Dries van Noten – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Tue, 19 Mar 2024 11:18:47 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 Dries Van Noten ช็อกวงการแฟชั่น เตรียมโชว์คอลเล็กชันสุดท้ายเดือนมิถุนายนนี้ที่ปารีส https://thestandard.co/dries-van-noten-to-step-down/ Tue, 19 Mar 2024 11:18:47 +0000 https://thestandard.co/?p=912967

เป็นข่าวช็อกวงการแฟชั่นทั่วโลก หลังหนึ่งในดีไซเนอร์ที่เ […]

The post Dries Van Noten ช็อกวงการแฟชั่น เตรียมโชว์คอลเล็กชันสุดท้ายเดือนมิถุนายนนี้ที่ปารีส appeared first on THE STANDARD.

]]>

เป็นข่าวช็อกวงการแฟชั่นทั่วโลก หลังหนึ่งในดีไซเนอร์ที่เป็นที่โปรดปรานที่สุดอย่าง Dries Van Noten ได้คอนเฟิร์มกับเว็บไซต์ WWD ว่าเขาจะโชว์ผลงานสุดท้ายเดือนมิถุนายนนี้ที่ Paris Men’s Fashion Week คอลเล็กชัน Spring/Summer 2025 เสื้อผ้าผู้ชาย

 

ส่วนคอลเล็กชันถัดไปของผู้หญิง Spring/Summer 2025 ที่จะโชว์ที่ Paris Fashion Week เช่นกันในช่วงเดือนกันยายนก็จะดีไซน์โดยทีมภายใน (Studio Team) เป็นครั้งแรก แม้ Dries Van Noten ได้เผยกับ WWD ว่าเขาจะยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ต่อไป

 

“อีกไม่นานเราก็จะประกาศดีไซเนอร์ที่จะมาสานต่อเรื่องราวของแบรนด์ แต่ผมก็ได้เตรียมตัวมาสักพักเพื่อโมเมนต์นี้ และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะมีคนรุ่นใหม่มากความสามารถมานำเสนอวิสัยทัศน์ของเขาผ่านแบรนด์” Dries เผยผ่านแถลงการณ์

 

Dries Van Noten ก่อตั้งแบรนด์ในชื่อตัวเองครั้งแรกเมื่อปี 1986 โดยเขาก็เป็น 1 ใน 6 ดีไซเนอร์จากเบลเยียมในกลุ่มที่เรียกว่า Antwerp Six ที่ประกอบไปด้วย Ann Demeulemeester, Dirk Van Saene, Walter Van Beirendonck, Dirk Bikkembergs, Marina Yee และ Dries ซึ่งในปี 1992 เขาก็ได้โชว์คอลเล็กชันแรกที่ปารีส และทุกซีซันต่อมา Dries Van Noten ก็เป็นหนึ่งในโชว์ไฮไลต์ ซึ่งแม้แบรนด์จะไม่เคยลงโฆษณาในนิตยสาร มีแบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือทำชุดพรมแดงฮอลลีวูด แต่คนระดับท็อปของวงการอย่าง Anna Wintour บรรณาธิการบริหาร Vogue อเมริกาก็ต้องไปชมแฟชั่นโชว์เสมอ

 

ในเชิงธุรกิจ Dries Van Noten ก็มีร้านเป็นของตัวเองตามหัวเมืองใหญ่ ทั้งปารีส ลอสแอนเจลิส โตเกียว เซี่ยงไฮ้ และแอนต์เวิร์ป บ้านเกิดของ Dries เอง ร่วมถึงขายในห้างสำคัญทั่วโลก ซึ่งในปี 2018 Dries ก็ได้ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับบริษัทสเปนอย่าง Puig ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ Jean Paul Gaultier, Nina Ricci และ Paco Rabanne ซึ่งต่อมาก็ได้ขยายกิจการด้วยการเปิดไลน์ความงาม Dries Van Noten Beauty ด้วย

 

ภาพ: Estrop / Getty Images

The post Dries Van Noten ช็อกวงการแฟชั่น เตรียมโชว์คอลเล็กชันสุดท้ายเดือนมิถุนายนนี้ที่ปารีส appeared first on THE STANDARD.

]]>
7 THINGS WE LOVE ABOUT DRIES VAN NOTEN แฟชั่นดีไซเนอร์ที่เป็นที่รักของคนทั่วโลกเกินสามทศวรรษ https://thestandard.co/7-things-we-love-about-dries-van-noten/ Sun, 09 Apr 2023 10:36:27 +0000 https://thestandard.co/?p=774675 Dries Van Noten

EARLY LIFE    Dries Van Noten เกิดและโตที่เมื […]

The post 7 THINGS WE LOVE ABOUT DRIES VAN NOTEN แฟชั่นดีไซเนอร์ที่เป็นที่รักของคนทั่วโลกเกินสามทศวรรษ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Dries Van Noten

EARLY LIFE 

 

Dries Van Noten เกิดและโตที่เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม ครอบครัวของเขาประกอบอาชีพช่างตัดเสื้อตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เขาสืบทอดเชื้อสายรุ่นที่ 3 ในสายอาชีพนี้ ตรงนี้เองกลายเป็นสิ่งปูทางให้เขาหลงรักในงานดีไซน์ และตัดสินใจศึกษาต่อสาขาแฟชั่นดีไซน์ที่ Royal Academy of Fine Arts ในแอนต์เวิร์ป หลังจากเรียนจบเขาเริ่มสร้างชื่อให้กับตัวเอง แต่ยังทำงานเป็นดีไซเนอร์รับจ้างอยู่ จนกระทั่งในปี 1986 เขาตัดสินใจเปิดร้านเล็กๆ ในชื่อของตัวเองที่ประเทศบ้านเกิด งานดีไซน์ของเขาเข้าตาลูกค้าผู้เสพความหรูหราที่แตกต่างจากท้องตลาด จนถูกซื้อไปวางขายตามห้างใหญ่ทั่วโลก อาทิ Barneys New York, Pauw ในอัมสเตอร์ดัม และ Whistles ในลอนดอน คอลเล็กชัน Menswear ในปี 1992 คือคอลเล็กชันแรกที่เขาเลือกทำแฟชั่นโชว์ ปัจจุบันแบรนด์ Dries Van Noten มีบูติกกว่า 400 แห่งทั่วโลก 

 

Dries Van Noten

 


 

HE DOES NOT DRAW, HE CONSTRUCTS

 

ความพิเศษอย่างหนึ่งในการทำงานของ Dries Van Noten คือเขาไม่ใช่ดีไซเนอร์ที่จะมานั่งสเกตช์รูปภาพ เขาไม่วาดรูป ไม่วาดเชป หรือระบายสีลงรายละเอียดแบบที่ดีไซเนอร์คนอื่นๆ ทำกัน งานทุกชิ้นของเขาเกิดจากการที่เขาทำงานโดยตรงกับฟิตติ้งโมเดล เขาจะค่อยๆ สร้างลุคจากการหยอดเสื้อผ้าลงทีละชิ้นบนตัวแบบและเริ่มตัดเย็บ หรือประกอบร่างขึ้นมาใหม่บนตัวแบบจริงๆ เลย คล้ายกับประติมากรรมที่ค่อยๆ ขึ้นโครงขึ้นมาและปรับแต่งสดๆ ตรงนั้นจนกว่าจะพอใจ ดังนั้นเสื้อผ้าทุกชิ้นของ Dries จึงพิเศษมาก เพราะมันมาจากมุมมองของเขาจริงๆ ที่ค่อยๆ ประกอบมันขึ้นมาใหม่จนสมบูรณ์ที่สุด 

 

Dries Van Noten

 


 

ART IS HIS BIGGEST INSPIRATION

 

แทนที่จะไปนั่งย้อนดูงาน Archive ของดีไซเนอร์คนอื่นมาใช้เป็นแรงบันดาลใจ Dries Van Noten เลือกที่จะเสพผลงานศิลปะแทนในการหาแรงบันดาลใจ เสื้อผ้าของเขาทุกชิ้นจึงมักเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่ผุดขึ้นมาในหัวตอนนั้นมากกว่า หลังจากเห็นภาพศิลปะที่เขาชื่นชอบ ซึ่งงานศิลปะที่เขาเสพก็มาจากหลายแขนง เช่น การแสดงบัลเลต์ ภาพจิตรกรรม งานเขียน หรือแม้แต่ Installation Art ไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นงานของเขามาพร้อมลายพิมพ์แปลกตาที่ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะที่เขาเสพทั้งนั้น ก่อนจะแปรสภาพมาสู่งานศิลปะที่สวมใส่ได้จริง นั่นก็คือเสื้อผ้าของเขานั่นเอง 

 

Dries Van Noten

 


 

MASTER OF DECONSTRUCTION

 

อีกหนึ่งจุดแข็งของงาน Dries Van Noten คือการจับต้นชนปลายได้อย่างมีชั้นเชิง งานของเขามักนำองค์ประกอบที่ดูอยู่ด้วยกันไม่ได้มาผสมผสานกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ขั้วต้นทางที่นำมาใช้จะถูกบิด เปลี่ยน และแปรสภาพให้อยู่ในบริบทที่ต่างจากเดิม ก่อนจะนำมาประกอบร่างเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน นี่น่าจะมาจากเทคนิคการทำงานที่เขาค่อยๆ ประกอบร่างเสื้อผ้าทั้งหมดบนฟิตติ้งโมเดลด้วย ทำให้เขาเห็นเสื้อผ้าเหล่านั้นจริงๆ ยามอยู่บนตัวคน Dries Van Noten ยังเป็นอีกดีไซเนอร์ที่ชอบ Ugly Pretty หรือการเปลี่ยนสิ่งที่อัปลักษณ์หรือความไม่สมบูรณ์ในสายตาคนทั่วไปให้กลายเป็นสิ่งสวยงามและดูสมบูรณ์แบบขึ้นมา 

 

Dries Van Noten

 


 

EFFORTLESS MAXIMALISM

 

สไตล์ของแบรนด์ Dries Van Noten จัดว่าเป็น Maximal ที่พอดิบพอดี ไม่เอะอะตะโกนแบบแบรนด์อื่นๆ ที่เราเคยพบเห็น งานของ Dries คือการผสมผสานสไตล์ที่เรากล่าวไปข้างต้นทั้งหมดให้มาอยู่ด้วยกันในไอเท็มหนึ่งชิ้น จุดเด่นอีกข้อของเขาคือการใช้ลายพิมพ์ ซึ่งลายพิมพ์ในคอลเล็กชันของเขาถูกสั่งพิมพ์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยที่เขาจะเป็นคนบรีฟสิ่งที่เขาอยากได้เองทั้งหมด และถ้าโรงงานทำออกมาไม่เหมือนสิ่งที่เขาอยากได้ เขาจะขอให้โรงงานทำให้ใหม่ทันที ในคอลเล็กชัน Spring/Summer 2018 ถือเป็นคอลเล็กชันครั้งที่ 100 ของเขา เขาจัดแฟชั่นโชว์พร้อมเฉลิมฉลองแบรนด์ของตัวเองด้วยการนำลายพิมพ์เด่นๆ ที่เขาเคยทำในอดีตมาทับกันแบบ ​Print on Print on Print บนเสื้อผ้าชิ้นเดียวได้อย่างลงตัวและดูไม่พยายามเลย

 

Dries Van Noten

 


 

NO ADVERTISING

 

‘แฟชั่นที่มีจิตวิญญาณ’ คือคำที่เขานิยามเสื้อผ้าของตัวเอง โดย Dries Van Noten ต้องการให้เสื้อผ้าของเขาขับเน้นบุคลิกของผู้สวมใส่และสามารถอยู่กับคนคนนั้นได้ยาวนานที่สุด รวมถึงสามารถปรับและประยุกต์ไปกับแบรนด์อื่นๆ ซึ่งเสื้อผ้าของแบรนด์ Dries ยังเป็นสินค้าหลักที่ทำเงินให้กับบริษัทมากกว่าแอ็กเซสซอรีเหมือนแบรนด์อื่นๆ ที่สำคัญ Dries ไม่สนใจทำโฆษณาใดๆ เลย เขาไม่ซื้อหน้าโฆษณาบนนิตยสาร ไม่ส่งชุดหรือเชิญเซเลบริตี้มานั่งฟรอนต์โรว์ ไม่แคร์เรื่องการ PR ใดๆ ทั้งสิ้น เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เขาหามาได้เอาไปลงกับการทำ PR แบรนด์อย่างเดียวคือ ‘การทำแฟชั่นโชว์’ ที่ที่เขาจะโชว์ศักยภาพมากที่สุดผ่านงานดีไซน์ที่เขาอยากให้คนโฟกัสจริงๆ มากกว่าองค์ประกอบอื่นๆ 

 

Dries Van Noten

 


 

EXPANDING THE BRAND

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Dries Van Noten ประกอบกิจการในฐานะบริษัทเอกชนอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่อนักลงทุนใดๆ เลย กว่า 25 ปีที่เขาทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์มาอย่างยาวนาน ในปี 2018 เขาประกาศร่วมลงทุนในแบรนด์กับ Puig กลุ่มบริษัทจากประเทศสเปนที่จะเข้ามาลงทุนแบรนด์โดยที่ Dries จะยังนั่งควบตำแหน่งทั้ง Chief Creative Officer และผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเขาจะมีส่วนร่วมในทุกการตัดสินใจของแบรนด์ร่วมกับ Puig แน่นอนว่าการมาของกลุ่มบริษัทจะเข้ามาซัพพอร์ตด้านการเงินและการสร้างแบรนด์ Dries Van Noten ให้เติบโตขึ้นไปจากเดิม รวมถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ที่ Dries เองสามารถสร้างสรรค์จากชื่อของเขาได้ เช่น น้ำหอม หรือของตกแต่งบ้าน สำหรับ Puig เป็นกลุ่มบริษัทที่มีแบรนด์อยู่ในเครือ อาทิ Carolina Herrera, Jean Paul Gaultier, Nina Ricci และ Paco Rabanne ซึ่งแบรนด์ทั้งหมดตอนนี้อยู่ในสถานะของแบรนด์ Niche ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง 

 

Dries Van Noten

The post 7 THINGS WE LOVE ABOUT DRIES VAN NOTEN แฟชั่นดีไซเนอร์ที่เป็นที่รักของคนทั่วโลกเกินสามทศวรรษ appeared first on THE STANDARD.

]]>
สรุปไฮไลต์สำคัญ Paris Fashion Week Spring/Summer 2020 https://thestandard.co/paris-fashion-week-spring-summer-2020/ Wed, 02 Oct 2019 13:26:26 +0000 https://thestandard.co/?p=292358 Paris Fashion Week Spring/Summer 2020

Bella Hadid มาในลุคเจ้าสาวศตวรรษที่ 18 ที่ Vivienne Wes […]

The post สรุปไฮไลต์สำคัญ Paris Fashion Week Spring/Summer 2020 appeared first on THE STANDARD.

]]>
Paris Fashion Week Spring/Summer 2020

Bella Hadid มาในลุคเจ้าสาวศตวรรษที่ 18 ที่ Vivienne Westwood, Dior ใช้ต้นไม้ 164 ต้นมาประดับฉาก, Dries Van Noten ร่วมงานกับ Christian Lacroix, Stella McCartney ใช้วัสดุเนื้อผ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 75%, Chanel จำลองฉากหลังคาตึกปารีส, Hedi Slimane ยังคงอยู่ในยุค 70 ที่ Celine และคนที่แจ้งเกิดของซีซันกลับเป็นนายแบบชาวเยอรมันที่ Maison Margiela …ปารีสแฟชั่นวีก Spring/Summer 2020 เต็มไปด้วยสีสันและเหตุการณ์ที่ทำให้ตอกย้ำว่าเมืองนี้ยังคงเป็นหนึ่ง

The post สรุปไฮไลต์สำคัญ Paris Fashion Week Spring/Summer 2020 appeared first on THE STANDARD.

]]>
Style Wrap-Up ความเคลื่อนไหวในวงการแฟชั่น กับโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง https://thestandard.co/style-wrap-up-13-january-2019/ https://thestandard.co/style-wrap-up-13-january-2019/#respond Sat, 12 Jan 2019 17:01:44 +0000 https://thestandard.co/?p=177374

  จากซ้ายไปขวา: Dries Van Noten, Gucci, Undercover […]

The post Style Wrap-Up ความเคลื่อนไหวในวงการแฟชั่น กับโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

จากซ้ายไปขวา: Dries Van Noten, Gucci, Undercover

 

In Memory of David Bowie

สัปดาห์ที่สองของทุกปีถือว่ามีความสำคัญต่อหลายคนที่ชื่นชอบ เดวิด โบวี เพราะเป็นทั้งวันเกิด (8 มกราคม) และวันเสียชีวิต (10 มกราคม) โดยเดวิดคือบุคคลที่ได้ปฏิวัติสังคมของเราผ่านทั้งบทเพลง มิวสิกวิดีโอ การแสดง และแน่นอน แฟชั่นที่สวมใส่ตลอด ซึ่งหากไม่มีเขา ก็คงไม่มี เอลตัน จอห์น, เลดี้ กาก้า, ลอร์ด, มาดอนนา, ทรอย ซีวาน หรือ จาเนลล์ โมเน ในวันนี้ ที่กลายเป็นศิลปินขับเคลื่อนวงการ พร้อม ‘ความกล้า’ กับชุดที่ตนใส่ ซึ่งเดวิดเหมือนเป็นคนเบิกทางให้ตั้งแต่ยุค 70s ช่วงที่เขาครีเอตตัวละคร ซิกกี้ สตาร์ดัสต์ บนเวที และช่วยแจ้งเกิดดีไซเนอร์ญี่ปุ่นคนสำคัญอย่าง คันไซ ยามามาโตะ ส่วนมาในยุค 90s เขาก็เป็นแรงผลักดันทำให้ดีไซเนอร์ อเล็กซานเดอร์ แม็กควีน เป็นที่รู้จัก

 

มาทุกวันนี้ หลายแบรนด์อย่าง Gucci ก็ยังคงนำเรื่องราวการแต่งตัวแบบ Genderless ของเดวิดมาใช้ในคอลเล็กชัน หรือแบรนด์อย่าง Dries Van Noten กับคอลเล็กชัน Fall/Winter 2011 ที่ยกย่องเดวิดในยุคสมัยที่เขาเป็นตัวละคร ธิน ไวต์ ดุก ส่วนล่าสุดแบรนด์ Undercover กับคอลเล็กชัน Spring/Summer 2019 ก็นำภาพของ มิก ร็อก ที่ถ่ายเดวิดในยุค ซิกกี้ สตาร์ดัสต์ มาตีพิมพ์เป็นหลายบนเสื้อผ้าอีกด้วย

 

 

Summer Essential Wardrobe

การเคลื่อนตัวและคุณลักษณะเฉพาะตัวของสายน้ำได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของ COS คอลเล็กชัน Spring/Summer 2019 ที่สร้างสรรค์ให้สุภาพบุรุษ สุภาพสตรี และเด็ก โดยใช้โทนสีฟ้าเป็นหลัก ไล่เรียงตั้งแต่โทนอ่อนของท้องฟ้าไปจนถึงโทนเข้มอย่างสีฟ้าน้ำทะเล สีฟ้าอินดิโก และสีมิดไนต์บลู เป็นต้น ซึ่งโดยเสื้อผ้าสำหรับสุภาพสตรีมาในลุคหลวมสบายๆ โดดเด่นด้วยกระโปรงและเดรสตัวโคร่ง ส่วนสำหรับสุภาพบุรุษ เน้นลูกเล่นและรูปทรงกางเกงที่ดูแปลกตา จับคู่กับเสื้อเบลเซอร์ทรงหลวมเนื้อผ้าบางเบา ให้กลิ่นอายความผ่อนคลาย แต่คงไว้ซึ่งลุคสมาร์ทแคชชวล

 

 

 

Rest In Paradise, Babs Simpson

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการนิตยสารแฟชั่นก็ต้องสูญเสียหนึ่งในวีรสตรีคนสำคัญอย่าง แบบส์ ซิมป์สัน ที่เสียชีวิตด้วยวัย 105 ปี ในนิวยอร์ก โดยเธอเริ่มทำงานตั้งแต่ยุค 40s และเคยทำงานเป็นบรรณาธิการแฟชั่น ทั้งที่ Harper’s Bazaar และ Vogue ฉบับอเมริกา พร้อมได้สัมผัสการก่อเกิดแบรนด์ดังๆ อย่าง Christian Dior ตอนเธอถูกส่งไปปารีสแฟชั่นวีกในสมัยนั้น ก่อนจะย้ายหมวดนิตยสารไปทำเล่มตกแต่งบ้าน House & Garden ในยุค 70s

 

สำหรับช่างภาพระดับตำนานที่แบบส์เคยทำงานด้วย ก็มีอย่าง ไอร์วิง เพนน์, คลิฟฟอร์ด คอฟฟิน และ เบิร์ต สเติร์น เป็นต้น ส่วนคนดังที่มีชื่อเสียงที่สุดที่เธอร่วมงานบ่อยสุดๆ ก็หนีไม่พ้น มาริลิน มอนโร ที่ทำงาน 6 สัปดาห์ก่อนที่มาริลินจะเสียชีวิต

 

 

Do It Yourself

กลับมาอีกครั้งสำหรับโปรเจกต์ DIY ของแบรนด์ Rag & Bone ที่ในซีซันนี้ได้ อเล็ก เว็ก, ปารีส แจ็คสัน และ พาโลมา เอลเซสเซอร์ มาเป็นตัวแทน ซึ่งโปรเจกต์นี้ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเป็นครั้งแรกในฤดูใบไม้ผลิปี 2011 เพื่อเป็นการเติมลูกเล่นใหม่ๆ ให้กับการถ่ายภาพแบบเดิม โดยผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะได้รับกล้องถ่ายรูป เสื้อผ้าจาก Rag & Bone และได้รับโจทย์เหมือนกันนั่นคือ การถ่ายทอดความเป็น Rag & Bone ในแบบของตนเอง

 

มาคัส เวนไรท์ ประธานกรรมการบริหารและครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ ของ Rag & Bone กล่าวว่า “DIY Project ออกแบบมาเพื่อมุ่งเน้นที่ความเป็นปัจเจกและตัวตนที่แท้จริงของแต่ละบุคคล ซึ่งนับเป็นองค์ประกอบที่เป็นหัวใจสำคัญของ Rag & Bone เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เห็นบุคคลสำคัญที่โดดเด่นเหล่านี้ถ่ายทอดสไตล์เฉพาะตัวในแบบของตัวเอง”

 

 

Rei Plays Abstract

สำหรับ Comme Des Garçons ซีซัน Spring/Summer 2019 เรย์ คาวาคูโบ ดีไซเนอร์ที่มีอัตลักษณ์ในการออกแบบ และสามารถใช้เสื้อผ้าพูดแทนเธอได้เสมอในทุกคอลเล็กชัน จัดแฟชั่นโชว์ชื่อ Mini Show ที่โรงเรียน Ecole des Beaux-Arts ต่อหน้าผู้ชมเพียง 100 คน ที่นั่งเรียงอยู่ 2 ข้างของรันเวย์สีขาว โดยเรย์ยังคงเปลี่ยนทิศทางการออกแบบเสื้อผ้า เพื่อดูว่าเธอจะสามารถทำให้เสื้อผ้าที่ทรงพลังนั้นไปได้ไกลแค่ไหน ซึ่งแสดงถึงความเป็นอีกหนึ่งศิลปินแอ็บสแตรกต์แห่งยุคผ่านการทำเสื้อผ้า

 

สำหรับเสื้อผ้า นำผลงานอันคลาสสิกของเรย์มาทำใหม่ให้ดูเรียบและเป็นธรรมชาติกว่าที่ผ่านมา โดยสะท้อนถึงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของผู้หญิงวัยต่างๆ ทั้งเสื้อแจ็กเก็ตมีระบายที่ชายเสื้อ (Peplum Jacket) เสื้อคลุมตัวยาว (Coat) และจัมป์สูท ทักซิโด้ (Jumpsuit Tuxedo) เป็นต้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

The post Style Wrap-Up ความเคลื่อนไหวในวงการแฟชั่น กับโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/style-wrap-up-13-january-2019/feed/ 0
เกิด แก่ เจ็บ ตาย…บทสรุปวงการแฟชั่นในปี 2018 https://thestandard.co/fashion-2018-what-happened/ https://thestandard.co/fashion-2018-what-happened/#respond Wed, 12 Dec 2018 11:06:13 +0000 https://thestandard.co/?p=163833

  Louis Vuitton Spring/Summer 2019 Menswear โชว์แร […]

The post เกิด แก่ เจ็บ ตาย…บทสรุปวงการแฟชั่นในปี 2018 appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

Louis Vuitton Spring/Summer 2019 Menswear โชว์แรกของ เวอร์จิล อาเบลาะห์ ในฐานะอาร์ทิสติก ไดเรกเตอร์

 

“เฮ้ออออ…”

 

เสียงถอนหายใจแรงๆ ที่หลายคนได้ยินแล้วจะหงุดหงิดหรือต้องมองด้วยหางตาถ้าได้ยินบนรถไฟฟ้า คือเสียงที่ผมรู้สึกว่าตัวเองทำบ่อยมากในปีนี้ พอได้อ่านข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับวงการแฟชั่น

 

ใจหนึ่งผมก็รู้สึกดีที่หลายเหตุการณ์ในปีนี้ ไม่ว่าจะเรื่องการเปลี่ยนดีไซเนอร์, พฤติกรรมดีไซเนอร์หรือช่างภาพ, ชุดที่คนใส่ไปงานแต่งงาน (หรือใส่แต่งงาน), การปรับเปลี่ยนของสื่อแฟชั่น หรืองานโชว์ระดับโลกก็ได้กลายเป็น ‘ข่าว’ ในกระแสหลักทั้งยังขับเคลื่อน พร้อมสะท้อนทัศนคติใหม่ๆ ต่อสังคมเทียบเท่ากับศิลปะแขนงอื่นๆ แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตและทำมาหากินในวงการนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่ามูลค่าจะสูงขึ้น 3.5-4.5% ก็ถือว่าได้เสียวสันหลังอยู่ตลอดเวลาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองหรือไม่

 

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ผมได้นิยามไว้ในบทความ Now Next 2018 ว่าวงการแฟชั่นเปรียบเสมือนรถไฟเหาะ ซึ่งในปีนี้เราก็ยังอยู่บนรถไฟเหาะคันเดียวกันนี้ แต่ที่น่ากลัวกว่าคือ มันกำลังเดินหน้าเข้าสู่ปี 2019 โดยไม่มีเข็มขัดนิรภัยเหมือนก่อนแล้ว ซึ่งพูดง่ายๆ คุณต้องทรงตัวให้ดีและเกาะเอาไว้ให้แน่นๆ

 

แอนนา วินทัวร์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue อเมริกา และ อาร์ทิสติก ไดเรกเตอร์ บริษัท Condé Nast

 

ป้ายออฟฟิศ Condé Nast ที่ย่าน Mayfair ในลอนดอน

 

How’s Anna Doing?

เป็นที่รู้กันอยู่ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นถูกควบคุมและขับเคลื่อนโดยนิตยสารห้าตัวอักษรของอเมริกา ‘VOGUE’ ที่ต้องเขียนตัวใหญ่เพื่อดูยิ่งใหญ่ แต่ความยิ่งใหญ่นี้ที่เราคุ้นเคยกันมาหลายทศวรรษได้เจอมรสุมพัดกระหน่ำในปี 2018 แบบที่บัลลังก์ของวีรสตรีและหนึ่งในฮีโร่ของผมอย่าง แอนนา วินทัวร์ เจอศึกหนักตั้งแต่ต้นปี เพราะช่างภาพคู่ใจอย่าง มาริโอ เทสติโน และ บรูซ เวเบอร์ โดนข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งก็ทำให้ทางนิตยสารต้องยุติการทำงานกับสองคนนี้ทันที และเลือกใช้ช่างภาพใหม่ๆ อย่าง ไทเลอร์ มิตเชลล์ ที่เป็นช่างภาพผิวสีคนแรกที่ได้ถ่ายปก Vogue ฉบับกันยายนกับ บียอนเซ่ หรือช่างภาพเชื้อสายอังกฤษอย่าง มาร์ติน พารร์ และ เจมี ฮอคส์เวิร์ธ ที่มีบทบาทมากขึ้นในเล่ม แทนที่จะเป็นแค่คลับช่างภาพเอ็กซ์คลูซีฟของเล่มเท่านั้น

 

แต่ไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะทั้งปีบริษัทพ่อของ Vogue อย่าง Condé Nast ก็มีรายงานถึงการขาดทุนและปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กร จนนิตยสารอย่าง Glamour ที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1939 ต้องปิดส่วนของเล่มและหันไปทำแค่ออนไลน์ ส่วนเล่มอย่าง W Magazine, Golf Digest และ Brides ก็กำลังหาคนมาซื้อกิจการ ซึ่ง Vogue เองถึงแม้จะยังเป็นราชินีของ Condé Nast แต่ในเดือนกรกฎาคมก็มีการประกาศว่าสองบรรณาธิการแฟชั่นคนสำคัญของเล่ม โทนนี กู๊ดแมน และ ฟิลลิส พอสนิก ถูกปรับเป็นพนักงานฟรีแลนซ์แทน ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลดต้นทุนของนิตยสาร โดยประเด็นนี้ก็ถูกเชื่อมโยงกับข่าวลือว่า แอนนา วินทัวร์ กำลังจะลาออก แต่ทางเธอกับ Condé Nast ก็ได้ปฏิเสธมาตลอด

 

ปลายเดือนพฤศจิกายน ทางซีอีโอ บ็อบ เซาเออร์เบิร์ก ของ Condé Nast ก็ถูกปลดจากตำแหน่ง ซึ่งนักวิจารณ์แฟชั่นหลายคนมองว่าแอนนาอาจทนรับการทำงานกับซีอีโอคนอื่นไม่ได้หากเธอขาดทีมงานคู่บุญในยุครุ่งเรือง และเธอเองโดนปรับเปลี่ยนบทบาทที่สร้างมาอย่างดี แถมพอไปเทียบกับนิตยสารหัวอื่นๆ ในอเมริกาอย่าง Elle ที่ได้รับความสนใจมากกว่าตั้งแต่ นีน่า การ์เซีย มาเป็นบรรณาธิการบริหารคนใหม่ พร้อมดึงดูดดาราระดับแถวหน้ามาขึ้นปกเกือบหมด ทั้ง แอนเจลินา โจลี, มิเชล โอบามา, เลดี้ กาก้า, อะรีอานา กรานเด และ เอ็มมา สโตน เป็นต้น ส่วน InStyle กับบรรณาธิการบริหารชาวออสเตรเลีย ลอรา บราวน์ ที่ได้รับคำชื่นชมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเนื้อหาเล่มที่สะท้อนบริบทของสังคมได้แยบยลและสมจริงกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้พลังในกำมือของแอนนานับวันเริ่มถูกลดทอน

 

ร้าน Dolce & Gabbana ที่กรุงปักกิ่ง

 

Diet Prada vs. The Devil Wears Prada vs. ‘Woke’ Era

ในมุมมองของผม กระบอกเสียงที่สำคัญสุดในวงการแฟชั่นทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไปจากกลุ่มคนที่ถูกสะท้อนในภาพยนตร์ The Devil Wears Prada แต่กลับกลายเป็นแอ็กเคานต์อินสตาแกรมอย่าง @dietprada แทน

 

แอ็กเคานต์นี้ก่อตั้งเมื่อปลายปี 2014 โดยเพื่อนสองคน Tony Liu และ Lindsey Schuyle ซึ่งใน 2 ปีแรกจำนวนคนตามอยู่แค่หลักพัน และแอ็กเคานต์จะเน้นการจับผิดดีไซเนอร์ที่ก๊อบปี้รูปทรงหรือลวดลายจากคนอื่นๆ แต่พอมาในปี 2017 @dietprada ก็เริ่มจับประเด็นที่รุนแรงขึ้น เช่น เหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน

 

พอมาในวันที่ 21 พฤศจิกายนปีนี้ @dietprada ก็ได้ก้าวกระโดดมาอยู่แถวหน้าของการเป็นแพลตฟอร์มสื่อแฟชั่น กับเหตุการณ์แบรนด์ Dolce & Gabbana ประกาศยกเลิก ‘#DGTheGreatShow’ งานใหญ่ประจำปีที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยเหตุผลเกิดจากคลิปวิดีโอซีรีส์โปรโมตงานชื่อ ‘Chopsticks Eating’ บนแพลตฟอร์ม Weibo ที่มีภาพนางแบบใช้ตะเกียบกินอาหารอิตาเลียนในทางที่ดูล้อเลียนวัฒนธรรมการกินของชาวจีน ซึ่ง @dietprada ได้เผยข้อความ Direct Message ระหว่าง @MichaelaTranova กับตัวดีไซเนอร์แบรนด์ @stefanogabbana ซึ่งตัวดีไซเนอร์ก็เขียนข้อความตอบกลับอย่างรุนแรงว่า เป็นเพราะทีมงานกลัวผู้มีอำนาจในจีน แต่ถ้าเป็นตัวเขา จะไม่มีทางลบคลิปออกจากแอ็กเคานต์ Weibo ของแบรนด์เด็ดขาด แถมยังบอกว่า ต่อไปตอนให้สัมภาษณ์กับสื่อเมืองนอกจะบอกว่า ‘The Country of shit is China’

 

Screencap จากเหตุการณ์ที่ Diet Prada เปิดโปงเรื่องการยกเลิกแฟชั่นโชว์ Dolce & Gabbana ที่กรุงเซี่ยงไฮ้

 

การเปิดโปงของ @dietprada สร้างเอ็นเกจเมนต์และยอดแชร์อย่างมหาศาลภายในไม่กี่ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าเราได้เข้าสู่ยุคที่อำนาจการตัดสินใจของวงการแฟชั่นไม่ได้เป็นแค่จากคนในฟองอากาศของอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่พลังของมหาชนและโลกออนไลน์อาจทำให้หนึ่งงานล้มลงได้ในพริบตา โดยต่อไปแบรนด์ในระดับอะไรก็ตามแต่ต้องคำนึงให้ดีเกี่ยวกับทุกภาพที่ตัวเองเสนอออกไป และต้องเข้าใจว่า แม้ ‘การล้อเลียน’ หรือ ‘การล้อเล่น’ ของคุณอาจไม่ได้มาจากความรู้สึกลบ แต่เราอยู่ในยุคสมัยที่เซนสิทีฟมาก และคนกำลังต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งการจะมาเล่นเรื่องเพศ เรื่องเชื้อชาติ หรืออะไรก็ตามแต่ ผ่านแฟชั่นที่มีคนพันๆ ล้านคนได้เห็น ก็เป็นอะไรที่ควรคิดตรึกตรองให้รอบด้าน

 

มากไปกว่านั้น เราได้ก้าวสู่ยุคสมัยที่เรียกกันว่า ‘Woke’ ซึ่งคือการที่คนกลุ่มมิลเลนเนียลส่วนใหญ่สนใจเรื่อง ‘จรรยาบรรณ’ และความโปร่งใสมากขึ้น ทั้งในการผลิตสินค้า จุดยืนของดีไซเนอร์ทางการเมือง และเรื่องการช่วยเหลือสังคม เป็นต้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมในปี 2018 เราได้เห็นหลายแบรนด์หยุดการใช้หนังและขนสัตว์อย่าง Versace, Gucci, Michael Kors และล่าสุด Chanel มีการผลิตสินค้าเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศผ่านลาย Pride สีรุ้ง อาทิ Burberry และมีการทำโปรเจกต์นำเสนอเรื่องสิทธิผู้หญิง เช่น Dior, Zadig & Voltaire และ Eileen Fisher ซึ่งต่อไปในปี 2019 หากแบรนด์จะขายกระเป๋า 3 ล้าน, 3 แสน หรือ 3 สามพันบาทให้กับคนกลุ่มเจนใหม่ คุณก็ต้องคำนึงถึงว่าสินค้าต้องไม่เพียงมีแค่ความสวยงามหรือหรูหราภายนอกที่ใช้ถ่ายรูปลงอินสตาแกรมเป็นประจำ แต่ยังต้องใช้ถือแล้วมีคุณค่า ทั้งเป็นการสะท้อนว่าเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ที่สร้างพลังบวกให้กับโลก

 

Céline Spring/Summer 2018 คอลเล็กชันสุดท้ายที่ ฟีบี ไฟโล จัดโชว์ในกรุงปารีส

 

Celine Spring/Summer 2019 คอลเล็กชันแรกที่ เอดี สลีมาน จัดโชว์ที่กรุงปารีส

 

Phoebe / Hedi

ถ้าให้เลือก ‘ดีไซเนอร์แห่งปี’ ผมพูดตามตรงคงเลือกไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่ากลัวผิด กลัวกระแสโจมตี หรือมีเรื่องราวของธุรกิจอยู่เบื้องหลัง แต่ผมแค่ไม่รู้ว่าเราใช้จะเกณฑ์อะไรมาตัดสิน…ขายได้ดีสุด? ได้รับคำชมมากสุด? เป็นกระแสสุด? โดนแบรนด์ Fast Fashion ก๊อบปี้เยอะสุด?

 

แต่ผมขอเลือกพูดถึง ‘ฟีบี ไฟโล’ อดีตครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของแบรนด์ Celine ที่ในปีนี้ไม่มีผลงานใหม่ออกมา แต่กลับเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์ที่พูดถึงมากสุด โดยเฉพาะในช่วงที่ เอดี สลีมาน ครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนใหม่ (หรือชื่อตำแหน่งที่จะยาวไปไหน Artistic, Creative and Image Director) ได้โชว์ผลงานคอลเล็กชันแรกช่วงปลายเดือนกันยายนที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้ลบล้างสไตล์เสื้อผ้าสาวสมัยใหม่แบบ Power Dressing ที่ฟีบีได้ผลักดันตลอด 10 ปี จน Celine ได้กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่สำคัญสุดของโลก ซึ่งราคายอดขายต่อไอเท็ม Resale ที่ฟีบีเคยดีไซน์ก็เพิ่มขึ้นมากว่า 30% บนเว็บไซต์ The RealReal ส่วนบนเว็บไซต์ Vestiaire ก็ยอดขายขึ้น 43% และบน eBay ยอดค้นหาสินค้าก็สูงขึ้นถึง 700% แถมยังมีแอ็กเคานต์อินสตาแกรมชื่อ @oldceline สร้างขึ้นมา ที่ได้รับความนิยมทันทีกับคอนเทนต์รวบรวมผลงานเก่าๆ ของฟีบีที่ Celine ซึ่งตอนนี้ยอดฟอลโลเวอร์สูงถึง 162,000 แอ็กเคานต์

 

กลับมาที่ดีไซเนอร์คนปัจจุบันของ Celine อย่าง เอดี สลีมาน ส่วนตัวแล้วผมชื่นชอบและนับถือเขามาตลอดตั้งแต่ยุค Dior Homme และ Saint Laurent เพราะเขาเล่นเกมเชิงพาณิชย์ของวงการแฟชั่นได้อย่างฉลาด พร้อมสร้างสรรค์สินค้าที่ปฏิวัติการแต่งตัวและสร้างเม็ดเงินมหาศาล ซึ่ง ‘แฟชั่น’ ก็คือธุรกิจแบบหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้และสร้างอาชีพให้คนนับล้าน

 

ถ้าถามว่าแปลกใจไหมที่เอดีได้ใช้สูตรเดิมที่ Celine เหมือนแบรนด์ก่อนๆ ที่เขาทำงาน? ไม่ และถามว่าผิดไหม? ไม่ เพราะมันไม่ได้เป็นกฎว่าเขาต้องสานต่อสิ่งที่ฟีบีทำหรือเก็บดีเอ็นเอความเป็นมาของ Celine ตั้งแต่แรกเริ่ม (ที่เป็นธุรกิจรองเท้าเด็ก) ส่วนเหตุผลที่คนต่อว่าเอดีในเรื่องไม่เชิดชูสิทธิของผู้หญิงผ่านเสื้อผ้าที่เน้นเดรสสั้นและความวาบหวิว ผมก็มองว่าเป็นประเด็นที่ไม่แฟร์ เพราะผมคิดว่าการที่ผู้หญิง ผู้ชาย หรือเพศอะไรก็ตามแต่ ‘คุณค่า’ ของคุณไม่ได้มาจากชุดที่ใส่ การที่ผู้หญิงจะใส่เดรสสั้นและเผยเนื้อหนังอะไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าเธอจะต้องโดนดูถูกมากกว่าผู้หญิงที่ใส่สูทมัสคูลินสักหน่อย แต่! สิ่งที่ผมรู้สึกเสียดายมากกว่าเกี่ยวกับเฮดีคือ การที่เขาเลือกทำเสื้อผ้าที่จำเจและเหมือนเดิมจนเกินไป โดยไม่พยายามผลักดันขอบเขตการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนั่นควรเป็นอันดับหนึ่งของทุกดีไซเนอร์ในมุมมองของผม

 

โชว์ Valentino Pre-Fall 2019 ที่กรุงโตเกียว

 

โชว์ Chanel Métiers d’Art 2018/2019 ที่พิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์ก

 

Scale and Spectacle

ถ้ามาในเชิงธุรกิจ มาร์เก็ตติ้งและแบรนด์ดิ้ง หลายแบรนด์ระดับมหาอำนาจของวงการได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดแฟชั่นโชว์ตามหัวเมืองสำคัญรอบโลก เพื่อ Boost กระแสและสร้างจุดยืนในแต่ละตลาด เริ่มด้วยประเทศจีนที่รายงานการวิจัยของเว็บไซต์ Business of Fashion ร่วมกับ McKinsey & Company ได้เผยว่า ในปี 2019 จีนจะเป็นตลาดแฟชั่นลักชัวรีเบอร์หนึ่งของโลก เอาชนะอเมริกาเป็นครั้งแรก ซึ่งเราเลยไม่แปลกใจ ทำไมแบรนด์อย่าง Coach, Miu Miu และ Tommy Hilfiger ต่างเลือกเซี่ยงไฮ้เป็นที่จัดแฟชั่นโชว์เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งตลาดเหมือนกับ Dolce & Gabbana ที่กล่าวก่อนหน้านี้ (แต่พังไม่เป็นท่า) ส่วนแบรนด์ Dior กับ Valentino ก็เพิ่งไปจัดรันเวย์ที่กรุงโตเกียวไล่เลี่ยกัน ซึ่งตลาดญี่ปุ่นก็มีความสำคัญมาหลายทศวรรษ โดยแบรนด์อย่าง Valentino ก็ฉลาดในการจัดโชว์ช่วงเวลาเดียวกันที่จะเปิดร้านแฟลกชิปสโตร์ในย่านกินซ่า คล้ายๆ กับที่ Chanel เพิ่งจัดโชว์คอลเล็กชัน Métiers d’Art 2018/2019 ที่นิวยอร์กหลังร้านที่ถนน 57th Street หลังจากเผยโฉมใหม่ที่ดีไซน์โดย ปีเตอร์ มาริโน ตามเคย

 

ความคุ้มค่าของการจัดงานใหญ่ระดับโลกตามเมืองต่างๆ อยู่ที่ แบรนด์จะสามารถเก็บยอด Coverage, Reach และ Engagement แบบ 2-in-1 หรือมากกว่า จากการได้ดาราแถวหน้ามาร่วมงานและเชิญเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ รอบโลกมาร่วมงาน ซึ่งในปี 2018 มาร์เก็ตติ้งเอเจนซี Mediakix ได้บอกว่า มูลค่าธุรกิจ Influencer Economy อยู่ที่ 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับแบรนด์ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่สมาร์ทกว่าไปจ่ายเงินซื้อหน้าโฆษณาที่นับวันยอดขายนิตยสารก็อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง ยกเว้นบางประเทศสำคัญอย่างอังกฤษ ที่การบริโภคสื่อทุกแพลตฟอร์มยังมีความสมดุลได้ดีอยู่

 

อาดุต อาเคช ที่โชว์ Dries Van Noten Spring/Summer 2019

 

เอซรา มิลเลอร์ ที่งานปฐมทัศน์ภาพยนตร์ Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald ที่ลอนดอน

 

One Word: Inclusion

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากทิ้งท้ายเอาไว้สำหรับปีนี้เกี่ยวกับวงการแฟชั่นคือ ความหวัง ความสวยงาม และการเปิดกว้าง ที่ ‘ผู้นำ’ ตัวจริงของวงการนี้อาจเป็นใครก็ได้ และการจะมาตีค่าคนผ่านชาติตระกูล สีผิว เพศ ขนาดรอบเอว เชื้อชาติ หรือการศึกษาเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานแห่งความสำเร็จ แค่คุณมีความฝัน ความทะเยอทะยาน และไอเดียที่ตีโจทย์แตกและมหาชนชอบ คุณก็เป็นใหญ่ได้

 

ซึ่งนั่นก็เกิดขึ้นตอนที่เราได้เห็น เวอร์จิล อาเบลาะห์ ลูกชายผู้อพยพชาวกานา กลายเป็นดีไซเนอร์ผิวสีคนแรกของแบรนด์ Louis Vuitton พร้อมสร้างสรรค์รันเวย์สายรุ้งไล่สีที่สวน Palais Royal สำหรับคอลเล็กชัน Spring/Summer 2019 ซึ่งมีการแคสต์นายแบบจากทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นคนอินเดีย คนเอเชีย คนผิวสี คนยุโรป โดยตอนจบเวอร์จิลก็ออกมาโค้งคำนับและเข้าไปกอด คานเย เวสต์ เพื่อนสนิท พร้อมร้องไห้ยาวเกือบนาที ซึ่งสำหรับเรามันเป็นนาทีที่เหมือนทลายกำแพงอะไรบางอย่างที่แต่ก่อนคนกลุ่มน้อยดูเหมือนจะเป็นได้แค่ตัวประกอบวงการและอยู่เบื้องหลังผ้าม่านของวงการนี้

 

ถ้าให้พูดถึงนางแบบที่ต้องเชิดชู ผมก็ขอเลือกสองคนที่มาจากรากเหง้า ครอบครัว หรือสถานะการเงินอาจต่างกันสุดขั้ว เริ่มที่ อาดุต อาเคช นางแบบวัย 19 ปี ที่เกิดและโตในค่ายลี้ภัยที่ประเทศเซาท์ซูดาน ก่อนจะย้ายไปประเทศเคนยา และต่อมาตอนอายุ 6 ขวบก็อพยพไปประเทศออสเตรเลียกับคุณแม่และพี่น้องอีก 5 คน อาดุตเริ่มทำงานเป็นนางแบบตอนอายุ 16 ที่ออสเตรเลีย ก่อนที่ Saint Laurent จะเซ็นสัญญาให้เธอเดินแบบเอ็กซ์คลูซีฟในโชว์ Spring/Summer 2017 และต่อมาเธอก็เป็นนางแบบผิวสีคนที่สองในประวัติศาสตร์ที่ได้เดินปิดโชว์ Chanel Haute Couture Fall/Winter 2018 ในตำแหน่งเจ้าสาว ‘Chanel Bride’ พร้อมยังได้แรงผลักดันจาก เอ็ดเวิร์ด เอ็นนินฟูล บรรณาธิการบริหารนิตยสาร British Vogue ซึ่งเป็นคนผิวสีที่อพยพมาจากประเทศกานา ได้เลือกให้เธอขึ้นปกถึง 2 ครั้งในปีนี้

 

คารา เดเลวีน ในชุดสูท Emporio Armani ที่งานแต่งเจ้าหญิงยูจีนีแห่งยอร์ก กับแจ็ค บรูกส์แบงก์

 

เวอร์จิล อาเบลาะห์ อาร์ทิสติก ไดเรกเตอร์ ของ Louis Vuitton Menswear

 

โดยมีอีกหนึ่งนางแบบที่เอ็ดเวิร์ดก็ได้เลือกขึ้นปกในปีนี้ที่ผมต้องเชิดชูนั่นก็คือ คารา เดเลวีน ซึ่งถึงแม้เธอเองจะไม่ได้มีผลงานอะไรโดดเด่นในปีนี้ แต่การปรากฏตัวของเธอบนรันเวย์ Burberry Fall/Winter 2018 คอลเล็กชันสุดท้ายของ คริสโตเฟอร์ เบลีย์ ในโค้ตสีรุ้ง Pride และการไปงานแต่งงานของเจ้าหญิงยูจีนีแห่งยอร์ก กับแจ็ค บรูกส์แบงก์ กับลุคสูทหางยาวของ Emporio Armani ก็เป็นโมเมนต์ที่สะท้อนให้เห็นว่า แม้เธอจะมาจากครอบครัวที่รวยสูงส่ง และคุณยายของเธอ เจน อาร์มีน เชฟฟีลด์ เคยเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่เธอก็รู้ว่า เพราะสิ่งที่เธอเลือกทำ เลือกสวมใส่ หรือเลือกพูด ก็เป็นข่าวอยู่ดี เธอจึงเลือกทำในสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างประเด็นในสังคมเรื่องผู้หญิง เรื่องเพศ และเรื่องการแต่งตัวได้ไม่มากก็น้อย

 

ซึ่งสิ่งนี้ก็เชื่อมต่อกับเหตุการณ์ที่ส่วนตัวผมชอบสุดในปีนี้ก็คือ การแต่งตัวของนักแสดง เอซรา มิลเลอร์ ตอนโปรโมตภาพยนตร์ Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald กับชุดเดรสแจ็กเก็ตบุนวมสีดำของ Moncler x Pierpaolo Piccioli ที่เขาใส่ไปพรีเมียร์ที่ปารีส หรือชุด Givenchy Haute Couture สีขาวประดับด้วยขนนกใส่ไปพรีเมียร์ที่ลอนดอน เพราะสิ่งที่เอซราได้ทำก็คล้ายกับคารา

 

เขาไปงานสำคัญระดับโลกที่ทุกคนต้องจับตามอง ซึ่งแทนที่เขาจะใส่ชุดสูทสุดเนี้ยบกับผม Slick-Back ตามกฎเกณฑ์เดิมๆ ของฮอลลีวูด เขาก็เลือกใส่ชุดที่สามารถช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำในสังคมและความคิดโบร่ำโบราณที่ทำให้เรายังอยู่แต่ในกรอบเดิม ซึ่งผมเชื่อ 1,000% ว่าแฟชั่นจะจุดชนวนและช่วยแก้สิ่งนี้ได้ เพราะ ‘แฟชั่น’ คือสิ่งที่คนเราใช้เป็นสิ่งบ่งบอกการเป็นตัวของตัวเอง และใช้เป็นเกราะกำบังให้คนเห็นว่า ‘นี่คือตัวตนของฉัน’ และถ้าสังคมเราต้องการประชาธิปไตยในความคิดกันมากนัก แล้วทำไมเราจะมีประชาธิปไตยในการแต่งตัวไม่ได้?

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

The post เกิด แก่ เจ็บ ตาย…บทสรุปวงการแฟชั่นในปี 2018 appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/fashion-2018-what-happened/feed/ 0
Style Wrap-Up ความเคลื่อนไหวในวงการแฟชั่น กับโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง https://thestandard.co/style-wrap-up-24-june-2018/ https://thestandard.co/style-wrap-up-24-june-2018/#respond Sat, 23 Jun 2018 17:01:44 +0000 https://thestandard.co/?p=100014

    Stella McCartney Old Bond Street Vibes กา […]

The post Style Wrap-Up ความเคลื่อนไหวในวงการแฟชั่น กับโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

 

Stella McCartney Old Bond Street Vibes

การสร้างสรรค์ประสบการณ์ให้ลูกค้าเมื่อเดินเข้ามาในร้านเป็นอะไรที่สำคัญมากสำหรับแบรนด์ในยุคนี้ที่ผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากยิ่งขึ้น และหลายร้านต้องปิดตัวลงเพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว แต่กับแบรนด์ Stella McCartney เราเชื่อว่าร้านใหม่ที่ลอนดอนบนถนน 23 Old Bond Street จะทำให้ฐานลูกค้าอันเหนียวแน่นต่างต้องมา เพราะในตัวร้านขนาด 700 ตารางเมตร ทุกคนจะได้สัมผัสเรื่องราวดีไซน์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการพัฒนาแบบยั่งยืนที่เป็นหัวใจหลักของแบรนด์มาโดยตลอดตั้งแต่วันแรก

 

ร้านนี้จะรวบรวมทุกไลน์สินค้าของ Stella McCartney ทั้งหมด อาทิ เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าผู้หญิง เสื้อผ้าผู้ชาย ชุดว่ายน้ำ น้ำหอม และคอลเล็กชันกีฬาที่ทำกับ Adidas ซึ่งในวันเปิดตัวก็มีดารามาร่วมงานมากมาย อาทิ Kylie Minogue, Kate Moss และ Idris Elba เป็นต้น

 

 

 

Introducing the New ‘Bleu De Chanel’

กลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วที่ทุก 4 ปีแบรนด์ Chanel จะออกสูตรและแคมเปญใหม่สำหรับน้ำหอม Bleu De Chanel ที่เป็นหนึ่งในนำ้หอมที่ขายดีสุดทั่วโลกตั้งแต่วางขายในปี 2010 โดยล่าสุดเพิ่งเปิดตัวโฆษณาใหม่ที่ได้ Steve McQueen ผู้กำกับดีกรีเจ้าของรางวัลออสการ์จากเรื่อง 12 Years A Slave มากำกับให้ และได้นักแสดงชาวฝรั่งเศส Gaspard Ulliel มาเล่นเหมือนเดิม โดยก่อนหน้านี้เคยเล่นโฆษณา Bleu De Chanel ในปี 2010 ที่ Martin Scorsese กำกับและในปี 2014 ที่ James Grey กำกับ

 

ความพิเศษของโฆษณาในปีนี้ก็คงหนี้ไม่พ้นการมาถ่ายทำที่กรุงเทพฯ แถวแยกสาทร ผสมกับฉากใต้น้ำที่ถ่ายในลอนดอน โดยวิดีโอต้องการสะท้อนถึงผู้ชายที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ต้องการค้นหาตัวเองต่อไปในเมืองใหญ่และหาความหมายของชีวิต ซึ่งเพลงปิดท้ายอย่าง ‘Starman’ ของ David Bowie ก็ถือว่าเพอร์เฟกต์

 

สำหรับด้านตัวน้ำหอมเองที่ปรุงโดย Olivier Polge ก็มาในรูปแบบ ‘Parfum’ เป็นครั้งแรก โดยสูตรใหม่จะเน้นส่วนผสมของ Sandalwood หรือไม้จันทน์หอม ที่นำมาจากอาณานิคมพิเศษ New Caledonia ใกล้กับออสเตรเลีย ซึ่ง Chanel มีการดูแลรักษาและเพาะปลูกเป็นพิเศษ โดยผลลัพธ์คือกลิ่นที่เข้มข้นขึ้นและแฝงด้วยความละเอียดอ่อนที่จะทำให้ผู้ชายทุกคนมีความน่าค้นหาและหลงใหล

 

 

Once Upon A Time

‘Disney x Cath Kidston Collection: Alice in Wonderland’ เป็นอีกหนึ่งคอลเล็กชันที่เราเชื่อว่าสาวกดิสนีย์และแบรนด์กระเป๋า Cath Kidston จากประเทศอังกฤษต้องตื่นเต้นอย่างแน่นอน เพราะมาพร้อมไอเท็มที่นำตัวละครของ Alice in Wonderland เวอร์ชันคลาสสิกปี 1951 มาตกแต่งบนไอเท็ม อาทิ เสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน และแน่นอนกระเป๋า

 

ความพิเศษของโปรเจกต์นี้คือการสร้างสรรค์ลาย ‘Alice Meadows’ ขึ้นมาใหม่ ที่เป็นสาวน้อย Alice กำลังนั่งมองฟ้าท่ามกลางทุ่งดอกไม้ ซึ่งในมาสกรีนลงแก้วน้ำ หนังสือ หมอน และกระเป๋าทรงยอดนิยมของแบรนด์ Broomfield Tote Bag ส่วนลายจุดคลาสสิกของ Cath Kidston อย่าง Button Spot ก็ได้นำมาตีความใหม่และร้อยเรื่องราวกับนิยายสุดอมตะ โดยนำมาเติมแต่งบนชุดจานชามและแก้วน้ำ

 

 

Poem Meets Divana

แบรนด์เครื่องหอม Divana มาร่วมมือครั้งพิเศษกับแบรนด์ Poem สำหรับคอลเล็กชัน Pre-Fall 2018 ‘Cirque de Bloom’ ที่ ชวนล ไคสิริ ผู้ก่อตั้งและครีเอทีฟไดเรกเตอร์ยังคงหาแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปชมทุ่งดอกไม้ทั่วโลก ซึ่งในครั้งนี้ก็เจอจากดอกไฮเดรนเยียที่มีลักษณะพิเศษ ผลิบานได้ทุกฤดูกาล แต่สวยต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

 

เสื้อผ้าในคอลเล็กชันนี้จำลองการแสดงของดอกไฮเดรนเยียที่ผลิบานจนสะพรั่งเป็นพุ่มสวยงาม ผ่าน ‘วงกลม’ หนึ่งในเอกลักษณ์ของ Poem ซึ่งแทรกซ้อนอย่างแยบยลในรายละเอียดต่างๆ อาทิ แขนเสื้อปลายกว้างและกระโปรงสั้นทรงวงกลม โดยเฉพาะชิ้นเด่นอย่างเสื้อแต่งระบายช่วงอกและกระโปรงขอบทรงครึ่งวงกลม หรือขอบ Scallop ส่วนอีกหนึ่งไฮไลต์ก็คือเดรสสไตล์ชุดคลุมอาบน้ำ ที่ปรับเป็นผ้าออร์แกนซาที่จับคู่ใส่กับบุสติเยร์ที่ตัดเย็บด้วยเนื้อผ้าตาข่ายพิเศษโทนสีนู้ดที่จะช่วยประคองสรีระให้ได้รูปทรงนาฬิกาทราย

 

 

Dries Van Noten Sells Business

สร้างความตกใจไม่น้อยในวงการแฟชั่น หลังดีไซเนอร์ชาวเบลเยียม Dries Van Noten ได้ประกาศขายแบรนด์ตัวเองให้กับบริษัท Puig จากสเปน ที่เป็นเจ้าของแบรนด์อื่นๆ อย่าง Nina Ricci, Carolina Herrera และ Jean Paul Gaultier โดยดรีสจะยังคงรักษาตำแหน่งประธานของบอร์ดบริษัทและเป็น Cheif Creative Officer

 

ความน่าแปลกใจอยู่ที่ ดรีสยืนยันมาเสมอตั้งแต่ทำคอลเล็กชันแรกในปี 1986 ว่าเขาอยากเก็บรักษาแบรนด์ของตัวเองเป็นแบบอิสระ แม้มีคนสนใจจะซื้อกิจการต่อหรืออยากลงทุนมาโดยตลอด ซึ่ง Dries Van Noten เองก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่สามารถทรงตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่ถือว่าขึ้นลงตลอดเวลา มีฐานผู้ซื้อเหนียวแน่น และสื่อแฟชั่นเองก็สนับสนุนมาโดยตลอดแม้จะไม่มีการลงโฆษณาใดๆ หรือส่งเสื้อผ้าให้ดาราใส่

 

ต้องดูกันต่อไปว่าการซื้อขายในครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อรูปแบบกิจการของ Dries Van Noten พอมีนายทุนใหม่ และดรีสเจ้าตัวจะยังทำงานต่อไปเรื่อยๆ หรือจะวางมือเหมือนที่คนก่อตั้งหลายแบรนด์ตำนานเคยทำ เช่น Hubert De Givenchy ตอนขาย Givenchy ให้เครือ LVMH

 

Cover Photo: Courtesy of Chanel

The post Style Wrap-Up ความเคลื่อนไหวในวงการแฟชั่น กับโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/style-wrap-up-24-june-2018/feed/ 0
ปิดตำนาน Colette คอนเซปสโตร์ระดับตำนานของปารีส https://thestandard.co/colette-is-closing-down-this-20th-december/ https://thestandard.co/colette-is-closing-down-this-20th-december/#respond Tue, 19 Dec 2017 05:17:10 +0000 https://thestandard.co/?p=56333

  Chanel x Colette   ปารีสคือหนึ่งในเมืองที่ม […]

The post ปิดตำนาน Colette คอนเซปสโตร์ระดับตำนานของปารีส appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

Chanel x Colette

 

ปารีสคือหนึ่งในเมืองที่มีนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเยือนมากที่สุดในโลก มีสถานที่สำคัญให้ไปเยี่ยมชมหลายแห่ง สำหรับนักช็อปและคนรักแฟชั่น ที่นี่เปรียบเหมือนสวรรค์แห่งสินค้าระดับลักซูรี แบรนด์เนมทุกยี่ห้อมีให้ซื้อหมด และหนึ่งในร้านค้าที่หลายคนต้องไปจนแทบจะกลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวไปแล้วก็คือ Colette สุดยอดคอนเซปสโตร์ต้นแบบร้านมัลติแบรนด์ ที่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซาร่าห์ อันเดลแมน ผู้ร่วมก่อตั้ง ได้ประกาศปิดประตูร้านถาวรภายในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ THE STANDARD เลยถือโอกาสพาไปทำความรู้จักกับหนึ่งในร้านค้าที่คูลที่สุดในปารีส ความเป็นมา และบทบาทต่อวงการแฟชั่น

 

Colette เปิดประตูครั้งแรกในปี 1997 ตั้งอยู่เลขที่ 213 บนถนนแซ็งโตโนเรอันโด่งดังที่มีร้านแบรนด์เนมสุดหรูเรียงรายตลอดเส้น ตัวร้านทั้ง 3 ชั้นมีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 740 ตารางเมตร ก่อตั้งโดยแม่ลูกชาวฝรั่งเศส โกแลตต์ รุสโซ กับซาร่าห์ อันเดลแมน ซึ่งชื่อร้านนั้นมาจากชื่อจริงของคุณแม่นั่นเอง

 

หากย้อนกลับไป 20 ปีก่อน แนวคิดร้านค้าคอนเซปสโตร์ที่รวบรวมแบรนด์ดีไซเนอร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องหนัง รองเท้า มาวางขายรวมกับกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆ อย่างหนังสือ เทียนหอม มือถือ หรือแผ่นเสียงนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักเหมือนปัจจุบันนี้

 

ดังนั้นจุดเริ่มต้นของ Colette จึงแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร โดยการที่โกแลตต์กับซาร่าห์ตั้งใจที่จะนำของที่พวกเธอได้พบเห็นจากการท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ มาเป็นสินค้าที่ไม่มีใครเหมือนในฝรั่งเศส ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจึงเป็นร้านค้า 3 ชั้น ชั้นหนึ่งจะขายสินค้าไลฟ์สไตล์และแบรนด์สตรีท รวมไปถึงเหล่ารองเท้าผ้าใบ ส่วนชั้นบนก็จะมีสินค้าความงาม เสื้อผ้า และเครื่องประดับแบรนด์ดีไซเนอร์ลักซูรี ปิดท้ายด้วยชั้นใต้ดินก็จะเป็นส่วนของร้านอาหารและ water bar ที่รวบรวมน้ำดื่มหลากยี่ห้อทั่วโลกมาไว้ด้วยกัน

 

โกแลตต์ รุสโซ กับซาร่าห์ อันเดลแมน

วินโดว์ดิสเพลย์ของ Canada Goose

 

แต่สิ่งที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับ Colette นั้นไม่ใช่แค่แนวคิดคอนเซปสโตร์รุ่นบุกเบิก แต่เป็นสายตาอันเฉียบคมของซาร่าห์ในการเลือกของมาวางขาย และการแปลงสถานะจากร้านค้าให้เป็น ‘it place’ หรือสถานที่สำคัญสำหรับแฟชั่น เพราะมีชื่อเสียงในการเลือกสต็อกสินค้าจากดีไซเนอร์รุ่นใหม่เข้าร้านก่อนจะดังเป็นพลุแตก Colette จึงเป็นเหมือนเวทีแจ้งเกิดที่ช่วยให้นักออกแบบรุ่นใหม่ ซึ่งแบรนด์ดังอย่าง Dries van Noten, Rodarte, Raf Simons, Mary Katrantzou หรือแม้แต่ Boyy ก็มี Colette เป็นร้านค้าที่สั่งสต็อกล็อตแรกๆ ตั้งแต่ที่เริ่มเปิดตัวแบรนด์ ซึ่งก็ถือว่านำเทรนด์ก่อนใคร!

 

จริงอยู่ที่ Colette ขายเสื้อผ้าราคาหลักหมื่นหลักแสน แต่ในขณะเดียวกัน ตัวร้านก็เปิดต้อนรับให้ใครๆ เข้าไปซื้อของได้ นอกจากจะใส่ความเป็นสตรีทเข้าไปแล้ว สินค้าในร้านยังเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบบาท

 

ลูกค้าที่ดังที่สุดของ Colette ต้องยกให้คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ผู้ยืนยันความคูลของร้านและความหลากหลายของหมวดหมู่สินค้าได้ดี คาร์ลเคยกล่าวว่า “ที่นี่เป็นร้านเดียวที่ผมไปซื้อของ เพราะเขามีของที่ไม่เหมือนที่ไหน ผมซื้อนาฬิกา โทรศัพท์ เครื่องประดับ และทุกสิ่งอย่างที่นั่น พวกเขาคิดค้นแนวคิดที่เลียนแบบได้ยาก และเธอกับซาร่าห์ทุ่มเท 200% ให้กับร้าน”

 

Balenciaga x Colette

Thom Browne x Colette

 

ความพิเศษของ Colette คือสินค้าลิมิเต็ดเอดิชันที่ออกแบบเป็นพิเศษให้กับร้านเท่านั้น ซึ่งอิซาเบล ตาร์ดิเยอ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเอเจนซี BETC Pop ที่ปารีสกล่าวว่า “แบรนด์ที่ Colette เลือกจะมีความคูลและความเท่เพิ่มขึ้นโดยทันที” โดยที่ผ่านมา Colette ก็ยังยอมร่วมงานกับแบรนด์แมสระดับโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Barbie ที่ฉลองครบรอบ 50 ปีในปี 2009 ส่วน McDonald’s ก็ร่วมทำเสื้อยืดและกระเป๋าผ้าที่วางขายในร้านหมดภายใน 3 วันจนเป็นแผนการตลาดที่ดังไปทั่ว ล่าสุด Ikea ก็ได้ออกแบบถุงกระสอบโดยใช้สีขาวและโลโก้ของร้าน Colette มาออกแบบเป็นคอลเล็กชันพิเศษ

 

ความสามารถของ Colette ในการทำให้แบรนด์ดูคูลนั้นคงจะเห็นได้ชัดที่สุดในปี 2014 เมื่อ Apple เปิดตัว Apple Watch ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก หลังจากงานคีย์โน้ตที่แคลิฟอร์เนีย ซึ่งในงานมีแฟนๆ มาต่อคิวรอชมนาฬิกา ทั้งยังได้แอนนา วินทัวร์, คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ และมาร์ค นิวสัน มาร่วมชมด้วย เป็นหมากที่ Apple มองเห็นว่าสมาร์ทวอตช์สามารถกลายมาเป็นสินค้าแฟชั่นได้ และเลือกร้านค้าที่คูลที่สุดในโลกมาเป็นรันเวย์แจ้งเกิด

 

 

ก่อนที่ประตูร้านจะปิดลงถาวรในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ Colette จะทำโปรเจกต์ ‘วิ่งผลัด’ ส่งไม้ต่อให้แต่ละแบรนด์เข้ามาจัดรูปแบบร้าน มีสินค้าสุดเอ็กซ์คลูซีฟและกิจกรรมตลอดงานที่ชั้นหนึ่งของร้าน เริ่มจาก Balenciaga, Thom Browne จนมาถึง Chanel เมื่อเดือนที่แล้ว ที่ได้จับมือกับฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ และ Adidas มาออกแบบรองเท้าผ้าใบรุ่นพิเศษที่ขายหมดในชั่วพริบตา จนมาถึงแบรนด์สุดท้าย Saint Laurent ที่นอกจากจะออกแบบสินค้าพิเศษอย่างเวสป้าสีดำกับหมวกกันน็อกคริสตัลแล้ว ยังจะเป็นแบรนด์ที่จะย้ายร้านเข้ามาแทนที่ Colette อีกด้วย

 

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ Colette ปิดตัวลงอาจเป็นเพราะว่าการแข่งขันในตลาดอันดุดัน แต่จากตัวเลขรายได้ในปี 2016 มูลค่า 32 ล้านยูโร และ 25% ของรายได้มาจากช่องทางออนไลน์ หาก Colette จะทำร้านต่อก็คงได้อยู่แล้ว ในจดหมายถึงสื่อของ Colette กล่าวถึงเหตุผลของการปิดถาวรว่า “โกแลตต์ รุสโซ มีอายุถึงช่วงที่เธอจะต้องพักผ่อนแล้ว ซึ่ง Colette ไม่สามารถอยู่ต่อได้หากไม่มีโกแลตต์” โดยซาร่าห์ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าร้านนี้เป็นเหมือนลูกของทั้งคู่ หากขายให้คนอื่นต่อมันก็คงไม่ใช่ Colette เหมือนเดิม โดยตัวซาร่าห์เองก็เตรียมเปิดเอเจนซีที่จะช่วยสร้างไอเดียให้แบรนด์ได้ต่อยอดต่อไป

 

ชื่อของร้าน Colette อาจจะกลายเป็นตำนานคู่ปารีสไปแล้ว แต่อิทธิพลที่มีต่อสังคมและแบรนด์ต่างๆ คงจะมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แค่จะไม่มีโลโก้จุดน้ำเงินสองจุดแปะเอาไว้แค่นั้นเอง

 

อ้างอิง:

The post ปิดตำนาน Colette คอนเซปสโตร์ระดับตำนานของปารีส appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/colette-is-closing-down-this-20th-december/feed/ 0