟรีๆ ซึ่งเจนไม่ใช่เซเลบเพียงคนเดียวที่ออกมาสร้างปรากฏการณ์นี้ แต่ยังรวมถึง คริสเตน เบลล์, นีล แพทริก แฮร์ริส, แมตต์ โบเมอร์, เจสซี ไทเลอร์ เฟอร์กูสัน และอีกหลายคนที่ชื่นชม Love, Simon จนถึงขนาดเหมาโรงฉายให้ผู้คนมาดูฟรีตามโรงภาพยนตร์ทั่วสหรัฐฯ

 

Love, Simon เป็นภาพยนตร์วัยรุ่นแนวโรแมนติก-คอเมดี้-ดราม่าจากค่าย 20th Century Fox เข้าฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2018 ที่ Mardi Gras Film Festival ก่อนจะกลายเป็นกระแสฮือฮาที่นำพาตัวหนังไปสู่ความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำชื่นชม โดยถูกยกให้เป็นภาพยนตร์จากสตูดิโอใหญ่ของฮอลลีวูดเรื่องแรกที่กล้ายิบยกประเด็น LGBTQ+ มานำเสนออย่างเปิดเผย

 

บทภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง Simon vs. the Homo Sapiens Agenda โดย เบ็กกี้ อัลเบอร์ทัลลี เรื่องราวโฟกัสไปที่ตัวละคร ไซมอน สเปียร์ เด็กหนุ่มไฮสคูลผู้ปิดบังมาโดยตลอดว่าเขาเป็นเกย์ กระทั่งต้องเข้าไปพัวพันกับสถานการณ์บางอย่างจนทำให้ถูกข่มขู่ว่าจะเปิดเผยความลับ ในขณะเดียวกันไซมอนก็ต้องยุ่งกับการบาลานซ์ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ครอบครัว และการตามหาหนุ่มปริศนานามว่า ‘บลู’ ผู้ออกมาเปิดเผยผ่านบล็อกของโรงเรียนว่าเป็นเกย์ และกำลังสานสัมพันธ์ออนไลน์กับเขา

 

Love, Simon ทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 66 ล้านเหรียญสหรัฐ จากทุนสร้าง 10-17 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเป็นที่ชื่นชอบในหมู่นักวิจารณ์ โดยได้คะแนนบนเว็บไซต์ Rotten Tomatoes สูงถึง 92% ภาพยนตร์กำกับโดย เกร็ก เบอร์ลานติ เขียนบทโดย ไอแซก แอปเทเกอร์ และเอลิซาเบธ เบอร์เกอร์ พร้อมทีมนักแสดงนำอย่าง นิก โรบินสัน, จอช เดอเมล, เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ และแคเธอรีน แลงฟอร์ด

 

ภาพ: foxmovies.com

The post 27 กุมภาพันธ์ 2018 – ครบรอบ 1 ปี Love, Simon: หนังเรื่องแรกจากสตูดิโอยักษ์ใหญ่ที่ให้พื้นที่แก่เรื่องราวของ LGBTQ+ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/pop-on-this-day-27-feb-2562/feed/ 0
จาก Les Misérables ถึง Love, Simon และ Disobedience มนุษย์ผู้ถามหาตัวเอง https://thestandard.co/from-les-miserables-to-love-simon-and-disobedience/ https://thestandard.co/from-les-miserables-to-love-simon-and-disobedience/#respond Wed, 27 Jun 2018 11:33:59 +0000 https://thestandard.co/?p=101636

หนึ่งในเพลงสำคัญและมีเนื้อหาลึกซึ้งกินใจจากละครเพลงเรื่ […]

The post จาก Les Misérables ถึง Love, Simon และ Disobedience มนุษย์ผู้ถามหาตัวเอง appeared first on THE STANDARD.

]]>

หนึ่งในเพลงสำคัญและมีเนื้อหาลึกซึ้งกินใจจากละครเพลงเรื่อง Les Misérables ซึ่งในเวลาต่อมาถูกนำไปดัดแปลงเป็นหนังชื่อเดียวกันและหลายคนคงยังไม่ลืมก็คือเพลงที่ใช้ชื่อว่า ‘Who Am I?

 

รื้อฟื้นความทรงจำสักนิด เพลงนี้อยู่สักราวๆ หนึ่งในสามของเรื่อง เป็นเหตุการณ์หลังจากที่ ฌอง วัลฌอง หนุ่มใหญ่ผู้ซึ่งมีภูมิหลังที่เจ้าตัวพยายามปกปิดซ่อนเร้นในฐานะคนนอกกฎหมาย พบว่าใครบางคนต้องตกที่นั่งลำบากเพราะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเขา

ในฐานะของคนที่พบเจอทั้งด้านเลวทรามต่ำช้าสุดๆ ของมนุษย์ และด้านที่สว่างไสวและกอบกู้ศรัทธา หรืออีกนัยหนึ่ง ได้รับทั้งก้อนหินและดอกไม้ เหตุการณ์เบื้องหน้าก่อให้เกิดความว้าวุ่นสับสนกับเจ้าตัวอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว

 

ตามเนื้อผ้า เพลง ‘Who Am I?’ ก็เป็นเสมือนการบรรยายความรู้สึกของตัวละครที่พบว่าตัวเองอยู่บนทางสองแพร่ง ระหว่างการเลือกปกปิดซ่อนเร้นอัตลักษณ์ของเขา ปล่อยให้คนบริสุทธิ์ต้องรับเคราะห์กรรม และใช้ชีวิตอยู่กับความรู้สึกผิดบาปที่เกาะกุมตลอดไป หรือยอมเปิดเผยตัวตน เพื่อว่าเขาจะได้ไม่ต้องอยู่กับการโป้ปดมดเท็จไปเรื่อยๆ ข้อสำคัญ ไม่ต้องรู้สึกอัปยศอดสูเวลาส่องกระจกมองหน้าตัวเอง แต่แน่นอน ราคาที่ต้องจ่ายก็คือการหวนกลับไปใช้ชีวิตที่ยากแค้นแสนเข็ญในฐานะนักโทษตามเดิม

 

 

ว่าไปแล้ว เป้าประสงค์จริงๆ ของเพลงนี้ก็คือการสำรวจ หรืออีกนัยหนึ่ง ถามหาตัวเอง ทำนองว่าตัวเขาเป็นคนประเภทไหนกันแน่ อุดมการณ์และจุดยืนที่แท้จริงของเขาคืออะไร และไหนๆ ก็ไหนๆ ผู้ชมก็ไม่ต้องเฝ้าคอยคำตอบเนิ่นนาน เพราะช่วงท้ายของเพลงนี้ หนุ่มใหญ่ก็ตระหนักได้ว่าเขาไม่สามารถทนดูดายอยู่กับความไม่ถูกต้องและอยุติธรรม

 

อย่างที่นักดูหนังทั้งหลายรับรู้รับทราบ หนังที่พูดถึงการค้นหาตัวเอง หรือหนังที่ตั้งคำถามทำนองว่า ‘ตัวฉันคือใคร’ และความต้องการที่แท้จริงของเขาหรือเธอคืออะไร ถูกสร้างออกมานับจำนวนไม่ถ้วนและอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หากจะต้องจัดลิสต์ก็คงยาวเหยียดและไม่มีที่สิ้นสุด ลองนึกเร็วๆ เราก็คงจะได้รายชื่อหนังแนว Coming of Age ร่วมสมัยอย่าง The Perks of Being a Wallflower, Boyhood, Call Me By Your Name ถอยกลับไปไกลกว่านั้นอีกนิด ก็มีหนังแอ็กชันที่ว่าด้วยสายลับลืมตัวเรื่อง The Bourne Identity หรือกระทั่งหนังผจญภัยคลาสสิกเรื่อง Stand By Me และ The Wizard of Oz ก็ล้วนพูดถึงแง่มุมเหล่านี้ หรือจริงๆ แล้วหนังเรื่อง มหา’ลัยเหมืองแร่ ก็เช่นเดียวกัน

 

ล่าสุด หนังอีก 2 เรื่องที่เพิ่งเข้าฉายคาบเกี่ยวกันในบ้านเรา อันได้แก่ Love, Simon (2018) ของ Greg Berlanti กับ Disobedience (2017) ของ Sebastián Lelio ก็ยิ่งทำให้ลิสต์ดังกล่าวมีรายชื่อสมาชิกที่น่าครุ่นคิดพิจารณา

 

ว่าไปแล้วความเหมือนกันของหนังทั้ง 2 เรื่องที่มากยิ่งไปกว่าการเป็นหนังที่พูดถึงการค้นหาตัวเองของตัวละคร ก็ได้แก่การที่มันเป็นหนังที่พูดถึงการยอมรับและเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงของตัวเองให้คนรอบข้างรับรู้ หรืออีกนัยหนึ่ง การไม่ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ และอยู่กับการโกหกหลอกลวงไปวันๆ

 

 

ในกรณีของ Love, Simon หนังที่สร้างความฮือฮาพอสมควร และเชื่อว่าหลายคนคงได้ดูไปแล้ว ความยุ่งยากของไซมอน (นิค โรบินสัน) ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มมัธยมปลายไม่ใช่เรื่องของความสับสนในเพศสภาพของตัวเอง เพราะดูเหมือนนั่นเป็นสิ่งที่เขาค้นพบและรู้ตัวมานานแล้ว หากทว่าได้แก่การเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่นและเข้าอกเข้าใจ และท่ามกลางกลุ่มเพื่อนสนิทชายหญิงซึ่งรักใคร่กลมเกลียว พูดง่ายๆ ว่าทุกอย่างรอบข้างเขาดูสงบเรียบร้อยและเป็นปกติธรรมดา จนชายหนุ่มไม่กล้าแตกหักหรือก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมกับสภาวะของความ ‘สงบเรียบร้อยและเป็นปกติธรรมดา’ บางทีเราอาจจะเรียกสิ่งนั้นว่า ความคาดหวังจากคนรอบข้างที่มองว่าเขาก็ควรจะเหมือนๆ กับคนทั่วไป และโดยอ้อม การทำตัวแปลกแยกและแตกต่างโดยเฉพาะในแง่ของเพศสภาพภายใต้กรอบสังคมที่ไม่ค่อยเปิดกว้างเท่าไรนักของโรงเรียนมัธยม และของ ‘ครอบครัวตัวอย่าง’ ที่แทบจะถอดแบบจากภาพในโปสการ์ด ก็กลับกลายเป็นเรื่องน่ากระอักกระอ่วนสำหรับเด็กหนุ่มผู้ซึ่งยังกล้าๆ กลัวๆ กับการก้าวเดินออกมาจาก ‘ตู้เสื้อผ้า’

 

แต่ก็นั่นแหละ ความเป็นหนังวัยรุ่นเบาสมองของ Love, Simon ก็ทำให้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเคร่งขรึมจริงจังจนเกินไป และปัญหาที่ตัวละครเผชิญก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเกินกำลังหรือแก้ไขไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับสิ่งที่ตัวละครหลักในหนังเรื่อง Disobedience ต้องรับมือ ซึ่งนอกจากไม่มีอะไรเบาสมอง รูปการณ์ก็ยังดูถมึงทึง และสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความแห้งแล้งเย็นชา

 

ฉากหลังตามท้องเรื่องของ Disobedience ได้แก่ กรุงลอนดอน จุดเริ่มต้นปะทุมาจากการเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนของพระแรบไบสูงวัย และช่างภาพหญิงที่ชื่อ โรนิท (เรเชล ไวสซ์) ซึ่งเป็นลูกสาวและใช้ชีวิตอยู่ ณ เมืองนิวยอร์ก ได้รับแจ้งข่าวร้ายนี้ อันส่งผลให้เธอเดินทางกลับไปร่วมงานรำลึกและไว้อาลัย ข้อมูลเพิ่มเติมที่หนังบอกกล่าวทีละน้อยสรุปได้ว่า โรนิทอยู่ในสภาพเหมือนกับเนรเทศตัวเองออกจากชุมชนชาวยิวอันแนบแน่นที่เธอเกิดและเติบโต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้เป็นพ่อของเธอที่ห่างหายไปแสนนาน (ในข้อความแจ้งการเสียชีวิตของแรบไบถึงกับระบุว่า เขาลาโลกนี้ไปโดยไม่มีทายาท) และกล่าวได้ว่าต้นสายปลายเหตุเกี่ยวเนื่องกับอดีตแต่หนหลังที่เธอถูกจับได้ว่าลักลอบมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวที่ชื่อ เอสติ (ราเชล แม็กอาดัมส์)

 

 

จริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์แบบชายรักชายหรือหญิงรักหญิงในสังคมสมัยใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอีกต่อไป หรือเป็นอะไรที่คนทำหนังต้องมานำเสนออย่างตีโพยตีพาย ทว่าตัวแปรที่ทำให้ทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เกี่ยวเนื่องกับความเป็นชุมชนชาวยิวที่ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ทางศาสนาอย่างเคร่งครัด (บางคนยังคงเชื่อว่าโฮโมเซ็กชวลเป็นความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องเยียวยารักษา) และสิ่งที่โรนิทสัมผัสและรับรู้ได้จากสายตาที่ใครต่อใครจ้องมองเธออย่างไม่ต้อนรับ แม้ว่า ‘เหตุการณ์ครั้งกระนั้น’ จะผ่านพ้นไปนานแล้วก็สื่อสารโดยอัตโนมัติว่า นี่เป็นชุมชนที่ถูกกาลเวลาหลงลืม​

เรื่องคาดไม่ถึงสำหรับโรนิทจริงๆ ก็คือการได้พบเจอกับเอสติอีกครั้ง ข้อมูลล่าสุดก็คือ เอสติแต่งงานกับโดวิด (อเลสซานโดร นิโวลา) เพื่อนสนิทในช่วงวัยเด็กของเธอ และโดวิดก็เป็นเสมือนลูกบุญธรรมของแรบไบผู้ล่วงลับ เหนืออื่นใด เขาเป็นนักบวชที่ได้รับการคาดหมายว่าจะสืบทอดสถานะเสาหลักทางความเชื่อของคนในชุมชน

มองจากภายนอก ดูเหมือนทุกคนล้วนก้าวเดินไปข้างหน้า และงานศพเป็นเหมือนช่วงเว้นวรรคที่ไม่น่าจะส่งผลอะไร ทว่าด้วยแท็กติกและกลวิธีการบอกเล่าที่แยบยลและแนบเนียน เรารู้สึกและสังหรณ์ได้ถึงความไม่ชอบมาพากล ที่แน่ๆ เรื่องราวแต่หนหลังยังคงไม่จางหาย และคนที่จมจ่อมอยู่ในความทุกข์ทรมานมากกว่าใครเพื่อนก็คือเอสตินั่นเอง

 

 

พูดง่ายๆ ในฐานะเมียของแรบไบ หญิงสาวต้องดำเนินชีวิตภายใต้กรอบระเบียบ กฎเกณฑ์ พิธีกรรม นั่นรวมถึงการจ้องมองเพดานในระหว่างมีเซ็กซ์ทุกคืนวันศุกร์เพื่อการสืบพันธุ์ ชีวิตความเป็นอยู่ของเอสติอาจอธิบายได้ด้วยสีหน้าสีตาของตัวละครซึ่งแทบจะปราศจากรอยยิ้ม และผู้ชมอนุมานได้ไม่ยากว่าเธอไม่มีความสุขอย่างรุนแรง เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเธอคงจะมีชีวิตเช่นนั้นไปเรื่อยๆ หากโรนิทไม่หวนกลับมา จนนำพาให้ไม่เพียงแค่เกิดสถานการณ์ถ่านไฟเก่าคุโชน (และว่ากันว่านี่คือฉากเซ็กซ์อันลือลั่นแห่งปี) แต่ยังนำไปสู่การตื่นรู้ทางเพศ หรือที่เรียกว่า Sexual Awakenings ของตัวละคร

 

และแล้วคำถามที่ว่า ‘ฉันคือใคร’ ก็ก้องกังวานในห้วงคำนึงของตัวละคร และเอสติก็ตกที่นั่งอันแสนยากลำบากแบบเดียวกับฌอง วัลฌอง (หรือจะชวนไซมอนมาร่วมว้าวุ่นสับสนด้วยก็ได้) นั่นคือการต้องเลือกระหว่างหนทางที่ล้วนแล้วไม่น่ารื่นรมย์ อันได้แก่ใช้ชีวิตแบบเดิมไปเรื่อยๆ และมีความทุกข์ระทมทางจิตใจ หรือก้าวออกมาจากมุมมืดและเผชิญหน้ากับการพิพากษาทางสังคม ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ตัวละครพบเจอในระหว่างนี้ก็ชวนให้ตั้งข้อสงสัยย่อยอื่นๆ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อาทิ ความเป็นตัวเราถูกสังคมรอบข้างปรุงแต่งและตั้งค่ามากน้อยแค่ไหน และสมมติว่า ‘การตั้งค่า’ เหล่านั้นไม่ได้สอดรับกับเสียงเพรียกจากข้างใน เราควรจะยอมจำนนหรือแตกหักมันไปเลย

 

จริงๆ แล้วหนังเรื่อง Disobedience ยังมีแง่มุมที่ชวนให้อภิปรายได้มากกว่านั้น แต่สมมติว่าจะมองหาบทสรุปรวบยอดเฉพาะจากประเด็นที่จั่วไว้ข้างต้น หนัง (และละครเพลง) ทั้ง 3 เรื่องที่ชวนคนดูตั้งคำถามว่า ‘ฉันคือใคร’ ก็มีจุดร่วมทางความคิดบางอย่างที่ละม้ายคล้ายคลึง อย่างน้อยที่สุด ทั้งหมดนั้นพยายามสื่อสารกับผู้ชมว่า ถึงที่สุดแล้ว คนเราไม่เหมือนกันและไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ความแตกต่างและหลากหลายเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมหรือภัยคุกคาม เหนืออื่นใด พวกเราเป็นมนุษย์มนาที่มีตัวตนและคุณค่า ไม่ใช่เพียงแค่อิฐก้อนหนึ่งในกำแพงแห่งอคติและความคับแคบ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านับวันผ่านพ้นไป สิ่งปลูกสร้างทางจินตนาการนี้จะถูกก่อร่างจนใหญ่โตและสูงตระหง่านมากขึ้น ข้อสำคัญ ดำรงอยู่ในแทบทุกองคาพยพของสังคมและอย่างน่าประหวั่นพรั่นพรึง

 

The post จาก Les Misérables ถึง Love, Simon และ Disobedience มนุษย์ผู้ถามหาตัวเอง appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/from-les-miserables-to-love-simon-and-disobedience/feed/ 0
Love, Simon หนังโรแมนติกคอเมดี้แบบฟีลกู๊ดที่โลกเราจะสวยงามหากยอมรับในกันและกัน https://thestandard.co/lovesimon/ https://thestandard.co/lovesimon/#respond Tue, 22 May 2018 13:26:28 +0000 https://thestandard.co/?p=92587

    *บทความนี้มีการเปิดเผยเรื่องราวภาพยนตร์ & […]

The post Love, Simon หนังโรแมนติกคอเมดี้แบบฟีลกู๊ดที่โลกเราจะสวยงามหากยอมรับในกันและกัน appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

 

*บทความนี้มีการเปิดเผยเรื่องราวภาพยนตร์

 

ถ้ามีคนถามว่า “ภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้แบบเมนสตรีมเรื่องแรกที่ค่าย 20th Century Fox ลงทุนสร้างเองจะออกมาในรูปแบบไหน” เราก็อาจนึกถึงภาพยนตร์ที่พระเอกในไฮสคูลมีบทพูด “Hey Sis I Love Ya!” “Yassss gurl” อยู่ตลอดเวลา หรือตัวละครอาจจะเปิดตัวด้วยการเดินแบบในฮอลล์โรงเรียนกับเพลง My! My! My! ของ ทรอย ซีวาน เพราะวงการฮอลลีวูดรักในการ Stereotype บทเกย์มาเสมอ

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Love, Simon’ คือประโยคเปิดที่สุดแสนจะเบสิกที่ว่า “I’m just like you” หรือที่แปลว่า ‘ผมก็เหมือนคุณ’ และในช่วงเวลา 110 นาทีของหนัง เราได้สัมผัสความอบอุ่นและความรู้สึกที่ว่าหากโลกจะเป็นแบบนั้นได้จริง คงจะวิเศษมากทีเดียว

 

Love, Simon ดัดแปลงมาจากหนังสือขายดีเรื่อง Simon vs. the Homo Sapiens Agenda ของนักเขียน เบ็กกี้ อัลเบอร์ทัลลิ เล่าถึง ไซมอน สไปเออร์ (แสดงโดย นิค โรบินสัน) เด็กหนุ่มมัธยมปลายวัย 17 ปี เขาเติบโตมาในครอบครัวที่เพอร์เฟกต์และเปลือกนอกดูมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่ในความเป็นจริงแล้วไซมอนรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์และกำลังประสบปัญหาที่จะ Come Out หรือเปิดเผยสถานะตัวเอง

 

จนวันหนึ่งมีแอ็กเคานต์นามแฝงที่ใช้ชื่อว่า ‘Blue’ ประกาศว่าตัวเองเป็นเกย์บนเว็บไซต์กอสซิปของโรงเรียนชื่อ Creek Secrets ไซมอนก็รีบสร้างอีเมลใหม่ พร้อมใช้ชื่อนามแฝงว่า ‘Jacques’ และทั้งคู่ก็มีการคุยกันผ่านอีเมลจนตกหลุมรักกันและกัน แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นหลังจาก มาร์ติน (แสดงโดย โลแกน มิลเลอร์) หนุ่มจากดราม่าคลับดันไปใช้คอมพิวเตอร์ในห้องสมุดต่อจากไซมอน โดยที่เขายังไม่ได้ล็อกเอาต์จากแอ็กเคานต์ ‘Jacques’ และพอได้อ่านข้อความทั้งหมดมาร์ตินก็ขู่จะแบล็กเมลหากไซมอนไม่ช่วยเขาไปออกเดตกับแอ็บบี้ (แสดงโดย อเล็กซานดร้า ชิปป์) เพื่อนสนิทของไซมอน

 

 

เสน่ห์ของ Love, Simon อยู่ที่ผู้กำกับ เกร็ก เบอร์ลานติ ได้สร้างภาพยนตร์โรแมนติกคอเมดี้ตามหลักสูตร ‘เบสิก’ ของหมวดนี้ที่ย่อยง่ายและเราคุ้นเคยกันมาโดยตลอด (กลับไปดูภาพยนตร์เก่าๆ ของ จูเลีย โรเบิร์ตส์ ได้) แต่สิ่งเดียวที่แตกต่างคือพระเอกที่ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อฮู้ด กระเป๋าเป้ และกำลังมีความรักกับผู้ชายอีกคน เกร็กไม่ได้พยายามจะมาสร้างหนังหมวด LGBTQ+ ที่ต้องละมุนละไม เรียกเสียงฮือฮา หรือมีชั้นเชิงในเนื้อหาที่จะขับเคลื่อนสังคม เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการเป็น Call Me By Your Name, Moonlight หรือ Brokeback Mountain เวอร์ชันเด็กไฮสคูลอเมริกัน

 

หนังเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าการเป็นเกย์คือสิ่งที่ปกติ มาพร้อมความหวังที่สวยงาม และโลกไม่ได้พังทลายหากคุณดันไม่ชอบเพศตรงข้าม ซึ่งเกร็กทำได้ดีเสมอมากับผลงานก่อนๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ Dawson’s Creek และ Riverdale ที่เขาเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ หรือภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตที่เขากำกับ The Broken Hearts Club: A Romantic Comedy (เกี่ยวกับความรักของเพื่อนกลุ่มเกย์ในทีมซอฟต์บอลที่ต้องเผชิญกับปัญหาการถูกยอมรับจากสังคมและสู้เพื่อสิทธิตัวเองมาเสมอ) แต่พลังของ Love, Simon กลับอยู่ที่การเป็นจุดเริ่มต้นของหนังค่ายใหญ่ที่คน LGBTQ+ สามารถเป็นพระเอกได้ ไม่ใช่ปรากฏตัวในบทเพื่อนรักนางเอกหรือตัวตลกโปกฮาเพียงอย่างเดียว

 

 

ถามว่าทำไม Love, Simon กับบริบทหลักของเรื่องเกี่ยวกับการ Come Out ถึงเวิร์ก ก็ต้องบอกว่าภาพยนตร์ออกมาในช่วงถูกที่ถูกเวลา เพราะถ้าเรื่องนี้ถูกสร้างเมื่อ 20 ปีก่อนก็ลืมไปได้เลยว่าคนจะยอมรับง่ายๆ และฮอลลีวูดอาจพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างให้เป็นหนังกระแสหลัก แต่เพราะหกเจ็ดปีที่ผ่านมากับโลกออนไลน์และความก้าวหน้าของสังคม เราเริ่มเห็นตัวอย่างของบุคคลที่เป็นเกย์และประสบความสำเร็จ เช่นบล็อกเกอร์  ไทเลอร์ โอกลีย์ (Tyler Oakley) และ คอนเนอร์ ฟรนตา (Connor Franta) นักร้อง แซม สมิธ (Sam Smith) หรือแม้แต่คลิกเข้าไปในยูทูบก็มีวิดีโอมากมายที่คนมาเล่าถึงประสบการณ์ตัวเองเช่นกระแสแคมเปญ ‘It Gets Better’

 

Love, Simon อาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่กระตุ้นให้คนกล้า Come Out และไม่ต้องรู้สึกเกรงกลัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Love, Simon ไม่ได้พยายามจะบี้ประเด็นนี้จนเกินไป และสร้างอารมณ์ว่าทุกคนต้อง Come Out โดยมีฉากสำคัญที่ไซมอนพูดกับมาร์ตินตอนโดนเปิดโปงให้ทั้งโรงเรียนรู้ว่าเขาเป็นเกย์ว่า “คนเราควรมีสิทธิ์เลือกที่จะเปิดเผยตัวเองเมื่อพร้อม” นี่เป็นประโยคที่ดีและทำให้เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้พยายามจะวาดฝันคอนเซปต์โลกสวยเพอร์เฟกต์อยู่ตลอดเวลา ทั้งยังเปิดพื้นที่สำหรับความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ

 

 

แต่ถ้าต้องเลือกสองฉากที่กินใจและจะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าทำไม Love, Simon จะปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนได้ ก็ต้องยกให้ตอนไซมอนเข้าไปคุยกับแม่ เอมิลี สไปเออร์ (แสดงโดยเจนนิเฟอร์ การ์เนอร์) และเธอได้บอกกับลูกชายตัวเองว่า “ถึงเวลาที่ลูกจะหายใจได้ทั่วท้องและเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด…ลูกสมควรที่จะได้ทุกอย่างในชีวิตตามที่ตัวเองตั้งเป้าไว้”

 

ส่วนฉากที่ไซมอนเข้าไปพูดกับคุณพ่อตัวเอง แจ็ค สไปเออร์ (แสดงโดย จอช เดอเมล) เราก็ได้เห็นพ่อที่สูงกว่าหกฟุต หุ่นดี และคงอยากให้ลูกตัวเองติดทีมบาสเกตบอล มาในเวอร์ชันที่เปราะบางและเสียใจที่ปล่อยให้ลูกตัวเองต้องทุกข์ใจกับการปิดบังว่าเป็นเกย์ ฉากนี้ทำให้เรานึกถึง Mr. Perlman พ่อของเอลิโอใน Call Me By Your Name ซึ่งเรารู้สึกดีใจที่ไม่ใช่แค่เด็ก LGBTQ+ จะได้เห็นตัวละครพ่อในรูปแบบนี้ แต่สำหรับคนที่เป็นพ่อเอง เราก็หวังว่าฉากนี้จะช่วยทำให้ได้ไตร่ตรองการดูแลเอาใจใส่ลูกของตัวเองไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร รวมทั้งเปิดใจยอมรักถ้าหากลูกตัวเองเลือกที่จะรักใครหรือใช้ชีวิตอย่างไร

 

 

ด้านเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถือว่ายอดเยี่ยมและหลายคนอาจต้องไปตามฟังเพลย์ลิสต์ เพราะได้ แจ็ก แอนโตนอฟฟ์ แห่งวง Bleachers มาดูแลทั้งหมด และหากใครเป็นแฟนอัลบั้ม Melodrama ของ ลอร์ด หรือ Reputation ของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่แจ็กเป็นโปรดิวเซอร์หลักของทั้งคู่ ก็จะชอบเพลงประกอบภาพยนตร์ Love, Simon เพราะจะมีพวกเสียงสังเคราะห์ Synthesizer ยุคป๊อป 80s เล่นอยู่ในแบ็กกราวด์หลายฉาก หรือในเพลง Strawberries & Cigarettes ของ ทรอย ซีวาน ที่แต่งขึ้นมาใหม่สำหรับเรื่องนี้

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังมีแนวเพลงอื่นๆ มาแซมด้วยเพื่อเพิ่มมิติ เช่นเพลงอาร์แอนด์บีที่กำลังดังอย่าง Love Lies ของ คาลิด และ Normani เพลงสไตล์ฟังก์ Love Me ของวง The 1975 ส่วนเพลงฮิตคลาสสิกของ วิตนีย์ ฮุสตัน อย่าง I Wanna Dance With Somebody (Who Loves Me) ก็ใช้ในฉากหนึ่งที่จะทำให้คนยิ้มและหัวเราะอย่างแน่นอน

 

พอมีหนังอย่าง Love, Simon ออกมา ทั้งยังประสบความสำเร็จด้านคำวิจารณ์ รายได้ที่บอกซ์ออฟฟิศ และกระแสชื่นชมต่างๆ นี่อาจเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าค่ายฮอลลีวูดพร้อมที่จะลงทุนกับหนัง LGBTQ+ ในสายเมนสตรีมมากขึ้น แทนที่จะแค่ซื้อลิขสิทธิ์มาฉายและกวาดรางวัล ซึ่งแน่นอนเราอาจจะยังไม่ถึงขั้นที่ ไรอัน เรย์โนลด์ส จะไปแสดงในหนังโรแมนติกคอเมดี้ที่เป็นทนายอยู่ย่าน Wall Street ในนิวยอร์กใส่สูท Tom Ford ทุกวัน และดันไปตกหลุมรักกับอาร์ทิสต์จากบรู๊คลิน แสดงโดย ไรอัน กอสลิง พร้อมมีฉากจูบกลางสายฝนตอนช่วงท้ายเรื่อง แต่อย่างน้อย Love, Simon ก็ทำให้เห็นว่าเรากำลังเดินหน้าไปในทางที่ถูก ในทางที่เราไม่นึกว่าจะมีโอกาสได้เห็น และในอนาคต คงเป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร ถ้าเราจะเห็นโปสเตอร์หนังที่มีผู้ชายสองคน ผู้หญิงสองคน หรือจะคนรูปแบบไหนก็ตามแต่ เพราะสุดท้ายเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกันหมดนั่นล่ะ

 

 

The post Love, Simon หนังโรแมนติกคอเมดี้แบบฟีลกู๊ดที่โลกเราจะสวยงามหากยอมรับในกันและกัน appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/lovesimon/feed/ 0
Love, Simon หนังดีจนเหล่าดาราเหมาโรงภาพยนตร์ฉายให้ดูกันฟรีๆ ทั่วอเมริกา https://thestandard.co/love-simon/ https://thestandard.co/love-simon/#respond Mon, 26 Mar 2018 02:17:38 +0000 https://thestandard.co/?p=79718

Love, Simon คือภาพยนตร์ที่ Forbes รีวิวว่าทั้งดี ทั้งคุ […]

The post Love, Simon หนังดีจนเหล่าดาราเหมาโรงภาพยนตร์ฉายให้ดูกันฟรีๆ ทั่วอเมริกา appeared first on THE STANDARD.

]]>

Love, Simon คือภาพยนตร์ที่ Forbes รีวิวว่าทั้งดี ทั้งคุ้มค่าเงินและเวลาของคนดูจริงๆ แถมทางฝั่ง IMDb ยังได้เรตสูงถึง 8.1 ทั้งหมดนี้คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Love, Simon ที่เข้าฉายมาแล้วสักพักยังสร้างกระแสแง่บวกไม่หยุด และกำลังจะกลายเป็นภาพยนตร์ขวัญใจมหาชนชาวอเมริกันเรื่องล่าสุด

 

Love, Simon เป็นภาพยนตร์โรแมนติกของกลุ่ม LGBTQ+ และเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ LGBTQ+ เรื่องแรกๆ ที่ได้เรต PG-13 ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ผู้คนในวงการภาพยนตร์พยายามผลักดันให้ Love, Simon กระจายฐานคนดูให้ได้มากที่สุด และด้วยวิธีที่น่ารักสุดๆ คือการที่นักแสดงตัวท็อปหลายๆ คนออกมาเหมาที่นั่งในรอบฉายของ Love, Simon ตามโรงภาพยนตร์เมืองต่างๆ แล้วโพสต์ลงอินสตาแกรมส่วนตัวเพื่อชวนให้ชาวเมืองนั้นๆ ออกมาดูหนังแบบฟรีๆ

 

อย่างเช่น แมตต์ โบเมอร์ นักแสดงสุดหล่อจากภาพยนตร์ Magic Mike ที่ออกมาเล่าว่าเคยปิดบังรสนิยมทางเพศในช่วงวัยรุ่น ก็ออกมาสนับสนุน Love, Simon ด้วยการเหมารอบฉายในเมืองเท็กซัส  

 

นีล แพทริก แฮร์ริส นักแสดงชื่อดังจากซีรีส์ How I Met Your Mother ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เหมารอบฉายในเมืองแอลบูเคอร์คี รัฐนิวเม็กซิโก โดยเขาเขียนแคปชันบอกแฟนๆ ว่าทั้งเขาและสามีรักภาพยนตร์เรื่องนี้มาก

 

คริสเตน เบลล์ อีกหนึ่งสาวที่ชอบภาพยนตร์เรื่องนี้มาก เธอโพสต์ภาพลงในอินสตาแกรมส่วนตัวพร้อมแคปชันว่า “มีหลายเรื่องราวสำคัญที่ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมา แต่ฉันดีใจมากที่หนังเรื่องนี้ได้ทำออกมา” และเธอยังเหมารอบ Love, Simon ในเมืองมินนีแอโพลิสอีกด้วย

 

Love, Simon เข้าฉายในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2018 และกลายเป็นภาพยนตร์ LGBTQ+ คุณภาพที่ติดตลาดแมสได้อย่างแท้จริง และได้รับรีวิวที่ดีจากสื่อแทบจากทุกที่ โดย Love, Simon เล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ไซมอน สเปียร์ ที่ไม่กล้าบอกพ่อแม่หรือแม้แต่เพื่อนว่าเขาเป็นเกย์ จนไปตกหลุมรักใครก็ไม่รู้ในโลกออนไลน์และกลายเป็นเรื่องราวสนุกๆ ที่กินใจใครหลายๆ คน

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ 

 

The post Love, Simon หนังดีจนเหล่าดาราเหมาโรงภาพยนตร์ฉายให้ดูกันฟรีๆ ทั่วอเมริกา appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/love-simon/feed/ 0