Body Composition – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 27 Feb 2019 05:23:04 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ออกกำลังกายจนกางเกงหลวม แต่ทำไมน้ำหนักตัวยังเท่าเดิม มาค้นหาความอ้วนที่แท้จริงเพื่อให้คุณมีกำลังใจสู้ต่อ https://thestandard.co/body-composition/ https://thestandard.co/body-composition/#respond Wed, 27 Feb 2019 05:22:15 +0000 https://thestandard.co/?p=209920

สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายมาพักใหญ่ เป็นเรื่องปกติที่เราย่ […]

The post ออกกำลังกายจนกางเกงหลวม แต่ทำไมน้ำหนักตัวยังเท่าเดิม มาค้นหาความอ้วนที่แท้จริงเพื่อให้คุณมีกำลังใจสู้ต่อ appeared first on THE STANDARD.

]]>

สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายมาพักใหญ่ เป็นเรื่องปกติที่เราย่อมอยากรู้ถึงผลลัพธ์หลังตรากตรำเข้าฟิตเนส ยกเวต วิ่งบนลู่ รวมถึงควบคุมอาหารจนถึงระดับที่คิดว่าน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาบ้าง แต่ทำไมพอชั่งน้ำหนักแล้วตัวเลขยังแทบไม่กระดิก ซ้ำร้ายยังเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ทั้งที่ๆ เมื่อส่องกระจกดู สัดส่วนต่างๆ ก็ลดลง หน้าท้องแฟบ ความตุ้ยนุ้ยหายไป จากที่เคยใส่ยีนส์ตัวโปรดไม่ได้ ตอนนี้กลับใส่ได้พอดีเป๊ะ แล้วทำไมหนอสัดส่วนที่ลดลงถึงได้สวนทางกับตัวเลขบนตาชั่ง

 

เมื่อตัวเลขบนตาชั่งไม่สามารถบอกถึงความอ้วนที่แท้จริง

จากเดิมเวลาที่เราอยากรู้ว่าตอนนี้รูปร่างของเราอยู่ในเฟสไหน เอาง่ายๆ ว่าผอมลง เท่าเดิมหรืออ้วนขึ้น โดยทั่วไปเรามักใช้เครื่องชั่งน้ำหนักเป็นตัวชี้วัดว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่ในความจริงตัวเลขบนเครื่องชั่งเหล่านี้ไม่สามารถวัดความอ้วนที่แท้จริงซึ่งซ่อนอยู่ภายในได้ การจะรับรู้ถึงความอ้วนที่แท้จริง เราต้องมาทำความรู้จักกับ ‘องค์ประกอบของร่างกาย’ (Body Composition) ซึ่งไม่ใช่แค่น้ำหนักตัว แต่บอกลึกลงไปกว่านั้นว่าน้ำหนักตัวของคุณประกอบด้วยอะไรบ้าง

 

องค์ประกอบของร่างกาย

  • มวลปราศจากไขมัน (Lean Body Mass) ได้แก่ กระดูก กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ผิวหนัง และอวัยวะภายในต่างๆ  
  • มวลไขมัน (Fat Mass) ได้แก่ ไขมันหรือความอ้วนที่แท้จริง จริงๆ แล้วข้อดีของไขมันก็มีอยู่มาก (หากไม่สะสมไว้มากเกิน) เพราะช่วยควบคุมอุณหภูมิ ผลิตฮอร์โมน และป้องกันอวัยวะภายใน

 

วิธีค้นหาความอ้วนที่แท้จริง

จากที่อ่านมาจะเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่เราควรวัดองค์ประกอบของร่างกายเพื่อให้รู้ถึงปริมาณของมวลไขมันในร่างกายหรือเปอร์เซ็นต์ไขมันก่อนเริ่มต้นออกกำลังกายหรือเข้าโปรแกรมลดความอ้วน เพราะจะได้รู้ว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหน และจุดที่เรากำลังจะไปถึงนั้นเป็นเช่นไร อีกทั้งยังง่ายต่อการตามติดผลลัพธ์และกำหนดเป้าหมายอีกด้วย (คลิกอ่านวิธีการลดหุ่นได้ที่นี่) แต่เราจะใช้วิธีใดในการวัด ในเมื่อเครื่องชั่งน้ำหนักทั่วไปทำไม่ได้

 

วิธีการนั้นมีตั้งแต่แม่นยำที่สุด แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง เช่น การชั่งน้ำหนักใต้น้ำ เรื่อยไปจนถึงวิธีที่คุณสามารถทำได้เองที่บ้านอย่างการวัดไขมันใต้ผิวหนัง (Skinfold Measurement) อาศัยเครื่องวัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง (Caliper) ในการหนีบชั้นผิวหนังพร้อมไขมันตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ก่อนนำไปคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ไขมัน ซึ่งสูตรในการคำนวณจะแตกต่างกันทางเพศ อายุ และเชื้อชาติ แต่วิธีนี้ไม่ควรทำหลังออกกำลังกาย เพราะของเหลวจะไปคั่งที่ใต้ผิวหนังมากขึ้น ส่งผลให้ได้ค่าที่ได้มากเกินความเป็นจริง  

 

การใช้ Caliper หนีบไขมันใต้ผิวหนัง

 

ส่วนวิธีที่ได้รับความนิยมและพบเจอได้บ่อยที่สุด ได้แก่ การใช้เครื่อง BIA หรือ Bioelectrical Impedance Analysis ซึ่งเป็นการใช้กระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำไหลผ่านมวลไขมัน กล้ามเนื้อ และน้ำในร่างกาย ซึ่งความแม่นยำขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัวเครื่องและปริมาณน้ำในร่างกายที่เหมาะสม อีกทั้งยังไม่ควรออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ และกินอาหารก่อนการวัด

 

เครื่องนี้พบมากในฟิตเนสใหญ่ หากคุณเป็นสมาชิกฟิตเนสก็สามารถขอใช้บริการเจ้าเครื่องที่ว่านี้ได้ เพียงกรอกรายละเอียดเบื้องต้น เช่น เพศ อายุ ส่วนสูง ฯลฯ จากนั้นถอดรองเท้าแล้วขึ้นไปยืน เอามือจับที่บาร์ หลังจากนั้นเครื่องจะประมวลผลต่างๆ แล้วพิมพ์เป็นค่าที่วัดได้ออกมา ซึ่งตัวเลขอาจดูยุ่งเหยิง เข้าใจยาก แต่หลักๆ สิ่งที่เราอยากโฟกัสคือ Lean Body Mass (ควรมีสูงๆ) และ Fat Mass ที่บอกเป็นเปอร์เซ็นต์และน้ำหนัก เช่น มีไขมันในร่างกาย 25% เทียบเป็น 22 กิโลกรัมของน้ำหนักตัว จากจุดนี้จะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าร่างกายของเราหนักส่วนไหนบ้าง อะไรควรเพิ่ม ส่วนไหนที่ดีอยู่แล้วให้คงไว้ บางคนเห็นตัวเล็กๆ แต่มวลไขมันในร่างกายสูงถึง 32% ก็มี ซึ่งเข้าข่ายเกินมาตรฐาน

 

 

สุดท้ายเป็นวิธีที่เรียบง่ายมากที่สุด แถมยังไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ นั่นคือการถอดเสื้อผ้าออกให้หมดแล้วยืนส่องกระจกเพื่อสำรวจหุ่นของตัวเอง (แต่สัญญาว่าคุณจะซื่อสัตย์กับสิ่งที่เห็น) ลองดูว่าช่วงนี้เอวคอดขึ้นไหม บั้นท้ายกระชับขึ้น หน้าท้องยุบลง ต้นขาไม่เบียดเท่าเมื่อก่อน หรือแก้มที่เคยอิ่มเอิบเริ่มเรียวขึ้น ใส่กางเกงรัดรูปแล้วไม่ปลิ้นเหมือน 3 เดือนที่แล้ว หากรูปการณ์ออกมาเป็นแบบนี้ก็เรียกว่ามาถูกทาง

 

น้ำหนักไม่ลดไม่ได้แปลว่าไม่ผอมลง

เพื่อให้ตอบข้อสงสัยที่ว่าทำไมเราออกกำลังกายจนรู้สึกว่าสัดส่วนลดลงแล้ว แต่น้ำหนักบนตาชั่งยังเท่าเดิมหรือเพิ่มมากขึ้น ความเป็นไปได้คือมวลไขมันในร่างกายลดลง (ผ่านการคาร์ดิโอและควบคุมอาหาร) + มวลกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น (ในกรณีที่คุณยกเวตร่วมด้วย) ซึ่งถือเป็นวิธีลดน้ำหนักที่เหมาะสมมากที่สุด เพราะการลดน้ำหนักที่ยั่งยืนและไม่ทำลายสุขภาพต้องไม่ใช่แค่งดอาหาร พึ่งพาอาหารเสริม หรือไม่ยอมออกกำลังกาย ไม่เช่นนั้น 25% ของน้ำหนักตัวที่หายไป 0.5 กิโลกรัมจะกลายเป็นกล้ามเนื้อ ไม่ใช่ไขมัน และนั่นคือสิ่งสุดท้ายที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับคนที่ต้องการลดความอ้วน หลายครั้งที่เราเห็นหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักมีรูปร่างที่ดีขึ้นและมีกล้ามเนื้อที่ฟิตเฟิร์ม แทบไม่มีใครน้ำหนักตัวลดลงเลย แต่ไขมันหายไปกระจาย ได้กล้ามเนื้อกลับมาแทนที่ ใส่เสื้อผ้าไซส์เล็กลง ดูสมาร์ทและคล่องแคล่ว ดังนั้นถึงแม้ตอนนี้จะมีแค่คุณคนเดียวที่สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ก็อย่าไปสนใจหากใครจะทักท้วงว่าออกกำลังกายมาตั้งนาน ทำไมยังหนักเท่าเดิม

 

รอให้เขาเห็นคุณในชุดว่ายน้ำหรือชุดรัดรูปก่อนเถอะ

 

ของแบบนี้ไม่ต้องพูดเยอะ เห็นแล้วจะรู้เอง  

 

ภาพ: The Standard, shutterstock  

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

The post ออกกำลังกายจนกางเกงหลวม แต่ทำไมน้ำหนักตัวยังเท่าเดิม มาค้นหาความอ้วนที่แท้จริงเพื่อให้คุณมีกำลังใจสู้ต่อ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/body-composition/feed/ 0