Heritage Matters – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 27 Jun 2025 07:37:49 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม https://thestandard.co/cultural-heritage-conservation-reform-thailand/ Fri, 27 Jun 2025 06:37:08 +0000 https://thestandard.co/?p=1089955 อาคารประวัติศาสตร์ในเมืองเก่าสงขลา แสดงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ต้องการการอนุรักษ์

การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมประเภทสิ่งปลูกสร้างของไทยกำลั […]

The post ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม appeared first on THE STANDARD.

]]>
อาคารประวัติศาสตร์ในเมืองเก่าสงขลา แสดงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ต้องการการอนุรักษ์

การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมประเภทสิ่งปลูกสร้างของไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตเงียบในระดับชาติ แม้จะมีความพยายามจากท้องถิ่นและมีกฎหมายบางฉบับที่นำไปใช้ได้ แต่ความคุ้มครองจากสิ่งเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมไปทุกกรณี ทำให้อาคารทรงคุณค่าเหล่านี้ทยอยสูญหาย อาคารเก่าที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารที่อยู่ในความครอบครองของเอกชน มักไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติโบราณสถานซึ่งล้าสมัย

 

ผลก็คือ สถานที่ที่มีคุณค่ามักถูกทุบทิ้งหรือดัดแปลงจนเสียหาย เรารื้อโรงภาพยนตร์เก่าซึ่งสะท้อนรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของไทย เราพัฒนาย่านตึกแถวดั้งเดิมให้กลายเป็นศูนย์การค้าใหม่ที่ตัดขาดจากวิถีชีวิตท้องถิ่น สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า เราสูญเสียอาคารที่สามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ความมั่งคั่ง และเอกลักษณ์ความเป็นไทยของเรา

 

อาคารประวัติศาสตร์ในเมืองเก่าสงขลา แสดงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ต้องการการอนุรักษ์

ภาพอาคารประวัติศาสตร์ในเมืองเก่าสงขลา

(ภาพ: ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ)

 

ปรับโครงสร้างกฎหมาย

 

เราสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้ สิ่งที่จำเป็นคือการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งด้านกฎหมายและการบริหารจัดการมรดก เราควรจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อดูแลมรดก พร้อมงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอ อำนาจด้านการอนุรักษ์ควรถูกกระจายให้แต่ละจังหวัดมีบทบาทอย่างแท้จริง และควรสร้าง “ระบบนิเวศ” ที่เกื้อหนุนการอนุรักษ์มรดก เช่น การเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมหลากหลายระดับ

 

เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องมีกฎหมายหลักฉบับใหม่ที่มุ่งคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้โดยเฉพาะ ซึ่งแยกออกจากพระราชบัญญัติโบราณสถานเดิมที่มีอายุกว่า 60 ปี มีตัวอย่างกฎหมายคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จของหลายประเทศที่สามารถนำมาปรับใช้กับบริบทไทยได้อย่างเหมาะสม กฎหมายฉบับใหม่นี้จะเปิดทางให้เกิดกฎหมายลูกและกลไกการบังคับใช้ที่เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้เรารักษาทรัพยากรทางมรดกอันประเมินค่ามิได้เหล่านี้ไว้ได้อย่างแท้จริง

 

กฎหมายนี้ควรระบุประเภทของมรดกอย่างชัดเจน โดยให้ความคุ้มครองทั้งโบราณสถานแห่งชาติและสถานที่ที่มีคุณค่าระดับท้องถิ่น พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การจัดการอย่างเป็นมาตรฐาน และต้องกำหนดให้มีการใช้ข้อมูล เช่น แผนที่มรดกทางวัฒนธรรมและผังแม่บท เพื่อสร้างมาตรฐานการคุ้มครองที่ชัดเจนและนำไปปฏิบัติได้จริง ข้อกำหนดลักษณะนี้พบได้ทั่วไปในกฎหมายด้านการจัดการมรดกที่มีประสิทธิภาพในต่างประเทศ

 

มองภาพรวม

 

น่าแปลกที่คนไทยภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง แต่กลับรู้สึกสิ้นหวังเมื่อพูดถึงการปกป้องมัน หนึ่งในสาเหตุอาจเป็นเพราะนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมรดกมักจดจ่ออยู่กับเรื่องแคบ ๆ เช่น โครงการวิจัยเฉพาะจุด สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง หรืออาคารประเภทใดประเภทหนึ่ง เราจำเป็นต้องมองเห็นภาพรวม

 

นั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าตั้งใจทำใน พ.ศ. 2564 ในฐานะบุคลากรของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าได้ศึกษาวิจัยเป็นเวลา 15 เดือน เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมมรดกที่เป็นสิ่งปลูกสร้างของเราทั่วประเทศจึงอยู่ในสภาวะเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าปัญหานั้นรุนแรงและแทรกซึมจนกลายเป็นสิ่งปกติของสังคม แต่หากเราระดมความพยายามในระดับชาติอย่างจริงจัง ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ และจะช่วยสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับประเทศไทย

 

ภาพอาคารประวัติศาสตร์ในเมืองเก่าสงขลา

(ภาพ: ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ)

 

กฎหมายที่กระจัดกระจาย ไม่ครอบคลุม

 

เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกรอบกฎหมายเฉพาะที่ครอบคลุมทุกรูปแบบของมรดก เจ้าหน้าที่จึงต้องพยายามปรับใช้ กฎหมายที่มีอยู่ในการปกป้องมรดกทางสถาปัตยกรรม ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มักใช้ได้ผลเฉพาะกับคุณสมบัติบางอย่าง หรือบางพื้นที่ หรือประเภทมรดก เช่น พระราชบัญญัติควบคุมอาคารเน้นควบคุมลักษณะอาคาร ความหนาแน่น และการใช้ที่ดิน ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์เมืองเก่าถูกใช้ในการจัดทำผังแม่บทเพื่อควบคุมการใช้พื้นที่และอาคารสำคัญ ส่วนพระราชบัญญัติผังเมืองใช้กำหนดเขตที่ควรอนุรักษ์ไว้

 

แม้จะดูดีในเชิงทฤษฎี แต่เมื่อถึงเวลาคุ้มครองอาคารที่เป็นมรดกจริง ๆ กฎหมายเหล่านี้กลับไม่เพียงพอ เพราะแต่ละฉบับมีอำนาจจำกัด และหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ดำเนินงานภายใต้กรอบแคบเฉพาะด้าน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความจำเป็นจริง

 

ภาพอาคารประวัติศาสตร์ในเมืองเก่าสงขลา

(ภาพ: ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ)

 

ยกตัวอย่าง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งอาจดูเหมือนจะช่วยอนุรักษ์มรดกเอกชนได้ ในหลายพื้นที่ท้องถิ่นทั่วประเทศ มีความพยายามร่างเทศบัญญัติภายใต้กฎหมายฉบับนี้ แต่กฎหมายนี้ถูกออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยของอาคาร ไม่ใช่เพื่ออนุรักษ์มรดก จึงมักก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่ตั้งใจ เช่น การรื้อถอนองค์ประกอบดั้งเดิมของอาคาร และการเสื่อมโทรมของย่านประวัติศาสตร์

 

สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เทศบัญญัติภายใต้กฎหมายฉบับนี้มักเน้นเรื่องความปลอดภัย เช่น กำหนดความกว้างของบันไดหรือทางเดิน ซึ่งส่งผลให้องค์ประกอบดั้งเดิมต้องถูกรื้อและแทนที่ ในบางกรณีอาคารเก่าถูกทุบทิ้งทั้งหมดและสร้างใหม่ในขนาดที่กฎหมายอนุญาตไว้สูงสุด

 

นอกจากนี้ บางพื้นที่มีกฎควบคุมให้ใช้องค์ประกอบอาคารแบบเดียวกัน เช่น สี รูปทรง หรือความสูง เพื่อให้ “เข้ากับเมืองเก่า” แต่หากพื้นที่นั้นมีความหลากหลายทางสถาปัตยกรรม การบังคับใช้วัสดุธรรมชาติหรือหลังคาลาดเอียงเหมือนกัน อาจทำลายความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ และทำให้อาคารทั้งหมดดูเหมือนกัน กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดทำให้การออกแบบที่สร้างสรรค์ถูกจำกัด ปัญหาเชิงระบบลักษณะนี้เห็นได้ในเมืองอย่างเชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สงขลา และอีกหลายแห่งที่กำลังค่อย ๆ สูญเสียเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของตนไป

 

ภาพอาคารประวัติศาสตร์ในเมืองเก่าสงขลา

(ภาพ: ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ)

 

การคุ้มครองอย่างรอบด้าน

 

ปัญหาเรื่องมรดกไม่สามารถแก้ได้ด้วยการเพิ่มมาตราใหม่ในกฎหมายเก่า และไม่เพียงพอหากเรามุ่งปกป้องเพียงย่านใดย่านหนึ่ง เพราะมรดกของเรากระจายอยู่ทั่วประเทศ เราจำเป็นต้องแก้ที่รากของปัญหาซึ่งมีความเชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อน

 

หากเรามีกฎหมายหลักด้านการอนุรักษ์มรดก และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเพียงพอ เราจะสามารถปกป้องและบริหารจัดการอาคารที่มีคุณค่าได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จในการอนุรักษ์มรดกจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และความรู้สึกเชื่อมโยงกับรากเหง้าของชาติ

 

มรดกคือ Soft Power ของไทย ขอให้เราดูแลมันให้ดี

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ. ดร.วิมลรัตน์ อิสระธรรมนูญ สถาปนิกและอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

 

Heritage Matters โดย สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์บทความแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และธรรมชาติ ของไทยและประเทศใกล้เคียง แต่ละฉบับมีผู้เขียนที่แตกต่างกัน ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

The post ไทยจำเป็นต้องปฏิรูปการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม appeared first on THE STANDARD.

]]>
มวยไทย : พัฒนาอย่างไรไม่ให้สูญราก https://thestandard.co/opinion-how-to-develop-muay-thai/ Fri, 21 Mar 2025 09:36:22 +0000 https://thestandard.co/?p=1054787

นานนับสิบปี ที่คนส่วนใหญ่รู้จักมวยไทยเพียงรูปแบบของการช […]

The post มวยไทย : พัฒนาอย่างไรไม่ให้สูญราก appeared first on THE STANDARD.

]]>

นานนับสิบปี ที่คนส่วนใหญ่รู้จักมวยไทยเพียงรูปแบบของการชกมวยถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ไม่รู้เลยว่ามวยไทยยังมีความหลากหลายลึกซึ้งกว่ามวยไทยเวทีที่คุ้นตา สมัยแรกๆ ใครจะฝึกมวยไทยได้ มักต้องเป็นนักมวยขึ้นชกเท่านั้น มวยไทยจึงไม่เป็นที่ฝึกฝนในวงกว้าง บรรดาเยาวชนไทยต่างไปฝึกวิชาการต่อสู้ของชาติอื่นๆ เพราะผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกหลานเจ็บตัว จนเมื่อภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘องค์บาก’ ได้นำเสนอมวยไทยในรูปแบบ ‘มวยโบราณ’ จึงเกิดกระแสนิยม เกิดทางเลือกอื่นๆ เช่น การเรียนมวยไทยเพื่อการออกกำลังกาย หรือการแข่งขันรูปแบบอื่น เกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก

 

เมื่อคำว่า ‘มวยโบราณ’ นั้น ‘ขายได้’ จึงเกิดการผลิตบุคลากรเกี่ยวกับมวยไทยมากขึ้น จากที่เคยมีกลุ่มมวยดั้งเดิมสืบสายฝึกกันมาก่อนกระแสนิยม เช่น มวยไชยาบ้านครูแปรง มวยครูเล็กบ้านช่างไทย มวยท่าเสาพระยาพิชัย กลุ่มสืบสานมวยโคราชสายครูบัว วัดอิ่ม โดยครูตุ้ย ฯลฯ ก็เริ่มมีผู้สนใจมากขึ้น บางสถาบันค้นคว้าจากตำรับตำรา เลือกมาเฉพาะไม้ที่ใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติ เช่น สมาคมครูมวยไทย สมาคมสยามยุทธ ฯลฯ ขณะที่บางกลุ่มซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังตามกระแสไม่ได้ลงทุนค้นคว้าฝึกฝน แต่ลอกเลียนกันมา หลายคนยังคงไม่รู้ว่ามวยไทยในแต่ละท้องถิ่นมีอัตลักษณ์ที่ต่างกัน ดังคำกล่าวดั้งเดิมของมวยสามสายหลักที่ว่า “หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา”

 

หรืออีกคำที่ว่า “หมัดตรงลพบุรี เตะดีโคราช ศอกเข่าสามารถมวยไชยา” บ่งบอกถึงไม้เด็ดที่เลื่องลือ ทั้งลีลาการจดมวยและไม้รบก็แตกต่างกันออกไป มวยใต้ไชยามีความรัดกุม ทุกคมข้อต่อล้วนเป็นทั้งอาวุธและปราการป้องกัน ไม่ว่าจะหมัด ศอก เข่า แข้ง แม้เพียงตั้งรับใครกระทบเข้าก็เจ็บจนล้า จดมวยย่อสมดุลดีแม้ตีมวยในเรือหรือดินเลนก็เจนจัด เพราะอาชีพถนัดส่วนหนึ่งเป็นชาวประมง และเกษตรกร มวยโคราชมีดีทางวงเตะแคบ หนักแน่นแม่นยำ และหมัดเหวี่ยงทรงพลัง จดมวยหนักเท้าหน้า ส่วนเท้าหลังยืนเขย่งเร่งกำลังส่งอาวุธ ด้วยเหตุว่าดินอีสานนั้นแห้งร้อน การเขย่งเท้าจึงเหมาะกับเคลื่อนที่เปลี่ยนทางย่างย่ำ มวยลพบุรีมีดีที่หมัดตรงและชั้นเชิงชาญฉลาด จดมวยหงายหมัดซ่อนการเคลื่อนไหว

 

ปัญหาคือบุคลากรปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ ‘รู้ลึก’ ในมวยไทยท้องถิ่นแต่ละสายแท้เช่น มวยโคราช มวยลพบุรี มวยไชยา และมวยท่าเสา นั้นกลับหาได้ยากยิ่ง จึงมีบุคลากรบางกลุ่มคิดแก้ปัญหานี้ โดยคิดว่าควรนำมวยแต่ละสายมาผสมผสานเป็นมวยเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐาน และคิดว่าเป็นการพัฒนา (โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์) ขณะที่บางกลุ่มอาจเห็นโอกาสทางธุรกิจ คิดผลิตมวย ‘โบราณ’ แบบฉาบฉวยคือ ‘ฉวย’ เอาท่าทางของมวยท้องถิ่น แล้วมา ‘ฉาบ’ หรือ ย้อมแมวให้ดูขลังเพื่อรีบขายให้ทันกระแส ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือเพราะสาเหตุหลักๆ คือ

 

พระเจ้าตานั่งแท่น

พระเจ้าตานั่งแท่น สาธิตโดยคุณครูทอง เชื้อไชยา (ทองหล่อ ยาและ)
และ ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล จากสารานุกรมไทย เล่มที่ 22 ตอนที่ 432 หน้าที่ 14216 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532

 

ใช้จินตนาการผิดเพี้ยน เกิดการบิดเบือนในการรวบรวมไม้มวยโดยดัดแปลงมาจากตำรามวยไทยเล่มหลักต่างๆ เช่น เล่มของ ยศ เรืองสา เล่มของ น.วงษ์ธนู แล้วตีความเอง เรียกว่ามวยโบราณ หรือประดิษฐ์ท่าใหม่โดยคลาดเคลื่อน เช่น จากท่ามวยดั้งเดิมชื่อว่า ‘พระเจ้าตานั่งแท่น’ บัญญัติขึ้นโดยครูทอง เชื้อไชยา (พระเจ้าตา คืออีกคำที่ลูกศิษย์ใช้เรียกฤๅษี) ท่านี้ถูกลอกเลียน แถมเรียกเพี้ยนไปเป็น ‘พระเจ้าตากนั่งแท่น’ โดยอ้างว่าเป็นท่าที่พระเจ้าตาก หรือพระเจ้าตากสินมหาราชทรงนั่งแท่น ซึ่งหากพระมหากษัตริย์จะประทับจริงแล้ว ย่อมประทับบนบัลลังก์ ไม่ใช่แท่น จึงนับเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์และหลักวิชาอย่างร้ายแรง

 

ไต่เขาพระสุเมรุ

ไต่เขาพระสุเมรุ (หนุมานเหยียบลงกา-ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย) สาธิตโดยคุณครูทอง เชื้อไชยา (ทองหล่อ ยาและ)
และ ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล จากสารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสภา เล่มที่ 22 ตอนที่ 432 หน้า 14214 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532

 

อีกตัวอย่างที่น่าวิตกคือ ไม้มวยชั้นสูงบางท่าจะมีเคล็ดวิชา ความลับ ต้องใช้เวลาฝึกฝนจริง จึงจะเข้าใจและทำได้ แต่เมื่อมีใครที่ไม่ได้ ‘ร่ำเรียน’ แต่ ‘ลอกเลียน’ ผลิตงานออกมาแบบมักง่าย เช่น การไม่รู้เคล็ดวิชา อาศัยจังหวะยืมแรงจากการเตะของคู่ต่อสู้ เพื่อไต่เท้าขึ้นตีศอก ในท่า ‘ไต่เขาพระสุเมรุ’ (หนุมานเหยียบลงกา) เลยเกิดเป็นลักษณะที่ผู้สาธิตนั้น ‘สมยอม’ ยืนย่อเข่าให้คู่ชกเหยียบขึ้นปีนป่าย ซ้ำช่วยจับขาของคู่ต่อสู้ไว้ให้เขาถองได้สบายไม่ร่วงหล่น แถมเรียกชื่อใหม่ว่าท่า ‘ฤๅษีบดยา’ จึงเป็นท่าสาธิตที่ดูเขลาเบาปัญญา เป็นเพียงการแสดงหลอกตา ผิดหลักวิชาไม่น่าเชื่อถือ ดูถูกภูมิปัญญาผู้ชมมากกว่าเป็นศิลปะในการต่อสู้ที่ใช้งานได้จริง

 

มาตรฐานที่ไร้ราก ด้วยความที่ไม่ศึกษา ใส่ใจรากฐานความเป็นมา สภาวะแวดล้อม สภาพทางธรรมชาติ อันเป็นที่มาของอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น ทำให้เกิดความพยายามหลอมรวมมวยไทยอย่างไร้ความประณีต โดยอ้างว่าเป็นมวยไทยเหมือนกันไม่ควรแบ่งแยก มวยที่สังเคราะห์ขึ้นโดยความไม่เข้ากัน จึงไม่แตกต่างกับการนำแกงส้ม เทผสมกับต้มยำ แล้วใส่เครื่องพะโล้ เป็นการทำลายรสชาติให้แปร่งปร่า ทิ้งรากอารยธรรมและหากนำสืบค้นประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา จะกลายเป็นว่ามวยไทยได้รับการบัญญัติมาตรฐานเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ อาจจะเข้าทางเพื่อนบ้านช่างเคลมได้ เป็นการสร้างข้อจำกัดในการอ้างสิทธิ์และทำลายแต้มต่อของเราเอง

 

มุมมองของการแก้ปัญหา สองประเด็นที่เป็นไปได้ในความเห็นของผู้เขียนคือ

 

แนวทางการอนุรักษ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา ควรเชิญปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้จริงที่สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิม เพิ่มเติมจากงานวิจัยทางการศึกษาจากเอกสารที่ส่งต่อกันมา เน้นความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของมวยแต่ละสายให้ชัดเจน ไม่ปนกันดังที่ปรากฏในปัจจุบันซึ่งแยกแยะไม่ออกว่าเป็นมวยสายไหน เพราะทั้งท่วงท่าและการแต่งกายเหมือนกันไปหมด

 

แนวทางการพัฒนา หากจะทำเป็นมวยไทยมาตรฐานหรือมวยไทยร่วมสมัย อาจทำได้โดยการรวบรวมและเรียบเรียงไม้มวยไทย แล้วเรียกชื่อให้ถูกต้องตามแบบของมวยไทยแต่ละสาย เช่น เตะแบบโคราช เตะแบบไชยา หรือศอกแบบท่าเสา ไม่ผสมผสานกันแล้วบัญญัติท่าขึ้นใหม่ ซึ่งผู้ฝึกไม่สามารถสืบค้นย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดได้ เปรียบดังการรักษาเมล็ดพันธุ์กาแฟดั้งเดิมแบบ Single Origin ไว้ จะนำไปผสมผสานกับเมล็ดสายพันธุ์ใดตามรสนิยมแบบ Blended สูตรใดก็ทำได้ แต่ถ้าไปตัดแต่งพันธุกรรมจนกลายพันธุ์ การรังสรรค์สูตรใหม่ๆ ก็ขาดทรัพยากรและสูญพันธุ์ในที่สุด

 

หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จริงจังในเรื่องนี้ รอจนผู้รู้จริงล้มหายตายจากไป ไม่ช้าศิลปะมวยไทยแท้แต่ดั้งเดิมจะเลือนหายไปเป็นเพียงการละเล่น เป็นการแสดงที่ฉาบฉวยขาดความน่าเชื่อถือ จนเสื่อมสลายไปอย่างน่าเสียดาย กลายเป็นสมบัติที่ชนชาติอื่นกล่าวอ้างไปได้ในที่สุด

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์บทความแสดงความคิดเห็นเพื่อรณรงค์การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และธรรมชาติ ของไทยและประเทศใกล้เคียง แต่ละฉบับมีผู้เขียนที่แตกต่างกัน ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

 

ปรับปรุงต้นฉบับ: ศุทธดา อชิรกัมพู

เกี่ยวกับผู้เขียน: สมศักดิ์ วิวัฒน์ไพศาล ศิษย์สายตรงของครูบัว (รท.บัว นิลอาชา) ประธานกลุ่มสืบสานมวยไทยโคราชสายครูบัว วัดอิ่ม

The post มวยไทย : พัฒนาอย่างไรไม่ให้สูญราก appeared first on THE STANDARD.

]]>
ฟื้นฟูพุทธตำนานล้านนา ช่วยอนุรักษ์มรดกที่สำคัญ https://thestandard.co/opinion-reviving-lanna-buddhist/ Fri, 06 Dec 2024 12:07:14 +0000 https://thestandard.co/?p=1016776

ขณะที่ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนยกย่องเส้นทางซานติอาโกคอ […]

The post ฟื้นฟูพุทธตำนานล้านนา ช่วยอนุรักษ์มรดกที่สำคัญ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ขณะที่ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนยกย่องเส้นทางซานติอาโกคอมโพสเตลา (Routes of Santiago de Compostela) ของสเปน ซึ่งมีความเป็นมาราวศตวรรษที่ 9 ให้เป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ ค.ศ. 1985 เพราะเป็นเส้นทางแสวงบุญสำคัญของยุโรปและที่มีจุดหมายปลายทางเป็นที่ฝังร่างของนักบุญ James the Greater 1 ใน 12 อัครสาวกของพระเยซูผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ ปัจจุบันเส้นทางนี้ก็ยังคงดึงดูดนักเดินทางในรูปผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนนับล้านคน

 

แต่ในกรณีของเอเชียนั้น เส้นทางศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงกับ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ทั้งในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของ ‘พุทธอาณาจักร’ คืออาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมขององค์พระศาสดา และเป็นทั้ง ‘พุทธกายา’ ด้วยเป็นพื้นที่ของปูชนียสถานและปูชนียวัตถุอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์ เช่น รอยพระบาท เส้นพระเกศา และพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งถือว่าเป็นทั้งเส้นทางและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเอเชียที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์สุ่มเสี่ยงกับการเลือนหายไป

 

ใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า ‘เขารังรุ้ง’ 
เป็นเสมือนเขตแดนระหว่างเมืองแพรหลวง (จีน) เมืองแสนหวี และหริภุญชัย
โดยในแผนที่ของพระวิภาคภูวดล (James McCarthy) 
ซึ่งเข้ามาจัดทำแผนที่ฉบับแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 
นั้นได้ระบุตำแหน่งของดอยจักต่อ (รังรุ้ง) ไว้ในแผนที่ด้วย 
ปัจจุบันดอยรังรุ้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองโต๋น รัฐคะยา สหภาพเมียนมา

 

ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เป็นวรรณกรรมสำคัญทางพุทธศาสนาของล้านนาที่คัดลอกสืบต่อกันมากว่า 500 ปี แพร่หลายในพื้นที่ซึ่งได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบล้านนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และเมืองเชียงตุง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยการเสด็จฯ เดินทาง ‘เลียบโลก’ ของพระพุทธเจ้ามายังตอนบนของอุษาคเนย์ ครอบคลุมรัฐจารีต 6 แห่ง คือ มาว, น่านเจ้า, เชียงตุง, สิบสองปันนา, ล้านนา และมอญ

 

ตำนานได้กล่าวถึงการสถาปนาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ระหว่างเส้นทางเสด็จ เนื่องจากพระพุทธองค์ได้ประทับพระบาท ประทานพระเกศาธาตุ และทรงกำหนดว่าหลังการเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พื้นที่ใดจะเป็นพื้นที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุส่วนใด และทรงทำนายถึงความรุ่งเรืองและความเสื่อมทรามของชุมชน หมู่บ้าน หรือเมืองต่างๆ ตลอดถึงวิถีชีวิตของผู้คนบนเส้นทางเสด็จผ่านทั้งมนุษย์และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ฮ่อ, ลัวะ, ลื้อ, ไทยวน, ยาง, ข่า และอมนุษย์ เช่น ยักษ์ นาค และสิงห์

 

 

ตำนานพระเจ้าเลียบโลกระบุไว้ว่า พระสารีริกธาตุส่วนต่างๆ ที่สำคัญของพระพุทธองค์นั้นจะประดิษฐานอยู่ในเขตพื้นที่ล้านนาเป็นส่วนใหญ่ กล่าวได้ว่าล้านนาจึงเป็นดินแดนแห่ง ‘พุทธกายา’

 

ตำนานพระเจ้าเลียบโลก จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของภูมิภาคที่แสดงเรื่องราว ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมข้ามพรมแดนรัฐชาติและวัฒนธรรม เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชุมชน การก่อตัวเป็นบ้าน-เมือง และความสัมพันธ์ในทางการค้า เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของผู้คน ที่หลากหลาย 

 

ผ่านเรื่องเล่าการเสด็จมาเผยแผ่พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าที่ครอบคลุม 4 ประเทศ ในปัจจุบันคือดินแดนภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เขตพะโค-หงสาวดี และดินแดนตอนเหนือฟากทิศตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำสาละวินในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เขตลุ่มแม่น้ำโขง สิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และภูมิภาคตอนบนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

แผนที่แสดงตำแหน่งต่างๆ ของรอยพระพุทธบาท พระเกศาธาตุ และพระธาตุ 
ตามที่กล่าวไว้ใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก 
เทียบกับการกำหนดตำแหน่งด้วยระบบ GPS 
แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดในทางวัฒนธรรมของผู้คนในเขตตอนบน
ของเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ภายใต้กรอบโครงความเชื่อทางพุทธศาสนา

 

เรื่องราวที่กล่าวถึงใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก นั้นเป็นทั้งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในทางพุทธศาสนาและเส้นทางแสวงบุญของพุทธศาสนิกชนมานานนับศตวรรษ เส้นทางดังกล่าวนี้ได้ซ้อนทับกับเส้นทางสัญจรของผู้คน พระสงฆ์ และเส้นทางของขบวนสินค้าที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในภูมิภาค

 

พุทธบัลลังก์ สถานที่ที่เชื่อว่าเป็นที่พำนักแห่งหนึ่งของพระพุทธเจ้าขณะเดินทางเลียบโลก
ปัจจุบันถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นแหล่งแสวงบุญของคนไทลื้อ
ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองลวง เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

พระบาทเมืองอูใต้ เดิมทีถือว่าตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของเมืองอูเหนือและอูใต้ 
ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองอูใต้ เขตพงสาลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

ปัจจุบันพื้นที่และเส้นทางที่กล่าวถึงใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ต้องเผชิญกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมาก หลังพัฒนาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในอัตราเร่ง ทั้งในมณฑลยูนนานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ลาว และไทย การสร้างเส้นทางเชื่อมต่อใหม่ๆ เช่น เส้นทางรถไฟความเร็วสูง และถนนหลายช่องทางจราจร ที่ทำให้การไหลเวียนของผู้คนข้ามพรมแดนเป็นไปได้โดยสะดวก นำไปสู่การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของชุมชนและหมู่บ้าน

 

ในขณะเดียวกันเส้นทางเชื่อมต่อใหม่ๆ นี้ได้ ‘ตัดพาด ข้ามผ่าน’ เส้นทาง ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ดั้งเดิม ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของพระสงฆ์และพ่อค้าในอดีต เช่น เส้นทางค้าข้าว เกลือ หมาก พลู และชา หรือเส้นทางออกสู่ทะเล ซึ่งเคยเชื่อมโยงผู้คนและชุมชนหลายวัฒนธรรมต้องเปลี่ยนแปลงไป ความทรงจำเกี่ยวกับเส้นทางในตำนานก็เริ่มลบเลือนไป

 

พระบาทรังรุ้งคือพระพุทธบาท 4 รอย ประดิษฐานอยู่เหนือยอดดอย
เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่อดีต
และยังคงเป็นพื้นที่แสวงบุญสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน

 

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังทำให้ร่องรอยของมรดกทางวัฒนธรรมทั้งในเชิงกายภาพ (Tangible Cultural Heritage) ได้รับผลกระทบด้วย เช่น สภาพทางธรรมชาติ อย่างเช่น ภูเขา ถ้ำ แม่น้ำ รอยพระพุทธบาท หรือสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา เช่น วิหาร ศาลาที่พักระหว่างทาง หรือพระธาตุเจดีย์ที่เชื่อว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุถูกทำลาย โยกย้าย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม สร้างผลกระทบต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) ที่เชื่อมโยงกับ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ด้วยเช่นกัน

 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม หรือระบบในการจัดการดูแลพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละชุมชนให้เสื่อมคลายไป อันเป็นผลจากการสร้างหรือขยายเส้นทางสัญจรใหม่ๆ ในภูมิภาค

 

นี่คือข้อท้าทายใหม่ว่ามรดกเส้นทางศักดิ์สิทธิ์อันเก่าแก่ของเอเชียนี้จะมีตำแหน่งแห่งที่ในอนาคตข้างหน้าอย่างไร

 

ในปีที่ผ่านมา ตำนานพระเจ้าเลียบโลก มีอายุครบ 5 ศตวรรษ น่าจะถือเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มประเทศในพุทธอาณาบริเวณ (Buddhism Space) ของ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เช่น ไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน เมียนมา และลาว จะได้ร่วมกันสำรวจสถานภาพของพื้นที่ ชุมชน หรือเมืองต่างๆ ตามที่ได้อ้างถึงใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ร่วมกัน

 

จากงานวิจัยของผู้เขียนใน พ.ศ. 2564 ที่ศึกษาเส้นทางของตำนานผ่านระบบสารสนเทศ ภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ร่วมกับการสำรวจพื้นที่จริงของเมืองต่างๆ พบว่ามีเมืองที่กล่าวไว้ในตำนานสามารถระบุพิกัดได้จริงมากกว่าครึ่งหนึ่ง (71 เมืองจาก 141 เมือง) ซึ่งผู้คนในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ก็ยังคงมีความทรงจำเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานที่เชื่อมโยงกับสภาพภูมิศาสตร์ในพื้นที่ได้

 

เมื่อมองจากวัดพระธาตุดอยเกิ้ง ตำบลท่าเดื่อ อำเภอดอยเต่า จะมองเห็นแม่น้ำปิง 
ซึ่งเป็นบริเวณตามที่กล่าวอ้างไว้ในตำนานว่า ตำนานพระเจ้าเลียบโลก 
ถูกคัดลอกขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดเชิงดอยเกิ้งใน พ.ศ. 2066

 

การรวบรวมความทรงจำของชุมชนนี้จะช่วยฟื้นคืนเส้นทางศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังจะสูญหายไปให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งได้ด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขันระหว่างรัฐ นักวิชาการ พระสงฆ์ และชุมชน เช่น การสำรวจและรวบรวมเอกสาร ตำนาน ประเพณี และพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ในแต่ละท้องที่ เพื่อการศึกษาและเปรียบเทียบ เช่น การเทศน์ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ในงานบุญประจำปีของท้องถิ่น, การจัดงานเทศกาล, งานประเพณีบูชาพระบาทพระธาตุของแต่ละชุมชน, การศึกษาเครือข่าย และเส้นทางการจาริกแสวงบุญในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตาม ตำนานพระเจ้าเลียบโลก

 

จะได้สร้าง ‘บทสนทนา’ ข้ามพื้นที่ ข้ามวัฒนธรรม และข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับการรักษาเส้นทางวัฒนธรรมอันศักดิ์สิทธิ์เส้นนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไปเช่นในหลายศตวรรษที่ผ่านมา

 


 

คำอธิบายภาพเปิด: ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับวัดพระเกิด อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน คัมภีร์ใบลาน จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี และภาษาล้านนา อายุ 117 ปี คือหนึ่งในคัมภีร์ที่สืบเนื่องมาจากการคัดลอกครั้งแรกในล้านนาเมื่อ 500 ปีก่อน

 

เรื่องและภาพโดย: สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

ปรับปรุงต้นฉบับ: คุณศุทธดา อชิรกัมพู

 

Heritage Matters โดย สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์บทความแสดงความคิดเห็นเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และธรรมชาติ ของไทยและประเทศใกล้เคียง แต่ละฉบับมีผู้เขียนที่แตกต่างกัน ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

 

ท่านสามารถสนับสนุน Heritage Matters ได้ผ่านช่องทางนี้: https://thesiamsociety.org/th/make-a-donation/ 

 

อ้างอิง:

  • สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และ วัลลภ ทองอ่อน ‘พุทธภูมิกายาและล้านนาประเทศ’ อ่านตำนานพระเจ้าเลียบโลกผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564

The post ฟื้นฟูพุทธตำนานล้านนา ช่วยอนุรักษ์มรดกที่สำคัญ appeared first on THE STANDARD.

]]>
สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม: การลงทุนอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ https://thestandard.co/opinion-cultural-assets/ Thu, 11 Apr 2024 06:16:47 +0000 https://thestandard.co/?p=921831

มรดกทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประเทศไทย มิ […]

The post สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม: การลงทุนอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ appeared first on THE STANDARD.

]]>

มรดกทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประเทศไทย มิได้เป็นเพียงแหล่งความเพลิดเพลินและความภาคภูมิใจของประชาชนเท่านั้น แต่ยังนับได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศรองจากประชากร และมรดกเหล่านี้ยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้คน เป็นสิ่งเกื้อหนุนสวัสดิการทางสังคมและเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เป็นสิ่งควรค่าแก่การดูแล

 

แม้กระนั้น น่าเสียดายที่ระบบการอนุรักษ์มรดกของประเทศนั้นยึดโยงไว้กับนโยบายที่มีอายุเกินกว่า 6 ทศวรรษ เป็นระบบที่มีมาตั้งแต่ก่อนยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูและการขยายตัวของเมือง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นกฎหมายที่มีขอบเขตคับแคบ ซึ่งจำกัดการคุ้มครองเฉพาะแหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุ และสถาปัตยกรรมที่มีอายุเก่าแก่มาก ซึ่งโดยปกติจะมีอายุมากกว่า 100 ปี

 

มรดกที่มีค่ามากมายนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหลังๆ และทั่วทุกถิ่นในประเทศไทยมรดกดังกล่าวนั้นได้ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันตลอดจนวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้ลองระลึกถึงย่านเมืองเก่า ชุมชนตึกแถว ชุมชนริมน้ำ วัด แผงลอยขายของ ตลาดสด บ้านไม้เก่าแก่ อาคารสาธารณะ และมรดกทางอุตสาหกรรม เช่น สถานีรถไฟเก่า และโกดังสินค้า

 

ถึงแม้มรดกเหล่านี้จะมีคุณค่าสูง แต่ส่วนใหญ่ขาดการคุ้มครองจากทางการหรือขาดงบประมาณสำหรับการอนุรักษ์ กรมศิลปากร สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับงบประมาณประจำปี 2566 เพียง 2.2 พันล้านบาท แต่มีภารกิจอื่นๆ นอกเหนือจากการอนุรักษ์ กรมศิลปากรมีการออกคำเตือนเพื่อคุ้มครองสินทรัพย์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม แต่หน่วยงานอื่นๆ นั้นมักขาดกำลังความสามารถหรือขาดความตั้งใจในการดำเนินการ

 

ด้วยระบบอันล้าสมัย ประเทศไทยจึงสูญเสียทรัพยากรที่เป็นมรดกอันล้ำค่าไปในทุกๆ ปี ในขณะเดียวกัน การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมก็ไม่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญในระดับชาติ เฉกเช่นในหลายประเทศ เรื่องเหล่านี้มักไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับภาคประชาชน หน่วยงานราชการ หรือผู้นำทางการเมือง ซึ่งทำให้บรรษัทข้ามชาติ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และสถาบันต่างๆ มีอิสระในการแสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้นจนทำให้มรดกเหล่านี้ทรุดโทรมก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมในระยะยาว

 

สถานการณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้ รัฐบาลควรพัฒนาแนวทางใหม่ที่มีพลวัตมากขึ้น โดยปรับแนวปฏิบัติที่เป็นสากลให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย เพื่อปฏิรูปนโยบาย กฎหมาย และข้อบังคับด้านมรดกของชาติ ภายใต้แผนระยะยาว มรดกทางวัฒนธรรมของทุกจังหวัดควรได้รับการสำรวจ โดยมีสิ่งจูงใจ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณและการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่น ประเทศไทยควรจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางขึ้น เช่นเดียวกับองค์กรพิทักษ์มรดกแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (National Trust of Korea) หรือองค์กรเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอินเดีย (Indian National Trust for Art and Cultural Heritage)

 

เมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างโครงการยักษ์มูลค่ากว่าล้านล้านบาท การลงทุนในสินทรัพย์ด้านมรดกทางวัฒนธรรมจะมีต้นทุนที่ต่ำมาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว มรดกเหล่านี้ได้ถูกสร้างไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม การรักษามรดกเหล่านี้ไว้จะเป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความก้าวหน้าในทุกจังหวัด ตัวอย่างในประเทศไทยและทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า มรดกทางวัฒนธรรมนั้นช่วยส่งเสริมการศึกษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาชีพ ชุมชน ความรู้สึกผูกพันกับท้องถิ่น และคุณภาพชีวิต

 

การจัดแสดงผลงานศิลปะกลางแจ้ง

(ภาพ: ไบรอัน เมอร์เทนส์)

 

รากเหง้าแห่งความสร้างสรรค์

 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นตัวอย่างที่ดี ชาวไทยที่เป็นสถาปนิก นักออกแบบ ศิลปิน นักจัดนิทรรศการ นักดนตรี นักแสดง ผู้สร้างภาพยนตร์ และบุคลากรด้านสร้างสรรค์อื่นๆ มักดึงเอาแรงบันดาลใจจากทรัพยากรมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้เป็นทุนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ พิพิธภัณฑ์ อาคารเก่า และสถานที่อันร่ำรวยด้วยประวัติศาสตร์ล้วนเป็นแหล่งบ่มเพาะแรงบันดาลใจที่ทรงพลัง ทั้งศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย ดนตรี การฟ้อนรำ เทศกาล วรรณกรรม และอาหารท้องถิ่น ล้วนเป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างสรรค์มาหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษที่ผ่านมา แต่กลับยังคงสร้างคุณค่าอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

ทั้งหมดนี้ได้รับการฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาที่ในงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ (Thailand Biennale) หรืองานแสดงศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงรายจนถึงวันที่ 30 เมษายน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม งานนี้นำโดยทีมนักจัดนิทรรศการชาวไทยผู้มีประสบการณ์ยาวนาน และมีการนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมอย่างละเอียดอ่อน โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพและวัฒนธรรมเป็นอันดับแรก แทนที่จะเป็นด้านการค้าและการท่องเที่ยว

 

ศิลปินกว่า 60 คนจากประเทศไทยและอีก 25 ประเทศทั่วโลกได้ทำงานร่วมกันกับช่างฝีมือท้องถิ่น นำวัสดุ ตลอดจนเรื่องราวท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นมาในบริบทของเชียงรายโดยเฉพาะ ผลงานศิลปะเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัดบนพื้นที่ภูเขา มากกว่า 20 แห่ง ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงเก็บยาสูบเก่า ขบวนรถไฟ ศูนย์ปฏิบัติธรรม และเจดีย์โบราณ นอกจากนี้ ชุมชนต่างๆ ยังจัดแสดงผลงานของศิลปินอีกหลายร้อยท่าน เปิดโอกาสให้เข้าชมสตูดิโอได้อย่างใกล้ชิด มีทั้งการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การฉายหนังกลางแปลง อาหารริมทาง กิจกรรมสำหรับเด็ก และการแสดงดนตรี นาฏกรรม ครบครันแบบเทศกาลไทยแท้ 

 

พลังแห่งความหลากหลาย

 

เพื่อความชัดเจน งานไทยแลนด์เบียนนาเล่ไม่ใช่โครงการอนุรักษ์ แต่เป็นเพียงโครงการทดลองและจัดขึ้นแบบชั่วคราว ไม่ได้มุ่งเน้นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่เสี่ยงถูกทำลาย บันทึกประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าสืบต่อกันมา หรือวิจัยโบราณวัตถุ แนวทางการอนุรักษ์ดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกจังหวัด แต่กิจกรรมเบียนนาเล่ของประเทศไทยจะช่วยขับเคลื่อนวัฒนธรรมไทยอันล้ำค่าให้เป็นที่ประจักษ์ ช่วยยกย่องพลังของชุมชน ความหลากหลาย มุมมองเชิงวิพากษ์ และการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง

 

แนวทางการจัดงานเชิงทดลองนี้สะท้อนถึงธรรมชาติของศิลปะร่วมสมัย ทุกวันนี้ศิลปะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของภาพวาดและประติมากรรมที่สวยงามเท่านั้น ศิลปินปัจจุบันต้องการเปิดผัสสะและจิตใจให้กับประสบการณ์ใหม่และมุมมองเกี่ยวกับตัวตนและโลก ณ งานเบียนนาเล่ ศิลปินได้รวมเอามรดกทางวัฒนธรรมมารังสรรค์ลวดลายอันละลานตาด้วยโลกทัศน์อันหลากหลายของอดีตที่ผ่านมา

 

ตัวอย่างหนึ่งคือภาพยนตร์สารคดี เรื่อง ‘พลัดถิ่น ดินแดนใคร’ (Displaced in Whose Land?) ของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินไทย-อินเดียจากเชียงใหม่จังหวัดใกล้เคียง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ตัวเขาได้เดินทางไปพบปะพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับชาวบ้านอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระหว่างร่วมรับประทานก๋วยเตี๋ยวสูตรเฉพาะที่สืบทอดกันมาของแต่ละครอบครัว เขาได้เรียนรู้เรื่องราวการอพยพย้ายถิ่นฐานของบรรพบุรุษของผู้คนเหล่านั้น ภาพยนตร์นั้นเผยให้ทราบว่าบางชุมชนในพื้นที่นั้นมีความคล้ายคลึงกับผู้คนชาวเมียนมา ลาว และจีนมากกว่ากับคนกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านได้อพยพเข้ามายังภาคเหนือของประเทศไทยบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว ภัณฑารักษ์ต่างเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น’ (Translocalism) ซึ่งเป็นความเป็นจริงของจังหวัดที่อยู่ชายแดน นอกจากนี้ นาวินยังได้วาดป้ายภาพยนตร์ขนาดใหญ่สไตล์บอลลีวูดเพื่อแสดงภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

 

รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ ศิลปินผู้ร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale เล่าเรื่องผลงานศิลปะของตนเองที่ช่วยให้ชาวบ้านได้อนุรักษ์บ้านไม้สักเก่า 

(ภาพ: ไบรอัน เมอร์เทนส์)

 

อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจคือ กลุ่ม 101 เฮือนโบราณล้านนา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าบ้านไม้เก่าแก่ของไทยนั้นยังคงถูกรักษาเอาไว้ได้ ศิลปินนามว่ารุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ได้อุทิศเวลานับปีในการช่วยเหลือครอบครัวต่างๆ ให้อนุรักษ์บ้านพักอาศัยของพวกเขา แทนที่จะขายไม้สักเป็นเศษซาก ผลงานจิตรกรรมของเขาสะท้อนถึงความงดงามของสถาปัตยกรรมอันมีความสำคัญเหล่านี้

 

ชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูงมักจะถูกนำเสนอในแคมเปญการท่องเที่ยวและโครงการเพื่อการกุศล แต่ที่งานเบียนนาเล่ครั้งนี้ ชาวเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสสื่อสารด้วยตนเอง บู๊ซือ อาจอ ศิลปินชาติพันธุ์อาข่าผู้ซึ่งเรียนรู้ศิลปะด้วยตนเอง นำเสนอผลงานจิตรกรรมแนวศิลปะเอ็กซ์เพรสชันนิสม์บนหนังสัตว์ เล่าเรื่องราวของวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งในเดือนเมษายนเบียนนาเล่จะจัดงานเทศกาลดนตรีของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูงด้วย นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการผลงานของศิลปินมุสลิมจากภาคใต้ตอนลึกของประเทศไทยด้วย

 

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ศิลปินจากจังหวัดเชียงรายและหนึ่งในผู้จัดงาน ได้กล่าวว่า การให้โอกาสทุกคนอย่างทั่วถึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของงานเบียนนาเล่ในครั้งนี้ ในระดับนานาชาติงานศิลปะเบียนนาเล่มักจะเป็นงานสำหรับชนชั้นสูง จัดขึ้นในเมืองใหญ่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ โดยมีมหาเศรษฐี คนมีชื่อเสียง และศิลปินดาวเด่นมาร่วมงาน ผลงานศิลปะชิ้นใหญ่จะถูกขนส่งมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลและปล่อยก๊าซคาร์บอน

 

การจัดแสดงผลงานศิลปะกลางแจ้งที่อำเภอเชียงแสน นำเสนอภาพวาดเก่าแสดงวิธีการจับปลาบึกแม่น้ำโขง

(ภาพ: ไบรอัน เมอร์เทนส์)

 

คนท้องถิ่นต้องมาก่อน

 

ทีมงานชาวไทยจึงเลือกจะแทนที่ด้วยการเชิญศิลปินทั้งหลายส่วนใหญ่มาสร้างสรรค์ผลงานที่สถานที่จัดงาน โดยร่วมมือกับช่างปั้นหม้อ ช่างปักผ้า ช่างตีเหล็ก ช่างไม้ และช่างทอผ้าท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น หวังเหวินจี้ ศิลปินชาวไต้หวัน ได้สั่งซื้อไม้ไผ่จำนวน 20,000 ลำจากผู้จำหน่ายในจังหวัดเชียงราย และร่วมงานกับช่างฝีมือท้องถิ่นในการสร้างศาลาไม้ไผ่ที่สวยงามสำหรับจัดแสดงงานประติมากรรม ช่างฝีมือไทยและไต้หวันจึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคจากกันและกัน

 

ชุมชนหลากหลายของจังหวัดเชียงราย ได้เปิดรับโอกาสในการสำรวจประวัติศาสตร์ความเป็นมาและความคิดสร้างสรรค์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติผู้มีชื่อเสียงจากการสร้างวัดร่องขุ่น สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการจัดงานครั้งนี้ นักธุรกิจท้องถิ่นรายหนึ่งบริจาคเงิน 9 ล้านบาท พร้อมที่ดิน 6 ไร่ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครนับร้อยคนมาช่วยงานนี้

 

“ชาวเชียงรายรู้สึกเสมือนว่าตนเองเป็นเจ้าภาพผู้จัดงาน ว่าพวกเขาต่างหากที่เป็นหัวหน้างาน ไม่ใช่รัฐบาล” อังกฤษกล่าว “ผู้คนบอกผมว่า นักจัดงานนั้นทำงานหลายสิ่งเหลือเกิน แต่มีอีกหลายโครงการที่พวกเราไม่เคยได้รู้เลยด้วยซ้ำ มันเหมือนเราได้ปลูกต้นไม้และรดน้ำ แล้วตอนนี้ต้นไม้และดอกไม้ก็เติบโตขึ้นมาอยู่รอบไปหมด”

 

เบียนนาเล่ในอนาคตจะหมดสีสันหากมรดกท้องถิ่นยังคงทยอยสูญหายไป การลงทุนระดับชาติในด้านทรัพยากรสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของประเทศไทยจะช่วยเป็นหลักประกันได้ว่ามรดกทางวัฒนธรรมจะยังคงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไปอีกหลายทศวรรษ

 


 

ผู้เขียน: ไบรอัน เมอร์เทนส์ เป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งคอลัมน์ Heritage Matters และเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือ Architecture of Thailand 

 

คำอธิบายภาพเปิด: การแสดงนาฏศิลป์ดั้งเดิมโดยกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ด้านหน้าผลงานศิลปะภาพบิลบอร์ดโรงภาพยนตร์ โดยศิลปิน นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล นำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงราย (ภาพ: ไบรอัน เมอร์เทนส์)

 

บทความนี้ได้รับดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิด เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศใกล้เคียง ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

The post สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม: การลงทุนอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ appeared first on THE STANDARD.

]]>
การบูรณะอาคารประวัติศาสตร์: รักษาอาคารเก่าด้วยความเข้าใจการก่อสร้าง https://thestandard.co/historical-building-restoration/ Fri, 08 Mar 2024 06:44:17 +0000 https://thestandard.co/?p=908737

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เราได้รับข่าวดีเกี่ยวกับการอน […]

The post การบูรณะอาคารประวัติศาสตร์: รักษาอาคารเก่าด้วยความเข้าใจการก่อสร้าง appeared first on THE STANDARD.

]]>

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เราได้รับข่าวดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมในประเทศไทยมาบ้าง แต่ก็มีข่าวร้ายด้วยเช่นกัน อันดับแรก ในส่วนของข่าวดีนั้นคือการที่สังคมของเราเริ่มตื่นตัวกับคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม เห็นได้จากการอนุรักษ์อาคารเก่าและแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง แม้จะมีทุนสนับสนุนอันน้อยนิดจากภาคประชาชนและการคุ้มครองทางกฎหมายที่อ่อนแอก็ตาม ผู้คนมากมาย รวมถึงบริษัทและสถาบันหลายแห่งทั่วประเทศเริ่มตระหนักแล้วว่าการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ชุมชน และคุณภาพชีวิตของพวกเรา

 

จากความตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นนี้ ร้านค้า, โรงแรม, สถานีขนส่ง, วัด และ ‘ย่านเมืองเก่า’ ที่มีอายุยาวนานของเราจึงได้รับการดูแลรักษามากขึ้น บางครั้งการบูรณะสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ยังคงการใช้สอยและรักษาเสน่ห์แบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่ในกรณีอื่นๆ จุดประสงค์ของอาคารนั้นเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นโกดังสินค้าที่กลายเป็นหอศิลป์หรือร้านอาหาร ไปจนถึงสถานีรถไฟเก่าที่ถูกดัดแปลงให้เป็นห้องสมุด หลายโครงการลักษณะนี้มีการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม เจ้าของโครงการที่ดีย่อมมีวิสัยทัศน์ก้าวไกลกว่าเพียงการแสวงหากำไร แต่จะใส่ใจกับการบูรณะที่คงไว้ซึ่งสุนทรียภาพและความถูกต้องตามประวัติศาสตร์ด้วย

 

ส่วนข่าวร้ายคือบางครั้งโครงการเหล่านี้มักมีข้อผิดพลาดในแง่ของวิธีการบำรุงรักษา อาคารเก่าแก่หลังหนึ่งที่อยู่รอดมาได้ 50 ปี, 100 ปี หรือ 200 ปี อาจเสื่อมโทรมได้อย่างรวดเร็วหากการบูรณะไม่ได้เป็นไปอย่างถูกต้อง ปัญหาไม่ได้มาจากการขาดทุนทรัพย์ แต่มาจากการเพิกเฉยต่อศาสตร์ของการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเชิงฟิสิกส์, เคมี, สถาปัตยกรรมศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, พฤติกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ต่างก่อร่างสร้างระบบให้กับอาคารหนึ่งหลัง

 

ร่องรอยชำรุดเสียหายของจิตรกรรมฝาผนัง วัดชมภูเวก จังหวัดนนทบุรี

ภาพ: ธันย์ อิทธิสกุลพันธ์

 

เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับหลักการเหล่านี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบโครงสร้าง, วัสดุก่อสร้าง หรือการใช้สอยของอาคารสักหลัง มิเช่นนั้นจะมีความเสียหายเกิดขึ้น แต่สำหรับตึกเก่านั้น การป้องกันความชื้นอันเป็นต้นเหตุของเชื้อรา, การเปื่อย และการผุกร่อนที่สร้างความเสียหายต่อตัวอาคารนับว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ

 

การบูรณะสิ่งปลูกสร้างเก่าอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องง่าย แต่เราต้องใช้ศาสตร์ของการก่อสร้างมาช่วยปรับปรุงกฎหมาย, ข้อบังคับ, แรงจูงใจ และเม็ดเงินสำหรับการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมให้มีความทันสมัย ซึ่งเป็นแนวทางที่ทวีปยุโรป, ทวีปอเมริกา, ประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่มีกฎหมายคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมเสมือนทรัพยากรสาธารณะยึดถือปฏิบัติกัน

 

น่าเสียดายที่ประเทศเรายังขาดระบบการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง อาคารสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเราส่วนใหญ่ยังไม่มีการคุ้มครองใดๆ อันเป็นผลมาจากระบบล้าหลังที่มุ่งแต่จะปกป้องเฉพาะอาคารเก่าแก่ที่มีอายุเกิน 100 ปี และอาคารสาธารณะเท่านั้น นั่นหมายความว่าอาคารอีกนับหมื่นหลังทั่วประเทศกำลังสุ่มเสี่ยงที่จะเสื่อมโทรมลงหรือถูกรื้อถอนไป

 

มรดกทางวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศไทย และเป็นความภาคภูมิใจโดยชอบธรรมของชาวไทยจำนวนมาก สิ่งที่เราต้องการตอนนี้คือนโยบายการอนุรักษ์ที่แข็งแกร่ง ผมหวังว่าแรงสนับสนุนจากภาคประชาชน, ผู้นำทางการเมือง และการดำเนินการโดยรัฐ จะขับเคลื่อนสังคมเราให้ลงมือจัดการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติอันดับต้นๆ

 

บ้านหลวงสาทรราชายุตก์ ถนนสาทร ปัจจุบันปรับปรุงเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรม W Bangkok Hotel

ภาพ: ธันย์ อิทธิสกุลพันธ์

 

ในขณะเดียวกัน ยามที่เราต้องทำงานกับสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ก็ขอให้เราใส่ใจกับศาสตร์การสร้างอาคารด้วย ตัวอย่างต่อไปนี้คือความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นหากเราละเลยศาสตร์ดังกล่าว

 

ในบางกรณีของการเปลี่ยนร้านค้าให้เป็นเกสต์เฮาส์ เจ้าของอาคารมักจะแซะปูนซีเมนต์ออกจากผนังอาคารเก่าเพื่อเผยให้เห็นชั้นอิฐที่สวยงามข้างใต้ กำแพงนั้นอาจดูดีก็จริง แต่งานก่ออิฐที่ไม่มีปูนซีเมนต์ฉาบทับนั้นกักเก็บความชื้นไว้เร็วมาก และจะก่อให้เกิดเชื้อราที่ทำลายตัวอาคารได้

 

การติดตั้งเครื่องปรับอากาศก็อาจสร้างปัญหาได้หากไม่ได้ติดแถบกันอากาศที่ประตูและหน้าต่าง อากาศร้อนชื้นจากภายนอกจะเล็ดลอดเข้ามาและรวมกันอยู่ภายใน เป็นเหตุให้โครงสร้างอาคารเสื่อมสภาพ ความชื้นจะทำให้ชิ้นส่วนของอาคารที่ทำจากไม้ผุพังและกัดกร่อนส่วนงานเหล็กและวัสดุที่ทำจากเหล็ก

 

โปรดจำไว้ว่าอาคารเก่าแก่ที่ไม่ได้ผ่านการบูรณะใดๆ เลยมักจะคงทนกว่าอาคารที่ได้รับการปรับปรุงอย่างไม่เป็นมืออาชีพ

 

ในฐานะสถาปนิกที่ปรึกษา ผมเคยมีโอกาสไปตรวจสอบวังอายุ 150 ปีที่ตอนนี้ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ ความงดงามของวังนั้นเป็นที่รู้จักอย่างดี แต่ความชื้นกำลังค่อยๆ ทำลายตัวอาคารอย่างช้าๆ เชื้อราไม่เพียงแต่กระจายไปทั่วกำแพง แต่ยังลามไปถึงภาพเขียนและประติมากรรมต่างๆ แม้ทั้งตัวอาคารและวัตถุภายในจะนับเป็นสมบัติของประเทศชาติก็ตาม

 

ผมกับเพื่อนร่วมงานได้ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับอุณหภูมิและความชื้นเพื่อวิเคราะห์ปัญหานี้ ผลที่ออกมาน่าตกใจทีเดียว เพราะระดับความชื้นที่วัดได้สูงเกิน 85% นั้นมาจากประตูทางเข้าที่ถูกเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมหาศาล กรอบหน้าต่างที่ทำจากไม้ก็ไม่ได้ติดแถบกันอากาศเข้า ทำให้อากาศชื้นจากภายนอกแทรกซึมเข้ามาในตัวอาคาร

 

อากาศที่มีความร้อนชื้นสูงทำให้ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์รู้สึกไม่สบายตัว ผู้จัดการอาคารจึงเปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียสเพื่อแช่เย็นภายในอาคาร ซึ่งนับเป็นอุณหภูมิที่เย็นเกินกว่าเหตุ ทำให้มีน้ำเกาะบนพื้นผิวไปทั่วอาคารจนนำไปสู่การผุกร่อน

 

หลายทศวรรษที่ผ่านมาผมเคยแวะเวียนไปยังอาคารประวัติศาสตร์หลายหลังที่ต้องเผชิญสภาพโครงสร้างอาคารเสื่อมโทรมเพราะ ‘ความชื้นจากพื้นดิน’ อันเป็นสาเหตุที่พบได้ทั่วไป

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปฏิมากรรมนี้มีอายุ 150 ปี แต่เพิ่งจะเริ่มทรุดโทรมเมื่อทศวรรษที่ผ่านมานี้ ดูจากผลการตรวจวัด สาเหตุย่อมมาจากความชื้นส่วนเกินจากพื้นดินที่แทรกซึมเข้าสู่องค์พระพุทธรูปนั่นเอง

 

ก่อนจะเข้าสู่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความชื้นที่วัดแห่งนี้ถูกระบายออกโดยธรรมชาติผ่านพื้นที่สีเขียวรายรอบวัด แต่ฝ่ายบริหารของวัดตัดสินใจปูพื้นด้วยคอนกรีตเพื่อทำเป็นลานจอดรถยนต์และรถบัสสำหรับรองรับนักท่องเที่ยว หนทางเดียวที่ความชื้นจะระบายออกไปได้จึงเหลือเพียงผ่านทางพระพุทธรูปองค์นั้น

 

การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน ปฏิมากรรมนั้นได้รับการบูรณะโดยใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากปูนแบบดั้งเดิมตรงที่ปูนประเภทใหม่นี้จะกักเก็บความชื้นเอาไว้ การใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์อย่างไม่เหมาะสมเช่นนี้เป็นปัญหาที่พบได้ในการบูรณะมรดกทางประวัติศาสตร์ทั่วประเทศไทยเลยทีเดียว

 

พระพุทธรูปภายในวัดแจงร้อน เขตราษฎร์บูรณะ มีสภาพเสียหายผุกร่อนจากความชื้น

ภาพ: จารุณี คงสวัสดิ์

 

การเลือกใช้สีก็มีผล พระพุทธรูปและเจดีย์หลายองค์ของไทยมักมีสีทอง เมื่อได้รับการบูรณะ ช่างมักใช้สีทองแบบพิเศษที่มีคุณสมบัติขัดขวางการระบายความชื้น ผลที่ได้คือน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ในสิ่งปลูกสร้างเร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพ ทั้งๆ ที่โครงสร้างเก่าแก่เหล่านี้ต้องการ ‘พื้นที่หายใจ’

 

ปัญหาอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงลักษณะหรือโครงสร้างอาคารได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างจากกรณีที่เจ้าของตึกแถวต้องการต่อเติมดาดฟ้าเพื่อสร้างพื้นที่รับประทานอาหาร แต่กลับไม่ได้ให้วิศวกรโครงสร้างตรวจสอบว่าผนังอาคารสามารถรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาได้หรือไม่

 

เราจำเป็นต้องปกป้องมรดกทางสถาปัตยกรรมให้รอดพ้นจากความเสียหายโดยไม่ได้เจตนาจากการบูรณะ เพื่อการนั้นเราต้องปรับปรุงข้อกฎหมายให้สามารถรับรองได้ว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นจะดูแลรักษาอาคารเก่าได้เป็นอย่างดี

 

โชคยังดีที่หากระบบการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ประเทศเรามีข้าราชการ, นักวิชาการ, นักวางผังเมือง, สถาปนิก, วิศวกร และช่างเทคนิคที่มีความชำนาญนับหมื่นชีวิต พร้อมจะดำเนินการตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ สามารถมีส่วนร่วมในงานนี้ได้อย่างมาก เจ้าของอาคารและสังคมของเราจะได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า

 

ตึกรามบ้านช่อง, ชุมชน และแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่นั้นช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเราให้แข็งแรงหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาร่วมกันรักษามรดกของเราให้แข็งแรงกันเถิด

 


 

คำอธิบายภาพเปิด: พระพุทธรูปภายในพระวิหารคด วัดสุทัศน์ฯ ขณะเตรียมบูรณปฏิสังขรณ์ (ภาพ: พีรพัฒน์ อ่วยสุข)

 

ผู้เขียน: ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร เป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

บทความนี้ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิด เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศใกล้เคียง ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

The post การบูรณะอาคารประวัติศาสตร์: รักษาอาคารเก่าด้วยความเข้าใจการก่อสร้าง appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘มรดกบาดแผล’ ประวัติศาสตร์ของความสูญเสียและความทรงจำอันเจ็บปวดที่ยังมีชีวิตอยู่ https://thestandard.co/heritage-matters-tak-bai-incident/ Fri, 19 Jan 2024 05:07:45 +0000 https://thestandard.co/?p=889589

เมื่อนึกถึงคำว่า ‘มรดก’ เรามักจะมีภาพของโบราณสถาน ตึกเก […]

The post ‘มรดกบาดแผล’ ประวัติศาสตร์ของความสูญเสียและความทรงจำอันเจ็บปวดที่ยังมีชีวิตอยู่ appeared first on THE STANDARD.

]]>

เมื่อนึกถึงคำว่า ‘มรดก’ เรามักจะมีภาพของโบราณสถาน ตึกเก่าสวยงาม นาฏศิลป์ตามแบบประเพณี อาหารเลิศรส และอื่นๆ มากมาย มรดกเหล่านี้เป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดขึ้นในอดีตและตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างภาคภูมิ ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ ตัวตนของเรา และส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมของสังคม

 

แต่บางครั้งอดีตก็ไม่ได้มีเพียงเรื่องสุขสันต์ หากเต็มไปด้วยสงคราม การกดขี่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้คนถูกล่วงละเมิดสิทธิ หรือเกิดความอยุติธรรมมากมาย ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้มักนำไปสู่ความคิดเห็นที่ขัดแย้งกัน บางเรื่องถูกเข้าใจผิดๆ หรือมองข้ามไป บางเรื่องก็ถูกซุกไว้ใต้พรมโดยตั้งใจ

 

ประวัติศาสตร์ประเภทนี้มักหลงเหลืออยู่ในรูปของความสูญเสียและความทรงจำอันเจ็บปวดของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ในมรดกที่ตกทอดมา เช่น ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วัตถุ สิ่งปลูกสร้าง กวีนิพนธ์ เพลง และเรื่องเล่า เมื่อสิ่งที่อยู่ในประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งรุนแรง มรดกเหล่านี้จึงจัดว่าเป็น ‘บาดแผล’ ที่ยากจะจดจำ สุ่มเสี่ยงต่อการไม่ได้รับการบันทึก ถูกหลงลืม ทิ้งหาย ส่วนหนึ่งเพราะหน่วยงานต่างๆ ไม่พร้อมสนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์ ทางการหรือพิพิธภัณฑ์เลี่ยงที่จะไปยุ่งเกี่ยว

 

แต่เราจำเป็นต้องรักษามรดกบาดแผลเหล่านี้ไว้ เพราะมันช่วยให้สังคมเข้าใจอดีตของตนเอง เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา และเยียวยาจิตใจ

 

ในประเทศไทย อดีตอันเป็นบาดแผลมีหลายตัวอย่าง เช่น เหตุการณ์ใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์เคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์และเกษตรกรช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนไม่ได้รับการพูดถึงหรือให้ความสำคัญจากทางการ ไม่ได้ปรากฏในหนังสือเรียนเพื่อให้เยาวชนได้ศึกษา ไม่ได้รับการจดจำผ่านนิทรรศการหรืออนุสรณ์อย่างเป็นทางการใดๆ

 

กระนั้นเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจริง มีผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักที่ยังไม่อาจลืมความทรงจำอันเลวร้ายได้ เรื่องราวเหล่านี้ประกอบกันเป็นอัตลักษณ์ เป็นมรดกร่วมของผู้ผ่านประสบการณ์เดียวกัน เราควรเคารพอัตลักษณ์และความรู้สึกของพวกเขาด้วยการช่วยกันรักษามรดกเหล่านั้นและทำให้สาธารณชนเข้าถึงได้ ภาครัฐ สถาบันต่างๆ และแหล่งเงินทุน ควรหันมาสนับสนุนความพยายามสร้างสังคมที่โอบรับและเปิดกว้าง

 

ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์และพื้นที่นิทรรศการจำนวนมากทั่วโลกที่มีพันธกิจในการรักษาและนำเสนอมรดกอันน่าสลดใจสู่สาธารณะ ด้วยการสนับสนุนจากทางการและงบประมาณของรัฐ ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และพิพิธภัณฑ์โพลินในกรุงวอร์ซอ ซึ่งนำเสนอเอกสาร บันทึกเสียง บันทึกภาพเคลื่อนไหว และวัตถุต่างๆ ที่ช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ของผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์และผู้ที่รอดชีวิตมาได้ เพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันนับว่าน่าสะพรึงกลัวที่สุด พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่ช่วยให้ผู้มาเยือนได้เข้าใจและมีความรู้สึกร่วมกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์

 

ในประเทศไทย เราแทบจะไม่มีสถานที่ใดๆ สำหรับศึกษาประวัติศาสตร์บาดแผลของไทย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความที่ภาคการอนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งมรดกยังไม่แข็งแรง อย่างไรก็ดี แม้จะยังขาดความช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่เรามีเครือข่ายอาสาสมัคร ผู้ร่วมสนับสนุน กลุ่มชุมชน ภัณฑารักษ์ นักวิจัย ที่พร้อมทำงานแทนเรียบร้อยแล้ว

 

ผู้เข้าชมนิทรรศการ ‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547’ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร

ภาพ: ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล

 

หนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือนิทรรศการเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในปี 2544 เมื่อการเดินขบวนประท้วงกลายเป็นเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับทหาร มีผู้ร่วมเหตุการณ์ราว 1,370 คนถูกจับกุมและลำเลียงโดยให้นอนซ้อนทับกันบนรถบรรทุก เพื่อส่งไปคุมตัวยังฐานทัพในจังหวัดใกล้เคียง เมื่อถึงที่หมายกลับปรากฏว่าผู้ถูกคุมตัว 77 รายเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ

 

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และทำให้ปัญหาความไม่สงบยิ่งเลวร้ายลงในพื้นที่ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่ชุมชนมาเลย์-มุสลิมพยายามเรียกร้องจากรัฐบาลกลางมายาวนาน เพื่อให้ยอมรับรองอัตลักษณ์ ภาษา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แน่นอนว่ามีบางกลุ่มที่สมาทานการใช้อาวุธรุนแรง ดังสถิติของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตั้งแต่ปี 2544 จนถึง 2565 ชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงแล้วกว่า 5836 ราย ทั้งจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทหาร ตำรวจ และประชาชนทั่วไ

 

สำหรับเหตุการณ์ที่ตากใบยังไม่เคยมีการนำผู้มีส่วนรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ครอบครัวของผู้สูญเสียยังคงต้องเผชิญกับความทุกข์ ความกลัว และไม่อาจปล่อยวางได้ นี่คือที่มาของโครงการมรดกบาดแผลชิ้นล่าสุด ‘สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547’ (Heard the Unheard: Takbai 2004) เป็นตัวอย่างของนิทรรศการชั่วคราวซึ่งจัดขึ้นโดยคณะวิจัย ภัณฑารักษ์ และประชาชนชาวตากใบ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่มุ่งจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

นิทรรศการนำเสนอของใช้ในชีวิตประจำวันของผู้เสียชีวิต ประกอบกับเรื่องเล่าของมารดา ภรรยา พี่สาว น้องสาว ผู้สูญเสียคนในครอบครัว โดยมีนักวิจัยท้องถิ่นเป็นผู้สัมภาษณ์และขอให้นำเสนอวัตถุที่สัมพันธ์กับผู้เสียชีวิต มีครอบครัว 53 ครอบครัวให้ความร่วมมือกับนิทรรศการนี้

 

ตัวอย่างเช่น เรื่องราวของ ‘มาสุกรี’ ซึ่งเป็นลูกจ้างในโรงงานยางและรับจ้างทำการเกษตร ได้รับการถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าของภรรยา พร้อมข้อความที่จัดแสดงอยู่ข้างโสร่งฝ้ายของเจ้าตัว “เขาเป็นคนขยันทำงานหาเลี้ยงครอบครัว…ชอบไปละหมาดที่มัสยิดและช่วยเหลือผู้อื่นตลอด…วันนั้นเขาบอกว่าจะไปเที่ยวที่ตากใบ…ตอนเย็นเขาก็ยังไม่กลับมา ก็เป็นห่วงมาก วันรุ่งขึ้นน้องสาวเขาส่งข่าวมาบอกว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ครอบครัวเขาเป็นคนไปรับศพ…ตอนนั้นรู้สึกโกรธมาก…ศพของเขาฝังไว้ที่กุโบร์บ้านแม่ หลังจากนั้นกลับมาที่บ้านก็ร้องไห้ เหมือนชีวิตจะหมดสิ้นทุกอย่าง” 

 

มีนักศึกษาและผู้เข้าชมหลายรายกล่าวว่าพวกเขาไม่เคยได้ยินเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงที่ตากใบมาก่อน และประหลาดใจมากเมื่อได้รับรู้เรื่องดังกล่าวผ่านนิทรรศการนี้ นิทรรศการเผยให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในความขัดแย้ง ทำให้ผู้เข้าชมที่เป็นมารดา ภรรยา ลูกสาว มีความรู้สึกร่วมกับผู้สูญเสีย พวกเขานับถือความสามารถในการเยียวยาจิตใจของผู้ที่รอดจากเหตุการณ์

 

สำหรับครอบครัวที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นิทรรศการ นิทรรศการได้ทำหน้าที่แสดงพลังและเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถสื่อสารกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่เคยสูญเสียคนรักไปในเหตุความขัดแย้งทางการเมือง

 

หลายปีที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์ในไทยล้วนแต่ให้ความสำคัญกับศิลปะและโบราณคดี สถานที่เหล่านั้นสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันสิ่งที่เราต้องการมากขึ้นคือสถาบันทางวัฒนธรรมที่ช่วยสำรวจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผล สิ่งนี้จะช่วยให้สังคมไทยรู้จักการแก้ปัญหาจากแก่นราก มหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ควรได้รับคำชื่นชมในฐานะผู้ร่วมจัดนิทรรศการนี้และกิจกรรมที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ เพราะยิ่งชี้ให้เห็นแล้วว่าหน่วยงานสาธารณะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้จริงๆ

 

งานด้านมรดกที่เปิดกว้างต้องอาศัยการทำงานแบบสหวิทยาการและความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย แม้อาสาสมัคร ผู้ให้ทุน และชุมชนท้องถิ่นจะพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ความรับผิดชอบไม่ควรตกอยู่กับพวกเขาแต่ฝ่ายเดียว

 

ประเทศไทยโชคดีที่มีทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถจำนวนมาก ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ภัณฑารักษ์ การจัดการวัฒนธรรม และการศึกษา เราควรให้การสนับสนุนบุคลากรเหล่านี้ผ่านนโยบายสาธารณะ ช่วยพัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมเงินทุนและงบประมาณ เพื่อพัฒนาให้สังคมมีศักยภาพในการอนุรักษ์มรดกได้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมรดกบาดแผล

 

บทความโดย ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล นักมานุษยวิทยาสังคม อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

บทความนี้ได้แปลและดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์
แปลเป็นภาษาไทย: พีรพัฒน์ อ่วยสุข

 

คำอธิบายภาพเปิด: มัสยิดกลางปัตตานี

The post ‘มรดกบาดแผล’ ประวัติศาสตร์ของความสูญเสียและความทรงจำอันเจ็บปวดที่ยังมีชีวิตอยู่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เมืองเก่ากาญจนบุรี มรดกทางประวัติศาสตร์ การรื้อฟื้น อนุรักษ์ และพัฒนา https://thestandard.co/kanchanaburi-old-town/ Fri, 22 Sep 2023 03:34:22 +0000 https://thestandard.co/?p=844540 เมืองเก่ากาญจนบุรี

“ถ้าคุณสร้างมัน เดี๋ยวก็มีคนมาเองแหละ” นี่คือความคิดเบื […]

The post เมืองเก่ากาญจนบุรี มรดกทางประวัติศาสตร์ การรื้อฟื้น อนุรักษ์ และพัฒนา appeared first on THE STANDARD.

]]>
เมืองเก่ากาญจนบุรี

“ถ้าคุณสร้างมัน เดี๋ยวก็มีคนมาเองแหละ” นี่คือความคิดเบื้องหลังของผู้บริหารโครงการขนาดใหญ่อย่างเช่น สวนสนุก ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว และสนามกีฬา 

 

บางครั้งสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ เหล่านี้จะสามารถดึงดูดผู้ชมจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนได้กำไร หรือช่วยให้หน่วยราชการทำประโยชน์แก่ประชาชนได้มากก็จริงอยู่ แต่ก็ไม่เป็นอย่างนั้นทุกครั้งไป โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับพื้นที่ ‘ชุมชนดั้งเดิม หมู่บ้าน และเมืองเก่าของเรา’ แนวคิดประเภทสร้างอะไรใหม่ๆ เข้าไปเถอะ ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียว บางครั้งการร่วมกันรักษาสิ่งที่มีอยู่แล้วต่างหากที่หมายถึงความสำเร็จ

 

คุณจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ เพื่อให้การพัฒนาเหล่านั้นมีเรื่องราวที่กลมกลืนกับสถานที่ชุมชนหรือเมืองเก่า ไม่ขัดต่อทัศนียภาพแวดล้อมโดยรวมของสถานที่ที่มีความเป็นมาในประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตท้องถิ่น น่าเสียดายที่เราขาดอยู่หลายอย่าง ทั้งนโยบายแม่บทระดับชาติ ทุนสนับสนุน และกระบวนการที่จะทำให้หลักการของการอนุรักษ์และพัฒนาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในกาญจนบุรีเป็นตัวอย่างของการสวนทางระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีอยู่ เมื่อปีที่แล้วได้มีการเปิดสกายวอล์กสองแคว-แม่กลองอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็คือทางเดินยกระดับ สูง 12 เมตร ยาว 150 เมตร ทำด้วยเหล็กและกระจก ที่สร้างขึ้นริมน้ำภายในเขตเมืองเก่า

 

เมืองเก่ากาญจนบุรีมีบ้านโบราณสร้างด้วยไม้และอิฐ ตึกแถวรุ่นเก่า และสถานที่น่าสนใจอื่นๆ ซึ่งอุดมไปด้วยเรื่องราวและความทรงจำของชาวบ้านชาวเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเข็ญระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กาญจนบุรีมีประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้เรียนรู้ได้มากมาย

 

เมืองเก่ากาญจนบุรี

สะพานพื้นกระจกบนสกายวอล์กสองแคว-แม่กลอง
ภาพ: ปริญญา ชูแก้ว

 

สกายวอล์กอาจเป็นความตั้งใจดี เพื่อ ‘พัฒนา’ เมือง โดยอาศัยการท่องเที่ยว แต่ผู้ได้พบเห็นบางคนตั้งคำถามว่าโครงสร้างทันสมัยนี้เหมาะกับวัตถุประสงค์หรือไม่ โครงสร้างสูงตระหง่านทำด้วยเหล็ก คอนกรีต และกระจก มีความกลมกลืนกับทิวทัศน์ริมแม่น้ำและเมืองเก่าแนวราบแค่ไหน เกิดการบดบังไม่ให้ชาวเมืองเห็นภูเขาหรือเปล่า ในวันแดดจ้าและร้อนอบอ้าวจะมีคนอยากขึ้นไปเที่ยวสกายวอล์กที่ปราศจากที่ร่มเงาไหม พอฝนตกพื้นกระจกจะลื่นหรือไม่ ชาวเมืองเองจะใช้สกายวอล์กบ้างไหม

 

แทนที่จะเอาเงินงบประมาณราชการไปสร้างและดูแลสิ่งปลูกสร้างราคาแพงเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียว การนำงบประมาณจำนวนนี้ไปใช้กับชาวบ้านเพื่อให้การศึกษาและอนุรักษ์เรื่องราวในท้องถิ่น รวมถึงอาคารเก่าที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมไม่กี่แห่งที่ยังเหลืออยู่ เพื่อให้กลับมามีชีวิตและใช้งานได้ต่อ จะมีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง จะดีกว่าไหม นี่ไม่ใช่คำถามชวนทะเลาะ แต่ชวนให้ฉุกคิด เพราะสกายวอล์กก็สร้างเสร็จไปแล้ว บางคนอาจจะชอบมัน และบางคนก็อาจมาเที่ยวชม

 

ตอนนี้สิ่งที่ดีที่สุดคือการใช้สกายวอล์กให้เป็นประโยชน์ได้มากที่สุดต่อความเป็นเมืองเก่ากาญจนบุรีได้หรือไม่ แล้วเราควรต้องทำอย่างไร เพื่อให้เมืองเก่ากาญจนบุรีอนุรักษ์มรดกอย่างอื่นของเมืองไว้ได้นอกจากแนวกำแพงเมืองสมัย ร.1 ที่ยังคงเห็นได้ในปัจจุบัน คนที่มาเที่ยวสกายวอล์กก็จะมีสิ่งอื่นๆ ให้ชมและใช้เวลาอยู่ในเมืองเก่าได้นานมากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยธำรงคุณภาพชีวิตของชาวเมืองซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักและช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของเมืองได้ด้วย จะดีกว่าหรือไม่

 

เมืองเก่ากาญจนบุรี

ทางเดินริมแม่น้ำในเขตสกายวอล์กสองแคว-แม่กลอง
ภาพ: ปริญญา ชูแก้ว

 

ถึงอย่างไรตอนนี้ก็ยังไม่มีแผนแม่บท ไม่มีแผนปฏิบัติการหรืองบประมาณในการอนุรักษ์และพัฒนาย่านเมืองเก่ากาญจนบุรีเลย งานที่เป็นกุญแจสำคัญคือการเก็บข้อมูลบันทึกประวัติศาสตร์และเรื่องราวของชาวเมือง อาคาร และสถานที่ในเมืองที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ที่ยังคงเหลืออยู่ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกเหนือไปจากสมัยรัชกาลที่ 1-3 ช่วงตั้งเมืองรับศึกพม่า ที่เหลือแค่ความทรงจำกับซากกำแพงเมืองซึ่งเป็นโบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่เท่านั้น โดยคำแนะนำจากนักอนุรักษ์และพัฒนามืออาชีพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะคนในท้องถิ่น จากนั้นจึงนำมาวางแผนกำหนดเป็นแผนอนุรักษ์และพัฒนาทั้งตัวเมืองและชาวเมือง ซึ่งต้องครอบคลุมถึงเรื่องงบประมาณสนับสนุน สิทธิประโยชน์ทางภาษี กฎระเบียบ งบประมาณควรมีให้ ไม่เพียงสำหรับสถานที่ในความดูแลของราชการ แต่รวมทรัพย์สินของเอกชนที่นับเป็นมรดกเมือง อันที่จริงงานแบบนี้ควรเกิดขึ้นกับทุกเมืองเก่า 

 

ที่ผ่านมานโยบายการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าในประเทศไทยยังขาดแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอีก 12 เมือง รวมถึงเมืองเก่ากาญจนบุรีด้วย ซึ่งแนวทางการอนุรักษ์สำหรับเมืองเก่ากาญจนบุรียังมิได้รวมถึงย่านสถานที่ใกล้เมืองที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้สถานที่เหล่านั้นจะมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของเมืองเก่าก็ตาม แล้วอย่างนี้นักอนุรักษ์และนักวางแผนควรปกป้องมรดกหรือสิ่งที่มีคุณค่าอะไรในกาญจนบุรี? เมืองนี้มีประวัติศาสตร์อย่างไรและน่าสนใจแค่ไหนกัน?

 

ในประวัติศาสตร์ เมืองกาญจนบุรีมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับที่ตั้งของเมืองอันเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ ด้วยความเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำสายใหญ่ 2 สายที่แบ่งเขตแดนระหว่างไร่นาและป่าเขา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงก่อตั้งเมืองกาญจนบุรีเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ให้เป็นเมืองหน้าด่านรับศึกพม่า เมื่อปี 2378 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้ขุดคูเมือง ก่อกำแพงอิฐ สร้างประตู และป้อมปราการ ในยุคนั้นชาวเวียดนามจำนวนมากถูกกวาดต้อนมาตั้งรกรากที่นั่นในรัชกาลที่ 4 และ 5 และต่อมาเมืองกาญจนบุรีกลายเป็นเมืองชายแดนที่ส่งผ่านและค้าขายพืชผล ไม้ไผ่ และท่อนซุงทางแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแม่กลอง รวมถึงพื้นที่ริมฝั่งตะวันตกเป็นภูมิประเทศธรรมชาติของเมืองเก่ากาญจนบุรีที่มีความสำคัญต่อความเป็นมาของเมืองและทำให้เมืองสวยงาม

 

นอกจากนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่เคยเป็นสถานีบนเส้นทางรถไฟ 415 กิโลเมตรที่กองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้นเพื่อขนส่งทหารและยุทโธปกรณ์เข้าไปในดินแดนพม่า เมื่อปี 2488 กองกำลังสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำแคว สะพานรถไฟใกล้ตัวเมือง ซึ่งกลายเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงจากหนังสือและภาพยนตร์ฮอลลีวูดชื่อเดียวกัน

 

นักท่องเที่ยวหลายหมื่นคนจากทุกมุมโลกมาเยี่ยมชมสะพานข้ามแม่น้ำแควทุกปี และมักจะแวะเมืองกาญจนบุรีเพื่อดูสุสานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ยังมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งหนึ่งที่บันทึกความโหดร้ายในครั้งที่เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรหลายพันคนเสียชีวิตลงขณะถูกบังคับให้สร้างทางรถไฟ เช่นเดียวกับชาวบ้านหลายหมื่นคนที่ถูกเกณฑ์มาจากพม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และนักท่องเที่ยวยังนิยมไปพิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำช่องเขาขาด (Hellfire Pass Memorial Museum) และทางเดินตามทางรถไฟที่อยู่ไกลออกไป 80 กิโลเมตร ช่องเขาขาดเป็นจุดที่เชลยศึกต้องทำงานหนักในการตัดทางรถไฟทะลุภูเขาหินหลายจุด สถานที่เหล่านี้เป็นอนุสรณ์ของช่วงเวลาที่มืดมนและยากแค้น

 

แต่ในเขตเมืองเก่ายังมีสถานที่และเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่อีก กำแพงเมืองบางส่วนได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และซ้อนทับอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารโรงงานกระดาษจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มันเคยเป็นโรงงานผลิตกระดาษ แต่ตอนนี้ว่างเปล่าและอาจสามารถอนุรักษ์และดัดแปลงเป็นศูนย์วัฒนธรรมได้ในอนาคต 

 

ที่ถนนปากแพรกและตลาดชุกโดนมีชุมชนที่เก่าแก่กว่าย่านอื่น ตัวเมืองมีเครือข่ายลำคลองและแม่น้ำที่ใช้ในการขนส่งพืชผล ล่องซุงไปโรงเลื่อย และขนส่งไม้ไผ่ไปโรงงานกระดาษดังกล่าว และมีเรื่องราวของสายลับญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ อิโนมะ ปลอมตัวเข้ามาเปิดร้านขายผ้าและถ้วยชามในเมือง รวมถึงเรื่องราวของนายบุญผ่องกับน้องๆ ของเขา ผู้เป็นเจ้าของกิจการต่างๆ ในเมืองกาญจนบุรี กลายเป็นวีรบุรุษจากการลักลอบขนสินค้าไปให้นักโทษฝ่ายสัมพันธมิตรในค่ายเชลยศึก เป็นการกระทำที่ช่วยชีวิตผู้คนได้มากมาย  

 

เมืองเก่ากาญจนบุรี

ทัศนียภาพเมืองกาญจนบุรี
ภาพ: ปริญญา ชูแก้ว

 

ดังนั้นจากเรื่องราวและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนปัจจุบัน ที่สัมพันธ์กับช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มากกว่าช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-3 อาจเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและจับต้องได้ของคนเมืองเก่ากาญจนบุรี ที่ควรนำมารื้อฟื้น อนุรักษ์ และพัฒนาได้

 

สิ่งสำคัญคือต้องนำเสนอให้ขอบเขตเมืองเก่ากาญจนบุรีตามแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่ากาญจนบุรี ควรจะต้องรวมพื้นที่อาณาเขตบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว และบริเวณค่ายเชลยศึกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เอาไว้ด้วย น่าเสียดายว่าสถานที่ประวัติศาสตร์เหล่านี้ไม่อยู่ในขอบเขตเมืองเก่ากาญจนบุรี ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ประกาศไว้เมื่อปี 2560

 

ดังนั้นควรมีการพัฒนาแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนา โดยทบทวนขยายขอบเขตเมืองเก่ากาญจนบุรีเสียใหม่ตามแนวคิดข้างต้นที่ครอบคลุมและรอบด้าน เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาที่ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ และยังจะเป็นการสนับสนุนให้สกายวอล์กที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่มีความหมายผูกพันกับเรื่องราวเมืองเก่ามากขึ้น เพราะได้รับทราบมาว่าทางเดินนี้ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสะพานข้ามแม่น้ำแคว เท่ากับเป็นอนุสรณ์สถานใหม่ในเมืองเก่า ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งความทรงจำเกี่ยวกับยุคนั้นมีความสำคัญต่อคนกาญจนบุรีและคนทั่วโลก 

 

ดังนั้นเราต้องมั่นใจว่าประวัติศาสตร์ส่วนนี้รวมอยู่ในแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาด้วย การมีแผนที่ดีสามารถนำไปสู่การเสนอให้องค์การยูเนสโกขึ้นทะเบียนสะพานข้ามแม่น้ำแควและเมืองเก่ากาญจนบุรีเป็นมรดกโลก

 

หากเรายกความสำคัญอันดับแรกให้แก่การอนุรักษ์ทั้งเมืองเก่ากาญจนบุรีและเมืองเก่าเมืองอื่น ประโยชน์ย่อมจะตกแก่เราและลูกหลานของเราในที่สุด

 

คำอธิบายภาพเปิด: ภาพมุมสูงสกายวอล์กสองแคว-แม่กลอง (ภาพ: สำนักโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกาญจนบุรี) 

 

วีระพันธุ์ ชินวัตร จบปริญญาเอกการจัดการมรดกสถาปัตยกรรมและการท่องเที่ยว ม.ศิลปากร และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการอนุรักษ์

 

บทความนี้ได้รับดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566

 

บรรณาธิการ Heritage Matters : ไบรอัน เมอร์เทนส์

แปลเป็นภาษาไทย: วิษณุ เอื้อชูเกียรติ, วีระพันธุ์ ชินวัตร

The post เมืองเก่ากาญจนบุรี มรดกทางประวัติศาสตร์ การรื้อฟื้น อนุรักษ์ และพัฒนา appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประวัติศาสตร์รถไฟไทย รักษาไว้ อย่าให้ตกราง https://thestandard.co/thai-railway-history/ Fri, 18 Aug 2023 17:47:17 +0000 https://thestandard.co/?p=830948 รถไฟไทย

ประชาชนและภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลกล้วนภูมิใจกับมรดกทาง […]

The post ประวัติศาสตร์รถไฟไทย รักษาไว้ อย่าให้ตกราง appeared first on THE STANDARD.

]]>
รถไฟไทย

ประชาชนและภาครัฐในหลายประเทศทั่วโลกล้วนภูมิใจกับมรดกทางสถาปัตยกรรมประเภทสถานีรถไฟในประเทศของตน พร้อมที่จะสละเวลา เงินทุน และแรงกายเพื่ออนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างเก่าแก่เหล่านี้ เพราะเล็งเห็นถึงคุณค่าของความเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์ ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสถานที่ และสุนทรียภาพ ให้กับชุมชนต่างๆ ถึงขั้นที่ว่าหากทางการคิดวางแผนจะทุบทำลาย ประชาชนก็พร้อมจะออกมาประท้วง

 

เมื่อสถานีเพนซิลเวเนียบนเกาะแมนฮัตตันในนครนิวยอร์กถูกทุบทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2506 ได้เกิดเสียงคัดค้านขึ้นในระดับนานาชาติ จนนำไปสู่กระแสอนุรักษ์อาคารทรงคุณค่าทั่วสหรัฐอเมริกา ทำให้นครนิวยอร์กต้องผ่านกฎหมายอนุรักษ์สิ่งปลูกสร้างสำคัญในเวลาต่อมา นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมสถานีแกรนด์เซ็นทรัล ซึ่งเป็นสถานีรถไฟขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่เกือบจะถูกทุบทิ้งเช่นกัน ยังคงตั้งตระหง่านอยู่ได้ในปัจจุบัน 

 

ต่างกับในประเทศไทย ที่ถึงแม้จะมีประวัติศาสตร์รถไฟมายาวนาน เริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2423 และผ่านยุครุ่งเรืองตลอดรัชกาลที่ 5 แต่สถานีที่สวยงามหลายแห่งได้ถูกทำลายลงไปหมดแล้ว ปัจจุบันมีสถานีรถไฟ 446 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมไปถึงสถานีรถไฟหลวงที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

 

ในบรรดาสถานีรถไฟเหล่านี้ หลายแห่งสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2433-2490 โดยสถานีรถไฟ 200-300 แห่ง สามารถนับได้ว่าควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ในฐานะสิ่งปลูกสร้างทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นอาคารทรงคุณค่าของท้องถิ่น และถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยดูแลในนามของประชาชน

 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้จะมีคุณค่า แต่ รฟท. ไม่มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการอนุรักษ์แหล่งมรดก อีกทั้งยังไม่มีหลักการอนุรักษ์อาคารทรงคุณค่าของตัวเอง ไม่มีนักอนุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญ และแนวทางปฏิบัติ ไม่มีทะเบียนสิ่งปลูกสร้างโบราณ 

 

นอกจากนี้ในภาพรวม ยังไม่มีข้อมูลสาธารณะ พื้นที่พูดคุย และความร่วมมือจากภาคประชาชน เพื่อจัดการพื้นที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์รถไฟ โดย รฟท. ยังดำเนินการจัดการพื้นที่เหล่านี้เสมือนพื้นที่ในครอบครองของตนเอง

 

ที่แย่ไปกว่านั้น อาคารสถานีรถไฟหลายแห่งกำลังจะถูกทุบทิ้งเพื่อเปิดทางให้กับโครงการรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ถึงแม้รถไฟทางคู่คือสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมปัจจุบัน แต่อาคารสถานีรถไฟเก่ายังสามารถเปิดทำการได้เหมือนเดิม อาคารบางหลังสามารถชะลอไปไว้ที่อื่นได้เพราะเป็นอาคารไม้ เพียงอาศัยงบประมาณ 1 ล้านบาทต่อสถานี ก็สามารถถอดอาคารเป็นส่วนๆ เพื่อย้ายตำแหน่งที่ตั้งไปประกอบขึ้นใหม่ ดัดแปลงเป็นพื้นที่สาธารณะอะไรก็ได้ อย่างศูนย์กลางชุมชน ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือพื้นที่สำหรับการแสดง

 

ในแง่หนึ่งปัจจุบัน รฟท. ก็พร้อมเปิดทางให้หน่วยงานอื่นเข้ามาจัดการพื้นที่ทรงคุณค่าต่างๆ ไม่มีการห้ามให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาทำการอนุรักษ์ แต่หน่วยงานเหล่านั้นต้องดำเนินการด้วยตัวเอง เพราะ รฟท. ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้ อาคารสถานีรถไฟบางแห่งได้รับการอนุรักษ์ด้วยวิธีนี้ และทำได้ดีจนถึงขั้นได้รางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

กระนั้น หลายท้องถิ่นยังขาดงบประมาณและกลุ่มบุคคลสำหรับโครงการลักษณะนี้โดยเฉพาะ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม รฟท. จึงจำเป็นต้องมีแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์พื้นที่ทรงคุณค่า ต้องมีหลักการ งบประมาณ ผู้เชี่ยวชาญ หลักปฏิบัติเชิงรุก และการร่วมมือกับภาคประชาสังคม 

 

ในอีกห้าปีต่อจากนี้ รฟท. จะใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาทลงทุนในโครงการต่างๆ และหากจัดสรรงบประมาณเพียงสามร้อยล้านบาท เราอาจสามารถรักษาแหล่งทรงคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์รถไฟไว้ได้ ถือเป็นการผดุงคุณภาพชีวิตไว้เพื่อคนรุ่นหลัง

 

นอกจากสถานีรถไฟและแหล่งทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์รถไฟทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ เอง ยังมีสิ่งปลูกสร้างมรดกรถไฟที่ต้องการการดูแลสองแห่ง หนึ่งในนั้นคือ สถานีรถไฟกรุงเทพ (สถานีรถไฟหัวลำโพง) ซึ่งเปิดทำการใน พ.ศ. 2459 ไม่กี่ปีหลังจากสถานีเพนซิลเวเนีย นครนิวยอร์ก ปัจจุบันอาคารแห่งนี้ยังคงตั้งตระหง่าน แต่การให้บริการเริ่มย้ายไปยังสถานีกลางกรุงเทพฯ แห่งใหม่ โดยปัจจุบัน รฟท. กำลังเสนอโครงการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงเดิมเป็นพื้นที่พาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเข้ามาของอาคารสูงระฟ้าผนังกระจก

 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จโรงงานมักกะสัน พ.ศ. 2468 

วีดิทัศน์มรดกในการดูแลของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

อีกหนึ่งอาคารมรดกรถไฟในกรุงเทพฯ คือโรงงานมักกะสัน เขตราชเทวี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2453 ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟมักกะสัน โรงซ่อมบำรุง โรงงาน โกดัง นิคมบ้านพักรถไฟสำหรับเจ้าหน้าที่ และพื้นที่สีเขียว ทรัพยากรทรงคุณค่าเหล่านี้กำลังถูกคุกคามโดยโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่ถึงจะมีการสร้างสวนสาธารณะอยู่ในแผน แต่กลับยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ในเรื่องของอาคารเก่าดั้งเดิม

 

ในช่วงทศวรรษ 2500 โรงงานมักกะสันเป็นโรงงานรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเครื่องจักรดั้งเดิมหลายชิ้นยังคงอยู่ หากมีแผนพัฒนาที่รอบด้าน พื้นที่โรงงานมักกะสันสามารถกลายเป็นสมบัติทรงคุณค่าของกรุงเทพฯ เป็นพิพิธภัณฑ์หรือสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่อย่างสวนเบญจกิติ

 

ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ตัวผมในฐานะนักวิชาการและประชาชนคนหนึ่ง ได้เริ่มเก็บข้อมูลเรื่องมรดกรถไฟ ลงพื้นที่ รวบรวมเอกสารเก่าของทางการ หนังสือ ภาพถ่าย พิมพ์เขียว ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อช่วยรักษาพื้นที่ทรงคุณค่า ทั้งกับหน่วยงานท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ สถาปนิก สื่อ NGOs จนได้ค้นพบว่าเจ้าหน้าที่ของ รฟท. หลายต่อหลายท่าน ล้วนให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์รถไฟ เรียกได้ว่าเป็นความหวังหนึ่งที่สำคัญ

 

เมื่อ พ.ศ. 2559 ปรากฏว่ามีสถานีรถไฟมรดก 16 แห่ง ที่เสี่ยงจะถูกทุบ ตัวผมเองได้เป็นเจ้าภาพในการร่างจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาอาคารเหล่านี้ ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ ตัวแทนจากภาคธุรกิจ ทำให้เราสามารถรักษาสถานีรถไฟ 13 แห่งไว้ได้ โดยหนึ่งในนั้นคือสถานีรถไฟหนองแมว อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2472 ปัจจุบันเป็นศูนย์การแพทย์แผนไทย

 

อีกตัวอย่างหนึ่งของสถานีรถไฟที่ได้รับการอนุรักษ์ คืออาคารสถานีสถาปัตยกรรมบาวาเรียที่ บ้านปิน จังหวัดแพร่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2457 และสถานีแม่พวก จังหวัดแพร่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2458 ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2558 ได้รับการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จนได้รับรางวัลด้านอนุรักษ์เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยให้ความสนใจและใส่ใจกับงานด้านอนุรักษ์อย่างจริงจัง

 

ตั้งแต่ รฟท. ได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อ พ.ศ. 2494 จนถึงปัจจุบัน เกิดมีหนี้สินสะสมกว่าแสนล้านบาท แต่เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นสาธารณประโยชน์ทางด้านการคมนาคม อันมีเป้าประสงค์ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้ ค่าบริการจึงต่ำกว่าทุน จนทำให้ รฟท. ต้องกลายมาเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อหารายได้มาประคองระบบด้วยการให้เช่าที่ดินทั่วประเทศ แนวทางนี้จะทำให้ รฟท. มีรายได้หลายหมื่นล้านบาท 

 

แต่การอนุรักษ์อาคารทรงคุณค่าสามารถนำมารวมอยู่ในแผนพัฒนาทางการเงินได้เช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่แต่เพียงผู้เดียว การอนุรักษ์พื้นที่ทรงคุณค่ามีส่วนในการเพิ่มความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนต่างๆ แหล่งมรดกช่วยเสริมสร้างความภูมิใจของส่วนรวม พัฒนาการท่องเที่ยว การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิต มรดกรถไฟมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

 

บทความโดย: รองศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

 

คำอธิบายภาพเปิด: สถานีหัวลำโพง โดย Ryan Tang on Unsplash

บทความนี้ได้รับดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

แปลเป็นภาษาไทย: พีรพัฒน์ อ่วยสุข

The post ประวัติศาสตร์รถไฟไทย รักษาไว้ อย่าให้ตกราง appeared first on THE STANDARD.

]]>
วัฒนธรรมและสภาพภูมิอากาศเป็นของคู่กัน https://thestandard.co/heritage-matters-culture-and-climate/ Sat, 03 Jun 2023 03:22:37 +0000 https://thestandard.co/?p=798657

จะก้าวไปข้างหน้าต้องไม่ลืมมองข้างหลัง ทางสู่อนาคตอันยั่ […]

The post วัฒนธรรมและสภาพภูมิอากาศเป็นของคู่กัน appeared first on THE STANDARD.

]]>

จะก้าวไปข้างหน้าต้องไม่ลืมมองข้างหลัง ทางสู่อนาคตอันยั่งยืนซ่อนอยู่ในมรดกของเรา

 

มนุษยชาติทำลายสภาพแวดล้อมของตัวเองอย่างไร้สำนึก การใช้พลาสติกและเทคนิคการจับปลาของเราเป็นอันตรายต่อมหาสมุทร ซึ่งเป็นบ้านของสัตว์ทะเล การบริโภคเนื้อวัวจนเกินพอดีของเราเพิ่มแก๊สมีเทนในชั้นบรรยากาศ ทำให้สภาพอากาศร้อนขึ้น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของเราทำให้อากาศเป็นพิษ สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วกลายเป็นเรื่องปกติ วิธีดำเนินชีวิตของมนุษยชาติมักเป็นไปอย่างไม่มีทางยั่งยืน

 

เพื่อรับมือกับผลของพฤติกรรมที่ไร้ความรับผิดชอบของเรา เราจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีที่ ‘สะอาดกว่า’ และเราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต แต่จะด้วยวิธีไหนล่ะ?

 

พวกเราชอบมองข้ามภูมิปัญญาในวัฒนธรรมของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มรดกวัฒนธรรมและมรดกธรรมชาติของเรามีอยู่มากมายที่อาจช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และช่วยให้เราอยู่กับผลของมันได้ด้วย เรื่องการดูแลทรัพยากรธรรมชาตินั้น บรรพบุรุษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราทำจนเป็นนิสัย การอนุรักษ์เป็นสิ่งที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เป็นภูมิปัญญาที่ผู้คนและชุมชนพึ่งพาเป็นหลักประกันความอยู่รอด

 

ตลาด Lok Baintan จังหวัดกาลีมันตันใต้ ประเทศอินโดนีเซีย 

ภาพ: Muhammad Haridi from Pixabay

 

การอนุรักษ์ หมายถึง การรักษามรดกจากอดีต เพื่อประโยชน์ของคนรุ่นต่อไปในอนาคต มรดกคือสิ่งที่เราได้รับตกทอดมาจากอดีต ได้รู้เห็นและได้ใช้สอยในปัจจุบัน ทั้งยังส่งต่อไปยังลูกหลาน มรดกเหล่านี้ไม่ใช่ของเรา แต่อยู่ในความดูแลของเราเพียงระยะหนึ่ง เราต้องรับผิดชอบดูแลมรดกให้ดี บรรพชนของเราเข้าใจความจริงขั้นพื้นฐานข้อนี้ แต่เราลืมมันไปแล้ว

 

วิธีที่เราใช้ชีวิต และโดยเฉพาะวิธีที่เราบริโภคผลผลิตและทรัพยากรโลก มีผลกระทบโดยตรงต่อสภาพภูมิอากาศในทางที่เรามักไม่สังเกตเห็น ตัวอย่างเช่น เราคิดว่าเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ที่จะรื้อถอนอาคารเก่าเพื่อพัฒนาเมือง แต่เราไม่ฉุกใจคิดเลยว่า นิสัยนี้สร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมไม่ต่างจากการตัดต้นไม้หรือเผาป่า การทุบอาคารเก่าเป็นการเสียทรัพยากรไปเปล่าๆ และปลดปล่อยมลภาวะที่ทำให้โลกร้อน

 

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราคุ้นเคยกับพายุไต้ฝุ่น แผ่นดินไหว และภัยแล้งกับอุทกภัยจากฤดูมรสุมที่ไม่แน่นอน วิธีที่คนสมัยใหม่รับมือจากภัยธรรมชาติคือ ทุ่มเทลงทุนในโครงสร้างแสนแพงที่แข็งแกร่งขนาดทนลมหรือแผ่นดินไหวชนิดรุนแรงที่สุดได้ นี่คือทางแก้ที่อิงเทคโนโลยี

 

ซึ่งไม่ค่อยได้ผลในระยะยาวเท่าไรนัก เพราะธรรมชาติไม่มีวันหยุดกระหน่ำ บรรพบุรุษของเราเข้าใจเรื่องพวกนี้และค้นพบวิธีที่จะอยู่กับมัน ชุมชนในพื้นที่น้ำหลากตามฤดูกาลในกัมพูชา เวียดนาม และไทย สร้างบ้านของพวกเขาบนเสา และมีเรือสำหรับบรรทุกสินค้าไปขายตลาดน้ำ

 

ในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ชาวญี่ปุ่นทนต่อฤดูหนาวอันสุดแสนจะหนาวเย็นในบ้านไม้ที่ผนังทำด้วยกระดาษบางๆ พวกเขากินอาหารจากหม้อไฟและดื่มสาเกอุ่นๆ สวมชุดกิโมโนตัวหนา และนั่งรอบโต๊ะไม้เตี้ยที่คลุมด้วยผ้าห่มและมีอุปกรณ์ทำความร้อนจากด้านล่าง เรียกว่า ‘โคตัตสึ’ ในอดีตแหล่งความร้อนของโคตัตสึเป็นถ่าน แต่ทุกวันนี้จะใช้เครื่องทำความร้อนไฟฟ้ามากกว่า ในฤดูร้อนอันอบอ้าวของญี่ปุ่น ผู้คนเย็นสบายอยู่ได้ด้วยการสวมเสื้อคลุมยูกาตะที่ทำจากผ้าฝ้ายบางเบา พวกเขากินของเย็นอย่างน้ำแข็งไสคากิโกริ พวกเขาแขวนกระดิ่งลมฟูรินที่ทำจากโลหะหรือแก้วที่หน้าต่าง เพราะเสียงของมันสดใสดี

 

เพื่อช่วยโลกใบเดียวที่เรามี เราต้องเรียนรู้จากภูมิปัญญาวัฒนธรรมอย่างนี้ การศึกษาไม่ได้มีหน้าที่เพียงสอนทักษะและเทคนิคเท่านั้น เรายังต้องมั่นใจด้วยว่าคนรุ่นต่อไปจะเข้าใจว่าโลกเปราะบางอย่างไร เยาวชนควรเรียนรู้ว่าเราทุกคนมีหน้าที่ในฐานะสมาชิกชุมชนและในฐานะพลเมืองโลก ที่จะเป็นผู้ดูแลรักษาทรัพยากรด้วยความรับผิดชอบ

 

ความเสียหายจากเหตุอุทกภัยล่าสุดที่แคว้นเอมิเลีย-โรมัญญา ประเทศอิตาลี 

ภาพ: European Commission (Dati Bendo), Attribution, via Wikimedia Commons

 

ความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว ธีโอดอร์ โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ ได้กล่าวไว้ว่า “การอนุรักษ์หมายถึงการพัฒนาเท่าๆ กับการปกป้อง ข้าพเจ้าตระหนักดีถึงสิทธิและหน้าที่ของคนรุ่นนี้ ในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติบนแผ่นดินของเรา แต่ข้าพเจ้าไม่ยอมรับสิทธิที่จะปล่อยให้มันเสียไปเปล่าๆ หรือที่จะปล้นจากคนรุ่นต่อจากพวกเราด้วยการใช้อย่างทิ้งขว้าง’

 

ปัจจุบันแนวคิดนี้สำคัญยิ่งขึ้นกว่าในสมัยของโรสเวลต์เสียอีก เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์มรดกที่จับต้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเป็นสิ่งจำเป็น โครงการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ที่ดีย่อมมีความยั่งยืนในเชิงสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม เป็นวัฒนธรรมที่แท้จริง มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และใช้วัสดุที่เหมาะสม

 

ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมดได้ยอมรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ประการ ในฐานะแผนงานสำหรับอนาคตที่ดีกว่า เป้าหมายที่ 11 คือการสร้างเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน หนึ่งในเส้นทางสู่เป้าหมายนั้นคือ เสริมสร้างความพยายามในการปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก

 

ทุกวันนี้เราถนัดที่จะคิดแบบเส้นตรงมีเหตุมีผล แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้แนวทางหมุนเวียนเหมือนบรรพบุรุษของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ผลิตภัณฑ์และบริการต้องออกแบบขึ้นใหม่ให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงและมีการใช้ซ้ำทรัพยากร แนวคิดหมุนเวียนจะพิจารณาถึงความรับผิดชอบ การอดกลั้น การลดให้น้อย การคืนกลับ การซ่อม การใช้ซ้ำ การแปรใช้ใหม่ การฟื้นสภาพ การให้ความเคารพ และการเผยแพร่

 

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้มีการประชุมสัมมนาที่กรุงเทพฯ เพื่อคิดแก้ไขปัญหาเหล่านี้ วิทยากรจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์มรดก การสัมมนาครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น ความเชื่อมโยงทางจิตวิญญาณกับธรรมชาติ และการปฏิบัติต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งมรดกทางการเมือง / สังคมแบบดั้งเดิม และความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

 

ส่วนสำคัญที่สุดคือ ผู้แทนคนหนุ่มสาว 16 คนจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียน คนหนุ่มสาวเหล่านี้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในประเด็นเหล่านี้ และพวกเขาจะเสนอแผนซึ่งนำไปปฏิบัติได้สำหรับอนาคตของภูมิภาค งาน ‘ภูมิปัญญาวัฒนธรรมสำหรับการปฏิบัติต่อสภาพภูมิอากาศ: การมีส่วนร่วมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ จัดโดย พันธมิตรมรดกวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACHA) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 มกราคม 2566 ที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ มาช่วยกันผลักดันให้การประชุมของเราประสบผลในการดูแลบ้านหลังใหญ่ที่เราอยู่ร่วมกัน พวกเรามาใช้ภูมิปัญญาจากมรดกวัฒนธรรมทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนกันเถอะ

 

ดร.โยฮันเนส วิโดโด เป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาของพันธมิตรมรดกวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACHA)

 

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์
แปลเป็นภาษาไทย: วิษณุ เอื้อชูเกียรติ

 

คำอธิบายภาพเปิด: ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ฝ่าพายุฝนในกรุงเทพฯ 

ภาพ: Andre Mouton from Pixabay

The post วัฒนธรรมและสภาพภูมิอากาศเป็นของคู่กัน appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘เราพยายามได้มากกว่านี้’ มรดกทางวัฒนธรรมของไทยต้องไม่สูญหาย https://thestandard.co/thai-cultural-heritage-must-not-be-lost/ Wed, 15 Mar 2023 01:00:25 +0000 https://thestandard.co/?p=762776

ทุกปีเราจะได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เหล่านักวิชาการ เจ้าหน้ […]

The post ‘เราพยายามได้มากกว่านี้’ มรดกทางวัฒนธรรมของไทยต้องไม่สูญหาย appeared first on THE STANDARD.

]]>

ทุกปีเราจะได้ยินคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เหล่านักวิชาการ เจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อ พร่ำบอกว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้อนาคตของเราดีขึ้น อย่างคำว่า ‘ดิจิทัลฮับ’, ‘เมืองอัจฉริยะ’ และ ‘เมตาเวิร์ส’

 

สิ่งเหล่านี้คงจะมาช่วยเราได้จริง แต่สิ่งที่มาจากอดีตของเราล่ะ? ลองนึกถึงคุณค่าที่อยู่ในศิลปะ สถาปัตยกรรม ชุมชน และวิถีชีวิตที่สืบทอดมาหลายศตวรรษ ความมั่งคั่งทางวัฒนธรรมเหล่านี้หล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ตั้งแต่ระดับปัจเจกไปจนถึงระดับสังคม สิ่งเหล่านี้ก่อร่างสร้างความเป็นคนไทย และเป็นสิ่งที่ทำให้บ้านเมืองและชนบทของเราสวยงามน่าอยู่ ทำให้เราอุ่นใจ

 

ยิ่งไปกว่านั้น เรามีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาใหม่เลย 

 

   

 

แต่ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยกลับไม่ค่อยสนใจดูแลภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสม การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทำให้วัฒนธรรมของเราเสี่ยงที่จะสูญสลายไป ย่านเก่าแก่และตึกโบราณที่งามสง่า ถ้าไม่ถูกทิ้งให้ทรุดโทรมก็ถูกรื้อถอนเพื่อนำที่ดินไปพัฒนาเชิงพาณิชย์บ้าง หรือทำโครงการของรัฐบ้าง

 

การคำนวณกำไรขาดทุนของบริษัทเอกชน หรือการคิดดัชนีชี้วัดความสำเร็จของหน่วยงานราชการ ไม่เคยคำนึงถึงคุณค่าที่มรดกวัฒนธรรมมีต่อประชาชนทั่วไป เอาเข้าจริงมีแหล่งมรดกไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย

 

แต่คนส่วนใหญ่ยังคงห่วงใยมรดกวัฒนธรรม ดูจากเสียงตำหนิและเสียงคัดค้านที่ดังกระหึ่มตอนที่มีการรื้อโรงภาพยนตร์สกาลา อาคารศาลฎีกา และชุมชนป้อมมหากาฬ หรืออาคารที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ที่ถูกแอบรื้อ

 

เราพยายามได้มากกว่านี้ เพราะเราเคยทำสำเร็จมาแล้ว มรดกวัฒนธรรมเคยเป็นวาระอันดับต้นๆ ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ ตั้งแต่หลังช่วง พ.ศ. 2400 ไปจนถึง พ.ศ. 2500 หน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญชาวไทยต่างค้นคว้า บันทึก และอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและพื้นที่ประวัติศาสตร์สำคัญไว้ได้เป็นจำนวนมาก ภาคประชาสังคมเองก็มีส่วนร่วมในการพิทักษ์มรดกวัฒนธรรมด้วย เห็นได้จากการก่อตั้งสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยงานอิสระด้านวัฒนธรรมที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2447 ซึ่งนับได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

 

เมื่อ พ.ศ. 2454 มีการจัดตั้งกรมศิลปากรให้เป็นผู้รักษาโบราณสถานสำคัญ ต่อมารัฐบาลได้ออก พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ทั้งกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และหน่วยงานอื่น ได้ช่วยกันอนุรักษ์วัดสำคัญๆ และพระราชวังอันงามวิจิตรของไทยไว้ได้หลายแห่ง

 

ประเทศไทยยังมีมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าอีกหลายอย่าง ซึ่งภาครัฐยังขาดงบประมาณ และไม่มีอำนาจเข้าไปคุ้มครอง เราจึงต้องสนับสนุนกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร ข้าราชการในพื้นที่ และชุมชนทั่วประเทศ ให้เข้ามาช่วยกันระบุและพิทักษ์รักษาแหล่งมรดกเหล่านี้ เราต้องมีกฎหมายที่ปรับแก้ใหม่ การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด งบประมาณที่เพิ่มขึ้น การเอาใจใส่อย่างจริงจังของผู้นำทางการเมือง การเคารพในความหลากหลาย และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการวางแผนจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ 

 

ถ้าไม่เริ่มลงมือ เราจะต้องสูญเสียสถานที่ต่างๆ อีกมากมาย เช่น ตึกแถวโบราณที่คุ้นตา โรงภาพยนตร์ ศาลเจ้า อาคารราชการเก่าแก่ ชุมชนริมน้ำ ตลาดสด ต้นไม้เก่าแก่ และบ้านไม้เก่าที่สวยงาม

 

 

ไม่เพียงเท่านั้น เรายังจะสูญเสียวิถีชีวิตที่ผูกโยงอยู่กับสถานที่เหล่านั้นไปด้วย การขับไล่ผู้คนในย่านที่อยู่อาศัยเก่าแก่คือการทำลายความสัมพันธ์ของครอบครัวและชุมชน ประเพณีที่ผู้คนในชุมชนช่วยกันสร้างสมมาจะมลายหายไปหมด ทั้งศิลปะ หัตถกรรม อาหาร เครื่องแต่งกาย งานรื่นเริง นาฏศิลป์ ขนบธรรมเนียม และเรื่องเล่า

 

วัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้เป็นศูนย์รวมภูมิปัญญาของบรรพชน ในด้านการดำเนินชีวิตที่สอดรับกับธรรมชาติ และตอบสนองต่อความต้องการร่วมกันของชุมชน ลองคิดถึงกิจการหาบเร่ ที่คนคนหนึ่งสามารถตั้งตัวเป็นผู้ประกอบการ และช่วยให้ชีวิตคนเมืองสะดวกขึ้น อิ่มอร่อยขึ้น ในราคาที่ย่อมเยา

 

การจะรักษาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่เรามีอยู่ในทุกรูปแบบได้นั้น ทางการไทยจะต้องมีมุมมองความคิดเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมที่กว้างขึ้น โดยไม่เพียงให้ความสำคัญแค่กับอาคารโบราณ ศาสนสถาน และสถาปัตยกรรมของราชสำนักเท่านั้น เราต้องมาช่วยกันรักษาสถาปัตยกรรมในชีวิตประจำวันด้วย อย่างตึกแถวและบ้านสวน รวมไปถึงอาคารเก่าแก่ประเภทอื่นๆ เช่น สถานีรถไฟ อาคารราชการ อาคารสมัยใหม่รุ่นแรกๆ อาคารจากสมัยทศวรรษ 2490 และอื่นๆ อีกมากมาย

 

 

ด้วยความห่วงใยในมรดกวัฒนธรรม สยามสมาคมฯ ได้ก่อตั้งแผนกใหม่ขึ้นเมื่อ 11 ปีก่อน โดยใช้ชื่อว่าแผนกพิทักษ์มรดกสยาม เพื่อขับเคลื่อนประเด็นสังคมด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่ผ่านมาแผนกพิทักษ์มรดกสยามได้สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ โดยร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และกับชุมชน พร้อมทั้งได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้แก่ข้าราชการและผู้ชำนาญการในแวดวงมรดกทางวัฒนธรรม และจัดการประชุมนานาชาติที่มีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทวีปเอเชียเข้าร่วมประชุม

 

สยามสมาคมฯ ตั้งเป้าที่จะทำให้สาธารณชนในวงกว้างเข้าใจเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติอย่างลึกซึ้งมากขึ้น และบอกเล่าเหตุผลและวิธีการที่เราจะรักษามรดกเหล่านั้นไว้ ด้วยเหตุนี้ สยามสมาคมฯ จึงริเริ่มคอลัมน์รายเดือนในชื่อ Heritage Matters ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และจะเริ่มเผยแพร่เป็นภาษาไทยผ่าน THE STANDARD ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป 

 

ในแต่ละเดือน สยามสมาคมฯ จะเชิญนักวิชาการ ผู้นำภาคประชาสังคม ผู้ชำนาญการด้านมรดกทางวัฒนธรรม นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพลเมืองผู้เป็นหัวหอกในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม มาเขียนบทความในคอลัมน์ Heritage Matters ซึ่งคนเหล่านี้ไม่เพียงพูดถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในการอนุรักษ์มรดก แต่ยังกล่าวถึงโอกาสและเสนอวิธีแก้ไขปัญหาด้วย

 

เรามุ่งหวังจะได้แบ่งปันมุมมองอันลึกซึ้งจากนักเขียนแต่ละท่าน ที่จะช่วยให้เรามองเห็นอนาคตที่สดใสกว่าเดิมของมรดกวัฒนธรรมอันแสนรุ่มรวยของประเทศไทย

 

 


 

บทความโดย: พิไลพรรณ สมบัติศิริ นายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

ต้นฉบับของบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทยโดย วิษณุ เอื้อชูเกียรติ 

ต้นฉบับภาษาอังกฤษเข้าถึงได้จาก https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2350519/a-brighter-future-for-thailands-past

ภาพถ่าย: อธิคม แสงไชย

The post ‘เราพยายามได้มากกว่านี้’ มรดกทางวัฒนธรรมของไทยต้องไม่สูญหาย appeared first on THE STANDARD.

]]>