Banking Agent – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 15 Sep 2022 07:27:54 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 กสิกรไทยเปิดเกม Banking Agent ตั้งร้านคาเฟ่ อเมซอน รับฝากเงินสดแบบเรียลไทม์สาขาแรกแล้ว https://thestandard.co/kbank-cafe-amazon-banking-agent/ https://thestandard.co/kbank-cafe-amazon-banking-agent/#respond Tue, 20 Nov 2018 05:50:08 +0000 https://thestandard.co/?p=150317

จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จ […]

The post กสิกรไทยเปิดเกม Banking Agent ตั้งร้านคาเฟ่ อเมซอน รับฝากเงินสดแบบเรียลไทม์สาขาแรกแล้ว appeared first on THE STANDARD.

]]>

จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR พร้อมด้วย พัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย แถลงเปิดตัวบริการรับฝากเงิน ‘เคแบงก์ เซอร์วิส (KBank Service)’ ที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาพีทีที สเตชั่น (เอกมัย-รามอินทรา) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) รับฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย ถือเป็นการให้บริการฝากเงินในร้านกาแฟครั้งแรกในประเทศไทย

 

สำหรับเงื่อนไขการรับฝากเงินสดที่ร้านกาแฟแห่งนี้ รับฝากได้สูงสุด 5,000 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 40,000 บาทต่อวันต่อ 1 หมายเลขบัตรประชาชน โดยคิดค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อรายการ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถฝากเงินได้เพียงกรอกใบนำฝากเพื่อแจ้งเลขที่บัญชีที่ต้องการฝากเงินและจำนวนเงินเท่านั้น โดยผู้ฝากจะได้รับหลักฐานการทำธุรกรรมเมื่อทำรายการเสร็จสมบูรณ์เป็นใบเสร็จและข้อความทางโทรศัพท์มือถือ การโอนเงินจะเข้าบัญชีปลายทางทันทีแบบเรียลไทม์ โดยจะเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 2561 เป็นต้นไป

 

เป็นอีกก้าวของการผลักดันบริการทางการเงินให้เข้าถึงผู้บริโภคที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้เคยฮือฮากับกระแสข่าวการแต่งตั้งร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นตัวแทนธนาคารมาแล้ว สำหรับร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน เป็นหนึ่งในธุรกิจภายใต้อาณาจักรของกลุ่ม ปตท. ที่กำลังเป็นดาวรุ่ง ไม่เพียงแต่เติบโตในประเทศเท่านั้น ปตท. ยังขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศด้วย แม้จะเป็นเพียงโครงการทดลอง แต่ก็ถือว่าเป็นช่องทางที่มีศักยภาพสูง และอาจจะทำให้แวดวงธนาคารแข่งขันกันร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • ธนาคารกสิกรไทย

The post กสิกรไทยเปิดเกม Banking Agent ตั้งร้านคาเฟ่ อเมซอน รับฝากเงินสดแบบเรียลไทม์สาขาแรกแล้ว appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/kbank-cafe-amazon-banking-agent/feed/ 0
ธนา เธียรอัจฉริยะ คนธรรมดาๆ ที่คิดจะตีลังกากลับหัว https://thestandard.co/thana-thienachariya/ https://thestandard.co/thana-thienachariya/#respond Wed, 04 Apr 2018 12:05:26 +0000 https://thestandard.co/?p=82190

“ผมก็แค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่เรียนรู้จากความล้มเหลว” &nbsp […]

The post ธนา เธียรอัจฉริยะ คนธรรมดาๆ ที่คิดจะตีลังกากลับหัว appeared first on THE STANDARD.

]]>

“ผมก็แค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่เรียนรู้จากความล้มเหลว”

 

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่แบงก์ยักษ์ใหญ่อายุเยอะอย่างธนาคารไทยพาณิชย์จะก้าวจากจุดเดิมสู่บริบทใหม่ของการบริการทางการเงิน นอกจากบอร์ดบริหารและซีอีโอที่ใจถึงแล้ว แม่ทัพด้านการตลาดอย่าง ธนา เธียรอัจฉริยะ ถือเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่เป็นกลจักรสำคัญของประวัติศาสตร์หน้าใหม่นี้

 

ศึกใหญ่ในสายตาของธนาตอนนี้ไม่ใช่การแข่งขันกับแบงก์ด้วยกันเอง แต่เป็นการรุกคืบเข้ามาของแพลตฟอร์มจากโลกเทคโนโลยี เขาเรียนรู้อะไรจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความสำเร็จเดิมๆ สมัยสร้างแบรนด์ Happy เป็นอุปสรรคต่อการทำสิ่งใหม่ของเขาหรือไม่ สำนักข่าว THE STANDARD ได้คำตอบที่น่าสนใจทีเดียว

 

 

ไม่ยึดติดกับกับความสำเร็จในอดีต และเรียนรู้จากความล้มเหลว

“ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นเทพการตลาดอะไรทั้งนั้น ผมเองก็เคยล้มเหลวตอนอยู่แมคยีนส์ ผมก็ทำอะไรไม่รอดด้วยที่แกรมมี่ มันก็มีช่วงที่ไม่สำเร็จ ความผิดพลาดคือประสบการณ์ ในอนาคตเราจะตัดสินใจดีขึ้นเพราะเรามีประสบการณ์ ถ้าเราไม่ผิด เราไม่มีประสบการณ์หรอก ผมผิดบ่อยเพราะผมกล้าที่จะผิด”

 

ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ พูดถึงความสำเร็จที่ผู้คนจดจำได้เมื่อครั้งยังเป็นผู้บริหารที่ DTAC เนรมิตแบรนด์ Happy ให้เกิดและกลายเป็นตัวอย่างคลาสสิกทางการตลาด ธนาเน้นย้ำว่าเรื่องสมัย Happy นั้นจบไปนานแล้ว สิ่งที่เขาภาคภูมิใจตอนนี้คือการทำคอร์ส ABC และงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์มากกว่า

 

เขาเปรียบตัวเองเหมือนผู้กำกับภาพยนตร์ ถ้าสร้างหนังให้ดังได้สักเรื่อง บางคนอาจจะยึดติดกับความสำเร็จที่มีและไม่กล้าทำเรื่องอื่นต่อ เพราะกลัวจะล้มเหลว ก็จะมีหนังดีๆ เพียงเรื่องเดียวให้คนดูเท่านั้น ธนายอมรับว่าตัวเองก็เคยทำหนัง ‘แป้ก’ มา 2-3 เรื่อง ซึ่งน่าจะหมายถึงองค์กรที่เคยร่วมงานมาก่อนหน้านี้ แต่เขาก็ยังกลับมาทำหนังที่ประสบความสำเร็จได้อีกที่ธนาคารไทยพาณิชย์

 

“ถ้าผมหยุดตอนนี้ ผมก็จะไม่ได้ทำหนังสนุกๆ ต่อไป”

 

แม้ภาพของแบงก์ใหญ่แห่งรัชโยธินจะเปลี่ยนไปมากและรวดเร็วจนทำให้ทุกคนหันมาจับตามองการแข่งขันที่ร้อนแรงของวงการธนาคาร แต่ธนาเชื่อว่า อาทิตย์ นันทวิทยา ซีอีโอของไทยพาณิชย์ ยังไม่พอใจกับจุดที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากทีมบริหารคาดหวังการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านในระดับที่สูง แม้ช่วงที่ผ่านมาธนาประเมินว่าทำได้ดีมากแล้ว แต่ยังถือว่าห่างไกลจากความคาดหวังอยู่พอสมควร

 

“มองจากข้างนอก คนจะพูดว่าเราเปลี่ยนเยอะมาก แต่เรายังทำบนแพลตฟอร์มเดิมๆ องค์กรยังไม่ได้เปลี่ยนอย่างรุนแรง เรายังไม่ใกล้ความเป็น Tech Company เหมือนอย่าง Alibaba หรือ Google เลย ต้องเข้าใกล้ให้มากขึ้นกว่านี้ทั้งวิธีคิด วัฒนธรรมองค์กร และเทคโนโลยี ตอนนี้เรายังเป็นแบงก์ปกติ อาจจะทำได้เร็วขึ้น ลูกเล่นมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นแบงก์เหมือนเดิมอยู่ดี”

 

ค่อนข้างชัดเจนสำหรับเป้าหมายใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่คิดจะเติบโตให้ไกลกว่าขอบเขตของการเป็นธนาคาร ธนามองว่าขณะนี้ผู้คนทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลาอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับการเดินทางมาที่ธนาคารแล้วต้องเจอกับคิวยาวเหยียด กระบวนการด้านเอกสารที่ช้า ผู้บริโภคจึงมองหาช่องทางที่ถูก เร็ว และดี ซึ่งเขามองว่านี่จะเป็นลักษณะสำคัญของกระบวนการของธนาคาร (Banking) ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นทุกที่ ยกเว้นที่ตัวธนาคารเอง

 

“เมื่อก่อนแบงก์ผูกขาดความเชื่อ เดี๋ยวนี้ในต่างประเทศ พวกแพลตฟอร์มกลับได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าแบงก์เสียอีก แต่คนไทยเรายังเชื่อแบงก์มากกว่า”

 

ธนาให้ข้อมูลว่ารายได้หลักของธนาคารพาณิชย์คือการปล่อยกู้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียมจะหายไปในอนาคต ปัจจุบันผู้เล่นหน้าใหม่ที่มาจากอุตสาหกรรมอื่นให้บริการทางการเงินในต้นทุนที่ต่ำมาก เพราะต้องการสร้างประสบการณ์และทำให้ลูกค้าติดใจ (Customer Engagement) แบงก์จึงต้องปรับตัว มองข้ามเรื่องค่าธรรมเนียมและหาโอกาสทางธุรกิจใหม่

 

“เรื่องเงินกู้ ใครๆ ก็อยากจะเข้ามาปล่อยกู้ ทุกวันนี้เราอยู่ได้เพราะแบงก์ชาติปกป้องเราอยู่ ถ้าปลดล็อกแล้ว คนอื่นจะมาทำแบบเราพรุ่งนี้เลยก็ได้ เราไม่รู้ว่าเงื่อนไขแบบทุกวันนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าเราไม่สามารถปล่อยกู้รูปแบบใหม่ที่เป็น Information Based Lending ได้ เราก็จะเหนื่อย เพราะคนอื่นทำได้ แต่เราทำไม่ได้ ทุกคนอยากเข้ามาทำธุรกิจประกันภัยกับธนาคาร เพราะว่ากำไรดี เชื่องช้า แถมยังชกง่ายด้วย”

 

 

ไม่ใช่แค่ธุรกรรม แต่เป็น Emotional Transaction

ธนาเชื่อว่า Lifestyle Banking และ Mobile Banking คือแพลตฟอร์มสำคัญซึ่งต้องสร้างฐานผู้ใช้งานให้มากพอ ปัจจุบัน SCB Easy App มีผู้ใช้งาน 6.5 ล้านราย ซึ่งไทยพาณิชย์ตั้งเป้าจะขยายให้ถึง 10 ล้านรายโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาระบบเพื่อรองรับธุรกรรมและการใช้งานที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดด้วย

 

สิ่งที่บรรดาธนาคารต้องเร่งทำคือการสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันกับลูกค้าให้ได้ เพราะขณะนี้แพลตฟอร์มอื่นสามารถทำได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ใช้งานชื่นชอบ ธนาชูประเด็นเรื่อง Emotional Transaction ตัวอย่างที่ดีคือบริการกดเงินโดยไม่ใช้บัตร หรือการรับบริจาคเพื่อกิจกรรมการกุศล ซึ่งจะให้คุณค่าทางอารมณ์ (Emotional Value) แตกต่างจากการทำธุรกรรมเดิมๆ นอกจากนี้การจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อต่อยอดบริการใหม่และสร้างประสบการณ์ที่ดีบน Touchpoint ของธนาคารก็เป็นเรื่องจำเป็นด้วย

 

“ผมว่าพออยู่ตัวแล้วสำหรับ Mobile Banking เรากับคู่แข่งจะมีฐานลูกค้าใกล้กัน แต่จะทิ้งห่างเบอร์ 3 เยอะหน่อย การมีคู่แข่งเก่งเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้เราฉลาดขึ้น พยายามมากขึ้น และในที่สุดผมเชื่อว่าเราจะโตด้วยกันทั้งคู่ ตอนนี้เราเป็นรองอยู่ ยิ่งเป็นรองเราก็ยิ่งสนุก เพราะว่าเรามีคนให้วิ่งตามไง เราจะเร่งเครื่องไปได้อีก ผมเชื่อว่าสุดท้ายเราจะจบเท่ากัน”

 

ธนาเห็นด้วยเรื่องการขยายบริการผ่านตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ที่เป็นข่าวครึกโครมก่อนหน้านี้ เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ร้านสะดวกซื้อรับทำธุรกรรมอาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องห่วงเท่ากับบรรดาแพลตฟอร์มต่างๆ พากันร่วมมือและทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ

 

“เรื่อง AIS จับมือ Rabbit LINE Pay นี่ก็คู่แข่งเรานะ AIS มีลูกค้าในระบบตั้ง 40 ล้านคน Rabbit มีเครือข่ายคนใช้รถไฟฟ้าทั้งเส้น LINE มีคนใช้งานกว่า 40 ล้านคน ถ้าผมไม่กังวลเรื่องนี้แล้วผมจะไปคิดถึงใคร วันข้างหน้าถ้าไปฝากเงินไว้ที่ AIS เขาอาจจะให้ดอกเบี้ยไม่ได้ แต่เขาอาจจะให้ค่าโทรหรืออย่างอื่น มันทำได้หมด ทุกคนเป็นอะไรที่คล้ายแบงก์ได้ ดังนั้นเราต้องคิดและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องสนุก เป็นการแข่งขันที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์”

 

ความคิดสร้างสรรค์ การให้พื้นที่ และความสุขที่มีความหมาย

“ผมยังเชื่อในการให้พื้นที่ในการคิด ผมเองก็ให้อิสระกับทีม เพราะความคิดสร้างสรรค์มันต้องอาศัยความเป็นอิสระ ผมคุยกับ พี่จิก-ประภาส ชลศรานนท์ (ผู้บริหาร Workpoint) เขาบอกว่าไอเดียดีๆ ทั้งหลายไม่ได้เกิดในห้องประชุมนะ แต่เป็นที่ร้านสุกี้ เพราะว่ามันอิสระ ไม่มีเจ้านายลูกน้อง ได้คุยกันจริงๆ เราเป็นผู้บริหาร เราค่อยเอากรอบมาจับไอเดียเองว่าไอเดียพวกนั้นเหมาะกับช่วงเวลาไหน”

 

สำนักข่าว THE STANDARD ถามธนาว่า ปี 2020 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งเป้าเปลี่ยนผ่านองค์กรครั้งใหญ่ได้สำเร็จแล้ว เขาจะยังทำงานให้แบงก์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้หรือไม่ และจะไปอยู่ที่จุดไหนของการเปลี่ยนแปลง ธนาให้คำตอบว่าตนเองมองการทำงานแต่ละที่เหมือนการทำโครงการหรือโปรเจกต์เฉพาะกิจ เพราะทำแล้วจบ มีจุดสิ้นสุด ดังนั้นจะทำงานอย่างเต็มที่และไม่รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้พยายาม เช่นเดียวกันกับบทบาทของเขาซึ่งจะทบทวนตนเองทุกปีและพูดคุยกับซีอีโอ ถ้ายังสนุก เขาก็จะก้าวต่อไป

 

ธนาเชื่อว่าคนทุกคนต้องมีเป้าหมายในชีวิต และเรื่องเงินอาจจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด การตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นประโยชน์กับโลกใบนี้หรือไม่อาจเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

 

“ผมเคยทำอะไรที่สบายๆ ได้เงิน แต่ไม่มีความหมายกับชีวิต ผมยังไม่มีความสุขเลย ผมว่ามันไม่ได้อยู่ที่เงินแต่อยู่ที่ meaning ว่าเราทำแล้วมีประโยชน์ต่อคนหรือเปล่า มีงานออกมาแล้วเรายอมรับตัวเองได้ไหมว่าเรามีประโยชน์ สำคัญที่มีประโยชน์นี่ล่ะ”

 

นี่คือบางส่วนของความคิดจากผู้ที่เรียกตนเองว่า Introvert ถนัดซ้ายที่ไม่ชอบเป็นข่าวและปรารถนาการอยู่หลังฉาก ซึ่งแตกต่างจากสถานะที่เขาเป็นอยู่โดยสิ้นเชิง

 

เรื่องราวของคนธรรมดาๆ ที่ตีลังกากลับหัวอย่าง Happy

The post ธนา เธียรอัจฉริยะ คนธรรมดาๆ ที่คิดจะตีลังกากลับหัว appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/thana-thienachariya/feed/ 0
แบงก์ชาติไฟเขียวร้านสะดวกซื้อ ฝาก ถอน จ่าย โอนแล้ว ย้ำไม่มีธนาคารเซเว่น https://thestandard.co/7-eleven-banking-agent/ https://thestandard.co/7-eleven-banking-agent/#respond Mon, 19 Feb 2018 11:39:31 +0000 https://thestandard.co/?p=71611

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวที่ประชาชนให้ความสนใจเป […]

The post แบงก์ชาติไฟเขียวร้านสะดวกซื้อ ฝาก ถอน จ่าย โอนแล้ว ย้ำไม่มีธนาคารเซเว่น appeared first on THE STANDARD.

]]>

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘ธนาคารเซเว่น’ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการให้บริการทางการเงินแก่ผู้บริโภคที่ครอบคลุมถึงระดับชุมชนผ่านร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น

 

ล่าสุดแบงก์ชาติออกมายืนยันว่า ไม่มีแบงก์เซเว่นแน่นอน เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเป็นเรื่องของตัวแทนให้บริการทางการเงิน (Banking Agent) ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank) อย่างที่เข้าใจ

 

น่าสังเกตที่ข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาก่อนที่เจ้าของเรื่องผู้รับผิดชอบอย่างแบงก์ชาติจะแถลงเสียอีก หากมองข้ามข้อสงสัยเรื่องการชิงจังหวะในการสื่อสารการตลาดแล้ว เรื่องนี้จะสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างไร?

 

 

บริการถึงปากซอย

ก่อนหน้านี้สื่อหลายสำนักรายงานข่าวอ้างอิงผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ โดยระบุว่าอนุมัติให้ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์ในการรับทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งรับเงิน ฝากเงิน ถอนเงิน ให้ประชาชนได้เข้าถึงการให้บริการได้มากขึ้น และบรรดาธนาคารก็สามารถลดต้นทุนจากการเปิดสาขาลง รวมถึงต้นทุนจากการขนย้ายเงินด้วย โดยการเลือกตัวแทนของธนาคารก็ขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจของแต่ละธนาคารเอง

 

ขณะที่กระทรวงการคลังก็รับลูกเรื่องนี้ สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังออกมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยเชื่อว่าแบงก์ชาติจะมีการกำกับดูแลที่ดี รัดกุม ไม่เปิดให้ใครมาทำธุรกิจนี้ได้ง่ายๆ ถ้าไม่พร้อม แบงก์ชาติคงไม่คิดทำ โดยเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงระบบการเงินที่ขยายวงกว้างขึ้น

 

นอกจากนี้ปลัดกระทรวงการคลังยังมองว่า เครือข่ายร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่นมีความเหมาะสมสำหรับการเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากที่ผ่านมาเซเว่น อีเลฟเว่น ก็รับชำระค่าบริการต่างๆ อยู่แล้ว ยังบริหารงานโดย CP All ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เชื่อว่าจะมีหลักธรรมาภิบาลที่ดีด้วย

 

จนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องตัวแทนการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ โดยชี้แจงว่าไม่ได้เป็นการอนุญาตให้เอกชนมาขอใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ใหม่ และยังไม่มีนโยบายให้ใบอนุญาตใหม่กับองค์กรไหนแต่อย่างใด จึงเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะไม่มี ‘ธนาคารเซเว่น’ ที่ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างที่เข้าใจกัน และขอบเขตการให้บริการของตัวแทนให้บริการนั้นจำกัดพอสมควร

 

หากแต่แบงก์ชาติได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการการเงินได้สะดวกและทั่วถึงมากขึ้นซึ่งธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้เลือกตัวแทนเอง โดยเปิดกว้างให้ได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่แบงก์ชาติกำหนด และธนาคารพาณิชย์จะต้องระบบควบคุมและบริหารความเสี่ยงสำหรับธุรกรรมที่ทำผ่านตัวแทนเหล่านี้ด้วย

 

หากพิจารณาหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตัวแทนของสถาบันการเงินของเดิมปี 2553 ของแบงก์ชาติมีรายละเอียดที่สำคัญคือ เป็นนิติบุคคลที่สถาบันการเงินแต่งตั้งเพื่อให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าโดยเป็นตัวแทน 6 ประเภทคือ

  1. ตัวแทนรับฝากเงิน
  2. ตัวแทนรับถอนเงิน
  3. ตัวแทนโอนเงิน
  4. ตัวแทนรับชำระเงิน
  5. ตัวแทนจ่ายเงิน
  6. ตัวแทนในกรณีอื่น

 

ล่าสุด วันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงชี้แจงว่า แบงก์ชาติปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยสาระสำคัญของเกณฑ์ฉบับใหม่นี้แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ

 

  1. สาขาของธนาคารพาณิชย์ จะปรับให้ยืดหยุ่นขึ้นทั้งเรื่องธุรกรรม วันเวลาทำการ และการให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Mobile Banking
  2. การแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ได้อยู่แล้ว เดิมสามารถแต่งตั้งตัวแทนทั้งธนาคารอื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจและไปรษณีย์ได้ และเกณฑ์ใหม่จะครอบคลุมนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมด้วย โดยตัวแทนของธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการได้ทั้งการรับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน ชำระเงินสำหรับลูกค้ารายย่อย

 

คุณสมบัติของตัวแทนที่แบงก์จะแต่งตั้งต้องมีสถานที่ให้บริการเป็นหลักแหล่งที่ชัดเจน มีเครื่องมือและระบบการให้บริการรองรับ การปฏิบัติงานที่ปลอดภัย ส่วนแบงก์ต้องรับผิดชอบการให้บริการของตัวแทนเหมือนเป็นผู้ให้บริการเอง ซึ่งตัวแทนเหล่านี้เป็นเพียงผู้ที่ให้บริการแทนในธุรกรรมบางประเภท มิใช่การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ที่มีใบอนุญาต (Banking License) จากแบงก์ชาติแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้แบงก์ที่แต่งตั้งตัวแทนต้องจัดทำแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับสาขาและช่องทางให้บริการที่ผ่านการพิจารณา โดยต้องแจ้งให้แบงก์ชาติทราบทุกปี รวมถึงกำหนดให้มีช่องทางทดแทนการให้บริการลูกค้าที่เพียงพอ รวมถึงการดูแลพนักงานที่เหมาะสมด้วย

 

หากพิจารณาเปรียบเทียบกับธนาคารเซเว่นที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว พบว่าสามารถทำธุรกรรมพื้นฐานอื่นๆ ได้ครบเหมือนธนาคารทั่วไป ทั้งการเปิดบัญชีเงินฝาก การรับโอนเงินจากต่างประเทศผ่าน Western Union ตู้กดเงินสดของธนาคารเซเว่น ไปจนถึงบัญชีรับเงินเดือนผ่านธนาคารเซเว่นด้วย

 

แม้จะยังไม่มีธนาคารเซเว่นเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แต่สิ่งที่น่าจับตาคือจำนวนสาขาที่ทาง CP All คาดการณ์ว่าจะขยายเป็น 1 หมื่นสาขาในปี 2561 นี่คือเป็นช่องทางอันทรงพลังที่บรรดาธนาคารต่างต้องการใช้ข้อได้เปรียบที่เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงเพื่อการแข่งขันตลาดรายย่อยที่นับวันจะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ

 

หาก Mobile Banking ใช้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางและบนที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว การใช้หน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นแทนบริการจากเคาน์เตอร์ธนาคารที่เคยมีถือเป็นการกินรวบผู้บริโภคในระดับฐานรากที่ทำได้อย่างเบ็ดเสร็จชนิดไร้รอยต่อ

 

ไม่ใช่เรื่องที่ไกลความจริงเลยที่ตอนนี้หลายธนาคารประกาศลดคน ลดต้นทุนลงถึง 1 ใน 3 และต้องทำให้ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีต่อจากนี้

 

คำถามคือ พนักงานสาขาที่ปิดตัวจะไปอยู่ที่ไหน และเซเว่น อีเลฟเว่นจะเป็นผู้เล่นเพียงรายเดียวของตลาดตัวแทนให้บริการนี้หรือไม่?

 

อ้างอิง:

The post แบงก์ชาติไฟเขียวร้านสะดวกซื้อ ฝาก ถอน จ่าย โอนแล้ว ย้ำไม่มีธนาคารเซเว่น appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/7-eleven-banking-agent/feed/ 0