Global Marketing – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 31 Oct 2019 12:29:32 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ภาพฝันและความเป็นจริง น้ำตาในรอยยิ้มของศิลปิน K-Pop ตอนที่ 1 https://thestandard.co/culture-music-dark-side-of-k-pop-01/ https://thestandard.co/culture-music-dark-side-of-k-pop-01/#respond Mon, 26 Jun 2017 06:48:46 +0000 https://thestandard.co/?p=10016

ทุกสิ่งอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ แม้แต่อุตสาหกรรมป๊อปคัลเจ […]

The post ภาพฝันและความเป็นจริง น้ำตาในรอยยิ้มของศิลปิน K-Pop ตอนที่ 1 appeared first on THE STANDARD.

]]>

ทุกสิ่งอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ แม้แต่อุตสาหกรรมป๊อปคัลเจอร์ในเกาหลีใต้ก็หนีความจริงข้อนี้ไม่พ้น

 

ตัวเลขล่าสุด เพลง Gangnam Style ของ Psy ขึ้นอันดับเพลงที่มียอดวิวสูงสุดของยูทูบอยู่ที่ราว 2,879 ล้านวิว, วงบอยแบนด์ BTS ไปคว้ารางวัล Top Social Artist ชนะผู้เข้าชิงอย่างจัสติน บีเบอร์ ในงานประกาศรางวัล Billboard Music Awards 2017 รวมถึงการที่ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SM Entertainment, YG Entertainment และ JYP Entertainment ธุรกิจเติบโตจนแตะระดับพันล้านไปแล้ว*

 

วัฒนธรรมดนตรีป๊อปเกาหลีเริ่มมาแรงในช่วงปี 2000 ก่อนจะขยายฐานความนิยมจากเกาหลีใต้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย และลุกลามไปยังสหรัฐอเมริกา เมื่อดูตัวเลขการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ยืนยันอานุภาพของ K-Pop ที่แข็งแกร่งในระดับสากล ทั้งคุณภาพดนตรี และแผนการตลาด ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างต้องแลกมาด้วยการเคี่ยวกรำอย่างหนักในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความสมบูรณ์แบบของตัวศิลปินที่จะเป็นไอดอลในสุดท้ายปลายทาง

 

เมื่อความสำเร็จมีราคาที่ต้องจ่าย เรากำลังจะพาคุณไปตรวจสอบทุกหยดน้ำตาในรอยยิ้มของศิลปิน K-Pop เกาหลีที่กว่าจะมีวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

การออดิชัน ศิลปินฝึกหัด ไปสู่การเดบิวต์

ในขณะที่เราเห็นศิลปิน K-Pop มากมายประสบความสำเร็จ ระหว่างทางก็มีผู้ผิดหวังที่ต้องเสียน้ำตาให้กับความฝันอันหอมหวานนี้ แต่ถึงอย่างนั้นเด็กและผู้ปกครองจำนวนมากยังทุ่มเทเวลากับการเรียนเต้น ร้องเพลง และตระเวนไปออดิชันตามค่ายต่างๆ เพื่อให้ได้รับคัดเลือกเข้าไปเป็นศิลปินฝึกหัด ตัวอย่างเช่น SM Entertainment ที่จัดการออดิชันประจำปีในหลายๆ ประเทศ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ประเทศแถบเอเชีย ไปจนถึงคาซัคสถาน โดยจะมีเด็กที่ได้รับเลือกเพียงหยิบมือเดียวจากผู้เข้าออดิชันทั้งหมดมากกว่า 300,000 คน!

 

การออดิชันมีหลายรอบ จากประเทศต้นทางไปจนถึงการออดิชันรอบลึกๆ ที่เกาหลีใต้ และถึงจะผ่านด่านอรหันต์ในการออดิชันไปได้ บางคนก็ยังได้เป็นเพียง pre -trainee ก่อนจะได้เป็น trainee ก็มี ความซับซ้อนนี้แล้วแต่ค่ายเป็นผู้จัดลำดับและคัดเลือก เช่นเดียวกับระยะเวลาในการเป็นเทรนนีเพื่อเตรียมตัวเดบิวต์เป็นศิลปินเต็มตัว ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 3 เดือนไปจนถึง 5 ปี หรือบางคนอาจจะลากยาวไปจนถึง 10 ปีแล้วยังไม่สามารถอัพเลเวลไปเดบิวต์ได้ก็มี

 

เพลง Palette – IU (Feat. G-DRAGON)

 

ไอยู (IU)

Photo: www.iloen.com

 

กรณีศึกษาอย่างเช่น ไอยู (IU) นักร้อง-นักแสดงที่กำลังมาแรง เธอเปิดเผยผ่านรายการ Seung Seung Jang Gu (ช่อง KBS 2TV) ว่าเคยออดิชันกับ JYP Entertainment แต่ตกรอบ และยังคงไปออดิชันอีกหลายรอบแล้วก็ยังไม่ผ่านอยู่ดี อาจจะเพราะตอนนั้นเธอดูอวบๆ แบบ baby fat แต่สุดท้ายไอยูผู้ไม่ยอมแพ้ก็ได้เป็นศิลปินฝึกหัดและมีผลงานเพลงกับค่าย LOEN Entertainment แน่นอนว่าเธอประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

 

คยูฮยอน หนึ่งในสมาชิกวง Super Junior

Photo: now.smtown.com

 

คยูฮยอน (Kyuhyun) น้องเล็กของวง Super Junior เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ Strong Heart (ช่อง SBS) ไว้ว่า เขาเป็นเด็กฝึกหัดเพียง 2 เดือน ก่อนเข้ามาเป็นสมาชิกลำดับที่ 13 ของวง Super Junior ที่เพิ่งเดบิวต์ได้ 6 เดือน คยูฮยอนต้องย้ายเข้าไปอยู่หอเดียวกับสมาชิกในวง ขณะที่ทุกคนมีเตียงนอนกันหมดแล้ว แต่เขากลับต้องนอนในถุงนอนข้างเตียงของพี่ๆ อยู่ถึง 9 เดือน พร้อมกับอีกหลายเหตุการณ์ระหว่างการปรับตัวในช่วงเวลาที่ยากลำบาก จนวันที่ Super Junior ได้รับรางวัลเป็นครั้งแรก ทุกคนกอดกัน ดีใจจนน้ำตาไหล อีทึกพี่ใหญ่ของวงเดินเข้าไปหาเขาแล้วพูดว่า “นายเองก็ทำงานหนักเหมือนกันนะ” จากนั้นคยูฮยอนก็ร้องไห้ออกมา เพราะรู้ว่าได้รับการยอมรับในฐานะสมาชิกจากทุกคนแล้ว

 

จีฮโย หนึ่งในสมาชิกวง TWICE

Photo: twice.jype.com

 

อีกตัวอย่างกรณีของเทรนนีที่ใช้เวลาถึง 10 ปีกว่าจะได้เดบิวต์ เธอคือ จีฮโย (Jihyo) สมาชิกวง TWICE ที่เพิ่งได้เดบิวต์เมื่อปี 2015 นี่เอง เธอเข้าค่าย JYP Entertainment ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ที่ผ่านมาจีฮโยก็เกือบจะมีผลงานอยู่หลายครั้งแต่ก็ต้องฝันสลายไปก่อน อย่างไรก็ตาม เธอยังคงฝึกต่อไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ได้เข้าร่วมรายการ Sixteen รายการเซอร์ไววัลเรียลลิตี้โชว์ เพื่อคัดเลือกศิลปินหน้าใหม่จากเทรนนีของ JYP Entertainment ซึ่งผู้ชนะทั้ง 9 ได้ร่วมกันออกผลงานในชื่อวง TWICE และกลายเป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่มาแรงสุดๆ ในปีนั้น

 

ระหว่างเรียนรู้สู่การเป็นศิลปิน

หลังจากค้นหา ‘ว่าที่ศิลปิน’ ไปทั่วโลก ด้วยการออดิชันหรือผ่านแมวมองจนจบกระบวนการ เหล่าศิลปินฝึกหัดที่อายุราว 10-18 ปี จะเก็บกระเป๋าเข้าสู่ระบบ ซึ่งการคัดเลือกศิลปินฝึกหัดที่อายุน้อยก็เพื่อให้ง่ายต่อการฝึก สอดคล้องกับการวางแผนออกอัลบั้มที่วางยาวกันเป็นปีๆ รวมทั้งร่นเวลาไม่ให้ชนกับการเข้ากรมเป็นทหารเมื่ออายุ 20 ปี

 

วง NCT DREAM คือวงที่มีสมาชิกอายุระหว่าง 14-17 ปี

โดยมีค่าเฉลี่ยอายุของทั้งวงตอนเดบิวต์อยู่ที่ 15.6 ปี

Photo: SMTOWN/Facebook

 

อุตสาหกรรม K-Pop แตกต่างและมีจุดแข็งไม่เหมือนใครตรงที่ระบบการฝึกฝน แต่ละสังกัดจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะให้กินนอนกับทางต้นสังกัด ซึ่งก็มีบางค่ายที่ปล่อยให้ศิลปินฝึกหัดได้ไปโรงเรียนตามปกติ ก่อนจะมาฝึกซ้อมในช่วงเย็น

 

การฝึกซ้อมจะมีตารางสอนออกมาเหมือนโรงเรียน แต่วิชาที่เรียนจะเน้นเรื่องความสามารถในการเป็นศิลปิน เช่น ร้องเพลง เต้น การแสดง นอกจากนี้การฝึกหัดยังรวมถึงการจัดแต่งรูปร่าง บุคลิก ลักษณะนิสัย การตอบคำถามสื่อ มนุษยสัมพันธ์ ฯลฯ ส่วนศิลปินที่มาจากนานาชาติและพูดภาษาเกาหลีไม่ได้ ก็จะต้องลงเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มเติมนอกเวลา และแน่นอนว่าเกือบทุกสังกัดห้ามมีความรักระหว่างฝึก

 

บรรยากาศในรายการ PRODUCE 101 Season 2

Photo: produce101/Facebook

 

รายการที่ทำให้เราเห็นชีวิตจริงของศิลปินฝึกหัดได้ดีที่สุด คือ PRODUCE 101 รายการเซอร์ไววัลเรียลลิตี้ของเกาหลีที่เพิ่งจบซีซัน 2 ไปเมื่อไม่นานมานี้ เพราะเป็นการรวบรวมศิลปินฝึกหัดจากหลายค่ายมาฝึกร่วมกันเพื่อค้นหาผู้ชนะ และได้รับการเดบิวต์เป็นศิลปินจริง ซึ่งภายในรายการจะมีการเทรนทักษะในด้านต่างๆ และมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากรุ่นพี่ในวงการและเพื่อนร่วมทีม นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องการออกกำลังกายและสุขภาพที่ดี โดยจะมีการตรวจเช็กร่างกาย รวมไปถึงเปอร์เซ็นต์ของไขมันเพื่อให้รูปร่างเพอร์เฟกต์ตลอดเวลา

 

รายการนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้บรรดาค่ายเล็กต่างๆ ในเกาหลีได้มีโอกาสแนะนำและโชว์ศักยภาพของศิลปินฝึกหัดในสังกัดของตัวเองมากขึ้น เพราะปัจจุบันการแข่งขันในวงการ K-Pop นั้นดุเดือดกว่ายุคแรกๆ เป็นอย่างมาก โดยแต่ละปีจะมีไอดอลกรุ๊ปพากันตบเท้าเดบิวต์กันกว่า 100 วง ทำให้การเป็นศิลปินค่ายเล็กนั้นมีโอกาสเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโด่งดังในระยะเวลาอันสั้นน้อยมาก แต่การส่งเด็กฝึกหัดเข้าร่วมรายการ PRODUCE 101 นอกจากจะเป็นการแนะนำตัวให้กับผู้ชมแล้ว เด็กฝึกหัดที่เข้าร่วมรายการก็จะเป็นที่รู้จักและมีแฟนคลับติดตามผลงานของพวกเขามากขึ้นไปด้วย

 

สเตลลา คิม ที่เกือบได้เป็นหนึ่งในสมาชิกวง Girls’ Generation

Photo: sundayswithstella/Instagram

 

เมื่อมีความฝัน ย่อมมีสิ่งที่ต้องแลก

ระหว่างการเป็นศิลปินฝึกหัด แน่นอนว่ามีเด็กๆ ถอดใจไปไม่น้อย และถึงแม้มันจะเจ็บปวดแค่ไหน แต่การได้ลิ้มรสหอมหวานของความสำเร็จ การเป็นที่รัก และได้ยืนบนจุดสูงสุดของวงการป๊อปคัลเจอร์เกาหลี ก็ยังคงเย้ายวนเด็กหนุ่มสาวไม่ว่าใครให้อยากลิ้มลอง

 

กรณีของ สเตลลา คิม (Stella Kim) สาวลูกครึ่งอเมริกา-เกาหลีที่เกือบได้เดบิวต์เป็นสมาชิกวง Girls’ Generation น่าจะเป็นภาพสะท้อนความจริงอันเจ็บปวดนี้ได้เป็นอย่างดี เธอได้รับการทาบทามจาก SM Entertainment ให้บินจากอเมริกาไปออดิชันที่โซล เมื่อผ่านออดิชันเธอก็กระโดดเข้าใส่โอกาสนี้แบบไม่ลังเล

 

ด่านแรกเรื่องน้ำหนัก เธอเล่าว่าศิลปินฝึกหัดจะเข้าแถวชั่งน้ำหนักทีละคน และประกาศให้ได้ยินไปทั่ว ใครที่น้ำหนักไม่ลดตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะโดนคาดโทษ เธอเองได้รับคำแนะนำให้ลดปริมาณแคลอรีที่กินเข้าไปมากกว่าจะให้ไปออกกำลังกาย และโดนนำรูปร่างไปเปรียบเทียบกับคนนั้นคนนี้เสมอ ขณะเดียวกันทุกๆ วันเธอต้องเข้าฝึกโดยเริ่มตั้งแต่ 10 โมงเช้า และไปจบช่วงดึกๆ หรือใช้เวลาในการฝึกราวๆ 13 ชั่วโมงต่อวัน แต่นั่นก็ยังเป็นเรื่องที่เธอทำได้และสนุกกับมัน

 

สเตลลาเป็นเทรนนีอยู่ 4 ปี จนกระทั่งปี 2007 พ่อแม่ของสเตลลาตัดสินใจไม่ให้ลูกสาวเซ็นสัญญาเดบิวต์กับวง Girls’ Generation ด้วยความที่ตอนนั้นเธอยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทำให้ต้องกลับอเมริกาตามความต้องการของพ่อแม่ และเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เธอพบกับช่วงดำมืดของชีวิต “ฉันเศร้ามากและไม่เข้าใจว่าทำไมมันเป็นแบบนี้ ยิ่งพอ Girls’ Generation เดบิวต์แล้วดังสุดๆ ฉันได้แต่เสียใจ”

 

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเท่ากับการที่เธอไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก นักเรียนเกาหลีบางคนจำเธอได้แล้วจับกลุ่มกันเมาท์ “นี่ไง คนที่อดเดบิวต์วง Girls’ Generation ก็เธอน่าเกลียดแล้วก็อ้วนแบบนี้” สเตลลารับมือกับเรื่องนี้ได้ไม่ดีพอ เธอพ่ายแพ้และเป็นโรคการกินอาหารผิดปกติ น้ำหนักตัวลดเหลือ 40 กิโลกรัม ที่ความสูง 170 เซนติเมตร เธอหยุดพักการเรียน 1 ปีเต็ม ต้องบินกลับเกาหลีใต้ ใช้เวลารักษาทั้งร่างกายและจิตใจอยู่พักใหญ่จนกลับมาเป็นปกติ พอกลับอเมริกา สเตลลาจึงย้ายสาขาจากที่เรียน Music Business ไปเรียนด้านโภชนาการอาหาร สุดท้ายเธอเติบโตและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งยังขอบคุณพ่อแม่ที่ห้ามไม่ให้เธอเดบิวต์และทำงานในวงการบันเทิง เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอค้นพบความสุขในชีวิต และค้นพบตัวตนที่แท้จริง

 

ทุกวันนี้สเตลลาทำงานที่นิวยอร์กในตำแหน่ง Global Marketing ให้กับแบรนด์ Clinique ทั้งยังเป็นนักเขียนอิสระด้านความงาม นอกเวลางานเธอใช้ชีวิตเหมือนผู้หญิงธรรมดา นั่งมองผู้คนตามคาเฟ่ อ่านหนังสือ และขี่จักรยานเล่นเลียบแม่น้ำฮัดสัน เท่าที่ติดตามผ่านอินสตาแกรมและไดอารีในเว็บไซต์ของเธอ www.sundayswithstella.com/diary/ เราพบว่าสเตลลามีชีวิตที่ดี และมีความสุข แม้จะไม่ได้เป็นศิลปินชื่อดังท่ามกลางแสงไฟอย่างที่เธอเคยฝันไว้

 

 

อ้างอิง:

The post ภาพฝันและความเป็นจริง น้ำตาในรอยยิ้มของศิลปิน K-Pop ตอนที่ 1 appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/culture-music-dark-side-of-k-pop-01/feed/ 0