Alita – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 16 Aug 2019 01:52:08 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 เจมส์ คาเมรอน กับหุ่นยนต์คนเหล็ก เรือไททานิก ชาว Avatar และพัฒนาการที่ไม่เคยหยุดนิ่ง https://thestandard.co/james-cameron/ https://thestandard.co/james-cameron/#respond Wed, 13 Feb 2019 12:01:06 +0000 https://thestandard.co/?p=198261

เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อใครสักคนได้ผจญภัยไปในโลกวรรณกรร […]

The post เจมส์ คาเมรอน กับหุ่นยนต์คนเหล็ก เรือไททานิก ชาว Avatar และพัฒนาการที่ไม่เคยหยุดนิ่ง appeared first on THE STANDARD.

]]>

เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อใครสักคนได้ผจญภัยไปในโลกวรรณกรรมแสนสนุกจะต้องเคยลองจินตนาการเรื่องราวเหล่านั้นเป็นภาพจินตนาการชวนฝันอย่างแน่นอน แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถเนรมิตภาพเหล่านั้นให้ตัวละครเหล่านั้นโลดแล่นออกมาได้จริงๆ

 

เจมส์ คาเมรอน เติบโตจากเด็กน้อยที่ชอบอ่านนิยายไซไฟ-แฟนตาซี มาเป็นหนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก เขาแสดงให้เห็นผ่านผลงานภาพยนตร์เกือบ 40 เรื่อง (ทั้งกำกับและอำนวยการสร้าง) ว่าไม่ใช่แค่ความคิด หากแต่ใช้ความพยายาม ทุ่มเท จนถึงขั้นหมกมุ่นในการพัฒนางานด้าน ‘วิชวลเอฟเฟกต์’ เพื่อทำในสิ่งที่เขาหลงใหลอย่างสุดหัวใจให้เกิดขึ้นจริง

 

THE STANDARD POP จะพาไปสำรวจพัฒนาการ เจมส์ คาเมรอน กับความทุ่มเทในภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เขาสร้าง ตั้งแต่หุ่นพิฆาตใน The Terminator (1984), การชุบชีวิตเรือ Titanic (1997), ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล Avatar (2009) รวมทั้ง Alita: Battle Angel ผลงานเรื่องล่าสุดที่เขารับหน้าที่เขียนบทและโปรดิวเซอร์ ที่รวมเอาทุกเทคนิคที่เคยพัฒนามาไว้ในเรื่องเดียว

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ Alita: Battle Angel

 

ความหลงใหลในวัยเด็ก สู่การสร้างภาพจินตนาการให้เกิดขึ้นจริง

หนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ เจมส์ คาเมรอน สร้างผลงานที่โดดเด่นในด้านวิชวลเอฟเฟกต์ รวมถึงพล็อตเรื่องที่มักจะเป็นแนวไซส์-ฟิกชัน เป็นส่วนใหญ่ เริ่มต้นมาจากวัยเด็กของเขาที่หลงไหลในนวนิยายแนวไซไฟ-แฟนตาซี ในขณะที่เด็กคนอื่นต่างออกไปวิ่งเล่นข้างนอกอย่างสนุกสนาน แต่เจมส์เลือกที่จะหมกตัวอยู่ในห้อง และออกเดินทางไปในโลกแห่งจินตนาการตามเรื่องราวในหนังสือ จนถึงขั้นที่เขานำภาพเหล่านั้นไปวาดลงในสมุดของตัวเอง ซึ่งการอ่านนวนิยายยังต่อยอดให้เขาเริ่มสนใจในวิทยาศาสตร์และการดำน้ำอีกด้วย

 

จากเด็กหนุ่มที่ชื่นชอบการอ่านนิยายในวัยเด็ก จินตนาการของเจมส์เริ่มตกตะกอนให้เขาตั้งคำถามขึ้นว่า จะทำอย่างไรที่จะนำภาพจินตนาการในหัวของเขา นำมาถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้ชม และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอาชีพผู้กำกับภาพยนตร์ที่ทำให้เขากลายเป็นที่จดจำจากผู้ชมทั่วโลก

 

Xenogenesis (1978) ชิมลางด้วยหนังสั้นเรื่องแรกและวาดฉากทั้งหมดด้วยตัวเอง

 

จากความฝันสู่ความจริง หลังจากก้าวเข้าสู่อาชีพผู้กำกับ เขาได้เริ่มต้นความฝันในวัยเด็กของตัวเองจากการสร้างผลงานเรื่องแรก Xenogenesis ภาพยนตร์สั้นแนวไซไฟ-ฟิกชัน ความยาว 12 นาที ในปี 1978 ว่าด้วยเรื่องราวในอนาคตของหญิงสาวกับวิศวกรหนุ่มคู่หนึ่ง ที่ถูกส่งตัวลงมาบนยานอวกาศขนาดยักษ์ เพื่อตามหาสถานที่ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่ในระหว่างการสำรวจ พวกเขาต้องพบเจอกับหุ่นยนต์ทำความสะอาด พวกเขาจึงต้องหาทางหนีเอาตัวรอด

 

Xenogenesis ถือได้ว่าเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นว่า นวนิยายแนวไซไฟ-แฟนตาซีที่เขาชอบอ่านในตอนเด็กๆ มีอิทธิพลต่อตัวเขาเป็นอย่างมาก และถือเป็นก้าวแรกกับการสานฝันในวัยเด็กที่อยากจะสร้างโลกแห่งจินตนาการขึ้นมาได้ ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะมีงบประมาณในการสร้างเพียง 20,000 เหรียญ (ประมาณ 600,000 บาท) รวมถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยีภาพยนตร์ในสมัยนั้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจหยุดจินตนาการของชายคนนี้ได้ เจมส์เลือกที่จะเล่าเรื่องราวในอนาคตโดยวาดฉากทั้งหมดขึ้นมาด้วยตัวเอง และใช้เทคนิคการตัดต่อมาเสริมการเล่าเรื่อง

 

ถึงแม้ว่า Xenogenesis จะเป็นเพียงภาพยนตร์สั้นที่ไม่ได้มีอะไรหวือหวามากมายนัก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นต้นแบบให้งานภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ของ เจมส์ คาเมรอน ได้อย่างแท้จริง

 

Xenogenesis ภาพยนตร์สั้นเรื่องแรกของ เจมส์ คาเมรอน

 

The Terminator (1984) เปลี่ยนฝันร้ายให้กลายเป็นผลงานแจ้งเกิด

 

ในช่วงที่กำลังทำหนังเรื่อง Piranha II: The Spawning (1981) เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นทุกภาคส่วน คืนหนึ่ง เจมส์ คาเมรอน เกิดป่วยด้วยอาการอาหารเป็นพิษ และฝันว่ามีหุ่นยนต์พิฆาตถูกส่งมาจากอนาคตเพื่อตามฆ่าเขา เมื่อสะดุ้งตื่น ฝันร้ายอันแสนน่ากลัวก็กลายเป็นไอเดียสำหรับ The Terminator หนังที่แจ้งเกิดชื่อของเขากับคนทั้งโลกและสามารถทำรายได้มากถึง 78 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลาต่อมา

 

เขาได้เดินทางกลับมาบ้านของตัวเองเพื่อพัฒนาบทจนเสร็จสิ้น จากนั้นนำบทภาพยนตร์ไปขายให้กับ เกล แอนน์ เฮิร์ด โปรดิวเซอร์ของบริษัทผลิตภาพยนตร์ New World Picture ในขณะนั้น โดยเจมส์ได้ยื่นข้อเสนอในการขายบทภาพยนตร์ด้วยมูลค่าเพียง 1 เหรียญสหรัฐ เพื่อแลกกับการที่เขาจะได้กำกับเรื่องนี้

 

Photo: ew.com

 

นอกจากนักแสดงนำ พล็อตเรื่องและฉากแอ็กชันต่างๆ คืออีกหนึ่งจุดเด่นที่ผู้คนจดจำได้เป็นอย่างดีคือ หุ่นยนต์พิฆาตจากอนาคตอย่าง T-800 โดยใช้เทคนิคแบ่งตัวหุ่นยนต์ออกเป็นส่วนๆ และใช้คนเชิดเพื่อให้สะดวกต่อการถ่ายทำ รวมไปถึงการใส่กลไกการเคลื่อนไหวที่นิ้วมือและดวงตาของ T-800 อย่างละเอียดเพื่อเพิ่มความสมจริง รวมทั้งการใช้เทคนิค Stop Motion ในฉากที่ต้องเห็นหุ่น T-800 ขยับเต็มตัว โดยนำหุ่นเชิด มาขยับชิ้นส่วนทีละเฟรม และนำมาตัดต่อเข้ากับฉากของจริง จนได้มาเป็นฉากต่อสู้สมจริงแบบที่เห็นในภาพยนตร์

 

The Abyss (1989) ภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่สร้างตัวละครด้วย CGI เพียงอย่างเดียว

 

 

ถึงแม้ว่า Aliens (1986) ภาพยนตร์เรื่องยาวลำดับที่ 3 ของเขาจะประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำชมที่หลายคนยกให้เป็นภาคที่ดีที่สุดในแฟรนไชส์นี้ แถมยังการันตีด้วยการคว้ารางวัลออสการ์ สาขา Visual Effects มาได้อย่างที่หวัง แต่ตอนนั้นเจมส์อยู่ในสถานะคนที่ถูกจ้างมาให้กำกับ และรับไม้ต่อจาก ริดลีย์ สก็อตต์ ที่สร้างตำนานในภาคแรกเอาไว้เท่านั้น ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จที่เป็นของเขาได้อย่างเต็มตัว

 

เขาจึงกลับมาทำตามความฝันและความทะเยอทะยานของตัวเองอีกครั้งใน The Abyss (1989) ภาพยนตร์ที่พาผู้ชมไปสัมผัสกับประสบการณ์ใต้ทะเลลึก ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มนักประดาน้ำที่ต้องลงไปช่วยเหลือเรือดำน้ำของทหารสหรัฐฯ ที่จมลงสู่ก้นทะเลลึกว่า 2,000 ฟุต พร้อมกับหัวรบนิวเคลียร์ที่บรรจุไว้เต็มลำ แต่ในระหว่างการช่วยเหลือ พวกเขาก็ได้เผชิญกับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เคยมีใครพบมาก่อน

 

 

ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในใต้ทะเลลึก และความต้องการของเจมส์ที่อยากจะถ่ายทำออกมาให้สมจริงที่สุด เขาจึงตัดสินใจที่จะถ่ายทำใต้น้ำจริงๆ โดยเจมส์ได้เลือกสถานที่ในการถ่ายทำคือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โรกี ที่ตั้งอยู่ ณ เมืองกราฟนี ทางตอนใต้ของรัฐแคโรไลนา ซึ่งแท่งที่มีความลึกกว่า 12 เมตร และสามารถบรรจุน้ำได้มากถึง 7 ล้านแกลลอน พร้อมกับอุปกรณ์การถ่ายทำใต้น้ำ

 

 

ไม่เพียงแค่นั้น เจมส์ยังได้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการ CG ด้วยการริเริ่มสร้าง ‘เอเลี่ยน’ จากคอมพิวเตอร์กราฟิกเพียงอย่างเดียวเป็นตัวแรกของโลกภาพยนตร์ โดยเขาได้ร่วมมือกับ Industrial Light & Magic (ILM) สตูดิโอวิชวล เอฟเฟกต์ของ จอร์จ ลูคัส ในการปั้นโมเดลตัวละครด้วยโปรแกรม 3D ศึกษาการเคลื่อนที่ของผิวน้ำและการสะท้อนของแสงที่กระทบบนผิวน้ำ และสแกนหน้าตาของนักแสดงเพื่อนำมาใช้ในการแสดงสีหน้าของเอเลี่ยนที่สามารถเลียนแบบตัวละครในเรื่องได้ โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาถึง 6 เดือน เพื่อการปรากฏตัวของเอเลี่ยนที่มีเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น

 

ถึงแม้สุดท้าย The Abyss จะไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้เท่าไร เพราะจากการเล่นใหญ่ของเจมส์ทำให้งบประมาณบานปลายจาก 43 เป็น 70 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำเงินไปได้เพียง 90 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยมในปี 1990 มาครอง และเจ้าเอเลี่ยนตัวนี้ยังเป็นเทคนิคสำคัญที่เขานำไปใช้ต่อยอดให้กับหุ่นพิฆาต T-1000 ในผลงานเรื่องต่อไป

 

Terminator 2: Judgment Day (1991) หุ่นคนเหล็กที่ประสบความสำเร็จที่สุดในแฟรนไชส์

 

 

หลังจากเอเลี่ยนใน The Abyss ปรากฏตัวออกมาเพียงแค่ 3 นาที คราวนี้เจมส์จัดเต็ม โดยให้หุ่นพิฆาต T-1000 ที่ยกระดับงาน CGI ขึ้นไปอีกระดับปรากฏตัวออกมาแทบตลอดทั้งเรื่อง

 

เจมส์ได้ร่วมมือกับ ILM เช่นเดิม แต่ครั้งนี้พวกเขาเล่นใหญ่ขึ้นไปอีกด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีตัวใหม่ในชื่อ ‘Make-Sticky’ เพื่อนำมาช่วยในการคงรูปของพื้นผิว T-1000 ที่ถูกออกแบบให้เป็นตัวละครโลหะเหลว ในระหว่างที่ตัวละครทะลุผ่านวัตถุต่างๆ ได้อย่างอิสระ โดยใช้เทคนิค ‘หุ่นเชิด’ จาก The Terminator ภาคแรกมาผสมผสานเข้าด้วยกัน

 

 

เจมส์ใช้งบประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐไปกับด้าน CGI เพียงอย่างเดียว โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญ 35 คนช่วยกันทำงานอย่างหนักตลอดระยะเวลา 10 เดือน ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้ Terminator 2: Judgment Day คือภาพยนตร์ที่มีเทคนิควิชวลเอฟเฟกต์ล้ำหน้าที่สุดในยุคนั้น พร้อมกับรางวัลออสการ์สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม และกวาดรายได้ทั่วโลกไปกว่า 520 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

Titanic (1997) ปลุกชีพเรือยักษ์ที่หลับใหล ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ในโลกภาพยนตร์

 

 

และก็ถึงเวลาของภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดอย่าง Titanic ที่ เจมส์ คาเมรอน ได้ฉายภาพความรักอันแสนงดงามที่เกิดขึ้นบนเรือที่เคยถูกขนานนามว่าใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างตราตรึงใจ

 

ถึงแม้ว่า Titanic จะไม่ได้มีพล็อตเรื่องที่ล้ำยุคหรือมีเอเลี่ยนจากต่างดาวอย่าง The Terminator หรือ The Apyss ก็ตาม แต่ เจมส์ คาเมรอน ก็ยังท้าทายตัวเองด้วยภารกิจ Mission Impossible อีกครั้ง ด้วยการชุบชีวิตเรือ RMS Titanic ที่มีน้ำหนักมากว่า 50,000 ตันให้กลับมาโลดแล่นเหนือผิวน้ำได้อีกครั้ง

 

Photo: screenrant.com

 

ครั้งนี้ เจมส์ และ สแตน วินสตัน ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Digital Domain ขึ้นมาเพื่อทำงานด้านวิชวลเอฟเฟกต์โดยเฉพาะ ตั้งแต่เริ่มต้นสร้างโรงถ่ายโดยการระเบิดพื้นที่บริเวณชายหาดทางตอนใต้ของโรซาริโต ประเทศเม็กซิโก ให้กลายเป็นแอ่งเก็บน้ำที่สามารถบรรจุน้ำได้กว่า 70 ล้านแกลลอน เพื่อนำเรือจำลองขนาดเกือบเท่าของจริงที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อถ่ายทำ จากนั้นจึงใช้วิชวลเอฟเฟกต์เข้ามาเสริมแต่งให้มีความสมจริงมากขึ้น

 

จากนั้นเจมส์และทีมงานจึงได้เริ่มถ่ายทำตัวประกอบที่อยู่บนเรือมาถ่ายทำบนกรีนสกรีนด้วยเทคนิค Motion Capture เพื่อนำไปใช้ในฉากที่ผู้คนกำลังตกจากเรือที่ค่อยๆ จมลง และยังใช้ CGI เพื่อสร้างนักแสดงประกอบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความวุ่นวายบนดาดฟ้าเรือ รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศโดยรอบเพื่อผู้ให้ชมได้เข้าถึงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ผลลัพธ์ของความทุ่มเทก็เป็นอย่างที่รู้กันดีคือ Titanic ได้คว้ารางวัลออสการ์ในปี 1998 ได้ถึง 11 สาขา จาก 14 สาขาที่เข้าชิง กลายเป็นหนังทำเงินมากที่สุดในเวลานั้นด้วยจำนวน 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

Ghosts of the Abyss (2003) ภาพยนตร์สารคดีที่ดำดิ่งลงไปสู่เรือ Tinatic ของจริง

 

 

หลังจากชุบชีวิตเรือ RMS Titanic ขึ้นมาสำเร็จ ก็ดูเหมือนว่าความสนใจในเรื่องเรือและท้องทะเลของเจมส์จะพุ่งขึ้นถึงขีดสุด ในปี 2002 เขาเริ่มต้นทำสารคดี Expedition: Bismarck ที่ฉายทาง Discovery พาคนดูไปสำรวจเรือรบเยอรมันที่อับปางลงในสงครามโลกครั้งที่ 2

 

และขยับไปสู่ภาพยนตร์สารคดีเต็มตัว Ghosts of the Abyss (2003) ที่เขานั่งเรือดำน้ำลงไปใต้มหาสมุทรพร้อมกับกล้อง IMAX 3D เพื่อพาคนดูดำดิ่งลงไปชมความยิ่งใหญ่ของเรือ RMS Titanic ที่นอนแน่นิ่งอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก ก่อนที่เขาจะขยับไปจับมือกับองค์การนาซาเพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกจนกลายเป็น Aliens of the Deep ภาพยนตร์สารคดีเรื่องที่ 2 ในปี 2005

 

การสำรวจโลกใต้ทะเลเพื่อถ่ายทำสารคดีทั้ง 3 เรื่องนี้ทำให้เจมส์ได้พบกับสิ่งมีชีวิตและโลกใต้ท้องทะเลที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน และมนต์เสน่ห์อันน่าหลงใหลนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่เขานำมาต่อยอดเป็นชนเผ่านาวีอย่าง ดาวแพนโดรา ในภาพยนตร์เรื่อง Avatar

 

Avatar (2009) พัฒนาการครั้งสำคัญที่ส่งผลไปยังภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ

 

 

หลังจาก ‘ทำทุกอย่างให้เธอ’ มาหมดแล้ว คราวนี้เจมส์ต้องการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมภาพยนตร์ของเขา ด้วยการสร้างภาพยนตร์ที่ถูกฉายในรูปแบบ 3D เต็มเรื่อง เขาก็เริ่มต่อสู้กับข้อจำกัดในการสร้างภาพยนตร์ด้วยการร่วมมือกับ ปีเตอร์ แจ็คสัน และบริษัท Weta Digital ที่เพิ่งใช้เทคนิค Motion Capture ในการสร้างตัวกอลลัมในเรื่อง The Lord of the Rings จนกลายเป็นที่รูจัก

 

บวกกับการพัฒนา Fusion Camera System กล้องถ่ายทำสามมิติที่ใช้เซนเซอร์ขนาดเล็กความละเอียดสูง เพื่อใช้ในการจับความเคลื่อนไหวของนักแสดงที่สวมชุด Motion Capture เพื่อส่งข้อมูลเข้าไปยังคอมพิวเตอร์และแสดงผลในรูปแบบของคอมพิวเตอร์กราฟิกสามมิติที่สมจริงมากขึ้นไปอีก

 

 

นอกจากนี้พวกเขายังต้องคำนึงถึงรายละเอียดของพื้นผิวและแสงที่ตกกระทบของตัวละครเพื่อให้เกิดความสมจริงมากที่สุด ซึ่งทาง Weta ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ชื่อ Mari เพื่อนำมาสร้างตัวละครชนเผ่านาวี รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศของดาวแพนโดราอีกด้วย

 

ทันที่เข้าฉาย Avatar ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการขึ้นเป็นอันดับ 1 ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วยจำนวน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับคว้ารางวัลออสการ์ 2011 สาขา ‘วิชวล’ ทั้งถ่ายภาพยอดเยี่ยม, สาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และสาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยมไปครองได้แบบเรียบวุธ

 

 

เทคนิคที่ถูกใช้ใน Avartar นำมาซึ่งการพัฒนางานด้านวิชวลเอฟเฟกต์ของงานภาพยนตร์อย่างก้าวกระโดด และยังเป็นการปูทางให้กับภาพยนตร์หลายๆ เรื่องในเวลาต่อมา ตั้งแต่ The Hobbit: Desolation of Smaug ที่นักแสดงอย่าง เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ มาแสดงเป็น มังกรสม็อก, Planet of the Apes แฟรนไชส์ที่ได้ แอนดี้ เซอร์คิส มารับบทเป็นราชาวานรซีซาร์

 

Alita: Battle Angel ไซบอร์กสาวที่ต้องรอนานถึง 10 ปี ถึงเกิดขึ้นได้จริง

 

 

จริงๆ เจมส์ คาเมรอน เคยได้อ่านมังงะเรื่อง Gunnm ของ ยูกิโตะ คิชิโระ ที่เป็นต้นกำเนิดของไซบอร์กสาว Alita ในศตวรรษที่ 26 ผู้สืบทอดวิชาการต่อสู้จากดาวอังคาร ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาอยากนำเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ตั้งแต่วันนั้น แต่ปัญหาคือเทคโนโลยีในวงการภาพยนตร์นั้นยังไม่สามารถสร้างจินตนาการของเขาให้ออกมาเป็นความจริงได้

 

หลังจากนั้นเขาค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ พัฒนาเทคโนโลยีมาโดยตลอด จนกระทั่งความสำเร็จของเรื่อง Avatar และวงการ CGI ที่ถูกยกระดับจนถึงขีดสุด ที่ทำให้เขาคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ ‘ไซบอร์กสาว’ คนนี้จะได้วาดลวดลายการต่อสู้ให้ทุกคนได้เห็น

 

แต่จากอภิมหาโปรเจกต์ Avatar ภาค 2-5 ที่เจมส์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้เขาต้องจำใจส่งไม้ต่อให้กับ โรเบิร์ต รอดริเกซ (ผู้กำกับ Sin City, Spy Kids) โดยเขารับหน้าที่เป็นผู้เขียนบทและโปรดิวเซอร์ดูภาพรวมเพียงอย่างเดียว

 

 

โดยครั้งนี้เจมส์และรอดริเกซก็ยังได้รับความร่วมมือจาก Weta Digital ในการสร้างจักรวาลของ Alita ขึ้นมาเหมือนเดิม โดยพอจะสรุปได้ว่า Alita: Battle Angel จะเป็นผลรวมของพัฒนาการด้านวิชวลเอฟเฟกต์ที่เจมส์เคยทำเอาไว้ทั้งหมดเข้าด้วยกัน แสดงออกผ่านหน้าตาที่สะสวย ดวงตาไซบอร์กที่เหมือนของจริงจนน่าขนลุก รวมทั้งฉากแอ็กชันและสเปเชียลเอฟเฟกต์ต่างๆ ที่ถูกพัฒนามาอย่างเต็มที่

 

ซึ่งแฟนๆ ทุกคนสามารถไปพิสูจน์ผลลัพธ์นี้ได้พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ก่อนที่จะได้รับชมอภิมหาโปรเจกต์ที่เจมส์จะยกระดับของตัวเองขึ้นไปอีกขั้นและอีกขั้นใน Avartar 2 ที่จะได้ดูกันภายในปี 2020

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

The post เจมส์ คาเมรอน กับหุ่นยนต์คนเหล็ก เรือไททานิก ชาว Avatar และพัฒนาการที่ไม่เคยหยุดนิ่ง appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/james-cameron/feed/ 0