Digital Lending – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 11 Nov 2021 11:13:04 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 กรุงศรี คอนซูมเมอร์ พร้อมสู้ดิจิทัลเลนดิ้ง ใช้เทคโนโลยี-ประสบการณ์รักษาพื้นที่ https://thestandard.co/krungsri-consumer-and-digital-lending/ Thu, 11 Nov 2021 11:13:04 +0000 https://thestandard.co/?p=558845 ณญาณี เผือกขำ

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ไม่หวั่นดิจิทัลเลนดิ้งโตแรง พร้อมเด […]

The post กรุงศรี คอนซูมเมอร์ พร้อมสู้ดิจิทัลเลนดิ้ง ใช้เทคโนโลยี-ประสบการณ์รักษาพื้นที่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ณญาณี เผือกขำ

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ไม่หวั่นดิจิทัลเลนดิ้งโตแรง พร้อมเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเสริมศักยภาพ เพื่อครองความเป็นผู้นำในตลาด คาดยอดใช้จ่ายผ่านบัตรสิ้นปีนี้โต 3% หลังเปิดประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหนุนกำลังซื้อ ขณะที่คุณภาพหนี้มีทิศทางดีขึ้นจากมาตรการผ่อนปรนของแบงก์ชาติ โดยเอ็นพีแอลกลับมาใกล้ช่วงก่อนโควิด

 

ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยถึงธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา โดยเฉพาะผู้ให้บริการดิจิทัลเลนดิ้งที่เข้าตลาดมาหลายรายว่า ด้วยโลกที่มุ่งเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น ประกอบกับตลาดที่ยังมีขนาดที่ใหญ่อยู่มาก เป็นโอกาสที่จะเห็นผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น โดยส่วนตัวมองว่าการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสสำหรับผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกในการใช้บริการสินเชื่อมากขึ้น และทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์ แต่ในฐานะเจ้าตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังมั่นใจว่าประสบการณ์ที่อยู่ในตลาดนี้มาเป็นเวลานาน มีความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค จะทำให้กรุงศรี คอนซูมเมอร์ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ และจะยังครองความเป็นผู้นำในตลาดไว้ได้

 

ขณะเดียวกัน กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังพัฒนาตัวเองให้พร้อมแข่งขันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเสมอ เพื่อรักษาพื้นที่การแข่งขัน โดยในปีนี้จะเห็นว่า กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เน้นการลงทุนในระบบเทคโนโลยีและนำดิจิทัลมาทดแทนระบบแมนวลมากขึ้น นำระบบดาต้ามาใช้การวิเคราะห์ เพื่อให้บริการลูกค้าดีขึ้น และใช้ AI มาทำการตลาดรูปแบบใหม่ที่ให้บริการตอบโจทย์เฉพาะบุคคลได้มากขึ้น ขณะเดียวกันยังพัฒนาบุคลาการ เพิ่มความสามารถในการนำดาต้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ชดเชยปัญหาบุคลากรด้านดาต้าที่ถือว่ายังขาดแคลน   

 

นอกจากนี้ยังนำ RPA (Robotic Process Automation) มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยปรับกระบวนการทำงานของคนได้ถึง 70% รวมถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ ในแอปพลิเคชัน UCHOOSE เช่น U CASH บริการเบิกเงินสดจากวงเงินบัตรผ่านแอปพลิเคชัน โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารหรือพร้อมเพย์, UCard บริการรับสมัครบัตรใหม่ผ่านทางแอปพลิเคชัน, U Mall นำเสนอดีลพิเศษสำหรับสินค้าจากพันธมิตรของบริษัท, การเปิดช่องทางบริการใหม่ทาง Krungsri Consumer Line OA และ Facebook, การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บัตร Krungsri NOW บัตรเครดิตสำหรับชีวิตดิจิทัล เป็นต้น

 

ณญาณียังกล่าวถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดว่า ทำให้ยอดการจับจ่ายใช้สอยได้รับผลกระทบ แต่จะเห็นว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อของลูกค้าในหมวดช้อปออนไลน์ เดลิเวอรี ประกันภัยออนไลน์ เติบโตเด่นชัดมากขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กรุงศรี คอนซูมเมอร์ มียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 1.99 แสนล้านบาท ลดลง 18%, ยอดสินเชื่อใหม่ 5.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 6%, ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.28 แสนล้านบาท ลดลง 4%

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ในไตรมาสสุดท้ายเข้าสู่เทศกาลจับจ่ายส่งท้ายปี ประกอบกับภาครัฐได้คลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศแล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมา ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือคนละครึ่ง จะช่วยให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกลับขึ้นมาได้ 

 

โดยมองว่าตลาดสินเชื่อในไตรมาสสุดท้ายนี้มีแนวโน้มขยายตัว โดยการปล่อยสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการใช้ข้อมูลทางเลือกในการวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทคาดว่าในปี 2564 จะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตร 2.85 แสนล้านบาท เติบโตเกือบ 3%, ยอดสินเชื่อใหม่ 7.6 หมื่นล้านบาท, จำนวนบัญชีลูกค้าใหม่ 3.5 แสนราย และยอดสินเชื่อคงค้าง 1.42 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ถือว่าน่าพอใจ

 

“ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา หมวดใช้จ่ายที่เติบโตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ช้อปปิ้งออนไลน์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โต 62%, ประกันภัยโต 15%, ตกแต่งบ้านและของใช้ในครัวเรือน โต8%, ไอทีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โต 7% และร้านสะดวกซื้อ โต 6% ส่วนหมวดท่องเที่ยว เดินทาง และร้านอาหาร ยังคงได้รับผลกระทบ แต่เริ่มเห็นสัญญาณบวกหลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์” ณญาณีกล่าว

 

สำหรับมาตรการช่วยลูกค้านั้น กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้ว 7 พันล้านบาท หรือกว่าแสนบัญชี ทั้งมาตรการปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมถึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้า ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งการที่มีมาตรการช่วยเหลือตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้สถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ลดลงได้มาก และทำให้เอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำใกล้กลับช่วงก่อนโควิด  

 

นอกจากนี้ กลุ่มกรุงศรียังคงผนึกกำลังกันกับบริษัทในเครือภายใต้นโยบาย One Retail ทั้งธนาคารกรุงศรี, กรุงศรี คอนซูมเมอร์ หรือกรุงศรี ออโต้ เพื่อร่วมกันใช้ระบบดาต้าเพื่อให้บริการและตอบโจทย์ลูกค้า ขณะเดียวกันยังคงเดินหน้าการเติบโตไปยังอาเซียน เพื่อขยายธุรกิจคอนซูมเมอร์ไฟแนนซ์ต่อเนื่อง เช่น ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ล่าสุดธนาคารกรุงศรีได้เข้าซื้อกิจการ SHB Finance ประเทศเวียดนาม

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

The post กรุงศรี คอนซูมเมอร์ พร้อมสู้ดิจิทัลเลนดิ้ง ใช้เทคโนโลยี-ประสบการณ์รักษาพื้นที่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘แรบบิท แคช’ รุกดิจิทัลเลนดิ้ง ปล่อยกู้แม่ค้าออนไลน์ เคาะดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน อนุมัติไวใน 10 นาที ตั้งเป้ายอดสินเชื่อปีแรก 2-3 พันล้านบาท https://thestandard.co/rabbit-cash-entering-the-digital-lending/ Wed, 27 Oct 2021 09:33:24 +0000 https://thestandard.co/?p=552941 Rabbit Cash

บริษัท แรบบิท แคช จำกัด เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเลนดิ้ […]

The post ‘แรบบิท แคช’ รุกดิจิทัลเลนดิ้ง ปล่อยกู้แม่ค้าออนไลน์ เคาะดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน อนุมัติไวใน 10 นาที ตั้งเป้ายอดสินเชื่อปีแรก 2-3 พันล้านบาท appeared first on THE STANDARD.

]]>
Rabbit Cash

บริษัท แรบบิท แคช จำกัด เร่งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเลนดิ้ง ปล่อยกู้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เสริมสวัสดิการให้ลูกค้ามนุษย์เงินเดือน ผนึกพันธมิตรทั้งบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) ดึงฐานข้อมูลมาวิเคราะห์สินเชื่อ ภายใต้กระบวนการพิจารณาสินเชื่อของบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน อนุมัติไวใน 10 นาทีบนแอปพลิเคชันในมือถือ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีแรก 2-3 พันล้านบาท และเพิ่มเป็น 5 พันล้านบาทในปี 2566 

 

รัชนี แสนศิลป์ชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แรบบิท แคช จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันวิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลไลฟ์อย่างรวดเร็ว เห็นได้จากสถิติการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 69% ของประชากร การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นอันดับ 4 ของโลก 

 

ขณะเดียวกันยังพบว่าคนไทยมีการใช้โมบายแบงกิ้งมากที่สุดในโลก จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจำนวนบัญชีเงินฝากที่ผูกกับโมบายแบงกิ้งกว่า 76 ล้านบัญชี มียอดธุรกรรมกว่า 1.4 หมื่นล้านรายการต่อเดือน ค่าเฉลี่ยใช้โมบายแบงกิ้งอย่างน้อยเดือนละ 19 ครั้ง สะท้อนว่าประเทศไทยไม่สามารถปฏิเสธธุรกรรมทางการเงินบนดิจิทัลได้แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงถึง 89% หากมองลึกเข้าไปเราพบว่าเป็นหนี้นอกระบบ 5% ซึ่งหนี้นอกระบบที่ยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนว่าพัฒนาการที่เกิดขึ้นในโลกการเงินยังไม่สอดคล้องวิถีชีวิตคนไทย 

 

บริษัทจึงได้เปิดตัว ‘แรบบิท แคช (Rabbit Cash)’ สินเชื่อดิจิทัลแนวคิดใหม่ ที่ใช้ Digital Footprint ในการพิจารณาให้สินเชื่อ โดยได้ร่วมกับบริษัทพันธมิตรประกอบด้วย บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) ในการนำข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) จากทั้งแรบบิทซึ่งเป็นบริษัทในเครือบีทีเอส และจากบริษัทพันธมิตรมาใช้ในการวิเคราะห์สินเชื่อ โดยมีบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นและพันธมิตรให้การสนับสนุนความรู้ กระบวนการพิจารณาสินเชื่อ และต้นทุนการเงินในระดับต่ำ ทำให้เราสามารถอนุมัติสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล 100% ตั้งแต่ต้นจนจบ

 

“วันนี้สังคมไทยเปลี่ยนไป เด็กจบใหม่ไม่อยากมาทำงานบริษัท อาชีพอิสระจะมากขึ้น ทั้งบล็อกเกอร์ หรือผู้ค้าออนไลน์ เราก็ต้องทำผลิตภัณฑ์ให้รองรับกลุ่มคนที่ไม่มีสลิปเงินเดือน ซึ่งที่ผ่านมาการกู้เงินจากธนาคารมีความยุ่งยาก หากไม่มีสลิปเงินเดือนก็ต้องมีสเตทเมนท์ หรือต้องเคยมีเครดิตมาก่อน แต่แรบบิทมีฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์และเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้ลูกค้าได้ เพราะบีทีเอสกรุ๊ปได้ให้บริการลูกค้าหลายแง่มุม และยังมีข้อมูลจากพันธมิตรที่จะนำมาใช้ และช่วยให้ลูกค้าและพนักงานของพันธมิตรได้มีเครื่องมือทางการเงินในการจัดการกระแสเงินสดของตัวเองได้เหมาะสมมากขึ้น ตอบโจทย์บริษัทที่จะให้ความสำคัญกับการให้บริการทางการเงินที่เข้าถึงง่าย รวดเร็ว และเท่าเทียม”

 

ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อที่ลูกค้าจะได้รับจะเป็นไปตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยลูกค้าที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท จะได้รับวงเงิน 5 เท่าของรายได้ หากรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท จะได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ อัตราดอกเบี้ยในเบื้องต้นจะอยู่ที่ 1.25% ต่อเดือน    

 

อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทได้เริ่มทดลองให้สินเชื่อแรบบิท แคช กับฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีและสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยบริษัทคาดว่าหลังจากได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสินเชื่อจาก ธปท. จะเปิดให้บริการสินเชื่ออย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ทั้งสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย หรือสินเชื่อนาโน, สินเชื่อสวัสดิการ, สินเชื่อ Payday Loan, สินเชื่อผ่อนชำระ Buy Now Pay Later ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะเห็นยอดสินเชื่อในปี 2565 ประมาณ 2-3 พันล้านบาท และในปี 2566 จะปล่อยสินเชื่อได้ถึง 5 พันล้านบาท

 

รัชนีกล่าวว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้มีเงินเดือนผ่านบริษัทฮิวแมนิก้า และพนักงานของเคอรี่  ส่วนกลุ่มผู้ไม่มีเงินเดือน เช่น ลูกค้าของเคอรี่ที่มียอดขายสินค้าออนไลน์ แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ แต่ข้อมูลที่มีอยู่กับเคอรี่เป็นฐานข้อมูลที่ทำให้ลูกค้าสามารถเข้ามาสมัครขอสินเชื่อผ่านทางแอปพลิเคชันได้เอง ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีในการรับเงินสินเชื่อ เปรียบเสมือนการกดเงินผ่านโมบายแบงกิ้งที่ลูกค้าสามารถบริหารจัดการเงินเข้า-ออกได้เอง เนื่องจากวงเงินที่ได้จะเป็นวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่เบิกใช้ได้ตามความต้องการ หากไม่กดใช้ก็ไม่เสียดอกเบี้ย

 

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความกังวลในการนำข้อมูลลูกค้ามาใช้นั้น จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้า ขณะเดียวกัน กระบวนการทั้งหมดผ่านดิจิทัลอย่างแท้จริง มีความเชื่อถือได้และปลอดภัยสูงสุด

 

วราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันเคอรี่มีลูกค้ากว่า 10 ล้านราย ซึ่งเราพบว่าลูกค้าเราต้องการใช้สินเชื่อ แต่การเป็นผู้ค้าออนไลน์ ไม่ได้มีรายได้ประจำ จึงเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาบริษัทจึงได้ลองนำโปรแกรมสินเชื่อพิเศษให้กับลูกค้า ด้วยวงเงินสินเชื่อสูงสุด 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือนผ่านแอปพลิเคชันของเคอรี่ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากสมาชิกเข้ามามาก โดยในไตรมาสแรกปีหน้า บริษัทจะนำสินเชื่อสวัสดิการจากแรบบิท แคช มาให้พนักงานประจำและผู้ส่งสินค้าของเคอรี่ได้ใช้ในการบริหารจัดการบุคลากรด้วย เช่น พนักงานที่มีผลงานที่ดีก็จะได้รับวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เป็นต้น

 

สุนทร เด่นธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์หลังโควิดทำให้เราเห็นกระแสการลาออกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกว่า 25% ทั่วโลก สาเหตุการลาออกหนึ่งคือเรื่องของผลประโยชน์และสวัสดิการ และจากประสบการณ์การทำงานบริหารทรัพยากรบุคคล เราพบว่าปัญหาหนึ่งที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขคือเรื่องของการมีหนี้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยสูง และไม่สามารถบริหารจัดการได้ จนบางรายถึงขั้นโดนบังคับคดี ความร่วมมือกับแรบบิท แคช เพื่อนำเสนอสินเชื่อสวัสดิการ หรือ Welfare Loan ให้บริษัทที่เป็นลูกค้าของฮิวแมนิก้า ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

The post ‘แรบบิท แคช’ รุกดิจิทัลเลนดิ้ง ปล่อยกู้แม่ค้าออนไลน์ เคาะดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน อนุมัติไวใน 10 นาที ตั้งเป้ายอดสินเชื่อปีแรก 2-3 พันล้านบาท appeared first on THE STANDARD.

]]>
สรุปประเด็นสำคัญ Technology Trends เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาถึงทางตัน โจทย์สำคัญคือใครต่อยอดได้ดีกว่ากัน https://thestandard.co/technology-trends/ https://thestandard.co/technology-trends/#respond Fri, 18 Jan 2019 11:25:39 +0000 https://thestandard.co/?p=182518

ในวันที่เทคโนโลยีเริ่มพัฒนามาถึงทางตัน คำถามสำคัญคือใคร […]

The post สรุปประเด็นสำคัญ Technology Trends เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาถึงทางตัน โจทย์สำคัญคือใครต่อยอดได้ดีกว่ากัน appeared first on THE STANDARD.

]]>

ในวันที่เทคโนโลยีเริ่มพัฒนามาถึงทางตัน คำถามสำคัญคือใครจะหยิบเทคโนโลยีที่มีอยู่ในตลาดมาต่อยอดพัฒนาได้ดีกว่ากัน

 

THE STANDARD สรุปประเด็นสำคัญจากงาน Creative Talk Conference 2019 ที่จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ช่วงเสวนาหัวข้อ ‘Technology Trends’ โดย อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Techsauce Media และอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone ให้เห็นภาพรวมว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ณ วันนี้กำลังมุ่งหน้าไปในอนาคตอย่างไร

 

ประเด็นสำคัญ

 

1. อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ กล่าวถึง ABC หรือ AI, Blockchain และ Clound ว่าไทม์เฟรมปีนี้ของปัญญาประดิษฐ์คือ ‘ระบบอัตโนมัติ’ หรือการเข้ามาทำงานที่มีลักษณะเป็นลูปแทนมนุษย์ หากนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้ก็จะช่วยลดระยะเวลาดำเนินการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ส่วนบล็อกเชน เขาเชื่อว่าปีนี้น่าจะตายแล้ว เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานบางประเภทเท่านั้น ตัวอย่างเช่น งานประเภทการทำธุรกรรม เป็นการใช้งานในวงแคบมาก ขณะที่ ‘C’ หรือคลาวด์เก็บข้อมูล จะเห็นได้ว่าในตลาดนี้เกิดภาวะรายใหญ่กินรวบพอสมควร ความหมายคือตลาดคลาวด์ทำให้เราไปผูกบริการกับผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ ของโลก ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีอำนาจต่อรองสูง ผู้ใช้งานมีอำนาจต่อรองลดน้อยลง

 

2. ทุกๆ องค์กรมีข้อมูลที่เก็บมา แต่ไม่รู้จะแปรสภาพให้เป็นข้อมูลเชิงลึกแล้วดำเนินการให้เกิด Action ได้อย่างไร ตอนนี้ทุกคนเริ่มเห็นความสำคัญของการนำข้อมูลมาใช้แล้ว และเริ่มประกาศหาบุคลากรในสายงาน Data Scientist และ Data Engineering ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ปัญหาคือไทยค่อนข้างขาดแคลนบุคลากรกลุ่มนี้

 

3. เราจะเริ่มเห็นทิศทางของบริษัทใหญ่ที่มีโมเดลจับมือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น เหมือนกรณีของกลุ่มธนาคารและ Non-bank ที่จับมือกันเพื่อนำเสนอโปรดักต์ให้กับผู้ใช้งานเฉพาะกลุ่ม เช่น บริการกู้ยืมสินเชื่อออนไลน์ (Digital Lending) ผ่านการนำข้อมูลผู้บริโภคมาใช้วิเคราะห์

 

4. ภาพรวมเทคโนโลยีปี 2019 กับปี 2018 และ 2017 ไม่ต่างกันมาก สื่อต่างประเทศก็สะท้อนความเห็นเหมือนกันหมดว่าวัฏจักรของเทคโนโลยีพลิกโฉมไม่เร็วเหมือน 10 ปีที่แล้วอีกต่อไป ดังนั้นสุดท้ายแล้วจึงวัดกันที่ว่าใครจะหยิบจับเทคโนโลยีอะไรมาต่อยอดการดำเนินธุรกิจของตัวเองได้ดีมากกว่ากัน

 

5. ไม่มีคำว่าเทรนด์ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้คือการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการ ดังนั้นต่อจากนี้มันคือเรื่องของการปรับกระบวนการคิดให้คนในองค์กร เพราะนวัตกรรมไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยี แต่เกิดจาก ‘คน’ ที่หยิบจับมันมาสร้างสรรค์

 

6. ในวันที่มีนวัตกรรมเกิดขึ้นมามากมาย การลงทุนในเทคโนโลยีเป็นเรื่องดี แต่ประเด็นก็คือเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาแล้วจะได้ใช้ประโยชน์ของมันไหม การตั้งวัตถุประสงค์ไว้ให้ชัดเจนก่อนแล้วค่อยเลือกเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เหมาะสมมาปรับใช้จึงน่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องมากกว่า

 

 

ติดตามอ่านเทรนด์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

The post สรุปประเด็นสำคัญ Technology Trends เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาถึงทางตัน โจทย์สำคัญคือใครต่อยอดได้ดีกว่ากัน appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/technology-trends/feed/ 0