Fight Club – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Sun, 14 Apr 2024 07:41:30 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 7 THINGS WE LOVE ABOUT BRAD PITT STYLE MOMENTS นักแสดงมากฝีมือ ผู้กำบทบาทแฟชั่นไอคอนของคนทั่วโลก https://thestandard.co/7-things-we-love-about-brad-pitt-style-moments/ Sun, 14 Apr 2024 12:30:35 +0000 https://thestandard.co/?p=922877

หากเอ่ยชื่อของ Brad Pitt หลายคนอาจนึกถึงฝีมือการแสดงจาก […]

The post 7 THINGS WE LOVE ABOUT BRAD PITT STYLE MOMENTS นักแสดงมากฝีมือ ผู้กำบทบาทแฟชั่นไอคอนของคนทั่วโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>

หากเอ่ยชื่อของ Brad Pitt หลายคนอาจนึกถึงฝีมือการแสดงจากภาพยนตร์ชั้นนำหลายเรื่องของเขา เช่น Fight Club, Meet Joe Black, Once Upon a Time in Hollywood, Inglourious Basterds, Moneyball, Ocean’s Eleven และอีกหลายต่อหลายคนที่ชื่นชมการแสดงของเขา ในขณะที่อีกส่วนอาจนึกถึงสไตล์การแต่งตัวในฐานะหนึ่งในผู้ชายที่แต่งตัวดีที่สุดในโลก 

 

สิ่งที่เรากล่าวไม่เกินจริงเลย เพราะ Brad Pitt พลิกโฉมหน้าการแต่งตัวผู้ชายมาตั้งแต่ยุค 90 ผ่านสไตล์การแต่งตัวและทรงผมที่กลายเป็นบรรทัดฐานของผู้ชายไปทั่วโลก เขายังขึ้นแท่นพรีเซนเตอร์ของหลายแบรนด์ดังระดับโลก เช่น Brioni และ CHANEL ที่ปีนี้เขากลับมารับพรีเซนเตอร์อีกครั้งในไลน์กระเป๋า หลังจากเคยเป็นพรีเซนเตอร์น้ำหอม CHANEL N°5 มาแล้ว

 

มาสัปดาห์นี้ THE STANDARD POP จะพาทุกคนไปย้อนดูโมเมนต์ของผู้ชายนามว่า Brad Pitt ถึงโมเมนต์ว่าทำไมเขาคนนี้จึงถูกยกย่องจากคนทั่วโลกในฐานะแฟชั่นไอคอนกัน 

 

90 FASHION 

 

Brad Pitt ถูกจับตามองตั้งแต่เขาเพิ่งก้าวเข้าวงการนักแสดงจากรูปร่างหน้าตาหล่อ เท่และดูเซอร์ของเขา ในช่วงแรกๆ ในฐานะนักแสดง โดย Brad Pitt มักจะปรากฏตัวในลุคยีนส์ Levi’s 501 ตัวเก่ง โดยนำไปมิกซ์แอนด์แมตช์กับชิ้นเบสิกอย่างเสื้อกล้าม เสื้อเชิ้ต หรือไบเกอร์แจ็กเก็ต นอกจากนั้นเขายังเซ็ตสแตนดาร์ดการเป็น Power Couple ในช่วงที่เขาเริ่มคบหากับนักแสดงสาว Gwyneth Paltrow ที่ทั้งคู่แต่งตัวเสริมกันและกัน ในขณะที่เป็นตัวของตัวเองโดยไม่พยายาม ไม่ใช่แค่นั้น เรื่องทรงผมของ Brad Pitt ยังเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเซ็ตผมแสกกลางคลาสสิก ไปจนถึงผมยาวยกระดับสไตล์ของผู้ชายให้ดูหลากหลายมากขึ้น 

 

 


 

WELCOME TO THE FIGHT CLUB 

 

ในปี 1999 ภาพยนตร์เรื่อง Fight Club ของผู้กำกับ David Fincher สร้างกระแสอันร้อนแรงให้กับ Brad Pitt เมื่อเขารับบทแก๊งสเตอร์นาม Tyler Durden นอกจากบทบาทสุดซ่ากับฉากต่อสู้ถอดเสื้อของเขาในภาพยนตร์แล้วนั้น สไตล์ของตัวละคร Tyler Durden ยังสร้างเทรนด์การแต่งตัวให้เป็นที่จดจำอีกด้วย โดยเฉพาะเสื้อเชิ้ตพิมพ์ลายดอกไม้ และแจ็กเก็ตหนังที่กลายเป็นไอคอนิกของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ใช่แค่นั้น สไตล์ของตัวละครตัวนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับแบรนด์แฟชั่น เช่น Casablanca, Amiri, Eytys และอีกมากมาย 

 

 


 

LOOKING DAPPER IN OCEAN’S ELEVEN 

 

Brad Pitt สร้างไอคอนิกลุคอีกครั้งจากภาพยนตร์ Ocean’s Eleven เมื่อตัวละครของเขา Rusty Ryan ปรากฏตัวในสไตล์เท่และโก้จากลุคสูทคัตติ้งคมกริบที่กลายเป็นซิกเนเจอร์ของคาแรกเตอร์ตัวนี้ ตลอดจนภาคต่อทั้ง Ocean’s Twelve และ Ocean’s Thirteen ลุคสูทของ Rusty Ryan ในภาพยนตร์ค่อนข้างหลากหลาย เราจะเห็นว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนๆ ก็ตาม เขามักจะสวมเสื้อสูทเข้าคู่กับกางเกงผ้าแบบเดียวกันเสมอ โดยใช้วิธีการเปลี่ยนชิ้นแมตช์ตัวตามโอกาสต่างๆ อีกหนึ่งไอเท็มที่เป็นของคู่กายของคาแรกเตอร์นี้คือแว่นตากันแดด ที่ตัวละครนี้ไม่เคยขาดเลย สไตล์ของ Rusty Ryan เองยังส่งอิทธิพลต่อสไตล์ส่วนตัวของ Brad Pitt ด้วยเช่นกัน เมื่อเขาเริ่มสวมสูทบ่อยขึ้น แม้ในยามออกงานแบบสบายๆ ก็ตาม

 

 


 

GOD’S TRUE CASHMERE BRAND 

 

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ Brad Pitt คือการผันตัวเองเป็นดีไซเนอร์ ในปี 2019 เขาเปิดแบรนด์เสื้อผ้าแคชเมียร์ร่วมกับเพื่อนสนิท Sat Hari ในชื่อ God’s True Cashmere แบรนด์แฟชั่นที่โฟกัสการใช้ขนแคชเมียร์ธรรมชาติ 100% มาใช้ในการทำเสื้อผ้าทั้งหมด โดยทั้งคู่มีจุดเริ่มต้นมาจากบทสนทนาถึงสิ่งที่ตนเองสนใจจนจุดประกายถึงสิ่งที่ทั้งสองชื่นชอบมากที่สุดบนเสื้อผ้านั่นก็คือ ‘ความสบาย’ นั่นเอง ซึ่งดีไซน์หลักของ God’s True Cashmere เน้นเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ใช้ได้จริง และใช้ได้นาน โดย Brad Pitt มีบทบาทสำคัญในการเลือกสีและลวดลายที่นำมาใช้กับคอลเล็กชัน ปัจจุบันไลน์เสื้อผ้าของเขาวางขายที่ห้างดังอย่าง Selfridges ที่ประเทศอังกฤษ และได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีในแง่ของคุณภาพของสินค้า 

 

 


 

BRIONI CAMPAIGN 

 

ในปี 2020 Brioni แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายจากโรมภายใต้เครือ Kering เผยภาพแคมเปญโดยได้ Brad Pitt มาเป็นพรีเซนเตอร์ หลังจากที่เขาสวมชุดสูทจากแบรนด์ขึ้นรับรางวัลที่เวที Golden Globes ไปก่อนหน้า รวมถึงอีเวนต์สำคัญต่างๆ จนในที่สุดแบรนด์ Brioni ได้ประกาศการร่วมงานของทั้งคู่ในภายหลัง สำหรับการมารับหน้าที่พรีเซนเตอร์ครั้งนี้ นอกจากภาพแคมเปญแล้วนั้นมีรายงานว่า แบรนด์จะร่วมงานโดยปล่อยไอเท็มพิเศษร่วมกับ Brad Pitt อีกด้วยในชื่อ Brad Pitt Signature Line ซึ่งประกอบไปชุดสูทและทักซิโด้แบบ Limited Edition สำหรับแบรนด์ Brioni นั้นมีจุดเด่นอยู่ที่งานเทเลอริ่ง และแบรนด์ยังเคยร่วมงานกับนักแสดงฮอลลีวูดมาแล้วมากมาย เช่น Pierce Brosnan, Anthony Hopkins และ Samuel L. Jackson 

 

 


 

CHALLENGE DRESSING NORMS 

 

ภาพลักษณ์ของ Brad Pitt ภายนอกดูมัสคูลินมีความเป็นชายสูงมาก จากบทบาทการแสดงและสไตล์ส่วนตัวนอกจอ แม้ว่าเขาจะเปลี่ยนโฉมตัวเองอยู่บ่อยครั้ง แต่การปรากฏตัวของเขาในงานพรีเมียร์ภาพยนตร์เรื่อง Bullet Train ที่ประเทศเยอรมนีในปี 2022 สร้างความแตกตื่นเมื่อเขาสวมกระโปรงมาร่วมงาน แม้ว่าการที่เขาสวมใส่เสื้อผ้าผู้หญิงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเขาเคยสวมเดรสถ่ายนิตยสารแฟชั่นมาแล้ว อย่างไรก็ตามการที่เห็นเขาสวมกระโปรงในชีวิตจริงตอกย้ำถึงกระแสของผู้ชายยุคใหม่ ที่แม้เขาจะมีอายุ 60 ปีแล้วก็ตาม แต่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ แถมเขายังให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศเรื่องการใส่กระโปรงครั้งนี้ว่า “เดี๋ยวเราก็ตายกันแล้ว อยากทำอะไรก็ทำเถอะ” 

 

 


 

CHANEL ‘ICONIC BAG’ CAMPAIGN

 

แฟชั่นวีคที่ผ่านมาแบรนด์ CHANEL สร้างเซอร์ไพรส์ที่โชว์คอลเล็กชัน Fall/Winter 2024 เมื่อก่อนเริ่มโชว์ได้เผยภาพยนตร์สั้นนำแสดงโดย Brad Pitt และ Penélope Cruz โดยได้ผู้กำกับเป็นสองช่างภาพแฟชั่น Inez & Vinoodh สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์คลาสสิกปี 1966 เรื่อง A Man and a Woman จริงๆ แล้วภาพยนตร์ทำขึ้นเพื่อโปรโมตกระเป๋ารุ่นไอคอนิกอย่าง CHANEL 11.12 นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Brad Pitt ร่วมงานกับแบรนด์ CHANEL ในปี 2012 เขาเคยขึ้นแท่นพรีเซนเตอร์ของไลน์น้ำหอมสุดไอคอนิกอย่างCHANEL N°5 มาแล้วในฐานะพรีเซนเตอร์ชายคนแรกของน้ำหอมนี้อีกด้วย 

 

 

ภาพ: Courtesy of CHANEL, Brioni, 20th Century Fox, Warner Bros., Getty Images

The post 7 THINGS WE LOVE ABOUT BRAD PITT STYLE MOMENTS นักแสดงมากฝีมือ ผู้กำบทบาทแฟชั่นไอคอนของคนทั่วโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>
20 ปี Fight Club กับมุมมองที่เปลี่ยนไป เหลือเพียงแค่การ ‘ปลดปล่อย’ แต่ไม่อาจ ‘เปลี่ยนแปลง’ https://thestandard.co/fight-club/ Fri, 13 Sep 2019 08:37:31 +0000 https://thestandard.co/?p=287017 Fight Club

Fight Club (1999) ของ เดวิด ฟินเชอร์ คือหนังที่ผู้เขียน […]

The post 20 ปี Fight Club กับมุมมองที่เปลี่ยนไป เหลือเพียงแค่การ ‘ปลดปล่อย’ แต่ไม่อาจ ‘เปลี่ยนแปลง’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Fight Club

Fight Club (1999) ของ เดวิด ฟินเชอร์ คือหนังที่ผู้เขียนยกให้เป็น 1 ใน 2 เรื่องที่ชอบที่สุดในชีวิตมาตลอดนับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ดู และมักชวนเพื่อนๆ มาพูดคุยกันถึง ‘กฎข้อที่หนึ่งคือห้ามพูดถึง Fight Club’ ความดิบ เถื่อน เท่ สะใจ จนอยากลุกขึ้นมาชกหน้าใครสักคน การรวมกลุ่มบำบัดที่ทำให้เราอยากร้องไห้ การทำระเบิดจากสบู่ การเฉลยตอนจบ และประเด็นที่หนังพยายามวิพากษ์วิจารณ์การต่อต้านระบบทุนนิยมและวัตถุนิยมได้อย่างน่าสนใจ 

 

เท่าที่พอจำได้ เราน่าจะหยิบ Fight Club กลับมาดูประมาณ 5-6 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งก็จะให้ความรู้สึกที่ดีไม่ต่างจากเดิม ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่เราหยิบหนังเรื่องนี้มาดูซ้ำๆ เพื่อตอกย้ำและปลอบใจชีวิตที่แสนจำเจของตัวเอง 

 

กระทั่งเราหยิบเรื่องนี้มาดูครั้งล่าสุดในวันที่หนังครบรอบ 20 ปี ทิ้งช่วงจากครั้งสุดท้ายประมาณ 3 ปี ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจพิจารณาอะไรเป็นพิเศษ เรายังชอบเนื้อเรื่อง ความดิบเถื่อน องค์ประกอบภาพ และมุมกล้องเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่กับประเด็นเรื่องการต่อสู้กับระบบทุนนิยมเท่านั้นที่รู้สึกว่าเรามองเห็นแง่มุมอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป 

 

สำหรับคนที่ไม่เคยดูหนังเรื่องนี้มาก่อน Fight Club พูดถึงชายหนุ่มนิรนาม (รับบทโดย เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) พนักงานออฟฟิศชนชั้นกลางที่รู้สึกว่าชีวิตตัวเองแสนน่าเบื่อ ต้องทำงานซ้ำๆ ไร้ความท้าทาย ทุกคนถูก ‘ถ่ายเอกสาร’ ออกมาจากต้นแบบเดียวกัน กลายเป็น ‘มนุษย์ก๊อบปี้’ จำนวนมากที่มีความฝันคล้ายกัน ทำอาชีพคล้ายกัน แต่งกายและใช้สิ่งของที่ออกมาจากโรงงานเดียวกัน ถูกกรอบบางอย่างบังคับให้เราต้องเป็นหรือต้องมีเหมือนคนอื่นๆ และรู้สึกโศกเศร้าเมื่อสิ่งของผุพัง ทั้งที่ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือสิ่งที่จำเป็นกับชีวิตเราจริงๆ หรือเปล่า 

 

จนวันหนึ่งเกิดเหตุให้ชีวิตของเขาไม่เหลืออะไรสักอย่าง และได้เจอกับ ไทเลอร์ เดอร์เดน (รับบทโดย แบรด พิตต์) ชายหนุ่มหล่อเท่ผู้ไม่ยึดติดกับวัตถุใดๆ สักอย่าง ชวนมาแลกหมัด ถอดเนกไทที่รัดคอ ได้เห็นเลือดสดๆ ไหลออกมาจากปาก ได้รับการปลดปล่อย ผ่อนคลายสบายใจ ในแบบที่กลุ่มบำบัดชนิดไหนก็มอบให้ไม่ได้ 

 

และชวนกันก่อตั้ง Fight Club ชมรมมวยใต้ดินที่เปิดโอกาสให้คนแปลกหน้าที่รู้สึกถูกกดขี่และมีชีวิตแสนจำเจได้มาปลดปล่อย ระบายอารมณ์กันแบบหมัดต่อหมัด จนภายหลังขยายตัวเป็นแก๊งอาชญากรรมที่วางแผนทำลายระบบทุนนิยม สถาบันการเงิน และธนาคารยักษ์ใหญ่ให้พังทลายเพื่อรีเซตให้ทุกคนในสังคมเท่ากันหมด ไร้หนี้สิน ไม่มีใครร่ำรวยกว่าใคร 

 

ในช่วงแรกที่หนังเข้าฉาย ไม่ว่าจะด้วยการโปรโมตหนังที่ล้มเหลวของฝ่ายการตลาดที่ไม่อาจทำให้คนเข้าใจเมสเสจของหนังได้ทั้งหมด จนเสียงของคนดูแตกออกเป็นสองฝ่ายที่ถ้าไม่รักก็เกลียด Fight Club ไปเลย ซึ่งแน่นอนว่าเรายืนอยู่ฝั่งคนที่รักหนังเรื่องนี้แบบสุดหัวใจ และไม่เคยเข้าใจว่าทำไมถึงมีคนเกลียดหนังเรื่องนี้ได้ลง 

 

แต่เมื่อถอยตัวเองออกมาสักหน่อย เราจึงได้เห็นมุมมองบางอย่างว่ายังมีคนอีกมากมายที่ยอมรับระบบทุนนิยมและมีความสุขที่ได้หา ‘วัตถุ’ ต่างๆ มาปรนเปรอตัวเอง แล้วจะแปลกอะไรถ้าคนเหล่านั้นจะรู้สึกไม่ชอบการที่หนังพยายามนำเสนออีกด้านหนึ่งที่พวกเขาไม่อยากรับรู้

 

จะผิดอะไรถ้าหลายคนจะมองเห็นว่าเมื่อระบบทุนนิยมเปิดโอกาสให้แข่งขัน ก็ควรจะสู้ตามกลไกของตลาดให้สมศักดิ์ศรีและถีบตัวเองให้สูงที่สุด 

 

แต่ก็ไม่ผิดอีกเช่นกันที่อีกหลายคนจะมองว่าโลกของทุนนิยมที่บอกว่าเป็นการแข่งขันเสรี แท้จริงแล้วเป็นเพียง ‘เสรีภาพ’ ของคนที่ถูกรับเลือกให้เข้าแข่งขัน ส่วนที่เหลือเป็นได้เพียงแค่ ‘ฟันเฟือง’ ในสายพานการผลิตที่ไม่มีวันเติบโต

 

ในเมื่อพวกเขาไม่สามารถต่อสู้เพื่อยืนยันตัวตนได้ในสนามที่หลายคนบอกว่าปกติ จะมีก็แต่สนาม Fight Club ใต้ดินที่สู้กันด้วยกำปั้น ฟันหัก เลือดสาดกระจาย ที่ช่วยยืนยันได้ว่าพวกเขามีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีความหวังหลงเหลืออยู่ตรงนี้จริงๆ 

 

แต่เมื่อกลับไปใช้ชีวิตบนดินตามปกติ ถ้าไม่นับการเอาความลับไปแบล็กเมลเจ้านายเพื่อขู่เอาเงินเดือนของพระเอก การฉีดน้ำใส่ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ การทำลายข้าวของ ลักเล็กขโมยน้อย การได้กลั่นแกล้ง หัวเราะเยาะ มองคนด้านบนด้วยสายตาเย้ยหยันได้เป็นครั้งแรกในชีวิต ฯลฯ 

 

พวกเขาก็ยังได้แต่ใช้ชีวิตแบบไม่มีปากมีเสียง ก้มหน้าทำงานที่แสนน่าเบื่อ เพื่อรอให้ถึงเวลากลางคืนที่จะได้จับคู่ชกกับใคร ตั๊นหน้ามันแรงๆ แล้วจินตนาการว่าสิ่งที่เขาสู้อยู่คือระบบทุนนิยมน่ารังเกียจ และหวังว่าตัวเองจะได้เป็นผู้ได้รับชัยชนะไปครอบครอง

 

มองในแง่นี้ Fight Club เป็นเพียงพื้นที่ให้ทุกคนได้ ‘ปลดปล่อย’ ความกดดัน ความเครียด และสัญชาตญาณดิบออกมาเพียงชั่วครู่เพื่อป้ายความผิดให้กับระบบที่ไม่อาจต่อกร โดยที่สุดท้ายก็ไม่อาจ ‘เปลี่ยนแปลง’ โครงสร้างที่กดทับพวกเขาไว้ได้อยู่ดี

 

ที่เจ็บปวดที่สุดคือฉากที่ไทเลอร์ผู้เป็นตัวแทนของความขบถ ต่อต้านทุนนิยมและวัตถุนิยม กับ มาร์ลา ซิงเกอร์ (รับบทโดย เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) ตัวละครที่เปรียบเสมือน ‘เนื้อร้าย’ ของระบบทุนนิยมที่คอยหลอกหลอนให้พระเอกนอนไม่หลับในตอนแรกกลับมาร่วมรักกันอย่างรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงจุดสุดยอดนับครั้งไม่ถ้วน 

 

การหลอมรวมเป็นหนึ่งระหว่าง ‘การต่อต้าน’ และ ‘เนื้อร้าย’ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบทุกอย่างพังราบเป็นหน้ากลอง 

 

‘กระสุน’ นัดสุดท้ายที่ลั่นออกไปจึงเป็นได้ทั้งตัวแทนของการเริ่มต้นใหม่ หรือเป็นตัวแทนของการ ‘จำนน’ ต่อระบบที่ไม่อาจต่อต้าน และยอมรับว่าเป็นได้เพียงส่วนหนึ่งของมันเท่านั้น   

 

ถึงแม้ว่าในหนังจะไม่ได้บอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบที่พังลงไปต่อจากนั้น แต่เราเชื่อว่าสุดท้ายระบบทุนนิยมก็จะกลับมาแข็งแกร่งไม่ต่างไปจากเดิม หรืออาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ (แต่อย่างน้อยการตั้งชมรม Figth Club ขึ้นมาในหลายๆ ประเทศเพื่อให้ปลดปล่อยด้วย ‘ต่อสู้’ กันจริงๆ ก็นับว่าเป็นอิทธิพลดีๆ ที่หนังเรื่องนี้สร้างเอาไว้)  

 

ส่วนชีวิตของเราและอีกหลายคนหลังจาก Fight Club จบลงไปแล้ว 20 ปีก็ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก เรายังหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาอัปเดตชีวิต ‘ดีๆ’ ของเพื่อนคนอื่นๆ พร่ำบ่นปัญหาที่ไม่อาจแก้ไข นั่งมองผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกรุ่นใหม่ๆ ช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์ที่ไม่ได้ใช้ แล้วปลอบใจตัวเองด้วยการลงรูปติดแฮชแท็กว่า ‘ของมันต้องมี’ 

 

หรือถ้ามีเวลาว่างก็ปิดหน้า สร้างร่างอวตาร หาคู่ชกด้วยคีย์บอร์ดและความคิดคมๆ ในโซเชียลมีเดีย แล้วก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะโลกสอนให้เรารู้ว่าในบางครั้งชีวิตก็อนุญาตให้เราทำได้เพียงเท่านี้ 

 

ไม่ใช่ไปท้าต่อยตีกับใครในคลับใต้ดิน! 

 

และไม่ว่าความรู้สึกหลังดูหนังเรื่องนี้จบลงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่เราก็ยังยกให้ Fight Club เป็น 1 ใน 2 หนังในดวงใจเหมือนเดิม 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

The post 20 ปี Fight Club กับมุมมองที่เปลี่ยนไป เหลือเพียงแค่การ ‘ปลดปล่อย’ แต่ไม่อาจ ‘เปลี่ยนแปลง’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
แท็กเพื่อนเนิร์ดหนังมาเล่นกันเถอะ! แบบทดสอบความทรงจำว่านี่คือฟอนต์จากหนังเรื่องอะไร https://thestandard.co/film-fonts/ https://thestandard.co/film-fonts/#respond Sat, 08 Sep 2018 17:01:57 +0000 https://thestandard.co/?p=116712

สำหรับคนที่คลั่งไคล้การเก็บสะสมทั้งโปสเตอร์หนัง ม้วนเทป […]

The post แท็กเพื่อนเนิร์ดหนังมาเล่นกันเถอะ! แบบทดสอบความทรงจำว่านี่คือฟอนต์จากหนังเรื่องอะไร appeared first on THE STANDARD.

]]>

สำหรับคนที่คลั่งไคล้การเก็บสะสมทั้งโปสเตอร์หนัง ม้วนเทป ซีดี หรือดีวีดีภาพยนตร์ดังๆ คงจะจดจำหน้าหนังแต่ละเรื่องได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชื่อของหนังเรื่องนั้นๆ ที่สร้างเอกลักษณ์ผ่านการออกแบบตัวอักษรหรือฟอนต์ที่ใช้ประจำหนังเรื่องต่างๆ และเป็นจุดเด่นสำคัญที่คอหนังเห็นแล้วจะต้องร้องอ๋อว่ามาจากหนังเรื่องอะไร

 

ถ้าคุณมั่นใจว่าตัวเองเป็นแฟนหนังตัวยงและจดจำฟอนต์จากหนังคลาสสิกเหล่านี้ได้ มาดูกันว่าคุณจะตอบถูกสักกี่ข้อ! อย่าลืมแท็กเพื่อนเนิร์ดหนังมาเล่นด้วยกันล่ะ

 

[twenty20 img1=”116722″ img2=”116732″ offset=”1″]

 

ภาพยนตร์ขวัญใจทุกเพศทุกวัยเรื่องนี้สร้างจากนวนิยายขายดี ผลงานของ เจ. เค. โรว์ลิง ซึ่งมีมาแล้วถึง 8 ภาค (จากหนังสือทั้งหมด 7 เล่ม เพราะในภาพยนตร์ตอนสุดท้ายแบ่งออกเป็น 2 พาร์ต) เล่าเรื่องราวแฟนตาซีของโลกเวทมนตร์ที่มีตัวแสดงนำหลักของเรื่องคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ รับบทโดย แดเนียล แรดคลิฟฟ์ พร้อมเพื่อนของเขา เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ รับบทโดย เอ็มมา วัตสัน และรอน วีสลีย์ ที่รับบทโดย รูเพิร์ต กรินต์ ซึ่งได้กลายเป็นภาพยนตร์แจ้งเกิดของนักแสดงทั้งสามไปโดยปริยาย เรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนฮอกวอตส์ที่สอนเหล่าพ่อมดแม่มดให้ใช้เวทมนตร์เพื่อต่อสู้กับพลังอำนาจร้าย

 

เฉลย: Harry Potter ฟอนต์ Hocus Pocus

 

[twenty20 img1=”116734″ img2=”116723″ offset=”1″]

 

ภาพยนตร์ไซไฟจากปี 1985 สุดคลาสสิกที่ไม่มีใครไม่รู้จัก กำกับโดย โรเบิร์ต เซเม็กคิส เขียนบทโดย เซเม็กคิส และบ็อบ เกล ส่วนพระเอกของเรื่องอย่าง ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ กลายเป็นนักแสดงผู้โด่งดังในบท มาร์ตี้ แม็กฟลาย ที่ย้อนเวลาไปในปี 1955 และรถยนต์ไทม์แมชชีนเดอโลรีน ได้กลายเป็นเอกลักษณ์คู่กับภาพยนตร์เรื่องนี้ไปโดยปริยาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำเงินในอเมริกาได้สูงถึง 210 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีภาคต่อถึงสองครั้งในปี 1989 และ 1990 แต่ก่อนที่เราจะได้ชมภาพยนตร์ระดับตำนานเรื่องนี้ เชื่อหรือไม่ว่าบทของ Back to the Future ถูกปฏิเสธไปถึง 44 ครั้งกว่าจะได้สร้างจริง

 

เฉลย: Back to the Future ฟอนต์ Back to the Future 2002

 

[twenty20 img1=”116717″ img2=”116727″ offset=”1″]

 

ภาพยนตร์ผลงานปี 1971 ของปรมาจารย์สแตนลีย์ คูบริก ที่เปิดโลกการดูหนังของหลายๆ คน นี่คือตัวแทนของหนังไซไฟเซอร์เรียลสุดโหดที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ที่ไม่มีใครลืมลง ทั้งขนตาล่าง, หมวกโบลเลอร์สีดำ, เพลง I’m Singing in the Rain และแน่นอน ฟอนต์ดีไซน์แปลกตาที่ปรากฏอยู่บนโปสเตอร์หนัง วิดีโอเทป ไปจนถึงเสื้อยืด

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องราวของกลุ่มอันธพาลในโลกอนาคต และผู้นำแก๊งที่โดนคุมขังเพื่อเข้าร่วมการทดลองดัดสันดานด้วยวิธีสุดโหดจนเกิดเรื่องราวที่คาดไม่ถึง นำแสดงโดย มัลคอล์ม แม็กโดเวลล์ ในบท อเล็กซ์ ซึ่งในฉากสำคัญ มัลคอล์มต้องโดนฉีดยาชาที่ตาเพื่อให้ถ่ายทำฉากนั้นได้แบบไม่มีปัญหา แต่ก็มีรายงานว่ากระจกตาของเขาก็โดนเหล็กข่วนซ้ำๆ ขณะถ่ายทำด้วย

 

เฉลย: Clockwork Orange ฟอนต์ Time Piece

 

[twenty20 img1=”116778″ img2=”116730″ offset=”1″]

 

“The first rule of Fight Club is you do not talk about Fight Club” ประโยคเด็ดจากมาสเตอร์พีซของ เดวิด ฟินเชอร์ นำแสดงโดย แบรด พิตต์ และเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน สร้างจากหนังสือที่เขียนโดย ชัค พาลาห์นิอุก เรื่องราวของพนักงานออฟฟิศหนุ่มและคนทำสบู่ที่ฟอร์มทีมตั้ง Fight Club ขึ้นมา ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างความปวดหัวให้กับทีมการตลาดในการประชาสัมพันธ์ เพราะไม่รู้ว่าจะขายภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวอย่างไรให้ไม่สปอยล์และยังครอบคลุมเนื้อหาของหนัง

 

สุดท้าย Fight Club จึงถูกนำเสนอในฐานะหนังชกต่อยที่มีแบรด พิตต์ เป็นตัวนำของเรื่องแทน และตัดการเล่าเรื่องแบบเสียดสีออกไปอย่างสิ้นเชิง แม้ในช่วงแรก Fight Club จะขายฐานคนดูผิดกลุ่ม แต่หนังเรื่องนี้ก็กลายเป็นตำนานและติดอันดับ 100 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดจากหลายสื่อจนถึงปัจจุบัน

 

เฉลย: Fight Club ฟอนต์ Fight This

 

[twenty20 img1=”116733″ img2=”116724″ offset=”1″]

 

ภาพยนตร์ไซไฟจากปี 1982 เล่าเรื่องราวบนโลกดิสโทเปียในอนาคต โดยปรับจากหนังสือของ ฟิลิป เค. ดิก ที่ชื่อ Do Androids Dream of Electric Sheep? ภาพยนตร์เรื่องนี้มีทั้งเวอร์ชันต้นฉบับและภาคต่อในปี 2017 ทั้งสองภาคนำแสดงโดย แฮร์ริสัน ฟอร์ด และยังคงเอกลักษณ์ความเป็นหนังไซไฟแบบไม่เน้นสายบู๊ แต่เล่าเรื่องราวที่ลึกซึ้งกว่านั้น และอาร์ตไดเรกชันที่กินขาดหนังไซไฟเรื่องอื่นๆ

 

Blade Runner ในปี 1982 กำกับโดย ริดลีย์ สก็อตต์ และ Blade Runner 2049 ที่ได้นักแสดงร่วมชื่อดังอย่าง ไรอัน กอสลิง และจาเร็ด เลโต มาร่วมทีม กำกับโดย เดนิส วิลล์เนิร์ฟ ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยต่อต้านการนำ Blade Runner (1982) มาทำภาคต่อ เพราะเขาชื่นชอบภาคต้นฉบับมากจนไม่อยากให้มีการรีเมก แต่ภายหลังเขาได้อ่านบทภาพยนตร์และพูดคุยกับแฮร์ริสัน ฟอร์ด จึงตัดสินใจตอบตกลงในที่สุด

 

เฉลย: Blade Runner ฟอนต์ Blade Runner

 

[twenty20 img1=”116718″ img2=”116728″ offset=”1″]

 

หนังมาเฟียสุดเท่ในปี 1972 เกี่ยวกับครอบครัวอาชญากร ผลงานของผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา ซึ่งเป็นภาพยนตร์สุดคลาสสิกตลอดกาลที่มียอดเรตติ้งใน IMDB สูงเป็นอันดับสอง (9.2/10) นำแสดงโดย มาร์ลอน แบรนโด, อัล ปาชิโน, เจมส์ แคน และริชาร์ด เอส. แคสเทลาโน

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีภาคต่อมาอีก 2 ภาค แต่ก็ยังเป็นที่พูดถึงไม่เท่าภาคแรกที่ทำเงินไปได้ถึง 133 ล้านเหรียญสหรัฐในบ็อกซ์ออฟฟิศ และยังเป็นภาพยนตร์ที่ สแตนลีย์ คูบริก ถึงกับบอกว่ามีการคัดเลือกนักแสดงที่ดีที่สุด และอาจจะเป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลกเรื่องหนึ่งเลยด้วย นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จักฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา อีกคนที่อยู่เบื้องหลังเนื้อเรื่องและบทภาพยนตร์ก็คือ มาริโอ พูโซ ซึ่งเป็นเจ้าของนวนิยายก่อนจะนำมาเป็นภาพยนตร์ด้วย ซึ่งฟรานซิสก็รับทราบดี และเขาต้องการที่จะมอบเครดิตให้กับมาริโอถึงขั้นที่เคยจะตั้งชื่อหนังว่า Mario Puzo’s The Godfather

 

เฉลย: The Godfather ฟอนต์ Corleone

 

[twenty20 img1=”116721″ img2=”116731″ offset=”1″]

 

ย้อนกลับไปในปี 1993 ปีที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาเป็นภาคแรก และกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทั้งโลกได้รู้จักหนังไดโนเสาร์เรื่องนี้ (จนถึงขั้นที่มียอดนักศึกษาบรรพชีวินวิทยาเพิ่มสูงขึ้นหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้เลย) ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาแล้วทั้งหมด 5 ภาคตั้งแต่ปี 1993 จนถึงปี 2018 โดยในภาคแรกเขียนขึ้นจากนวนิยายของ ไมเคิล ไครช์ตัน และเขาได้รับการว่าจ้างให้เขียนนวนิยายภาคต่อเพื่อที่ค่ายหนังจะได้นำไปใช้เป็นภาพยนตร์ แต่เมื่อสตีเวนมากำกับ เขาก็เลือกที่จะใช้เพียงบางส่วนของงานเขียนที่ไมเคิลสร้างสรรค์เท่านั้น และหยิบเรื่องราวส่วนใหญ่จากภาพยนตร์เก่าปี 1925 เรื่อง The Lost World มาใช้แทน อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์แฟรนไชส์เรื่องนี้ได้ถูกเปลี่ยนผู้กำกับ คนเขียนบท และตัวแสดง อย่างล่าสุดก็ได้นักแสดงดังอย่าง คริส แพรตต์ มารับช่วงต่อให้ใน Jurassic World (2015) และ Jurassic World: Fallen Kingdom (2018)

 

เฉลย: Jurassic Park ฟอนต์ Tribeca

 

[twenty20 img1=”116715″ img2=”116725″ offset=”1″]

 

ไม่พูดถึงภาพยนตร์มหากาพย์เรื่องนี้คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตัวหนังเป็นที่จดจำตลอดกาลไม่แพ้ฟอนต์ที่เลือกใช้ โดยภาพยนตร์มหากาพย์เรื่องนี้มีเครือข่ายมาแล้ว 11 เรื่อง และกำลังจะมีเรื่องที่ 12 ในปี 2019 นี้ด้วย โดยแต่ละภาคจะเล่าสลับช่วงเวลาเกี่ยวกับการผจญภัยของเหล่าตัวละครเมื่อนานมาแล้วใน “Galaxy far, far away”

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นจากภาพยนตร์ปี 1977 ผลงานการเขียนบทและกำกับของ จอร์จ ลูคัส โดยมีนักแสดงนำหลักๆ คือ มาร์ก ฮามิลล์ (ลุค สกายวอล์กเกอร์), แฮร์ริสัน ฟอร์ด (ฮาน โซโล) และแคร์รี ฟิชเชอร์ (เจ้าหญิงเลอา) นอกจากนี้ยังมีคาแรกเตอร์ดังๆ ที่ทุกคนต้องรู้จักอย่างชิวแบคคา, โยดา, อาร์ทูดีทู, โอบีวัน เคโนบี และดาร์ธ เวเดอร์ ด้วยทุนสร้างเพียง 11 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่กลับทำเงินในบ็อกซ์ออฟฟิศไปได้ถึง 775 ล้านเหรียญสหรัฐ และกวาดรางวัลออสการ์ไปถึง 7 รางวัล นอกจากรางวัลการันตีและตัวละครระดับตำนานมากมายแล้วยังมีประโยคเด็ดจากหนังอย่าง “I am your father.” และ “May the force be with you.” อีกด้วย

 

เฉลย: Star Wars ฟอนต์ Star Jedi

 

[twenty20 img1=”116719″ img2=”116729″ offset=”1″]

 

อีกหนึ่งภาพยนตร์แฟรนไชส์ชื่อดังของ จอร์จ ลูคัส ที่มีมาแล้วถึง 4 ตอน ตั้งแต่ตอนแรกในปี 1981 อย่าง Raiders of the Lost Ark (1981), Indiana Jones and the Temple of Doom (1984), Indiana Jones and the Last Crusade (1989) และ Indiana Jones and the Kingdom of the Crystal Skull (2008) ภาพยนตร์เรื่องนี้ทุกภาคกำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก เป็นภาพยนตร์แอ็กชันผจญภัยที่มีตัวเอกเป็น ดร.เฮนรี วอลตัน “อินเดียนา” โจนส์ จูเนียร์ ซึ่งรับบทโดย แฮร์ริสัน ฟอร์ด

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จโด่งดังจนกลายเป็นทั้งทีวีซีรีส์ เกมอาร์เคด ของเล่น ไปจนถึงสวนสนุก (ธีมพาร์ก) ภายใต้เจ้าของใหญ่อย่างดิสนีย์ ซึ่งตอนนี้ Indiana Jones 5 ที่มีกำหนดจะเข้าฉายในช่วงปี 2021 ซึ่งดีเลย์จากกำหนดเดิมที่จะเข้าฉายในปี 2020 โดยจะได้แฮร์ริสัน ฟอร์ด มารับบทนำ และได้สตีเวน สปีลเบิร์ก มากำกับเช่นเคย เพียงแต่ในครั้งนี้การเขียนบทจะต่างออกไป เพราะในทุกภาคที่ผ่านมา จอร์จ ลูคัส จะเสนอไอเดียสำหรับภาคนั้นๆ และส่งต่อให้สตีเวนมาจัดการเขียนบทต่อ แต่มีข่าวออกมาว่า Indiana Jones 5 จะไม่มีจอร์จ ลูคัส เข้ามายุ่งกับเนื้อหา แต่จะนั่งแท่น Executive Producer เพียงเท่านั้น

 

เฉลย: Indiana Jones ฟอนต์ Adventure

 

[twenty20 img1=”116716″ img2=”116726″ offset=”1″]

 

ภาพยนตร์ซีรีส์แนวแอ็กชัน-คอเมดี้เกี่ยวกับสายลับชาวอเมริกันซึ่งโดดเด่นจากการหยิบเอาตัวละครดังๆ มาล้อเลียนอย่าง เจมส์ บอนด์ และการใช้ธีมแนวยุค 60s แบบ Swinging London โดยผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้าคือ ไมค์ ไมเออร์ส ที่รับบทหลักเป็น ออสติน พาวเวอร์ส และตัวร้าย ดร.อีวิล แถมยังรับหน้าที่เขียนบทเองด้วย

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีมาแล้ว 3 ภาค ตั้งแต่ภาคแรกในปี 1997 อย่าง Austin Powers: International Man of Mystery ตามด้วย Austin Powers: The Spy Who Shagged Me (1999) และ Austin Powers in Goldmember (2002) และมีข่าวว่ากำลังจะสร้างภาค 4 โดยไมค์เป็นคนออกมาให้สัมภาษณ์ว่าสนใจจะทำภาคต่อไป และอาจเน้นไปที่บทของดร.อีวิลอีกด้วย

 

เฉลย: Austin Powers ฟอนต์ Action Is

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

The post แท็กเพื่อนเนิร์ดหนังมาเล่นกันเถอะ! แบบทดสอบความทรงจำว่านี่คือฟอนต์จากหนังเรื่องอะไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/film-fonts/feed/ 0